พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 540


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๔๐

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ พิสูจน์ได้เลย เมื่อสักครู่แข็งตั้งมากมาย ปรากฏด้วยดีหรือเปล่า แต่ขณะที่ลักษณะของแข็งปรากฏด้วยความเข้าใจในความเป็นธรรม เพียงปรากฏ ไม่สามารถที่จะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ เป็นแข็ง ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่เสียง เพราะฉะนั้น กว่าปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้น ค่อยๆ เกิดขึ้น ก็จะต้องมีฉันทะ เพราะตลอดวันชีวิตดำเนินไปโดยมีฉันทะเป็นมูล แต่ละคนเป็นไปตามฉันทะ ฉันทะที่จะฟังธรรม ฉันทะที่จะเล่นดนตรี ฉันทะที่จะทำอะไรก็แล้วแต่ ให้เห็นได้ว่า มีการสะสมมา

    เพราะฉะนั้น ฉันทะในการฟังให้เข้าใจพระธรรม ฟังให้เข้าใจ ไม่ใช่ให้ทำอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะไม่มีใครสามารถที่จะทำอะไรได้เลย เพราะเป็นธรรม เพราะฉะนั้น มีฉันทะที่จะฟังให้เข้าใจสิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนเลย ก็ต้องค่อยๆ เจริญขึ้น แล้วเมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ศรัทธาก็เพิ่มขึ้นด้วย การที่จะน้อมใจเห็นประโยชน์ เห็นคุณของความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าเป็นความรู้ที่ถูกต้องว่า ไม่มีเราแน่นอน เป็นแต่เพียงธรรม แล้วจะมีความเห็นแก่ตัวไหม ถ้าไม่มีเรา ก็เป็นไปไม่ได้เลย จะหวงแหนตระหนี่อะไรไหม ก็ไม่ได้อีก

    แสดงให้เห็นว่า กุศลทั้งหลายก็เจริญขึ้น จนกว่าจะถึงอินทรีย์ อิทธิบาท ทั้งหมดซึ่งเป็นการที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง โดยเริ่มจากการฟังแล้วเข้าใจถูก ว่าฟังเพื่อเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้อยู่ตรงไหน ฉันทะ ศรัทธามั่นคง หรือเพียงแต่เริ่มที่จะเห็นประโยชน์ว่า ถ้าไม่มีการฟังธรรม เรามีโอกาสจะคิด จะไตร่ตรองแล้วเห็นประโยชน์ไหม ว่าทั้งหมดมาจากการไม่รู้ความจริง จึงยึดถือสภาพธรรมนั้น และก็มีความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในความคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ซึ่งเพียงจิตไม่คิด ไม่มีอะไรเลย ว่าง จากสิ่งที่จิตไม่คิดในขณะนั้น แต่คิดเมื่อไร ก็ไม่ว่างแล้ว มีคนเต็มโลกเลย แล้วแต่จะอยู่ประเทศไหน ซอกมุมไหนของโลก ชนบทไหน มีความเป็นอยู่อย่างไร ก็เต็มไปด้วยความคิดเท่านั้นเอง เพียงไม่คิดก็ไม่มีแล้ว

    เมื่อวานนี้ เราพูดเรื่องภัยที่มองไม่เห็น มองไม่เห็นจริงๆ เพราะอยู่ที่ไหน อยู่ที่จิตทุกขณะ ลองคิดดู อันตรายอย่างอื่นยังไม่มาถึงทุกขณะใช่หรือไม่ ไฟไหม้ น้ำท่วม ความเจ็บไข้ ความพลัดพรากต่างๆ ก็ยังไม่ได้มาถึงทุกขณะ แต่ภัยนี้เกิดกับจิตทุกขณะที่อกุศลเกิด แล้วใครจะเห็น ภัยที่ใหญ่มาก เพราะใครก็สามารถที่จะกำจัดภัยนี้ออกไปได้ ไม่มีทางเลย นอกจากปัญญา

