พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 514


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๑๔

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ อย่าประมาทความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย เข้าใจอีกบ่อยๆ ให้ตรง ก็ค่อยๆ คลายการที่เคยยึดถือสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วจะเข้าใจพระพุทธพจน์ที่ทรงแสดงในพระไตรปิฎกละเอียดยิ่งขึ้น เช่น เดี๋ยวนี้อยู่คนเดียวหรืออยู่กับใครหลายคน

    ผู้ฟัง อยู่คนเดียว

    ท่านอาจารย์ ตอบได้เลยว่า อยู่คนเดียว เกิดคนเดียว เห็นคนเดียว คิดคนเดียว สุขคนเดียว ทุกข์คนเดียว ตายคนเดียว แต่ความคิดจำ โลกทั้งโลก และทุกคนที่เคยพบ และเรื่องราวทั้งหมด เห็นสัญญาไหม สัญญาวิปลาสหรือเปล่า คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อัตตสัญญาหรือเปล่า เพราะว่าจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    เพราะฉะนั้น แต่ละคำที่มีในพระไตรปิฎก สามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังเป็นจริงในขณะนี้ได้ เพราะว่าทรงแสดงความจริงของธรรม ซึ่งเป็นธรรม แต่ไม่เคยรู้ว่าเป็นธรรม เมื่อความรู้เกิดขึ้นว่าเป็นธรรม ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร มีปัจจัยจะให้ธรรมอะไรเกิดขึ้นเป็นไป ก็ต้องเป็นไปตามการสะสม แต่ก็มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ไม่ว่าสิ่งที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยนั้นจะหลากหลายต่างกับที่เคยเกิด ก็รู้ว่าเป็นเพียงธรรม ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ที่กล่าวถึงศีล ผู้ที่จะบรรลุได้ ดังที่ท่านพระสารีบุตรตรัสว่า "เพียงรักษาทวาร ๖ เท่านั้น ก็ชื่อว่า อินทรียสังวร เพียงให้ปัจจัยเกิดขึ้นโดยธรรม โดยสม่ำเสมอ ก็ชื่อว่า อาชีวปาริสุทธิศีล เพียงพิจารณาปัจจัยที่ได้มาว่า นี้มีประโยชน์ ดังนี้แล้วบริโภคก็ชื่อว่า ปัจจยสันนิสสตศีล" ซึ่งอ่านโดยพยัญชนะแล้วไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ คงต้องทีละข้อ ทีละคำด้วย เพราะเหตุว่าจะเข้าใจธรรม ไม่ใช่เข้าใจเพียงความหมาย แต่ต้องเข้าใจสภาพธรรมด้วย ขอเชิญข้อที่ ๑

    ผู้ฟัง เพียงรักษาทวาร ๖ เท่านั้น ก็ชื่อว่า อินทรียสังวร

    ท่านอาจารย์ แค่นี้ใช่ไหม อินทรีย์มี ๖ สภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน ตา ขณะนี้ถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏขณะนี้ปรากฏไม่ได้เลย หู ถ้าไม่มี ขณะนี้เสียง เสียงแค่นี้ เพียงเสียงที่ปรากฏ ถ้าไม่มีโสตปสาทรูปก็มีไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าขณะนี้จะมีเห็น มีอินทรียสังวรหรือเปล่า มีศีลหรือเปล่า ทำไมไม่มีศีล เพราะว่าขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นเป็นปกติของอกุศล จึงเป็นอกุศลศีล แต่ไม่ใช่ศีลที่ทำให้สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    ด้วยเหตุนี้ ธรรมจึงเป็นเรื่องละเอียดมาก ต้องค่อยๆ เข้าใจ เพื่อเข้าใจธรรมเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อความเป็นเรา หรือความเป็นตัวตน เพราะเหตุว่าเมื่อเข้าใจธรรม ก็รู้ว่า ขณะนี้เองเป็นธรรม ไม่ใช่เรา และไม่ใช่ใครด้วย ขณะนี้เห็นสิ่งที่เคยเห็นเมื่อวานหรือเปล่า

