ปกิณณกธรรม ตอนที่ 719


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๑๙

    สนทนาธรรม ที่ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    พ.ศ. ๒๕๔๖


    อ.วิชัย ถ้าไม่เคยรู้จักสามารถจะรู้ไหม ว่าเป็นใคร

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    อ.วิชัย แสดงว่าต้องมีสัญญาที่จำ และขณะที่รู้ขณะนั้นก็จำด้วย ขณะนี้ก็จำ

    ผู้ฟัง จำนี้คือจำใหม่ แต่ขณะที่เราคิดถึง คือ คิดถึงสัญญาเก่าที่เราจำไว้

    อ.วิชัย ขณะที่คิดก็มีสัญญา จำในสิ่งที่คิดเหมือนกัน

    ผู้ฟัง คือจำสิ่งที่คิดใหม่ ถูกไหม ไม่ได้จำในอดีต

    อ.วิชัย ไม่ ถ้าสัญญาเกิดขึ้นรู้สิ่งใด สัญญาก็เป็นลักษณะของเขา คือ มีการจำเป็นลักษณะ เพราะฉะนั้น สัญญารู้สิ่งใดก็จำในสิ่งนั้น อย่างเช่น อาจจะจำได้ ใช่ไหม ว่าเป็นชื่อโน้น ชื่อนี้ หรือว่ารถคันนั้นคันนี้ ก็เป็นลักษณะที่จำคือสัญญา แต่ขณะที่เห็นก็จำ ขณะที่คิดก็จำ เพราะเหตุว่าสัญญามีลักษณะที่จำ

    ท่านอาจารย์ จำก็ไม่รู้ว่าจำก็มี ใช่ไหม ทั้งๆ ที่จำ ก็ไม่รู้ว่าจำ แต่จำแล้ว อย่างไรๆ ก็ต้องจำตลอด จำสิ่งที่กำลังปรากฏที่จิตกำลังรู้ อันนี้แน่นอน

    ผู้ฟัง ถ้าจะจำ ที่กล่าวว่าเป็นอดีต มันก็คือเรื่องราวเท่านั้นเอง แต่สัญญาก็คือ ปัจจุบันที่จำเรื่องราว

    ท่านอาจารย์ เราก็ไปคิดถึงเรื่องราวอีกว่าอดีต แต่ขณะใดที่จิตรู้สิ่งใด สัญญาที่เกิดกับจิตนั้นจำสิ่งนั้น

    ผู้ฟัง จิตกับเจตสิก เขาเป็นธรรมที่สัมปยุตตธรรม ก็คือเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน แล้วก็เกิดดับที่เดียวกัน เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตเกิดขึ้น เป็นสภาพที่รู้แจ้งในอารมณ์ ส่วนเจตสิกที่เกิดประกอบกับจิต เขาก็จะมีกิจต่างกัน สำหรับเจตสิกที่เป็นสัญญาเจตสิก เขาเป็นสภาพที่จำในอารมณ์ เพราะฉะนั้น จิตรู้แจ้งในอารมณ์ใด สัญญาเจตสิกจำในอารมณ์นั้น

    ผู้ฟัง ปกติสัญญา ขณะที่จำ คือจำปรมัตถ เป็นขณะ ขณะจิต ไป ใช่ไหม

    อ.วิชัย รู้สิ่งใดก็จำในสิ่งนั้น ถ้ารู้ปรมัตถก็จำในลักษณะที่เป็นปรมัตถในขณะนั้น ที่ปรากฏในขณะนั้น รู้บัญญัติ จำบัญญัติไหม

    ผู้ฟัง อาการที่จะเป็นบัญญัติ คือเราจำปรมัตถแต่ละขณะๆ หลายๆ ขณะ รวมกัน ใช่ไหม จึงจะเป็นบัญญัติได้

