พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 498


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๙๘

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑


    ผู้ฟัง เพื่อนผมสงสัยเรื่องของ ปัญจทวาร ว่าคืออะไร

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องฟังโดยละเอียด แต่ข้อสำคัญก็คือ ไม่ทราบจะเสียเวลาสำหรับผู้ที่เคยฟังมาแล้วหรือเปล่า แต่ถ้ามีจิตเมตตาอนุเคราะห์ ก็ควรฟังไปด้วย ทบทวนไปด้วย

    อ.กุลวิไล ที่จริงเป็นประโยชน์มาก ดิฉันได้คุยกับสหายธรรมที่มาใหม่เมื่อวานนี้เอง บอกว่า เคยมาวันอาทิตย์ แล้วยากมาก ไม่ค่อยเข้าใจตอนเช้า หมายถึงเจอเมื่อวันเสาร์ แล้วบอกว่า ได้เคยมาตอนเช้าวันอาทิตย์ พื้นฐานพระอภิธรรม ก็ยังยาก

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องธรรม ธรรมจะง่ายไหม ไม่ง่ายเลย มีก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม และธรรมก็หลากหลายมาก ถ้าพูดถึงจิต เข้าใจใช่ไหม เจตสิก เข้าใจใช่ไหม เจตสิกไม่เข้าใจ

    "เจตสิก" เป็นนามธรรมเกิดกับจิต เพราะว่าจิตเป็นธาตุที่รู้แจ้งอารมณ์ เป็นใหญ่ เป็นประธาน อย่างขณะนี้เห็นอะไร มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น จิตเป็นสภาพเห็น แต่ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ตอนเกิดมามีจิตเกิดหรือเปล่า ที่เรียกว่า เกิดมา แต่ละคนที่นี่ หรือเป็นแต่เพียงแต่รูป เหมือนต้นไม้ใบหญ้าที่เกิด ที่จะเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ต้องมีสภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้ สภาพรู้สามารถจะเห็น จะคิด จะจำ จะสุข จะทุกข์ได้ จึงจะกล่าวว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะว่ารู้สึกสุข เป็นความรู้สึก เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม

    เข้าใจความหมายของจิตที่บอกว่า เข้าใจแล้ว ก็ต้องรู้ว่า ขณะแรกที่เกิดมา จิตเกิด หรือเราเกิด หรือใครเกิด หรือไม่มีจิต เกิดมาเฉยๆ โดยไม่มีจิต ได้หรือไม่ ที่จะเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใด สัตว์หนึ่งสัตว์ใด นก หนู ตุ๊กแก จิ้งจก มีจิตเกิดหรือเปล่า

    นี่เป็นสิ่งที่ดูเหมือนธรรมดาสามัญ แต่ก็สับสนเหมือนกัน เพราะเคยเป็นเราสับสน เคยเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิด แต่ความจริงจิตต้องเกิด เป็นธาตุรู้ที่เกิดขึ้น คนที่เกิดในครรภ์ เกิดในไข่ ไม่ได้มีแต่รูป มีนามธรรมด้วย รูปขณะแรกที่เกิดเล็กหรือใหญ่ ต้องมีรูปเกิดด้วย เล็กหรือใหญ่ เป็นแขน เป็นขา เป็นตา เป็นหู หรือยัง ยัง

    ขณะที่เกิดเป็นมนุษย์ มีทั้งนามธรรม และรูปธรรม คือ จิต เจตสิก รูป เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย เลือกไม่ได้เลย จะเป็นนก หรือจะเป็นงู เลือกได้หรือไม่ ไม่ได้ แต่กรรมทำให้จิต เจตสิก รูปเกิด โดยที่ขณะเกิด รูปจะเล็กมาก ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นตัวเต็มๆ หมด ตา หู จมูก ลิ้น กาย อย่างในสวรรค์ หรือในนรก แต่ถ้าเกิดในครรภ์ ในไข่ ขณะแรกที่เกิดก็จะต้องมีรูปเกิดร่วมด้วย แต่เล็กมาก ขณะเกิดรู้อะไรหรือเปล่า ไม่รู้ เกิดแล้วดับไปแล้ว รู้ไหม จิตขณะนั้นก็ต้องมีจิตเกิดดับเร็วมาก เมื่อเกิดขึ้นสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ขณะเดียวที่ทำกิจสืบต่อเป็นจิตที่เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย ดับไป กรรมก็ยังเป็นปัจจัย ทำให้จิตประเภทนั้นแหละเกิดขึ้นเกิด เพราะกรรมจะให้ผลเพียงให้วิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวไม่ได้ ยังไม่สิ้นสุด ยังมีกรรมอีกมากมายที่พร้อมจะเกิดขึ้น เป็นผลของกรรมในชาติหนึ่งๆ