    ผู้ฟัง จากการศึกษาก็ไม่ใช่ เพราะว่ารูปเกิดดับเร็วมาก

    ท่านอาจารย์ นี่ก็คือการที่จะเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แม้แต่เพียงคำถาม เดี๋ยวนี้เห็นสิ่งที่เคยเห็นหรือเปล่า จะมีคำตอบ ๒ อย่าง

    ผู้ฟัง ใหม่ทุกครั้ง เพราะว่าสภาพธรรมเกิดดับแล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเราบอกว่า เราเคยเห็น เคยจริง แต่ไม่ใช่เห็น สิ่งที่กำลังเห็น เป็นเพียงเคยเห็นสิ่งหนึ่งซึ่งเกิดแล้วดับแล้วเมื่อวานนี้ ถ้าถามว่าเคยได้ยินคำนี้ไหมว่า “อนัตตา” เคยได้ยินเสียง แต่ว่าขณะนี้ไม่ใช่เสียงที่เคยได้ยินเมื่อวานนี้

    นี่คือความละเอียดของธรรม ยิ่งฟังยิ่งเข้าใจได้ว่า ธรรมมีทุกขณะ และเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ จะไม่มีการย้อนกลับมาให้รู้ได้เลย เดี๋ยวนี้เป็นขณะนี้ พรุ่งนี้ก็เป็นเห็นสิ่งซึ่งเกิดพรุ่งนี้ ยังไม่เกิดวันนี้ เพราะฉะนั้น เห็นพรุ่งนี้ก็ไม่ใช่เห็นที่เคยเห็นสิ่งที่เคยเห็นเมื่อวานนี้ แต่ต้องเป็นสิ่งใหม่

    นี่คือการที่จะเข้าใจจริงๆ ว่า ธรรมก็คืออย่างนี้ ไม่มั่นคง เปลี่ยนแปลง ต้องเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้าไม่มีอะไรเกิดเลย ก็ไม่มีอะไรดับ แต่สิ่งที่เกิดดูเหมือนเป็นอย่างเดิม แต่ผู้ตรัสรู้ทรงแสดงว่าทุกขณะ ไม่เที่ยง เพียงแค่เกิดปรากฏแล้วก็หมดไปจริงๆ

    เพราะฉะนั้น อินทรียสังวร ถ้าไม่ฟังอย่างนี้ มีการที่จะระลึกได้หรือไม่ว่า ขณะนี้เป็นอย่างนี้ ที่กำลังเห็น เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เมื่อวานนี้ และก็ไม่ใช่สิ่งที่เคยเห็นเมื่อวานนี้ แต่เป็นสิ่งใหม่ที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ จะกังวลถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้วไหม ไม่มีสาระ เพราะอะไร เมื่อวานดูนี้มีสาระ แต่ไม่เหลือเลย และขณะนี้ แม้เพียงเมื่อสักครู่นี้เอง เสียงที่ได้ยินก็ไม่ใช่เสียงที่กำลังได้ยิน

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ อินทรียสังวรศีล หรืออินทรียสังวร มีไม่ได้ เพราะเหตุว่า สังวร คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อินทรีย์ ๖ แล้วเป็นอย่างนี้ทุกวัน เพราะฉะนั้น กว่าจะมีการฟังพระธรรมจนกระทั่งมีความเข้าใจมั่นคง แม้ในขณะนี้เริ่มเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้มีแน่นอน เกิดปรากฏ แต่ไม่รู้ว่าดับไปแล้ว เพราะว่าชีวิตสั้นมาก เกิดดับสืบต่อ ไม่เหลือร่องรอย เพราะว่ามีสิ่งที่เกิดใหม่ ปรากฏจนลืมว่า เมื่อสักครู่นี้ดับแล้ว