    อ.วิชัย สัญญาป็นสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม คือเกิดขึ้น ก็จำในลักษณะที่กำลังรู้ในขณะนั้น แล้วก็ดับไป ก็ทีละขณะ เกิดขึ้นแล้วก็จำ แล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง ถ้าแค่ขณะเดียว มันก็ยังเป็นบัญญัติอะไรไม่ได้ใช่ไหม ถ้าขณะเดียวมีแต่ปรมัตถ

    อ.วิชัย จิตเกิดดับเร็วไหม

    ผู้ฟัง เร็ว นับไม่ถ้วน เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดจะจำบัญญัติได้ต้องหลายขณะมาก จึงจะเป็นบัญญัติได้ อย่างนี้หรือเปล่า

    อ.วิชัย ก็แล้วแต่ว่าจิต จะเกิดขึ้นรู้สิ่งใด ขณะที่เห็น มีลักษณะที่เป็นปรมัตถปรากฏ แก่จักขุวิญญาณ สัญญาที่เกิดกับจักขุวิญญาณก็จำในลักษณะที่เป็นสิ่งที่ปรากฏในขณะนั้น แล้วก็สัญญานั้นก็ดับไป รวมถึงจิตที่เกิดกับสัญญานั้นก็ดับไปด้วย สัมปฏิจฉันนะเกิดขึ้นก็รู้อารมณ์ต่อ สัญญาที่เกิดกับสัมปฏิจฉันนะก็จำอารมณ์ที่ปรากฏในขณะนั้น แล้วก็ดับไป แต่ว่าจิตเกิดดับเร็วมาก

    ผู้ฟัง ที่ว่ามีลงในหนังสือ ที่ว่าจำชาติได้ อันนี้เป็นสัญญาหรือเปลา

    อ.วิชัย ถ้าคิดถึงบุคคลอื่น ก็คงจะเข้าใจยาก แต่ว่าถ้าคิดขณะนี้ สัญญาเป็นสภาพธรรม อย่างที่จำได้ จำถึงเมื่อวานได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    อ.วิชัย ถึงย้อนๆ ไปได้ไหม

    ผู้ฟัง ย้อนๆ ไปก็ได้

    อ.วิชัย แต่ขณะนี้คือ เป็นสัญญาที่กำลังจำในขณะนี้ สัญญา ก็แต่ว่าจะเกิดกับจิตขณะใด ถ้าคิดถึงสิ่งใดก็จำในสิ่งนั้น

    ผู้ฟัง ที่บอกตายแล้วเกิดมา พอรู้ความ จำชาติเกิดได้ อันนี้ก็เป็นสัญญา

    อ.วิชัย ก็แล้วแต่บุคคล

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะว่า ขณะนี้มีใครรู้บ้างว่าจิตเกิดดับกี่ประเภทแล้ว ทางทวารไหนบ้าง ใช่ไหม ทางตาก็เห็น ทางหูก็ได้ยิน ทางใจก็คิดนึก ไม่มีการที่จะไปตามนับหรือว่าสามารถที่จะรู้ได้ถึงความรวดเร็ว

    แต่ให้ทราบว่าทางที่จะรู้อารมณ์มี ๖ ทาง จะได้ทราบว่าทางไหนรู้ปรมัตถ หรือว่าทางไหนรู้บัญญัติ อย่างขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ อาศัยตา เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏเป็นปรมัตถ สัญญาจำสิ่งที่ปรากฏทางตา ยังไม่มีเรื่องราวใดๆ เลยทั้งสิ้น นี่แสดงถึงความรวดเร็ว ไม่ว่าขณะไหนจะเห็นมาก เห็นน้อย เห็นกี่ครั้ง กี่ขณะก็ตาม เห็นเหมือนตลอดเวลาอย่างนี้ สัญญาก็จำในขณะที่สิ่งนั้นปรากฏ จิตรู้แจ้งอารมณ์ใด สัญญาก็จำอารมณ์นั้น

