พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 495


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๙๕

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑


    อ.ธีรพันธ์ ถ้าเราจะพูดว่า สิ่งที่สามารถรองรับสิ่งใดได้ว่า เป็นธาตุน้ำได้หรือไม่ เอาน้ำมา รองรับได้ไหม เอาไฟมารองรับได้ไหม นอกจากสภาพที่แข็ง แข็งนั่นเอง คือลักษณะของธาตุดิน แต่ความถึงพร้อมของธาตุดิน คือ เป็นที่รองรับ ธาตุนี้แหละเป็นที่รองรับ จึงกล่าวว่าเป็นความสมบูรณ์พร้อมของธาตุนั้นเลย คือ ถึงพร้อมในลักษณะที่สามารถจะรองรับสิ่งใดก็ได้ นี่คือลักษณะของธาตุดิน เป็นสัมปัตติรส

    ผู้ฟัง เผอิญไปเปิดลักษณะของพระนิพพาน มีทั้งคำว่า สัมปัตติรส กับ กิจรส อยากจะอ่านให้ฟัง

    “ลักษณะเป็นต้นของพระนิพพาน มีความสงบเป็นลักษณะ มีความไม่เคลื่อนเป็นสัมปัตติรส หรือมีความโล่งใจเป็นกิจรส” มีทั้งสัมปัตติรส และกิจรส ช่วยอธิบายด้วย

    อ.อรรณพ ลักษณะของพระนิพพานมีทั้งสัมปัตติรส และกิจรส เพราะพระนิพพานไม่ใช่สภาพธรรมที่ต้องมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งแล้วเกิด อันนี้แน่นอนสำหรับพระนิพพาน จึงไม่มีปทัฏฐาน คือเหตุใกล้ เพราะไม่ใช่เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้น

    สำหรับสัมปัตติรส พระนิพพานไม่เกิด ลักษณะของพระนิพพานเป็นสภาพที่ไม่เกิด ไม่ดับ และก็เป็นสภาพที่วิมุติ คือ พ้นไปจากกิเลส

    ท่านอาจารย์ ไม่เกิดดับ

    อ.อรรณพ เกิดแล้วดับก็เคลื่อนไป ดับไป เกิดใหม่ เพราะไม่เกิด ไม่ดับ

    ผู้ฟัง เฉพาะพระอรหันต์หรือไม่

    อ.อรรณพ ไม่ กิจรส และสัมปัตติรสเป็นของสภาพธรรมทั้งหลาย

    ผู้ฟัง กิจรสแต่ไม่มีสัมปัตติรส อ่านเจอตรงพระนิพพานอย่างเดียว

    อ.อรรณพ แต่ที่ท่านอธิบายโดยกิจรส เพราะว่าเป็นการอธิบายเบื้องต้น เหมือนธาตุไฟก็มีลักษณะร้อน มีกิจหน้าที่ร้อน สัมปัตติรส คือสามารถถึงพร้อม สามารถเผาทำลายอะไรต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราอธิบายโดยกิจก่อนก็เป็นเบื้องต้น ส่วนสัมปัตติ ถึงพร้อม อย่างธาตุไฟมีลักษณะร้อน แต่สามารถเผาทำลายอะไรได้ อันนั้นก็เป็นสัมปัตติรส เรียนท่านอาจารย์ได้เพิ่มเติมในเรื่องของสัมปัตติรส

    ท่านอาจารย์ เป็นชื่อ ใช่ไหม นิพพานเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ตอบได้เลย โดยที่ยังไม่มีลักษณะของนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ก็ตอบได้ เพราะเหตุว่านิพพานไม่ใช่รูป นิพพานเป็นจิตหรือเป็นเจตสิก

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ทั้งจิต และเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้อะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง มีรูป มีนามปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ทั้ง ๒ อย่างพร้อมกันหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็พร้อมกัน