    เพราะฉะนั้น เริ่มที่จะเห็นว่า ปัญญาสามารถเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง แล้วจะทำให้มีฉันทะเพิ่มขึ้น มีศรัทธาเพิ่มขึ้น มีวิริยะเพิ่มขึ้น จนกระทั่งเข้าใจธรรมได้ ฟังธรรมนี่ไม่อยากเข้าใจธรรมหรือ หรือฟังเพื่อที่จะรู้จักธรรม ที่กำลังเป็นธรรมในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่เป็นอื่น นอกจากเป็นธรรม

    อ.กุลวิไล ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมว่า ผู้ที่เป็นบัณฑิต ไม่ควรเปิดเผยความดีของตน และไม่ควรเปิดเผยความไม่ดีของผู้อื่น แต่ถ้าจำเป็นต้องเปิดเผยถึงความไม่ดีของผู้อื่นตามความจริง เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม จะสอดคล้องกับพระธรรมที่ทรงแสดงอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เปิดเผยหรือกล่าวร้าย มีตั้งหลายอย่าง เพราะว่าสภาพธรรมละเอียดมาก แม้แต่จิตแต่ละขณะ ต้องเป็นผู้ที่ตรง เปิดเผยเพื่ออะไร มีจุดซ่อนเร้นอะไรหรือเปล่า จะเปิดเผยความดีของตัวเองเพื่ออะไร เห็นภัยไหม เปิดเผยเพื่ออะไร ความดี คือความดี เปลี่ยนความดีให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ ใครจะรู้หรือไม่รู้ ก็เป็นเรื่องของคนนั้น และถ้ารู้แล้วเกิดอะไรขึ้น ก็เป็นสิ่งที่คาดคะเนไม่ได้ ว่าจิตของแต่ละคนจะเป็นอย่างไร เมื่อได้ยินได้ฟังเรื่องความดีของคนอื่น แต่ถ้าเป็นความดีของคนพูดเอง พูดทำไม ลองหาเหตุผลซิว่า พูดทำไม เพราะว่าจริงๆ แล้ว มีความเห็น ๒ อย่าง คือ เห็นถูกกับเห็นผิด ถ้าคนอื่นเข้าใจผิดแล้วเกิดอกุศล ควรที่จะให้คนอื่นเข้าใจความจริงให้ถูกต้องหรือเปล่า เพื่อเขาจะได้ไม่เป็นอกุศล

    นี่เป็นการเกื้อกูล ไม่ใช่ใครเห็นผิดก็เห็นผิดไป ใครว่าใครไม่ดี ก็ไม่ดีไป โดยที่เราเองสามารถที่จะชี้แจงทำให้เขาเข้าใจถูกได้ เพราะฉะนั้น เพื่อประโยชน์ของผู้ฟังในการที่จะกล่าวถึงสิ่งที่ตรง คือ ผิดคือผิด ถูกคือถูก ดีคือดี ไม่ดีคือไม่ดี กล่าวถึงความไม่ดี กล่าวไม่ได้หรือ ไม่ได้กล่าวถึงใคร แต่ไม่ดีต้องเป็นไม่ดี เพราะฉะนั้น แม้จิตในขณะนั้นก็ต้องเป็นจิตที่ไม่ใช่กล่าวร้าย มุ่งร้าย ทำลายประโยชน์ แต่เพื่อให้เห็นความจริงที่ถูกต้องตามความเป็นจริง จะได้มั่นคงว่า แท้ที่จริงแล้วไม่มีใคร ไม่ว่าจะเป็นชาติใด ภาษาใด เด็ก ผู้ใหญ่ ยศถาบรรดาศักดิ์ ตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้น ดีคือดี ชั่วคือชั่ว เพราะฉะนั้น ก็ต้องตรงต่อเจตนาด้วยว่า กล่าวเพื่ออะไร

    อ.กุลวิไล ก็ขึ้นอยู่กับสภาพจิตในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ทุกอย่าง