    ทางหูเสียงปรากฏ สัญญาจำแล้ว ไม่ต้องไปเป็นห่วงเลย จะจำได้หรือจำไม่ได้ ก็จำแล้ว แต่ละขณะที่จำก็ดับไป ไม่มีสภาพธรรมใดที่เกิดแล้วไม่ดับ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย สัญญาก็จำลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่ทางใจจำเพิ่มเติม คือจำเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏด้วย เพราะฉะนั้น เวลาที่นึกถึงเรื่องราว ให้ทราบว่าไม่ใช่ตาเห็น ไม่ใช่เป็นการจำสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แต่ขณะที่นึกถึงเรื่องใดก็คือ จำเรื่องที่กำลังคิดถึงในขณะนั้น ต้องมีสัญญาที่จำในขณะที่คิดอย่างนั้นด้วย ก็แยกออกเป็น ๖ ทาง

    ผู้ฟัง ความจริงในขณะที่เห็นก็มีลักษณะของสภาพธรรมของสิ่งที่ถูกเห็น แล้วก็มีลักษณะของสภาพของสิ่งที่กำลังเห็นนั้น แต่ปรมัตถธรรมที่เกิด สั้นแสนสั้น ส่วนมากแล้วมักจะไปเรื่องราวของสิ่งที่ถูกเห็นนั้น อย่างนี้ ชื่อนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ไม่น่าสงสัยเลยว่า ทำไมเราคิดมาก เพราะเราคุ้นเคยกับการคิดอยู่ตลอดเวลา คุ้นเคยกับการจำเรื่องราว เราก็ต้องคิดเป็นเรื่องราวไปจนกว่าสามารถที่จะมีสัญญาความจำที่มั่นคงว่า เรื่องราวเกิดหรือมีได้ในขณะนั้นเพราะจิตคิด ถ้าขณะที่เห็นไม่มีเรื่องราว ก็เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่า แม้กำลังเห็นก็คิดเรื่องอื่นได้ ให้รู้ความต่างกันของ เห็นกับคิด จะได้รู้ว่าจริงๆ แล้ว สภาพธรรมที่เราจะต้องเข้าใจจริงๆ ก็คือ เข้าใจลักษณะที่มีจริง ที่เป็นปรมัตถธรรมอย่างมั่นคง ก็จะเป็นการที่สามารถจะเข้าใจได้ ว่าในขณะนี้ที่กำลังเห็น แทนที่จะเป็นเรื่องจำคนโน้น คนนี้ จำโน้น จำนี่ ก็เป็นการเริ่มที่จะจำว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง นี่คือขั้นต้นเลย ที่จะเปลี่ยนจากสัญญา การจำเรื่องราวต่างๆ มาสู่การที่จะจำได้มั่นคงขึ้น ว่าขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเฉพาะทางตาเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ขณะนั้นต้องจำลักษณะสภาพของปรมัตถธรรม อันนี้เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ จำ พร้อมความเข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ขอกล่าวถึงสัญญาของพระอานนท์ ที่ว่าท่านทรงจำไว้ได้ ก็ทรงจำชื่อ และเรื่องราวของธรรมไว้ได้ แล้วก็ท่านก็มีความเข้าใจในธรรม จึงเป็นโสดาบัน แต่การที่ท่านจะมาสังคายนาครั้งแรกในปฐมสังคายนา คือ ท่านก็จำธรรม พยัญชนะ หรืออรรถของธรรมไว้ แล้วท่านก็มา จำได้

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าจริงๆ แล้วถ้าพูดถึงสัญญาของท่านพระอานนท์ จะเทียบกับใครในบรรดาสาวกทั้งหลาย เพราะเหตุว่า จำของสาวก หรือผู้ฟังยุคนี้ สมัยนี้ ก็จะเห็นความห่างไกลกันมากเลย สมัยนี้ จำชื่อ จำคำ แต่ว่าไม่ได้จำลักษณะด้วยความเข้าใจระดับที่ประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมนั้นแล้ว

