พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 508


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๐๘

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ เราไม่รู้ความจริงของคำที่เราพูด และเราไม่รู้ความจริงของชีวิตทั้งหมด แม้ไม่ได้พูด คือ เกิดมาก็ไม่รู้ทั้งหมดเลยว่า คืออะไร เป็นอะไร หรือใครรู้ ถ้าไม่ได้ฟังธรรม

    อ.กุลวิไล ผู้ที่ศึกษาอาจจะศึกษาเรื่องเจตนา ๓ กาล

    ท่านอาจารย์ เป็นชีวิตประจำวันหรือเปล่า คือ ทุกอย่างไม่ใช่ให้ไปนอกชีวิตประจำวัน แล้วไปรู้สิ่งที่ไม่มี แต่สิ่งที่มีเป็นปกติในชีวิตประจำวันนี่เอง ให้รู้ว่าคืออะไร อย่างที่กล่าวแล้วว่า เวลาที่จะฟังธรรม อยู่ดีๆ ก็เดินเข้ามา หรือว่าตั้งใจไว้ก่อนว่าจะมา ถ้าตั้งใจไว้ก่อน ก็เป็น "ปุพพเจตนา" เจตนาที่เกิดก่อนกระทำ และขณะที่กำลังทำ ก็มีกุศลเจตนาด้วย เพราะถึงแม้ตั้งใจไว้แล้ว ถึงเวลาไม่เข้ามาที่มูลนิธิก็ได้ ทั้งๆ ที่ตั้งใจว่าจะมาฟัง ก็ไปที่อื่นได้ ขณะนั้นก็ไม่มี "มุญจนเจตนา" คือ เจตนาในขณะที่กำลังทำ ทำแล้วก็ลืมว่า วันนี้เรามาฟังที่มูลนิธิ ก็มีเรื่องอื่นอีกมากมายที่จะคิดถึงก็ได้ จะระลึกถึงหรือไม่ระลึกถึง ก็คือ ชีวิตประจำวัน ให้เข้าใจว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ บางครั้งการกระทำก็มีเจตนาเกิดก่อน ตั้งใจไว้ก่อนจะทำก็มี คิดไว้ก่อนก็มี อย่างบางคนพอฟังเรื่องทาน ก็เกิดกุศลจิตว่า วันนี้จะให้ทาน เป็นไปได้ไหม ไม่ว่าเจอใครที่ควรจะได้รับ ก็ให้ อันนั้นก็เป็นไปได้ หรือแม้ไม่คิดอย่างนั้น แต่เมื่อพบก็ให้เลยก็ได้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างนี้ จึงได้ทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงอย่างนี้

    อ.วิชัย กราบเรียนถามเรื่องอคติ ๔ ลำเอียงเพราะรักบ้าง เพราะชังบ้าง เพราะกลัวบ้างหรือว่าเพราะไม่รู้บ้าง เข้าใจว่าพระอริยบุคคล พระโสดาบันก็สามารถจะละอคติ ๔ นี้ได้ แต่ว่าพระโสดาบันเอง ท่านก็ยังมีความพอใจ หรือความไม่พอใจอยู่ ดังนั้น ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งพระนิพพาน คือ รู้สภาพ (นาทีที่ ๐๒.๓๙ ธรรม) ตามความเป็นจริง ละกิเลสในระดับของพระโสดาบัน ทั้งที่ยังมีโลภะอยู่ ยังมีโทสะอยู่ แต่ไม่เป็นไปในอคติ ๔ จะหมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คือ ไม่ลำเอียง เป็นผู้ที่ตรง ไม่ว่าใครทั้งสิ้น กุศลก็คือกุศล อกุศลก็คืออกุศล

    อ.วิชัย หมายถึง การละ คือ การที่ปัญญาสามารถรู้ ประจักษ์แจ้งว่าเป็นสภาพธรรม ไม่ใช่ตัวตนทั้งหมด คือ กุศล และอกุศล

