พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 539


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๓๙

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒


    ผู้ฟัง ก็แสดงว่า สมองที่ถูกผ่าตัดก็เป็นปัจจัยให้จิตเปลี่ยนแปลง อย่างนั้นใช่ไหม

    อ.วิชัย ก็ไม่ใช่อย่างเดียว เพราะว่าปัจจัยก็มีมากมาย มีทั้งอุตุ มีทั้งอาหาร ก็มีหลายๆ อย่างให้จิตแต่ละประเภทเกิดขึ้น มีปัจจัยมากมายเพราะว่าธรรมเกิดเพราะเหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง ผมสงสัยแค่สมอง ไม่สงสัยปัจจัยอื่น คุณหมอช่วยหน่อย

    ผู้ฟัง เราต้องแยกทางธรรมกับทางสภาพของร่างกาย หรือ Physiology ของสมองหรือร่างกาย ต้องแยกคนละส่วน ถ้าทางธรรมต้องถามท่านอาจารย์ และวิทยากร ถ้าทาง Anatomy ของร่างกายคน ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดสมอง ความลืมก็มี พออายุมากขึ้น เซลล์ของสมองจะฝ่อหรือถูกทำลาย อย่างที่เรียกว่า อัลไซเมอร์ ความจำต่างๆ ก็จะลืมไป แต่จำของเก่าได้แม่น คนมีอายุ มีสัญญาจำอยู่แล้ว แต่ของใหม่ที่เข้ามา จะรับค่อนข้างจะได้ช้ากว่า แต่ก็ขึ้นกับการเอาธรรมเข้ามาช่วย มีสมาธิ ทำให้ดีขึ้น แต่สมองเซลล์จะถูกทำลาย ถ้าพูดถึงสมองโดยตรง บางส่วนถูกทำลาย สมองมีปลายประสาทออกเป็นกิ่งสาขาเหมือนต้นไม้ ๕ – ๖ เซลล์ บางเซลล์มันหายไป เหลือ ๓ เซลล์ ๒ เซลล์ บางเซลล์ฝ่อ ความจำต่างๆ ก็น้อยลง ความจำก็หายไปทำให้หลงลืมได้ พอเข้าใจหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ฟังอย่างนี้แล้วรู้ไหมว่า สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ ฟังหมอพูดแล้วก็เข้าใจได้ว่า สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ

    ผู้ฟัง ต้องแยกกันทางธรรมกับทางโลก ทาง Anatomy

    อ.อรรณพ ตอนนี้ประเด็นปัญหาคือว่า ความจำ ความคิดต้องอาศัยสมองหรือเปล่าอย่างไร ถ้าสมองเสียหายไป จะมีจิต มีความจำหรือไม่อย่างไร ตอนที่ปฏิสนธิ มีกลุ่มของรูปที่เล็กมาก กรรมเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นพร้อมกับกัมมชรูปเล็กๆ นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่เห็นเลย เป็นแค่กลุ่ม ๓ กลุ่มของรูปที่เกิดจากกรรม ขณะนั้นมีสมองหรือยัง ยัง ตาก็ยังไม่มี หู จมูกก็ยังไม่มี กลุ่มเล็กๆ นั้นมีจิต เจตสิกเกิดไหม จิต เจตสิกเกิดขึ้นอาศัยรูปๆ หนึ่ง ก็คือ หทยรูปที่เป็นที่เกิดของจิตเจตสิก และมีกายปสาทรูป จิตก็อาศัยกายปสาทรูปเกิดด้วย เมื่อมีการรู้สิ่งที่ปรากฏทางกาย

    ขณะนั้นยังไม่มีสมอง แต่มีจิต เจตสิก มีสัญญาเจตสิกเกิดไหม มี นั่นยังไม่มีสมอง ก็ยังมีจิตเจตสิก เพียงแต่เมื่อเกิดในภพภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตเจตสิกต้องอาศัยรูป มีความเกี่ยวเนื่องกับรูป คืออาศัยรูปเป็นที่เกิดของจิต หรือวัตถุรูป คือ จักขุปสาทเป็นจักขุวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตเห็น โสตปสาทตอนที่เป็นที่เกิดของจิตได้ยิน ก็จะเรียกเจาะจงว่า โสตวัตถุก็ได้ จะเรียกง่ายๆ ว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย จักขุ โสต ชิวหา ฆาน กายวัตถุ

