ปกิณณกธรรม ตอนที่ 678


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๗๘

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ กับคนที่ แล้วก็คงที่ขึ้นมาทีละน้อย เจริญขึ้นทีละน้อยก็ได้ จนกว่าจะรู้สึกได้ ถึงความเป็นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้น อย่างเวลาที่ฟังธรรม หลายคนก็บอกว่า ตอนแรกๆ ก็อาจจะมีอกุศลมาก แต่ตอนหลังก็ค่อยๆ ดีขึ้น เจริญขึ้นหรือเปล่า ใช่ไหม ก็เจริญขึ้น แต่ว่าส่วนน้อยมาก เพราะเหตุว่ายัง มีอยู่ ยังไม่ได้ดับหมดเลย เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่าไม่มีเลยก็ไม่ได้ จะกล่าวว่าไม่เจริญก็ไม่ได้ แต่ว่าเหมือนคงที่ คือยังมีโลภะ อยู่เท่าไร ยังมีโทสะอยู่เท่าไร ยังมีอะไรอยู่เท่าไร ก็ยังมีอยู่ ไม่ใช่ว่าจะหมดไป เพราะฉะนั้น ก็จนกว่าจะถึงความเป็นพระโสดาบัน

    ผู้ฟัง ความเบื่อเกิด กับความยาก พอความไม่พอ ความยาก พิจารณาไป มันพิจารณาไม่ถึง พอไม่ถึงมันก็เบื่อ เบื่อแล้วก็หลับไปเลย

    ท่านอาจารย์ ก็ขอถามคุณสุกิจ มีวิธีจะให้คุณสุกิจไม่เบื่อ แล้วก็มีวิธีที่จะให้ สติปัฏฐานเกิด มีวิธีที่จะให้รู้แจ้ง อริยสัจจธรรม เอาไหม

    ผู้ฟัง จะตอบว่าเอาก็ไม่ได้ ไม่เอาก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็นี่ก็ถูกแล้ว ไง คือไม่รีบร้อนที่จะตอบว่าเอา แต่ว่ายังยับยั้งชั่งใจว่า หนทางจะมีหรือ จะถูก หรือเปล่า จะจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นผู้ที่หนักแน่นในเหตุผล รู้เลยว่าคำพูดนั้นผิด

    ผู้ฟัง มีปัญหาถามมาจากท่านผู้ฟังว่า การจะเป็นพระโสดาบันได้ จะเริ่มต้นตรงไหน ในการละวาง ราคะ โทสะ โมหะ

    ท่านอาจารย์ ละวางนี่ ปัญญา หรือว่าอวิชชา ละวางได้

    ผู้ฟัง จริงๆ ต้องเป็นปัญญา

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นปัญญาเท่านั้น เพราะฉะนั้น การเป็นพระโสดาบันคือ โลกุตตรปัญญา ถ้าไมมีปัญญา อย่าคิดฝัน ที่จะเป็นพระโสดาบัน เป็นชื่อที่ปรารถนาที่ต้องการ โดยไม่รู้ว่าการเป็นพระโสดาบันไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ตัวตน หรือเราจะไปถึงได้ แต่ต้องเป็นการอบรมเจริญความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง อริยสัจ ๔ เมื่อไรก็เป็นพระโสดาบันเมื่อนั้น

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องละ ความไม่รู้ ก่อนอื่นเป็นผู้ที่ตรงที่สุด ขณะนี้ที่กำลังเห็น เราพูดกันถึงเรื่อง รูปารมณ์ ภาษาไทยง่ายๆ ก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตาขณะนี้ ยังเป็นคน เป็นสัตว์ หรือว่าเริ่มที่จะเข้าใจ อรรถ ที่ว่าไม่ติดไม่ยึดมั่นใน นิมิตอนุพยัญชนะ ทั้งๆ ที่มีสิ่งที่ปรากฏ เคยยึดมั่นว่าเป็นคน เป็นวัตถุ เป็นสิ่งต่างๆ แต่ว่าเวลาที่ปัญญาเกิด ก็สามารถที่จะเริ่ม ค่อยๆ เข้าใจตั้งแต่ คำที่ได้ยินได้ฟังว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรม อย่างหนึ่ง มีจริงๆ แล้วปรากฏ วันนี้ก็ปรากฏ พรุ่งนี้ก็ปรากฏ ต่อไปก็ปรากฏ ก็จะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท ถ้าไม่มีตา ตาบอด สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ จะไม่ปรากฏเลย