    ท่านอาจารย์ ทำให้ไม่เป็นผู้ตกไปในทางฝ่ายฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ จริงๆ แล้วการฟังธรรม เพื่อให้มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ในสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ใครรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้แล้วบ้าง ไม่มีใช่ไหม แม้ว่าจะได้ยินได้ฟังมามากสักเท่าไร ก็เป็นสังขารขันธ์ที่จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ในสิ่งที่กำลังมีจริงๆ

    สิ่งที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ น่ารู้ น่าเข้าใจถูกหรือเปล่า ถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีศรัทธา ก็คงจะไม่มาอยู่ ณ ที่นี้ เพราะเหตุว่า ดูไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ต้องรู้เลย เหมือนกับว่า เป็นเราเกิดมาแล้วก็มีทุกสิ่งทุกอย่าง ตามที่เกิดขึ้นเป็นไป คงจะไม่ต้องรู้อะไร แต่ว่าความจริงก็คือว่า เกิดแล้วตาย แน่นอน แล้วก็ไม่รู้อะไรไปตั้งแต่เกิดจนตาย กับการเกิดแล้วตายแน่ๆ แต่ก่อนจะตาย ก็ยังมีโอกาสที่จะได้มีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่า เกิดมาไม่รู้ ก็ทำตามความไม่รู้ ไม่ว่าจะพูด จะคิด จะทำ ด้วยความไม่รู้ ซึ่งทำให้สะสมความไม่รู้ และกิเลสมากมาย และอาจจะหลงเข้าใจว่า รู้ด้วย

    นี่เป็นสิ่งที่ต้องฟังด้วยความละเอียด และไตร่ตรอง และให้เข้าใจความจริงว่า แม้แต่คำว่าธรรม ก็ต้องมีความเข้าใจที่มั่นคงว่า ไม่ใช่ของใคร ถ้ากล่าวถึงความหมายหนึ่งของธรรม คือ ความเป็นธาตุ ทา – ตุ จริงหรือไม่ มีจริงๆ บังคับบัญชาไม่ได้ แล้วความหลากหลายของธาตุ แม้ในขณะนี้ก็มีมาก แต่ไม่รู้กับการที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงอนุเคราะห์คนอื่นให้รู้ตาม

    เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของความรู้ต้องมีแน่นอน ระหว่างไม่รู้เลยกับรู้ นี่ก็ต่างกัน ขณะนี้คิดถึงธรรม ไม่ใช่เรา ทุกอย่างในขณะนี้มีจริงๆ เป็นธรรมแต่ละลักษณะซึ่งเกิดแล้วปรากฏ ค่อยๆ คล้อยไปที่จะเข้าใจในความไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ใคร เป็นสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ แล้วปรากฏ เพราะเหตุว่าเกิดแล้วด้วยจึงได้ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ที่สำคัญ ขณะนี้ซึ่งทุกคนไม่ค่อยจะรู้ ก็คือ จิต เวลาเห็นนี้สิ่งหนึ่งสิ่งใด คิดถึงจิตหรือเปล่า หรือคิดถึงสิ่งที่ปรากฏให้เห็น กำลังนึกถึงคนที่โกรธ ขณะนั้นกำลังคิดถึงจิตที่โกรธ หรือกำลังมีแต่เรื่องของคนที่เราโกรธมากมาย วันนั้นทำอะไร แล้ววันนี้จะพบกันหรือเปล่า และต่อไปจะโกรธมากขึ้นหรือน้อยลง อย่างไรก็เป็นสิ่งซึ่งลืมไปเลยว่า มีจิต เพราะฉะนั้น ความสำคัญในขณะนั้นไปที่คนอื่น สิ่งอื่นที่กำลังปรากฏ แต่ไม่รู้เลยว่า สิ่งที่ปรากฏนั่นแหละ ผู้มีปัญญา สามารถรู้จักจิตของตนเองในขณะนั้น แทนที่จะไปคิดถึงเรื่องราวของคนอื่น