    ส่วนจิตอื่นนอกนั้นที่จะเกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็ต้องเกิดที่รูปๆ หนึ่ง คือ หทยรูป ซึ่งโดยปกติจะเกิดดับที่กลางก้อนเนื้อหัวใจ เป็นที่อาศัยเกิดของจิตต่างๆ ที่ไม่ใช่จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส หรือจิตที่รู้สิ่งที่ปรากฎทางกาย เมื่อเกิดในภูมิที่มีรูปด้วย คือในภูมิที่มีขันธ์ ๕ มีทั้งรูปขันธ์ และนามขันธ์ จิต และเจตสิกก็ต้องอาศัยรูปเป็นที่เกิดบ้าง อาศัยรูปเป็นทวารที่ให้รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย บ้าง คือปัญจทวาร หรือทวาร ๕ ก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นทวารหรือทางที่อาศัยเกิดบ้าง แล้วรูปต่างๆ ที่ประกอบกัน เมื่อมีความสมบูรณ์ขึ้นจากกลุ่มเล็กๆ ซึ่งมีจิต เจตสิกเกิดขึ้น ปฏิสนธิจิตก็ต้องมีสัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย หรือแม้ในภพภูมิที่มีเพียงนามขันธ์ คือ อรูปพรหมบุคคล อรูปพรหมบุคคลมีจิตเจตสิกหรือไม่ มี โดยที่ไม่ต้องมีรูป ไม่ต้องมีสมอง แต่เป็นกำลังของจิต ที่เป็นระดับฌานจิตได้ ที่จะมีความแนบแน่น เป็นจิตเจตสิกรูปของอรูปพรหม ไม่ต้องอาศัยสมอง เพียงแต่เมื่อในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็มีความเกี่ยวเนื่องกันกับรูป ยังไม่ต้องถึงสมองถูกทำลาย

    ตอนนี้รับประทานยานอนหลับเข้าไป ก็หลับ เป็นภวังคจิต ภวังคจิตก็มีสัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ถ้าสมมติว่า ขณะนี้รูปที่ประกอบกันในร่างกาย มีปัจจัยพร้อม มีสมุฏฐานต่างๆ เหมาะควร กัมมสมุฏฐาน จิตสมุฏฐาน อาหารสมุฏฐาน อุตุสมุฏฐานที่เหมาะควร รูปนั้นก็เป็นไปได้ เอื้ออำนวย เพราะฉะนั้น ภพภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็ต้องอาศัยรูป แต่ไม่ได้หมายความว่า ถ้าไม่มีรูปนั้นแล้ว จิตเจตสิกจะเกิดไม่ได้

    ผู้ฟัง คำว่า “โอปปาติกะ” โดยหลักที่ผมเข้าใจก็คือ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือ เกิดจากครรภ์ จากไข่ จากเถ้าไคล เกิดเป็นโอปปาติกะ เป็นสัมภเวสี โอปปาติกะก็พอเข้าใจว่า เกิดมาเป็นรูปเลย เป็นเทวดาก็เป็นเลย ไม่ต้องผ่านไข่ ผ่านครรภ์ ผ่านเถ้าไคล เป็นเปรตก็เป็นไปเลย แต่พอ สัมภเวสี ฟังพระเทศน์บางแห่งก็บอกว่า เป็นพวกที่รอการเกิด ผมก็เลยสงสัยว่า ก็เกิดแล้ว ปฏิสนธิแล้ว ก็เกิดแล้ว เป็นอะไรก็เป็นแล้ว จะเรียกว่ารอการเกิดอย่างไร ตรงนี้ก็อธิบายไม่ได้ ไม่ทราบว่า ท่านอาจารย์จะกรุณาให้ท่านวิทยากรอื่นตอบก็ได้

    อ.คำปั่น คำว่า สัมภเวสี หมายถึง ผู้ยังต้องมีการเกิดอยู่ คือหมายถึงว่า ตราบใดที่ยังเป็นผู้ที่ยังมีกิเลส ยังมีตัณหา ยังมีอวิชชา ยังต้องมีการเกิดอยู่ร่ำไป มีปฏิสนธิ มีจุติ จากภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่ง จากการที่ได้ศึกษาธรรมก็จะเข้าใจว่า จิตขณะแรกของภพนี้ชาตินี้คือปฏิสนธิจิต สืบต่อจากจุติจิตของชาติที่แล้ว ผู้ที่ไม่ดับกิเลสทั้งหมด ยังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ ยังต้องมีการเกิดอยู่ คำว่า “สัมภเวสี” ตามศัพท์แปลว่า ผู้แสวงหาที่เกิด คือหมายความว่า ยังต้องมีการเกิดอยู่

