พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 530


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๓๐

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ผู้ฟัง อย่างเวลาที่เราได้ยินเสียง แล้วมีการระลึกถึงสภาพรู้ และความหมาย เราก็ทราบว่า ความหมายเป็นคนละลักษณะกับการได้ยินเสียง ทางตาก็เหมือนกัน เวลาเห็นสิ่งที่ปรากฏแล้วมีสภาพรู้ แล้วมีการคิด คิดว่าเป็นใคร แต่ถ้าเราพิจารณาจริงๆ แล้ว เพียงแต่เป็นสี และขอบเขตของสีเท่านั้นเอง ที่เราเห็นว่าเป็นอะไร คิดว่าเป็นสัญญา คุยกับสหายธรรมในกลุ่มเขาบอกว่า สัญญามีหลายอย่าง กราบท่านอาจารย์ช่วยอธิบายความเพิ่มเติมว่า มีสัญญาอะไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ กำลังมีสัญญา เวลาคิดมีสัญญาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มี จะคิดคำนั้นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็น มีสัญญาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แล้วคุณหมอสงสัยสัญญาไหน ก็มีสัญญาทุกขณะ จะรู้สัญญาก็ในขณะที่มีสัญญา เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วคุณหมอใช้คำว่า เมื่อระลึก แต่จริงๆ คุณหมอคิด แล้วก็เป็นเรื่องยาว ขณะคิดแต่ละคำก็เป็นสัญญาทั้งนั้น ขณะเห็นก็เป็นสัญญา ขณะได้ยินก็เป็นสัญญา ขณะที่เสียงหรืออะไรก็ตามที่ปรากฏ สัญญาก็จำ ที่จะให้สัญญาไม่จำเป็นไปไม่ได้ แต่ไม่รู้ แล้วต้องการที่จะรู้สัญญา ทำไมเลือกที่จะรู้สัญญา และสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง ไม่ได้เลือก แต่เคยมีลักษณะที่เป็นสัญญาเกิดขึ้นแล้วรู้

    ท่านอาจารย์ เคยมี เดี๋ยวนี้มีหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้ก็มี

    ท่านอาจารย์ แสดงว่ายังไม่รู้จักสัญญาจริงๆ

    ผู้ฟัง จึงได้เรียนถามท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ คำตอบก็คือเดี๋ยวนี้ก็มีสัญญา

    ผู้ฟัง จากที่ฟังสนทนาดูเหมือนว่า ปัญญาขั้นฟังเข้าใจ ที่คุณหมอถามเรื่องสัญญา ในเว็บไซต์ก็จะพูดถึง สัญญาที่มั่นคงเป็นเหตุปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด คำถามคือ ท่านอาจารย์กล่าวว่า คิด คิดหรือไม่ว่าทำไมถึงมีสิ่งที่ปรากฏ คิดหรือยัง คำถามคือ ก่อนจำ ฟังธรรมว่า ทุกอย่างเป็นธรรม เป็นอนัตตา แล้วเหมือนกับมีสติขั้นคิด หรือปัญญาขั้นคิดถึงสภาพธรรม นอกจากสัญญาที่มั่นคงว่า ทุกอย่างเป็นธรรมแล้ว ก็จะมีสติขั้นคิดถึงลักษณะหรือเรื่องราวของธรรมที่ฟัง โดยที่ไม่รู้ตรงลักษณะ ดูเหมือนจะเป็นระหว่างเมื่อฟังเข้าใจแล้วสติปัฏฐานรู้ตรงลักษณะ

    ท่านอาจารย์ โดยมากเมื่อฟังธรรมแล้ว สติปัฏฐาน แล้วอย่างไร ฟังธรรมแค่นี้แล้วก็สติปัฏฐาน สัญญาก็สติปัฏฐาน ได้ยินเสียงก็สติปัฏฐาน เข้าใจเสียงหรือเปล่า เข้าใจสิ่งที่ปรากฏขณะนี้หรือยัง แล้วสติปัฏฐานเป็นเพียงชื่อที่พูด เพราะยังไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น จะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ หรือจะคิดถึงสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามที่ฟัง

    ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่จะพากันข้ามหรือกระโดด ศึกษาธรรมแบบกระโดดจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ข้อความหน้านี้ไปถึงเล่มโน้น แต่ไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ทีละเล็กทีละน้อย ไม่ต้องไปคิดเรื่องของสติปัฏฐานเลย เพราะถ้ายังไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วจะมีอะไรที่จะทำให้สติปัฏฐานเกิดได้

    ผู้ฟัง ไม่เข้าใจคำว่า เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ยกตัวอย่างเมื่อสักครู่ท่านอาจารย์ถามว่า ทำไมถึงมีสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ ทำไมสิ่งนี้จึงปรากฏได้

    ผู้ฟัง จริงๆ ก็เพราะมีจิตเห็น หรือเสียงปรากฏก็เพราะมีจิตได้ยิน คือมีสภาพรู้ ไปรู้สภาพที่ไม่รู้ หรืออารมณ์ที่ปรากฏ ซึ่งตรงนี้หมายความคือ เมื่อฟังเข้าใจก็เข้าใจอย่างที่ท่านอาจารย์ถาม

    ท่านอาจารย์ ก็เข้าใจอีกฟังอีกต่อไป กำลังเห็น มีสิ่งที่ปรากฏ เข้าใจสิ่งที่ปรากฏทีละเล็กทีละน้อยว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฎให้เห็นเท่านั้นเอง ถ้าเข้าใจไม่ได้เดี๋ยวนี้ ฟังต่อไป แล้วมีสิ่งที่ปรากฏ ไม่เคยขาดเลยทุกครั้งที่เห็น ก็ค่อยๆ เข้าใจลักษณะที่ปรากฏกับสภาพที่กำลังเห็น ขณะนั้นโลกเดียว ไม่มีใครเลยสักคนเดียวแต่มีธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับ เร็วมาก

    ผู้ฟัง คำถามที่ท่านอาจารย์ถามว่า คิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า มีได้เพราะจิตเห็น ตรงนี้เราก็ทำตรงนั้นไม่ได้ เพราะว่ามีแต่เหตุที่ฟังให้เข้าใจ แล้วสังขารขันธ์ก็จะปรุงแต่งให้คิดถึงเรื่องธรรมที่ฟังว่า แทนที่จะไปคิดเรื่องซาลาเปา อย่างที่คุณหมอวิภากรยกตัวอย่าง ก็คิดถึงธรรมที่ปรากฏขณะนี้ ก็คือมีเรื่องเห็น ของได้ยิน นี่ก็เป็นสังขารขันธ์ที่เกิดจากฟังเข้าใจมากพอ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เข้าใจ ประโยชน์ของการฟังมีไหม

    ผู้ฟัง ถ้าไม่เข้าใจ ก็ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แล้วโลภะก็อยากจะเป็นอย่างนั้น อยากจะเป็นอย่างนี้

    ผู้ฟัง ทั้งๆ ที่ฟังธรรมมาก แต่ไม่มากพอ มัวไปคิดเรื่องอื่น ฟังธรรมแล้วก็คิดเรื่องที่ไม่ใช่ธรรมมากกว่าเรื่องราวของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็สังเกตดูแม้ขณะฟัง บ่อยครั้งความเป็นอนัตตาก็ไปคิดเรื่องสิ่งที่ไม่ได้กำลังฟัง แม้ดูเหมือนกำลังตั้งใจฟังสิ่งที่กำลังฟังให้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ แล้วฟังว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา หรือเปล่า ขณะนั้นเป็นอนัตตาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ ก็ฟัง เพราะว่าเป็นอนัตตาจริงๆ ก็ตรงตามที่ได้ฟัง กำลังฟังก็คิดโดยที่ไม่อยากจะคิด แสดงความเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น คำทุกคำก็กล่าวถึงสิ่งที่มีจริง แล้วแต่ว่าปัญญาสามารถเห็นถูกในสิ่งนั้นแค่ไหน