    เมื่อมีเหตุปัจจัย พร้อมที่จิตเห็นจะเกิดขึ้น มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเมื่อไร ก็หมายความว่า มีธาตุรู้ ซึ่งไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งกำลังสามารถเห็นสิ่งที่ปรากฏ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ ค่อยๆ มีความเข้าใจอย่างนี้ ทีละเล็กทีละน้อย ก็จะละความสงสัย ละความไม่รู้ ในความเป็นจริงของสภาพธรรม ที่ปรากฏทางตา แล้วก็เป็นอย่างนี้ หรือยัง ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ จะเริ่มอย่างไรที่จะให้ปัญญารู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ได้ ก็ไม่มีทางเลย ก็เป็นแต่เพียงหวัง อ่านชื่อ กายานุปัสสนาสติปัฏฐานบ้าง เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานบ้าง จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานบ้าง ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานบ้าง แต่ขณะนี้มีสภาพธรรม แล้วก็ที่จะค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เริ่มหรือยัง ถ้ายังไม่เริ่ม ก็ไม่มีทางที่จะเป็นพระโสดาบัน ไม่ใช่เฉพาะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เรื่องราวที่คิดนึก ถ้าจิตไม่เกิด ก็ไม่มีเรื่องนั้นๆ เลย ต้องเข้าถึงความเป็นธรรม ของนามธรรม และรูปธรรมทั้งหมด หมดความสงสัยในสภาพธรรมทั้งหลาย แล้วก็ประจักษ์แจ้งในความเป็นจริงของนามธรรม และรูปธรรม จึงจะถึงความเป็นพระโสดาบันได้

    เพราะฉะนั้น ที่จะไปปฏิบัติ หรือ ปฏิบัติอย่างไร ไม่ใช่ ว่าเราจะไปปฏิบัติเลย แต่ว่าความเข้าใจที่เกิดจากขั้นการฟัง การพิจารณา แล้วก็มีความมั่นคง เป็นสัจจญาณ รู้ว่าปัญญา รู้ถูก เข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องถามใครเลย ว่ารู้แค่ไหน หรือว่ายังไม่ได้รู้เลย เพียงแต่ฟัง แล้วค่อยๆ จำไว้ บางครั้งก็จะเกิดการนึกขึ้นมาได้ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ แล้วลองนึกบ่อยๆ พิจารณาบ่อยๆ สามารถจะค่อยๆ เข้าใจถูกได้ไหม ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะว่าบางท่านอาจจะไม่ชอบเลย คือดูเป็นเรื่องธรรมดา แล้วก็ปัญญาจะรู้ได้อย่างไร แต่ปัญญาต้องรู้ ไม่รู้ไม่ได้ เพราะอะไร เพราะกำลังปรากฏ มิฉะนั้น ก็คือ ความไม่รู้ตลอดไปเรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้น เลิกคิดเรื่องพระโสดาบัน เลิกคิดเรื่องปฏิบัติ แต่เป็นเรื่องที่ว่า เป็นผู้ตรง ว่าขณะนี้รู้ หรือไม่รู้ ในสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้ในขั้นของการฟัง เข้าใจจริงๆ ว่าธรรม มีหลากหลาย สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นลักษณะอย่างนี้ แหละ ซึ่งไม่สามารถจะไปกระทบหู กระทบกาย ก็ไม่ได้ แต่ต้องกระทบ จักขุปสาท เท่านั้น ธรรมอย่างนี้จึงจะปรากฏได้ แล้วปรากฏแล้วก็ดับด้วย การที่จะไม่ยึดถือสภาพธรรม เพราะมีความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ก็เป็นเรื่องของการอบรม เป็นเรื่องของภาวนา คือ การมีขึ้นเจริญขึ้น จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง สภาพธรรมได้