    ถ้าเป็นปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จะต่างจากนี้หรือเปล่า หรือเหมือนอย่างนี้แต่ ไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจ อบรมจนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจแต่ละทางแต่ละทวารได้ ว่าแต่ละทวารก็เป็นโลกๆ หนึ่ง โลกของสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่เสียง ปรากฏให้เห็นว่าเป็นอย่างนี้ พอมีเสียงเกิดขึ้น ก็เป็นอีกโลกหนึ่ง ไม่พร้อมกัน ไม่ใช่ขณะเดียวกัน ต้องสิ่งหนึ่งที่ปรากฏดับไปก่อน แล้วสิ่งอื่นจึงจะเกิดขึ้นได้

    เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวเพียงชื่อไม่ยากใช่ไหม แต่ถ้ารู้ว่า ปัญญารู้อะไร ปัญญารู้ความจริงของสิ่งที่กำลังเป็นจริงในขณะนี้ ก็ต้องอาศัยการฟัง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ลืม จนกระทั่งสามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏเหมือนอย่างที่เคยได้ยินได้ฟังทุกอย่าง

    อินทรียสังวร พอรู้ เข้าใจได้ หรือยังสงสัย เป็นศีล เพราะว่าขณะนั้นละเอียดกว่าปาติโมกขสังวรศีล ละเอียดกว่าศีล ๕ เพราะว่าคนที่รักษาศีล ๕ จะไม่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพียงแต่วิรัติ คือเว้นทุจริตทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง

    ผู้ฟัง ถ้าฟังเช่นนี้แล้วก็ดูเหมือนว่า การที่จะอินทรียสังวร หรือ อินทรียสังวรศีลได้ ต้องมีปัญญา

    ท่านอาจารย์ แน่นอน พระธรรมทั้งหมดทุกคำเป็นไปเพื่อปัญญา เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะกล่าวคำที่ไม่เป็นไปเพื่อปัญญาได้อย่างไร ทุกคำแฝงไว้ซึ่งปัญญา ความเข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้แต่อินทรีย์หรืออินทรียะเป็นเราหรือเปล่า ตาเป็นเราหรือเปล่า หูเป็นเราหรือเปล่า จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นเราหรือเปล่า ไม่ใช่ขณะอื่น ขณะนี้ ต้องกำลังเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ขณะนี้ จึงจะชื่อว่า ศึกษาธรรม เริ่มเข้าใจธรรม เพราะว่าเป็นธรรมตลอดชีวิตแต่ไม่เคยรู้จัก แม้ฟังเรื่องราวของธรรม แต่ไม่เข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม ก็คือ ไม่รู้จักธรรม แล้วเกือบจะกล่าวได้ว่า ไม่ได้ศึกษาธรรมเพราะเป็นแต่เพียงชื่อทั้งหมด

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้น มีผู้ศึกษาที่กล่าวว่า การที่ฟังว่าไม่มีเรา ไม่มีตัวตน ก็มีศรัทธาเชื่อไปก่อน

    ท่านอาจารย์ เชื่อไปก่อนได้อย่างไร เขาบอกก็เชื่อ หรือว่าขณะนี้เห็นมี ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าได้ยินไม่ใช่เห็น จะพร้อมกันไม่ได้เลย ถ้าเห็นยังไม่ดับ ได้ยินเกิดไม่ได้ เสียง ถ้ายังไม่ดับ คิดนึกเกิดไม่ได้ อย่างนี้จะเรียกว่า เชื่อไปก่อนหรือเปล่า หรือเริ่มมีความเข้าใจว่า อะไรเป็นสิ่งที่จริงแท้ๆ ไม่แปรผัน ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น จะเป็นตัวตนไม่ได้ จะเป็นตัวตนต่อเมื่อไม่เข้าใจ และเห็นผิด ไม่ใช่เชื่อไปก่อน เริ่มมีปัญญาตั้งแต่ขั้นฟังทีละเล็กทีละน้อยจนมั่นคงขึ้น

