พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 926 -VB


    ตอนที่ ๙๒๖

    ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๗


    อ.คำปั่น ขอกราบเรียนสนทนาสอบถามเพื่อความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น ในความเป็นจริงของการศึกษาธรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งบ่อยครั้งเวลาที่ได้ฟังพระธรรมก็จะได้ยินท่านอาจารย์กล่าวอยู่เสมอในเรื่องของความเป็นผู้ตรง ขออนุญาตท่านอาจารย์สนทนาในเรื่องของความเป็นผู้ตรงในการที่จะศึกษาธรรมเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกยิ่งขึ้น เพราะว่าถ้ากล่าวถึงความเป็นผู้ตรง ก็ไม่พ้นไปจากธรรมในชีวิตประจำวัน ว่าความเป็นผู้ตรงสำคัญอย่างไร เมื่อวานก็ได้ยินท่านอาจารย์กล่าวประโยคหนึ่งซึ่งก็ประทับใจมากครับ ว่า ความเป็นผู้ตรงจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ตรง

    ท่านอาจารย์ ตรงกับสิ่งที่มีจริงๆ ตามความเป็นจริงด้วย เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ สิ่งที่กำลังปรากฏมี เป็นผู้ตรงต่อสิ่งที่ปรากฏหรือไม่ ถ้าไม่มีการได้ยินได้ฟังธรรม ไม่ตรงกับสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้แต่ขณะนี้ที่กำลังเห็น ตรงตามความเป็นจริงคือเห็นเป็นเห็น เห็นเป็นอื่นไม่ได้ ตรงไหม

    เพราะฉะนั้น ทุกอย่างก็คือว่าเป็นสิ่งนั้น ซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลยตามความเป็นจริง สิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นมีความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏตรงตามความเป็นจริงของสิ่งนั้นหรือไม่ว่าสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้มีแน่นอนกำลังปรากฏ แต่ถ้าเข้าใจผิดคิดว่าสิ่งนี้ที่กำลังปรากฏเป็นอื่น ไม่ใช่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ เป็นคนนั้น เป็นดอกไม้ เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ แต่ความจริงแท้ก็คือว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ เมื่อจิตเห็นเกิดขึ้น และจิตเห็นก็เป็นสภาพที่มีจริง เป็นธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้น ทำอื่นไม่ได้เลย นอกจากเกิดเพราะปัจจัยคือต้องอาศัยตา จักขุปสาทรูป และสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่มี ๒ อย่างนี้ จิตเห็นเกิดได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นตรงต่อความเป็นจริงก็คือแม้เห็นขณะนี้ก็มีจริง และเป็นแต่เพียงสภาพที่สามารถเห็นเท่านั้น ทำอื่นไม่ได้เลย คิดไม่ได้ โกรธไม่ได้ เห็นแล้วดับด้วย นี่คือตรงกับความเป็นจริง เพราะอะไร ขณะที่ได้ยินไม่มีเห็น เห็นไปไหน เห็นต้องไม่มีในขณะที่ได้ยินมี เพราะฉะนั้นตามความเป็นจริงก็คือว่าเห็นดับ ในขณะที่ได้ยินต้องไม่มีเห็น นี่คือตรงตามความเป็นจริง

    อ.คำปั่น เพราะฉะนั้นที่จะเป็นผู้ตรงต่อสภาพธรรม ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรมที่ต้องเริ่มที่การมีโอกาสได้ยินได้ฟังความจริง

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าตรงตามความเป็นจริงนั่นคือปัญญา เห็นถูกต้องใช่ไหม ไม่ใช่เห็นผิด เห็นตรงตามความเป็นจริง นั่นคือความเห็นถูก ซึ่งอีกชื่อหนึ่งก็คือปัญญา

    อ.คำปั่น เพราะว่าธรรมก็มีมากมายหลากหลาย แต่เพราะได้อาศัยการได้ยินได้ฟังความจริง ก็ทำให้เริ่มได้เข้าใจในขั้นการฟังว่าความจริงของสภาพธรรมเป็นอย่างไร ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น แม้แต่ความดีที่เกิดขึ้น ก็ต้องเป็นความดี ความไม่ดีที่เกิดขึ้นก็ต้องเป็นความไม่ดี ไม่ว่าจะเกิดกับใครก็ตามในความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ นั่นคือความตรง

