พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 506


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๐๖

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ ความเข้าใจการเกิดขึ้นของธรรมที่เกิด ตอนแรกจะไม่รู้ลักษณะที่ดับ แต่จะมีการเกิดขึ้น เกิดขึ้น เกิดขึ้น "ปัจจยปริคหญาณ" โดยขณะก็คือว่า เมื่อสิ่งใดเกิดก็เข้าถึงความรู้ความเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดนั่นเองเป็นปัจจัย ไม่อย่างนั้นก็จะไม่มีจิตที่กำลังได้ยินเสียงนั้น

    ธรรมจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แม้การฟังเข้าใจ ต้องตรงกับการที่จะเข้าใจถูกต้องยิ่งขึ้น ต้องตรงกับขณะที่สภาพธรรมนั้นปรากฏกับปัญญา ที่สามารถที่จะรู้จริงๆ ว่า ขณะนั้นจิตต่างกันหลากหลาย เป็นขณะที่ไม่ใช่การรู้เสียง เพราะเสียงไม่ได้ปรากฏ กับเวลาที่มีสิ่งใดปรากฏ เพราะจิตกำลังรู้สิ่งนั้น ก็สามารถที่จะเข้าใจลักษณะความจริงของจิตว่า เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้จริงๆ ไม่มีเรา ไม่มีแขน ไม่มีขา ไม่มีหน้า ไม่มีตา แต่มีธาตุที่กำลังได้ยินสิ่งที่เกิดในขณะนั้น

    ความเข้าใจธรรมจากขั้นฟัง แล้วเข้าใจโดยได้ยินได้ฟัง พิจารณาว่าถูกต้อง จะต่างกับขณะที่เริ่มมีสติสัมปชัญญะ ที่ไม่ใช่มีเราไปทำระลึก ไปนั่งระลึก แต่รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น ต่างกับขณะที่ไม่ได้รู้ที่ลักษณะนั้น ในสภาพที่เป็นธรรม จนกระทั่งสามารถที่จะมีความเข้าใจขึ้น ไม่มีอะไรปิดบังลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมเมื่อไร เพราะเหตุว่า ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ชิน ค่อยๆ คลายความไม่รู้ จนกระทั่งไม่มีการต้องการที่จะจะรู้สิ่งนั้นเมื่อไร สติสัมปชัญญะเกิดโดยความเป็นอนัตตา และสามารถที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นลักษณะของธรรมที่ต่างกัน ที่ใช้คำว่า "นามรูปปริจเฉทญาณ" เพราะเหตุว่า จะมีแต่รูปปรากฏ โดยไม่มีธาตุรู้รูป ขณะนั้นได้ไหม ไม่ได้

    เมื่อมีธาตุที่ปรากฏ และจิต ไม่ใช่เรา ธาตุที่กำลังรู้สิ่งนั้น ก็แสดงความเป็นปัจจัยอยู่แล้วว่า จิตขณะนั้นมีสิ่งนั้นกำลังเป็นอารมณ์ หรือกำลังรู้สิ่งนั้น จึงสามารถที่จะเข้าถึงลักษณะซึ่งเป็นธาตุรู้ เพราะเหตุว่ากำลังรู้สิ่งนั้นที่กำลังปรากฏ

    แสดงให้เห็นว่า การฟังธรรม ค่อยๆ เข้าใจขึ้นจริงๆ ใครจะเร่งรัดให้ไปรู้มากๆ ได้ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ถ้าฟังแล้วเข้าใจ ไม่ได้หายไปไหนเลย สะสมสืบต่อ จนกระทั่งชาติที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม จะไม่มีใครรู้เลยว่า จะเกิดเป็นใคร เดี๋ยวนี้ชาตินี้เป็นอย่างนี้ ชาติก่อนก็ไม่รู้ เพียงชาติต่อไปก็ยังไม่รู้ โดยที่ไม่รู้ธรรมเลย แต่อะไรทุกอย่างที่จะเกิดในชาติต่อไป ก็เหมือนทุกอย่างที่เกิดในชาตินี้ เพราะมีปัจจัยที่จะเกิดในชาตินี้เป็นอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น เมื่อถึงชาติที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จะรู้ไหมว่า เป็นหญิงหรือเป็นชาย เกิดที่ไหน ชื่ออะไร ไม่มีทางเลย แต่ชีวิตของพระอริยะทั้งหลายที่ท่านรู้แจ้งสภาพธรรม ก็ได้แสดงความจริงตามการสะสม ขณะที่เป็นปุถุชน มีชีวิตธรรมดา โลภะ โทสะ โมหะ มีความตระหนี่ อย่างโกสิยเศรษฐี ตระหนี่ขนาดที่เป็นมหาตระหนี่ ไม่ใช่ตระหนี่อย่างธรรมดาเลยจริงๆ แต่ใครจะรู้ถึงการสะสมมา เพียงได้ฟังเข้าใจ การที่ค่อยๆ คลายสภาพธรรมมาทีละเล็กทีละน้อย ธรรมก็สามารถปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริงโดยความเป็นอนัตตา โดยคนอื่น แม้ตัวเองจะรู้ได้ไหม แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบปัจจัยทั้งหมดของแต่ละบุคคลโดยละเอียด นี่ก็คือ การสะสมความรู้ความเข้าใจ อย่าไปหวัง อย่าไปทำ เพราะเหตุว่า ขณะนั้นไม่ใช่ความรู้สิ่งที่กำลังปรากฏเลย

