พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 524


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๒๔

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ ถ้าฟังธรรมแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า ไม่ใช่เรา ก็จะเป็นทางที่จะทำให้สัมมาสติเกิด ส่วนใหญ่ฟังแล้ว เมื่อไรจะรู้ความต่างกันของสติสัมปชัญญะกับความรู้ขั้นฟัง ก็คิดไปไกล แต่ทำไมไม่ฟังเพื่อเข้าใจขึ้น ซึ่งพอเข้าใจขึ้นแล้ว ก็เข้าใจความหมายของคำว่า อนัตตา ใครจะรู้ว่าเมื่อไรสติสัมปชัญญะจะเกิด ถ้าไม่มีความเข้าใจเลย เกิดไม่ได้เลย แต่เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ก็คือเมื่อไรก็เป็นเรื่องของอนัตตา ไม่ใช่เรื่องเรา

    นี่เป็นหนทางที่จะละความติดข้อง หรือความต้องการ ธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมด ถ้าไม่เข้าใจเหมือนกับเร่งรัดให้มีความเพียร ให้พยายาม ให้รู้อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ว่าตามความเป็นจริง ก็คือเว้นความเข้าใจไม่ได้ และความเข้าใจจะให้เราเข้าใจมากทั้งหมดทันทีเป็นไปไม่ได้ เพียงเข้าใจในขณะที่กำลังฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ

    ถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้นก็จะรู้ได้ว่า สติสัมปชัญญะไม่ใช่สติขั้นที่กำลังฟัง เพราะว่าขั้นที่กำลังฟังมีสิ่งที่ปรากฏจริงๆ แข็งก็มี เสียงก็มี ได้ยินก็มี เห็นก็มี สิ่งที่ปรากฏทางตาก็มี มีทั้งนั้นเลยที่ได้ฟังในขณะนี้ แต่ว่าความเข้าใจไม่ใช่การที่กำลังรู้ลักษณะ แค่นี้ก่อน มีลักษณะจริงๆ แต่ขณะที่กำลังฟังเรื่องสภาพธรรม ไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้ลักษณะ ทั้งๆ ที่ธรรมที่ได้ยินได้ฟังมีลักษณะจริงๆ ปรากฏจริงๆ แต่ความรู้ไม่พอที่จะเริ่มเข้าใจลักษณะ ไม่ใช่ให้ไปทำอย่างอื่นเลย

    เพราะว่าแม้แต่สติสัมปชัญญะก็เพื่อเข้าใจลักษณะที่เป็นธรรมว่าเป็นธรรม ขณะนี้ฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ และก็บอกว่ายังไม่ได้รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ถูกต้องไหม ฟังเรื่องลักษณะของของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แล้วก็บอกว่า ยังไม่ได้รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    คุณนีน่า ถ้ารู้ลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีถ้า ยังไม่เกิดขึ้น กำลังฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ นี่แน่นอน เพราะขณะฟังมีสิ่งที่กำลังปรากฏ คือ ปรากฏทางตาก็อย่างหนึ่ง ปรากฏทางหูก็อย่างหนึ่ง ปรากฏทางกายก็อย่างหนึ่ง กำลังฟังเรื่องเหล่านี้ว่าเป็นธรรมที่มีจริง ปรากฏให้รู้เท่านั้นเอง เท่านั้น เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังฟัง กำลังฟังเรื่อง แต่ว่ายังไม่รู้ลักษณะของธรรม ถูกต้องไหม ถูกต้องนะ ก็เป็นอย่างนี้ไป

