พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 502


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๐๒

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑


    ผู้ฟัง ขอเรียนถามความรู้ และประสบการณ์ของอาจารย์นิภัทร คือ เมื่อสักครู่นี้ การเข้าใจสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ก็มีการกล่าวว่า อาจจะต้องใช้เวลา ๑๐ ปี หรืออาจจะขณะต่อไปก็ได้ อยากจะกราบเรียนอาจารย์นิภัทรเกี่ยวกับประสบการณ์ว่า ตอนที่ฟังไม่เข้าใจเป็นอย่างไร และจะอธิบายอย่างไรให้เข้าใจได้

    อ.นิภัทร ก็อย่าถือว่ามีประสบการณ์ ถือว่าเกิดมานาน เกิดมานาน ที่อาจจะสู้เด็กๆ ไม่ได้ ไม่แน่ อย่าใช้อายุเป็นเกณฑ์เลย การเรียนธรรม เราไม่ต้องไปประเมินผลอะไร ขอให้ฟังอย่างเดียว ฟังแล้ว อย่าฟังเปล่า ฟังแล้วให้ไตร่ตรอง ถึงธรรมที่ได้ฟังด้วยว่าคืออะไร ไม่ใช่ฟังได้ยินแต่เสียงแล้วก็ผ่านไป อย่างนี้ให้แก่อย่างผมก็ไม่มีทาง คือฟังแล้วก็ต้องไตร่ตรองว่า ทำไมถึงชื่ออย่างนี้ และชื่ออย่างนี้อยู่ที่ไหน ในตัวเรามีไหม ต้องทดสอบอยู่ตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นปัญญาไม่เกิด ความรู้ไม่เกิด

    สำหรับผมเอง ผมฟังมาเรื่อยๆ แล้วผมไม่เดือดร้อน ทำไมถึงไม่เดือดร้อน เพราะผมอยู่ในแวดวงของธรรมมานาน แต่ไม่รู้เรื่อง เมื่อได้ยินชื่อ ก็เหมือนคุ้น แต่ไม่รู้เรื่อง ก็เลยไม่ตื่นเต้น ก็ฟังไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะมีความรู้สึกว่า ธรรมไม่น่าจะมีแต่ชื่อเท่านั้น ที่เราสัมผัสมาแต่สมัยแรกๆ เป็นเรื่องชื่อทั้งหมดเลย อย่างขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ ปฏิจจสมุปบาท อริยสัจ ๔ ล้วนเป็นชื่อทั้งนั้น ธรรมก็อย่างนี้ เราก็ต้องทำความคุ้นเคยไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะจับต้องได้

    ที่เป็นภาษาพูด มันต้องอาศัยเวลา และต้องอาศัยฟังต่อเนื่อง ไม่ใช่ฟังบ้าง ไม่ฟังบ้าง แล้วแต่ อย่างอื่นสำคัญกว่า แต่ผมไม่อย่างนั้น ผมถือว่า ธรรม คือ ชีวิตของเราทั้งชีวิต เพราะฉะนั้น ต้องสำคัญกว่าอย่างอื่น แม้จะทำอย่างอื่น ก็ต้องสำเหนียกด้วยว่า ไม่ใช่เราทำ เป็นเรื่องของธรรม ต้องทำอย่างนี้ ถึงจะได้ประโยชน์ของธรรม จะบอกว่า ทำงาน ไม่มีเวลาที่จะคิดธรรมเลย ทำงานนั้นใครทำ ก็ขันธ์ ๕ นี่แหละทำ ใครจะไปทำ อายตนะ ๑๒ นี่แหละทำ จิต เจตสิก รูป นี่แหละทำ ถ้าไม่มีอย่างนี้แล้วใครจะไปทำ ก็ศึกษาอย่างนี้ เทียบเคียงไปอย่างนี้เรื่อยๆ ความเข้าใจก็จะเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง สรุปแล้วก็คือ ฟังไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เข้าใจเอง ไม่ใช่เราเข้าใจ ธรรมเขาสามารถเจริญ ปฏิบัติ ไม่ใช่เราทำ เป็นหน้าที่ของธรรม