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ความจำของเรา เราจะจำระดับไหน จำเรื่องราว จำชื่อตอบได้ว่า จิตมี ๘๙ ประเภท นี้จำแล้วใช่ไหม แต่ ๘๙ ประเภทคืออะไร แล้วลักษณะของแต่ละประเภทต่างกันอย่างไร แล้วก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร นี่ก็แสดงให้เห็นความวิจิตรของสัญญาของแต่ละบุคคลว่า ถ้าไม่ใช่พระอริยสาวกในครั้งกระโน้นที่ทรงจำไว้อย่างเลิศ ความจำจะต้องต่างกับบุคคลอื่นแน่นอน

    ผู้ฟัง สัญญาของท่านพระอานนท์นี่ คงเหนือกว่าของมหาสาวกทั้งหลาย

    ท่านอาจารย์ เอตทัคคะในทางความทรงจำด้วย

    ผู้ฟัง ทีนี้อย่างที่พระผู้มีพระภาค ท่านระลึกชาติ หรือระลึกชาติของคนอื่น หรือระลึกชาติของท่านได้ก็ต้องอาศัยสัญญา

    ท่านอาจารย์ สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ

    ผู้ฟัง เป็นไปในวิตกเจตสิกที่ท่านระลึกได้

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นสติที่มีกำลังด้วย ที่สามารถจะระลึกได้ แล้วก็คุณธรรมของเจตสิกอื่นๆ ก็ต้องเป็นอีกระดับหนึ่ง เรื่องของเจตสิกเป็นเรื่องที่ยากแสนยาก ที่ใครสามารถที่จะรู้สภาพนามธรรม ซึ่งเกิดดับพร้อมกับจิต แล้วพูดถึงนามธรรมก็สุดวิสัยที่จะไปเปรียบเทียบกับรูปใดๆ ทั้งสิ้น ที่ทรงอุปมาว่า น้ำมันหลายประเภทเอามารวมกัน แล้วคนกันทั้งวัน ก็ยังสามารถที่จะแยกได้ เพราะเป็นรูปธรรม แต่นามธรรมไม่มีทางเลย เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่ละเอียด ไม่มีรูป เกิดพร้อมกัน กิจการงานลักษณะก็คล้ายคลึงกันด้วย

    ผู้ฟัง ขณะที่จำไม่ได้ ขณะที่จำไม่ได้นี้ เป็นลักษณะของสัญญาจำไม่ได้ หรือว่าเราวิตก ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ คุณรังสรรค์ ทราบว่าจำไม่ได้ใช่ไหม ขณะนั้นคือสัญญาจำแล้วว่าจำไม่ได้ หลับก็รู้ว่าหลับ เดี๋ยวนี้ไม่หลับ นี่จึงกล่าวว่ายากที่จะรู้ได้ ว่าสัญญาได้ทำหน้าที่ของสัญญาในขณะที่เจตสิกอื่นก็ทำหน้าที่ของเจตสิกอื่นๆ พร้อมๆ กัน แล้วเราสามารถที่จะไปแยกรู้ความต่างของเจตสิกแต่ละอย่าง ซึ่งทำหน้าที่แต่ละอย่าง ก็ต้องอาศัยการฟัง และการค่อยๆ พิจารณา แต่สัญญาก็ทราบได้อย่างเดียวว่า เป็นสภาพธรรมที่จำ ไม่ว่าจะจำอะไรทั้งหมดนั่นคือสัญญา แล้วเราก็จำตลอดเวลาด้วยขณะนี้ แม้จำก็ไม่รู้ว่าจำด้วยซ้ำไป ใช่ไหม

    ผู้ฟัง การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านทรงแสดงสัญญาขันธ์ เวทนาขันธ์แยกออกมาจากสังขารขันธ์นี้ มีวัตถุประสงค์อะไรเป็นหลัก

    ท่านอาจารย์ ตามอุปาทานการยึดมั่น ให้เห็นว่าเรายึดมั่นในอะไรบ้าง จึงใช้คำว่า อุปาทานขันธ์ ให้ชัดในขณะที่สิ่งนั้นกำลังเป็นที่ตั้งของความยึดถือ

