ปกิณณกธรรม ตอนที่ 685


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๘๕

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ คำว่า ภัย อุปัติถวะ และ อุปสรรค ซึ่งเกิดจากคนพาล เป็นสิ่งที่ไม่ราบรื่น แล้วก็จิตก็ไม่สบายใจ ไม่สงบ กระสับกระส่าย หาทางต่างๆ ที่จะแก้ไข ความขัดข้องนั้น เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นก็ ไม่ใช่สภาพที่เป็นปกติ

    ผู้ฟัง ในนี้บอกว่าอาการแห่งจิต ที่ไม่มีอารมณ์เป็นหนึ่ง เดี๋ยวพวกก็จะไปเจิรญสมาธิกันก่อน

    ท่านอาจารย์ หรืออาจจะเข้าใจผิดว่า ไม่มีเอกัคคตาเจตสิก ถ้าศึกษาต่อไปอีกใช่ไหม ก็จะใช้คำว่า ลักษณะของเจตสิก ที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง เกิดกับจิตทุกขณะ แต่ที่นี่บอกว่า อาการแห่งจิตที่ไม่มีอารมณ์เป็นหนึ่ง เพราะฉะนั้น เวลาที่ฟังธรรมก็ต้องพิจารณาด้วย ว่าถ้ามิฉะนั้น ก็ต้องขัดกับที่ทรงแสดงไว้ในพระอภิธรรมว่า เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ แต่พระธรรมไม่ได้ขัดกันเลย เพียงแต่ว่าทรงแสดงมุ่งหมายอย่างไร ในที่นี้ ถ้ามุ่งหมายว่า เวลาที่เกิดความกลัวขึ้น เพราะต่อไปจะเป็นเรื่องโจร ก็แสดงให้เห็นชัด แต่ว่าก็ไม่จำเป็นที่จะต้อง คิดตามนั้นทุกคำ เพราะว่าติดตามนั้นทุกคำ เดี๋ยวก็เกิดความสงสัยอีก แต่ว่าเมื่อฟังแล้ว มีความเข้าใจว่าภัยทั้งหลาย ก็เป็นสิ่งซึ่งทำให้เรา หวาดกลัว จึงใช้คำว่า ภัย แล้วก็เวลาที่ หวาดกลัวแล้วจิตของเรา ก็ย่อมจะกระสับกระส่าย หาทางที่จะพ้นภัย ขณะนั้นบอกว่าไม่มีอารมณ์เป็นหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย มิฉะนั้นพระธรรมก็จะค้านกันไปหมด ถ้าเราเข้าใจอย่างนั้น ตามตัวหนังสือ ต้องเข้าใจว่า ทรงมุ่งหมายอย่างไร

    ถ้าพูดถึงต่อไป ก็เป็นเรื่องของปัญญาทั้งนั้น แม้แต่ขณะนั้นเกิดขึ้น ก็ต้องรู้ว่าเป็นธาตุ ไม่ใช่เรา ก็เป็นธรรม ซึ่งก็ได้ทรงแสดงไว้ครบถ้วนใน พระไตรปิฎก เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวถึงสูตรใด ก็หมายความว่าต้อง ตามข้อความที่ได้กล่าวไว้ในสูตรอื่นที่จะไม่ขัดแย้ง แล้วก็ต้องสอดคล้องกันด้วย

    ผู้ฟัง ข้อขัดข้อง คือ อกุศลจิต แต่เราไม่สามารถจะชี้ชัด ลงไปได้ว่ามันเป็น เจตสิกตัวไหน อย่างกลัว นี้ เราเข้าใจว่าเป็นโทสะ เป็นหนึ่ง เราเข้าใจว่าเป็นเอกัคคตา แต่พอไปถึงขัดข้องแล้วก็คิดไม่ออก

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นปัญญาที่สามารถจะรู้ลักษณะของจิตในขณะนั้นได้ ขณะนั้นต้องมีลักษณะของ อุทธัจจเจตสิกด้วย

