พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 512


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๑๒

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญาฟัง ไม่ต้องเข้าใจธรรม จะเปลี่ยนแปลง ใช่ไหม

    ผู้ฟัง คือ ถ้าสะสมเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนไหม ทีละนิด เพิ่มขึ้น หรือว่าไม่มีการสะสม

    ผู้ฟัง กำลังจะเรียนถามถึงว่า แต่ละคนมีกิเลสเป็นพื้นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคลก็สะสมมาที่จะต่างกัน เมื่อเห็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ได้ยินเสียงที่ดีหรือไม่ดี ก็เป็นไปตามสิ่งที่สะสมมา แล้วทำให้กิเลสนั้นเป็นไป แต่ก็จะเป็นอย่างนั้นไปชั่วชีวิต

    ท่านอาจารย์ ก็เดี๋ยวนี้เอง ขณะนี้เองเป็นอย่างนี้ เมื่อสักครู่นี้ก็หมดไปแล้ว และเดี๋ยวนี้เองขณะนี้ก็เป็นอย่างนี้ จะให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม

    ผู้ฟัง เป็นอย่างอื่นไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ฟังธรรม จะหวังอะไรหรือเปล่า หรือฟังเพราะไม่เข้าใจธรรมที่ปรากฏ ฟังจนค่อยๆ เข้าใจขึ้น โดยไม่หวัง แต่เป็นปัจจัยที่จะทำให้รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏตรงตามที่ได้ฟัง มิฉะนั้นแล้ว ฟังก็เรื่องหนึ่ง แล้วไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏตามที่ได้ฟัง กับฟังเมื่อเข้าใจเพิ่มขึ้นก็ละ

    พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดเพื่อละ ไม่ใช่ไปหวังอะไรทั้งสิ้น ไม่ใช่หวังว่าจะเปลี่ยน หวังว่าจะดี หรือหวังอะไรหมด นั่นก็คือไม่ได้สนใจที่จะเข้าใจว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่เป็นอย่างอื่น ใครก็บังคับบัญชาธาตุที่เป็นจิต เจตสิก รูปไม่ได้เลย มีปัจจัยก็เกิด เกิดแล้วก็หมดไป ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้เพิ่มขึ้น ความเป็นเราก็จะค่อยๆ คลายลง

    แต่ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ไม่สามารถที่จะประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม เพราะต้องคลายการที่เคยยึดถือมั่นคงว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะความจริงไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้งสิ้น เป็นลักษณะของ ของจริงซึ่งเป็นธาตุ หรือเป็นธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งกำลังปรากฏในขณะนี้เท่านั้น

    ผู้ฟัง อย่างที่พระพุทธองค์ตรัสว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้

    ท่านอาจารย์ กำลังฝึกอยู่หรือเปล่า เอาอะไรฝึก ไม้เรียว หรืออะไรที่จะฝึก

    ผู้ฟัง ถ้าพิจารณาตามสภาพธรรมที่เกิดในชีวิตประจำวัน อกุศลมากมายมหาศาลอย่างไรก็อยู่อย่างนั้น ถึงแม้จะมีความเข้าใจขั้นการฟังเพิ่มขึ้นว่า สิ่งใดดีหรือสิ่งใดไม่ดี เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้สิ่งไม่ดีเกิด สิ่งไม่ดีก็เกิด

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ฟังธรรม เข้าใจธรรม หายไปไหน หรือก็มี

    ผู้ฟัง ก็มี แต่เล็กน้อยมาก

    ท่านอาจารย์ ก็ตามความเป็นจริง ธรรมเป็นเรื่องจริง เรื่องตรง เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เล็กน้อยก็เล็กน้อย จะให้เล็กน้อยนั้นใหญ่ก็ไม่ได้ มากก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง เช่นนี้การที่จะเกิดความเข้าใจ แล้วจะเป็นอย่างไร ถึงสามารถจะ

