พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 525


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๒๕

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้น ตัวติดข้องจริงๆ คือ โลภะ โลภะที่ยึดถือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือยึดถือขันธ์ โลภะนั้นเป็นกามุปาทาน อุปาทาน คือ โลภะเป็นตัวยึดถือ ส่วนทิฏฐิก็ยึดถือก็หลากหลาย ยึดถือโดยเป็นความเห็น เพราะเห็นอย่างนั้น ยึดอย่างนั้น ก็เป็นทิฏฐุปาทาน ถ้าเป็นการยึดถือในข้อปฏิบัติหลากหลายมาเป็นข้อปฏิบัติ เช่น ต้องไปจดจ้อง ต้องไปทำกรรมวิธีนี้วิธีโน้น จึงจะเป็นมงคล จึงจะได้ดีมีสุขที่เขาเชื่อถือกัน อันนั้นก็จะสีลัพพตุปาทาน แต่โดยสภาพธรรมก็เป็นทิฏฐิเจตสิก เป็นเจตสิก แต่หลากหลายออกมาเป็นการประพฤติ การกระทำตามความเห็นผิดนั้น และความเห็นผิดที่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นสิ่งของ เป็นตัวตนต่างๆ ก็คือ อัตตวาทุปาทาน ความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ไม่ว่ากายนี้ กายนอก หรือทั้งหมด สิ่งต่างๆ

    เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงอุปาทานขันธ์ ก็ครอบคลุมถึงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป อันเป็นที่ยึดถือของผู้ที่ยังมีอุปาทาน ขันธ์ คือ ขันธ์ ไม่มีใครไปเปลี่ยนขันธ์ได้ แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านก็ยังมีขันธ์ที่เป็นไป มีจิต เจตสิก รูปเป็นไป แต่ท่านไม่มีการยึดถือในขันธ์หนึ่งขันธ์ใดอีกเลย เพราะท่านไม่มีอุปาทาน คือไม่มีสภาพที่เป็นที่ยึด ตัวยึดคือโลภะซึ่งเป็นสภาพยึด และทิฏฐิที่เป็นสภาพยึด ถ้าพูดถึงอุปาทานขันธ์ มุ่งถึงผู้ยังมีอุปาทานอยู่ จึงมีการยึดถือขันธ์ทั้ง ๕

    ผู้ฟัง ครั้งแรกผมได้ยินได้ฟังคำนี้ แล้วก็มีผู้แปลกันว่า หมายถึง การยึดมั่นในขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ในอริยสัจ และผมก็พิจารณาว่า ถ้าแปลอย่างนั้น ลำพังโลภะอย่างเดียวจะเป็นทุกข์ไปไม่ได้ ต้องหมายถึงขันธ์ทั้งหมด ถ้าเกิดแปลกลับกันว่า ขันธ์อันที่เป็นที่ตั้งแห่งการยึดมั่น ถือมั่น น่าจะถูกต้องกว่า

    ท่านอาจารย์ แปลหรือว่าความจริง

    ผู้ฟัง ความจริงเป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ความจริงรู้ได้อย่างไร

    ผู้ฟัง กำลังมีในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ ชีวิตประจำวัน ความยึดมั่นมีในอะไรบ้างปกติ

    ผู้ฟัง ทั้งหมดที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ อะไร

    ผู้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา การเห็น การได้ยิน เป็นต้น

    ท่านอาจารย์ ยึดมั่นในอะไรที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ยึดมั่นโดยความเป็นตัวตน

    ท่านอาจารย์ ชอบรูปไหม

    ผู้ฟัง ชอบ

    ท่านอาจารย์ มีวันไม่ชอบไหม

    ผู้ฟัง ไม่มีสักวัน

    ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นความยึดมั่น ไม่ว่าวันไหนก็วันนั้น ภพไหนก็ภพนั้น คือ เมื่อมีสิ่งที่ปรากฏซึ่งเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็พอใจ ไม่เพียงพอใจแล้วก็หมด ก็ยังติดยึดถือ ยึดมั่น ยังคงต้องการสิ่งนั้นๆ อยู่

    เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันก็เป็นเครื่องแสดงให้รู้ว่า หมายความถึงอะไร ความยึดมั่นยึดมั่นในอะไร ประการหนึ่ง ก็คือยึดมั่นในสิ่งที่ปรากฏ ต้องการไม่จบในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทั้งหมดนี้ก็เป็นกามุปาททาน เพราะว่ากาม หมายถึงสิ่งที่น่าพอใจ ซึ่งเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    นอกจากนั้นก็ยังมีการยึดมั่นในความเห็น เพราะว่าเมื่อเกิดมาแล้ว ก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เข้าใจผิด ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งนั้นได้ เมื่อเข้าใจผิดในสิ่งที่ปรากฏเหมือนเที่ยง ขณะนั้นก็เป็นทิฏฐุปาทาน ถ้ายึดมั่นจริงๆ ใครบอกก็ไม่เชื่อ ยึดมั่นจริงๆ ว่า ต้องมีผู้ที่บันดาลได้ หรือผู้ที่สามารถที่จะทำให้สิ่งนั้นสิ่งนี้เกิดขึ้นมาได้ ขณะนั้นไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงยึดมั่นอย่างนั้น ก็เป็นทิฏฐุปาทาน ซึ่งจะนำไปสู่สีลัพพตุปาทาน การยึดมั่นด้วยความเห็นผิด ทำให้มีการประพฤติปฏิบัติผิด ที่เห็นได้ก็คือ สิ่งที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล ก็เข้าใจว่า สามารถที่จะดลบันดาลได้ พวกนั้นก็เป็นสีลัพพตุปาทาน ทั้งหมดที่เป็นความเห็นผิด จะไม่นำไปสู่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ด้วยเหตุนี้จริงๆ แล้วที่ยึดถือเพราะอะไร เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้ามีความเห็นจริงๆ ว่า แต่ละอย่างไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย แม้แต่ร่างกาย แข็งก็ส่วนแข็ง ส่วนต่างๆ ของร่างกายก็เพียงแต่มารวมกัน มาประกอบกันทำให้ยึดถือว่าเป็นคน เป็นสัตว์ แต่ถ้าแยกออกไปเป็นส่วนที่ละเอียดจริงๆ ทั้งหมด ก็ไม่มีคน มีสัตว์เลย เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่เมื่อไม่รู้อย่างนี้ ก็มีความยึดมั่นในสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็เป็นอัตตวาทุปาทาน

    เพราะฉะนั้น คนที่ยังพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่เคยหมดไปได้เลย ก็เพราะกามุปาทาน ถ้ามีความเห็นผิดต่างๆ ไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะเรื่องของสภาพธรรมว่าเที่ยง ยังมีความเห็นอีกมากมาย ผู้นั้นบันดาล ผู้นี้ทำได้ เจ้ากรรมนายเวร อย่างนั้นก็ได้ ก็ยังคงเป็นความเห็นผิด เป็นทิฏฐุปาทาน ความเห็นที่ไม่ตรงความเป็นจริงทั้งหมด เป็นทิฏฐุปาทาน แล้วที่เป็นทิฏฐุปาทาน ก็เพราะเหตุว่ายึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด รวมกันแล้วเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ได้แยกเป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เห็นว่าเป็นอัตตะหรืออัตตา ก็เป็นอัตวาทุปาทาน แล้วก็นำไปสู่สีลัพพตุปาทาน ก็เป็นชีวิตประจำวัน ชีวิตประจำวันปกติมีอุปาทานไหน

    ผู้ฟัง ประจำวันก็มีกามุปาทาน

    ท่านอาจารย์ นานๆ ก็มีทิฏฐุปาทาน ถ้าฟังแล้วเข้าใจขึ้น ก็คลายการยึดถืออย่างมั่นคง เพราะว่าเข้าใจ จนกว่าจะประจักษ์ความจริงเมื่อไร ทิฏฐานุสัยดับ ก็จะไม่มีสีลัพพตุปาทน ทิฏฐุปาทาน ไม่มีธรรมใดๆ ซึ่งเนื่องมาจากความเห็นผิด เพราะว่าดับความเห็นผิดหมด ไม่เกิดอีกเลย

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ ได้ยินว่า ท่านอาจารย์อุปมาว่าเหมือนเรือรั่ว อยากทราบว่า เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วเป็นกุศลตลอดวันหรือเปล่า ไม่ เพราะฉะนั้น อะไรที่เป็นรั่ว ที่ทำให้สิ่งอื่นเข้ามาได้ ทั้งๆ ที่มีความเข้าใจธรรม