    อ.ธิดารัตน์ ถ้าไม่มีปัญญาหรือว่าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็ตรงไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    อ.ธิดารัตน์ เพราะฉะนั้นการที่จะเป็นผู้ตรง ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

    ท่านอาจารย์ ตรงคือปัญญา ตามเหตุตามผลตามความเป็นจริง เห็นถูกต้องไม่ผิดจากความเป็นจริง

    อ.ธิดารัตน์ เพราะฉะนั้นการที่จะเป็นผู้ตรงก็ต้องเป็นผู้ที่อาศัยการฟังธรรม แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วก็ถึงจะเป็นผู้ที่ตรงด้วยปัญญาที่จะเข้าใจธรรมใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จะใช้คำว่าสัจจะได้ไหม

    อ.ธิดารัตน์ เข้าใจความจริง

    ผู้ฟัง "สติ" จำปรารถนาด้วยประการทั้งปวง เรียนถามท่านอาจารย์ให้รู้จัก "สติ"

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นไม่ว่าจะพูดคำอะไร เข้าใจคำนั้นจริงๆ ได้ยินคำว่าสติ แต่รู้จักสติหรือยัง สติคืออะไร ได้ยินชื่อว่าสติ แต่เวลาสติเกิด รู้จักสติไหมว่าขณะนั้นสติเกิดแล้ว หรือว่าเวลาที่สติไม่เกิดรู้ไหมว่าขณะนั้นไม่มีสติ เพราะฉะนั้นแต่ละคำที่ได้ยินคือเดี๋ยวนี้ ถ้าฟังธรรมก็คือว่าให้เข้าใจตามความเป็นจริง ได้ยินคำว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงหลากหลายมาก แต่ก็สามารถที่จะแบ่งประเภทเป็นประเภทใหญ่ๆ สภาพที่มีจริงบางอย่างไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เพราะฉะนั้นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งต่างจากสภาพที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ตรงกันข้ามเลย เกิดขึ้นต้องรู้ แต่สภาพที่รู้นี่ก็หลากหลายมาก เพราะฉะนั้นสติเป็นสภาพที่รู้หรือไม่รู้ เป็นสภาพที่รู้ และรู้อะไรเห็นไหม เมื่อบอกว่าสติเป็นสภาพที่รู้แล้วสติรู้อะไร

    ผู้ฟัง สติเมื่อเกิดก็รู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้น แต่ถ้าไม่เกิดก็ไม่มีสติ

    ท่านอาจารย์ ขณะเห็น สติเกิดกับจิตที่เห็นหรือไม่

    ผู้ฟัง แค่เพียงเห็น ก็ไม่มีสติครับ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ได้ยิน มีสติเกิดร่วมด้วยไหม

    ผู้ฟัง ขณะที่ได้ยิน ก็ไม่มีสติ

    ท่านอาจารย์ วันนี้สติเกิดขึ้นบ้างหรือยัง ตอนนี้รู้จักสติแล้วใช่ไหม กำลังเห็นไม่มีสติเกิดร่วมด้วย จิตเห็นดับไปแล้วสติก็ยังเกิดร่วมด้วยไม่ได้ เพียงแต่รับรู้สิ่งที่เห็นสืบต่อเป็นสัมปฏิจฉันนจิต และหลังจากนั้นจึงเป็นสันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต แล้วต่อจากนั้นสติเกิดบ้างไหมวันนี้ จะรู้จักสติ จะพูดถึงสติว่าสติมีเท่าใด เกิดหรือไม่เกิดอย่างไร ก็ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และก็เข้าใจจริงๆ ในชีวิตประจำวันไม่ใช่เพียงแต่ชื่อ เพราะฉะนั้นหลังเห็นแล้ววันนี้ทั้งหมด มีทั้งเห็น มีทั้งได้ยิน สติเกิดบ้างไหม ชีวิตจริงๆ วันนี้สติเกิดบ้างไหมหลังจากที่เห็นแล้ว ได้ยินแล้วเป็นต้น เพราะว่าตั้งแต่เช้ามาก็เห็น แล้วก็ได้ยินใช่ไหม แล้วก็สติเกิดขึ้นบ้างไหมวันนี้ เกิดแล้วหรือยังเมื่อใด เพื่อที่จะรู้จักสติ จะพูดอะไรก็ต้องรู้จักสิ่งนั้นในชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่เช่นนั้นก็เพียงแต่เอ่ยลอยๆ ถึงสิ่งที่มี แล้วก็เข้าใจเผินๆ แต่ถ้าจะเข้าใจจริงๆ แล้วก็ไม่ลืมด้วย ก็คือว่าหลังเห็นหลังได้ยินแล้ววันนี้ ซึ่งเห็นได้ยินทั้งนั้นเลย มีสติเกิดบ้างแล้วหรือยัง