    ท่านอาจารย์ จะเป็นอย่างไร หรือค่อยๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏตรงตามที่ได้ยินได้ฟัง เริ่มจากเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ฟังมากขึ้น ละเอียดขึ้นก็ค่อยๆ คล้อยหรือน้อมไปสู่การที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ด้วยปัญญาที่เข้าใจเพิ่มขึ้น แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจเลย ไม่ได้ฟังเลย กำลังเห็น เห็นอะไร ก็แค่ตอบตามที่ได้จำไว้ว่า เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา บางคนก็บอกว่า เห็นสีต่างๆ บางคนก็ใช้ภาษาบาลีว่า เห็นรูปารมณ์ แต่ว่าเพราะอะไรจึงเข้าใจว่า เป็นรูปารมณ์ หรือเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ถ้าไม่มีการฟัง ไม่มีการไตร่ตรอง ไม่มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ไม่ใช่ให้ไปทำอะไร อย่างไร แต่สิ่งที่กำลังมีปรากฏ ไม่สามารถที่จะรู้ความจริง คือ สภาพธรรมนี้เกิด ปรากฏ แล้วหมดไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องฟัง ค่อยๆ เข้าใจขึ้นๆ จนกระทั่ง ขณะนั้นเริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏที่กำลังปรากฏ ไม่เปลี่ยนไปที่อื่นเลย แต่ค่อยๆ เข้าใจความจริง

    ถ้าเข้าใจความจริงมากขึ้น การละคลายความติดข้อง การยึดถือว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จะค่อยๆ คลาย ไม่มีทางที่ปุ๊บปั๊บจะหมดการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ แต่อาศัยความที่เริ่มเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย จนในที่สุด จะใช้คำว่า จรดกระดูก หรือว่ามั่นคง ก็จะทำให้สามารถเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เริ่มคลายไหม ไม่มีใครในสิ่งที่ปรากฏเลย แต่เพราะการเกิดดับสืบต่ออย่างเร็ว จึงปรากฏเป็นนิมิต สัณฐาน แล้วก็จำ แล้วก็ยึดถือสิ่งที่เห็น พอเห็นอีกก็จำได้ ทั้งๆ ที่ก่อนจะเห็นอีกจำไว้แล้ว เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นอีกจึงจำได้ ว่าเห็นอะไร

    เพราะฉะนั้น การเกิดดับสืบต่อของจิตที่ละเอียดมาก ยากที่จะรู้ได้ ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะไม่มีคำสอนอื่นทั้งหมด ละชั่ว ทำความดี ทำจิตให้สงบ แต่ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ไม่เป็นไปในเรื่องของปัญญาที่จะเห็นถูกตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต่างกับคำสอนของผู้ที่ไม่ตรัสรู้ความจริง ซึ่งความจริงเป็นอย่างนี้แน่นอน จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน ได้ศึกษาธรรม เมื่อชอบที่จะทำอะไร หรือมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น ก็จะคิด เป็นความคิดนึกที่บอกว่า เกิดจากการสะสม แล้วจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้ เนื่องจากว่าสภาพธรรมเหล่านั้นเป็นอนัตตา ก็เหมือนกับธรรมหลอกลวงแล้วชักนำทำให้อกุศลเพิ่มขึ้นทุกวัน

    ท่านอาจารย์ ความเห็นถูกหลอก หรือความไม่รู้หลอก

    ผู้ฟัง ความไม่รู้หลอก ช่วยตัวเองไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ มีตัวที่ไหน

    ผู้ฟัง แล้วขณะนั้นจะให้เข้าใจถูกต้องขึ้นก็เป็นไปไม่ได้

    ท่านอาจารย์ มีธรรมซึ่งไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้าไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้เข้าใจ ก็เหมือนคนที่ตาบอดตลอดชาติ ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่ก็เป็นอุปมาหนึ่ง หรือจะใช้คำว่า หลับ ไม่ตื่น เป็นสุข เป็นทุกข์อยู่ในความหลับนั่นแหละ