    อ.กุลวิไล ธรรม ก็คือ ชีวิตประจำวันด้วย เพราะถ้าเราไม่ศึกษาพระธรรม เราก็ไม่ทราบว่า ขณะนี้มีธรรม ไม่ว่าจะอยู่ที่มูลนิธิฯ หรืออยู่ที่บ้าน หรืออยู่ที่ทำงาน ก็มีลักษณะของสภาพธรรมที่จะสามารถรู้ได้ แต่การอบรมปัญญา ถึงความรู้ลักษณะของธรรมแต่ละอย่างหรือยัง ในปรมัตถธรรมสังเขป ท่านอาจารย์ก็มีข้อความเกี่ยวกับเรื่องของการฟัง ซึ่งตรงกับอาจารย์นิภัทรกล่าวว่า การฟังพระธรรมต้องต่อเนื่อง

    การฟังพระธรรม และพิจารณาให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ละเอียดยิ่งขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลเป็นปัจจัย โดยเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่ง ให้สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังเกิดดับ และปัญญาน้อม คือ ค่อยๆ ศึกษาพิจารณาจนเพิ่มการรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ขึ้นทีละเล็กทีละน้อย กราบเรียนท่านอาจารย์ถึงเรื่อง การอบรมเริ่มจากการฟัง

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้เข้าใจแค่ไหนเท่านั้นเอง เข้าใจแค่นี้ แล้วฟังต่อไปก็เข้าใจขึ้น ถูกต้องไหม จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้หมดจด ขอถามบ้าง ถามว่า ถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ จะรู้อายตนะไหม จะรู้ขันธ์ไหม เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ต้องรู้อะไรก่อน รู้สิ่งที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรมก่อน

    อ.กุลวิไล ตัวธรรมไม่มีชื่อ แต่เป็นสภาวธรรมที่มีจริง แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงบัญญัติถึงชื่อของสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่ส่องให้ถึงตัวจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    ผู้ฟัง ดูเหมือนว่าฟัง MP๓ หรือที่อาจารย์กุลวิไลอ่าน หรือที่คุณลุงนิภัทรพูด ฟังพระธรรมให้เข้าใจ เป็นสิ่งเริ่มต้นที่จะให้เข้าใจว่า สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ เป็นธรรมอย่างไร แต่ในหมู่พวกเราในการสะสมมาเพื่อฟัง บางคนก็เข้าใจก็เข้าใจว่าการฟังสำคัญ แต่ที่จะฟังโดยไม่ขาด เหมือนคุณลุงนิภัทร ๔๑ ปี ปัจจัยที่จะให้ฟังอย่างนั้นคืออะไร

    ท่านอาจารย์ ต้องคิดถึงข้างหน้าหรือเปล่า มีเราเตรียม หรือเข้าใจว่า เป็นธรรมทั้งหมด ได้ยินคำว่า “ธรรม” อย่าเพิ่งคิดว่าเราเข้าใจธรรมจริงๆ หรือว่ารู้จักตัวธรรม แม้ได้ยินคำว่า ธรรม ถ้าไม่ได้ฟังจนกระทั่งรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรมเพราะอะไร มิใช่ใครไปตั้งชื่อว่า ขณะนี้เห็นเป็นธรรม ได้ยินเป็นธรรม แต่ที่เป็นธรรม ใช้คำว่าธรรม เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่มีจริงชั่วขณะที่ปรากฏ แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ใครจะเปลี่ยนแปลงลักษณะของสิ่งนั้นไม่ได้เลย แล้วไม่ใช่เราด้วย