    ผู้ฟัง สืบเนื่องจากอินเดีย เห็นหลายคนเล่าให้ฟังว่า ประทับใจเรื่องขอขมาพระรัตนตรัย จึงเกิดคำถามว่า เหมือนกับปกติไม่ได้ขอขมา แล้วต้องไปสังเวชนียสถานจึงมีการขอขมาพระรัตนตรัย จะกราบเรียนถามว่า เวลากราบพระธาตุก็สามารถขอขมาพระรัตนตรัยได้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขอขมาได้ทุกวัน ไม่มีใครห้ามเลย แต่ว่า ณ สถานที่นั้นเป็นโอกาสหรือเปล่า ที่จะได้ขอขมาด้วย เราไม่ได้เคยขอขมาหมู่เลยใช่ไหม บางคนก็ขอขมาเป็นส่วนตัวใช่ไหม แต่เมื่อถึงเวลานั้น เราก็พร้อมใจกันที่ระลึกถึงพระคุณ และขอขมาถ้ามีการทำผิดพลาดในพระรัตนตรัยด้วยประการใดๆ ก็ตาม เพราะว่าห้ามใจไม่ได้ ใช่ไหม บางคนอาจจะคิดในสิ่งที่ไม่ควรคิดเลย ต่อพระรัตนตรัย ก็เป็นไปได้ เห็นความเป็นอนัตตาของธรรม ส่วนรวมก็ร่วมกัน ขอขมาพระรัตนตรัย

    ผู้ฟัง แต่ในคำขอขมาก็จำได้ว่า เพื่อการสำรวมระวังในการละอกุศล และมีกุศลต่อไป ตรงนี้ถ้าไม่ละเลยไม่ข้ามก็จะทำให้ระลึกได้ว่า ไม่ใช่ขอขมาแล้วก็สบายใจว่า ทำผิดไปก็มาขอขมา แต่ในคำขอขมาก็จะบอกว่า

    อ.กุลวิไล เพื่อสำรวมระวังในพระรัตนตรัยตลอดไป

    ท่านอาจารย์ ขอขมาแล้วทำตามหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นธรรมดา แต่อย่างน้อยที่สุดก็ยังระลึกได้ว่า สมควรที่จะขอขมา แล้วถ้าระลึกได้ถูกต้องยิ่งขึ้น ก็คือควรจะประพฤติปฏิบัติตาม คราวก่อนๆ วันก่อนๆ ปีก่อนๆ ไม่ได้ประพฤติตาม แต่เมื่อขอขมาแล้วก็ประพฤติตาม ถ้าขอขมาแล้วยังไม่ประพฤติตาม วันนี้ก็ได้ เริ่มได้เสมอ ก็ยังเหมือนเดิมหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับคำ แต่ศรัทธา และปัญญาที่เจริญขึ้น ก็จะทำให้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง รู้จักแม้แต่ขณะที่ขอขมา ด้วยความจริงใจ มั่นคงแล้วหรือยัง

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่นี้ท่านอาจารย์แสดงว่า ประพฤติปฏิบัติตามหรือเปล่า ขอความเข้าใจอย่างละเอียดด้วย

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้กำลังทำอะไรอยู่

    ผู้ฟัง ฟังธรรม

    ท่านอาจารย์ ใครบอกให้ฟัง สะสมมาที่จะเห็นประโยชน์ จึงฟัง ขณะที่ฟัง กุศลหรืออกุศล

    ผู้ฟัง กุศล

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เข้าใจ หมายความว่า ขณะนั้นคุณแก้วไม่ได้ไปทำอกุศล ประพฤติธรรมหรือเปล่า ละบาป ไม่กระทำบาปทั้งปวง

    ผู้ฟัง แต่ชีวิตจริงๆ ทุกๆ วันก็มีเวลา แต่ก็ไม่ได้ฟังธรรมตลอด

    ท่านอาจารย์ แต่ละขณะ จะให้เป็นกุศลตลอด เป็นไปได้ไหม

    ผู้ฟัง แต่บางเวลามีอกุศลมากๆ เวลาระลึกได้ บางทีก็คิดถึงเรื่องธรรม

    ท่านอาจารย์ คิดเองหรือมีปัจจัย

    ผู้ฟัง มีปัจจัย ตอนนี้มีความรู้สึกเกิดความละอายในตัว แต่บางทีก็มีความรู้สึกว่าเรามีความละอาย

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมทั้งหมดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ใช่ สงสัยคำว่า “ประพฤติปฏิบัติตาม”