    วิทยากร ตามที่ท่านอาจารย์ได้อธิบาย ตรงกับ ใน โสดาปัตติยังคสูตร โสดาปัตติยังคสูตร ข้อที่ ๑ การคบสัตบุรุษ ๒ การฟังธรรมของสัตบุรุษ ข้อ ๓ คือ โยนิโสมนสิการะ ข้อที่ ๔ คือ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ซึ่งท่านกล่าวว่า เป็นองค์ที่เป็นไปในส่วนเบื้องต้น ที่จะให้ได้โสดาปัตติมรรค

    ผู้ฟัง จากที่ท่านอาจารย์ก็ได้กล่าวอยู่ อย่างที่ว่าไม่มี แล้วมี แล้วหามีไม่ ท่านอาจารย์อธิบายไปในลักษณะของที่ว่า เป็นสภาพธรรมที่ ไม่ได้มีอยู่ แล้วก็ปรากฏ แต่ดิฉันไปนึกเป็นเรื่องราวที่ว่าอย่างตัวดิฉันเอง ไม่ได้มีมาเลย แล้วก็มี อยู่ในท้องมารดา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ มีอยู่ในท้องมารดา อันนี้ตอนนี้ หรือว่าเสียงไม่มีแล้วก็มี

    ผู้ฟัง น่าจะเสียงไม่มี แล้วก็มี มากกว่า

    ท่านอาจารย์ นั่นสิ นี่ ข้อสำคัญที่สุด คือเวลานี้ไม่ได้มีท้องของมารดา แต่เมื่อกี้นี้ไม่มีเสียง แต่เดี๋ยวนี้ก็มีเสียง แล้วเสียงก็ไม่มีแล้ว มีแล้วหามีไม่ เมื่อกี้นี้แข็งไปรากฏ ไม่มีแข็ง แต่แข็งก็ มี แล้วก็หามีไม่

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ต้องเป็นในลักษณะของปรมัตถธรรม

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะเห็นภัยของการเกิดดับ

    ผู้ฟัง บุคคลที่ ๔ ท่านกล่าวว่า เป็นพระโสดาบันมีอันไม่ตกต่ำ เป็นธรรมดา เป็นอย่างไร ไม่ตกต่ำนี้

    วิทยากร ปิดประตูอบายได้ ไม่มีไปอบายภูมิแน่นอน แล้วก็เกิดอีกอย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ สุปะพุทธกุฏฐิ บุรุษโรคเรื้อนน้ำเต้า ท่านก็จน ขนาดที่ต้องไปขอข้าวจากพระ จากอะไรทาน ไปในวัด วันหนึ่งบังเอิญ เขาทำบุญกันมากมาย ก็ไปวัดเผื่อจะได้อะไร ที่เหลือจากพระบ้าง แต่ปรากฏว่ามีคนเขาฟังธรรมกัน ก็เลยนั่งฟังหน่อย ฟังไปๆ พระพุทธองค์ท่านรู้ คนนี้จะได้ เป็น บรรลุมรรคผล ฟังจบก็ได้สำเร็จพระโสดาบัน พระอินทร์ทดลอง นะ ลองกล่าวสิว่าพระพุทธไม่ใช่พระพุทธ พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ใช่พระสงฆ์ แล้วจะให้สมบัติ ให้ร่ำรวยเลย ท่านบอกไม่มีความหมาย การได้สมบัติ เป็นพระอินทร์ก็ดี หรือว่าได้สมบัติอะไรทั้งหลายทั้งปวงไม่มีความหมาย เพราะว่าสมบัติ คือ อริยมรรค คืออริยผล คือความเป็นพระโสดาบันยิ่งใหญ่กว่าสมบัติ ทั้งหลายในโลก เพราะฉะนั้น เรื่องจะเอาเงิน เป็นโกฏิ เป็นล้าน หรือเอาภูเขาเป็นทองมาแลก ท่านไม่เอา หรอก ท่านไม่ต้องการ

