ปกิณณกธรรม ตอนที่ 713


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๑๓

    สนทนาธรรม ที่ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่เห็น ก็รู้ว่าเห็นคน เคยเห็นหุ่นไหม

    ผู้ฟัง เคยเห็น

    ท่านอาจารย์ แต่ก็รู้ว่าเป็นหุ่น ใช่ไหม เพราะจิต เป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะของอารมณ์ เหมือนกันอย่างไรก็ตามแต่ จิตก็ยังสามารถที่จะรู้แจ้ง สัญญาก็สามารถที่จะจำอย่างละเอียด จนกระทั่งรู้ได้ว่าขณะนั้นไม่ใช่คน แต่เป็นหุ่น ทั้งๆ ที่บางคนอาจจะต้องไป มองแล้ว มองอีก หรืออาจจะต้องกระทบสัมผัส แล้วถึงจะรู้ว่าเป็นหุ่น

    ผู้ฟัง เมื่อกี้พูดถึงคำว่า อารมณ์ จะอธิบายอย่างไรว่า รูป เป็นอารมณ์ของจิต หรืออารมณ์ของตา อย่างไหนถูก

    ท่านอาจารย์ เมื่อมีจิตแล้ว เป็นสภาพรู้ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้ ไม่ว่าอะไรก็ตาม ทุกอย่างที่จิตรู้เป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่าสิ่งที่จริง คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา เห็นแน่นอน แต่คิดว่าเป็นคน อะไรจริง ๒ อย่าง สิ่งที่ปรากฏาทางตาจริง หรือว่าคนจริง สิ่งที่ปรากฏทางตาจริง อย่างไรๆ ก็ปรากฏ แต่ความคิดว่าเป็นคน จิตก็สามารถที่จะคิดอะไรได้หลายอย่าง

    เพราะฉะนั้น มีการคิด และก็มีการรู้สิ่งซึ่งไม่ใช่ปรมัตถธรรม สิ่งใดก็ตามที่เป็นความคิดต่างๆ นานา ที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรม สิ่งนั้นเป็นบัญญัติ

    เพราะฉะนั้น จิตสามารถที่จะเห็นปรมัตถธรรม แล้วคิดเรื่องราวของปรมัตถธรรม ขณะใดที่เป็นเรื่องราวที่คิด แต่ไม่ใช่สภาพธรรมที่กำลังเป็นอารมณ์จริงๆ ขณะนั้นเป็นบัญญัติอารมณ์

    เห็นคนกำลังเดิน กำลังร้องไห้ กำลังซื้อของ กำลังสนทนากันต่างๆ ทั้งหมดมาจากเห็น แล้วก็ปรุงแต่งเป็นเรื่องราวบัญญัติต่างๆ เพราะฉะนั้น จึงมีปรมัตถธรรมกับบัญญัติ อันนี้ก็คงไม่สงสัย จิตต้องมีอารมณ์ แต่อารมณ์ที่เป็นปรมัตถก็มี อารมณ์ที่เป็นบัญญัติเรื่องราวต่างๆ ก็มี

    ผู้ฟัง ดิฉันเคยสงสัยเหมือนกันว่า เวทนากับสัญญา ทำไมแยกออกมาจากเจตสิก ๕๒ อยากให้อาจารย์พูดถึง ความสำคัญของสัญญาตรงนี้อีกหน่อย

    ท่านอาจารย์ ต่อไปเราจะพูดถึงปรมัตถธรรม ที่แยกออกมาเป็นขันธ์ต่างๆ แต่เราจะไม่ใช้ชื่อ แล้วก็ไปจำชื่อ ไม่มีประโยชน์ แต่ต้องเข้าใจ อย่างจิตเป็นสภาพซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้ง เพราะฉะนั้น ก็ต่างกับเจตสิกทั้งหมดเลย จิต เป็นขันธ์ ๑ ชื่อวิญญาณขันธ์ การที่ใช้คำหลายหลาก ใช้คำว่า จิตบ้าง ใช้คำว่า วิญญาณบ้าง ใช้คำว่า มโนบ้าง มนัสบ้าง ต่อไปก็จะมี หทย ปัณฑระ ต่างๆ เหล่านี้ ก็แสดงให้เห็นว่าก็เพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของจิตโดยประการต่างๆ ถ้าใช้ชื่อเดียว ประเดี๋ยวได้ยินชื่ออื่น ก็คิดว่าไม่ใช่จิตแล้ว แต่ความจริงก็คือจิตนั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวถึงสภาพธรรม มีขันธ์ ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑ ยังไม่อยากให้จำชื่อ แต่อยากให้เข้าใจธรรม ว่าขณะนี้ จิตเป็นวิญญาณขันธ์ เป็นธรรมประเภท ๑ เหมือนกับรูปเป็นธรรมประเภท ๑ รูปเป็นธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น จะไม่ปะปนกับสภาพธรรมอื่นเลย เป็นส่วนของรูปทั้งหมด ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ไกล ใกล้ หยาบ ละเอียด ซึ่งก็คือลักษณะของรูปนั่นเอง รูปทั้งหมดเป็นรูปขันธ์ จิตทั้งหมดเป็นวิญญาณขันธ์