    ผู้ฟัง ถ้าจะรวม นี่คือตัวอุทธัจจะ มันจะซัดส่ายไปที่กลัว จะซัดส่ายไปในเรื่อง เป็นเอกัคคตา

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่ อกุศลจิตเกิดจะต้องพร้อมด้วยโมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ และอุทธัจจะ เห็นปัญญาความต่าง ของเรากับของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ใช่ไหม ยังคงไม่ต้องไปถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ภิกษุที่ได้ฟังพระธรรมในครั้งนั้น เช่น ท่านพระอานนท์ ขณะนี้จิตเกิดดับนับไม่ถ้วนเลย ปัญญาต้องถึง ระดับไหน ที่สามารถที่จะแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรม สืบต่อกันจนกระทั่ง ทรงแสดงโดยประการทั้งปวง โดยนัยของธาตุต่างๆ ด้วย

    ผู้ฟัง อุปสรรคในที่นี้ จะกล่าว ถึง ไม่ได้ดั่งใจหรือเปล่า ขัดข้องใจ ก็คือทำอะไร แล้วก็ไม่ได้ดังใจ ก็เลยรู้สึกหงุดหงิด ก็เลยเป็นอุปสรรค

    ท่านอาจารย์ อย่างที่เข้าใจ คำว่า อุปสรรค

    ผู้ฟัง แล้วจะกล่าวรวมถึงโลภะด้วยไหม ถ้าเราจะคิด ไปไกลถึงขนาดนั้น

    ท่านอาจารย์ พูดถึงขณะจิต หรือเหตุให้เกิด เพราะว่า จิตเกิดดับสืบต่อเร็วมาก

    ผู้ฟัง ก็คงต้องกล่าวรวมทั้งเหตุ และขณะจิตด้วย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องถ้าศึกษาโดยละเอียด พร้อมกับเป็นผู้ที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ในขณะนั้นด้วยสติสัมปชัญญะ มิฉะนั้นก็จะเป็นเพียงชื่อ ที่เราอยากจะรู้ว่าตรงนั้น มี อันนี้ไหม ตรงนี้มีอันนี้ไหม อันนั้นคืออะไร แต่ก็คือไม่ได้รู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมนั้น จนกว่าสติสัมปชัญญะจะเกิด แล้วก็รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    ผู้ฟัง มีบรรยายในเทป เกี่ยวกับผู้ถาม บอกว่า ลักษณะของความตั้งมั่น กับความสงบ หรือว่าเอกัคคตา จะต่างกับความสงบไหม ท่านอาจารย์ก็กล่าวว่า ก็ต่างกันเนื่องจากว่า เอกัคคตาเจตสิก คือลักษณะของความตั้งมั่นแค่นั้น แต่ความสงบคือ คำตอบตรงนั้นเมื่อมี ดิฉันจะเรียนถามท่านอาจารย์ตรงนี้ว่า ความสงบตรงนั้นคงจะได้แก่ เจตสิกที่เกี่ยวกับ จิตปัสสัทธิ กายปัสสัทธิ ตรงนั้นจะตรงไหม

    ท่านอาจารย์ ใช่ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณ

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ปรากฏอีก ใช่ไหม กายปัสสัทธิ จิตปัสสัทธิ ถ้าจะปรากฏก็ต้องเกิดกับปัญญา ขณะที่กำลังฟัง เข้าใจลักษณะของกายปัสสัทธิ กับจิตปัสสัทธิ ต้องมี แต่ปรากฏหรือเปล่า

    ผู้ฟัง แล้วพอมาถึงตรงนี้ ก็เลยเป็นลักษณะของเอกัคคตา ที่สามารถที่จะเกิดกับ อกุศลก็ได้ แล้วก็กุศลก็ได้ ตรงนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกขณะ

    ผู้ฟัง ผู้ที่ไม่ค่อย ยังไม่ได้ศึกษา จะเข้าใจไปว่า ถ้าเป็นสมาธิ แล้วก็จะเกิดกับ เฉพาะกุศลเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ นี่ต้องละเอียด ขณะนี้ ไม่เดือดร้อน มีอุปสรรคหรือเปล่า ขณะนี้ มีไหม

    ผู้ฟัง ก็มี

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้หรือ อะไรเป็นอุปสรรค

    ผู้ฟัง คือก็ไม่ได้ตั้งใจฟังตลอด อะไรอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ เดือดร้อนไหม อุปสรรค

    ผู้ฟัง อุปสรรค คืออ่านไปแล้วก็ไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ นี้เป็นเหตุที่เราต้องสนทนาธรรม แล้วค่อยๆ พิจารณาธรรมโดยละเอียดให้เข้าใจ ถ้าใครสามารถที่จะเพียงฟัง เหมือนในครั้งโน้น หรืออ่านจบ แล้วก็เข้าใจทั้งหมดในครั้งนี้ ก็ต้องพิจารณาว่า ที่จบสามารถเข้าใจได้เพียงแค่ไหน เข้าใจลึกถึงขนาดที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมนั้นหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เพราะอันนี้ก็มีประโยชน์ ในการที่เราพิจารณา เรื่องราวอะไรก็ตาม ถ้าเราพิจารณาเป็นขณะจิต เราก็ไม่ปะปน องค์ธรรมคืออะไรในอุปสรรค เหมือนที่ดิฉันมี เมื่อกี้นี้ แต่พออาจารย์บอกว่าซัดส่าย ปุ๊บ พอเรานึกถึงขณะจิต จิตเขาซัดส่ายแล้วนะ แล้วซัดส่ายไปในไหน โลภะ โทสะ โมหะ อันนี้ก็คืออุปสรรคแล้ว อันนี้ของคุณ

    ผู้ฟัง แต่ถ้าเราไม่ได้ศึกษาอะไร เราก็ จะไม่รู้เลยว่า ธาตุมันจะมีอะไรบ้าง ที่เกิดขึ้นกับเรา ตรงนี้ ใช่ไหม ที่ประโยชน์ที่จะต้องศึกษาแต่ละอย่าง

