พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 500


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๐๐

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิตที่กำลังรู้แข็ง แข็งจะปรากฏได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เราเรียกคำว่า “ปรมัตถธรรม” แต่ไม่รู้ว่า แข็งเป็นปรมัตถธรรม หรือเราอาจจะจำว่า แข็งเป็นปรมัตถธรรม แต่ขณะที่แข็งปรากฏ ไม่รู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม เพราะเราไปคิดเรื่องชื่อ

    ผู้ฟัง ก็จะเป็นบัญญัติเป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปคิดเรื่องบัญญัติอารมณ์อะไรเลย ขณะที่ไม่รู้ ขณะนั้น เพราะกำลังไปคิดเรื่องคำ “ปรมัตถ์” แต่แข็งนั่นแหละ ไม่ใช้คำ “ปรมัตถธรรม” ได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ แข็งมีจริงๆ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ถ้าแข็งไม่ใช่ธรรม อะไรจะเป็นธรรม ขณะที่แข็งกำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ถ้าแข็งกำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้าแข็งไม่ใช่ธรรม อะไรจะเป็นธรรม

    ผู้ฟัง อวิชชาที่เราไม่รู้

    ท่านอาจารย์ หาธรรมไม่ได้เลย เพราะแข็งแท้ๆ เป็นธรรมปรากฏ ก็ไม่รู้ว่า เพราะแข็งเป็นแข็ง เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ต้องเรียก แข็งปรากฏมีลักษณะของแข็ง ซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย แล้วทำไมแข็งจะต้องมาปรากฏ คิดดู ใครมาบอกให้แข็งมาปรากฏ บังคับบัญชาได้ไหม ไม่ให้แข็งปรากฏก็ไม่ได้ เปลี่ยนแข็งที่ปรากฏให้เป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ได้ยินคำว่า “ปรมัตถธรรม” แต่ไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ว่า ลักษณะของปรมัตถธรรมเป็นปกติ ธรรมดา แต่ไม่รู้ต่างหากว่าเป็นธรรม แล้วไม่รู้ด้วยว่า เป็นปรมัตถ เพราะเหตุว่ามีจริงๆ ก็จริง ก็ยังไม่รู้ว่า แข็งนั่นแหละเป็นธรรม แล้วก็ไปเรียกชื่ออื่น ปรมัตถธรรม อะไรๆ แต่ไม่รู้ว่า ลักษณะที่แข็งนั้นปรากฏ เหมือนสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ต้องเรียกก็ปรากฏ ไม่ต้องบอกว่าเป็นปรมัตถธรรม ก็ปรากฏ และความจริงของสิ่งที่ปรากฏ มีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้นั่นคืออะไร เห็นหรือไม่ ก็ต้องเป็นธรรม จะไปหาธรรมที่ไหนอีก ในขณะที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา และเห็น ธรรมอยู่ที่ไหน อะไรเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงนั่นแหละ ไม่ต้องเรียกก็เป็นธรรม แต่ถ้าจะเรียกลักษณะที่แข็งเป็นเก้าอี้ หรือเป็นโต๊ะ หรือว่าจริงๆ แล้วเป็นแข็ง

    นี่แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่มีจริงมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง จึงใช้คำว่า ปรมัตถธรรม แล้วทั้งวันทางตา ปรมัตถธรรมก็ปรากฏ ทางหู ปรมัตถธรรมก็ปรากฏ แต่ไม่ได้ปรากฏกับปัญญา และสติสัมปชัญญะ เพราะขณะนั้นไม่รู้ จึงเป็นอวิชชา

    อ.กุลวิไล อาจารย์นิภัทรเคยกล่าวว่า ชื่อย่อมปิดบังสิ่งทั้งปวง พอดีเราสนทนาเกี่ยวกับปรมัตถธรรม