    อ.คำปั่น พระพุทธศาสนาก็เป็นศาสนาของท่านผู้รู้ ซึ่งท่านผู้รู้ ก็คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดระยะเวลา ๔ อสงไขยแสนกัป เพื่อที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แต่พระองค์ไม่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาเพื่อที่จะตรัสรู้เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น แต่พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาคุณที่จะแสดงพระธรรมโปรดเวไนยสัตว์ เพื่อให้เวไนยสัตว์นั้นหลุดพ้นอย่างที่พระองค์ทรงหลุดพ้นด้วย เพราะเหตุว่า พระองค์ทรงหลุดพ้นแล้ว จึงทรงยังผู้อื่นให้หลุดพ้นด้วย พระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว จึงยังผู้อื่นให้ตรัสรู้ด้วย อันนี้ก็เป็นพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาค

    การที่เราได้ศึกษาพระธรรม ได้ศึกษาความจริงอยู่ในขณะนี้ ปัจจุบันนี้ ก็เพราะการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาค ธรรมเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นสิ่งที่มีจริง และเราสะสมความไม่รู้ สั่งสมอวิชชามาอย่างเหนียวแน่น และเนิ่นนานในสังสารวัฏ การที่จะค่อยๆ ทำลายความไม่รู้ไปตามลำดับได้ ก็ต้องอาศัยการฟัง อาศัยการศึกษาพระธรรม ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง โดยเป็นผู้ที่ตั้งจิตไว้ชอบ

    เพราะเหตุว่า การฟังธรรมไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์อย่างอื่นเลย จุดประสงค์ ก็คือ เพื่อเข้าใจในสิ่งที่กำลังฟัง ค่อยๆ เข้าใจขึ้นไปตามลำดับ แล้วไม่ต้องใจร้อน อย่างวันนี้ได้ยินเรื่องปัจจัย ซึ่งเป็นเรื่องที่หนัก แต่จริงๆ แล้วไม่ต้องหนัก เพราะการฟังธรรม เป็นเรื่องที่เบาสบาย จะเดือดร้อนไหม ถ้าเข้าใจธรรมตามกำลังปัญญาของตนเอง ซึ่งคำนี้ก็เป็นเครื่องเตือนใจผมได้เป็นอย่างดี ซึ่งท่านอาจารย์ก็กรุณาอนุเคราะห์ตรงนี้ว่า "จะเดือดร้อนไหม ถ้าเข้าใจธรรมตามกำลังปัญญาของตนเอง"

    ก็ต้องอาศัยกาลเวลาในการสั่งสม ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เพราะว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยนัยของนามธรรม และรูปธรรม ไม่ว่าทรงแสดงโดยนัยของปรมัตถธรรม ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยนัยของธาตุ ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยนัยของธรรมหมวดต่างๆ ทั้งหมดเลยก็คือ ส่องให้เห็นถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา

    จึงต้องเริ่มเข้าใจจากตรงนี้ว่า ธรรมคือ อะไร ธรรมอยู่ที่ไหน และขณะไหน จึงจะเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้น และปัญญารู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง จึงต้องเริ่มที่ขณะนี้ ด้วยความไม่รีบร้อน ด้วยความอดทน ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ สั่งสมความเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เพราะว่าในขณะนี้ทุกคนก็ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ขณะนี้ได้ความเป็นมนุษย์แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงอุบัติขึ้นในโลกแล้ว พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงก็ยังรุ่งเรืองอยู่ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องเป็นผู้ที่ศึกษาธรรม อบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้ความจริงของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง คำว่า “ปัจจัย” ขณะก่อนจิตเห็น ก่อนจะรู้ว่าเป็นเห็น จะต้องเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย แล้วเมื่อจิตเห็นก็เป็นอารัมมณปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องใช้ชื่อหลายๆ ชื่อก็ได้ ขณะนี้มีสภาพธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมอะไร

    ผู้ฟัง อารัมมณปัจจัยที่มีจิตเห็น

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าต้องมีจิต ตั้งแต่เกิดมา ขาดจิตบ้างหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ขาด

    ท่านอาจารย์ เมื่อมีจิต เป็นธาตุรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ขณะนี้อะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง มีเห็นปรากฏ

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏเป็นอารมณ์ของจิต ที่กำลังรู้สิ่งนั้นในขณะนั้น เช่น ถ้าได้ยินเสียง เสียงเป็นสิ่งที่จิตกำลังได้ยิน จิตเกิดขึ้นได้ยินโดยปราศจากเสียงได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เสียงเป็นปัจจัยให้จิตได้ยินเกิด เข้าใจแค่นี้ แล้วยังไม่ต้องใช้ชื่อได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าอยากจะใช้ชื่อ เสียงเป็นอะไร จะรู้โดยไม่ต้องใช้ชื่อ หรือรู้แล้วเข้าใจชื่อที่ใช้ว่า ไม่ต่างกันเลย เมื่อสักครู่บอกว่า เสียงเป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน เพราะฉะนั้น จะมีเสียงปรากฏโดยไม่มีจิตได้ยินไม่ได้ จิตได้ยินเกิดเมื่อไร ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เมื่อขณะนั้นจิตกำลังได้ยินเสียง เสียงก็ต้องเป็นปัจจัยให้จิตได้ยินเกิดขึ้นได้ยิน เพราะฉะนั้น เสียงเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เสียงก็เป็นอารัมมณปัจจัย

    ท่านอาจารย์ แล้วต้องไปคิดอะไรอีกไหม

    ผู้ฟัง ไม่ต้องคิดจะได้เข้าใจขึ้น การศึกษาปัจจัยจะได้เข้าใจให้ละเอียดขึ้น เมื่อเสียงดับไป แล้วก็ยังเป็นอนันตรปัจจัยให้จิตดวงใหม่เกิด

    ท่านอาจารย์ อะไรเป็นอนันตรปัจจัย

    ผู้ฟัง จิตดวงเก่าดับไปแล้ว เป็นอนันตรปัจจัยให้จิตดวงใหม่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นจิต เจตสิกเท่านั้นที่เป็นอนันตรปัจจัย รูปไม่เป็นอนันตรปัจจัย เพราะว่ารูปเกิดจากสมุฏฐาน แล้วแต่ว่ารูปเกิดจากกรรม ก็มีกรรมเป็นสมุฏฐาน รูปที่เกิดจากรรม จะมีจิตเป็นสมุฏฐานได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    อ.กุลวิไล มีผู้เขียนมาถามว่า ชมพูทวีปมีสวนรื่นรมย์มีน้อย ที่ดอนที่ขรุขระมีมาก หรืออื่นๆ เช่น คนรู้ธรรมมีน้อย คนไม่รู้มีมาก ฟังแล้วเหมือนกับว่า สิ่งที่ดีๆ มีน้อย โลกนี้มีแต่สิ่งที่ไม่ดีมีมาก ทำให้รู้สึกว่า ต้องยอมรับกับโลกที่ไม่น่ารื่นรมย์ว่ามีมาก และถ้าจะไปเปลี่ยนแปลงให้มีสิ่งดีๆ คนรู้ธรรมให้มีมากๆ ก็คงทำไม่ได้ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า กราบเรียนท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องถามกลับว่า เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า เป็นหรือไม่เป็น เพราะว่าถ้าไม่เป็นอย่างนี้ เป็นอย่างไร หรือเป็นอย่างอื่น ถ้าจะตอบว่า ไม่ใช่อย่างนี้ แล้วเป็นอย่างไรที่ไมใช่อย่างนี้ แล้วที่ไม่ใช่อย่างนี้เป็นอะไร เป็นอย่างอื่นอย่างไร