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่เป็นกุศล

    อ.คำปั่น สำหรับการขอขมาเป็นไปเพื่อความเจริญในพระวินัยของพระอริยเจ้า การที่จะเป็นบัณฑิตก็ต้องเห็นโทษที่เกิดขึ้น เมื่อเห็นโทษแล้วแสดงโทษ เพื่อที่จะสำรวมระวังไม่กระทำผิดนั้นอีก จึงเป็นไปเพื่อความเจริญในวินัยของพระอริยเจ้าอย่างแท้จริง จะเห็นได้ว่า ชีวิตของผู้ที่ยังมีกิเลส ย่อมเป็นที่แน่นอนว่ากิเลสต้องเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ

    เพราะขึ้นชื่อว่า “ปุถุชน” คือ เป็นผู้ที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส ไหลไปตามกิเลสประการต่างๆ ถ้าหากว่าไม่มีการศึกษาธรรม ไม่อบรมเจริญปัญญา ย่อมจะไม่เห็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ฉะนั้นแล้ว การที่ได้มีโอกาสได้ศึกษาธรรม มีโอกาสได้ฟังธรรม ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา ทำให้มีความเข้าใจธรรม ตามความเป็นจริง ปัญญาก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น เมื่อปัญญาเจริญขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายก็จะเจริญขึ้นตามลำดับของความเข้าใจด้วย เช่นเดียวกันกับการขอขมา ถ้าหากว่าทำไปด้วยความไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกาย วาจา ถ้าไม่ได้ศึกษาธรรม ย่อมไม่เห็นโทษตามความเป็นจริง แต่เมื่อได้ศึกษาแล้ว ก็ย่อมเห็นตามความเป็นจริง แล้วมีความตั้งใจ มีความจริงใจที่จะแสดงออกถึงความนอบน้อม และขอขมา เพื่อที่จะได้สำรวมระวังมีความประพฤติปฏิบัติที่ดีงามต่อไป และเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมทั้งหลายด้วย

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบคุณบุษกรหายสงสัยหรือยัง

    ผู้ฟัง เรื่องการขอขมาไม่สงสัยแล้ว

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องเป็นความชัดเจน ไม่ว่าจะพูดถึงเรื่องอะไร ก็ควรที่จะให้กระจ่างเท่าที่จะเข้าใจได้ เพราะคุณบุษกรก็คงคิดถึงว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงปรินิพพานแล้ว แล้วเราจะไปขอขมา ก็ดูเหมือนว่า แล้วจะหายหรือในสิ่งที่เรากระทำไปแล้วขอขมา แต่ว่าตามความเป็นจริงไม่ว่าใครก็ตามที่ได้กระทำกรรมแล้ว ถึงแม้คนอื่นจะยกโทษ แต่กรรมนั้นก็ยังเป็นเหตุที่จะให้เกิดผล

    เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็มีทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม โดยเฉพาะการที่จะกล่าวคำขอโทษ หมายความว่า คนนั้นจะต้องรู้สึกตัวจริงๆ ว่า ทำสิ่งที่ผิดหรือไม่ควร บางคนรู้ตัวว่าผิด ขอโทษไม่ได้ ไม่ได้เลยทั้งๆ ที่ผิด ก็ไม่ยอมที่จะขอโทษ นั่นก็แสดงให้เห็นว่า ไม่มีกุศลจิต ไม่ละอายในอกุศลที่ได้กระทำแล้วต่อสิ่งที่เป็นพระรัตนตรัย หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ตาม เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตาม ที่เกิดกุศลจิต นอบน้อมต่อผู้ที่เราขอขมา เป็นการแสดงความเคารพความนอบน้อมนั่นเอง เราจะไม่ขอโทษคนที่เราเห็นว่าเขาไม่สมควร บางคนก็อาจจะเป็นคนที่ร้าย และเป็นอกุศลมากๆ ทำสิ่งที่ไม่ดี แต่ตามความเป็นจริง เรื่องของเขาก็คือเรื่องของเขา เรื่องของเราก็คือ เราขอโทษได้ไหม ถ้าเราทำผิด ถ้าเราขอโทษได้ ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต ซึ่งไม่ใช่ความมานะ ความสำคัญตน แต่สามารถที่จะเห็นว่า ขณะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สมควรจะกระทำได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้น พร้อมที่จะขอโทษในสิ่งที่เราทำได้ ไม่ว่าเขาเป็นใคร ถ้าเราทำผิด แต่ถ้าเราไม่ได้ทำผิด จะไปขอโทษอะไร เพราะเราไม่ได้ทำผิด