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่ไม่ศึกษา กับผู้ที่ศึกษา ก็มีความต่างกันอยู่แล้วว่า ถ้าไม่ศึกษาจะไม่รู้อะไรเลย และอีกประการ ๑ ประโยชน์สูงสุดที่ศึกษาคือเพื่อ ความรู้ความเข้าใจของตัวเอง หรือว่าสภาพธรรมที่เป็นกุศล ถ้าคนอื่นเขาบอกว่าไม่ใช่กุศล เราจะเชื่อไหม แต่ว่าตามความเป็นจริง ก็คือว่าเมื่อได้พิจารณาแล้ว ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ อย่างที่ทรงแสดงโดยศัพท์ว่า ภัย อุปัติถวะ อุปสรรค ทั้งหมดต้องไม่ดี ใช่ไหม เพราะเกิดจากคนพาล แค่นี้เราก็ทราบได้ เช่น เราจะพิจารณา คำว่า อุปสรรค แต่อุปสรรคมีหรือเปล่า ในขณะนี้ กับเวลาที่เราไม่ต้องพิจารณาอะไร แต่เราใช้คำว่า อุปสรรค ลักษณะของอุปสรรคขณะนั้น คืออย่างไร เราก็ต้องรู้ได้ ว่าขณะนั้นสิ่งนั้นเราเข้าใจว่าเป็นอุปสรรค เมื่อสิ่งใดยังไม่เกิด คิดอย่างไรก็คิดไม่ออก หรือว่าแม้แต่สิ่งที่กำลังมีแล้วเกิด ดับ อย่างเร็ว แล้วเราพยายามที่จะเข้าใจ ให้ตรงลักษณะแต่ละอย่าง ก็เป็นไม่ได้ เพราะเหตุว่าจะต้องเข้าถึงอรรถของลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    ข้อความที่ว่า พึงทราบความต่างของอาการมีความกลัว เป็นต้น อย่างนี้ คือพวกโจรที่อาศัยอยู่ในที่อันไม่สม่ำเสมอ มีภูเขา เป็นต้น ส่งข่าวแก่ชาว ชนบทว่า ในวันโน้นพวกเราจะเข้าปล้นบ้านของพวกท่าน จำเดิมแต่ได้ฟังพฤติการนั้นแล้ว พวกชาวชนบทย่อมถึงความกลัว ความสะดุ้ง มีชื่อว่า ความสะดุ้งแห่งจิต นี่คือคำอธิบายของท่านอรรถกถา ก็เปรียบเหมือนโจร ที่ส่งข่าวไปบอกว่าจะปล้น เพราะฉะนั้น ชาวบ้านชาวชนบท ย่อมถึงความกลัว ความสะดุ้ง นี้ชื่อว่า ความสะดุ้งแห่งจิต ส่วนข้อความต่อไป อาการที่จิตไม่มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ก็คือพวกชาวชนบท พากันคิดว่า ทีนี้พวกโจรมันโกรธ จะนำเอาแม้ความพินาศมาสู่พวกเรา พอได้ยินข่าวก็กลัว แล้วต่อไปคือความกระสับกระส่าย จากความกลัวนั้น จึงถือเอาของสำคัญๆ เข้าป่าไปพร้อมกับสัตว์ ๒ เท้า และสัตว์ ๔ เท้า นอนบนพื้นดินในที่นั้นๆ ถูกเหลือบยุง เป็นต้นกัด ก็เข้าไประหว่างพุ่มไม้ เหยียบย่ำตอ และหนาม ภาวะที่ชาวชนบทเหล่านั้น เที่ยวซัดส่ายไปอย่างนี้ ชื่อว่าอาการที่จิตไม่มีอารมณ์เป็นหนึ่ง เนื่องมาจากภัย คือความกลัว แต่นั้นเมื่อพวกโจรไม่มาตามวันที่พูด ก็พากันคิดว่า ข่าวนั้นคงจะเป็นข่าวลอยๆ พวกเราควรจะเข้าบ้าน พร้อมทั้งสิ่งของ ก็พากันเข้าไปยังบ้าน ทีนั้นพวกโจรรู้ว่าชาวบ้านกลับมาบ้าน จึงล้อมบ้านไว้ จุดไฟที่ประตู ฆ่าพวกมนุษย์ ปล้นเอาทรัพย์สมบัติทุกสิ่งไป บรรดามนุษย์เหล่านั้น พวกที่เหลือจากถูกฆ่า พากันดับไฟแล้ว นั่งจับเจ่าเศร้าโศก ถึงสมบัติที่พินาศไปแล้ว ในที่นั้นๆ ที่ร่มเงา ยุ้งข้าว และฝาเรือน เป็นต้น อาการที่ติดขัดดังกล่าวนี้ชื่อว่าอาการขัดข้อง

    ซึ่งการที่ท่านพระอรรถกถา ท่านกล่าวตอนนี้ ก็เพื่อที่จะให้เราไม่ข้าม ที่ท่านกล่าวถึงภัยเกิดจากคนพาล พอรู้ว่าภัยทั้งหมด เกิดจากคนพาลแล้ว