    เมื่อวานนี้มีผู้ที่สนทนาด้วย และไม่เคยฟังธรรมเลย ไม่เข้าใจว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เพราะว่าปรากฏเหมือนกับว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ตลอดเวลา เช่น เป็นคุณอรวรรณ หรือคุณบุษกรก็ตามแต่ แต่ความจริงแล้วกว่าจะเข้าใจได้ถึงสิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดตามที่คิด เช่น ถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา จะรู้ไหม จะจำได้ไหม จะคิดไหม ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร แต่เมื่อมีสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ สิ่งที่มีจริงๆ ปรากฏให้เห็นอย่างนี้ แล้วก็เปลี่ยนแปลงลักษณะของสิ่งนั้นไม่ได้ สิ่งนั้นจึงเป็นธรรมที่มีจริง เพราะเหตุว่าสามารถที่จะปรากฏให้เห็นจริงๆ ว่า มีจริงๆ

    เวลาที่เห็นแล้ว ไม่รู้จัก ไม่เข้าใจในความเป็นธรรมของสิ่งที่ปรากฏ ก็มีการจำ และคิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เหมือนกับว่าเห็นคนนั้นที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏ จะเห็นคนนั้นในขณะที่มีสิ่งที่ปรากฏได้ไหม ก็ไม่ได้เลย

    ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ อย่างนี้ว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ ก็จะรู้ได้ว่า ไม่รู้จักความจริงมากมายนานมาแล้วสักเท่าไร และต่อไปด้วย เพราะเหตุว่า แม้สิ่งที่มีจริงขณะนี้ปรากฏ ก็เหมือนเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นั่นก็อย่างหนึ่ง แล้วก็ยังคิดถึงเรื่องนั้นอีกมากมายต่อไปอีก

    เพราะฉะนั้น เมื่อไรจะเข้าใจถูกต้อง ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรม แม้แต่คำว่า เป็นธรรม ก็ไม่ใช่หมายความว่า เราเพียงไปจำชื่อแล้วก็เรียกชื่อ แต่ตัวธรรมจริงๆ เป็นอย่างนี้

    เวลาที่ธรรมปรากฏโดยที่ยังไม่รู้จักธรรมเลย จะรู้จักว่าเป็นอายตนะได้ไหม ก็ไม่ได้ ต่อเมื่อใด ที่มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ๆ ๆ ต่างๆ กัน เพียงสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดปรากฏ ขณะนั้นความเข้าใจในความปรากฏนั้นว่าเป็นอายตนะจึงเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะสามารถที่จะรู้ความต่างของสิ่งที่ปรากฏทางตากับความคิดนึก ซึ่งเป็นอายตนะที่ต่างกัน

    เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่รู้ความต่างจริงๆ จะรู้ความเป็นอายตนะไม่ได้เลย แล้วจริงๆ แล้ว เพราะเหตุว่าอมีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างๆ ออกไป ก็จะรู้ได้ว่า ที่ต่างนั้นก็ เพราะอายตนะต่าง อย่างเสียงที่ปรากฏได้เป็นอย่างหนึ่ง ถ้าไม่มีโสตปสาท เสียงไม่สามารถปรากฏได้เลย เพราะฉะนั้น เสียงเป็นอายตนะหนึ่ง ขาดไม่ได้เลย โสตปสาทรูป ก็เป็นอายตนะหนึ่งซึ่งขาดไม่ได้เลย แล้วขณะนั้นจิตก็เกิดขึ้นได้ยินเสียง เสียงจึงปรากฏได้ เพราะฉะนั้น ก็ขาดจิต และเจตสิกไม่ได้เลย

    ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ ก็จะรู้ว่า อายตนะไม่อยู่ในขณะอื่นเลย นอกจากเมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏทั้งหมดที่มี ณ. ที่นั้นก็เป็นอายตนะ แต่ก่อนที่จะเข้าใจความเป็นอายตนะได้ ก็จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่ใช่ว่าไม่รู้อะไรเลย แล้วก็จำคำว่า อายตนะ แล้วก็จำได้ว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นอายตนะ ๖ โดยไม่รู้จักตัวธรรม