    เมื่อจิตที่ทำกิจเกิดขณะแรกดับไปแล้ว กรรมเดียวกันก็ทำให้จิตประเภทเดียวกันเกิดดับสืบต่อ แต่ก็ยังไม่รู้อะไร ขณะนั้นจะกล่าวจริงๆ ก็ยังไม่มีตา ยังไม่มีหู ยังไม่มีจมูก ยังไม่มีลิ้น แต่มี "กายทสกกลาป" คือ รูปที่จะเจริญเติบโตขึ้นแล้วก็มีกายปสาทรวมอยู่ด้วย

    ฟังแค่นี้ก็ยากแล้วใช่ไหม แต่ก็พอจะฟังได้ ให้รู้ความละเอียดของธรรมว่า นี่คือธรรม นี่คือความละเอียด นี่คืออนัตตา นี่คือไม่ใช่เรา หรือไม่ใช่ตัวตนเลย แต่เป็นสิ่งที่มีจริงๆ และมีปัจจัยให้เกิดขึ้นเป็นไป จนกระทั่งถึง ณ ขณะนี้ แต่ต้องมาจากขณะแรกที่เกิด โดยที่ยังไม่มีตา หู จมูก ลิ้นเลย ต่อมาเมื่อมีรูปร่างเจริญขึ้น เห็นเกิดได้ ได้ยินเกิดได้ ถ้าอาศัยตาจึงเห็น ตาก็เป็นจักขุทวาร เป็นทางที่จิตจะเกิดขึ้นแล้วก็เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น เมื่อสักครู่นี้ไม่เข้าใจคำว่า “ปัญจทวาร” “มโนทวาร” ตอนนี้ปัญจะ ๕ ก็คือ ตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ แล้วเวลาที่ไม่ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย คิดได้ไหม คิดได้ ฝัน อาศัยอะไรหรือเปล่า ขณะนั้นก็อาศัยใจซึ่งสะสมเรื่องราวต่างๆ ความรู้สึกต่างๆ เป็นปัจจัยให้ไหวตามอารมณ์ หรือนึกถึงอารมณ์นั้นได้ โดยที่เลือกไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น ทวาร ทางรู้อารมณ์ของจิต จึงมี ๖ คือ ตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ และถ้าไม่อาศัย ๕ ทวาร จิตก็ยังสามารถเกิดขึ้นรู้อารมณ์โดยใจนั่นเองเป็นทวาร เพราะว่าสะสมมา ไม่ว่าเรื่องราวต่างๆ สุข ทุกข์ต่างๆ ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดนึกถึง คิดถึงเรื่องนั้น แม้แต่ในขณะที่ฝัน โดยแสดงความเป็นอนัตตาทั้งหมดว่า เลือกไม่ได้เลย เลือกฝันไม่ได้ เวลาไม่ฝัน เลือกได้ไหม ก็ไม่ได้ นั่นคือความเป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้น ก็จะเข้าใจคำที่เราใช้ว่า ฝัน หรือไม่ฝัน ก็คือธรรม ซึ่งไม่พ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อมีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดปรากฏ แต่ถ้าไม่มีอารมณ์ใดๆ ปรากฏเลย เหมือนตอนที่หลับสนิท ก็เหมือนตอนที่เกิด คือ ไม่รู้อะไร ไม่มีอะไรปรากฏ เป็นใคร อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ขณะนั้นไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใด

    จึงเข้าใจความหมายของทวาร เป็นทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์เฉพาะแต่ละทาง ถ้าไม่มีหู โสตปสาทจะได้ยินเสียงหรือไม่ ทั้งๆ ที่เสียงมี ก็ไม่ได้ยิน เพราะฉะนั้น ที่เสียงปรากฏ เพราะต้องมีโสตปสาทรูปกระทบกับเสียงนั้น เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นได้ยินเสียง จิตที่ได้ยินเสียงอาศัยโสตเป็นทวาร ก็เป็นโสตทวารวิถีจิต ก็มีคำใหม่มาเรื่อยๆ แต่ก็เป็นคำที่สามารถที่จะเข้าใจได้