    ผู้ฟัง ความคิดที่ว่า เชื่อไปก่อน ถ้าประจักษ์แล้วจะเห็นว่า ไม่มีเรา ไม่มีตัวตน

    ท่านอาจารย์ เชื่อไปก่อน หมายความว่าไม่มีเข้าใจเลยหรือไง

    ผู้ฟัง จะสนทนาว่า จริงๆ แล้วต้องเข้าใจขั้นฟังว่า ไม่มีตัวตน เป็นเห็น เป็นได้ยิน แต่ละทวารจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง เพราะพูดเรื่องสิ่งที่กำลังมี ตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น จะบอกว่าเห็นเป็นตัวตนได้ไหม ได้ยินเป็นตัวตนได้ไหม เป็นเราได้ไหม นั่นคือ พูดสิ่งที่ไม่จริง เพราะความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ความเข้าใจขั้นฟัง และพิจารณาตามก็สามารถเห็นตามจริงนั้นได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ ไม่มีการเข้าใจลักษณะแท้ๆ ของธรรมที่กำลังปรากฏ ปัญญาต้องเจริญขึ้นตามลำดับ จริงหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าต้องเชื่อ แต่ความจริงเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า มีสิ่งที่ปรากฏก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ต้องเรียกอะไรเลยก็มี แต่ว่าเวลาจะกล่าวถึงก็ต้องใช้คำ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้พูดถึงคุณอรวรรณ ไม่ได้พูดถึงเก้าอี้ ไม่ได้พูดถึงอะไร แต่พูดถึงลักษณะจริงๆ ของสภาพที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ในการศึกษาก็คือ เข้าใจขั้นฟังในสิ่งที่กำลังฟัง ซึ่งท่านอาจารย์ก็จะพูดความจริงที่กำลังปรากฏขณะนี้ ไม่ได้พูดเรื่องอื่น เมื่อผู้ฟังเข้าใจในสิ่งที่ฟัง ไม่คิดเรื่องอื่น ไม่เอาความคิดเดิมมาปนกับสิ่งที่ฟัง ก็สามารถเข้าใจ ก็เป็นปัญญาเข้าใจความจริงขั้นต่อๆ ไปได้ ตามที่ฟังเข้าใจนั้นนั่นเอง

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีความเข้าใจเริ่มเกิดขึ้น ความเข้าใจก็เจริญขึ้นได้ ถูกตามที่ได้พิจารณา ไม่ผิด ก็อบรมเจริญความเห็นถูก สัมมาทิฏฐิไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง ตามความเข้าใจก็คิดว่า ถ้ามีปัญญาก็จะสำรวม คือไม่ประมาทที่จะรู้ความจริงทั้ง ๖ ทาง

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้สังวรคืออะไร

    ผู้ฟัง เมื่อรู้ ๖ ทางแล้วไม่ให้อกุศลเกิด

    ท่านอาจารย์ ได้หรือ

    ผู้ฟัง ก็ต้องเป็นปัญญาที่จะเป็นอย่างนั้นได้

    ท่านอาจารย์ จะเข้าใจความหมายของสภาพธรรมว่า สภาพธรรมที่มีจริงแต่ละอย่าง ก็เกิดขึ้นทำกิจของสภาพธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีสติ และปัญญา ไม่ชื่อว่า สังวร เพราะกำลังเห็นรู้ความจริงเป็นการสังวรทางตา คือ เข้าใจสภาพที่กำลังเห็น ภาษาไทยเราใช้คำว่า ระลึกได้ เหมือนยาว และต้องไปคิดว่าระลึกได้เป็นอย่างไร แต่เป็นคำอธิบายสภาพธรรมที่เกิดทันทีเพราะมีเหตุปัจจัยแล้วรู้ลักษณะ ตรงลักษณะที่กำลังปรากฏ เวลาฟังก็มีการเห็น แล้วก็มีการได้ยิน แล้วก็มีการคิดนึกรู้เรื่อง สติสัมปชัญญะรู้ลักษณะของสภาพธรรมอะไรหรือยัง เพียงแต่กำลังฟังเข้าใจ