    เมื่อเช้านี้เราอาจจะโกรธใครหลายคนก็ได้ ฟังข่าววิทยุโน้นนี่ นี่นั่น ก็มีความโกรธเกิดขึ้น ขณะนั้นก็ลืม ว่าขณะนั้นเป็นการสะท้อนให้เห็นสภาพจิตของตนเอง ซึ่งกำลังมีลักษณะที่ ดีไหมโกรธ แต่ไม่รู้เลย เพราะฉะนั้น ความไม่รู้ ไม่ว่าขณะไหนทั้งสิ้น ก็จะทำให้เป็นไปตามกำลังของอกุศล

    ถ้าเป็นผู้ฉลาด พอมีการระลึกได้ ไม่ว่าจะเห็นสิ่งใด ที่รัก หรือที่ชัง ระลึกสภาพของจิต น่ารังเกียจไหมในอกุศลนั้นๆ ที่เกิดขึ้น ลืมคนที่เรากำลังโกรธเลย ใช่ไหม จะไปสนใจอะไร เพราะว่าเป็นเพียงสิ่งที่จิตคิดเท่านั้นเอง และความจริงในขณะนั้นก็ไม่มีคนนั้นเลยทั้งสิ้น ด้วยประการใดๆ ถ้าไม่มีการที่จะไปจำสภาพธรรมที่เกิดรวมกัน แล้วก็เข้าใจว่า เป็นคนนั้นอย่างแน่นอน ไม่เป็นคนอื่น เพราะฉะนั้น ความโกรธนั้นก็มั่นคง ผูกไว้ ระลึกเมื่อไร ก็โกรธเมื่อนั้นทันที ลืมจิตว่า วันก่อนนั้นก็มีความโกรธ แล้ววันนี้เพียงแค่คิดชื่อก็มีความโกรธ เพราะฉะนั้น สภาพของจิตน่าสนใจมาก แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า จิตเป็นธาตุ ไม่ใช่เรา

    อย่างไรๆ ก็ต้องถึงประโยชน์ของการฟังธรรม ก็คือ สามารถเข้าใจได้ในความเป็นธาตุ ในความเป็นธรรม ที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงว่า ทุกอย่างไม่ใช่ของใคร จิตที่กำลังโกรธ ก็ไม่ใช่ของใคร

    เพราะฉะนั้น การเข้าใจลักษณะของจิตว่า ขณะนั้นเป็นธาตุซึ่งเกิด และขณะนั้นก็มีสภาพลักษณะที่ต่างๆ ออกไป บางกาลธาตุนี้เกิดเห็น เฉพาะเห็น ไม่โกรธ ไม่รัก ธาตุนี้ดับแล้วก็เป็นปัจจัยให้ธาตุอื่นเกิดสืบต่อ ซึ่งไม่รู้เลยว่า กว่าจะถึงขณะที่เพียงได้ยินขณะนี้ ก็มีธาตุซึ่งเป็นจิตเกิดดับสืบต่อ จนถึงกาลที่จิตได้ยินเกิดขึ้น พอจิตได้ยินดับไปแล้ว ก็ยังไม่รู้ว่า มีจิตเกิดสืบต่อจนกว่าจะถึงรักหรือชัง หรือมีเมตตา หรือมีกุศลในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียด กว่าจะถึงการเข้าใจถูกต้องว่า ไม่ใช่เรา แล้วไม่ใช่ของเรา ทั้งๆ ที่จิตมีในขณะนี้ เป็นเพียงธาตุ ลองไม่คิดถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วรู้เฉพาะจิตซึ่งเกิดขึ้น เป็นธาตุ ซึ่งแล้วแต่ขณะนั้นเป็นธาตุอะไร หลากหลายไหม จิตขณะนี้ เกิดแล้วตามเหตุปัจจัย แล้วไม่ใช่ของใครด้วย และไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่เรื่องใดๆ เลย แต่เป็นธาตุที่เกิดแล้วก็ดับสืบต่อ

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ของเราแน่นอน ฟังจนกว่าจะมีความเข้าใจถูกว่า ธรรมเป็นธรรม แล้วจิตก็มีอยู่ทุกขณะ แล้วหลงยึดถือว่าเป็นของเราทุกจิตไปเลย ซึ่งไม่ถูกต้อง