    อ.กุลวิไล เมื่อพูดถึงทวารซึ่งเป็นทางให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ก็คือขณะนี้เอง ขณะนี้มีจิต และรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดใน ๖ ทาง ซึ่งก็ไม่พ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทั้งหมดเป็นชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ การสนทนาก็ไม่ใช่การพูดฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่ก็ขอสนทนาด้วยการถาม เริ่มตั้งแต่ขณะนี้อะไรจริง คำถามธรรมดา เหมือนไม่ยาก ใช่ไหม แต่แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ได้มีการฟังพระธรรม ใครจะตอบได้ว่า ขณะนี้อะไรจริง แต่ท่านที่ฟังแล้วตอบได้ คุณรักษ์ ขณะนี้อะไรจริง

    ผู้ฟัง จริง ก็คือปรมัตถธรรมทั้งหลาย

    ท่านอาจารย์ พูดอย่างนี้ รู้จักสิ่งที่พูดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง รู้

    ท่านอาจารย์ รู้ว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง รู้ว่า ปรมัตถธรรม คือ รูป จิต เจตสิก นิพพาน

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังบอกว่า รูป จิต เจตสิก นิพพาน ปรมัตถธรรม รู้อะไร อะไรจริง

    ผู้ฟัง รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ตั้งแต่เกิดจนกระทั่ง ณ บัดนี้ ไม่ว่าจะพูด จะทำ จะคิด รู้จริงๆ ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไรหรือเปล่า หรือเพียงแต่เรียกชื่อ อย่างขณะนี้อะไรจริง ไม่ว่าจะตอบออกมาอย่างไร ขณะนั้นรู้ไหมว่า คิด เป็นธรรม แล้วทำไมจึงคิดแต่ละคำ ถ้าไม่มีปัจจัยที่เคยได้ยินได้ฟังได้เข้าใจ และจำ จะพูดได้ไหมว่า สิ่งที่มีจริงขณะนี้จริง เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป แต่แม้จะพูดว่าขณะนี้สิ่งที่มีจริง ขณะนี้จริงแต่ก็ไม่ได้รู้จริง ในสิ่งที่มีจริงถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นแต่เพียงการเรียนเรื่องชื่อ โดยไม่รู้ว่า จริง คือขณะนี้เท่านั้น ที่ผ่านไปแล้วแม้ว่าเกิดขึ้นจริงๆ ก็ดับไปแล้วจริงๆ หมดไปแล้วจริงๆ ไม่เหลืออะไรเลยทั้งสิ้น จริงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง จริง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การฟังธรรมไม่ใช่เราจะไปฟังเพียงชื่อ แต่ให้รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ว่า ขณะนี้อะไรจริง ตอบใกล้เข้ามาอีกได้ไหม แทนที่จะบอกว่า จิต พูดว่าจิตก็ไม่รู้ว่าเป็นจิต พูดว่าจิต แต่ขณะนั้นก็ไม่รู้ว่า จิตคิดคำนั้นก็ไม่รู้

    แทนที่จะเป็นเพียงจำชื่อ ทุกคำที่ได้ยิน เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง ก็สามารถที่จะรู้จริงๆ ในสิ่งนั้น จึงจะเป็นประโยชน์ ถ้ากล่าวว่า ขณะนี้จิต เจตสิก รูป จริง แต่ไม่รู้จักจิตจริงๆ ไม่รู้จักเจตสิกจริงๆ ไม่รู้จักรูปจริงๆ จะชื่อว่า รู้จริงหรือเปล่า ก็เพียงแต่ได้ยินคำ แล้วก็จำไว้ จนกว่าจะสามารถที่จะรู้ว่า ขณะนี้จริง คือ สิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้น

    อย่าลืมคำว่า “เท่านั้น” คือ ฟังธรรมแล้วเหมือนเข้าใจหมด แต่ก็ลืมสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เพราะเหตุว่ายังไม่ได้พิจารณาจนกระทั่งถึงแก่น หรือจรดกระดูก ที่จะรู้ความจริงนั้น เช่น เมื่อสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ จริง ต้องขณะเดียว อย่างเดียว พร้อมกันหลายอย่างไม่ได้ ถ้าพร้อมกันหลายอย่าง รู้อะไร ถ้าพร้อมกันหลายอย่าง ชื่อว่า รู้หรือไม่รู้ ไม่รู้ เพียงแต่ฟัง