    ผู้ฟัง ในการฟัง ท่านอาจารย์อธิบายว่า ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรม เข้าใจแล้วก็สามารถเข้าใจอายตนะ ดูเหมือนฟังขั้นที่ยังไม่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม ก็จะเข้าใจแล้วก็จำ พูดได้ว่า "อายตนะ" หมายถึง การประชุมรวมกันของธรรม ถ้าทางตาก็เป็นจักขุปสาท วัณณะ จิตเห็น พร้อมทั้งเจตสิก ต้องประชุมกันในขณะที่ยังไม่ดับ ซึ่งความเข้าใจขั้นเรื่องราวก็สามารถพูดได้ แต่เหมือนไม่สามารถรู้ตรงลักษณะขณะนี้ การฟังเข้าใจขั้นนี้ จะนำไปสู่การที่สามารถรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมตามที่เข้าใจอย่างนี้ ดูเหมือนยังไม่เข้าใจตรงนี้ว่า จะต้องรู้อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ แม้ว่าสิ่งที่ปรากฏ ๖ ทางจะมีจริงๆ แต่เพราะไม่เคยสนใจ ที่จะเข้าใจสิ่งที่ปรากฏ จะถามถึงอย่างอื่น ที่ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้น ยังไม่ได้แยกโดยปัญญาที่รู้ชัดจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งต่างกัน ซึ่งในขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็มีเสียง ยังไม่สามารถที่จะรู้เฉพาะอย่างแล้วก็ทีละอย่างด้วย แต่ถ้าสามารถที่จะรู้เฉพาะอย่าง และทีละอย่าง ก็จะรู้ว่า ขณะนั้นเพราะผัสสะ ถ้าไม่มีผัสสะ คือ สภาพธรรมที่กระทบอารมณ์นั้น ทำไมจิตจะรู้อารมณ์นั้นได้ เพราะเหตุว่าขณะนี้ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็มีเสียง แล้วก็มีแข็ง แล้วก็มีคิดนึก แล้วก็มีความรู้สึกเฉยๆ หรือความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ มีทั้งหมด โดยไม่มีใครสามารถบังคับบัญชา ไปห้ามไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ ไปทำให้เกิดก็ไม่ได้

    เมื่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้มี ขณะนั้นกำลังเริ่มรู้เฉพาะลักษณะหนึ่ง เพราะผัสสะกำลังกระทบสิ่งที่ปรากฏ จิต เจตสิก จึงเกิดขึ้น แล้วก็รู้ในความเป็นธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น จากการรู้ความเป็นธรรมละเอียดขึ้น ก็สามารถที่จะเข้าใจความหมายของ ผัสสายตนะ หรืออายตนะได้

    แต่ละคำในพระไตรปิฎกลึกซึ้ง ไม่ใช่เพียงแต่รู้จักคำแปล แล้วเราเข้าใจว่า หมายถึงอะไร แต่ตัวธรรมจริงๆ เป็นสภาพที่ลึกซึ้งตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพื่อที่จะให้สามารถหมดจดจากความเห็นที่ยึดถือสภาพนั้นๆ ว่าเป็นตัวตนได้ เพราะเหตุว่าเริ่มจากการเข้าใจ ว่าธรรมไม่ใช่ขณะอื่น แต่ขณะนี้ แม้แต่กำลังพูดเรื่องธรรม ใจคิดถึงเรื่องอื่น เป็นไปได้ไหม

    เพราะฉะนั้น จะรู้ลักษณะของอะไร จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือจะได้ยินเสียง หรือกำลังคิดนึกถึงเรื่องอื่น ก็แล้วแต่ว่าขณะนั้น ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย นี่คือความเป็นธรรม

    แต่ละครั้งที่มีโอกาสได้ฟังธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความละเอียดของสภาพธรรมโดยประการต่างๆ ก็เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตา ความเป็นธรรมจริงๆ ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้ และไม่อยู่ในอำนาจความคิดนึก หรือการบังคับบัญชาที่จะให้ธรรมเป็นอย่างที่ต้องการ หรืออย่างที่หวัง แต่ว่าสิ่งใดก็ตามที่จริง สิ่งนั้นเกิดแล้วจริงๆ เราอาจจะคิดเรื่องมากมาย เรื่องธุรกิจ เรื่องการบ้าน เรื่องการเมือง เรื่องพี่น้อง เรื่องครอบครัว เรื่องอะไรทุกอย่าง แต่สิ่งที่จริง คือ สิ่งที่ปรากฏ เพราะอะไร เกิดแล้ว ปรากฏให้เห็นว่า เป็นอย่างนี้ไม่ได้เป็นอย่างอื่น