    ฟังอีกก็รู้ได้เลยว่า มีสิ่งที่ปรากฏให้เข้าใจในขณะที่กำลังฟัง แล้วแต่ว่าความเข้าใจนั้นจะเพิ่มขึ้น และเข้าใจลักษณะที่ปรากฏหรือเปล่า เห็นไหม ยากไหม ความไม่รู้ที่ทำให้ไม่สามารถที่จะเข้าใจลักษณะที่ปรากฏ อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตากำลังปรากฏจริงๆ แต่ที่จะให้เข้าใจว่าเพียงปรากฏ แล้วก็เป็นธรรมซึ่งเกิดแล้วก็ปรากฏให้เห็นเท่านั้นเอง จะไม่เปลี่ยนความเป็นจริงอันนี้ได้เลย แต่ว่าขณะนี้ฟัง แล้วก็ฟังเรื่อง แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏ จนกว่าเริ่มรู้ว่า ขณะที่ฟังก็เริ่มเข้าใจลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่ปรากฏ ความเข้าใจเป็นนามธรรม ไม่ปรากฏเป็นรูปร่าง เพียงแต่รู้ว่า ไม่ใช่ให้ไปเข้าใจสิ่งที่ไม่ปรากฏ ธรรมไม่ใช่ให้ไปเข้าใจสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น และยังไม่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น สัจจญาณ ความมั่นคงในสัจจะ ความจริงของสิ่งที่ปรากฏก็คือว่า เป็นสิ่งที่ปัญญาสามารถเริ่มค่อยๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งน้อยมาก แต่ก็มีลักษณะที่ต่างกัน ให้รู้ว่า ขณะนี้มีลักษณะที่ปรากฏ จะเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ยังไม่ต้องสามารถที่จะเข้าใจได้ว่า มากหรือน้อย แต่ว่ามีสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็รู้ว่า ฟังเพื่อเข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏ แข็งมี แล้วก็ฟังเพื่อเข้าใจความจริงของแข็ง

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวันทั้งหมด ไม่หลงลืมเมื่อไร ก็คือรู้ว่าเป็นธรรมที่ปัญญาเริ่มที่จะรู้ลักษณะหรือยัง ถ้ารู้ลักษณะเมื่อไร ก็จะเห็นความต่างกันของขณะที่ฟัง แต่ไม่ได้รู้ลักษณะที่มีจริงๆ กับฟังแล้วก็กำลังรู้ลักษณะที่มีจริงๆ

    นี่คือความต่างกัน ยังไม่รู้ก็ไม่รู้ แต่ฟังจนกว่าจะรู้ แล้วค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริง ลักษณะที่มี มีใครบ้างไม่รู้ ใช่ไหม อย่างเห็น บอกว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา มีใครบ้างไม่เข้าใจ เพียงบอกว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แค่นี้เข้าใจ แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น ปัญญารู้อย่างนี้ ด้วยเหตุนี้ตั้งแต่เกิดมาก็เห็น ก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น มีคิดเรื่องต่างๆ คิดก็มีจริงๆ ทั้งหมดนี้มีจริง แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่า สิ่งที่มีจริงเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ก็เป็นปกติเหมือนเดิม เคยรู้แข็ง แล้วไม่รู้ว่าเป็นธรรม ก่อนฟัง ฟังแล้วก็รู้แข็ง แต่ก็ลืมไปแล้วว่าเป็นธรรม ที่มีลักษณะที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่รู้ลักษณะที่เป็นธรรม แม้ว่าฟัง แข็งก็เหมือนเดิม ไม่ได้เปลี่ยนเลย เพราะฉะนั้น กว่าที่จะแข็งทั้งวันที่ปรากฏเหมือนเดิม แล้วก็มีปัจจัยที่จะรู้ตรงแข็ง เห็นไหม ขณะนั้นมีการใส่ใจรู้ลักษณะที่แข็ง ซึ่งต่างกับทั้งวันที่ไม่เคยฟัง แล้วก็ไม่รู้ว่า แข็งเป็นธรรม แล้วพอฟัง รู้ว่าแข็งเป็นธรรม ก็มีแข็งปรากฏ แต่ก็ยังไม่ใส่ใจที่ลักษณะของแข็ง กับฟังแล้วฟังอีก แล้วยังคงรู้จากการฟังว่า แข็งเป็นธรรม ปรากฏทางกายเท่านั้น