    เพราะฉะนั้น เวลาที่มีความเข้าใจว่า ได้กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นการล่วงเกินปัจจุบันชาติ หรือชาติก่อนๆ โดยรู้หรือโดยไม่รู้ หรือโดยประมาท หรืออย่างที่กล่าว ฟังธรรมโดยไม่เคารพ แค่นั้น แสดงความเคารพพอที่จะมีต่อพระผู้มีพระภาคหรือเปล่า โดยการกล่าวคำขอขมาในเรื่องแม้เล็กน้อยที่สุดก็ตามแต่ ก็แสดงให้เห็นถึงความเคารพอย่างยิ่งในบุคคลซึ่งแม้เพียงเล็กน้อยที่เราไม่ประพฤติตาม หรือกระทำสิ่งที่ไม่สมควร เราก็สามารถที่จะกล่าวคำขอขมาได้

    เพราะฉะนั้น เมื่อเราอยู่ ณ สถานที่สมควรที่จะขอขมา ก็เป็นโอกาสที่จะได้ระลึกถึงสิ่งที่ไม่สมควรที่กระทำต่อพระรัตนตรัย แต่ไม่ได้หมายความว่า กรรมที่ได้กระทำแล้วจะหมดไป ผู้หนึ่งผู้ใดสามารถที่จะเว้น ยกโทษนั้นไม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อมีเหตุคือกรรมที่กระทำแล้ว ต้องเป็นเหตุให้ผลเกิดขึ้น แต่ก็เป็นการแสดงความเคารพอย่างยิ่งต่อบุคคลซึ่งแม้ความผิดเพียงเล็กน้อยก็ไม่สมควรที่จะกระทำต่อ นั่นคือพระรัตนตรัย

    ผู้ฟัง ยังติดใจเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ อยู่ ท่านอาจารย์ถามว่า รู้สัญญา ก็รู้ว่าสัญญาจำ เกิดกับจิตทุกดวง ตอนที่รู้สัญญา รู้ตอนไหน

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้ไม่รู้ ก็เหมือนตอนนี้ ก็ไม่รู้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์หมายความว่า จะรู้สัญญาก็ขณะที่มีสัญญา นั่นคือขณะนั้นต้องมีสัญญาเป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ต้องมีสภาพธรรมที่สามารถที่จะรู้ คือ ถึงสภาพที่เป็นสัญญาจริงๆ ไม่ใช่เพียงพูดถึงสัญญา เรียกสัญญา แต่ทั้งๆ ที่ขณะนี้ก็มีสัญญา แต่ไม่รู้จักสัญญา

    เพราะฉะนั้น เป็นความเข้าใจถูก ฟังธรรมมุ่งจะไปเห็น มุ่งจะไปรู้ มุ่งจะไปประจักษ์ อยากจะรู้สัญญาบ้าง หรืออะไรบ้าง แต่ความเข้าใจธรรมสำคัญที่สุด ไม่มีทางที่จะละความเห็นผิดได้ ถ้าไม่มีความเข้าใจ แล้วก็ไปเรียกว่า สติ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่สติ เช่น ไปทำสติ ทำได้หรือ นี่คือไม่ได้เข้าใจแล้ว เพราะฉะนั้น การฟังธรรมเพื่อเข้าใจธรรม แล้วต้องไปห่วงสัญญา หรืออะไรไหม เพราะถ้าฟังแล้วก็รู้ว่ามีสัญญาจริงๆ เพราะสัญญาคืออะไร สัญญาคืออะไร

    ผู้ฟัง สัญญา คือความจำ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แสดงว่ามีแน่นอน แต่เพียงฟังว่ามี แต่ตัวสัญญาจริงๆ ไม่ได้รู้ว่า ไม่ใช่เรา จนกว่าจะฟังมากขึ้น เข้าใจมากขึ้น ไม่ต้องทำอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะไม่มีตัวตนที่จะทำอะไรได้ แต่ความเข้าใจจากการฟังง จะทำหน้าที่ของปัญญา

    ผู้ฟัง ตั้งแต่เกิดก็รู้แล้วว่า มีเห็นจริงๆ มีเสียงจริงๆ แต่ ณ ปัจจุบันนี้มาฟังว่า สิ่งที่มีจริงๆ ก็กลายเป็นเรื่องแปลกไป