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์ทำให้ดิฉันนึกถึงวาจาสุภาษิต ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ ๑. เรื่องนั้นเป็นเรื่องจริง แต่เรื่องจริงอย่างเดียวก็ต้องถูกกาละด้วยเวลาที่กล่าว และเมื่อกล่าว บางครั้งบุคคลนั้นกล่าวความจริง ถูกกาละ แต่วาจาไม่ไพเราะเลย ต้องกล่าวด้วยวาจาที่ไพเราะ และข้อสำคัญก็คือ ถึงแม้ว่าจริง ถูกกาละ และวาจาไพเราะแล้ว สิ่งนั้นเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ สิ่งนั้นต้องเป็นประโยชน์ และสุดท้ายต้องประกอบด้วยเมตตาด้วย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ชีวิตประจำวัน พรหมวิหาร เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ผู้ที่ตรัสอย่างนี้ หวังดีต่อผู้ที่ฟังหรือเปล่า เห็นหรือไม่ พระมหากรุณา กัลยาณมิตรที่สูงสุด ไม่เคยให้คนอื่นได้รับทุกข์ หรือเดือดร้อนด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น แม้เพียงสักขณะจิตหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น ก็เห็นได้เลยว่า ชีวิตประจำวันใครที่จะเกื้อกูลเตือนให้รู้ว่า อยู่ด้วยเมตตา ด้วยกรุณา ด้วยมุทิตา ด้วยอุเบกขา ขณะนั้นจิตใจไม่เศร้าหมองเลย ตั้งแต่ไหนแต่ไร ถ้าใครเกิดมา ตั้งแต่เป็นเด็ก วงศาคณาญาติ พี่น้องจะมีสักกี่คนก็ตาม ไม่สนใจที่ใครจะรักหรือชัง แต่สามารถรักคนอื่น เป็นมิตรกับคนอื่นได้ ใครเป็นสุข ขณะนั้นเป็นภัยหรือเปล่า ก็ไม่เป็น ขณะใดที่กุศลจิตเกิดขึ้นไม่เป็นภัยกับตนเอง และบุคคลอื่น นี่กล่าวถึงในวงศาคณาญาติครอบครัว และเมื่อมีมิตรสหายเพิ่มขึ้น เมื่อรู้จักใครเพิ่มขึ้น เมตตาก็เจริญขึ้น ความเป็นมิตรนี่ยากหรือ คนที่ยากก็มี พยักหน้า คนที่ไม่ยากก็มี แต่ว่ามิตรจริงๆ คืออย่างไร

    เรามีโอกาสที่จะพบคนมาก มีอัธยาศัยต่างๆ กัน ถ้าเข้าใจความเป็นมิตร และสะสมมาที่เป็นมิตรกับใคร เราจะไม่มีการ ที่จะทำร้ายเขาเลย ไม่ว่าจะด้วยกาย ด้วยวาจา หรือแม้คิดเบียดเบียน นี่คือมิตรจริงๆ ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจว่า เป็นมิตรแน่นอน มีแต่ความหวังดีกับคนอื่น ไม่ว่ากาย หรือวาจา หรือใจ และในทางตรงกันข้าม คนอื่นที่เราพบหลากหลายมากตามอัธยาศัย ใครเป็นมิตรจริงๆ ต้องการประโยชน์จากเราทางหนึ่งทางใด ต้องการความช่วยเหลือทางหนึ่งทางใด หรือต้องการแม้เพียงความสนิทสนมคุ้นเคย ต้องการอะไรจากใคร แล้วก็ลืมไม่คิดเลย แล้วเขาล่ะ ผลที่จะเกิดกับเขาดีหรือร้ายประการใด อย่างนี้จะเป็นมิตรหรือเปล่า ก็ไม่ใช่มิตร เพราะฉะนั้น มิตรจริงๆ เป็นผู้ให้ประโยชน์ เกื้อกูล ไม่คิดร้าย พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล ใครเป็นอย่างนี้ได้ พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงไว้ตามความเป็นจริงว่า นี่คือลักษณะของมิตร