    ในขณะที่แข็งปรากฏ อย่างอื่นจะไม่ปรากฏเลยตามความเป็นจริง โลกทั้งโลกไม่มีอะไรเหลือ ถ้าเหลือก็ยังเป็นเรา หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เมื่อเป็นสภาพที่เป็นธาตุรู้ที่กำลังรู้แข็งเท่านั้นจริงๆ ไม่มีอย่างอื่น ความเป็นจริงขณะนั้นก็คือว่า เริ่มเข้าใจว่า แข็งที่เคยปรากฏแล้วไม่ใส่ใจ ขณะนั้นที่ใส่ใจตรงนั้นก็คือสติเกิด ใช้คำว่า “ระลึก” หมายความว่า ไม่ลืมว่า ขณะนี้เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น ก็เริ่มจะรู้ว่า ลักษณะของธรรมมีอยู่ แล้วแต่ว่าสติสัมปชัญญะจะเกิดแล้วรู้ลักษณะนั้นหรือไม่ ทั้งๆ ที่ฟังแล้ว เข้าใจแล้ว ก็มีปัจจัยพอที่จะเกิดระลึกหรือไม่ ถ้าเกิดระลึกก็รู้ว่า ต้องเพราะการฟัง ต้องเพราะเข้าใจ ระลึกได้ไม่นาน ไม่บ่อย ก็คือสะสมมาที่จะให้สติเกิดระลึกตรงนั้นได้นิดๆ หน่อยๆ แต่เริ่มรู้ความต่างกันของการไม่รู้ลักษณะที่เป็นธรรม จากการไม่เคยฟัง หรือฟังแล้วก็ยังไม่รู้ตรงลักษณะ เป็นการเริ่มรู้ตรงลักษณะ

    เพราะฉะนั้น มั่นใจได้ว่า เพราะลักษณะนั้นเป็นอย่างนั้น เมื่อปัญญาอบรมเจริญขึ้นสามารถแทงตลอดการเกิดดับของสภาพธรรมนั้นจริงๆ จึงจะคลายการยึดถือสภาพธรรมทั้งหมดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ ใครทำได้ หรือว่าฟังจนกว่าจะเข้าใจขึ้นเรื่อย เพราะฉะนั้น จะรู้ได้ว่า แม้ฟัง แม้จำชื่อจิต เจตสิกได้ มากมายสักเท่าไรก็ตาม แต่เมื่อไรที่เริ่มคิดเป็นเราที่จะทำได้ นั่นคือผิด

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ในการฟังพระธรรม ไม่ใช่ตั้งต้นที่ชื่อ แต่ให้ตั้งต้นที่ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ให้ผู้ฟัง ฟังเพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ใช่ฟังแต่ชื่อ แต่ไม่ใส่ใจลักษณะ ตรงนี้เหมือนกับทุกคำถามที่ถาม รวมทั้งตัวดิฉันเองด้วย ก็คือไปใส่ใจชื่อมาก่อน ยกตัวอย่างที่คุณนีน่าถามนามรูป จริงๆ สภาพธรรมที่เป็นนามรูป ก็คือ สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเป็นรูป อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือเสียงปรากฏอยู่ และลักษณะของจิตได้ยินเสียง หรือลักษณะของจิตเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏอยู่ขณะนี้ แต่ในการศึกษาท่านอาจารย์ก็บอกว่า ให้ใส่ใจลักษณะ แต่ดูเหมือนผู้ฟังใส่ใจในชื่อ แล้วก็ปิดบังลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยขยายว่า ฟังเพื่อใส่ใจในลักษณะ ไม่ใช่ใส่ใจในชื่อ เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คงจะไม่ได้หมายความอย่างนั้น แต่หมายความว่า ถ้าไม่มีชื่อ เราจะไม่ได้ยินได้ฟังเรื่องของสภาพธรรมเลย แม้ว่าสภาพธรรมมีจริง เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ยินคำซึ่งก็คือชื่อแต่ละชื่อ ก็ควรจะเข้าใจว่า หมายความถึงสภาพธรรม ไม่ใช่หมายความว่ามีแต่ชื่อ อย่างคำว่า “ธรรม” ก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีอะไรเลย พูดเรื่องสิ่งที่ไม่มี แล้วคิดเป็นธรรมต่างๆ แต่ธรรมหมายความถึงสิ่งที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้น ปัญญาก็เริ่มตั้งแต่ฟัง รู้ว่าที่กำลังฟัง คือ ฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่เรื่องเหลวไหล ไม่มีแล้วพูดกัน แต่กำลังฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งเป็นธรรม เพื่อให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริง

    เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่ได้ยินคำอะไร อย่างโลกสันนิวาส ได้ยินคำนี้ก็เข้าใจว่า หมายความถึงอะไร โลกะ หมายความถึง ขันธ์ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ซึ่งเป็นที่อาศัย สันนิวาสของตัณหา และทิฏฐิ

    เพราะฉะนั้น ให้เข้าใจว่า ขณะนี้มีจริงหรือเปล่า สิ่งที่มีจริงเพราะเกิดแล้วก็ดับไป ทุกอย่างเป็นขันธ์ เป็นที่อาศัยให้เกิดความยินดี และความยึดถือว่าเป็นตัวตนหรือเปล่า ก็คือ ให้เข้าใจทุกคำที่ได้ยินว่า หมายความถึงลักษณะของสภาพธรรม มิฉะนั้นก็จะไปสนใจที่เรื่องราว จิตมีกี่ประเภท ทั้งๆ ที่ขณะนี้ก็เป็นจิต และเวลาพูดถึงจักขุวิญญาณ ก็เลยใช้คำว่า จักขุวิญญาณ แต่กำลังเห็น เพราะฉะนั้น ก็รู้ว่า เวลาที่ได้ยินคำว่า จักขุวิญญาณ ก็ให้เข้าใจว่า กำลังพูดถึงเห็นขณะนี้ แต่ใช้อีกภาษาหนึ่งซึ่งพระผู้มีพระภาคใช้ แต่ความหมายนั้นจะใช้ภาษาอะไรก็ได้ เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมก็คือ เพื่อเข้าใจตัวจริงๆ ของธรรมที่มีจริงๆ ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตน และไม่ใช่ของใคร แต่ถ้าไม่ใช้คำหรือชื่อ จะไม่สามารถเข้าใจอะไรได้เลยทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง เนื่องจากธรรมละเอียด และหลากหลาย คือวิจิตรมาก พระพุทธองค์ทรงใช้คำมากมายเพื่อให้เข้าใจความละเอียด และหลากหลายของธรรมนั้นๆ นอกจากนั้นแล้วใน ๑ พยัญชนะ ผู้ศึกษาต้องรู้ว่า ถ้าอยู่ตรงนี้มีความหมายว่าอะไร เมื่ออยู่ตรงนี้จะมีความหมายว่าอะไร เช่นอย่างคำว่า โลก ในโลกสันนิวาส ก็จะมีสังขารโลก สัตวโลก และโอกาสโลก และเมื่อวานที่พูดถึง วิมุตติ โดยพระสูตรอื่นๆ โดยมากก็จะหมายถึง นิสสรณวิมุตติ ก็คือ พระนิพพาน การหลุดพ้น แต่ที่กล่าวถึงวิมุตติเมื่อวานนี้ ก็มีถึง ๕ วิมุตติ หรือคำว่า ทุกข์ ก็มีทุกขทุกข ปริวิณามทุกข์ สังขารทุกข์ คำถามคือว่า นอกจากจะต้องเข้าใจพยัญชนะคำ เพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ยากแล้ว และในแต่ละพยัญชนะมีหลายความหมายทำให้ยิ่งยากต่อการเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ คำยังยาก แล้วตัวธรรมจริงๆ จะยิ่งยากกว่าหรือเปล่าที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่าเป็นธรรม เพราะว่าถึงจะใช้คำมากมายถึง ๔๕ พรรษา ก็ยังต้องอาศัยการฟัง และการไตร่ตรองให้เข้าใจว่า หมายความถึงสิ่งที่มีจริง ซึ่งเกิดดับเร็วมาก และหมดไปแล้ว แต่ก็มีสิ่งซึ่งเกิดอีก ดับอีกอยู่เรื่อยๆ จนกว่าจะเข้าใจ

    ผู้ฟัง ดูเหมือนว่าในการศึกษา มีคำมากมายเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรม เราไม่สนใจคำเป็นเรื่องราว แล้วคำสอนของท่านอาจารย์หรือของพระพุทธองค์ อย่างขันธ์ก็คือขณะนี้ อายตนะคือขณะนี้ แต่ผู้ศึกษาก็ไปติดในคำ ในเรื่อง โดยไม่มาต่อถึงลักษณะของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จึงต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ธรรมคือสิ่งที่มีจริง ฟ้งธรรมเพื่อให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงก็คือขณะนี้แน่นอน