    ท่านอาจารย์ ทำไมถึงจะพร้อมกันได้

    ผู้ฟัง ใกล้ๆ กัน

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีจริงๆ ควรรู้ ควรเข้าใจ ควรตื่น เมื่อสักครู่นี้ คุณหมอฟังเรื่องนิพพาน ก็คงหลับ เพราะว่าสภาพธรรมใดๆ ก็ตาม ในขณะที่คุณหมอกำลังฟัง เกิดแล้วดับแล้วมากมาย ประมาณไม่ได้เลย แต่ไม่รู้เลย แล้วก็เป็นอย่างนี้ เมื่อสักครู่ฉันใด เดี๋ยวนี้ก็ฉันนั้น ก็เป็นการหลับ คือ ไม่รู้ความจริงของลักษณะของสภาพธรรมนั่นเอง

    ประโยชน์ของการฟังธรรม คือ ทำไมกล่าวเรื่องธรรมอย่างเดียว โดยลักษณะ โดยกิจ โดยเหตุใกล้ให้เกิด โดยอาการปรากฏ เพื่อให้เข้าใจถึงความเป็นอนัตตา แต่ในขณะที่กำลังฟังอย่างนี้ แม้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็ยังไม่รู้เลยในลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น จะไปรู้ถึงลักษณะ รู้ถึงกิจ รู้ถึงอาการปรากฏ รู้ถึงเหตุใกล้ ไม่ใช่การจะรู้ได้โดยประจักษ์แจ้งจริงๆ เพียงแต่หลับแล้วก็ฟัง เพื่อว่าเมื่อไรตื่น ก็จะรู้เลยว่า มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏด้วยการเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั้น เพียงเล็กน้อย โดยที่ไม่ต้องเอ่ยเลยว่า นามธรรมหรือรูปธรรม แต่ลักษณะนั้นเปลี่ยนไม่ได้ จึงค่อยๆ ชินกับสภาพที่มี กับคำที่เราเคยได้ยินว่า รูปธรรมหรือนามธรรม โดยที่ยังไม่สามารถที่จะรู้ถึงกิจ หรืออาการปรากฏ หรือเหตุใกล้ให้เกิดเลย ก่อนอื่นทำไมจึงต้องเข้าใจให้ถูกต้องในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะสิ่งนั้นเกิดแล้ว ดับแล้ว เร็วมาก ถ้าไม่รู้ลักษณะนั้นจริงๆ สิ่งนั้นเกิดแล้ว ดับแล้ว แล้วเราก็นึกถึงระหว่างที่ฟังเรื่องราวของธรรม ก็นึกถึงธรรม แต่ตัวจริงของธรรมมี ตรงกับที่ได้ยินได้ฟัง แต่ยังไม่ตื่น

    เพราะฉะนั้น จึงเข้าใจความหมายของขณะที่หลงลืมสติ หลับในสังสารวัฏฏ์ จนกว่าจะเกิดรู้ลักษณะเมื่อไร คือ ตื่นแล้วก็รู้ว่า สิ่งนั้นมีจริงๆ มีลักษณะปรากฏให้รู้ได้

    เพราะฉะนั้น การฟัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปรมัตถธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป นิพพาน ก็ต้องรู้ว่า เพื่อรู้ลักษณะ และสามารถที่จะเข้าใจลักษณะด้วยสติสัมปชัญญะในสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งเพียงปรากฏแล้วหมดไป เร็วมาก