    เราก็ได้กล่าวถึงเรื่องปรมัตถธรรม ๔ ซึ่งปรมัตถธรรม ๓ เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับจึงเป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ปรมัตถธรรม ๓ ถ้ากล่าวโดยอีกนัยยะ ๑ ก็คือขันธ์ ๕ แล้วที่กล่าวไปแล้วก็คือ รูปทุกรูปเป็นรูปขันธ์ เพราะว่ารูปทุกรูปเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สำหรับเวทนาเจตสิก ๑ เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก ๑ เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ เมื่อเป็นเวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ เป็นสังขารขันธ์ ๑

    สำหรับในวันนี้ ก็จะขอพูดถึงเรื่องของวิญญาณขันธ์ ซึ่งโดยปรมัตถธรรม ก็ได้แก่ จิต วิญญาณขันธ์เป็นเจตสิกได้ไหม ไม่ได้ เป็นรูปได้ไหม เป็นเวทนาขันธ์ได้ไหม เป็นสัญญาขันธ์ได้ไหม เป็นสังขารขันธ์ได้ไหม เป็นวิญญาณขันธ์ เพราะฉะนั้น ถ้าจะใช้คำว่า จิต หรือจะใช้คำว่า วิญญาณ ก็ได้ แล้วก็มีชื่ออีกหลายชื่อสำหรับจิต เพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ แต่ก็ยากที่จะเข้าใจว่าไม่ใช่ตัวตน แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าค่อยๆ ฟังไปพร้อมกับระลึก สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ก็จะเห็นความต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม เพราะเหตุว่า รูปธรรมนั้นไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แต่นอกจากนั้นแล้วก็เป็นนามธรรมทั้งหมด เช่น จำก็เป็นนามธรรม คิดก็เป็นนามธรรม โกรธก็เป็นนามธรรม เมื่อยเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม นามธรรม รูปเมื่อยไม่ได้เลย เหมือนท่อนไม้ ถ้าคิดถึงท่อนไม้ที่ไม่มีสภาพรู้ใดๆ เลยทั้งสิ้น ขณะนั้นเป็นรูปธรรม แต่ว่าลักษณะอื่นที่ต่างจากสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏทางลิ้น แล้วสิ่งที่กำลังกระทบสัมผัสกาย ซึ่งเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว นอกจากนั้นเป็นนามธรรมทั้งหมด

    สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ แล้วก็ทำให้โลกปรากฏ ทำให้เรื่องราวทั้งหลายมีในทุกๆ วัน ก็เพราะมีจิต ซึ่งเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งเราคิดไม่ถึงเลย ว่าขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏ กำลังปรากฏได้ในขณะนี้ เพราะจิตเกิดขึ้นเห็นเท่านั้นเอง ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นเห็น สิ่งต่างๆ ในขณะนี้ สีสันวัณณะต่างๆ ความทรงจำว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร เรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏจะมีไม่ได้เลย เพราะจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ นี้เป็นลักษณะของจิต แต่ถ้าพูดถึงความรู้สึก ไม่ใช่จิต ถ้าพูดถึงความจำ ไม่ใช่จิต ถ้าพูดถึงกุศล อกุศล สติ ปัญญา วิริยะ ความเกียจคร้าน พวกนี้ ไม่ใช่จิตเลย จิตล้วนๆ เท่านั้นที่เป็นวิญญาณขันธ์ เพราะเหตุว่าลักษณะของจิตนั้น ก็คือสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ คือสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    อ.อรรณพ จิต วิจิตรด้วยความที่เกิดประกอบกับเจตสิกที่หลากหลายแตกต่างกัน เช่น ในขณะกำลังฟังพระธรรม ไม่ปราศจากจิตเลย ซึ่งจิตเกิดขึ้นพร้อมกับเจตสิก ในขณะนี้มีความเข้าใจ มีความศรัทธา มีความผ่องใสที่เป็นกุศลที่ได้ฟังพระธรรม ที่สนทนากันอยู่ ขณะนั้นจิตก็วิจิตรด้วยสภาพของเจตสิกที่ปรุงแต่งจิต เพราะฉะนั้น วิจิตรด้วยสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกัน คือเจตสิก ซึ่งทำให้จิตหลากหลายไป วิจิตรไปเป็นอกุศลประเภทต่างๆ โลภะ โทสะ โมหะ วิจิตรเป็นกุศลในลักษณะต่างๆ ตามการสะสมมา

    ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่า เราเริ่มจะเข้าใจจิตเพิ่มขึ้น ว่าขณะนี้ ไม่ได้มีจิตประเภทเดียว ถูกต้องไหม

    เมื่อจิตเป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ ขณะนี้กำลังเห็น เป็นจิตที่มีสีสันวัณณะที่กำลังปรากฏให้รู้ ให้เห็น นี่เป็นจิตประเภทหนึ่ง เวลาที่ได้ยินเสียง เป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง แสดงว่าจิตหลากหลายด้วยสิ่งที่จิตรู้ จิตรู้ได้ทุกอย่าง รู้ชื่อได้ไหม แม้แต่ชื่อก็ยังรู้หรือว่าจำได้ เสียงต่างๆ กลิ่นต่างๆ รสต่างๆ เพราะจิตสามารถที่จะรู้แจ้งในความต่างของสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่ประการหนึ่ง คือจิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธาน สามารถที่จะรู้แจ้งสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นลักษณะที่จิตรู้แจ้งในอารมณ์ คือสิ่งที่จิตกำลังรู้ เพราะเหตุว่า เมื่อจิตเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ แน่นอน จะมีจิตเกิดโดยไม่มีสิ่งที่ถูกรู้ หรือไม่มีอารมณ์ไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ไม่ได้หมายความถึงอารมณ์ดี อารมณ์ไม่ดี แต่หมายความถึง ขณะที่จิตรู้สิ่งใด สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิต

    ขณะนี้เสียงในป่ามีได้ไหม มีได้ แต่ได้ยินเสียงในป่าหรือเปล่า ไม่ได้ยินเสียงในป่า เพราะฉะนั้น เสียงในป่าไม่ใช่อารมณ์ เพราะว่า ขณะนั้นจิตไม่ได้เกิดขึ้นได้ยินเสียง แต่ขณะนี้ เสียงที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้เอง เป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังได้ยินในขณะนี้ ในขณะที่กำลังได้ยินเท่านั้น แล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมใดที่ปรากฏให้ทราบว่า เพราะมีจิตที่กำลังรู้สิ่งนั้นตั้งแต่เกิดจนตาย นี่ประการหนึ่ง แล้วอีกประการหนึ่ง คือ จิต นี่หลากหลายต่างกัน ด้วยสภาพธรรม คือ เจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน เพราะว่าจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ แต่จิตจะเกิดขึ้นเองไม่ได้เลย ไม่มีสภาพธรรมใดเลยที่จะเกิดขึ้นได้ตามลำพังโดยไม่อาศัยสภาพธรรมอื่นเป็นปัจจัย

    สำหรับจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ ก็มีเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งต้องเกิดกับจิตเท่านั้น เจตสิกจะไม่เกิดกับรูป เพราะเจตสิกก็เป็นสภาพรู้อารมณ์ แต่ว่ารู้อารมณ์โดยลักษณะที่ต่างกับจิต เพราะเหตุว่าเจตสิกทั้งหมด ไม่ได้เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ แต่ว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งต่างกันเป็น ๕๒ ประเภท เช่น เวทนาเป็นความรู้สึก สัญญาเป็นความจำ แล้วก็นอกจากนั้นแล้ว ก็เป็นสภาพนามธรรมอื่นๆ ซึ่งเป็นสังขารธรรม