    อ.นิภัทร ก็ปิดทั้งหมด เพราะเราไม่ย่อมเปิด เทวดาทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า อะไรปิดบังสิ่งทั้งปวง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสตอบว่า ชื่อปิดบังสิ่งทั้งปวง อย่างที่สนทนากัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นชื่อทั้งหมด ตาก็ชื่อ หูก็ชื่อ จมูกก็ชื่อ ลิ้นก็ชื่อ กายก็ชื่อ ใจก็ชื่อ แล้วปิดบัง ปิดบังจนกระทั่งบางทีไม่รู้ความจริงว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจคือเราทั้งแท่ง ไม่รู้ นึกว่าอยู่ในตำรา ต้องไปอ่านว่า ตาคืออะไร หูคืออะไร จมูกคืออะไร ลิ้นคืออะไร กายคืออะไร ต้องไปอ่านในอภิธรรม

    ในคัมภีร์อภิธรรมท่านบอกว่า มีอยู่ ๔ อย่างคือจิต เจตสิก รูป นิพพาน แล้วกระจายอายตนะไว้อย่างไร ต้องไปอ่าน ทั้งๆ ที่เรามีอยู่ ปิดบังแค่ไหน แล้วชื่อก็รู้ด้วย แต่ก็ไม่รู้ ว่าตาคืออะไร หูคืออะไร จมูกคืออะไร ลิ้นคืออะไร กายคืออะไร ไม่รู้อย่างนี้ก็แสดงว่า เรายังไม่มีพื้นที่จะยืน

    พื้นฐานอภิธรรม อย่าไปนึกว่า ต้องไปหาที่ไหน ที่ทุกคนมีอยู่ มีพื้นฐานอยู่ทุกคนเลย เพราะอะไร เพราะเรามีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ แล้วจะมีอะไร นอกเหนือไปจากนี้บ้าง ก็พูดอยู่แค่นี้ แต่ก็ยังไม่รู้เรื่อง ยังไม่เข้าใจ เห็นไหมว่า ปิดแค่ไหน ไม่ต้องไปหาพื้นฐาน แต่สิ่งที่จะต้องหา คือเราจะต้องฟังให้เข้าใจว่า ตาคืออะไร มีหน้าที่อย่างไร เพราะว่าโดยมากถ้าเราไม่รู้จักว่าเขาทำหน้าที่อะไรแล้ว มันจะเวิ้งว้าง มันจะเหลิงเจิ้ง (พล่าม,เพ้อเจ้อ,อาการที่พูดมากไม่มีสาระ) จะจับอะไรไม่ถูก เหมือนตกไปในกระแสน้ำ ตกไปในทะเล ไม่เห็นฝั่งเห็นฝา

    ถ้าเรารู้แต่ละอย่าง เขาไม่สับสนกัน ตาก็มีหน้าที่เห็น เห็นอย่างเดียว ทำอย่างอื่นไม่ได้ "ทัสนกิจ" มีหน้าที่เห็น ก็เป็นชื่อ เห็น เห็นได้ทางตา ได้ยิน ได้ยินทางหู ได้กลิ่นทางจมูก รู้รสทางลิ้น สัมผัสถูกต้องเย็น ร้อน อ่อน แข็งทางกาย คิดนึกทางใจ แต่ละทาง ถ้าเรารู้หน้าที่ของแต่ละทางๆ เราก็จะเห็นว่า ธรรมไม่มีสับสน เราก็ทำความเข้าใจ ขณะเห็นเป็นธรรม ไม่ใช่เราเห็น เป็นธรรมเห็น สิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็เป็นธรรม ก็ต้องค่อยๆ อย่างที่ท่านอาจารย์ว่า ค่อยๆ รู้ไปทีละเล็กทีละน้อย ค่อยๆ หมายความว่า อย่าใจร้อน อย่างที่เราพูดกันอยู่ว่า ธรรมคืออะไร ท่านอาจารย์ท่านก็พูดให้เราฟัง ผมก็ฟัง

    ผู้ฟัง สภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงแต่ละขณะนั้นเอง คืออารมณ์ ใช่ไหม เพียงแต่ว่าความเป็นเราปิดบังทำให้ไม่รู้ว่า สภาพธรรมที่เกิดขึ้นแต่ละขณะๆ คือไม่ว่าจะเป็นเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ความคิดนึก หรือความรู้สึกก็ตาม อันนั้นก็ปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์แล้ว เพียงแต่เราไม่รู้ อย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ มีสิ่งที่ปรากฏ สิ่งนั้นมีจริงๆ มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ไม่ต้องเรียกชื่อเลย สิ่งนั้นก็เกิดปรากฏ และก็ดับ ถ้าขณะใดจิตไม่รู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นก็เกิดดับตามเหตุตามปัจจัย เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็งที่ไม่ปรากฏ ข้างนอก หรือขณะใดก็ตามแม้ในที่นี้ก็มีเย็น ร้อน อ่อน แข็ง แต่ไม่มีจิตที่กำลังรู้ลักษณะที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง สิ่งนั้นเกิดแล้วดับแล้วทั้งหมดตามเหตุตามปัจจัย