    เพราะฉะนั้น อย่าไปคิดว่า เราจะต้องเข้าใจลักษณะทั้งหมด พอถึงจิตก็ ๔ อย่าง เจตสิกแต่ละอย่างก็ให้ครบ แต่ขณะนี้มีความต่างกันของการฟัง เป็นการฟังให้เข้าใจสิ่งที่มีจริง แต่ยังไม่ได้รู้จักตัวจริงของสิ่งที่แม้กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าอวิชชามากจนกระทั่งกำลังเผชิญหน้า แต่ที่จะให้รู้จริงๆ ว่า สิ่งที่ปรากฏก็เป็นธรรม ใช้คำว่า “ธรรม” คือหมายความถึงสิ่งที่มีจริง ใช้คำว่า “สิ่งที่มีจริง” คือ เพียงปรากฏให้เห็น แล้วจะเป็นใคร ไม่ว่าจะเป็นเสียง ไม่ว่าจะเป็นกลิ่น ไม่ว่าจะเป็นรส ก็คือค่อยๆ เข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏก่อน แล้วต่อมาภายหลัง เมื่อไรมีนิพพานเป็นอารมณ์ เมื่อนั้นก็สามารถปัญญาที่จะรู้ความจริง (นาทีที่ ๗.๐๐ ปัญญาก็สามารถรู้ความจริง) ของนิพพานในขณะนั้นได้

    ผู้ฟัง ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบาย ขณะที่กำลังฟังธรรมอยู่ รู้ว่ามีเสียง แล้วก็รู้เป็นคำให้เข้าใจได้ แต่ไม่เข้าใจลักษณะจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เสียง หอมหรือไม่

    ผู้ฟัง เสียงไม่หอม

    ท่านอาจารย์ ก็เข้าใจลักษณะของเสียงแล้วว่า เสียงไม่หอม ตอบได้ด้วย

    ผู้ฟัง ตอบได้

    ท่านอาจารย์ ก็เข้าใจว่า เสียงไม่หอม เสียงเป็นเสียง เสียงจะเป็นอื่นไม่ได้

    ผู้ฟัง ขณะที่เข้าใจตรงนี้ก็ค่อยๆ เข้าใจอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นอย่างนี้อยู่หรือเปล่า ค่อยๆ เข้าใจทีละน้อยๆ

    ผู้ฟัง จะว่าเข้าใจ ก็ยังไม่ได้เข้าใจจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจทีเดียวมากๆ ได้ไหม

    ผู้ฟัง เป็นไปไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เข้าใจทีละน้อยๆ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ผู้ฟัง ที่ท่านบอกว่า เสียงเป็นเสียง แต่เสียงไม่ได้เป็นเสียง

    ท่านอาจารย์ ตัวเสียงเป็นคำ หรือเสียงเป็นเสียง

    ผู้ฟัง จริงๆ เสียงต้องเป็นเสียง แต่ไม่ได้เข้าใจแบบนั้น ไม่มีความรู้ตรงนั้นว่า เป็นแบบนั้น

    ท่านอาจารย์ แล้วเป็นแบบไหน

    ผู้ฟัง เป็นแบบที่จะถามท่านอาจารย์ว่า เสียงเป็นคำๆ

    ท่านอาจารย์ เสียงเป็นเสียง เกิดแล้วดับ เป็นแต่ละเสียงได้ไหม

    ผู้ฟัง เป็นแต่ละเสียงได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่คำ

    ผู้ฟัง ถ้าจะเริ่มต้นเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย อย่างที่มีผู้ร่วมสนทนาถามท่านอาจารย์ ดิฉันก็เคยถาม แต่ไม่ได้ถาม หมายถึงจะวัดความเข้าใจของตัวเอง เพียงแต่ว่าถ้าจะเริ่มเข้าใจตรงลักษณะ อย่างเสียง จะเข้าใจลักษณะตรงนี้ได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เสียงปรากฏเมื่อได้ยินเกิดขึ้น เสียงกระทบโสตปสาท แล้วเสียง และโสตปสาทก็มีอายุเพียงแค่ ๑๗ ขณะแล้วก็ดับไป ไม่ใช่คำ เสียงต้องเป็นเสียง

    ผู้ฟัง ก็ทราบมาเป็นแบบนั้น ได้ยินมาก็เป็นแบบนั้น อ่านมาก็เป็นแบบนั้น แต่ไม่ได้เข้าใจแบบนั้น