    เหมือนเวลาที่ฝันไป เดี๋ยวก็ตกใจ เดี๋ยวก็ตื่นเต้น เดี๋ยวก็สนุก แล้วมีอะไรในนั้นบ้าง ก็ไม่มีอะไรสักอย่างเดียว ขณะนี้ก็เหมือนกัน มีธาตุ ไม่ใช่ของใคร หลากหลายมาก นามธาตุก็อย่างหนึ่ง รูปธาตุก็อย่างหนึ่ง ถ้าไม่มีนามธาตุ แม้มีรูปธาตุ ก็ไม่มีอะไรปรากฏเลยทั้งสิ้น แต่ว่าใครจะไปห้ามความเกิดขึ้น ความเป็นปัจจัยที่จะให้นามธาตุเกิดขึ้นได้ เมื่อมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นรู้ ก็รู้ เป็นธาตุที่ไม่มีรูปร่าง ไม่มีสีสันวัณณะ ไม่มีกลิ่น ไม่มีรสเลย มืดสนิท เพราะไม่มีอะไร แม้แต่รูปสักรูปเดียวก็ไม่มีปะปนอยู่ในธาตุนั้น แต่ธาตุนี้เกิดขึ้นแล้วรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ แล้วก็ดับไป

    นี่คือ การเริ่มรู้จักธาตุที่มีอยู่ในขณะนี้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ไม่มีเรา บางคนก็บอกว่า พอไม่มีเราก็เลยไม่ต้องทำอะไร ฟังคำพูดนี้พอรู้ว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ก็ไม่ต้องทำอะไร ทำตั้งแต่เกิดจนตาย แม้กำลังพูดก็ทำแล้ว แล้วจะทำต่อไปอีก ไม่ใช่มีใครไปทำเลย ตัวธาตุทั้งหมดทำหน้าที่ของธาตุนั้นๆ แต่ขณะที่มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูกว่าไม่มีเรา ก็คือ มีแต่ธาตุที่จะเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยทำกิจนั้นๆ ต่อไป

    เพราะฉะนั้น คำพูดทุกคำต้องตรง สอดคล้องกัน ไม่ใช่ขัดกันเลย ไม่มีตัวตน แต่มีธาตุ ไม่ต้องทำอะไร ก็กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิด แล้วใครจะไปยับยั้งได้ แม้แต่พูดอย่างนั้นจบ ก็มีเห็น มีได้ยิน มีคิดนึก มีสุข มีทุกข์ต่อไป

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีทางที่จะไปเข้าใจไขว่เขวว่า เมื่อไม่มีตนแล้วก็ไม่ต้องทำอะไร ไม่มีใครต้องทำอะไร และไม่มีตัวตนจริงๆ ตามที่พูด เพราะเหตุว่ามีแต่ธาตุที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ถ้าสมมติว่า อิริยาบถปิดบังทุกข์ เช่น นั่ง ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายให้ชัดเจนว่า หมายความว่าอย่างไร ที่ว่าอิริยาบถปิดบังทุกข์

    ท่านอาจารย์ คนที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม มีอัตตสัญญา ความจำแน่นอน เพราะไม่รู้ความจริงว่า ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง สามารถที่จะปรากฏเฉพาะแต่ละทางเท่านั้น ก้าวก่ายสับสนกันไม่ได้เลย อย่างเสียงจะให้มาปรากฏให้เห็นเป็นรูปร่างก็ไม่ได้ หรือกลิ่นจะให้เป็นแข็งออกมาก็ไม่ได้ เพราะสภาพธรรมแต่ละอย่าง จะปรากฏแต่ละทางเท่านั้น แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วด้วย

    แต่เพราะการเกิดดับสืบต่อรวดเร็วมาก และรวมกันทุกทางทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เลยจำว่า สิ่งนั้นๆ เป็นสิ่งที่เป็นอย่างหนึ่งอย่างใด ที่ใช้คำว่า อัตตะ หรืออัตตา หรือตัวตน เพราะว่าถ้าเห็นว่าเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ ไม่ใช่เห็นว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ยากไหม จากเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้มานาน แล้วจะให้มีความเข้าใจถูกว่า แท้ที่จริงสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอะไรไม่ได้ นอกจากเป็นธาตุที่สามารถจะปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้น ความจำว่าเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้จะหมดไปได้เมื่อไร ถ้าไม่มีปัญญาที่เข้าใจในสิ่งที่ปรากฏทางตาเพิ่มขึ้น ก็จะไม่สามารถรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ ไม่ใช่เป็นการไปจำ ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีการจำสิ่งที่ปรากฏที่ตัว กระทบเย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง แล้วก็เห็นบ้าง ในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ก็มีการยึดถือว่ามีเรา ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า กระทบสัมผัสแข็งที่ศีรษะ กระทบสัมผัสแข็งที่เท้า ก็เป็นเรา คือศีรษะเรา เท้าเรา