    ผู้ฟัง อกุศล

    อ.นิภัทร เรือรั่วก็มีอยู่ในธรรมบท ทรงตรัสว่า ภิกษุเธอทั้งหลายจงวิดน้ำออกจากเรือ เมื่อวิดน้ำออกจากเรือแล้ว เรือก็จะแล่นไปถึงฝั่งได้เร็ว เรือในที่นั้น ท่านก็อธิบายว่า หมายถึง อัตภาพของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะปุถุชนก็เต็มไปด้วยน้ำ กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ ห้วงน้ำใหญ่ ไม่ใช่แม่น้ำเล็กๆ กาโมฆะ ห้วงน้ำคือกาม ภโวฆะ ห้วงน้ำคือภพ ทิฏโฐฆะ ห้วงน้ำคือทิฏฐิ อวิชโชฆะ ห้วงน้ำคืออวิชชา เป็นห้วงน้ำใหญ่ที่ไหลเข้าเรืออยู่ตลอด เพราะฉะนั้น ก็ต้องวิดจนสุดแรง จะวิดได้แค่ไหนก็แล้วแต่

    ผู้ฟัง ความปรารถนาสูงสุดของหนูคือ ได้ไปอินเดีย และได้ไปกับท่านอาจารย์ ที่พิเศษที่สุดก็คือได้เห็นพระธาตุใกล้ๆ และได้เทินบนศีรษะ ทุกครั้งก็จะเกิดปีติมาก แม้แต่ขนมนมเนยบนรถก็มากมาย ผู้ไม่ได้ไปก็ฝากมาเจริญกุศลด้วย ขออนุโมทนาด้วย

    ท่านอาจารย์ แล้วก็มีสังเวคะ บ้างไหม

    ผู้ฟัง ลืมหมด

    ท่านอาจารย์ จริงๆ ทั้งหมดเป็นธรรม ไม่ว่าก่อนจะไปอินเดีย หรืออยู่ที่อินเดีย หรือกลับมาจากอินเดียแล้ว แม้แต่ขณะที่กำลังย้อนไปฟังเรื่องที่เพิ่งเริ่มการเดินทาง แสดงว่าเราเข้าใจธรรมระดับไหน เพราะว่าแม้แต่ขณะนี้จิตเดี๋ยวนี้เองไม่เหมือนก่อนเดินทางที่กล่าวถึงเลย เป็นคนละขณะ คนละประเภท แต่จากการที่เคยฟังธรรมมา ไม่ใช่แต่เฉพาะครั้งเดียว แต่ก็ไม่มีใครสามารถรู้ว่า เราฟังมาแล้วกี่ครั้ง แต่ให้เห็นการปรุงแต่งของสังขารขันธ์จากครั้งแรกที่ได้ฟัง จนมาถึง ณ บัดนี้ ไม่มีใครสามารถจะไปบันดาลให้แต่ละคนมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เพราะแต่ละหนึ่งๆ ก็มีการสะสมต่างๆ กัน แม้แต่ความคิด เวลาที่คุณบุษกรหิว ไม่ทราบคุณธิดารัตน์หิวด้วยหรือเปล่า

    อ.ธิดารัตน์ ทุกคนก็หิว เพราะว่าแจกน้ำไปหมดแล้วนั่งรอ ทั้งหิวน้ำ และกะว่าจะไปทานอาหารเที่ยงบนเครื่อง และตัวหนูเองไม่ได้ทานอาหารเช้า เพียงทานอะไรนิดหน่อยเท่านั้น ก็มีความอดทน พร้อมกับสนทนาธรรมฆ่าเวลากันไป

    ท่านอาจารย์ ไม่ว่าเมื่อไร หิวก็เป็นหิว เราก็ลืมไปเรื่อยๆ ฟังธรรมไป แล้วก็เป็นตัวเราไป แล้วก็ลืมว่า ขณะนั้นเป็นธรรมที่ได้ฟังมาแล้ว เพราะฉะนั้น กว่าสังขารขันธ์ซึ่งไม่มีใครสามารถจะบังคับบัญชาได้เลย จะเกิดแล้วทำกิจหน้าที่โดยที่ว่า ปรุงแต่งจากขณะหนึ่งไปอีกขณะหนึ่ง จนกระทั่งถึงขณะนี้ ก็จะเห็นการที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ตราบใดที่เลือด เนื้อ กระดูก ยังรวมกันอยู่ ชีวิตก็ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยแต่ละภพแต่ละชาติ ซึ่งจริงๆ แล้วเพียงไม่มีจิตเท่านั้นเอง