    ท่านอาจารย์ คุณกำลังคิดเป็นคำ ถูกต้องไหม แล้วคำที่คิดนั้นเป็นเสียงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นเสียงที่อยู่ในใจ ไม่ใช่เสียงที่เปล่งออกมา

    ท่านอาจารย์ เสียงอยู่ในใจ เป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง คิดเป็นคำ

    ท่านอาจารย์ คิดเป็นคำ เพราะจำเสียง ได้ยินคำนี้แล้วจำหรือเปล่า แต่ต้องมีเสียงก่อนที่จะจำ เพราะฉะนั้น จำเป็นจำ เสียงเป็นเสียง ถ้าเสียงไม่ปรากฏจะจำอะไร จะจำเสียงได้ไหม ถ้าเสียงไม่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เมื่อเสียงปรากฏ ก็จำเสียง ก่อนที่จะพูดได้ จำเสียงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง จำก่อนแล้วก็คิดเสียง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เวลานี้ก็มีจำ เสียง จำ ความหมายของเสียงต่างๆ ด้วย เพราะว่าเสียงหลากหลายมาก และก็จำว่าเสียงที่หลากหลายนั้นมีความหมายว่าอะไร เพราะฉะนั้น เวลาคิดก็คิดเป็นคำ แม้ไม่มีเสียง แต่ก็จำเสียงจึงคิดถึงเสียงที่จำเป็นคำๆ เป็นเรื่องราวต่างๆ แต่เสียงก็เป็นเสียงเท่านั้น เสียงเกิดแล้วก็ดับ แต่ถ้าไม่มีเสียงจะจำ คำก็ไม่มี ธรรมรสมีหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ยัง

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เข้าใจ ไม่มีแน่ ต่อเมื่อไรเข้าใจ เมื่อนั้นเป็นธรรมรส

    ผู้ฟัง จากที่เปิดประเด็นเรื่องรส และธรรมรส ปรากฏว่า การสอนของท่านอาจารย์ หรือการที่พวกเรามาสนทนาธรรม ท่านอาจารย์ก็จะให้พวกเรา เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่สังเกตุจากการเรียนของพวกเรารวมทั้งตัวหนูด้วย ก็เหมือนจะไปสนใจคำ ตัวอย่างอันนี้ชัดมากเลย คือว่า คนก็ไปสนใจคำว่า สัมปัตติรส กิจรส ก็ไปนำนิพพานมาว่ามีสัมปัตติรสอะไร กิจรสอะไร แล้วก็ถามคำถาม ซึ่งจริงๆ ในการศึกษาพระไตรปิฎกเพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ท่านอาจารย์ก็ย้ำตรงนี้ เท่าที่ทราบว่า เรียนที่อื่นก็เป็นปริจเฉท เป็นคำ เป็นพยัญชนะ คือ ถ้าสอนอย่างนั้นแล้วเข้าใจคำ พยัญชนะ ก็ตกลงตามสอน แต่ถ้ามีสื่อการสอนให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ผู้ศึกษาก็ยังไปสนใจคำ เรื่องราว อันนี้ก็เป็นเหมือนการจำกัดปัญญาระหว่างผู้สื่อสารกับผู้รับสื่อ มีคำถาม ถามบ่อย แต่ก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นธรรมไง เป็นอย่างไรแคือเป็นธรรมแน่ๆ ไม่ใช่เรา ฟังธรรมทั้งหมดเพื่อรู้ ไม่ใช่เรา เป็นอนัตตา ทั้งหมดเพื่อจุดประสงค์ให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง พอฟังแล้วก็เป็นเรา เห็นไหม ก็ลืมว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง การที่ท่านอาจารย์สอนให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม แต่ก็ยังไปติดพยัญชนะ เรื่องราว แต่ก็เป็นธรรม ที่ยังแค่นั้นอยู่ ที่ท่านอาจารย์บอกว่า แค่ไหนก็แค่นั้น เมื่อไรก็เมื่อนั้น ตรงนี้ปัญญาก็คือยังรู้ได้แค่นั้น