    ข้อความต่อไปที่ว่า พวกมนุษย์ พากันทิ้งบ้าน ต้องการที่ปลอดภัย ถ้ารู้ว่าภัยจะมา ไม่อยู่แล้วใช่ไหมตรงนั้น ภิกษุก็ดี ภิกษุณีก็ดี ที่อาศัยพวกมนุษย์ เหล่านั้นอยู่ ก็ละทิ้งที่เป็นที่อยู่ของตนๆ หลีกไป แม้ภิกษุ ภิกษุณีก็ไปด้วย ไม่อยู่ ไม่พบกับคนพาล เพราะเหตุว่าคนพาลย่อมนำความเสื่อมหรือว่านำภัยต่างๆ มาให้ ในที่ที่ผ่านไป ภิกษาก็ดี เสนาสนะก็ดี ย่อมเป็นของหายาก ภัยย่อมจะมีมาแก่บริษัททั้ง ๔ ด้วยประการอย่างนี้ แม้ในบรรพชิตทั้งหลาย ภิกษุ ๒ รูปก่อการวิวาทกัน เริ่มฟ้องกันขึ้น ดังนั้นการทะเลาะกันย่อมเกิดขึ้น เหมือนพวกภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ภัยย่อมมีแก่บริษัททั้ง ๔ เป็นแน่แท้ ภัยแม้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้น พึงทราบว่าเกิดจากคนพาลด้วยประการดังพรรณามา ฉะนี้ เตือนให้เห็นก่อน ว่าภัยมาจากไหน เพราะฉะนั้น ภัยต้องมาจากคนพาล ท่านพระอานนท์จึง ได้ทูลถามเรื่องความต่างของพาล กับบัณฑิต ว่าบุคคลเช่นไร ชื่อว่า เป็นบัณฑิต เพราะว่าได้รู้แล้วว่า ภัยทั้งหลาย ย่อมมาจากคนพาล อันนี้ก็เป็นประโยชน์ ที่จะให้เราเห็นตัวของเรา ว่ากว่าจะเป็นบัณทิตได้ ต้องรู้อย่างนั้น ตามที่ได้แสดงต่อไป โดยละเอียด มิฉะนั้นก็ยังเป็นพาล ซึ่งอาจจะเป็นภัยสำหรับคนอื่นด้วย และภัยทั้งหลายที่เกิด ก็ต้องเกิดจากคนพาลทั้งนั้น ไม่ว่าเราหรือเขา

    ผู้ฟัง ขออนุญาต คำว่า ขัดข้อง คือติดข้อง อันนี้ใช่ แต่ว่ามันก็ซัดส่ายไป ในโลภะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การที่เรา จะเข้าใจ เราก็ต้องตามอรรถกถาด้วย เช่น ข้อความที่ว่า บรรดามนุษย์ เหล่านั้น พวกที่เหลือจากถูกฆ่า พากันดับไฟแล้ว นั่งจับเจ่าเศร้าโศก ถึงสมบัติที่พินาศไปแล้วที่นั้นๆ ที่ร่มเงายุ้งข้าว และฝาเรือน เป็นต้น อาการที่ติดขัดดังกล่าวนี้ชื่อว่า อาการขัดข้อง แล้วก็ค่อยต่อไปถึงขัดข้องเรื่องอื่นๆ ทั้งหมด แต่ให้ทราบในที่นี้ท่าน ให้เห็นเรื่องของภัย เรื่องของอุปัติถวะ เรื่องของอุปสรรค

    ผู้ฟัง เรื่องคนพาล ขณะที่คนพาล เขาก็มีเรื่องกัน แล้วเขาก็ทำให้บัณฑิตเดือดร้อนไหม หรือว่าเราเป็นบัณฑิตแล้วเราไม่เดือดร้อน