    รูปก็จะเหมือนที่เราเคยได้ยินได้ฟังว่า เป็นธาตุที่ไม่รู้อะไร เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย คือ ทั่วทั้งตัวก็มีอากาศธาตุแทรกคั่น แล้วบางกลุ่มก็เกิดจากกรรม เล็กมาก น้อยมาก และบางกลุ่มของรูปก็เกิดจากจิต บางกลุ่มก็เกิดจากอาหาร บางกลุ่มก็เกิดจากอุตุ เดี๋ยวนี้เอง คือให้ทราบว่า ธรรมทั้งหมดเป็นความจริงทุกขณะ เพียงแต่ว่าเราสามารถที่จะเข้าใจ และรู้ความจริง ที่ฟังแล้วฟังอีก แล้วฟังต่อไปอีกได้แค่ไหน

    เพราะเหตุว่า แม้ความจริงเป็นอย่างนี้ เรื่องทุกเรื่อง ทุกคนกำลังคิด เห็นไหม มีพาราณสีที่ไหน มีคยาที่ไหน มีสนามบินที่ไหน มีแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็คิด เพราะฉะนั้น ความคิดมากมาย เป็นอดีตก็ได้ จะคิดถึงอนาคตว่า ปีหน้าจะไปไหน บางคนก็เริ่มถามแล้ว แต่ว่าขณะนี้ก็ลืมไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่กำลังเห็น บางคนก็พูดถึงเรื่อง อย่างเมื่อวานนี้ ก็มีการสนทนาธรรมก็สงสัยไปถึงจิตของคนโน้น คนนี้ สมัยโน้นเป็นอย่างนี้ สมัยพระโพธิสัตว์เป็นอย่างไร พอคุยกันเสร็จ ดิฉันก็บอกว่า นี่แหละเป็นเหตุให้ไม่สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่าใจสนใจในสิ่งอื่น ทั้งๆ ที่สิ่งนี้กำลังปรากฏทางตา แต่ก็ไม่เคยระลึกถึงเลย จะข้ามไปเรื่อยๆ คิดถึงเรื่องของตัวเองในอดีต อนาคต หรือว่าคิดถึงเรื่องของคนอื่นที่รู้จัก ยังไปคิดถึงเรื่องในพระไตรปิฎก บุคคลนั้นบุคคลนี้ตอนเป็นพระโพธิสัตว์เป็นอย่างไร อะไรต่างๆ

    นี่แสดงให้เห็นว่า เพียงจิตเกิดขึ้นคิดหลากหลายจากการที่ได้เคยสะสม เคยฟังมา ก็ทำให้ความคิดปรุงแต่งไปมากมาย แต่พอจิตไม่คิด ทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่มี นี่เป็นสิ่งที่เตือนบ่อยๆ เพราะเหตุว่าความจริงเป็นอย่างนี้ จนกว่าขณะนี้มีธรรมกำลังปรากฏ แล้วก็ฟังเรื่องสิ่งที่ปรากฏ มีจริงๆ และก็เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลเลย จนกว่าเริ่มจะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่าทุกคนบอกว่า สิ่งที่ปรากฏเข้าใจยากมาก เพราะไม่คุ้นเคย จนกระทั่งสงสัย แล้วสิ่งที่ปรากฏเป็นอย่างไร ถามได้อย่างไร กำลังเห็นแท้ๆ แล้วถามว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นอย่างไร จะให้คนอื่นบอกไม่ได้เลย

    เพราะเหตุว่า จิตกำลังเห็นสิ่งนั้น พูดเพียงให้ระลึกได้ แล้วเข้าใจความจริงว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นธรรม แม้จิตเห็นก็เป็นธรรม ขณะนี้ก็เป็นธรรม การระลึกถึงพระคุณโดยการไปถึงสถานที่ที่ประสูติ ที่ตรัสรู้ ที่แสดงธรรม ที่ปรินิพพาน เท่าที่แต่ละคนมีโอกาสไปถึงที่นั่น ก็เพื่อให้เกิดสังเวคะ การน้อมระลึกว่า พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นความจริงทุกกาลสมัย