    ผู้ฟัง ท่านได้อริยทรัพย์แล้ว

    วิทยากร ท่านได้แล้ว ท่านไม่จน

    ท่านอาจารย์ เป็นชีวิตประจำวัน เพราะว่าการที่เราจะมีชีวิต อยู่ทุกชาติ นี่ก็เข้าใจได้ เมื่อได้ศึกษาพระธรรมว่าชีวิตของเรา ถึงการกระทำ ที่เป็นกุศล มากน้อยแค่ไหน ในวันหนึ่งๆ นี่ก็เป็นเรื่องที่ทรงแสดงธรรม ตามความเป็นจริง เพราะว่าแม้ว่าจะเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ยังต้องถึงการกระทำที่เป็นกุศลด้วย จนกว่าจะถึง ความเป็นพระอรหันต์

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะเห็นได้ ว่าเราไม่สามารถที่จะ ถึงการกระทำที่เป็นกุศลได้ตลอดเวลา เพราะเหตุว่าบางกาล ก็เป็นอกุศล แต่ก็ทรงแสดงธรรม ที่ควรถึง ๔ ประการ ๔ ข้อแรก เป็นสิ่งที่เป็นกุศลหรือเปล่า ธรรม ๔ ประการเป็นที่ปรารถนา รักใคร่ ชอบใจ หาได้ยากในโลก เป็นกุศล หรือเปล่า เป็นหรือไม่เป็น เป็นโลภะ ก็ต้องเป็นโลภะ จะเป็นกุศลได้อย่างไร ธรรมที่ปรารถนา เพราะว่าทุกคนเกิดมาแล้ว ที่เกิดมา มีโลภะ ยังไม่ได้ดับโลภะเลย เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดมาแล้ว โลภะ ก็ปรารถนา ธรรม ๔ ประการซึ่งไม่ทราบมีใครปฏิเสธว่า ไม่ต้องการประการ ๑ ประการใดบ้างหรือเปล่า ประการที่ ๑ ขอโภคสมบัติจงเกิดแก่เรา อันนี้ขอ แต่ ก็ยังมีสติ ที่จะรู้ว่า โดยทางที่ชอบ เพราะฉะนั้น ก็ต้องแยกกัน ขณะที่ขอโภคสมบัติจงเกิดแก่เรา ขณะนั้นเป็นอกุศล เป็นโลภะ แต่โดยทางที่ชอบ ไม่ใช่โดยทาง ทุจริต ถ้าไม่ใช่โดยชอบ ก็คือย่อมทำการที่ไม่ควรทำ บุคคล มี อภิชฌาวิสมโลภะ ครอบงำแล้ว ย่อมทำการที่ไม่ควรทำ เพราะฉะนั้น ก็มี ๒ อย่าง สมโลภะ กับวิสมโลภะ แต่ว่าขอให้พิจารณาถึงสิ่งซึ่งเป็นที่ปรารถนา รักใคร่ ชอบใจของทุกคนในโลก ก็คือ ขอโภคสมบัติ จงเกิดแก่เรา แต่ว่า ถ้ามีความคิดว่าโดยทางที่ชอบ ก็ขณะนั้น ก็ไม่คิดที่จะแสวงหา โภคสมบัติ ในทางที่เป็นอกุศล ชีวิตนี้เกิดขึ้น ที่ละ ๑ ขณะสลับกันอย่างรวดเร็ว ขณะที่อยากมีโภคสมบัติ ขณะนั้นต้องเป็นอกุศล แต่ขณะที่มีความเห็นที่ถูกต้อง คือ ไม่เป็นไปในทางทุจริต ขณะนั้นก็เป็นความเห็นที่ชอบ ประการที่ ๑ แต่ให้ทราบว่า ไม่มีใครที่ ไม่มีอารมณ์ที่น่าปรารถนาคือโภคสมบัติ เพราะฉะนั้น โภคสมบัติ นี่หาได้ยากในโลกไหม ที่หากันทุกวัน หาโภคสมบัติ ถ้าไม่ต้องหาก็หาได้ง่าย แต่นี้หาได้ยากในโลก คือต้องกระทำกิจการงาน ต้องแสวงหาทางที่จะให้ ได้โภคสมบัตินั้นๆ ความปรารถนาข้อที่ ๑ ทุกคนมี ทีนี้ต่อไปก็จะได้พิจารณาว่า เมื่อมีความปรารถนา ข้อที่ ๑ ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยาก เพราะต้องหา โภคสมบัติ เมื่อได้โภคสมบัติโดยทางที่ชอบแล้ว