    เพราะฉะนั้น สิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดต้องมีเหตุปัจจัย ใครจะรู้หรือไม่รู้ ไม่สำคัญ สิ่งนั้นมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปด้วย แต่ขณะใดก็ตามที่เย็นปรากฏลักษณะที่เย็น ต้องมีสภาพรู้เย็นที่กำลังปรากฏ แล้วลักษณะที่เย็นมีจริงๆ ด้วย ไม่ต้องไปเรียกชื่ออะไรเลย ลักษณะนั้นเป็นอย่างนั้น จึงเป็นธรรม เข้าใจคำว่า “ธรรม” คือสิ่งที่มีจริงก่อน จะรู้หรือไม่รู้ จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ธรรมก็เป็นธรรม พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะทรงตรัสรู้หรือไม่ทรงตรัสรู้ ธรรมก็เป็นธรรม หลังจากที่ปรินิพพานแล้ว ธรรมก็เป็นธรรม ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงธรรมได้เลย

    ขณะใดก็ตามที่เห็น เห็นมีจริงๆ ขณะนี้ แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นด้วย เพราะฉะนั้น ทั้ง ๒ อย่างที่มีจริง เป็นธรรม เมื่อเป็นธรรมแล้วมีลักษณะเฉพาะคือ สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่เห็น ถูกต้องไหม และเห็นก็ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เห็นไม่ใช่กำลังรู้เสียงว่า เสียงเป็นอย่างไร แต่เห็น กำลังเห็นว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น จิตเห็นที่กำลังเห็นก็เป็นธรรม สิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็เป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรมนั้นแหละเป็นปรมัตถธรรม

    เพราะฉะนั้น ที่เกิดมาอะไรเกิด ตัวเรา ชื่อเรา เป็นเราเกิด หรือว่าเป็นธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูปเกิด โดยที่ขณะนั้นจะมีใครรู้ไหมว่า เป็นใคร อยู่ที่ไหน ต่อไปจะเป็นอะไร ก็ไม่มีการรู้ได้ เพราะขณะนั้นเป็นแต่เพียงขณะที่จิตเกิดขึ้นพร้อมเจตสิก และรูปเป็นครั้งแรกในชาตินี้ ใครจะรู้หรือไม่รู้ ก็เป็นธรรมเกิด จะเกิดที่ไหน ประเทศไหน ต่อไปจะชื่อไทย ชื่อฝรั่ง ชื่อจีน ธรรมก็เป็นธรรม เท่านั้นเอง

    ในขณะใดก็ตามที่มีลักษณะที่ปรากฏจริงๆ เป็นธรรมจริงๆ แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม จะพูด จะคิด จะทำ จะสนุก จะร้องไห้ จะเสียใจ จะมีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น ไม่รู้เลยว่า เป็นธรรมทั้งหมด ความรู้สึกบังคับไม่ได้ ถ้าเห็นสิ่งที่น่าพอใจ ก็ชื่นชมยินดี สนุกสนานรื่นเริง พอเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ จะบังคับให้รื่นเริง ให้สนุกสนาน ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะธรรมก็เป็นธรรม ความรู้สึกไม่พอใจเกิดขึ้น จะเปลี่ยนให้เป็นความรู้สึกเพลิดเพลินก็ไม่ได้ คือ ทั้งหมดที่มีจริง ที่ไม่ต้องเรียกอะไรเลยทั้งสิ้น เป็นธรรม อย่างแข็ง ก็เป็นธรรม แล้วจิตที่กำลังรู้แข็งก็เป็นธรรม แล้วจะเป็นเราหรือ จะเป็นอะไรหรือ แล้วเวลาสิ่งนั้นก็จริงๆ แล้ว

    สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก ประมาณไม่ได้เลย เช่นในขณะนี้นับไม่ถ้วน ดับไปหมดแล้ว โดยไม่รู้ แต่ก็ยังมีธรรมซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยสืบต่อในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้ แต่เริ่มเห็น และเข้าใจถูกต้องว่า ธรรมคืออะไร ธรรมคือสิ่งที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างโดยไม่ต้องเรียกชื่อ

    ขณะใดก็ตาม เช่น เห็นขณะนี้ จะกล่าวว่าไม่ใช่ธรรมไม่ได้ เมื่อเป็นธรรม ก็เป็นปรมัตถธรรม จิตเห็น เห็นอะไร ก็เห็นปรมัตถธรรม คือ สีสันวัณณะหรือสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น จิตได้ยินมี ได้ยินอะไร ก็ต้องได้ยินปรมัตถธรรม คือ เสียงนั่นแหละเป็นธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม แต่เพราะไม่รู้ว่า เป็นธรรม การเกิดดับสืบต่อของเสียง เช่น ในขณะนี้พอได้ยิน ก็รู้เลยว่า คำนั้นหมายความว่าอะไร

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ปรมัตถธรรมดับแล้ว เสียงดับแล้ว จึงมีจิตที่คิดถึงเสียงนั้นในความหมายนั้นได้ เพราะว่าแต่ละเสียงก็ต่างกัน เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมทั้งหมด แต่ไม่รู้ว่า เป็นธรรม และก็ไม่รู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม เพราะเหตุว่าธรรมต่างหากนั่นแหล่ะที่เป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่แยกว่า นี่เป็นธรรม นี่เป็นปรมัตถธรรม แต่ตัวธรรมที่มีจริงเป็นปรมัตถธรรม จะใช้คำว่า "อภิธรรม" ก็ได้ เพราะว่าเป็นธรรมที่ละเอียดยิ่ง

    ผู้ฟัง อย่างเช่นจะสังเกตลักษณะที่เห็น ดูเหมือนจะยากมาก จนเหมือนไม่รู้อะไรเลย แต่ถ้าจะสังเกตลักษณะที่แข็ง ดูเหมือนง่ายกว่าลักษณะอื่นๆ

    ท่านอาจารย์ ง่ายก็เป็นเรารู้ เพราะเรากำลังสังเกต

    ผู้ฟัง อย่างลักษณะแข็ง

    ท่านอาจารย์ แข็งแล้วเดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง แล้วรู้

    ท่านอาจารย์ ใครรู้

    ผู้ฟัง จิตรู้

    ท่านอาจารย์ ก็ตอบอย่างนี้ ก็ไม่ใช่สติสัมปชัญญะที่ฟังแล้วเข้าใจจึงระลึกที่แข็ง โดยที่ว่า ไม่ใช่เราจะสังเกต

    ผู้ฟัง เมื่อรู้ขณะที่กระทบ ก็รู้แข็ง

    ท่านอาจารย์ ใครไม่รู้

    ผู้ฟัง ก็รู้กันทุกคน แล้วรู้แข็งจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ก็จริง ใครบ้างไม่ว่าแข็ง ถ้าแข็งปรากฏ

    ผู้ฟัง แล้วแข็งจริงๆ ลักษณะของแข็งก็รู้ได้ว่าเป็นแข็ง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง อย่างจิตเห็น จิตไม่สามารถจะระลึกได้ว่า เป็นจิตที่เห็นขณะนั้น แต่ว่า

    ท่านอาจารย์ จิตไม่ระลึก จิตรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งขณะนี้กำลังเห็นทุกคน เป็นจิตที่กำลังรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จึงกล่าวว่าเห็น ไม่ใช่ไปนึกคิดถึงต้นไม้ หรือดอกไม้ที่เห็นแล้ว แต่กำลังรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจิตเกิดขึ้นขณะไหน สภาพของจิต เป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ และสิ่งที่ปรากฏที่จิตรู้แจ้ง ใช้คำว่า อารมณ์ หรือ "อารัมมณะ" หรือ "อาลัมพนะ" ในภาษาบาลี เฉพาะสิ่งที่จิตกำลังรู้แจ้งเท่านั้น รูปอื่นนามอื่นไม่ใช่อารมณ์ของจิต เพราะเหตุว่าขณะนั้นที่เห็น มีสิ่งที่ปรากฏทางตาที่จิตกำลังเห็นแจ้ง