    อ.อรรณพ เรียนให้ท่านอาจารย์อธิบายอีกสักครั้งว่า ฟังมาแล้ว และสติก็ยังไม่เกิด เลยลังเลไม่แน่ใจว่า หนทางที่ฟังนี้ ใช่หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ก็คงต้องทบทวนถึงตอนที่ทรงตรัสรู้แล้ว ไม่ทรงน้อมพระทัยที่จะทรงแสดง เพราะเป็นหนทางที่ลึกซึ้ง ยากแก่คนที่สะสมความติดข้องมามากๆ จะสามารถเห็น และประพฤติปฏิบัติตามได้ แต่ก็มีผู้ที่สะสมมาแล้ว ด้วยเหตุนี้ ในครั้งโน้นท่านที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ก็เพราะเหตุว่าได้สะสมมาแล้วที่จะเห็นประโยชน์ของการฟังธรรม ซึ่งความจริงลองคิดถึงตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ และพราหมณ์ทำนายว่า ถ้าท่านผู้นี้ไม่ออกบวช ก็จะได้เป็นพระมหาจักรพรรดิ เห็นหรือไม่ การสะสมยังสามารถที่จะเป็นได้ ๒ อย่าง คือสำหรับผู้ไม่รู้ ก็เห็นความน่าอัศจรรย์ หรือเห็นบารมีที่สะสมมาซึ่งไม่เหมือนใคร แต่ถึงกระนั้นก็ตามก็ยังแสดงให้เห็นว่า ในระหว่างการเป็นพระมหาจักรพรรดิกับการที่จะละกิเลสได้หมด ซึ่งโอกาสจะละกิเลสได้หมด ไม่มีทางจะเป็นไปได้โดยง่ายเลย

    เพราะฉะนั้น เลือกอย่างไหน ถ้าไม่กล่าวถึงการทำนายของท่านอัญญาโกณฑัญญะซึ่งทำนายอย่างเดียว ไม่ใช่ ๒ อย่าง เพราะว่าพร้อมที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ลองคิดถึงการสะสมของบารมี สามารถเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดได้

    อย่างคุณวรศักด์ก็สงสัยว่า แล้วจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้อย่างไร ถ้าไม่มีการบำเพ็ญบารมีมาที่จะเข้าถึงความจริงซึ่งเป็นสัจจะ ก็ย่อมจะเคลือบแคลงสงสัย แต่ผู้ที่สะสมความเข้าใจถูกต้องแล้ว แม้จะให้เกิดความคิดเห็นที่ผิดๆ อย่างอื่นก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าสะสมมาแล้ว

    ในขณะที่กำลังฟังธรรม ให้ทราบว่า ธรรมมี กำลังปรากฏ คือ ต้องเป็นผู้ที่มีความมั่นคงจริงๆ ขณะนี้ธรรม กำลังปรากฏ ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่เร็วมาก เพียงปรากฏแล้วหมด ลองคิดถึงความรวดเร็ว

    เพราะฉะนั้น ที่กำลังปรากฏขณะนี้ คือการเกิดดับสืบต่อของธรรม ซึ่งไม่รู้ในการเกิดแล้วดับไปของธรรมแต่ละขณะเลย ปรากฏลวงว่าเที่ยง เห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเป็นอัตตา นี่เป็นความเห็นผิดหรือเปล่า การมีโอกาสจะได้ยินได้ฟังต้องเริ่มรู้ความจริงว่า ขณะใดที่ไม่ได้ฟังพระธรรมไม่สามารถระลึกได้ว่า ขณะนี้เป็นธรรมซึ่งเกิดดับแน่นอน เมื่อได้ฟังแล้ว ในเมื่อความจริงของสภาพธรรมเป็นอย่างนี้ จะรู้ผิดจากอย่างนี้ได้ไหม ไม่ได้ เพราะว่าสภาพธรรมกำลังมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป เปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้

    เพราะฉะนั้น จากการฟังที่เข้าใจเล็กน้อย แต่มั่นคงว่า สิ่งนี้เป็นความจริง ก็สามารถพิสูจน์ได้ ประจักษ์แจ้งได้ แต่ต้องเป็นผู้ตรง และอดทน เพราะไม่ว่าเมื่อไรก็ตาม สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏ เป็นเครื่องยืนยันว่า การฟัง สังขารขันธ์ปรุงแต่งถึงระดับเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ว่า เป็นธรรมอย่างหนึ่ง