    ผู้ฟัง ถ้าศึกษาแล้วสนใจคำ เรื่อง แล้วไม่ใส่ใจลักษณะ ก็ดูเหมือนว่า ก็ไม่มีโอกาสรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แล้วต้องทราบด้วยว่า ปัญญาของเราสามารถที่จะเข้าใจธรรมได้แค่ไหน

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นก็ต้องเข้าใจฐานะของปัญญาว่า ขณะนี้ยังเข้าใจ หรือยังศึกษาในชื่อ ในเรื่องของลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ปัญญายังไม่ถึงขั้นที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ จิตมีจริงๆ แล้วก็มีจิตหลากหลาย สามารถจะเข้าใจจิตไหน จะเข้าใจฌานจิต หรือโลกุตตรจิต หรือโคตรภูจิต หรืออะไร หรือขณะนี้มีจิตจริงๆ แล้วลักษณะของจิตก็ตรงกับที่ได้ยินได้ฟัง เช่น จิตเห็น มี จิตได้ยิน มี เป็นระดับกามาวจรจิต แต่ไม่ได้ไปติดใจว่า กามาวจรจิตเป็นอย่างไร มีเท่าไร ชื่ออะไร เรียกอะไร แต่เริ่มเข้าใจจากสิ่งที่มีจริง อย่างขณะนี้กำลังเห็น มีจริงๆ เรียกภาษาอะไรดี ภาษาบาลีก็ได้ จักขุวิญญาณ แต่ก่อนจิตเห็นจะเกิด มีจิตหรือเปล่า จิตนั้นเป็นจักขุวิญญาณหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เท่าที่จะรู้ได้ ก็คือ ก่อนที่จะมีการเห็นเกิดขึ้น ก็คือไม่มีเห็น จะกล่าวได้ว่า ขณะนั้นเป็นภวังคจิต เพราะว่าไม่มีอะไรปรากฏ เห็นยังไม่เกิด ได้ยินยังไม่เกิด คิดนึกยังไม่เกิด เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็เป็นจิตซึ่งดำรงภพชาติ แล้วก็ไม่มีอารมณ์ใดๆ ปรากฏเลย เวลาศึกษาต่อไปก็รู้ว่า มีจริงๆ วันหนึ่งๆ ก็มีจิตประเภทนั้น แล้วเวลาที่มีจิตเห็น จิตได้ยินเป็นชีวิตประจำวัน แล้วก็มีความติดข้องในสิ่งที่ได้เห็น สิ่งที่ได้ยิน

    เพราะฉะนั้น สภาพของรูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏทางลิ้น โผฏฐัพพะที่กระทบกายปรากฏ เป็นสิ่งที่เรียกว่า “กาม” เพราะเหตุว่าเป็นที่พอใจ จิตที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยังไม่ใช่เป็นกุศลขั้นที่สงบประณีต ก็ยังคงเป็นไปในกาม

    นี่คือเริ่มเข้าใจแต่ละชื่อที่ได้ยินว่า มีจริงๆ และรู้ความหมายด้วยว่า หมายความถึงจิตในขณะนี้นั่นเอง ไม่ใช่เพียงจำเรื่องราว แต่ไม่รู้ว่า ขณะนี้เป็นจิตประเภทไหน

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ก็คือฟังชื่อ เรื่อง เพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง ก็ไม่ได้กล่าวอย่างอื่นนอกจากขณะนี้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ให้เข้าใจชัดเจนว่า ไม่ใช่มีเฉพาะจิตเห็น จิตได้ยิน ยังมีจิตอีกระดับหนึ่งด้วย ที่สงบกว่านี้ เป็นกุศลที่ประณีตมั่นคงกว่า ก็เป็นเรื่องการที่จะศึกษา แต่ต้องเข้าใจว่า เป็นธรรม คือสิ่งที่มีจริง ที่ไม่ใช่ตัวตน ข้อสำคัญที่สุดที่ฟังแล้วกี่ภพชาติ คือเป็นธรรมที่เป็นอนัตตา เพราะมักจะยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จึงต้องไม่ลืมที่จะรู้ว่าเป็นธรรม แล้วก็เป็นอนัตตาด้วย