    แค่นั้นพอไหม ได้แล้ว โภคสมบัติมีแล้ว ก็ยังปรารถนาต่อไป ขอยศจงมีแก่เราพร้อมกับญาติ พร้อมกับพวกพ้อง นี่เป็นธรรมประการที่ ๒ อันเป็นที่ปรารถนารักใคร่ ชอบใจ หาได้ยากในโลก ความปรารถนาไม่เคยสิ้นสุดเลย ตัวคนเดียว ทำทุกอย่าง แต่ว่าถ้ามีพวกพ้อง ก็ยังมีผู้ที่ช่วยเหลือ สงเคราะห์ในกิจการงานต่างๆ ได้ แม้ว่ามีทรัพย์แต่ก็ต้อง มีการกระทำ ซึ่ง การกระทำนั้นก้ต้องอาศัย พวกพ้อง คือบริวาร ยศ ต้องการไหม ทุกคนก็ต้องการ ไม่มีใครที่อยากจะเกิดมาตัวคนเดียวในโลก ไม่มีเพื่อน แล้วก็ไม่มีพวกพ้อง

    ประการที่ ๓ ครั้นได้โภคสมบัติโดยทางที่ชอบแล้ว ได้ยศ พร้อมกับญาติ พร้อมกับพวกพ้องแล้ว ความปรารถนาต่อไปก็คือ ขอเราจงเป็นอยู่นาน รักษาอายุอยู่ได้ยั่งยืน นี้เป็นธรรมประการที่ ๓ อันเป็นที่ปรารถนารักใคร่ ชอบใจ หาได้ยากในโลก ธรรมที่ทรงแสดง เป็นความจริงทุกประการ ที่จะเตือนให้รู้สึกตัว ว่าโลภะ เป็นไปในทางไหนบ้าง เป็นไปในโภคสมบัติ เป็นไปในบริวารสมบัติ คือพวกพ้อง เมื่อได้แล้ว อยากจะตายเร็วๆ หรือเปล่า มีทั้งโภคสมบัติ มีทั้งบริวารสมบัติ ก็ขอให้มีอายุยืน นี่ก็เป็นธรรมที่หาได้ยากในโลก เพราะว่าจะยืนแค่ไหน ยืนเท่าไรก็ไม่พอ ถ้าอายุสัก ๒๐ ก็ยังไม่อยากตายแล้ว ๓๐ ยังอยู่ต่อไปอีก ๔๐, ๕๐, ๖๐, ๗๐, ๘๐, ๙๐, ๑๐๐ ถามคนที่อายุร้อยหนึ่งว่าพอไหม จะตอบว่าอย่างไร ไม่พอ ถ้าสามารถจะอยู่ได้เหมือนบนสวรรค์ มีอายุทิพย์ ก็ไม่อยากที่จะจาก โลกนี้ไป เพราะฉะนั้น ก็เป็นธรรมที่หาได้ยากในโลก เพราะเหตุว่ายากที่จะเป็นไปได้

    ประการที่ ๔ คือรู้แน่ว่าอย่างไรก็ต้องตาย ครั้นได้โภคสมบัติโดยทางที่ชอบแล้ว ได้ยศพร้อมกับฐาติ พร้อมกับพวกพ้องแล้ว เป็นอยู่นาน รักษาอายุอยู่ได้ ยั่งยืนแล้ว เมื่อกายแตก ตายไป ขอเราจงไป สุคติโลกสวรรค์ นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ อันเป็นที่ปรารถนา รักใคร่ชอบใจ หาได้ยากในโลก