    ท่านอาจารย์ เป็นบัณฑิต ชื่อว่าอย่างไร จึงเป็นบัณฑิต มีคำตอบ

    ผู้ฟัง คนพาลก็ทำให้บันฑิตเดือดร้อนเหมือนกัน ยกตัวอย่าง เช่น คราวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จกรุงโกสัมพี ใช่ไหม แล้วก็พระอานนท์เป็น ปัฏฐาสมณะ เสด็จตาม พระนางมาคันทิยา พระมเหสีพระเจ้าอุเทน ให้ทาสชายหญิงมาด่าด้วยวัตถุ ๑๐ ประการ ด่าอยู่ ๗ วันนะ ๗ วัน ๗ คืนนะ ด่าวัตถุ ๑๐ ประการ มึงเป็นอูฐ มึงเป็นลา มึงเป็นสัตว์เดรัจฉาน อะไรต่ออะไร พระอานนท์เดือดร้อน พระอานนท์เป็นบัณฑิตหรือเปล่า พระอานนท์เป็นบัณฑิต เพราะท่านเป็นพระโสดาบัน เป็นบัณฑิต แต่ท่านเดือดร้อน ท่านยังไม่หมด กิเลสท่านยังไม่หมด กิเลสท่านยังอยู่ ท่านยังข้องอยู่ ในเสียงด่า ก็เดือดร้อน แต่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ตรัสว่า พระอานนท์ทูลให้เสด็จไปที่อื่น ที่เขาไม่ด่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็บอกว่า ที่อื่นถ้าเขาด่าทำอย่างไร ก็ไปเมืองอื่นอีก สุดท้ายก็ไม่มีที่จะไป ก็เหตุมันเกิดที่ไหนก็ให้มันดับที่นั่น ไม่เกิน ๗ วันพวกนี้มันเมื่อย มันก็จะหยุดเอง

    ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาค ตรัสว่าดูก่อน อานนท์ เพราะภิกษุ เป็นผู้ฉลาดในธาตุ ท่านพระอานนท์ก็ต้องฉลาดในธาตุ มิฉะนั้นท่านเป็นพระโสดาบันไม่ได้ ฉลาดในอายตนะ ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท และฉลาดในฐานะ และอฐานะ แต่เมื่อยังไม่ได้เป็นบัณฑิตอย่างสูงสุด คือ ถึงความเป็นพระอรหันต์ แต่ก็เป็นผู้ที่ได้เป็นบัณฑิตแล้ว จากการรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ที่จะกล่าวว่าเป็นอะไร ไม่เป็นอะไร แทนที่จะเป็นบุคคลนั้นบอก บุคคลนี้บอก ข้อความในพระไตรปิฎก ก็ชัดเจน เช่น ในพระไตรปิฎก รู้เลย พระปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัญญาของท่านพระสารีบุตร ปัญญาของท่านพระอานนท์ ปัญญาของพระสาวกทั้งหลายในครั้งนั้น เพราะฉะนั้น ของใครก็ของคนนั้น แต่เราจะต้องอบรมจนเป็นปัญญาของเราเอง ที่จะเข้าใจในปัญญาของบุคคลที่ ท่านเข้าใจแล้ว

    ผู้ฟัง แต่เวลากราบเรียนถามท่านอาจารย์ รู้คำตอบอยู่นิดหนึ่ง แต่ท่านอาจารย์ตอบให้กว้างขวางออกไป ตรงนี้ ที่เป็นประโยชน์จริงๆ

    ท่านอาจารย์ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ต้องพิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังด้วย