    เวลาที่มีใครถาม แล้วขอย้อนถามท่านผู้นั้น เพื่อเริ่มการสนทนา ไม่ใช่เพียงแต่ว่า ถามมาแล้วตอบไปก็จบ โดยไม่รู้ว่า ความคิดความเห็นของผู้ถามเป็นอย่างไร หรือมีข้อ ไหนที่ควรจะแจ่มแจ้งขึ้น เพราะว่าต้องฟังความเห็นของคนอื่นด้วยว่า เพราะอะไรจึงคิดอย่างนั้น แต่ถ้าถามเพียงให้ตอบว่า ใช่หรือไม่ใช่ ถูกหรือไม่ ก็ไม่สามารถทำให้คนนั้นเข้าใจได้ ด้วยเหตุนี้ก็อาจจะฟังดูแปลก บางคนก็บอกว่า ก็ถามแล้วทำไมไม่ตอบ กลับไปถามเขา เพื่อเริ่มการสนทนา ให้ทราบด้วยว่าคำตอบของเขานั่นเอง จะนำไปสู่การสนทนาในส่วนที่ละเอียดที่จะทำให้เขาเข้าใจขึ้นได้

    อ.กุลวิไล การรู้ตามความเป็นจริงว่า ทั้งหมดเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ท่านอาจารย์ แม้แต่ข้อความสั้นๆ แค่นี้ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจยาก เพราะว่าพระธรรมที่ทรงแสดงลึกซึ้งโดยสภาวธรรม กราบเรียนท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ก็คือ ฟังให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะเหตุว่า มีจริงทุกกาลสมัย นานแสนนาน แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว หรือต่อไปข้างหน้า สภาพธรรมก็ไม่ได้เปลี่ยนไปเลย แต่ว่ามีความเห็นถูกเข้าใจถูก ในสิ่งที่มีจริง และกำลังปรากฏหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น ปัญญา ความเห็นที่ถูกต้อง ไม่ใช่เห็นอย่างอื่น ไม่ใช่ไปนึกว่าจะไปเข้าใจเรื่องอื่น ซึ่งยังไม่มี ยังไม่ได้ปรากฏในขณะนี้ แต่ที่ไม่ลืมก็คือว่า เมื่อมีสิ่งที่กำลังมีจริงๆ และปรากฏให้เห็น มีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏหรือเปล่า ถ้าไม่มี จะชื่อว่า ปัญญา ได้หรือไม่ เพราะว่าปัญญาเป็นความเห็นถูกต้อง และถูกต้องในอะไร ไม่ใช่สิ่งที่เราคิดขึ้นมาว่า จะต้องเป็นอย่างนี้ หรือจะต้องทำอย่างนั้น เพราะว่านั่นยังไม่เกิดขึ้น แต่ว่าในขณะนี้ใครจะไม่เห็น เป็นไปไม่ได้เลย จะไม่ได้ยิน ก็เป็นไปไม่ได้ แต่เห็นก็เพียงชั่วขณะที่มีสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้เท่านั้น แล้วเวลาที่ได้ยิน ก็ไม่ใช่ในขณะที่เห็นแล้ว เพราะว่าเป็นชั่วขณะที่เสียงปรากฏ แล้วก็มีสภาพที่กำลังรู้เสียง

    เพราะฉะนั้น ชีวิตจริงๆ ก็คือ แต่ละขณะที่เกิดขึ้นเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง คิดนึกบ้าง แค่นี้เอง จะเข้าใจถูกไหมในสิ่งที่มีจริงๆ หรือว่าจะไปคิดเรื่องอื่น เป็นตำรับตำรามากมาย แล้วก็ไม่รู้ความจริงว่า ขณะนี้เป็นชีวิตแต่ละขณะ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็บังคับบัญชาไม่ได้ด้วย แล้วก็ไม่ใช่ของใครด้วย

    ทุกคำที่ได้ฟังต้องพิจารณาว่า จริงไหม ไม่ได้ฟังเรื่องอื่น ไม่ได้ฟังว่า ทำขนมอย่างนี้ ใส่แป้งเท่าไร น้ำตาลเท่าไร ไม่ใช่อย่างนั้น แต่สิ่งที่กำลังมีจริงๆ เดี๋ยวนี้ ความจริงก็คือ เกิดแล้วปรากฏ โดยที่ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ และความจริงที่ลึกซึ้งกว่านั้น ซึ่งควรที่จะมีความเห็นถูกตั้งแต่ต้นก็คือว่า สิ่งที่เกิดแล้วไม่เที่ยงเลย แต่เราเคยคิดอย่างนี้หรือไม่ว่า สิ่งนี้เพียงชั่วคราว ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ เราจะยึดมั่นในสิ่งที่ปรากฏเพียงชั่วคราว ซึ่งบังคับไม่ได้เลยว่า จะไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้ดับไป หรือว่าไม่ให้มีอะไรเกิดขึ้นสืบต่อ นี่คือความเป็นจริง ซึ่งจะทำให้ค่อยๆ เห็นว่า ขณะนี้เป็นธรรมจริงๆ บังคับบัญชาไม่ได้ แล้วไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นส่วนไหนในพระไตรปิฎก ก็จะพูดถึงเรื่องสิ่งที่มีจริง เพื่อให้เข้าใจขึ้น เพื่อละความไม่รู้