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นสัมภเวสีกับโอปปาติกะก็เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ คุณคำปั่น สัมภเวสี หรือสัมภวาสี

    อ.คำปั่น ต้องเป็นสัมภเวสีครับ สัมภว แปลว่าการเกิด และเอสี หมายถึงแสวงหา ผู้ยังต้องแสวงหาที่เกิด อันนี้เป็นการแปลโดยศัพท์ แต่จริงๆ ก็แสดงถึงผู้ที่ยังต้องเกิดอยู่ร่ำไป

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ยกเว้นผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้วเท่านั้น นอกนั้นเรียกว่า สัมภเวสีหมด รวมทั้งโอปปาติกะใช่หรือไม่

    อ.คำปั่น โอปปาติกะก็เป็นหนึ่งในกำเนิด อย่างเช่นผู้ที่กำเนิดเป็นเทวดา ก็ผุดเป็นรูปร่าง

    ผู้ฟัง ก็ยังเป็นสัมภเวสีอยู่ใช่ไหม

    อ.คำปั่น ยังต้องมีการเกิดอยู่ เพราะยังไม่ได้ดับกิเลสทั้งหมดอย่างเด็ดขาด ท่านก็จะมีคำคู่กัน คือ นอกจากคำว่าสัมภเวสีแล้ว ก็จะมีคำว่า “ภูต” หมายถึง ผู้เกิดแล้ว อันนี้ท่านมุ่งถึงความเป็นพระอรหันต์ด้วย ก็มีรายละเอียดที่ได้ศึกษามา

    ผู้ฟัง ก่อนจะไปไกลกว่านั้น ผมขอให้สั้นที่สุดเลยว่า นอกจากผู้ที่สำเร็จมรรคผลเป็นพระอรหันต์แล้ว จะเรียกว่าเป็นสัมภเวสีทั้งหมด ได้หรือไม่

    อ.คำปั่น ยังต้องมีการเกิดอยู่

    ผู้ฟัง รวมทั้งโอปปาติกะ

    อ.คำปั่น แน่นอน

    อ.กุลวิไล ก็รวมทั้งพวกเราด้วย ก็ยังเป็นสัมภเวสี เพราะยังแสวงหาที่เกิด ยังมีปัจจัยให้เกิดอยู่ เพราะว่าอนุสัยกิเลสยังมีครบ

    อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์จะแนะนำอย่างไรเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะว่าก็เป็นสิ่งที่เหมือนกับมีอยู่ แต่ละเอียด และลึกซึ้ง เข้าถึงสภาวะจริงๆ ยากมาก

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น เดี๋ยวนี้ถูกต้องไหม แล้วคิดอะไร

    ผู้ฟัง คิดถึงสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ เพราะคิด ใช่ไหม แต่ถึงแม้ว่าไม่คิด สิ่งที่กำลังปรากฏก็กำลังปรากฏ และความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏก็คือ สิ่งนี้มีจริงๆ สามารถที่จะปรากฏให้เห็นได้ เป็นธรรมอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น เวลานี้แทนที่จะไปคิดถึงเขียว แดง เหลือง ม่วง หรืออะไรก็ตามแต่ มีความเข้าใจเกิดขึ้นว่า ไม่มีใครสามารถที่จะทำให้สิ่งที่ปรากฏขณะนี้เกิดขึ้นได้ และไม่มีใครสามารถทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นความจริง ก็คือขณะที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ ต้องมีเห็น เห็นไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ แต่สามารถที่จะเห็น เห็นไหม ลองคิดดูแค่นี้ เห็นไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ แต่เห็นสามารถเห็นสิ่งที่ปรากฏ นี่คือความจริงในขณะที่เห็นเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจถูก แทนที่จะไปนึกถึงเขียวหรือแดง หรือเป็นอย่างโน้น เป็นอย่างนี้ ก็เริ่มที่จะมีความเห็นถูกว่า นี่เป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่เรา ไม่มีขณะใดเลยซึ่งจะแสดงว่าเป็นของเราได้ เพราะว่าเพียงปรากฏให้เห็น หรือว่าเป็นสภาพที่กำลังเห็นเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ความคิดจะพาเราไปคิดเรื่องต่างๆ มากมาย แต่แม้การฟัง จะให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ คือเห็น เพราะกำลังเห็น ก็ข้ามการที่จะพิจารณาให้เข้าใจว่า เห็นเป็นอย่างนี้แน่นอน และสิ่งที่ปรากฏก็เป็นอย่างนี้แน่นอน คือเป็นเพียงธรรมที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้น เพื่อที่จะละความติดข้องในความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งเป็นเรื่องราวทั้งหมด เป็นคุณชมชื่นนั่งอยู่ตรงนี้ ขณะนั้นก็คือไม่รู้ว่าเป็นธรรมที่ปรากฏให้เห็น และมีสภาพที่กำลังเห็น สิ่งนี้จึงปรากฏได้

    นี่คือธรรมจากการทรงตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผิดจากความเป็นจริงหรือเปล่า หรือว่าความเป็นจริงก็เป็นอย่างนี้แหละ แต่ไม่รู้ พยายามไปคิดอย่างอื่นมากมาย โดยที่ไม่เข้าใจ ไม่มีฉันทะที่จะเริ่มเห็นจริงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาก็คือ เป็นสิ่งที่มีจริง ใช้คำว่า “ธรรม” ก็ได้ เป็นธรรมประเภทหนึ่ง ชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่เหมือนธรรมอย่างอื่น เช่นเสียง เสียงไม่ได้ปรากฏให้เห็นรูปร่างสัณฐานอะไรเลยทั้งสิ้น เสียงปรากฏ จริง เพราะเสียงเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งต่างจากสิ่งที่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ตั้งแต่เกิดจนตายก็เป็นธรรมทั้งนั้น ฟังธรรมเพื่อมีความเข้าใจถูกเห็นถูกในธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ จนกว่าจะเริ่มเข้าใจจริงๆ

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ที่ท่านอาจารย์บอกว่า ข้าม แล้วถ้าไม่ข้าม จะเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่สนใจสิ่งอื่น นอกจากขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วกำลังฟัง แล้วก็รู้ด้วยว่า จริงหรือเปล่าที่ว่าสิ่งนี้ปรากฏจริงๆ คุณชมชื่นทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นปรากฏหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เปล่า

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น สิ่งนี้เกิดจึงปรากฏ ใช่ไหม ถ้าไม่มีปัจจัยที่จะทำให้สิ่งนี้เกิด สิ่งนี้เกิดได้ไหม นี่คือความเป็นเหตุเป็นผลของธรรมที่ต้องเป็นผู้ตรง ตั้งแต่เริ่มฟัง ตามความเป็นจริง เพียงแต่ไม่ตรงนิดเดียว ก็คือไม่สามารถที่จะเข้าใจธรรมได้

    เพราะฉะนั้น จะรู้จักความตรง ก็คือขณะนี้สิ่งใดปรากฏ จริงหรือไม่จริง ถ้าจริง ใครไปทำให้เกิดขึ้นหรือเปล่า และสิ่งที่ปรากฏต้องเกิดขึ้น ใครจะรู้หรือไม่รู้ สิ่งนี้เกิด ไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ แล้วสิ่งนี้ก็จะปรากฏไม่ได้ ถ้าไม่มีสภาพเห็น ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏเลยแน่นอน เพราะเหตุว่ากำลังเห็นว่า มีสิ่งนี้ปรากฏ สิ่งที่ปรากฏเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น นี่คือการไม่ต้องไปทำอะไร ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่น แต่ฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมในครั้งพุทธกาล พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องสิ่งที่กำลังเป็น คือ เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ท่านเหล่านั้นสามารถเข้าใจละการติดข้อง สภาพธรรมจึงปรากฏตามความเป็นจริง เพราะว่าขณะนี้เห็นเกิดแล้วดับ แต่ไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะคิดเรื่องอื่นแล้ว คิดว่าเห็นเป็นอย่างไร รวดเร็วมาก เพราะฉะนั้น การเกิดดับของจิต และสภาพธรรมทั้งหมด เร็วสุดที่จะประมาณได้ และเนียนมาก ขณะต่อไป กับขณะนี้ หรือขณะก่อน ไม่ใช่ขณะเดียวกัน ขณะที่คิดว่าเป็นเดี๋ยวนี้ ดับแล้ว ใครรู้ แล้วก็มีขณะที่เกิดสืบต่อ ใครรู้ เป็นอย่างนี้ตลอดในสังสารวัฏฏ์