    ผู้ฟัง อย่างสิ่งที่เห็น แต่ไม่ได้เห็นอย่างที่อาจารย์กล่าว แต่ว่ายังเห็นเป็นอาจารย์ เห็นเป็นโต๊ะ

    ท่านอาจารย์ ก่อนนั้นเป็นอะไร ก่อนจะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ใช่หรือไม่ แล้วความจริงคืออะไร ความจริงของสิ่งที่ปรากฏทางตาคืออะไร คือธาตุที่เพียงปรากฏให้เห็นได้เท่านั้นเอง คิดถึงกระดูก คิดได้ไหม

    ผู้ฟัง คิดได้

    ท่านอาจารย์ ปรากฏให้เห็นหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เปล่า

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จึงต่างกัน สิ่งที่ปรากฏให้เห็นกำลังปรากฏจริงๆ ในขณะที่เห็น ไม่ใช่ในขณะที่คิด แล้วสิ่งนั้นไม่ปรากฏทางตา ลักษณะของธรรมแต่ละอย่าง ธาตุชนิดหนึ่งปรากฏให้เห็นได้ ธาตุอีกชนิดหนึ่งปรากฏให้ได้ยินได้ ต่างกัน เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่าแข็งกับเห็นต่างกัน เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะคิด ที่รู้ว่า แข็งก็คิดว่าเป็นแข็ง

    ท่านอาจารย์ เพราะจิตกำลังรู้ลักษณะที่แข็ง ถ้าจิตไม่รู้ลักษณะที่แข็ง แข็งจะปรากฏให้เป็นแข็งไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง อย่างนี้ทางตาก็เช่นเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง อย่างนี้ก็เสมอกันหมดทุกอย่าง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ถ้าไม่ได้เข้าใจตรงนี้ ก็เข้าใจว่า สังเกตตรงแข็ง จะง่ายกว่าเยอะ

    ท่านอาจารย์ แล้วใครให้ไปสังเกต เราหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็เราอีก

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้ลักษณะของสติ ไม่รู้ลักษณะของธรรม ก็เข้าใจว่า กำลังทำความรู้ ทำความเข้าใจด้วยความพากเพียร แต่ขณะนั้นไม่ใช่ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าไม่มีเราที่สามารถจะทำอะไรได้เลย ขณะนี้ถ้ามีใครก็ตามที่ฟังธรรมเข้าใจ แล้วกำลังรู้ตรงแข็ง แข็งปรากฏทั่วๆ ไปกับจิตที่กำลังรู้แข็ง และแข็งก็ยังปรากฏกับสติที่กำลังรู้ต่อจากนั้นด้วย ตรงแข็งนั้น ไม่ใช่ตรงอื่น

    เพราะฉะนั้น จะรู้ว่า ขณะใดก็ตามที่ทั้งวันที่แข็งปรากฏ โดยสติไม่ได้รู้ตรงแข็งเลย แข็งก็ยังปรากฏได้ แต่เมื่อมีความเข้าใจว่า แข็งเป็นธรรม แล้วขณะนั้นรู้ตรงแข็ง เริ่มเห็นว่า แข็งเป็นธรรมจริงๆ เพราะสติสัมปชัญญะเกิด ไม่ใช่ไปนั่งสังเกตด้วยความเป็นเรา คุณคำปั่น อะไรเป็นธรรมที่ควรรู้ยิ่ง

    อ.คำปั่น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสัจธรรม เป็นสิ่งที่ควรศึกษา เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนไม่ได้เลยในสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแต่ละอย่างๆ สภาพธรรมทั้งหลายทั้งปวงจึงควรศึกษาเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกตามความเป็นจริง ซึ่งก่อนฟังพระธรรม ก่อนศึกษาพระธรรม ก็ยังมีความเห็นผิดยึดถือในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นตัวตน เป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่เมื่อได้ฟัง สั่งสมการฟัง สั่งสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย ก็จะเป็นปัจจัยให้ละคลายความเห็นผิด ที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ ฉะนั้นแล้วสภาพธรรมทั้งหลายทั้งปวงควรจะศึกษา ควรที่จะรู้ยิ่ง