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ โตจริงๆ ปัญญา อยู่ในเมล็ดพืช ได้น้ำ พรวนดิน เจริญเติบโตขึ้นมานิดหนึ่ง ยังไม่ทันที่จะแตกกิ่งก้าน ใบ ดอกเลย ก็ต้องอดทนที่จะให้เจริญขึ้น

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนี้ในการศึกษาหมายถึงว่า อย่างจิตเห็นก็รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตได้ยินก็รู้ลักษณะของเสียง ซึ่งตรงนี้เมื่อทราบ เดิมถ้าไม่ศึกษาเลยก็เป็นเราเห็น เราได้ยิน แต่เมื่อศึกษาก็ทราบว่า จิตเห็น เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตได้ยิน ได้ยินเสียง และก็ทราบว่า จิตแต่ละอย่างเป็นประธาน เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ ในขณะที่สติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐานไม่เกิดรู้ตรงลักษณะ แต่ในลักษณะที่ปรากฏแก่จิตที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ เข้าใจในขั้นปริยัติ เมื่อเข้าใจมั่นคง แล้วไม่มีตัวเราที่จะไปทำอะไร

    อ.ธิดารัตน์ ก็ช่วยพี่อรวรรณนิดหนึ่ง ท่านอาจารย์ จากการศึกษาทุกๆ ท่านที่ฟังก็ทราบ แต่ก็บังคับบัญชาไม่ได้ โลภะตัวเล็กตัวน้อย แอบหวัง แอบรอ ถึงแม้กระทั่งเดี๋ยวนี้บางทีก็ยังมีโลภะขึ้นมาเหมือนกัน เวลามีสภาพธรรมปรากฏก็แอบดีใจ ติดข้อง ซึ่งเป็นเรื่องปกติมาก

    ท่านอาจารย์ ทำไมต้องใช้คำว่า แอบ

    อ.ธิดารัตน์ ก็คือเขาแฝงตัวมา โดยที่เราไม่รู้ตัว แต่โลภะเกิดแล้ว ไม่ว่าจะกำลังมาก กำลังน้อย ก็เป็นเครื่องกั้นแล้วด้วย

    ท่านอาจารย์ เกิดแล้ว ปรากฏให้เห็น แต่ไม่เห็น ไม่ได้เข้าใจตามความเป็นจริง

    อ.ธิดารัตน์ ไม่ทราบท่านอาจารย์จะช่วยแนะนำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ แอบ ก็คือมีเราแอบๆ เป็นโลภะแอบๆ ก็แสดงว่ายังไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมว่าเป็นธรรม ทั้งๆ ที่ขณะนี้ก็เป็นธรรมจริงๆ แล้วก็ปรากฏพร้อมจะให้เข้าใจถูก นี่แสดงให้เห็นว่า อวิชชาความไม่รู้มากมายสักแค่ไหน ฟังแล้ว ฟังอีก ฟังอีก ฟังแล้ว ก็คือเข้าใจก็เข้าใจ โลภะก็โลภะ โทสะก็โทสะ นั่นคือความมั่นคง