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ทั้งๆ ที่กำลังฟัง ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา สังวรเมื่อไร หมายความว่า ขณะนั้นเริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งเมื่อมีสิ่งที่ปรากฏ และเริ่มเข้าใจ หมายความว่า ขณะนั้นไม่ได้คิดอย่างอื่น ไม่ได้หลงลืม แต่เพราะสติเกิดตรงลักษณะที่กำลังปรากฏ แล้วปัญญาที่กำลังฟังเริ่มค่อยๆ อบรมความรู้ถูก ความเห็นถูก ความเข้าใจถูกทีละเล็กทีละน้อย นานไหมกว่าจะรู้ได้ เพราะว่าสะสมความไม่รู้มานานมาก แต่ถ้าไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะขณะนี้อริยสัจจะ คือ สิ่งที่ปรากฎนี่เองเกิดขึ้นแล้วดับไป เข้าใจอินทรีย์ เข้าใจสังวร เป็นศีลที่ไม่ใช่ศีล ๕ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ที่เป็นเพียงปาติโมกขสังวรศีล เป็นหลัก เป็นประธานของศีล ตามพระวินัยบัญญัติสำหรับบรรพชิต

    ผู้ฟัง ฟังแล้วดูเหมือนว่า อินทรียสังวรศีล จะต้องสำหรับผู้มีสติสัมปชัญญะเกิดรู้ตรงลักษณะสภาพทางทวารทั้ง ๖ เท่านั้น

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะฉะนั้น เพียงอ่านได้หรือไม่ธรรม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพียงรู้จักคำแปลก็ไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจ เพราะฉะนั้น ปาติโมกขสังวรศีลไม่ใช่อินทรียสังวรศีล แม้ว่าจะมีปาติโมกขสังวรศีล ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติ แต่ถ้าขณะใดที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏก็ไม่ใช่อินทรียสังวรศีล อะไรละเอียดกว่า อินทรียสังวรศีลละเอียดกว่า ถ้าเกิดอกุศล อยากจะทำร้ายใคร ถ้าทำร้ายแล้ว ขณะนั้นไม่ใช่ปาติโมกขสังวรศีล ไม่ใช่ศีล ๕ แต่อินทรียสังวรศีล เพียงเกิดความรู้สึกที่เป็นโทสะ คิดที่จะประทุษร้าย สามารถรู้ว่าสภาพนั้นเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย

    เพราะฉะนั้น อินทรียสังวรศีลก็ละเอียดกว่า ถ้าเป็นพระภิกษุแล้วประพฤติตามพระปาติโมกข์ แต่ไม่มีอินทรียสังวรศีล ก็ไม่สามารถจะเป็นพระอริยสงฆ์หรือพระอริยบุคคลได้ เป็นแต่เพียงสมมติสงฆ์

    เพราะฉะนั้น ต้องทราบแม้จุดประสงค์ของการที่จะดำเนินชีวิตในเพศบรรพชิต ไม่ใช่เพียงเพื่อรักษาความประพฤติทางกาย ทางวาจา ให้เป็นไปตามพระวินัยบัญญัติ แต่จะต้องอบรมความรู้ถูก ความเห็นถูกเป็นธรรมด้วย มิฉะนั้น เพียงปาติโมกขสังวรศีลไม่สามารถผูกพระภิกษุไว้ในพระธรรมวินัยได้ เพราะว่ากิเลสมีมาก ถึงแม้จะบรรพชาอุปสมบทเป็นสมณเพศ เป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัย แต่ถ้าไม่รู้จักธรรม ไม่เข้าใจธรรม ไม่อบรมเจริญปัญญา ไม่รู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง พระสูตรนี้อ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจว่า โดยเนื้อหารวมๆ แล้วคืออะไร