    ผู้ฟัง ผมได้ยินคำว่า อุปาทานขันธ์ แล้วมีการแปลกันมากว่า ความยึดถือในขันธ์ ๕ หรือคำแปลว่า ขันธ์ ๕ อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น อยากทราบว่า อย่างไหนถูกต้องมากกว่ากัน

    อ.วิชัย ขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ และวิญญาณขันธ์ ๑ เพราะฉะนั้น อุปาทานขันธ์ ๕ ขันธ์อันเป็นที่ยึดมั่นของอุปาทาน การที่เราเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ก็คงไม่ได้กล่าวถึงขันธ์ที่ไม่มีใจครอง เช่น ต้นไม้ ภูเขา สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นขันธ์ก็จริง คือเป็นรูป แต่ไม่ได้เป็นไปเพื่อยึดมั่นเหมือนขันธ์ที่มีใจครองขณะนี้ ที่เป็นไปในการเวียนว่ายตายเกิด

    ทรงแสดงเรื่องอุปาทานขันธ์เป็นทุกข์ เพราะขันธ์เหล่านี้เป็นที่ยึดถือมั่นคงของอุปาทาน อุปาทานก็จริง คือยึดมั่น ถือมั่นได้ แม้ในภายนอก แต่ว่าขณะขันธ์ที่เป็นตัวเราขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นที่ยึดมั่นถือมั่นของอุปาทาน เป็นอุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

    อ.ธิดารัตน์ อุปาทานมี ๔ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน อัตตวาทุปาทาน สีลัพพตุปาทาน เวลาที่ขันธ์ ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือสภาพของนามธรรม ยึดถือโดยลักษณะใด อุปาทานที่ยึดมั่นก็มี ๔ อย่างในขณะนั้น ถ้าขณะที่ยึดถือโดยเป็นข้อปฏิบัติผิด ก็เป็นสีลัพพตุปาทาน หรือยึดถือว่า ขันธ์นั้นเที่ยง ก็โดยทิฏฐุปาทาน เที่ยงหรือขาดสูญ หรือยึดมั่นโดยความเป็นเรา โดยสักกายทิฏฐิ ก็จะเป็นอัตตวาทุปาทาน หรือยึดมั่นเพียงแค่ยินดีพอใจในรูปสวยๆ อย่างนี้ก็เป็นกามุปาทาน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ถึงแม้อุปาทานที่ยึดมั่น ก็ยังต่างกันเป็น ๔ อย่างแต่ก็ยึดถือขันธ์ ๕

    อ.อรรณพ อุปาทานขันธ์ กับอุปาทาน นี้คืออย่างไร อุปาทานขันธ์ ก็คือ ขันธ์อันเป็นที่ยึดถือของอุปาทาน ที่ถามว่า อุปาทานเป็นอุปาทานขันธ์ ใช่ไหม หรืออุปาทานขันธ์เป็นอุปาทานใช่ไหม ถ้าเข้าใจ เราก็จะตอบได้ เพราะได้สนทนากันไปส่วนหนึ่งแล้วว่า อุปาทานขันธ์ คือ ขันธ์อันที่เป็นที่ยึดถือของอุปาทาน เพราะฉะนั้น ยึดถืออะไร ก็ไม่พ้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วเรายึดถือหมดทั้งรูปในกายนี้ และรูปข้างนอก อย่างอัตตานุทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดที่ยึดถือทั้งรูปในกายนี้ สักกาย และรูปภายนอกทั้งหมดว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคลทั้งหลาย

    เพราะฉะนั้น อุปาทานขันธ์ ก็คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็คือสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไปที่เป็นที่ยึดถือของความติดข้อง ของความเห็นผิดต่างๆ ถ้าพูดถึงอุปาทานเฉยๆ หมายถึง สภาพที่ยึดถือ ซึ่งสภาพที่ยึดถือก็คือโลภะ และทิฏฐิ โลภะยึดถือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ติดข้อง โลภะติดข้องในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ เพราะฉะนั้น ตัวติดข้องจริงๆ คือ โลภะ เพราะฉะนั้นโลภะที่ยึดถือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือ ยึดถือขันธ์


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    15 ม.ค. 2567