    อ.อรรณพ ฟังธรรมยากหรือง่าย ทุกคนก็บอกว่ายาก ยากอย่างไร ไม่ได้ยากที่ชื่อ ไม่ได้ยากที่คำ ไม่ได้ยากที่ รสมีสัมปัตติกิจ มีกิจรส มีธรรมรส วิมุติรส ไม่ได้ยากที่คำ แต่ยากที่เคยคุ้นเคยกับชื่อ เคยคุ้นเคยกับเรื่องราว เคยคุ้นเคยกับบัญญัติ จึงต่างกับการศึกษาทางโลกอย่างสิ้นเชิง เพราะว่าการศึกษาในทางโลกเป็นไปตามอัธยาศัย ที่เราคุ้นกับชื่อ คุ้นกับเรื่องราว การอธิบายศาสตร์ในทางโลก ถ้าใช้ชื่อ ใช้คำ หรือเขียนเป็นชาร์ท ทำให้คนจำชื่อ จำเรื่องราวได้ เช่น สรุปเป็นตาราง หรือทำเป็นแผนผัง แผนภูมิ ภาพ ก็จะทำให้ผู้เรียนตามได้ เพราะตามชื่อ ตามเรื่อง ตามศัพท์นั้นๆ ไป

    การสอนที่ดีในทางโลก สมมติกันว่า ที่จะสอนชื่อ สอนเรื่องราวโดยใช้อย่างที่ว่า เป็นสรุป เป็นตาราง เป็นแผนภาพ เป็นลูกศรโยงไปโยงมา แล้วคนก็คิดตาม แต่แม้การศึกษาทางโลก การศึกษาให้เข้าใจเรื่องราวในภาคทฤษฎี ก็ยังง่ายกว่าการที่ทำให้ผู้เรียนเข้าใจในเรื่องนั้นจริงๆ ที่สามารถจะทำงานนั้นได้จริง

    แม้ในโลกก็ยังต่างกัน คนที่รู้ทฤษฎี แต่ไม่รู้คำว่า ปฏิบัติ แต่คนละเรื่องกัน ในทางวิชาการทางโลกก็มีภาคทฤษฎีภาคปฏิบัติ บางคนเข้าใจทฤษฎีแต่ทำไม่ได้ อย่างวิศวกรเขาก็ต้องเรียนทฤษฎี แต่เวลาก่อสร้างจริงๆ ก็อย่างหนึ่ง หรืออย่างทางแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์อะไรก็ตามแต่ เรียนทฤษฎี แต่เวลาจะไปประดิษฐ์หรือจะไปผ่าตัดก็ต้องมีทักษะ แต่ทั้งหมด ก็คือคุ้นเคยไปในชื่อ เรื่องราว ในชีวิตประจำวัน อย่างง่ายๆ เห็นต้นไม้สักต้น เรียกว่าต้นอะไร มาก่อนแล้ว คือสนใจชื่อแล้ว แล้วเอาไปทำอะไรได้บ้าง เราคุ้นเคยกับชื่อ เรื่องราว นับชาติไม่ถ้วน แล้วพอมาศึกษาธรรม เราก็จะเอาวิธีการหรือความคุ้นเคยตามอุปนิสัยที่จะไปในชื่อหรือเรื่องราวอยู่ตลอดเวลา

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นอย่างนี้ บางทีก็เหมือนผู้ฟัง และพวกเราที่เป็นผู้เรียน ดูเหมือนขัดใจเหมือนกัน เวลาที่ท่านอาจารย์บอกว่า สนใจชื่ออีกแล้วหรือ เป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ท่านอนุเคราะห์เตือนในการที่เราไหลไปตามกระแสความสนใจชื่อ และเรื่องราวอยู่ตลอดเวลา

    การจะศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจตัวธรรม ยาก จึงไม่แปลกใจว่า ทำไมเหมือนเดิม หรือหนักกว่าเดิม เพราะผ่านไปแต่ละขณะๆ ก็ไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่จะติดข้องในสิ่งต่างๆ เพิ่มขึ้นทุกขณะๆ เพราะฉะนั้น ยากที่จะศึกษาธรรมแล้วเข้าใจตัวธรรม ใส่ใจตัวธรรม