    ผู้ฟัง รู้สึกว่าเราผู้ครองเรือน เป็นคฤหัสถ์ โอกาสที่จะห่างไกลจากโลก จากโลภะ รู้สึกจะเป็นไปได้ยาก แต่ว่าโลภะ ตามธรรมใน ๔ ประการนี้ คงจะไม่ถึงเป็นเหตุให้ตกนรก

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าผู้ที่ไม่มีโลภะ คือพระอรหันต์ แสดงให้เห็นว่า แม้เป็นพระอริยบุคคลแล้ว ก็ยังมีความติดข้อง แล้วแต่ว่าระดับขั้นนั้น เป็นระดับไหน

    เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่ได้เป็น พระอริยบุคคล ก็คิดดูถึงใจของเรา ว่าเราจะติดข้อง หนาแน่นมากมายสักเท่าไร โดยความที่ยังไม่เป็นพระอริยบุคคล แต่เมื่อเป็นพระอริยบุคคลแล้ว ความปรารถนาในทางที่เป็นอกุศล อยากได้ นะ อยากได้ ทั้งลาภ ทั้งยศ ทั้งอายุยืน แต่ว่าไม่เป็นไปในทางที่เป็นอกุศล ที่จะทำให้ไปสู่อบายภูมิ

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ขณะนี้ สะสมมาอย่างไร ทุกขณะจิตที่เกิดขึ้น คนอื่นทำให้เกิดไม่ได้ แม้เราเองก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีเรา แต่ทุกขณะที่เกิดขึ้น มีปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น แต่ละขณะจิต ย่อมเป็นไปตามปัจจัย แต่พระธรรมก็ได้ทรงแสดง ให้พิจารณาให้เข้าใจถูกต้อง ตามความเป็นจริงว่า แม้ยังมีอกุศล แต่ก็ควรถึงการกระทำ คือ กุศลกรรมด้วย มิฉะนั้นแล้ว เราก็จะมีแต่ อกุศลมากมาย

    ผู้ฟัง คนเราเวลารับราชการ หรือทำงาน มันต้องการ ๔ อย่างนี้แน่ๆ แต่พระพุทธองค์ ทรงแสดงธรรม อีก ๔ อย่าง คือทั้งยศ ทั้งทรัพย์ ทั้งอายุยืน ทั้งขึ้นสวรรค์ โดยที่จะต้องมี ทั้งศรัทธา ทั้งศีล ทั้งจาคะ และทั้งปัญญา

    ท่านอาจารย์ คงไม่ใช่แต่เฉพาะผู้ที่ทำงาน หรือราชการอย่างที่คุณสุรีย์ กล่าวถึง เพราะเหตุว่า ธรรม เป็นเรื่องจริง เมื่อยังมีกิเลสอยู่ ใครจะไม่พอใจในโภคสมบัติ หรือว่าในบริวารสมบัติ คือ พวกพ้องมิตรสหาย หรือว่าเมื่อได้แล้วก็อยากที่จะมีอายุยืน แล้วเมื่อรู้แน่ว่าต้องตาย ก็ขอให้เกิดในสวรรค์ ทุกคนปรารถนาอย่างนี้หรือเปล่า แน่นอน มีใครปฏิเสธว่าไม่จริง บ้างไหม นี่เป็นพระพุทธพจน์ แล้วก็สิ่งใดที่เป็นความจริง ต้องค่อยๆ พิจารณาว่า หนทางที่จะให้ได้มา คืออย่างไร เพราะเหตุว่าเมื่อเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา หาได้ยากในโลกแล้ว สิ่งที่ได้มา ได้มาจากไหน เพราะว่าบางคนอาจจะคิดว่าต้อง ทำทุจริตแล้วก็ได้มา แต่ความจริงทั้งหมดนี้ ต้องมาจากถึงการกระทำ ที่เป็นกุศล