    ผู้ฟัง ยังครับ

    ท่านอาจารย์ ยัง เมื่อเช้าฟังวิทยุธรรมรายการธรรมบ้างหรือไม่

    ผู้ฟัง เมื่อเช้าไม่ได้ฟัง

    ท่านอาจารย์ เมื่อเช้าไม่ได้ฟัง เพราะฉะนั้นดีที่ตอบว่าไม่มีสติเกิด แต่ถ้าฟัง กำลังฟังมีสติไหม

    ผู้ฟัง ถ้ากำลังฟังมีความเข้าใจ ก็ต้องมีสติ

    ท่านอาจารย์ ต่อเมื่อเข้าใจ เพราะฉะนั้นรู้ได้แล้วใช่ไหม ตามคำถามที่ถาม ขณะใดก็ตามที่เป็นไปในกุศล ขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ไม่มีความริษยา ความมานะความสำคัญตนใดๆ ขณะนั้นเพราะสติเกิด จึงระลึกเป็นไปในการที่จะเป็นกุศลแต่ละขณะ เช่น ในขณะที่ให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น วันหนึ่งก็ไม่บ่อยใช่ไหม แต่ขณะใดมีการเป็นไปในการให้ เคยเป็นเราให้ แต่ว่าเมื่อฟังแล้วก็รู้จักสติเพิ่มขึ้นว่าสตินั่นเองไม่ใช่เราที่เกิดขึ้นระลึกได้ที่จะให้ ที่โต๊ะอาหาร ก็มีอาหารหลายอย่างใช่ไหม ให้อะไรใครบ้างหรือเปล่า หรือว่ารับประทานคนเดียว หรืออะไรเช่นนี้

    นี่ก็คือชีวิตประจำวันจริงๆ ที่จะรู้จักสติไม่ใช่เพียงแต่ฟังเรื่องสติ แต่รู้ว่าขณะใดสติเกิดคือขณะที่ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ไม่มีอกุศลทั้งหลาย สติเกิดขึ้นแล้วก็เป็นไปในฝ่ายดี เช่น ในการให้สิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น ถ้าไม่มีวันนี้ก็ไม่มีในเรื่องของสติที่เป็นไปในการให้ และขณะนั้นพูดบ้างหรือเปล่า ตั้งแต่เช้ามา จำได้ไหม พูดบ้างหรือเปล่า จะรู้จักสติ ก็ต้องพูดให้เข้าใจว่าสติจริงๆ คืออย่างไร ตั้งแต่เช้ามาพูดบ้างหรือเปล่า

    ผู้ฟัง พูดครับ

    ท่านอาจารย์ พูดเรื่องอะไร

    ผู้ฟัง ก็พูดสัพเพเหระ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นสติเกิดหรือเปล่า เมื่อสักครู่นี้ สติไม่ใช่สภาพธรรมฝ่ายไม่ดี ขณะใดที่สติเกิดขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ไม่มีความสำคัญตน ไม่มีความริษยา เท่าที่จะปรากฏให้เรารู้ได้ในชีวิตประจำวัน ขณะที่ไม่มีสภาพธรรมที่ไม่ดี แล้วยังต้องระลึกเป็นไปในกุศลด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเช้านี้พูดเรื่องไร้สาระใช่ไหม ขณะนั้นเป็นสติหรือไม่