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้ จริง ต้องอย่างเดียว แล้วก็ทีละอย่างด้วย อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตาจริง กำลังมีจริงๆ กำลังปรากฏ ในขณะนั้นเสียงจะจริงได้หรือไม่ ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า สิ่งที่มีจริง แม้ว่าจะเป็นคำถามที่ธรรมดา ฟังดูเหมือนไม่ยากว่าอะไรจริง แต่รู้จริงๆ หรือเปล่า ผู้ที่ศึกษาก็เพียงแต่กล่าวว่า มีจิต แต่ยังไม่รู้จักจิต แต่บอกว่าจิตมีจริงๆ เมื่อจิตมีจริง ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาจริงชั่วขณะที่ปรากฏ

    นี่คือธรรม ไม่ใช่ฟังเผินๆ แล้วก็คิดว่า เราเข้าใจธรรมแล้ว หรือว่าอยากบรรลุนิพพาน อยากจะหมดกิเลส โดยไม่เข้าใจในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้อะไรจริง คุณบุษกรบอกว่า เห็นจริง ไม่มีใครปฏิเสธเลย แต่ว่ารู้จักเห็นจริงๆ หรือเปล่า หรือเพียงแต่คิดคำว่า “เห็น” เห็นไหม ความที่ธรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก กล่าวว่า เห็นมีจริง ไม่ได้หมายความว่า รู้ว่าเห็นเป็นธรรม เพียงแต่จำคำนี้ไว้ แล้วก็กำลังมีเห็น แล้วก็จำได้ว่า เห็นเป็นธรรม แล้วเห็นมีจริงๆ แต่ยังไม่รู้ว่า เห็นเป็นธรรม แต่ตอบได้เพราะจำ เพราะได้ยินว่า ขณะนี้เห็นมีจริง ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่ได้ยินคำนี้เลย ถ้ามีคนถามว่า เห็นมีจริงๆ ไหม จะตอบว่าอย่างไร มีจริง แน่นอน ยังไม่มีใครได้ฟังธรรมเลย แต่ถ้าได้ยินคำว่า เห็นมีจริงหรือไม่ ก็ตอบว่า เห็นมีจริง แต่รู้ไหมที่ตอบว่า เห็นมีจริงคืออะไร ไม่รู้อะไรเลยตั้งแต่เกิด จนกว่าจะได้ฟังธรรม แม้ฟังธรรม และกำลังตอบว่า เห็นมีจริง ก็ไม่รู้ว่า ที่พูดว่า เห็นเป็นอะไร มี เป็นอะไร จริง เป็นอะไร เพียงแต่จำได้ว่า เห็นมีจริง เพราะเห็นมีจริงๆ

    แสดงให้เห็นว่า ธรรมไม่ใช่สิ่งที่เพียงฟังชื่อหรือเรื่องราว แต่ต้องรู้ความจริง จนสามารถดับกิเลสได้ กิเลสคือความไม่รู้ ขณะนี้ต้องไปหาที่ไหนหรือไม่ ความไม่รู้ กำลังเห็นนี่แหละ ต้องไปหาความไม่รู้ที่ไหนหรือไม่ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะความไม่รู้มีอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้อะไร

    ผู้ฟัง ไม่รู้สิ่งที่มีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีจริงๆ คืออะไร

    ผู้ฟัง สิ่งที่มีจริงๆ เป็นลักษณะสิ่งที่ปรากฏจริงๆ

    ท่านอาจารย์ นี่ก็ออกไปอีกแล้ว ใช่ไหม คือเรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ต้องตรง ตอบว่าเห็นมีจริง แล้วรู้ความจริงหรือยัง

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วไม่รู้ความจริงตรงนั้น แต่รู้ว่า

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่ไม่รู้ เป็นปัญญาหรือเป็นอวิชชา

    ผู้ฟัง เป็นอวิชชา

    ท่านอาจารย์ ได้ยินชื่อว่า อวิชชา เข้าใจเลย หมายความถึง สภาพธรรมที่มีจริงๆ คือ ไม่รู้สิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น ไม่ใช่ว่าต้องไปหาอวิชชาที่ไหนเลย เดี๋ยวนี้ ขณะนี้มีเห็น แล้วได้ยินคำว่า อวิชชา ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริง

    อวิชชาอยู่ที่ไหน อีกครั้งหนึ่ง ในขณะนี้ที่เห็นแล้วไม่รู้ ขณะที่ฟัง เหมือนรู้ ใช่หรือไม่ รู้อะไรขณะที่ฟัง รู้ความหมายของคำเท่านั้นเองว่า คำนั้นหมายความถึงอะไร แต่ไม่ได้หมายความว่า รู้ลักษณะที่เป็นธรรม ที่ได้ยินตลอดเลย ธรรม ธรรม และทุกอย่างเป็นธรรม ก็ได้ยิน แต่ว่าขณะนี้ ชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่ว ๑ ขณะจิต ถ้าจิตขณะนี้ดับ แล้วไม่เกิดอีก จะมีอะไรปรากฏที่เป็นโลก เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ไหม ก็ไม่มี แต่เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับไปแล้วก็จริง ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ โดยไม่มีระหว่างคั่นเลย เดี๋ยวนี้จิตอยู่ที่ไหน กำลังเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วทุกขณะ รู้ไหม ไม่รู้ เป็นอะไร

    ผู้ฟัง ไม่รู้ เป็นอวิชชา

    ท่านอาจารย์ เป็นอวิชชา เพราะฉะนั้น อวิชชาไม่ได้หมายความว่า เราต้องไปหาหรือไปทำขึ้นเลย ธรรมมีจริงทุกอย่างเกิดขึ้นเป็นไปตามลักษณะ ตามกิจ ตามหน้าที่ของธรรมนั้นๆ

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมให้เข้าใจจริงๆ ต้องเป็นผู้ละเอียด นี่คือพื้นฐานของธรรมซึ่งความจริงก็คือ "อภิธรรม" เป็นธรรมที่ละเอียด แล้วก็เป็น "ปรมัตถธรรม" เพราะเหตุว่าไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ เพียงแต่ฟังแล้วลืม ลืมหมดไหมเมื่อสักครู่นี้ หรือว่าจำได้ทุกคำ ไม่สำคัญที่จำ แต่สำคัญที่ความเข้าใจ เพราะจำคือสภาพธรรมที่เกิดทุกขณะ เห็นก็จำแล้ว แม้ว่าเสียงอะไรปรากฏก็จำแล้ว แม้คิด ๑ ขณะก็จำ ไม่จำก็คิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น สภาพที่จำมีจริงๆ แต่จำสิ่งที่เป็นสาระ เป็นประโยชน์ หรือจำสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ไม่เป็นประโยชน์ แล้วก็ไม่เป็นความจริงด้วย

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรม ก็ต้องเห็นความละเอียดแล้วเป็นผู้ตรง ตราบใดจะเกิดที่ไหน เป็นใคร มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร จะสุขสบายหรือจะยากไร้อย่างไรก็ตาม ขอให้เข้าใจธรรมยิ่งขึ้น เพราะแม้แต่ผู้ลำบากแสนสาหัส "สุปปพุทธกุฏฐิ" เป็นคนขอทาน อาหารก็ไม่มี ก็ยังสามารถที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมได้

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีค่าที่สุด ก็คือความเข้าใจธรรม จากผู้ที่หวังดีที่สุด เป็นกัลยาณมิตรที่เลิศกว่ากัลยาณมิตรทั้งหลาย คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ใครก็ตามที่มีโอกาสที่จะได้รับพระธรรม ได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจพระธรรม ก็เป็นลาภที่ประเสริฐยิ่ง "ลาภานุตริยะ" ยิ่งกว่าอย่างอื่น เพราะเหตุว่าเราเข้าใจคำว่า “ลาภ” สิ่งที่เราได้มาทำให้เรามีความสุข ก็ต้องไม่พ้นจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏทางตาก็เพียงแค่ปรากฏให้เห็น จะชื่นชมยินดีสักเท่าไร ก็หมดแล้ว เสียงที่กระทบหู ไม่ว่าจะเป็นคำสรรเสริญ เป็นยศถาบรรดาศักดิ์ เพียงแค่กระทบหูก็หมดแล้ว

    เพราะฉะนั้น อย่างนั้นหรือที่เป็นลาภที่ประเสริฐ เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้วไม่มี เพียงเกิดปรากฏให้รู้ ให้เห็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วก็หมดไป

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายคำว่า ไม่รู้ความจริงของเห็น เพราะเรารู้ว่าเห็นมีจริง แต่ทำไม่ท่านอาจารย์บอกว่า ไม่รู้ความจริงของเห็น ถ้าเรารู้ว่า เห็นเป็นจิต ไม่ใช่ตัวเราเห็น ไม่ถูกหรือ