    เพราะฉะนั้น มีความทรงจำในสิ่งที่ปรากฏ อย่างกำลังนั่งอยู่อย่างนี้ ถ้าไม่มีรูปตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า จะนั่งอย่างไร เอาอะไรมานั่ง เอาแขนนั่ง ตานั่ง หูนั่ง หรืออย่างไร แต่เพราะจำทั้งหมดเลยว่า เป็นตัวตน เป็นร่างกายครบถ้วนตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้ก็ยังจำว่าเป็นเรานั่ง พอยืน ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าที่แข็ง ก็ไม่ได้หายไปไหน ก็มีปัจจัยเกิดดับ แต่เพราะไม่รู้ จึงยึดถือว่า นั่นแหละเป็นร่างกายของเรา เป็นตัวเราที่ยืน ก็จำได้

    เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว แข็ง เฉพาะแข็งที่ปรากฏ นั่งหรือยืน ชั่วแข็งที่ปรากฏทางกาย จะนั่งหรือยืนได้ อิริยาบถปิดบังทุกข์ เพราะไปจำไว้ว่า มีตัวเราตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ไม่ลืมเลย เพราะฉะนั้น กว่าจะมีความเห็นถูกต้องว่า มีธรรมจริงๆ แต่ละทาง ต้องอาศัยการฟัง และเข้าใจธรรม ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่นเลยทั้งสิ้น ไม่ต้องไปทำแผนการว่า วันนี้จะคิดอย่างนั้น จะไปไตร่ตรองอย่างนี้ จะไปเทียบเคียงบทนี้กับบทนั้น นั่นคือขณะนั้นเป็นคิด ไม่ใช่การรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรม ไม่ใช่เรา แต่เป็นเราคิด แล้วเป็นเราจำ แล้วเรากำลังค้นหา และเรากำลังมีความรู้

    ซึ่งทั้งหมดเป็นธรรมที่เกิดดับอย่างรวดเร็ว สุดที่จะประมาณได้ แต่เมื่อเป็นความจริง ปัญญาที่อบรมแล้วสามารถที่จะประจักษ์ได้ แต่ปัญญานั้นต้องมีความเข้าใจละเอียดขึ้น เพิ่มขึ้น สามารถที่จะคลายการยึดถือสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดบ้างไหม แค่ บ้างไหม ก็ต้องมีเหตุ เพราะอะไรจึงสามารถที่จะคลายได้ หรือว่ายังไม่คลาย เพราะว่าอะไร เพราะยังมีความจำอย่างมั่นคง ยังไม่ได้ค่อยๆ จางลงไปเลย แม้ว่าจะได้ยิน ได้ฟังนานสักเท่าไรก็ตาม

    เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นก็จะเป็นผู้รู้ความต่างของขณะที่ฟังเข้าใจ แต่ยังไม่รู้จักธรรม เพียงได้ยินได้ฟังว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แต่ไม่ได้รู้ลักษณะที่เป็นธรรม ยังไม่คุ้นเคยที่จะคลายการเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะเหตุว่า กว่าจะละคลายความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ต้องคุ้นเคยกับลักษณะที่เป็นธรรมมากขึ้น จึงจะรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย

    เพราะฉะนั้น กว่าจะถึงความเป็นอนัตตา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นธรรมแต่ละลักษณะ ก็รู้ว่า จะต้องเป็นปัญญาเท่านั้น พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นการตรัสรู้ด้วยพระปัญญา ทรงแสดงเทศนาโวหารต่างๆ ด้วยพระปัญญา เพื่อที่จะให้คนฟังมีปัญญา มีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก มิฉะนั้นแล้วจะไม่ใช่พระพุทธศาสนา คือ ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่ทำให้คนฟังเกิดปัญญา ความเห็นที่ถูกต้อง