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า กำลังเห็นควรรู้ยิ่ง ใช่ไหม ในเห็น และสิ่งที่ปรากฏ ขณะที่กำลังได้ยิน เป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง ไม่ใช่อยากจะไปรู้อย่างอื่น แต่สิ่งที่มีจริง คือ เสียง และได้ยิน เป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง คุณวิชัยคิดว่า มีอย่างอื่นที่ควรรู้ยิ่งกว่านี้หรือไม่

    อ.วิชัย ความรู้ ปัญญา คือ สภาพธรรมที่รู้ตามความเป็นจริง เราศึกษาว่า ธรรมมีหลายประเภท ทั้งที่เป็นกุศลก็มี ทั้งที่เป็นอกุศลก็มี ทั้งที่เป็นวิบาก และกิริยาก็มี และส่วนที่ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล ไม่เป็นวิบาก และไม่เป็นกิริยาก็มี ก็คือรูป ในส่วนของนิพพานนั้นก็ยังไม่ได้ปรากฏ

    ดังนั้นการที่จะอบรมความรู้ คือ รู้ในสิ่งที่ปรากฏ เพราะเหตุว่าก่อนที่จะมาฟัง ไม่รู้ หมายความว่า ปัญญายังไม่เกิดขึ้นรู้ในสิ่งที่ปรากฏได้ แต่ก็มีการเห็น การได้ยิน ซึ่งเป็นธาตุรู้ เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย เป็นปกติในชีวิตประจำวัน มีปัจจัย ธรรมก็เกิดขึ้นทำกิจของธรรม แล้วก็ดับไป แต่ความรู้คือปัญญา ไม่ได้เหตุไม่ได้ปัจจัยเกิดขึ้นรู้แจ้งในสิ่งที่ปรากฏ

    จนเมื่อมีการได้ฟังพระธรรม ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตามที่ทรงตรัสรู้ตามความเป็นจริง แล้วก็ทรงแสดงแก่สาวก เมื่อได้ฟัง พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงเรื่องของธรรมว่า ธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา บางครั้งเราก็ฟัง การที่จะรู้เห็นโดยปัญญา รู้ถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาได้ ถ้าไม่รู้จักลักษณะของธรรมนั้นเลย ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ หรือแม้ในการที่ปัญญาจะเกิดรู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ถ้าไม่มีการฟัง ก็ไม่สามารถจะรู้ได้

    แม้มีการฟังแล้ว ถ้าปัจจัยยังไม่เพียงพอให้สติระลึก และปัญญารู้ในลักษณะนั้น ก็ยังไม่สามารถจะรู้ได้ จนเมื่อมีการฟัง และไตร่ตรอง เพราะเหตุว่าตั้งแต่ต้นเลย ศึกษาว่า ธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา คำนี้ก็เปลี่ยนไม่ได้เลยตั้งแต่ต้น แม้ขณะนี้ธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยก็เป็นอนัตตาทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีความคิดที่จะสนใจหรือตั้งใจที่จะกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่ไม่ใช่ความรู้ ขณะนั้นก็เป็นไปด้วยความไม่รู้ ความรู้ก็มีตั้งแต่ขั้นฟัง จนมีปัจจัยพร้อมที่จะให้สติเกิดระลึกรู้ในสิ่งที่ปรากฏ คือ ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมที่มีปัจจัยจากขั้นการฟัง และฟังก็ไม่ได้ฟังสิ่งอื่น แต่ฟังเรื่องของลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม จนกว่าจะมีปัญญาที่เจริญขึ้น มากขึ้น จนประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ถึงปัญญาที่สูงขึ้นไป จนถึงโลกุตตรปัญญาที่สามารถประจักษ์ในลักษณะของของพระนิพพานได้ ซึ่งเป็น "อสังขตธรรม" ก็ตั้งแต่การรู้ในลักษณะที่กำลังปรากฏในขณะนี้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    14 ม.ค. 2567