    อ.กุลวิไล การศึกษาในส่วนของปรมัตถธรรม เราควรสนใจศัพท์ ที่เป็นบาลีที่จะเกี่ยวข้องกับสภาพธรรมที่มีในขณะนี้แค่ไหน

    ท่านอาจารย์ จะเข้าใจศัพท์บาลี หรือจะรู้ว่า คำนั้น หมายความถึง สภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าเราจะพูดภาษาไหน ถ้าเราไม่ได้เกิดเป็นคนที่ใช้ภาษานั้นตั้งแต่เด็ก เราก็จะพูดผิดๆ ถูกๆ แต่สามารถจะเข้าใจ แม้ว่าคำนั้นอาจจะคลาดเคลื่อนไปเล็กๆ น้อยๆ อย่าง "กัมมัสสกตาญาณ หรือกัมมัสสกตญาณ" ก็นิดเดียวเอง แต่เราสามารถเข้าใจได้ว่า หมายความถึง ปัญญาที่รู้ และเข้าใจเรื่องกรรม แล้วจะพูดคำไหน อย่างไร ก็คงไม่สำคัญที่จะต้องเป็นโทษภัย เพราะเหตุว่า สามารถที่จะเข้าใจว่า หมายความถึงอะไร

    เพราะฉะนั้น เรื่องภาษา คนในยุคก่อนก็ใช้ภาษาหนึ่ง แล้วคนในยุคนี้ แม้แต่ภาษาก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอะไร และโดยเฉพาะเมื่อไม่ใช่ภาษาของเรา เราก็เพียงแต่ไม่ได้ทิ้งคำนั้น แต่ก็เข้าใจว่า คำนั้นหมายความว่าอะไร ในภาษาของเราจะเข้าใจชัดเจนขึ้นไหม

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์เน้นความเข้าใจก่อน

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    อ.กุลวิไล ไม่ใช่สนใจไปจำชื่อ

    ท่านอาจารย์ แล้วภาษาไทยเราก็ใช้ภาษาบาลีมาก แต่ใช้ไม่ตรงตามความหมายในพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้วคำนั้นหมายความว่าอะไร อย่างเมื่อวานนี้เราพูดถึงชีวิต ซึ่งเหมือนกับการเดินทาง เราเดินทางมาแล้วนานเท่าไร หรือใครรู้บ้างว่า เราเกิดมาแล้วนานเท่าไร ใครบอกจำนวนได้ว่า เกิดมานานแค่ไหน แล้วต่อไปจะเกิดอีกนานแสนนานกี่ภพกี่ชาติ กี่ครั้ง นิรันดรไปแค่ไหนหรือเปล่า บอกได้ไหม

    อ.กุลวิไล ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่บอกได้ว่า เมื่อมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิด จะไม่เกิดได้ไหม แม้แต่การเกิดเป็นคนนี้ในชาตินี้ ที่พอจะเห็นได้ ก็เลือกไม่ได้เลย แต่มีปัจจัยของแต่ละคนซึ่งได้สะสมมาที่จะทำให้เกิดมาแล้วเห็นอะไร ได้ยินอะไร แม้แต่คิดนึกอะไร แม้แต่จะมีความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ หรือไม่มีโอกาสได้ยินได้ฟังเลย แม้ได้ยินแล้วก็ยากที่จะเข้าใจ หรือว่าสะสมมาพอที่จะเข้าใจได้ โดยไม่ยาก แต่ความละเอียดของธรรมมาก ถ้าพูดถึงการเดินทาง เดินไปโดยไม่มีเสบียงเลย จะลำบากไหม