    ด้วยเหตุนี้ เตชะ ๕ ก็มีธัมมเตชะ ธรรมเดช ถ้าไม่มีพระธรรม คำสอน จะมีอะไรที่มีกำลังเผาอกุศลได้ หรือว่ามีอะไรที่จะทำให้เริ่มมีความเห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่เคยเห็นผิด และยึดถือว่าเป็นเราได้ ด้วยเหตุที่ว่า การยึดถือสภาพธรรมละเอียด และลึกมาก การทรงแสดงพระธรรมจึงละเอียด และลึก จนกว่าคนฟังสามารถที่จะเริ่มค่อยๆ เห็นถูก เข้าใจถูกได้

    ในขณะใดที่เข้าใจถูก เห็นถูก ขณะนั้นก็ค่อยๆ ละความเห็นผิด แต่ว่ายังไม่ได้ดับหมดเป็นสมุจเฉท เพราะเหตุว่า ฝังไว้ลึกมาก แม้นอนหลับสนิท กิเลสใดๆ ที่เกิดแล้ว แม้ไม่เกิดขึ้นทำกิจการงาน แต่พอมีอารมณ์ปรากฏเมื่อไร ก็เกิดขึ้นไหลไปตามการสะสม แล้วแต่จะเป็นกามาราคานุสัย ทำให้เกิดความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีกำลังที่จะเกิด หลังเห็น พอใจหรืออะไรก็ตามแต่ที่เป็นอกุศลทั้งหลายก็เกิดได้

    อ.กุลวิไล ถ้าไม่ได้ยินได้ฟังพระธรรม ยากที่จะเป็นปัจจัยให้สามารถที่จะเผาอกุศลธรรมที่มีความไม่รู้ เป็นต้น ที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึง ธรรมเดช ซึ่งก็คือ พระพุทธวจนะทั้งหมด

    เรื่องอิริยาบถปิดบังทุกข์ ถ้าผู้นั้นไม่มีฟังพระธรรม ก็จะไม่รู้ว่า ทุกข์คืออะไร เพราะส่วนใหญ่ผู้ไม่ศึกษาพระธรรม จะรู้จักเพียงทุกข์กาย ทุกข์ใจ แต่ไม่รู้ว่า ทุกข์ในที่นี่ คือ สภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก และรูป ที่เป็นปรมัตถธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม รู้จักทุกข์หรือเปล่า ปวดเจ็บเป็นทุกข์หรือเปล่า มีทุกข์ปรากฏก็เราหมดเลย ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ผู้ฟัง เนื่องจากในโอกาสพิเศษต่างๆ จริงๆ ก็รู้ว่าเป็นสิ่งสมมติ เช่น ปีใหม่ วันเกิดของผู้ที่มีปัญญากับไม่มีปัญญา เป็นไปตามเหตุปัจจัยอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ที่ว่า “พิเศษ” และ “โอกาสพิเศษ” คืออะไร

    ผู้ฟัง ก็คือ สิ่งสมมติของโลก และเราก็คิดตามนั้น

    ท่านอาจารย์ แล้วพิเศษอย่างไร โลภะพิเศษ หรืออะไรพิเศษ หรือยึดมั่นพิเศษ

    ผู้ฟัง จึงได้เรียนถามท่านอาจารย์ว่า แล้วผู้มีปัญญากับไม่มีปัญญา

    ท่านอาจารย์ อยากมีโอกาสพิเศษ ใช่ไหม กลัวว่า ไม่มีโอกาสพิเศษ

    ผู้ฟัง จริงๆ เดี๋ยวก็ปีใหม่ เดี๋ยวก็วันเกิด

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรม โอกาสพิเศษไหม

    ผู้ฟัง พิเศษ

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนทัศนะ ความเห็นจากอย่างอื่นที่พิเศษ เป็นพิเศษที่มีโอกาสได้ยินได้ฟังธรรม พิเศษกว่าไหม

    ผู้ฟัง จริงๆ เมื่อฟังมากๆ ก็ทราบว่า การฟังพระธรรมให้เข้าใจ ก็เป็นสิ่งที่ประเสริฐสุด และเป็นสาระสำคัญที่สุดของชีวิต แต่ก็ยังมีตัวตน มีกิเลสอยู่ ก็ยังสงสัย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การฟังธรรมเพื่อเข้าใจสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏ ไม่ใช่ให้ไปทำอะไร ไม่ใช่พอฟังธรรมแล้วเข้าป่า อยู่ในบ้านปิดประตู แต่งตัวชุดขาว แล้วก็นั่งท่องบ่น ไม่ใช่อย่างนั้นเลย นั่นไม่ใช่ธรรมที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าเป็นความเห็นผิด