    ผู้ฟัง สติ และปัญญาเราไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ ประโยคที่คุณสุกิจกล่าว แล้วที่นี้สติ และปัญญาของเราไม่เกิด จริง แต่ประโยชน์ที่ได้ตรงนี้คืออะไร เพราะว่า แม้ว่าประโยคที่กล่าวนี้จริง แต่ว่าจะพิจารณาได้ประโยชน์ หรือไม่ได้ประโยชน์ ถูกหรือผิด ถ้าอยากจะให้สติเกิด เพราะประโยคเมื่อกี้นี้ กับการที่มีความเข้าใจถูกแม้นิดเดียวว่า เป็นอนัตตา ใครก็ไปบังคับสติให้เกิดไม่ได้ ถ้าเข้าใจว่าขณะที่สติไม่เกิด เพราะว่าใครก็บังคับไม่ได้ อย่างนี้ถูกต้องใช่ไหม แต่ถ้าสติไม่เกิด แล้วก็อยากให้สติเกิด แต่สติไม่ได้เกิดเพราะความอยาก อยากทุกวัน พูดทุกวัน แต่ความอยากนั้นไม่เป็นปัจจัยให้สติเกิด กับการที่เราได้มีความเข้าใจแม้เล็กน้อยนิดเดียวว่า เป็นอนัตตาบังคับสติไม่ได้ อย่างไหนจะมีความถูกต้อง และมั่นคงขึ้น เพราะว่าส่วนใหญ่ โดยมากก็จะมีความเป็นเรา ความเป็นตัวตนที่อยากได้ อยากบังคับ อย่างหาทาง ขณะนั้นก็ลืมไปแล้วว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้น เราจะไม่เข้าไปใกล้ถึงลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งเป็นธาตุ หรือว่าเป็นอนัตตาเลย ถ้าเรายังคงมีความคิด แล้วความต้องการว่า ทำอย่างไร แล้วก็เมื่อไรสติปัฏฐาน ถึงจะเกิด เมื่อไม่เกิดก็เห็นชัดอยู่แล้ว ทำไมปัญญาไม่รู้ตรงนี้ ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น โลภะ ก็จะพาไปได้ตลอด แล้วก็ทันทีด้วย

    ผู้ฟัง ขณะที่เราพูดถึงเรื่องของคนพาล มีความรู้สึกว่าตัวเราเองนี่แหละ สามารถจะเป็นคนพาลได้ ในขณะที่โลภะ โทสะ และโมหะนั้นเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ แล้วก็เป็นผู้ตรงด้วย เพราะว่าโลภะ สามารถจะติดข้องได้ทุกอย่าง เว้นโลกุตตรธรรม

    ผู้ฟัง อาจารย์หมายความว่า ขณะที่มีโลภะเกิดขึ้นนั้น ก็เป็นคนพาลแล้ว

    ท่านอาจารย์ คนพาล คือผู้ที่ไม่รู้ความจริง ก็เป็นปัญญาระดับต่างๆ ระดับที่เป็นบัณฑิต คือผู้ที่ รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ก่อนที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ก็ต้องมีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาเลย ตั้งแต่ในเบื้องต้น การรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็มีไม่ได้ นี่ก็เป็นการเตือนให้เรารู้ความจริง ว่าปัญญาของเรา ระดับไหน ระดับฟัง หรือว่ามีการระลึก มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้บ้างแล้ว ถ้าบ้างแล้วก็จะเป็นหนทางที่จะทำให้ ปัญญานั้นสามารถที่จะประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมได้ จนถึงความเป็นบัณฑิต โดยการเป็นพระอริยบุคคล

    ผู้ฟัง ฉะนั้น ตัวเราเองจะต้อง ทราบว่าเราเป็นขนาดไหน

    ท่านอาจารย์ เป็นผู้ศึกษาเพื่อความเป็นบัณฑิต ทางเดียวคือสติปัฏฐาน หนทางเดียว ถ้าไม่ถึงอย่างนี้ อะไรก็ไม่สามารถที่จะละภัย หรือความหวาดกลัวได้ เพราะว่าจริงๆ แล้วก็คือเป็นผู้ที่ฉลาดในธาตุ ในขณะนั้น ธาตุก็คือ สภาพธรรมที่มีจริง แล้วก็ถ้ามีปัญญา จึงจะฉลาดในธาตุ ในขณะนั้นได้ แต่ถ้าปัญญาไม่เกิด แล้วก็ไปเรียนแต่ชื่อธาตุ ขณะนั้นก็ยังไม่ใช่ผู้ที่ฉลาดในธาตุ แต่ธาตุจริงๆ แม้ในขณะนั้น ที่มีความกลัวเกิดขึ้น หนทางเดียว แล้วมีตนเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นที่พึ่ง ก็คือรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น โดยการเป็นผู้ฉลาดในธาตุ เพราะว่ารู้จริงๆ ว่าธรรมกำลังปรากฏ แล้วไม่รู้ แล้วเมื่อไรจะรู้ แต่ถ้ายังไม่รู้ไปเรื่อยๆ พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ก็ไม่มีประโยชน์เลย แต่เพราะเหตุว่าพระธรรมสามารถที่จะทำให้ผู้ที่ฟังพิจารณาแล้วก็เข้าใจขึ้น แล้วก็เห็นแจ้ง ตามความเป็นจริงว่าเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ก็จะรู้ได้ว่า ถ้าไม่รู้จริงๆ ในสิ่งที่กำลังปรากฏ จะไม่เป็นที่พึ่งได้เลย แม้ว่าพระธรรมเราจะกล่าวว่า มีพระธรรมเป็นสรณะก็ตามแต่ แต่ก็ยังไม่ได้เป็นที่พึ่ง