    อ.กุลวิไล ในพระไตรปิฎกที่ว่า บัณฑิตไม่ควรเปิดเผยความดีของตนเอง และไม่ควรเปิดเผยความไม่ดีของผู้อื่น แต่ถ้าจำเป็นที่จะต้องเปิดเผยความไม่ดีของผู้อื่นตามความจริง เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม จะสอดคล้องกับพระธรรมที่ทรงแสดงอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ประโยชน์สำคัญมาก ถึงแม้ว่าเป็นความจริง แต่บุคคลที่กำลังฟังจะรู้สึกอย่างไร ถ้าเป็นอกุศล ก็ไม่มีประโยชน์เลย

    อ.กุลวิไล ทำให้ดิฉันนึกถึงที่ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่า ถ้ารักประเทศจริงๆ แล้ว ทุกคนต้องเป็นคนดี

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง และมีใครรักประเทศบ้างไหม ถ้ารักก็คือเป็นคนดี รักแต่ไม่เป็นคนดี ก็ไม่มีทางที่จะชื่อว่ารักจริงๆ ได้ เพราะว่ารักตัวเองโดยไม่ทำร้ายตัวเอง แต่ต้องมีปัญญาจนกระทั่งสามารถรู้ว่าเป็นธรรม เสมอกันหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นใคร เป็นเพื่อน เป็นศัตรู หรือเป็นใคร ก็คือเป็นธรรม ถ้าเป็นอกุศล น่าสงสารไหม พร้อมที่จะสงสารเกื้อกูลได้ไหม ถ้าสามารถที่จะทำให้เขาเปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศลได้ เป็นประโยชน์มหาศาลยังโกรธใครอยู่หรือเปล่า

    อ.กุลวิไล ขณะที่โกรธก็เป็นภัยที่มองไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ ยังผูกโกรธไว้ด้วยหรือเปล่า โกรธแล้วยังไม่หมดเลย ก็ลำบาก ยังไม่มีฉันทะที่จะเห็นประโยชน์ของการที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม อย่างนี้การฟังพระธรรมเป็นประโยชน์มากหรือน้อย ก็จะเห็นได้

    อ.กุลวิไล ขณะที่จิตเป็นอกุศล ท่านอาจารย์กล่าวถึงภัยที่มองไม่เห็น เพราะภัยก็คือตัวกิเลสนั่นเอง

    ท่านอาจารย์ ทำร้ายทันที

    อ.กุลวิไล และเราก็ไม่รู้ในชีวิตประจำวัน เวลาได้รับผลของกรรม ก็มีมือที่มองไม่เห็นด้วย

    อ.อรรณพ ในเรื่องของการเปิดเผยความไม่ดีของผู้อื่น จะเป็นไปโดยธรรมหรือไม่อย่างไร ก็เลยคิดถึงธรรมหลอกลวง คือ วัญจกธรรมอยู่ ๒ ประการ เป็นพระธรรมที่ประกอบการพิจารณา เป็นประโยชน์ ท่านแสดงไว้ว่า ประการแรก การเพ่งโทษ คือ การกล่าวโทษ หรือเปิดเผยความไม่ดีของผู้อื่น การเพ่งโทษผู้อื่นย่อมลวงเหมือนกับเป็นผู้ติเตียนบาป เหมือนกับเป็นการที่ตรงต่อความไม่ดี ตรงว่าใครไม่ดี ก็ต้องพูดตามนั้น แต่จริงๆ จิตขณะนั้นต้องการกล่าวโทษ มุ่งว่าร้ายหรือเปล่า ผู้ใดที่ยังกล่าวร้าย ว่าร้าย ผู้นั้นไม่ใช่ผู้สงบ ไม่ใช่บรรพชิต โอวาทปาติโมกข์