    เพราะฉะนั้น ใครจะรู้ว่า อะไรจะเกิดขึ้น แม้แต่เมื่อวานนี้ ก็ไม่มีใครรู้ว่า วันนี้จะเป็นอย่างนี้ ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้เลยทั้งสิ้น เพราะยังไม่ได้มาถึง แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดจะเกิด ห้ามไม่ให้เกิดได้ไหม ห้ามไม่ได้ ต้องเกิด เกิดแล้วรู้ตามความเป็นจริงในขณะนั้นว่า ธรรมนั้น ธรรมนั้นด้วย ที่เกิดแล้วด้วย ที่ปรากฏแล้วด้วย เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร

    เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่มีความเป็นตัวตน ที่เตรียมระเบียบ วิธีต่างๆ ที่จะทำ เพราะคิดว่า จะทำให้เข้าใจธรรมได้เร็ว หรือว่าเข้าใจธรรมมากขึ้น ผิด เพราะอะไร ขณะนี้ก็ไม่รู้แล้ว สิ่งนี้เกิดแล้ว ปรากฏแล้ว ก็ไม่รู้ แล้วหวังจะไปรู้อะไรที่ไหน แล้วก็ไม่ใช่ความจริงด้วย ซ่อนเร้นปิดบังปัจจัยที่มีแล้วที่จะเกิดเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

    เพราะฉะนั้น ไม่มีโอกาสที่จะรู้การสะสมแท้จริงของแต่ละบุคคล ซึ่งสะสมมา เกิดแล้วเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ก็จะพลาดโอกาส คือ ขณะนี้ตลอดไป เพราะเหตุว่าไปคิดว่า ต้องเป็นอย่างอื่น ขณะอื่น ซึ่งไม่มีทางรู้ความจริงที่จะละได้

    ผู้ฟัง สรุปก็คือ โอกาสที่พิเศษ คือ ได้ฟังพระธรรมให้เข้าใจ แล้วปัญญาก็จะค่อยๆ รู้สิ่งที่เข้าใจ เมื่อมั่นคงพอก็จะสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ท่านอาจารย์พร่ำสอนกล่าวให้ฟังว่า ไม่มีอะไร นอกจากเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วคิดนึก แล้วได้ยินเสียงที่เกิดปรากฏกับจิตได้ยิน แล้วคิดนึกไปอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ใช่ใครมาบอกว่าพิเศษ แต่ตัวเองรู้สึกหรือเปล่าว่า เป็นโอกาสพิเศษ แม้แต่การได้ยินได้ฟังก็เลิศประเสริฐ ดีกว่าสิ่งใดๆ ทั้งหมด ที่เคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว พิเศษ คือปกติหรือเปล่า ถ้าใช้คำว่า “พิเศษ” “วิเศษ” ปกติธรรมดาฟังหรือเปล่า เข้าใจหรือเปล่า

    ผู้ฟัง คำว่า อุปธิ และที่เกี่ยวข้องกับร่างกายที่ระคนด้วยกิเลส และอีกคำคือ อภิสังขาร ที่เป็นอุปธิอย่างหนึ่ง ผมขอถามว่า อภิสังขารเป็นอุปธิอย่างไร

    อ.คำปั่น คำที่พูดถึง ก็คือ "อุปธิ" มีความหมายหลากหลาย ความหมายแรกก็คือ เป็นสภาพที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ยังมีกิเลส ก็ยังมีกิเสสูปธิ ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต ซึ่งการจะดับกิเลสได้ต้องอาศัย การอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งปัญญาคมกล้า จึงจะสามารถดับกิเลสได้

    ส่วนคำว่า "อุปธิ" อีกความหมายหนึ่งก็คือ หมายถึง รูปร่างกาย ความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยร่างกายทรวดทรงที่งาม สมส่วน นี้ก็เป็นอีกความหมายหนึ่งของอุปธิ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    14 ม.ค. 2567