    เพราะฉะนั้น ความเห็นถูก ก็คือ ค่อยๆ เข้าใจถูกต้องในลักษณะของจิตว่า เป็นจิตแล้วก็เป็นธรรม มีปัจจัยก็เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป

    ทุกขณะ ถ้ามีปัญญาจากการได้ยินได้ฟัง ก็จะรู้สภาพของจิตโดยไม่สนใจในสิ่งที่ปรากฏ เพราะสิ่งนั้นเป็นเพียงสิ่งที่ทำให้สามารถรู้ลักษณะของจิตที่เกิดขึ้น เมื่อมีสิ่งนั้นเป็นอารมณ์

    พอจะรู้ได้ใช่หรือไม่วันหนึ่ง ว่าทุกอย่างเป็นธรรม แม้แต่จิตในขณะนี้ก็เกิดแล้ว ดับแล้ว หายไปเลย หมดไปเลย ไม่เหลือเลย แล้วก็มีธาตุใหม่เกิดขึ้นสืบต่อ ไม่สามารถหยุดปัจจัยที่ทำให้ธาตุต่างๆ เหล่านี้เกิดได้ จนกว่าปัญญาสามารถที่จะความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงๆ แล้วก็ฟังธรรม เพื่อเข้าใจธรรม ไม่อย่างนั้นก็จะมีคำถามอยู่ตลอดเวลา แล้วเราฟังธรรม เราก็ยังโกรธ ฟังธรรมแล้วเราก็ยังโกรธ เวลาฟังธรรม ก็ต้องเข้าใจว่า เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น เวลาโกรธเกิดขึ้น โกรธก็เป็นธรรม แล้วเมื่อไรจะเป็นอย่างนี้ได้ ก็ต้องมีความมั่นคงในการเข้าใจว่า เมื่อเป็นสิ่งที่จริง และยังไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ที่กำลังได้ยินได้ฟัง แต่ก็สามารถรู้ได้ในวันหนึ่ง ถ้าเข้าใจเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่ไปนั่งทำอะไร แล้วก็คิดว่า สามารถละคลายการยึดถือจิต และธรรมว่าเป็นตัวตนได้

    อ.กุลวิไล ความหลงลืมสติมีมาก ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรม ก็ไม่ตรงกับที่ท่านอาจารย์แสดง เพราะว่าท่านแสดงถึงลักษณะของจิต และกิจของจิต ซึ่งท่านอาจารย์กล่าวมาทั้งหมดก็สอดคล้องกับในพระอภิธรรมที่กล่าวว่า จิตเป็นสภาพรู้แจ้งอารมณ์ และจิตก็ทำกิจหน้าที่ต่างๆ กัน ซึ่งก็คือชีวิตประจำวันนั่นเอง มีการเห็น มีการได้ยิน และแน่นอนมีการคิดนึกด้วย ซึ่งก็ไม่ใช่เรา แต่ก็ยังยึดถือว่า จิตนั้นเป็นเรา

    ผู้ฟัง ถ้าจิตที่เป็นอกุศล แล้วล่วงออกทางกายหรือวาจา เป็นอกุศลกรรมบถซึ่งให้ผลอยู่ในวัฏฏะ แต่ถ้าเป็นอกุศลจิตที่ไม่ล่วงออกทางกาย วาจา ที่ไม่เป็นกรรมบถ น่ารังเกียจอย่างไร และมีความสำคัญอย่างไรที่จะต้องศึกษาหรือพิจารณา เพราะว่าส่วนใหญ่จากการศึกษาธรรม เราก็กลัวผลของอกุศลกรรมให้ผลเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรา แต่ตอนนี้เราฟังเรื่องจิต กลัวก็เป็นธรรม ถ้าไม่มีจิต ขณะนี้จะกลัวไหม ก็ไม่มีเจตสิกที่เป็นโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เพราะมีจิต ก็มีเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย ฟังธรรมให้เข้าใจว่าเป็นธรรม เพื่อจะรู้จริงๆ ว่า ขณะนี้ไม่ใช่เรา นี่คือประโยชน์ของการฟัง