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องตรงว่า ขณะที่ประกาศเปิดเผยความไม่ดีของบุคคลอื่นนั้นด้วยจิตอย่างไร ถ้าเป็นจิตของผู้ที่ไม่มีอกุศลจริงๆ อย่างที่เห็นชัดๆ ก็ตอนที่ท่านพระโมคคัลลานะ และท่านพระสารีบุตรท่านไปประกาศความไม่ดีของท่านพระเทวทัตในเมืองว่า พระเทวทัตแต่ก่อนเป็นอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้เป็นอย่างหนึ่ง เพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม หรือประโยชน์ของสังคมว่า ขณะนี้อย่าไปหลงเชื่อพระเทวทัต เพราะว่าท่านมีความปรารถนาที่ไม่เหมาะสมแล้ว ประพฤติไม่ชอบแล้ว เป็นการประกาศเพื่อประโยชน์ เป็นการเปิดเผยความไม่ดีของบุคคลอื่นตามความเป็นจริง เพื่อมุ่งประโยชน์ ไม่มีจิตที่เป็นการเพ่งโทษผู้อื่น ว่าร้ายผู้อื่น แล้วก็ลวง

    เพราะฉะนั้น ผู้มีกิเลสก็ระวังภัย ภัยนั้นมาแนบเนียนเพราะเป็นสังขารขันธ์ ภัยคืออกุศล มาแนบเนียน ที่ท่านอาจารย์พูดเมื่อวานนี้ว่า เป็นภัยที่มองไม่เห็น เพราะเราไม่รู้เลยว่า ขณะที่กำลังติเตียน ขณะที่เพ่งโทษ ดูเหมือนจะเป็นผู้ที่ตรงต่อบาปธรรมว่า อย่างนี้ไม่ดี ก็ต้องนำมาพูดกัน แต่จิตขณะนั้นเป็นจิตที่มุ่งร้าย ว่าร้ายขณะนั้นถูกลวง ภัยที่มองไม่เห็นก็มาเนียน แล้วเหมือนกับว่าเป็นผู้ที่ตรง เป็นผู้หวังประโยชน์ ส่วนวัญจกธรรมอีกข้อหนึ่ง ก็เตือนเหมือนกัน ท่านแสดงว่า การทอดธุระในกุศลทั้งหลาย คือ ไม่สนใจว่าใครจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ใครจะดีไม่ดีก็ไม่พูด ย่อมลวงเหมือนเป็นผู้มีอุเบกขาธรรม คือ ผู้วางเฉย คือ รู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี แต่ไม่พูด เพราะว่าไม่สนใจ ไม่มีจิตเป็นกุศลที่จะแก้ปัญหา หรือที่จะกล่าวความจริง ก็ลวงเหมือนกับเขาเป็นคนดีมีกุศลจิตที่อุเบกขา วางเฉย มีความมั่นคง ไม่หวั่นไหว แต่จริงๆ เป็นอกุศลจิตที่ไม่คิดถึงประโยชน์เลย ก็ทอดธุระ สังคมจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยไป

    เพราะฉะนั้น พระธรรมก็เป็นเครื่องเตือนให้พ้นจากภัยที่มองไม่เห็น คือ กิเลสซึ่งมาได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งในลักษณะที่ติเตียนผู้อื่น แล้วก็ลวงว่า เป็นคนตรง ที่ต้องกล่าวตามนั้น ทั้งในมุมเป็นผู้ทอดธุระในกุศล ด้วยความรักตนบ้าง หรือไม่สนใจ ไม่ใส่ใจอะไร ไม่หวังประโยชน์ ก็ลวงเหมือนเป็นกุศล เป็นอุเบกขาธรรม แต่จริงๆ ก็เป็นภัยที่แนบเนียน เพราะเป็นการปรุงแต่งของสังขารขันธ์ ซึ่งไม่รู้เลย

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์ คุณอรรณพยกถึง ธรรมที่หลอกลวง เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ต้องเข้าใจสภาพธรรมที่ผิดจากความเป็นจริงได้