    ผู้ฟัง ลักษณะของสติที่ประกอบด้วยปัญญา กับสติที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะว่าสติเป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับกุศลจิตเท่านั้น อกุศลไม่มีสติ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังเห็น ถูกต้องหรือไม่ เป็นสิ่งที่มีจริง ขณะที่เข้าใจถูกเป็นปัญญาหรือเปล่า ขณะนี้มีเห็น เป็นสิ่งที่มีจริง คุณสุกัญญาไม่ได้คิดถึงเรื่องอื่นเลย พอบอกว่า เห็น ขณะนี้มีเห็น คุณสุกัญญากำลังรู้ลักษณะที่เห็น แล้วก็ตอบได้ว่า เห็นมีจริง ขณะนั้นเป็นความเห็นถูกหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าท่านอาจารย์ถามอย่างนี้ก็คือ ตอบว่า มีความเห็นถูก แต่ว่าโดยความเป็นจริง เห็น ตอบได้ว่า มีเห็น แต่ว่ายังไม่ได้รู้ว่า เป็นเห็นที่มีจริงๆ หรือว่าเห็นเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เพียงแค่ได้ยินคำว่า “เห็น” แล้วจะรู้ว่า เห็นเป็นธรรม มีจริงๆ ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องตามลำดับขั้น คือ ขณะนี้กำลังเห็น และก็มีความเข้าใจว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นสิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริง ใครทำให้เกิดขึ้น หรือมีปัจจัยก็เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง มีปัจจัยก็เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ แม้ยังไม่รู้ลักษณะที่เห็น แต่กำลังเริ่มที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงว่า ขณะนี้สิ่งที่มีจริง ไม่ใช่ต้องไปหาที่ไหนเลย มีแล้ว กำลังเห็น เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม ก็คือเพื่อที่จะให้รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ เวลาที่เข้าใจขณะนี้ เริ่มเข้าใจขึ้น เป็นความเห็นถูกต้องหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นความเห็นถูก

    ท่านอาจารย์ ภาษาบาลี ใช้คำว่า ปัญญา ได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นต้องมีสติเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ นี่ก็คือคำตอบ

    ผู้ฟัง แต่คนละขณะกับที่เห็นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จะอย่างไรก็ตามแต่ เวลานี้สภาพธรรมไม่ได้ปรากฏว่าเป็นคนละขณะ อะไรเลยทั้งสิ้น ใช่หรือไม่ ใครจะไปสามารถรู้ทีละ ๑ ขณะๆ ๆ ๆ ซึ่งไม่ใช่ขณะเดียวกัน เพียงแต่เริ่มฟังให้เข้าใจ แสดงให้เห็นว่า ความไม่รู้มีมากมายระดับไหน แม้แต่มีเห็น กำลังเห็น แล้วก็ไม่ได้สนใจเรื่องอื่น แต่ก็รู้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้สิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ซึ่งคนอื่นไม่สามารถจะกล่าวถึงสภาพของสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ได้เลย

    จึงรู้ว่า การฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ เพื่อเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง และรู้ว่า นี่คือการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มิฉะนั้น ไม่สามารถจะแสดงความจริงของสิ่งที่กำลังเป็นจริงๆ ในขณะนี้ได้ เริ่มเข้าใจถูก แต่ไม่ได้หมายความว่า ฟังแค่นี้แล้วไปรู้ว่า เห็นเป็นสภาพธรรม ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นดับไป ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ฟังแค่ไหน เข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง เพื่ออะไร เมื่อสักครู่นี้ คุณสุกัญญาก็ตอบว่า ไม่มีใครสามารถที่จะทำเห็นให้เกิดขึ้นได้เลย เห็นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แสดงความเป็นอนัตตาของเห็น ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเห็นเท่านั้นเอง ทำอย่างอื่นไม่ได้เลย ขณะนี้กำลังเกิดขึ้นแล้วก็เห็น

    เพราะฉะนั้น ธรรมซึ่งเป็นอนัตตา มีอยู่ตลอดเวลา ธรรมที่เป็นอัตตาไม่มี นอกจากความเห็นผิด มี


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 170
    14 ม.ค. 2567