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ เรามี แต่โลภะ มีความปรารถนา มีความต้องการใน ๔ อย่างนี้ หรือว่ามีการถึงการกระทำที่เป็นกุศลกรรมด้วย ซึ่งก็จะได้พิจารณา ว่าพระผู้มีพระภาค ได้พิจารณาหนทางที่จะทำให้ ได้สิ่งที่ปรารถนาทั้ง ๔ ประการ ซึ่งเป็นเรื่องของกุศลทั้งสิ้น ประการแรก คือ ศรัทธาสัมปทา

    ศรัทธาสัมปทา คือความเชื่อในการตรัสรู้ ในคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงสภาพธรรม ที่ได้ตรัสรู้ตามความเป็นจริง ในเรื่องของผล ในเรื่องของเหตุ เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่กล่าวไว้ ก็เป็นสิ่งซี่ง ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเหตุว่า เมื่อพระผู้มีพระภาค ทรงแสดงเรื่องของกุศลกับ อกุศล ก็เป็นสิ่งที่มีจริง แล้วก็ทรงแสดงว่า ธรรมที่น่าปรารถนาทั้งหมด จะได้มาก็เพราะกุศล ไม่ใช่ได้มาเพราะอกุศล

    กุศลประการแรกก็คือ ศรัทธา ความเชื่อในการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อันนี้ก็จะมีได้ ก็ต่อเมื่อได้ฟังพระธรรม แล้วก็ได้เข้าถึงความเข้าใจในอรรถ ในความหมายของพระธรรมที่ทรงแสดง จึงทำให้บุคคลนั้น มีศรัทธาสัมปทา คือมีความเชื่อถึงพร้อมด้วยความเชื่อ หรือว่าความผ่องใสของจิตที่มั่นคง ในคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มิฉะนั้นก็เพียงแต่ เชื่อว่าพระองค์ทรงตรัสรู้ แต่ไม่ทราบว่าสอนอย่างไร เพราะฉะนั้น การกระทำก็เป็นไปในทางที่ตรงกันข้าม กับคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ เพราะฉะนั้น ในการที่เราฟังธรรม พิจารณาธรรม ก็เพื่อเพิ่มศรัทธา ในการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ่งขึ้น ไม่ทราบข้อนี้มีใครสงสัยไหม ศรัทธาสัมปทา ถึงพร้อมในการเชื่อพระปัญญาคุณที่ทรงตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง ยัง

    ท่านอาจารย์ มีแต่ว่ายังไม่ถึงพร้อม เพราะฉะนั้น ก็ศึกษาต่อไป เพื่อที่จะได้มั่นคงยิ่งขึ้น ถึงพร้อมด้วยศรัทธาที่ไม่หวั่นไหว ผู้ที่มีศรัทธาที่ไม่หวั่นไหว เป็นใคร

    ผู้ฟัง พระโสดาบัน

    ท่านอาจารย์ ไม่หวั่นไหวเลย มั่นคง เมื่อมีศรัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธาแล้ว การกระทำของเราก็ ไม่เป็นไปในทางทุจริต คือเป็นผู้ที่เว้นจาก ปาณาติบาต การทำลายชีวิตของบุคคลอื่น สัตว์อื่น เว้นจาก อทินนาทาน การถือเอาสิ่งของที่บุคคลอื่นไม่ได้ให้ เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ความประพฤติผิด ในกาม เว้นจากมุสาวาท การพูดสิ่งที่ไม่จริง เว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่ง ความประมาท

    วันก่อนนี้ก็ได้สนทนาธรรมกับท่านผู้หนึ่ง ที่ท่านก็ดื่มสุรามาก ในวัยหนึ่ง ท่านก็อธิบาย ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา หลังจากที่ได้ดื่มสุราแล้ว ก็เป็นเรื่องของอกุศลมากมายหลายประการ ทุกอย่างจะค่อยๆ มา ตามขณะที่ดื่มสุราจนกระทั่งเมา เพราะฉะนั้น ถ้าเว้นได้ก็เว้น เหตุอันเป็นที่ตั้งของความประมาท

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 108
    25 มี.ค. 2567