    ท่านอาจารย์ กิเลสเกิดทุกวันๆ ไม่มีปัญญาแล้วรู้ไหมว่าเป็นกิเลส

    ผู้ฟัง ไม่มีปัญญาก็ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ทั้งหมดต้องเป็นปัญญา และใครจะนำปัญญานี้มาให้ ถ้าไม่ใช่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้แต่เพียงแค่ฟัง ระลึกถึงพระคุณไหม และถ้าสามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ พระคุณของพระองค์มากขนาดที่ว่า ทำให้อกุศลไม่เกิด และทำให้กุศลเกิด ถึงขั้นที่สามารถทำให้รู้ถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้ มากมายมหาศาล จนกระทั่งถึงสติสัมปชัญญะกำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่มีทางจะเป็นอย่างนั้นได้ ถ้าไม่มีการได้ฟัง จนเป็นความเข้าใจที่มั่นคงเป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม อะไร ที่ไหน เมื่อไร ไม่มีใครสามารถรู้ได้ เพราะสภาพธรรมเมื่อวานนี้ก็ดับไป ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด และแม้ขณะนี้เองสภาพธรรมที่มีก็ดับไป เมื่อสติสัมปชัญญะไม่เกิด แต่ขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิด รู้พระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีทางจะเกิดได้เลย ถ้าไม่เข้าใจธรรม

    ผู้ฟัง ในพระสูตรก็ต่อว่า เพียงให้ปัจจัยเกิดขึ้นโดยธรรม โดยสม่ำเสมอ ก็ชื่อว่า อาชีวปาริสุทธิศีล

    ท่านอาจารย์ อาชีวปาริสุทธิศีล ขอคำแปลด้วยคุณคำปั่น

    อ.คำปั่น คำว่า "อาชีวปาริสุทธิศีล" ก็มีคำรวมกัน ๓ คำ คือ "อาชีวะ" หมายถึง การเลี้ยงชีพ คำที่สอง "ปาริสุทธิ" หมายถึง ความบริสุทธิ์ และคำที่ ๓ คือ ศีล ซึ่งเมื่อแปลโดยความแล้วก็ หมายถึง ศีลที่บริสุทธิ์ได้เนื่องด้วยการเลี้ยงชีพ จะเห็นได้ว่า ชีวิตของบรรพชิตหรือพระภิกษุจะดำรงชีวิตอยู่ได้ ก็ต้องมีการเลี้ยงชีพที่ถูกต้องโดยธรรม มีการแสวงหาอาหารบิณฑบาตในตอนเช้า ซึ่งการเลี้ยงชีพของพระภิกษุ ท่านจะไม่เลี้ยงชีพในทางที่ผิด ท่านจะไม่มีการล่อลวง ไม่มีการหลอกลวง ไม่มีการทำเลียบเคียง ไม่มีการประจบประแจง หรือว่าไม่กระทำสิ่งใดๆ ก็ตาม เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ของตัวเองในการเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นการเลี้ยงชีพที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงสรรเสริญเลย ถ้าหากว่าเลี้ยงชีพในทางที่ผิด ฉะนั้นแล้วการแสวงหาปัจจัยโดยธรรม โดยสม่ำเสมอของพระภิกษุจึงเป็นอาชีวปาริสุทธิศีล

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้าสำหรับคฤหัสถ์

    อ.คำปั่น คฤหัสถ์ก็ต้องมีการเลี้ยงชีพในทางที่ถูกที่ควรเช่นเดียวกัน เพราะว่าคฤหัสถ์ต้องมีการประกอบอาชีพประกอบการงาน ซึ่งต้องดูว่าการงานที่ทำนั้น เป็นทางที่ผิดหรือไม่ เป็นการประกอบอาชีพในทางที่ไม่เป็นประโยชน์หรือไม่ อย่างเช่นถ้าหากว่าเป็นการค้าอาวุธ ค้ายาพิษ ค้าสัตว์สำหรับฆ่า เป็นต้น ก็เป็นอาชีพที่ไม่ถูกต้อง เป็นอาชีพที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงสรรเสริญ และไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ด้วย