    ในขณะที่กำลังคิดเรื่องต่างๆ แล้วก็มีการฟังที่จะเข้าใจว่า ขณะไหนจริง ก็คือสิ่งที่เกิดแล้ว เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดแล้ว จะเป็นเห็นขณะนี้ก็ได้ จะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ได้ หรือจะเป็นคิดก็ได้ แต่เวลาที่คิดแล้วไม่รู้ว่า เป็นธรรม ก็จะเป็นเรื่องที่ยาวมาก แต่พอมีสติสัมปชัญญะ รู้ลักษณะของสิ่งที่ไม่ใช่คิด ก็จะรู้เลยว่า คิดทั้งหมดมีสาระหรือเปล่า เพราะเหตุว่าเพียงคิด ไม่เหมือนสิ่งที่เกิดแล้วจริงๆ ปรากฏแล้วจริงๆ ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น เริ่มจะรู้ลักษณะสิ่งที่มีจริงละเอียดขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่จำว่า เป็นอายตนะเท่านั้น

    ผู้ฟัง นั่นหมายความว่า แม้ในขั้นเข้าใจการฟัง คือ ฟังแล้ว สิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสสิ่งที่ท่านอาจารย์นำมาสอน ก็คือ ให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏขณะนี้ ถ้าจะให้เข้าใจ ก็คือฟังแล้วเข้าใจว่า ไม่ได้กล่าวถึงอย่างอื่นเลย นอกจากเห็น ได้ยิน และธรรมที่ปรากฏ ๖ ทาง ขณะนี้นั่นเอง เพราะสิ่งที่ล่วงไปแล้วก็ดับไปแล้ว สิ่งที่ไม่ปรากฏก็ยังมาไม่ถึง ฟังแล้วไม่ใช่เพียงจำ แต่น้อมมาเพื่อจะเข้าใจว่า กำลังกล่าวถึงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ แล้วไม่ใช่เราน้อมด้วย

    ผู้ฟัง เป็นปัญญาใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมทุกขณะเลย ไม่เว้นเลย จึงสามารถที่จะคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน จนกระทั่งดับความเห็นผิดใดๆ ทั้งสิ้น ที่เห็นว่า ธรรมเที่ยง ที่เห็นว่าธรรมเป็นสุข ที่เห็นธรรมว่าเป็นตัวเรา และที่เห็นว่า ธรรมงาม น่าพอใจ

    อ.นิภัทร ที่เราพูดถึงอายตนะ ๑๒ ในเรื่องบอกว่า อายตนะ ๖ แต่จะ ๖ ลอยๆ ไม่ได้ ต้อง ๑๒ อายตนะ ๑๒ ก็คือ ปรมัตถธรรม ๔ เป็นปรมัตถธรรมอะไร เราต้องเข้าให้ถึง ปรมัตถธรรม ๔ คือ จิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์ นิพพานปรมัตถ์ อยู่ในอายตนะ ๑๒ นี้ อายตนะที่ ๑ ถึงอายตนะที่ ๕ ภายใน และอายตนะที่ ๑ ถึงอายตนะที่ ๕ ที่เป็นภายนอก ๑๐ อายตนะ เป็นรูปทั้งหมด เป็นรูปปรมัตถ์ทั้งหมด อายตนะภายในที่ ๖ คือ มนายตนะ เป็นจิตทั้งหมด และอายตนะภายนอกที่ ๖ ธัมมายตนะ เป็นทั้งรูป เป็นทั้งนาม

    ผู้ฟัง อนัตตามีสภาพหรือไม่ของธรรม

    ท่านอาจารย์ อนัตตาลอยๆ หรือว่าสิ่งที่มีในขณะนี้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของใคร ลองคิดดู สักคนหนึ่ง ก็ไม่มีใครสามารถเป็นเจ้าของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ แต่ธรรมมี และธรรมนั้นๆ ที่มีนั่นเองเป็นอนัตตา ทั้งหมดเลย