    ผู้ฟัง ขณะนั้นไม่ใช่สติที่เกี่ยวกับอกุศล

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเริ่มรู้จักสติแล้วใช่ไหม ไม่ใช่เพียงพูดว่าสติเกิดเมื่อใด เกิดกับจิตกี่ขณะ ดวงไหน แต่ชีวิตประจำวันจริงๆ เราจะรู้ได้เลยว่าเต็มไปด้วยอกุศล ทั้งๆ ที่ศึกษาว่าธรรมที่เป็นฝ่ายดีคืออะไร เกิดเมื่อใด แต่ว่าลืมว่าชีวิตประจำวันที่จะรู้จักสติก็ต่อเมื่อได้ฟังแล้วก็เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นตอนนี้พอรู้จักสติ และตอบได้แล้วใช่ไหม

    ผู้ฟัง รู้จักสติที่เป็นกุศล มีสติอีกแบบหนึ่ง แม้กระทั่งที่พูดสัพเพเหระก็แล้วแต่ แต่ก็รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิดในสัพเพเหระนั้น

    ท่านอาจารย์ เมื่อเช้านี้กำลังพูดสัพเพเหระ ก็ยังรู้ว่าเป็นสัพเพเหระใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ครับ ในขณะที่เป็นสัพเพเหระก็เป็นเรื่องเป็นราว แต่เรื่องราวเหล่านั้นก็ไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ตรงนี้จะเป็นสติหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรมเพื่อเข้าใจ ขณะที่สติเกิดเป็นไปในทานเป็นไปในศีลหมายความถึงกายวาจาที่เป็นทางฝ่ายดี เป็นไปในความสงบของจิต ไม่โกรธมีเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แม้แต่คำที่พูดประกอบด้วยเมตตาก็ได้ และนอกจากทานศีล ก็ยังมีภาวนาการอบรมความเห็นถูก ขณะที่กำลังเริ่มเข้าใจขณะนั้นเพราะสติเกิด ขณะที่กายวาจาเป็นไปในทางที่ดีเป็นประโยชน์ ขณะนั้นก็ไม่ใช่อกุศล ขณะที่จิตสงบจากความเดือดร้อนเพราะโลภเพราะโกรธ แต่ว่ามีความเมตตามีความเป็นมิตรมีการที่จะระลึกเป็นไปในกุศล ขณะนั้นก็เป็นสติไม่ใช่เรา ขณะที่เข้าใจว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา โดยการฟังแม้การฟังรู้ว่าขณะนี้เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่ของใครเลยเพียงเกิดขึ้น และดับไป ถ้าเข้าใจจริงๆ เช่นนี้ ขณะนั้นก็เพราะสติเกิดด้วย ทำให้ไม่หันเหไปคิดเรื่องอื่น ฟังไปก็ไม่เข้าใจ จำไม่ได้ไม่รู้เรื่อง ฟังไปคิดไปเรื่องอื่นขณะนั้นไม่ใช่สติ

    เพราฉะนั้น ขณะใดที่ฟังแล้วก็เข้าใจ ขณะนี้มีสิ่งที่มีจริงๆ แต่สิ่งนี้เกิดปรากฏ จึงรู้ว่ามีจริงโดยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แล้วเคยเข้าใจว่าเป็นเราเห็น ความจริงเห็นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยดับแล้ว หายไปไหนไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้นเป็นเราไม่ได้ ถ้าเข้าใจเช่นนี้ขณะนั้นเป็นสติที่เกิดพร้อมกับความเห็นถูกคือปัญญา ตอนนี้เข้าใจแล้วใช่ไหมว่า สติเป็นโสภณธรรมไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิกเป็นสภาพที่ระลึกเป็นไปในกุศล เพราะฉะนั้นขณะใดที่กุศลประเภทใดเกิดต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นกุศลใดๆ ทั้งสิ้น แต่เวลาที่ใช้คำว่าสติสัมปชัญญะ ต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วย ตามระดับขั้นของปัญญาว่าเป็นปัญญาระดับใด เวลาที่โกรธเกิดขึ้น ปกติธรรมดามีปัญญาหรือไม่ ไม่มีเลยใช่ไหม แต่จะกล่าวว่าขณะนั้นปัญญาเกิดได้อย่างไร หลังจากที่มีสภาพของความโกรธกำลังเกิดกำลังปรากฏ แล้วปัญญาเกิดได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ก็มีการระลึกเกิดขึ้น และก็รู้ว่าความโกรธก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะนั้นที่รู้ว่า ความโกรธ เป็นลักษณะที่ดีไหม