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดมาจากความไม่รู้ มีความเป็นเรา มีความเป็นเขา มีความเป็นตัวตน เพราะฉะนั้น ก็มีทั้งมายา สาไถย โอ้อวด มานะทุกประการ แล้วแต่ว่าขณะนั้นจิตจะปรุงแต่งเป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นผู้ตรงต่อธรรม ธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงเพื่อประโยชน์แก่สาวกคือผู้ฟัง ให้เกิดกุศลจิต ไม่มีเลยที่จะให้เกิดอกุศลจิต แม้วัญจกธรรม ก็เพื่อให้รู้ตามความเป็นจริง ให้เป็นกุศล ไม่ใช่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ปัญญาเท่านั้นที่สามารถจะทำให้กุศลทั้งหลายเจริญขึ้น โดยไม่มีอะไรจะลวง หรือจะหลอก โลภะหลอกลวงไม่ได้ว่าเป็นอย่างนั้น ว่าเป็นอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ก็เหมือนอย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวตอนต้นชั่วโมงว่า ไม่รู้จักสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ รู้แต่เรื่องราว รู้แต่บุคคลต่างๆ

    ผู้ฟัง ผู้ที่มีฉันทะในการฟังธรรม ประโยชน์สูงสุดกว่าผู้ที่มีฉันทะในการที่จะเจริญฌานหรือเจริญกัมมัฏฐานเช่นนี้เสมอไปหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ก่อนพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ และทรงแสดงธรรม มีการเจริญสมถะไหม อุทกดาบส

    ผู้ฟัง ท่านเจริญฌานใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ นั่นคือสมถะ ความสงบ ถึงระดับที่สมาธิตั้งมั่น จนเป็นลักษณะของความสงบระดับขั้นต่างๆ เพราะประกอบด้วยสมาธิขั้นต่างๆ มีไหม ก่อนการตรัสรู้ การทรงแสดงธรรม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ อะไรจะสูงกว่ากัน ถ้าสมถะสูงสุดแล้ว ก็ไม่มีการตรัสรู้ ไม่ต้องแสดงธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าได้ประโยชน์สูงสุดในการฟังธรรมมากกว่าเจริญกุศลอย่างอื่น เพราะเหตุใด

    ท่านอาจารย์ คุณรักษ์ให้ทาน แต่ไม่รู้ว่า เป็นธรรม แต่เป็นตัวคุณรักษ์ กับการที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามแต่ ขณะนั้นสามารถที่จะเข้าใจถูก เห็นถูกว่า ไม่ใช่เรา ความจริงก็คือเป็นจริง ความจริงต้องจริงคือเป็นธรรม เป็นธาตุแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น สูงสุดคือการฟังธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ฟังเฉยๆ เข้าใจ

    ผู้ฟัง ฟังแล้วต้องเข้าใจด้วย

    ท่านอาจารย์ และไม่ใช่เข้าใจเฉยๆ ด้วย

    ผู้ฟัง ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้นั้นจะได้อานิสงส์อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไปถึงอานิสงส์เลย ต้องการแน่ๆ คือ อานิสงส์ แต่ลืมว่า ขณะนี้ที่กำลังฟังธรรม เราหรือธรรม หรือธาตุที่ฟัง

    ผู้ฟัง ส่วนมากจะเป็นตัวเราก่อน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ฟังจนกระทั่งเข้าใจได้ เพราะว่าจริงๆ แล้ว เวลาที่ฟังธรรม อย่างที่คุณรักษ์พูด เหมือนกับมีตัวเราที่เลือกได้ ใช่ไหม อย่างฟังแล้วจะเป็นคนดี เหมือนเลือกได้ แต่ว่าตามความเป็นจริง ความละเอียดยิ่งของธรรม คือ ขณะที่ฟังเป็นจิต เจตสิก เกิดขึ้นทำกิจการงาน โดยที่ใครก็บังคับบัญชาไม่ได้เลย มีเหตุปัจจัยที่กุศลจิตจะเกิด หรืออกุศลจิตจะเกิดเมื่อไร ประเภทไหน อย่างไร ก็เป็นไปตามการสะสม