    ท่านอาจารย์ ถูกหรือผิด ไม่ใช่ให้คนอื่นบอก ใช่หรือไม่ ต้องตรงกับความจริงของสภาพธรรม เหมือนกับถามตัวธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ถามคนอื่น คุณหมอบอกว่า เห็นมี ใช่หรือไม่ แล้วเห็นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นเป็นจิต

    ท่านอาจารย์ คุณหมอตอบว่า เห็นเป็นจิต และจิตเป็นอะไร

    ผู้ฟัง จิต เป็นปรมัตถธรรม

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้เป็นจิตอะไร

    ผู้ฟัง มีหลายอย่าง

    ท่านอาจารย์ จิตเห็นเป็นหนึ่ง เกิดแล้วก็ดับ แล้วคุณหมอรู้ได้อย่างนี้หรือเปล่าว่าเป็นจิต คือ การฟังธรรม ไม่มีใครไปเฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ถามว่า ถูกไหม แต่ฟังพระธรรมเข้าใจหรือไม่เข้าใจ จากการไตร่ตรอง แล้วผู้นั้นก็จะรู้เองว่า เข้าใจไหม อย่างคุณหมอบอกว่า คุณหมอรู้ว่ามีจิต แต่คุณหมอรู้จักจิต จิตเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นสภาพรู้อารมณ์

    ท่านอาจารย์ เป็นชื่อ หรือลักษณะนี้เกิดขึ้นเห็น ต้นไม้ใบหญ้าหรือรูปธรรมทั้งหลายไม่ใช่ลักษณะนี้เลย ไม่เห็น ไม่รู้สึก ไม่จำ แต่ขณะนี้จิตทั้งนั้นเลยในขณะที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ เพราะจิตกำลังรู้สิ่งนั้น ถ้าไม่มีจิตที่กำลังรู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นปรากฏไม่ได้เลย คุณหมอรู้จักจิตในขณะนี้หรือไม่ จิตอะไร

    ผู้ฟัง จิตเห็น

    ท่านอาจารย์ จิตเห็นเกิดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เกิด

    ท่านอาจารย์ ดับไหม

    ผู้ฟัง ดับ

    ท่านอาจารย์ แล้วคุณหมอรู้จักจิตที่เกิดดับหรือยัง

    ผู้ฟัง คิดว่าทราบ

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้น การฟังพระธรรมก็จะไม่เข้าถึงปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ คุณหมอรวมปฏิเวธ ปฏิบัติ กับปริยัติ ใช่ไหม รู้แล้ว แต่รู้หรือว่า จิตขณะนี้เกิด แล้วดับเร็วมาก สุดที่จะประมาณได้ เพราะว่ามีเสียงปรากฏ มีคิดนึกแล้ว เพราะฉะนั้น จะเห็นการเกิดขึ้นแล้วดับไปของจิตขณะนี้หรือยัง คุณหมอบอกว่า เห็น เห็นแล้วใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็พอจิตเห็น เดี๋ยวก็ได้ยิน คิด ก็คิดว่า ก่อนจิตจะเห็น ดับไป ได้ยินเกิดขึ้น จิตเห็นก็ต้องดับไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า ขณะนี้ที่คุณหมอพูด คุณหมอรู้จิตที่คิดแต่ละคำแล้วดับหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็จิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง พร้อมกันไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ที่คุณหมอกำลังพูด เป็นจิตทั้งนั้นเลย

    ผู้ฟัง จิตต้องเกิดทีละดวง แล้วดับไป จิตดวงใหม่ก็เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จิตดับหมดแล้ว แล้วก็มีจิตเกิด รู้ทั้งหมดหรือยัง การฟังธรรมต้องตรง ได้ยินคำว่า “จิต” มีสภาพได้ยินเสียง “จิต” แต่จะรู้ความหมายว่า จิต หมายความถึงอะไร ต้องอาศัยการฟัง จำได้ว่า จิตเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ไม่มีรูปร่างใดๆ เลย แต่ก็เป็นธาตุที่กำลังเกิด จึงมีสิ่งที่กำลังปรากฏ

    พระธรรมที่ทรงแสดงจะไม่เหมือนคำของคนอื่น ที่จะกล่าวเรื่องคุณความดีต่างๆ ขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นความสงบ แต่ไม่ได้รู้ความจริงของสิ่งนั้นๆ เลย ตราบใดที่ไม่มีการได้ยินได้ฟังพระธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    14 ม.ค. 2567