    ผู้ฟัง แต่บางครั้งกล่าวกันว่า ถ้าเป็นจิตที่เป็นอกุศล แต่ยังไม่ล่วงเป็นกรรมบถ ก็ไม่มีผลใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญาเคยโกรธ ขุ่นใจ นิดหนึ่งไหม แค่นิดเดียว

    ผู้ฟัง ส่วนใหญ่ไม่ค่อยนิด รู้ตัวอีกทีก็เยอะ

    ท่านอาจารย์ เห็นฝุ่น โกรธมาก เกรี้ยวกราด ด่าว่า หรือว่าขุ่นใจ

    ผู้ฟัง ถ้าเห็นฝุ่น น่าจะขุ่นใจ

    ท่านอาจารย์ ก็มีอย่างน้อยที่สุด และก็เพิ่มขึ้นๆ จนกระทั่งสามารถที่จะกระทำทุจริตกรรมได้ ถ้าไม่มีอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย กุศลใหญ่ๆ (นาทีที่ ๑๔.๐๖ อกุศลใหญ่ๆ) จะมีได้ไหม ก็มีไม่ได้ เห็นภัยเมื่อเป็นอกุศลใหญ่ ทุจริตกรรม แต่ทุจริตกรรมนั่นมาจากไหน ถ้าไม่ใช่กรรมแต่ละขณะเล็กๆ น้อยๆ ที่สะสม

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวก็ตรงกับความเข้าใจเดิม ซึ่งเข้าใจว่า อกุศลจิตถ้าเกิดขึ้นแล้วก็สะสมไป ก็มีโอกาสเป็นอกุศลกรรมได้ แต่ยังสงสัยตรงที่ บางขณะเป็นอกุศล อย่างเช่นลักษณะของโลภะซึ่งชอบอาหารอร่อยหรือเล็กๆ น้อย ซึ่งยังไม่ได้ล่วงเป็นกรรมบถ มันไม่ได้เกิดอะไร และมองไม่เห็นว่า สะสมอย่างไรที่จะทำให้เกิดเป็นอกุศลกรรมบถออกไป

    ท่านอาจารย์ ชอบมากๆ ถือเอาสิ่งของที่คนอื่นไม่ได้ให้ มาเป็นของเราได้ไหม อยากได้มากๆ ทำทุจริตกรรม คดโกงคนอื่นได้ไหม หรืออาจจะเป็นปัจจัยให้ถึงการฆ่าเพื่อจะได้ทรัพย์สินนั้นมาได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้ อย่างนี้แสดงว่า ถ้าอกุศลกรรมบถเกิด ณ ปัจจุบัน ไม่ได้มีสติงดเว้น เมื่อเกิดขึ้นมาก็ล่วงกรรมบถ แสดงว่า สิ่งที่สะสมมาในอดีตแสนโกฏิกัปป์มาให้ผลหรืออย่างไร คือ มีกำลังมากมายถึงขนาดล่วงออกทางกาย วาจา

    ท่านอาจารย์ การฟังธรรมต้องละเอียด จิตสะสมกรรม กิเลส วิบาก กิเลสนิดหน่อย เล็กๆ น้อยๆ สักเท่าไรก็ตาม เกิดแล้วดับแล้ว แต่ว่าหายไปไหน ที่เกิดไปแล้วหายไปไหน เกิดกับจิต และจิตก็ดับ แต่ว่าจิตที่ดับเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด จะไปให้จิตอื่น ที่ไม่มีโทสะ อย่างจิตของพระอรหันต์ มาเป็นปัจจัยให้จิตที่มีโทสะเกิด เกิดได้หรือไม่ ไม่ได้ แต่จิตที่มีโทสะที่ดับไปแล้วนั่นแหละ เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด สิ่งที่มีแล้ว สะสมแล้ว จะอยู่ที่ไหน จะไปไหน ก็ต้องสืบต่อจากขณะก่อนจนกระทั่งถึง ณ ขณะนี้

    ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แต่ละคนมีอุปนิสัยต่างๆ กัน มีฉันทะ มีความพอใจต่างๆ กันด้วย แต่ว่าเป็นปัจจัยที่ไม่ใช่กัมมปัจจัย เพราะขณะนั้น ไม่มีเจตนาที่ทำทุจริต ที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แม้ว่าเป็นอกุศลจิต เป็นโทสะ เป็นความขุ่นใจ ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว แต่ก็ยังไม่ถึงการที่จะกระทำการเบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อนเลย แต่ว่าไม่ได้หายไปไหนเลย สะสมสืบต่อในจิตต่อๆ ไป

    โดยภาวะที่เป็นจิตเกิดแล้วดับ เป็นปกตะ คือ เกิดแล้วดับไป เป็นอดีต แต่ก็เป็นปัจจัยสะสม ทำให้เป็นอุปนิสสยปัจจัยที่สามารถทำให้ทันทีที่เห็น จิตสะสมมาแล้วที่จะเป็นโลภะ หรือโทสะสามารถเกิดได้ ในขณะที่แม้รูปจะมีอายุสั้นเท่าไรก็ตาม เมื่อรูปนั้นยังไม่ดับ กำลังของอกุศลที่สะสมมาเป็นปัจจัยให้เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดกระทบตา จักขุปสาทเป็นปัจจัยให้ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งไม่ใช่ภวังคจิต รู้ว่าอารมณ์กระทบ แล้วเมื่อดับไปแล้ว จักขุวิญญาณก็เกิดขึ้นเห็น

    ลองคิดถึงขณะสั้นแสนสั้น สั้นแค่ไหน ดับไปแล้ว "ปัญจทวาราวัชชนะ" ก็เป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณจิตเกิดแล้วก็ดับไป จักขุวิญญาณที่ดับเป็นปัจจัยให้ "สัมปฏิจฉันนะ" เกิดต่อ สัมปฏิจฉันนะจิตที่เกิดต่อเป็นปัจจัยให้ "สันตีรณจิต" เกิดต่อ และสันตีรณจิตที่ดับไปก็เป็นปัจจัยให้"โวฏฐัพพนจิต" เกิดต่อ เร็วแค่ไหน จากภวังค์ซึ่งไม่มีอารมณ์ที่จะปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่พอมีการกระทบเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นตามลำดับ แค่ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ขณะดับ สัมปฏิจฉันนะดับ สันตีรณะดับ โวฏฐัพพนะดับ อกุศลหรือกุศลที่สะสมมา มีกำลังแล้วที่จะเกิดขึ้น ถ้าดับหมด เป็นพระอรหันต์ ไม่มีอะไรที่จะเกิดเลยที่เป็นอกุศล กุศลก็ไม่เกิด อกุศลก็ไม่เกิด ไม่ว่าจะเห็นอะไร ได้ยินอะไร ก็เป็นกิริยาจิต ภาวะที่จะเป็นอกุศลไม่มี ที่จะเป็นกุศลไม่มี

    เพราะเหตุว่า ถ้ายังเป็นกุศล อกุศล ก็เป็นปัจจัยให้มีการเกิดขึ้น ยังไม่สิ้นสุดเหตุที่มีการเกิดในสังสารวัฏฏ์ แต่เมื่อไม่มีแล้ว อารมณ์นั้นจะเป็นอารมณ์ใดก็ตาม กิริยาจิตเกิด นี่คือ การที่จะรู้ว่า แม้อกุศลเพียงเล็กน้อยที่เกิดแล้ว ไม่ถึงการกระทำทุจริตทางกาย ทางวาจา ก็สะสมสืบต่ออยู่ในจิต จนมีกำลังที่จะเกิด ใครก็ยับยั้งไม่ได้

    ผู้ฟัง ทำไมอนุขณะของจิตมีเพียง ๓ แต่ลักขณรูปมีตั้ง ๔

    ท่านอาจารย์ รูปไม่ใช่นามธรรม จะให้เหมือนกันได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ ผมอยากทราบความต่างของ "อารัมมณูปนิสสยปัจจัย" และ "ปกตูปนิสสยปัจจัย" และที่เป็น "อุปนิสสยปัจจัย"ด้วย