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมก็คือ ให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงตั้งแต่เกิดจนตาย มีฉันทะ ความพอใจที่จะเข้าใจ ไม่ใช่ไปคิดถึงเรื่องอื่น เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันทุกอย่างเป็นไปตามฉันทะ ตามความพอใจ คิดที่พอใจจะคิดอย่างอื่น ห้ามได้ไหม คิดไปมากมาย เรื่องโน้นเรื่องนี้ เพราะสะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น แต่ผู้ที่เห็นประโยชน์ของความเห็นถูกว่า มีสิ่งที่ปรากฏแล้วไม่รู้ จึงฟังธรรมจากผู้ที่ทรงตรัสรู้ความจริง เพราะว่าโลกหรือชีวิตจะมีไม่ได้เลย ถ้าไม่มีจิต สภาพรู้หรือธาตุรู้เกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ สืบต่ออย่างรวดเร็ว แล้วก็ปรากฏให้เราเข้าใจว่าเป็นโลกต่างๆ แต่ความจริงแต่ละขณะก็เป็นธรรม เป็นธาตุซึ่งต่างกัน เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยด้วย ตอนนี้ฉันทะอยู่ตรงไหน จะคิดเรื่องอื่น หรือว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วฉันทะก็เริ่มเห็นประโยชน์ในการที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ ที่ท่านอาจารย์บอกว่า ไปคิดเรื่องอื่น ขณะนี้ก็เห็นท่านอาจารย์ ตรงที่เห็นท่านอาจารย์ไปคิดเรื่องอื่นที่ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วหรือ

    ท่านอาจารย์ ที่ไม่ใช่เข้าใจ ว่าขณะนี้สิ่งนี้แหละมีจริงๆ เป็นธรรม ยากใช่ไหม เพราะว่าสะสมมาที่จะคิดทันที ไม่สนใจ เมื่อวานนี้ ดิฉันก็ถามคนที่ร่วมสนทนาด้วย บอกว่า รู้จักดิฉันไหม เขาบอกว่ารู้จัก แต่เขาไม่รู้จักสิ่งที่ปรากฏทางตา ถูกต้องไหม รู้จักคุณชมชื่นไหม รู้จัก แต่ไม่รู้จักสิ่งที่ปรากฏทางตา พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงความจริง รู้ว่าเป็นใครก็จริง แต่ต้องมีเห็น ซึ่งไม่ใช่ขณะที่คิด

    เพราะฉะนั้น ธรรมละเอียดลึกซึ้งจริง และถ้ามีปัญญาสามารถจะรู้ได้ ก็จะเข้าใจความหมายของคำว่า อนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง เพียงมีปัจจัยเกิดปรากฏแล้วหมดไปโดยไม่รู้เลย เมื่อวานนี้หมดแล้วใช่ไหม วันนี้ก็เป็นอย่างนี้สำหรับพรุ่งนี้

    เพราะฉะนั้น ชั่วขณะที่กำลังอยู่ตรงนี้เป็นความจริงขณะนี้ แต่ก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ประเดี๋ยวก็เป็นขณะอื่น ประเดี๋ยวก็ได้ยินเสียงอื่น ประเดี๋ยวก็ได้ยินคำอื่น ประเดี๋ยวก็คิดถึงเรื่องอื่น นี่คือการเกิดดับสืบต่อของธรรมซึ่งเป็นธาตุ ใครไม่สามารถเปลี่ยนแปลงธาตุใดๆ ได้เลยทั้งสิ้น ธาตุแต่ละธาตุก็มีลักษณะเฉพาะของธาตุนั้นๆ

    ผู้ฟัง ตรงที่บอกว่า เห็น แล้วมีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วดิฉันคิดต่อไปว่า สิ่งนี้เป็นท่านอาจารย์ กราบเรียนถามซ้ำว่า ที่คิดว่าเป็นท่านอาจารย์ ไม่ได้อยู่ตรงเห็น ไม่ได้อยู่ตรงสิ่งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้เข้าใจเห็นที่กำลังปรากฏ เพราะว่าเร็วมาก เห็นก็เกิดดับ