    อ.กุลวิไล ลำบากแน่นอน

    ท่านอาจารย์ สมมติว่า ไปเที่ยวไม่มีเงินสักสตางค์ ก็คงจะลำบากแน่นอน แต่โดยมากเราจะคิดถึงวัตถุ อย่างเราเกิดมาในโลกนี้ สิ่งที่เราคิดว่า เราจะสะดวกสบายได้ก็เมื่อมีเงิน ซึ่งหมายความว่า มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะ โดยไม่เดือดร้อน เพราะฉะนั้น เราก็เข้าใจว่า นี่คือ เสบียงของการเดินทางที่จะมีในสังสารวัฏ แต่ได้มาจากไหน การที่จะมีสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ที่สะดวกสบาย และดูเหมือนกับว่า พร้อมที่จะมีชีวิตอยู่อย่างไม่ลำบาก ได้มาจากไหน ใครเอามาให้ หรือว่าเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว

    แทนที่จะคิดถึงเสบียงที่เป็นวัตถุ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ ไม่คิดถึงเหตุที่จะให้มีเสบียงเหล่านั้น คือ ความดีหรือ เพราะเหตุว่าอกุศลทั้งหลายไม่ได้นำมาซึ่งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สัมผัสที่สบาย ทำไมทั้งๆ ที่มีทุกอย่าง ก็ยังเจ็บ ยังป่วย ยังตายโดยไม่คาดฝัน อุบัติเหตุต่างๆ ก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

    แสดงให้เห็นว่า ใครก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ วิจิตรต่างๆ เท่ากับกรรม กรรมสามารถที่จะทำได้ทุกอย่าง แม้แต่เกิดมาจะต่างกันก็เพราะกรรม แม้แต่รูปซึ่งยังเล็กมากขณะที่เกิด ถ้าอยู่ในครรภ์ก็ ๓ กลาป ๓ กลุ่มเล็กๆ ซึ่งแต่ละกลุ่มก็ประกอบด้วย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และสิ่งที่สามารถจะกระทบตาให้ปรากฏเห็นในขณะนี้ และกลิ่น รส โอชา เล็กมาก ๓ กลาป ๓ กลุ่ม ยังไม่รู้เลยว่า กรรมที่ทำให้รูปนั้นเกิดขึ้น มีอุตุ มีความเย็นความร้อน ที่กรรมเป็นปัจจัยให้รูปนั้นเกิด จะทำให้รูปที่เกิดสืบต่อมาจากกรรมต่างกันหลากหลายออกไป เป็นสัตว์ก็ได้ เป็นคนก็ได้ มีขาก็ได้ ไม่มีขาก็ได้ ถึงเป็นคนก็ยังต่างกัน นี่เพียงรูป แต่ละขณะจิตที่จะเกิดสืบต่อไปก็จะเห็นได้ว่า ไม่มีใครสามารถที่จะบันดาลหรือเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นได้เลย แม้แต่คิด ก็ต่างคนต่างคิด คนละอย่างไป

    ความละเอียดของธรรมมาก เพราะฉะนั้น เสบียงจริงๆ ของสังสารวัฏที่จะเกิดสืบต่อไปอีกนานแสนนาน ตราบใดที่ยังมีปัจจัย ก็คือ ความดี ถ้าไม่มีความดี เกิดมาทำไม ลองคิดดู ที่มีข้อความว่า หลับก็ยังดีกว่าตื่นแล้วเป็นอกุศล ถูกไหม แต่เป็นไปไม่ได้ ไม่มีใครสามารถไปบังคับกรรมว่า ให้เป็นภวังค์ไปเรื่อยๆ ดำรงภพชาติไปเรื่อยๆ เพราะเหตุว่า แม้แต่จักขุปสาทก็เกิดเพราะกรรม โสตปสาท รูปเล็กๆ เกิดเพราะกรรม แต่สามารถจะกระทบกับเสียง จนกระทั่งถึงกายปสาทซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วตัว ก็เกิดเพราะกรรม จะพ้นไปได้ไหมจากกรรมที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งแล้วแต่ว่ากรรมที่เป็นกุศล ก็ให้ผลที่ดี กรรมที่เป็นอกุศลก็ให้ผลที่รู้ได้เลยว่า ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ

    เพราะฉะนั้น เสบียงจริงๆ อยู่ที่ไหน ให้สั้นกว่านั้นอีก เดี๋ยวนี้เอง ไม่ต้องไปคอยเวลาไหนเลย ขณะนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แล้วถ้าไม่มีปัญญา รู้ได้ไหม รู้ไม่ได้ ใช่ไหม

    การฟังธรรมเพื่อเข้าใจ บางคนก็อ่านเรื่องของ "กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน"


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    14 ม.ค. 2567