    ผู้ฟัง เป็นอกุศลไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ไม่ดีเลย เป็นโทษ ขณะนั้นเป็นปัญญาระดับใด

    ผู้ฟัง ระดับแค่เข้าใจแค่นั้นเอง

    ท่านอาจารย์ แค่เห็นว่าโทสะเป็นโทษ

    ผู้ฟัง ใช่ครับ

    ท่านอาจารย์ แต่อีกระดับหนึ่ง โทสะเกิดแล้วโดยที่ว่าไม่มีใครไปทำให้เกิด แต่เมื่อมีปัจจัยที่จะเกิดระดับใด ก็เป็นไปตามปัจจัยนั้น จะขุ่นใจนิดหน่อย หรือว่าจะโกรธมากๆ จนกระทั่งนึกคำหยาบคายในใจ แต่ยังไม่ล่วงออกไปก็ได้ ใช่ไหม หรือว่าถึงระดับที่ไม่แค่เพียงในใจ กล่าวออกไปเลย นี่ก็ต่างระดับแล้ว เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังมีความโกรธนั้นเกิดขึ้นแล้วก็เห็นโทษเช่นนั้น ต้องเป็นปัญญาที่เห็นโทษของอกุศลใช่ไหม แต่ถ้ารู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา ต้องเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่งที่สามารถที่จะละความติดข้องในความโกรธ ที่เคยเป็นเราโกรธมาตลอดในสังสารวัฏ ก็รู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่ง มีจริงๆ เกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย และเริ่มเห็นความจริงว่าขณะนั้นบังคับบัญชาไม่ได้ แล้วก็ไม่ใช่เราด้วย ต้องเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง ที่ใช้คำว่า "อาตาปี สัมปชาโน สติมา" หมายความว่า สติที่ประกอบด้วยปัญญาที่เผาความไม่รู้ "อาตาปะ" คือเผาอกุศลหรือความเป็นตัวตนหรือความไม่รู้ "สัมปชาโน" ก็ต้องเป็นปัญญาจะมีได้ก็ต่อเมื่อสติเกิด ถ้าสติไม่เกิดปัญญาก็มีไม่ได้ แต่ขณะใดก็ตามที่ปัญญาเกิดขณะนั้นต้องมีสติเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ ในแต่ละคำ แม้แต่ ๓ คำนี้กล่าวเมื่อใด ขณะใด และเพราะเหตุใดจึงไม่ใช้คำว่าวิริยะหรือความเพียรธรรมดาแต่ใช้คำว่า "อาตาปี สัมปชาโน สติมา"

    อ.วิชัย พระผู้มีพระภาคตรัสถึงเรื่องสิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา ถ้ากล่าวถึงว่าธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทั้งหมด จุดมุ่งหมายสูงสุดคือเป็นไปเพื่อความวิมุตติคือหลุดพ้น แต่ก็ยังทรงแสดงว่าอธิศีลสิกขาคือเป็น เบื้องต้นหรือว่าการที่จะอบรมกายวาจา แต่ทั้งหมดก็ต้องเป็นไปเพื่อปัญญาความรู้ความเข้าใจด้วย และยิ่งถ้ากล่าวถึงอธิจิตตสิกขาก็ทรงแสดงเรื่องของความสงบของจิตด้วย ที่ทรงแสดงอย่างนี้หมายถึงว่าเป็นระดับของกุศล หรือว่าทั้งหมดก็ต้องเป็นไปเพื่อความรู้คือ อธิปัญญาสิกขา

    ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวถึงที่สุด อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ต้องเป็นไปเพื่อโลกุตรธรรมเท่านั้น เพราะฉะนั้นหมายความถึงเฉพาะโลกุตรธรรมก็ได้ ในบางแห่งที่ใช้คำว่าอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา แต่ถ้าไม่มีเบื้องต้นก็จะถึงที่สุดไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นความต่างกันว่าเริ่มเป็นอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา เมื่อใด ต้องต่างกับขณะอื่น ซึ่งไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะเป็นการอบรมเจริญสมถภาวนาสักเท่าใด ก็ยังเป็นสังสารวัฏ ทำให้เกิดที่ไหนที่ไหนก็ได้ แม้ในอรูปพรหม ก็ยังต้องกลับมาสู่ความเป็นเช่นนี้ เพราะฉะนั้นยังไม่ใช่อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา จนกว่าแม้ว่าจะเป็นอรูปฌานกุศล ก็ต้องเป็นปัญญาที่สามารถจะเห็นถูกว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ว่าเพียงถึงขั้นอรูปฌานแล้วจะเป็นอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ไม่ใช่ ต้องถึงความเป็นโลกุตรธรรม

    ผู้ฟัง ในขั้นการฟังก็พอเข้าใจได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อสภาพธรรมต่างๆ เหล่านี้ ถ้าในขณะที่ไม่ใช่สัมปชัญญะอย่างที่ท่านอาจารย์กล่าว ถ้าไม่มีไม่ปรากฏเลย แล้วจะรู้ได้อย่างไร

    อ.อรรณพ ภาวนามี ๒ คือ สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา และเป็นกุศลขั้นภาวนาด้วย เพราะฉะนั้นต้องเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา แม้ว่าจะเป็นขั้นสมถะก็ต้องประกอบด้วยปัญญา แล้วถ้ามีความสงบที่แนบแน่น นั่นก็ต้องมีสัมปชัญญะเพราะว่าไม่ได้เหมือนกับกุศลทั่วไปที่ไม่ถึงขั้นภาวนา ทาน ศีล อะไรเช่นนี้ เพราะกุศลจำแนกตามระดับก็เป็นทาน ศีล ภาวนา ก็มี เพราะฉะนั้นต้องต่างกัน ทานอย่างหนึ่ง ศีลอย่างหนึ่ง ภาวนาอย่างหนึ่ง แม้ว่าจะมีความสืบเนื่องกันอยู่บ้าง แต่ก็ต้องต่างกัน มิเช่นนั้นไม่แสดงเป็นทาน ศีล ภาวนา และภาวนามี ๒ ก็ต้อง ประกอบด้วยปัญญาจริงๆ ที่จะรู้ทั่วพร้อมว่า ถ้ามีแต่อกุศล มีแต่ความไม่พอใจ มีแต่ความติดข้อง จิตใจก็อยู่ด้วยความเดือดร้อน ก็เป็นผู้ที่สะสมมาที่จะมีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดที่จะเป็นที่ตั้งของความสงบ จนแนบแน่นมั่นคง นั่นก็เป็นสมถภาวนาซึ่งต้องมีสัมปชัญญะ แต่สัมปชัญญะอย่างที่เป็นสมถภาวนาเท่านั้น ไม่สามารถที่จะเป็นการรู้ทั่วพร้อมในสิ่งที่กำลังปรากฏได้ ยังไม่ตรงตามความเป็นจริงในสิ่งที่ปรากฏ แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาภาวนาเป็นการรู้ตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏ ก็ต้องเป็นการรู้ทั่วพร้อม

    ในมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นหนทางสายกลางก็มีองค์ที่เป็นสมถะ และก็องค์ที่เป็นวิปัสสนาอยู่แล้ว องค์ที่เป็นสมถะคือสัมมาสมาธิใช่ไหม สัมมาวายามะ สัมมาสตินี่ก็เป็นองค์ของสมาธิ องค์ของศีลก็มีวิรตี ๓ องค์ของปัญญาก็คือสัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ คือปัญญากับวิตักก เพราะฉะนั้นถ้าเป็นคู่กัน ท่านก็แสดงว่าเป็นคู่สมถะกับวิปัสสนาควบคู่กันไป สำหรับผู้ที่อบรมเจริญวิปัสสนาก็จะไม่ขาดสมถะ เพียงแต่ว่าอาจจะไม่ได้ฌานขั้นสูงๆ แต่อย่างไรก็ตามแม้ไม่ได้อบรมเจริญสมถภาวนาที่ได้ฌานจิต แต่เวลาที่มรรคจิตเกิดก็จะมีความสงบในระดับที่เป็นปฐมฌาน แต่หลังจากนั้นไม่สามารถเข้าผลสมาบัติได้ นี่คือความต่างกัน เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่อัธยาศัยที่สะสมมาว่าจะน้อมไปที่จะอบรมเจริญภาวนาแบบใด แต่ทั้งหมดต้องมีความเข้าใจ แต่ปัญญาต่างขั้นกัน

    ผู้ฟัง ทุกครั้งที่เป็นวิปัสสนาภาวนาก็มีความสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ ก็โดยนัยที่เกิดสลับหรือว่าเกิดต่อเนื่องกันไป แล้วแต่สภาพธรรมใดจะปรากฏ ขอท่านอาจารย์ช่วยกรุณาเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจได้มากกว่านี้

    ท่านอาจารย์ คุณประทีปอยากเข้าใจคำใด ทีละคำ

    ผู้ฟัง ขั้นภาวนาในขั้นที่เป็นสมถภาวนา

    ท่านอาจารย์ อยากเข้าใจภาวนาที่เป็นสมถภาวนาใช่ไหม ภาวนาคืออะไร

    ผู้ฟัง ภาวนาคือการอบรมเจริญให้มากขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอบรมธรรมที่เป็นกุศลใช่ไหม

    ผู้ฟัง ครับ

    ท่านอาจารย์ คงไม่มีใครไปอบรมธรรมที่เป็นอกุศลเลย เพราะว่าอกุศลมีมาก กุศลมีน้อย ถ้ายังคงเป็นอกุศลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กุศลก็มากขึ้น อกุศลก็ยิ่งน้อยลงไป ด้วยเหตุนี้ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญามีความเห็นถูก ในประโยชน์ของการที่จะมีความเข้าใจถูกในธรรมที่เป็นกุศล และอกุศลว่าต่างกัน ถ้าเห็นโทษของอกุศลจริงๆ เริ่มที่จะเห็นประโยชน์ของกุศล เพราะฉะนั้นก็มีการที่จะขวนขวายหรือว่าบำเพ็ญกุศลเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นกุศลก็มีหลายขั้น ขั้นทานก็เป็นกุศล ให้จนหมดได้ไหม ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงว่าอกุศลไม่ดี กุศลต้องเป็นธรรมที่ดีแน่ แต่ว่าเกิดยาก เพราะวันหนึ่งวันหนึ่งก็มีแต่อกุศล เพราะฉะนั้นวันหนึ่งสามารถที่กุศลประเภทใดจะเกิดได้ ก็จึงเกิดได้ แต่ว่าไม่สามารถว่าจะไปเจริญกุศลที่ไม่สามารถโดยไม่มีปัญญาเลย แล้วก็จะไปพยายามให้เป็นกุศลภาวนาประเภทนั้นประเภทนี้ก็ไม่ได้ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจประโยชน์ของกุศลก่อนจริงๆ ใครก็ตามที่ฟังธรรม และก็เห็นประโยชน์ของกุศล ไม่ขาดการที่จะเจริญกุศลสักอย่างเท่าที่จะเป็นได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทานการให้ หรือเป็นไปในเรื่องของกายวาจาที่เป็นการวิรัติทุจริตหรือว่าเป็นการกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ จนกระทั่งถึงใจ เราฟังธรรมไม่ใช่เพียงแค่ภายนอกชั่วครั้งชั่วคราว แต่ก็รู้ว่าใจไม่สะอาดเลย จะใช้คำว่าสกปรกเน่าเหม็นหรืออะไรก็สุดที่จะพรรณนาได้ในอกุศลแสนโกฏิกัปป์ที่ได้สะสมมา เพราะฉะนั้นการที่จะค่อยๆ ขจัดอกุศล เพราะเห็นโทษ ก็ต้องตามลำดับขั้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 194
    21 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