    ผู้ฟัง ไม่เข้าใจเห็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจต้องมีการฟัง เข้าใจสิ่งที่ฟังถูกต้อง จะทำให้สามารถเริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ขณะที่กำลังเริ่มเข้าใจ ขณะนั้นไม่คิดเรื่องอื่น เห็นไหม ความรวดเร็วของธรรมซึ่งเร็วมาก เพราะฉะนั้น จะไม่มีคำว่า สติปัฏฐานในพระไตรปิฎก แต่คำนั้นเป็นภาษาบาลี

    ถ้าเป็นภาษาไทย ขณะใดก็ตามที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ รู้ว่าเป็นลักษณะของธรรมแน่นอน สิ่งที่ปรากฏมีจริงๆ เป็นลักษณะแต่ละลักษณะของธรรม ถ้าไม่ลืม เมื่อไรในขณะที่สิ่งนั้นปรากฏเริ่มเข้าใจ ตอนเริ่มเข้าใจ คือ สติในภาษาบาลี ไม่ลืมรู้ลักษณะ เพราะว่าถ้าจะแปลเป็นชื่อ เป็นคำ ก็จะเป็นสภาพที่ระลึก ระลึกไม่ใช่ไปนึกคิดเรื่องอดีต แล้วเป็นสภาพที่รู้ ระลึกรู้ ก็เลยงง แล้วจะไประลึกรู้อย่างไร แต่สติ และเจตสิก และจิตทั้งหมด นามธรรม และรูปธรรมทั้งหมดเกิดดับสืบต่อเร็วมาก ไม่ต้องมีใครไปทำอะไรเลย ไม่ต้องใครไปนึกให้สติเกิด ทันทีที่มีการเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม จะต่างกับขณะที่เพียงฟัง แล้วก็ไม่รู้ไม่เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มเข้าใจลักษณะนั้น จะรู้ได้เลย ไม่ได้ทิ้งอารมณ์นั้นไปด้วยความไม่รู้เหมือนปกติ เพราะเหตุว่าปกติธรรมดา แข็งก็ปรากฏทั้งวัน ไม่ได้รู้ลักษณะของแข็งตามความเป็นจริงว่า ลักษณะนี้เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย แต่เมื่อฟังแล้วจะรู้ว่า เวลาที่กำลังรู้แข็ง ขณะนั้นไม่เหมือนขณะอื่น ซึ่งเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ไปเลย ลักษณะของแข็งไม่ได้ปรากฏด้วยดี เพราะว่าสติไม่เกิดขึ้นรู้ลักษณะของแข็ง ทุกอย่าง เมื่อสักครู่นี้เหมือนมีปรากฏให้รู้ได้ แต่รู้ด้วยความเห็นผิด หรือรู้ด้วยความเข้าใจว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ไม่รู้ความจริงของธรรม

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏเหมือนที่ปรากฏ หมดไปแล้ว ตามรู้ก็ไม่ได้ เพราะหมดแล้ว แต่ขณะนี้ถ้ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏ แล้วรู้ลักษณะ ลักษณะนั้นปรากฏด้วยดีไหม อย่างแข็ง แข็งเวลาที่กระทบแล้วสติสัมปชัญญะไม่เกิด กับแข็งขณะที่ไม่ลืมลักษณะนี้เป็นธรรม เริ่มเข้าใจความเป็นธรรมของแข็ง น้อยมาก เนียนมาก แต่ค่อยๆ อบรมจนเห็นความต่างกันว่า ขณะที่สภาพธรรมปรากฏในชีวิตประจำวันตามปกติ ไม่ใช่ขณะที่สติกำลังเกิดรู้

    เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังรู้ลักษณะหนึ่งลักษณะใดด้วยดี ขณะนั้นไม่ใช่เรา ภาษาบาลีใช้คำว่า สติปัฏฐาน ที่ตั้งซึ่งทำให้มีความเห็นถูกในลักษณะนั้นค่อยๆ เจริญขึ้น พิสูจน์ได้เลย เมื่อสักครู่แข็งตั้งมากมาย ปรากฏด้วยดีหรือเปล่า แต่ขณะที่ลักษณะของแข็งปรากฏด้วยความเข้าใจในความเป็นธรรม เพียงปรากฏ ไม่สามารถที่จะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ เป็นแข็ง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    15 ม.ค. 2567