    ผู้ฟัง หมายถึง สภาพธรรมจะต้องเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครไปบังคับให้เกิด แบบนี้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญาบังคับอะไรให้เกิดสักอย่างได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้ แต่ว่าสภาพธรรมไม่ได้อยู่เฉยๆ ก็เกิด ต้องมีเหตุ และปัจจัยที่ทำให้ธรรมเหล่านั้นเกิดขึ้น ก็อยากจะกราบเรียนถามในส่วนละเอียดนี้ เพื่อให้เข้าใจ และมั่นคงขึ้น เพราะว่าเมื่อสภาพธรรมเกิดขึ้น โดยที่ไม่ได้มีอะไรบังคับให้เกิด แต่ในขณะที่สภาพธรรมเกิดตามเหตุ และปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ถ้าคุณสุกัญญาเห็นคนที่ไม่ชอบ รู้สึกอย่างไร

    ผู้ฟัง เห็นคนที่ไม่ชอบก็ไม่พอใจ โกรธ

    ท่านอาจารย์ เพราะมีปัจจัย ที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ขุ่นเคือง ซึ่งความจริงความรู้สึกขุ่นเคืองจริงๆ แล้วต้องอยู่ที่จิต แต่ขณะที่เห็นมีการคิดนึกถึงสิ่งนั้น และก็จำได้ด้วยว่า เป็นคนที่ไม่ชอบ ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดขุ่นเคืองใจ บังคับได้ไหม

    ผู้ฟัง บังคับไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วอนัตตาอยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง อนัตตาอยู่ที่ไหน

    ท่านอาจารย์ บังคับไม่ได้ แล้วขณะนั้นอนัตตาอยู่ที่ไหน บังคับความขุ่นเคืองใจได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น อะไรเป็นอนัตตา เพราะบังคับไม่ได้

    ผู้ฟัง ก็ต้องความขุ่นเคืองใจที่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ก็เป็นอนัตตา อะไรอีก ทุกอย่างเลย ไม่มีอะไรซึ่งเป็นอัตตา เป็นของใคร หรืออยู่ในอำนาจบังคับบัญชา

    ผู้ฟัง แต่อย่างที่กล่าวว่า ความขุ่นเคืองนั้นก็มีปัจจัยที่ทำให้เกิด

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ถ้าเป็นพระอรหันต์ เห็นอะไรที่คนอื่นไม่พอใจ พระอรหันต์จะโกรธไหม

    ผู้ฟัง ไม่โกรธ ความเข้าใจอาจไม่ถึง ก็เลยสงสัยในสภาพของธรรมที่ว่า สภาพธรรมทุกอย่างเป็นอนัตตา แต่ในขณะเดียวกัน สภาพเหล่านั้นก็ไม่อิสระ ที่เกิดขึ้นจะต้องมีเหตุ และปัจจัย ก็ติดอยู่ตรงนี้ คือสงสัยระหว่างความเป็นอนัตตากับความเป็นปัจจัย

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญามีพี่น้องไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีเพื่อนไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีความคิดเหมือนกันหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ บังคับให้คิดอย่างเดียวกันได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง หลังจากศึกษาแล้ว ก็เพราะสะสมมาแตกต่างกัน

    ท่านอาจารย์ นั่นคือปัจจัยที่ทำให้แม้คิดก็ต่างกันตามการสะสม จึงไม่เป็นอิสระ ไม่ใช่สภาพธรรมจะสะเปะสะปะ จะเกิดอย่างไรก็เกิดขึ้นมาก็ได้ แต่ทุกอย่างแม้เป็นอนัตตา ไม่ใช่ของใคร แต่ก็มีปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น เปลี่ยนไม่ได้ด้วย เพราะฉะนั้น จริงเมื่อเกิดแล้ว ตั้งใจว่าจะไม่โกรธ แล้วถึงเวลาจริงๆ เป็นอย่างไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    14 ม.ค. 2567