    ท่านอาจารย์ ไม่ เหมือนเดิม แต่เข้าใจถูกต้องว่า ไม่ใช่เรา เริ่มเข้าใจว่า ไม่ใช่เราเมื่อไร นั่นคือฟังธรรมแล้วเข้าใจว่า เป็นธรรม

    ผู้ฟัง เมื่อจิตเห็นเกิดขณะเดียว มีเห็น ขณะนั้นยังไม่ทันคิดว่า เป็นเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นสั้นๆ

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปคิดว่า สั้นแค่ไหน เข้าใจลักษณะที่ปรากฏ ไม่ต้องนับขณะ

    ผู้ฟัง ลักษณะที่ปรากฏมีทันที

    ท่านอาจารย์ เพียงปรากฏ

    ผู้ฟัง เพียงปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เข้าใจว่า เพียงปรากฏให้เห็นได้เท่านั้นเอง นี่เป็นลักษณะของธรรมชนิดหนึ่ง แล้วมีธรรมอีกหลายอย่าง ซึ่งไม่ได้ปรากฏให้เห็น แต่มี แข็งก็มี แต่ไม่ได้ปรากฏให้เห็น

    ผู้ฟัง มีเห็น ดับ แต่ไม่รู้ว่าดับ แต่จากการศึกษารู้ว่าดับ

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะรู้

    ผู้ฟัง แล้วอีกนาน มารู้แข็งอีก ข้ามไปตั้งนาน แล้วมาได้ยินเสียงอีก

    ท่านอาจารย์ ทุกคนก็เป็นอย่างนี้หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ปกติก็เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะรู้ขึ้นๆ

    ผู้ฟัง ที่เดือดร้อนเพราะว่าเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เกิด แล้วอยู่ๆ ก็จะเป็นสภาพธรรม ลักษณะตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้บอกว่าอยู่ๆ เข้าใจแค่ไหน ไม่ใช่ให้ไปทำอะไร แต่เข้าใจ เริ่มเข้าใจหรือยังว่า ขณะนี้สิ่งที่เห็นมีจริงๆ เพียงปรากฏให้เห็น เมื่อไรจะจำได้ เป็นสัญญาที่มั่นคงว่า สิ่งที่ปรากฏเพียงปรากฏให้เห็นได้เท่านั้นเอง ลักษณะของธรรมชนิดนี้เพียงปรากฏให้เห็นได้

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่าไม่ต้องทำอะไร หากเป็นลักษณะของสัญญาปรากฏ ถ้าเราเกิดมีสติระลึกตามทันที ก็จะรู้ว่า ขณะนี้คือสัญญา

    ท่านอาจารย์ เวลาสติเกิด คุณหมอทำอะไรหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ได้ทำ แต่ท่านอาจารย์ถามว่า แข็งกำลังปรากฏ หนูไม่ได้มีสติระลึกตรงนั้น แต่ก็ตอบได้ว่าเป็นไมโครโฟน

    ท่านอาจารย์ แล้วคุณหมอทำหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ได้ทำ

    ท่านอาจารย์ จากการสนทนาธรรม ก็มีคนที่เริ่มฟังธรรม แต่ก็อ่านอภิธรรมหรือธรรมมาแล้ว แต่ก็ไม่เข้าใจสภาพธรรม เขาบอกว่า เขาทำได้ แล้วเขาก็ทำให้ดูด้วย ยกมือปิดตา แล้วเขาก็บอกว่า นี่ไงทำได้ ก็ยกมือปิดตา ก็เลยถามเขาว่า เห็นไหม เขาบอกว่าเห็น แล้วทำ ให้เห็นหรือเปล่า หรือว่า ทำ ให้สิ่งนี้ปรากฏหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น แม้แต่ขณะนั้นที่ยกมือ ก็ไม่รู้ว่า ถ้าไม่มีจิต รูปนั้นจะเคลื่อนไหวได้ไหม ก็ไม่รู้ เต็มไปด้วยความเป็นเราซึ่งไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าอ่านข้อความในพระไตรปิฎก โดยที่ไม่ข้าม และมีความเข้าใจพอสมควรแล้ว ก็จะมีความซาบซึ้งในความจริง เช่น ทุกคนในขณะนี้มีร่างกายที่ทรงอยู่ในลักษณะนี้ เพราะอะไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    15 ม.ค. 2567