    ท่านอาจารย์ ทุกคนมีความรักตัว และต้องมีชีวิตอยู่ เพราะฉะนั้น การที่จะเลี้ยงชีพก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่ถ้ารักตัว และเลี้ยงชีพตัวเองโดยวิธีทุจริต ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่เข้าใจธรรมเลยว่า แต่ละคนก็คือธรรมเท่านั้นเอง มีทั้งกุศลธรรม และอกุศลธรรม ขณะใดที่เป็นกุศลธรรม จะไม่เบียดเบียนคนอื่นเลย แต่เวลาที่เป็นกุศลธรรม ขณะนั้นไม่เบียดเบียน และอาชีพก็สุจริตด้วย

    คงไม่ลืม ภาวนาทิฏฐานชีวิตัง ชีวิต เลี้ยงชีพในทางสุจริตด้วยความมั่นคงในการอบรมเจริญปัญญา คนที่ยังไม่ได้ดับกิเลส ต้องมีอกุศลแน่นอน แต่ว่าจะมีอกุศลระดับใด ขึ้นอยู่กับปัญญา ถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญา ก็จะไม่เบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อน ต้องเลี้ยงชีพจริง แต่กาย วาจาต้องสุจริต พร้อมด้วยใจด้วย

    ที่จริงดูไม่น่ายาก กายสุจริต ไม่ต้องไปเบียดเบียนใคร วันนี้ก็ไม่ได้เบียดเบียนใคร แต่ถ้าเกิดอกุศลเมื่อไร ก็ลืม การเบียดเบียนนั้นเป็นเพราะอาชีพ หรือไม่ใช่เพราะอาชีพ วาจาก็เหมือนกัน ไม่เห็นจำเป็นที่จะต้องพูดสิ่งที่ไม่จริง แล้วพูดทำไม เพราะความรักตัว แล้วก็คิดว่า สามารถทำสิ่งนั้นได้ ให้คนอื่นเข้าใจผิดอย่างนั้นได้ โดยที่ไม่คำนึงถึงเลยว่า ขณะนั้นเป็นเพราะอะไร ถ้าเป็นกุศลจิต ก็ไม่เป็นอย่างนั้น

    นี่ก็เป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกคนก็ต้องเลี้ยงชีพ แต่ว่าในทางสุจริต ถ้ามีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น ก็จะละเว้นกาย วาจา ใจที่เป็นอกุศล ที่เป็นไปถึงขั้นเบียดเบียนคนอื่นด้วย เพราะความจริงอกุศลก็มีกันทุกคน แต่ว่าจะถึงขั้นเบียดเบียนหรือว่าไม่ถึงขั้นเบียดเบียน

    วันนี้เบียดเบียนหรือยัง อาจจะเบียดเบียน โดยไม่รู้สึก คำหยาบคาย คิดว่าต้องแรงมาก แต่คำที่ไม่น่าฟัง เป็นคำหยาบคายด้วยหรือเปล่า เสียงที่เกิดจากอกุศลจิตขณะที่ไม่มีเมตตา คนอื่นฟังรู้ไหม ไม่ต้องเป็นคำหยาบมากๆ ก็ได้ นี่คือความละเอียดของธรรม ถ้ามีปัญญามากขึ้น การขัดเกลาก็เพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ที่ท่านแสดงเกี่ยวกับเรื่องสภาพธรรมตามความเป็นจริง อย่างเห็นทุกครั้ง จริงทุกครั้ง ความรู้ความเข้าใจตรงที่ฟังว่า เห็นจริง มีจริง ปรากฏด้วย ตรงนี้จริงอย่างไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    14 ม.ค. 2567