    เพราะฉะนั้น ความรู้จริง ก็เป็นสิ่งที่ต้องรู้ในขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งทุกคนก็เป็นผู้ที่ตรง ที่จะรู้ว่า รู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แค่ไหน ก็ขอกล่าวไปถึงปฏิจจสมุปบาท เพราะว่ารวมอยู่ในความเป็นบัณฑิต เป็นผู้ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท ด้วยขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ รู้ไหม ในสิ่งนั้น ถ้าไม่รู้ อวิชชา ความไม่รู้นี่ เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร ก็มีเจตนาที่เกิดกับกุศล และอกุศล ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะความไม่รู้นั่นเอง ความไม่รู้คงจะไม่ประมาท คิดว่าเล็กน้อยแล้วก็คิดว่าจะเป็นบัณฑิตได้รวดเร็ว แต่ว่าถ้ารู้ว่าความไม่รู้นั้นมากมายสักแค่ไหน ก็จะรู้ได้ว่ากว่าจะเป็นบัณฑิตจริงๆ ต้องเป็นปัญญาจริงๆ ถ้าไม่ใช่ปัญญาจริงๆ ก็ไม่สามารถที่จะเป็นบัณฑิตได้ เช่นโดยมากทุกคนมีความหวัง ถูกต้องไหม ปีใหม่ หวังอะไรหรือเปล่า พอถึงวันขึ้นปีใหม่ วันเกิดพวกนี้ หวังอะไรหรือเปล่า ปกติ

    ผู้ฟัง ผมก็ไม่ได้หวังอะไร หวังว่าจะทำอย่างไร ให้เข้าใจธรรมตามภาษาของปุถุชน

    ท่านอาจารย์ อันนี้ก็เป็นชาวธรรม ถ้าเป็นชาวโลกแล้วเราก็คงยังเป็นชาวโลกอยู่ จะปฏิเสธไหมว่า ไม่ได้หวังอะไร แต่ว่าความหวังจะค่อยๆ ลดลงตามกำลังของปัญญา ถ้าผู้ที่ยังไม่เข้าใจสภาพธรรม อาจจะหวังกันต่างๆ หรือว่าหวังสำหรับกับคนอื่นก็ได้ ให้คนนั้นเป็นอย่างนี้ ให้คนนี้เป็นอย่างนั้น พอถึงปีใหม่ก็อวยพรกัน หวังกัน แต่รู้หรือเปล่าว่าขณะนี้กำลังได้สิ่งที่หวังอยู่ นี่อวิชชามาแล้ว ใช่ไหม หวังได้อะไร ทุกคน หวังได้รูป คือหวังเห็น หวังได้เสียงคือหวังได้ยิน หวังได้กลิ่น หวังลิ้มรส หวังรู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัส มีแล้วในขณะนี้ ใครไม่มีสิ่งที่ได้หวังมาแล้วบ้าง แล้วไม่ใช่หวังเพียงปีนี้ ปีก่อนก็หวัง ชาติก่อนก็หวัง ก็หวังว่าจะได้สิ่งที่ดีๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ไม่รู้ว่าขณะนี้ สมหวังแล้ว

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 108
    25 มี.ค. 2567