    ท่านอาจารย์ อยากจะรู้ อยากเข้าใจโดยเร็ว หรือโดยทันที แต่ถ้าไม่เข้าใจธรรมจริงๆ จะสามารถที่จะเข้าใจคำอีกมากมายที่อ่านพบ หรือได้ยิน โดยถ่องแท้จริงๆ หรือเปล่า เพราะอาจจะเป็นผู้ที่พอใจที่จะเพียงได้ฟัง แต่ไม่ได้เข้าใจมากมาย หรือเข้าใจจริงๆ ก็ไม่สามารถที่จะทำให้เข้าใจธรรมจริงๆ ได้ เป็นแต่เพียงเข้าใจคำหรือเข้าใจชื่อเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว การที่ทรงแสดงสภาพธรรมโดยละเอียด โดยประการต่างๆ ก็เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้น ขณะที่ฟัง ต้องรู้ด้วยว่า เป็นธรรม ที่ไม่ใช่เรา ยิ่งได้ยินได้ฟังมากเท่าไร ก็ยิ่งเห็นความเป็นธรรมที่ไม่ใช่เรายิ่งขึ้น เวลาที่พูดถึงธรรมที่เกิด ก็ต้องมีสิ่งที่เป็น ปัจจัยธรรมนั้น เฉพาะธรรมนั้น เป็นปัจจัยให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น ไม่ใช่สิ่งอื่น

    ด้วยเหตุนี้ ปัจจัยหนึ่งจึงหมายความถึง ที่อาศัย ที่ใช้คำว่า นิสสยปัจจัย จะมีคำว่า นิสสยปัจจัย แล้วก็มีคำว่า อุปนิสสยปัจจัย เพราะฉะนั้น ถ้าฟังจริงๆ ก็คือ ต้องรู้ว่า ปัจจัย ก็คือ สภาพธรรมใดที่เป็นที่อาศัยให้สภาพธรรมเกิดขึ้น นั่นคือนิสสยปัจจัย แต่พอถึงคำว่า “อุปนิสสยปัจจัย” เพิ่มความหมายขึ้นว่า เป็นที่อาศัยที่มีกำลังแก่นามธรรมที่จะเกิด

    นี่ก็คือความละเอียด ถ้าศึกษากว้าง และละเอียดขึ้น ไม่ใช่ตอนนี้ เพราะเหตุว่าตอนนี้มีจิตขณะนี้ ก็ยังไม่รู้ลักษณะของจิตพอที่จะเห็นว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นธาตุซึ่งขณะนี้เกิด ไม่ต้องเรียกชื่อเลย ทั้งหมดในห้องนี้ มีจิตเกิดมากมาย ก็เป็นเพียงธาตุซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้น ฟังเพื่อให้เข้าใจถูกต้องว่า ธรรมเป็นธาตุ

    เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เกิดต้องมีปัจจัย แต่คุณธนากรสงสัยอุปนิสสยปัจจัย ก็ต้องทราบว่า คำนี้หมายความถึง ที่อาศัยที่มีกำลัง ที่ทำให้นามธรรม คือ จิต และเจตสิกเกิด ไม่เป็นที่อาศัยที่มีกำลังให้รูปธรรมเกิด นี่คือความต่างกัน เพราะว่าจิตมีความสำคัญมาก เกิดโดยไม่มีปัจจัยต่างๆ ไม่ได้เลย แล้วจิตก็หลากหลายด้วย

    ด้วยเหตุนี้ ก็ค่อยๆ ฟังไป อุปนิสัยปัจจัยมี ๓ คือ "อารัมมณูปนิสสยปัจจัย" อารมณ์ที่เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ที่จะทำให้จิตเกิดขึ้น นี่เพียงชื่อก่อน แล้ว "อนันตรูปนิสสยปัจจัย" หมายความถึง การเกิดดับสืบต่อของจิต และเจตสิก ก็เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง คือ จิตที่ดับไปแล้ว จิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีปัจจัย จิตเกิดขึ้นไม่ได้

    เพราะฉะนั้น จิตก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เพียงธาตุชนิดหนึ่งซึ่งอาศัยปัจจัยเกิดแล้วดับ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    14 ม.ค. 2567