    นี่เริ่ม เริ่มจริงๆ ขณะนี้ เข้าใจว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นธรรมอย่างหนึ่ง เพราะมีจริงๆ เมื่อมีจริงๆ จึงปรากฏได้ แต่ปรากฏเพียงให้เห็นทางตา ไม่ใช่ทางอื่น ซึ่งขณะนี้ก็ต้องอาศัยจักขุปสาท ซึ่งสามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ สภาพเห็นจึงปรากฏได้ ถ้าไม่เข้าใจสิ่งที่มี ที่ปรากฏ ไม่ฟังจนกระทั่งมีความมั่นใจว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นธาตุ หรือเป็นธรรมอย่างหนึ่ง จะสามารถระลึก และค่อยๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อยว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นอย่างนี้ไหม ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สัจจะ คือความจริงขณะนี้เป็นอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น คุณวรศักดิ์จะรู้ความจริงอย่างนี้ได้อย่างไร ถ้าไม่มีการฟังจนกระทั่งเข้าใจเพื่อละความไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจมาก่อน กว่าจะคลายความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ต้องเป็นผู้ที่รู้สมุทัย ความต้องการทั้งหลายไม่สามารถทำให้รู้ความจริงได้

    เพราะฉะนั้น หนทางนี้เริ่มละตั้งแต่ต้น สมุทัยเป็นสิ่งที่ต้องละ ทุกข์เป็นสิ่งที่จะต้องรู้ อริยสัจที่ ๑ คือ ทุกขอริยสัจจะ เป็นสิ่งที่ควรรู้ว่า ขณะนี้เป็นสัจจะ เป็นทุกข์ เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นแล้วดับไป พร้อมกันนั้นก็รู้สมุทัยด้วย ตราบใดที่มีความเป็นเรา เป็นตัวตน ที่ต้องการ ที่ทำ ไม่มีทางที่จะเข้าใจธรรมได้เลย

    เพราะฉะนั้น แม้แต่การฟัง ก็ฟังเพื่อละความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็น หรือเป็นสภาพที่กำลังเห็น ก็ไม่รู้ทั้ง ๒ อย่างใช่ไหม หรือใครรู้แล้ว ยัง แต่มีจริงๆ ใช่ไหม แล้วหนทางที่จะรู้มีไหม มี เพราะมีผู้ที่รู้แล้ว และทรงแสดงหนทางนั้นแล้วด้วย

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่มั่นคง ใครจะพูดว่าอย่างไร หนทางอื่นทำอย่างไร ให้รู้อะไร ถ้าเป็นหนทางอื่น กล่าวได้เลยว่า หนทางอื่นคือทางผิด จึงมีสัมมามรรคกับมิจฉามรรค

    อ.อรรณพ นี่คือคำเตือน คำสอน คำอธิบายของท่านอาจารย์ ก็เท่ากับเป็นการเพิ่มความมั่นคงในหนทางว่า ไม่มีหนทางอื่น ท่านที่ร่วมสนทนาอยู่ใกล้ๆ พระสถูป ซึ่งไม่มากท่านนัก ในช่วงนั้น ท่านก็คงมีความมั่นคงเพิ่มขึ้น แล้วที่นี่ท่านอาจารย์ได้แสดงไปเมื่อสักครู่ เท่ากับเป็นการเพิ่มความมั่นคงในหนทางว่า ไม่ใช่หนทางอื่น จะมีหนทางอื่นที่ไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีอยู่ในขณะนี้ ก็เป็นไปไม่ได้เลย ผู้ที่ไม่ได้ไปอินเดีย ก็ได้ฟังท่านอาจารย์อีกครั้งหนึ่ง แล้วพวกเราที่ฟังแล้ว ก็ได้ฟังอีกครั้งหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่รู้ ไม่รู้แม้แต่ธรรม ลองคิดดู เกิดมามีเห็น ไม่รู้ มีได้ยิน ไม่รู้ มีได้กลิ่น ไม่รู้ มีลิ้มรส ไม่รู้ มีการกระทบสัมผัส ไม่รู้ มีการคิดนึก ไม่รู้ ตลอดชีวิต แล้วจะรู้อะไร เพราะฉะนั้น เกิดมาก็คือ มืดบอดสนิท คือ ไม่รู้ความจริงซึ่งเป็นสัจธรรมของสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น โลกของคนไม่รู้ เต็มไปด้วยเรื่องราวที่คิดเอง จากเห็น จากได้ยิน ฟัง สนทนา บุคคลนั้น บุคคลนี้ ก็เป็นเรื่องราวมากมาย แต่ลืมว่า แม้เพียงหลับ เรื่องต่างๆ เหล่านั้นไปไหนหมด ไม่มีเลย และถ้าขณะนั้นจะจากโลกนี้ไป ก็คือ ไม่รู้เรื่องเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งถ้าไม่จากโลกนี้ไป แต่ตื่นขึ้น ก็ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    15 ม.ค. 2567