    เพราะฉะนั้น ต้องมีความเข้าใจจริงๆ แม้แต่ความคิดที่ว่า จะเป็นคนดี ขณะนั้นเคยคิดอย่างนี้หรือเปล่า ก่อนที่จะคิดอย่างนี้ ก่อนจะได้ฟังธรรมแล้วคิดว่าจะเป็นคนดี แล้วคิดอย่างนี้หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เคยคิด

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องฟังธรรมก็คิดเหมือนกัน แล้วเวลาฟังธรรมแล้ว จะเป็นคนดีอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ต้องปฏิบัติตามพระธรรม คำสั่งสอน

    ท่านอาจารย์ โดยที่ดีขณะแรก จะเป็นคนดีที่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ใช่ไหม แต่เวลาฟังธรรมแล้ว ขณะนั้นแม้ความคิดว่าจะเป็นคนดี ความเข้าใจธรรมก็รู้ว่า ไม่ใช่เรา เป็นสังขารขันธ์ เป็นจิต เป็นเจตสิก ธรรมที่เป็นสังขารขันธ์ ทรงแสดงว่าได้แก่ เจตสิก ไม่ใช่เรา ๕๐ ประเภท

    เพราะฉะนั้น การเกิดดับสืบต่อทำกิจของสังขารขันธ์ ของเจตสิกเหล่านี้เนียนมาก ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้เลยว่า ขณะนี้ที่กำลังพูด กำลังคิดทั้งหมดเป็นสังขารขันธ์ แม้คิดแล้ว จะทำได้หรือเปล่า ก็สังขารขันธ์อีก ใช่ไหม ทุกคนสามารถที่จะตั้งใจเป็นคนดีได้ แต่จะดีหรือไม่ดี เป็นกุศลหรืออกุศลขณะใด เป็นไปตามการสะสมของสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้น จึงได้ทรงแสดงธรรมไว้ จนกว่าจะเข้าใจว่า ไม่มีเรา แม้ขณะที่คิดก็เป็นธรรม

    ผู้ฟัง การทิ้งความเห็นผิดมาเป็นความเห็นถูก มีประโยชน์แก่ผู้ทำ แต่บางคนเห็นถูกแล้วก็ไปเป็นเห็นผิด เหตุผลเป็นเพราะอะไร

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดที่เคยเกิดมาแล้วนับไม่ถ้วน นานแสนนานในสังสารวัฏฏ์ ไม่ได้หายไปไหนเลย ทั้งฝ่ายกุศลธรรม และอกุศลธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อมีปัจจัยที่จะให้อกุศลประเภทใดเกิด อกุศลประเภทนั้นก็เกิดแล้ว ให้เห็นถึงการสะสม

    ผู้ฟัง นั่งอยู่ตรงนี้เห็นถูก แต่พรุ่งนี้อาจจะเห็นผิดได้ มันเกิดแล้วกับคนในโลกนี้ เห็นผิดมาเป็นเห็นถูก อนุโมทนาด้วย แต่เห็นถูกมาเป็นเห็นผิด ก็เป็นที่น่าเสียใจ เป็นเพราะกรรมของเขาหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ คำตอบเดิม ไม่ทราบคุณคำปั่นจะเล่าไหม

    อ.คำปั่น เรื่องสหายของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็เป็นประโยชน์ ช่วงที่ได้พบกับพระผู้มีพระภาคก็มาฟังธรรม แต่ช่วงที่มีบางครั้งที่ไม่ได้พบ ไม่ได้ฟังธรรม ท่านก็มีความเห็นผิด อย่างที่ท่านเป็น แสดงถึงความเป็นผู้ไม่มั่นคง เพราะความเห็นผิดเป็นอันตราย ท่านจึงบอกว่า "เป็นรกชัฏ" ก็คือยากที่จะสางได้อย่างเด็ดขาด ยากที่จะตัด ยากที่จะทำลายได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    15 ม.ค. 2567