    เพราะฉะนั้น จิตนอกจากจะต่างที่เห็น ต่างที่ได้ยิน ต่างที่ได้กลิ่น ต่างที่ลิ้มรส ต่างที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ต่างที่คิดนึก ยังต่างด้วยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เพราะว่าทุกคนเห็นเหมือนกัน คิดเหมือนกันหรือเปล่า ไม่เหมือน คนหนึ่งอาจจะไม่ชอบสิ่งที่เห็น แต่อีกคนหนึ่งชอบ ทั้งๆ ที่ก็เป็นจิต หลังจากที่เห็นแล้วก็ต้องมีจิตที่ เมื่อเห็นแล้วก็จะต้องคิดนึกต่างๆ แต่ก็ต่างกันโดยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย คนเดียวจิตหลากหลายไหม เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศล ถ้าหลายๆ คน ความหลากหลายของจิต จะมากมายสักแค่ไหน

    ผู้ฟัง นิพพานมีจริงไหม ทำไมเราไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เพราะว่า สภาพที่สามารถจะประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานได้ ต้องเป็นโลกุตตรปัญญา ปัญญาสูงสุดอีกระดับ ๑ จึงสามารถรู้สภาพธรรมที่ไม่ได้ปรากฏ เป็นการเกิดดับในขณะนี้ เป็นสภาพธรรมที่พ้นจากโลกคือ การเกิดดับ เหนือโลก แล้วใครจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในเมื่อสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็ยังไม่รู้

    เพราะฉะนั้น ต้องมีการอบรมเจริญปัญญาตามลำดับขั้น ขั้นที่ไม่สามารถจะคิดเรื่องธรรมได้เลยด้วยตัวเองไม่ว่าใคร แต่ต้องฟังพระธรรมจากการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงแสดงเรื่องสิ่งที่มีจริง เพราะเหตุว่า ขณะนี้มีเห็นแน่นอน แล้วมีสิ่งที่กำลังปรากฏแน่นอน แล้วสิ่งที่กำลังปรากฏไม่ใช่สภาพที่เห็น ไม่ใช่ธาตุรู้ที่สามารถจะเห็นอะไรได้เลย เป็นแต่เพียงสีสันวัณณะ ที่สามารถกระทบจักขุปสาทแล้วปรากฏ ความจริงของสิ่งนั้น คือสิ่งที่เพียงสามารถปรากฏในขณะนี้ โดยไม่ใช่สภาพรู้

    ผู้ฟัง หมายความว่า ยังต้องมีปัญญาเจตสิกอีกตัว ที่มาร่วม ต้องเกิดจากปัญญาเกิดจากการฟังอะไรอย่างนี้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เริ่มต้นจากการฟัง

    ผู้ฟัง แม้กระทั่งปรมัตถธรรม คือสิ่งที่มีจริง แต่ก็ไม่ทราบ ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ไม่มีปัญญาหรือ

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าเพียงขั้นเริ่มฟัง แล้วก็เริ่มเข้าใจถูกว่าไม่มีตัวตน ซึ่งยากที่จะบอกว่าไม่มีตัวตน เพราะว่าไม่ใช่ตั้งแต่เกิดมาที่เป็นเรา แต่ก่อนนั้นอีกหลายชาติ ในอดีต อนันตรชาติ ก็สะสมมาที่จะเป็นเรา ด้วยความไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ว่าสิ่งนี้หรือ ใคร เพียงแค่ปรากฏกับจักขุปสาท จะเป็นใครได้อย่างไร นอกจากจะเป็นสีสันต่างๆ ลักษณะจริงๆ ก็คือ สีแดง สีเขียว หรือสีอะไรก็ตามที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ แต่ไม่ใช่คน เป็นสี หรือว่าเป็นวัณณะธาตุ เป็นสิ่งที่ปรากฏเมื่อกระทบจักขุปสาท เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นแล้ว ยับยั้งไม่ให้คิดไม่ได้ ด้วยสัญญาเจตสิกซึ่งจำ สิ่งที่ปรากฏทางตา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 108
    26 มี.ค. 2567