    เพราะฉะนั้น ที่เหลือเป็นอะไร ปรมัตถธรรมมี ๔ ถ้าพูดถึงปรมัตถธรรม ๓ ที่เกิดดับปรากฏในชีวิตประจำวัน ก็จะมีปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูป

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ กล่าวถึงนามธรรม ที่เป็นสภาพรู้อารมณ์ มี ๒ อย่างคือ จิต และเจตสิก ดังนั้น ตา หรือว่าหูที่ได้ยินขณะนี้ จะเป็นนามหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงตา ต่อไปเราก็จะทราบว่า ไม่เห็นอะไร แต่จิตเห็นอาศัยตา เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงเห็น เป็นนามธรรม คือจิต เป็นวิญญาณขันธ์ ถ้าพูดถึงอารมณ์ คือสิ่งที่ถูกเห็น ขณะนั้นต้องเป็นรูปธรรม เพราะว่า สิ่งที่ปรากฏไม่รู้อะไรเลย เป็นรูปธรรม และขณะที่เห็นก็คิดถึงเรื่องราวต่างๆ เป็นจิตหรือเปล่า เป็นอารมณ์หรือเปล่า เป็นอะไร ขณะนั้นก็คือว่า จิตกำลังคิดนึกเรื่องราวต่างๆ เพราะฉะนั้น เรื่องราวต่างๆ ไม่ใช่สี ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ในขณะนั้นก็ เป็นบัญญัติ เป็นเรื่องราวของสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าคิดถึงคนก็เพราะเป็นเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏทางตา กล่าวได้ว่าขณะใดก็ตาม ที่ไม่มีปรมัตถเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง ถ้ากล่าวถึง ตา ถ้าตาไม่ใช่สภาพรู้ ก็ต้องเป็นรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่รู้ไหม เป็นอารมณ์ที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ ทั้งๆ ที่มีตา แต่มีใครเคยเห็น เคยรู้ ลักษณะของปสาทรูปนั้นบ้างไหม เพราะฉะนั้น รูปที่เป็นโคจรรูป รูปซึ่งเป็นอารมณ์จริงๆ ในชีวิตประจำวัน มี ๗ รูป

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่าเสียงปรากฏ ก็ต้องมีสภาพรู้เสียง เสียงคือรูปขันธ์ สภาพรู้คือวิญญาณขันธ์

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เขาก็ต้องเกิดคู่กันอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ จิตรู้ได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตาม ที่จิตเกิดต้องมีอารมณ์ คือ สิ่งที่ถูกจิตรู้ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็มีสมุฏฐานที่ให้รูปเกิด แต่จะเป็นอารมณ์ หรือไม่เป็นอารมณ์ เช่น เสียงในป่า ก็มีสมุฏฐานให้เกิด แต่ถ้าจิตไม่ได้ยินเสียงนั้น เสียงนั้นก็เกิดแล้วดับแล้ว เพราะฉะนั้น เสียงนั้นมีจริง เกิดแล้วดับไป แต่ขณะใดที่จิตไม่ได้รู้เสียงนั้น เสียงนั้นไม่ใช่อารมณ์ของจิต

    อย่างความรู้สึกทุกคนก็มี เพียงแต่ให้รู้ว่าเป็นธรรม แต่ก่อนนั้นเป็นเราทุกข์มากเลย แล้วก็เป็นเราสุขมากเลย หรือไม่ก็เฉยๆ แต่ความจริงลักษณะสุข ลักษณะทุกข์ ลักษณะเฉยๆ ที่มีจริง เป็นธรรม เป็นนามธรรม เรายังไม่ไปพูดถึงว่าจะรู้ หรือไม่รู้เลย แต่มีจริงๆ แล้วก็ให้รู้ก่อน สิ่งที่มีจริง จะต้องเป็น ๑ ใน ๔ ซึ่งเป็นปรมัตถ แต่ปรมัตถที่พ้นไปจากโลก ไม่ใช่ชีวิตประจำวัน คือ นิพพานไม่กล่าวถึง เพราะฉะนั้น ก็จะต้องเป็น ๑ ใน ๓ คือ เป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นรูป

    เพราะฉะนั้น มีไหมเวทนา ใครไม่มีบ้าง เวทนาไม่ได้แปลว่าสงสารมากๆ แต่หมายความถึง ความรู้สึกที่ต้องมีทุกขณะจิต ตราบใดที่มีจิต ก็จะต้องมีเวทนาเจตสิก เป็นขันธ์ ๑ และเจตสิกที่เหลือทั้งหมด ๕๐ เป็นสังขารขันธ์ ถ้าจำแนกปรมัตถธรรม ๓ เป็นขันธ์ ๕ รูปทุกรูปเป็นรูปขันธ์ จิตเป็นวิญญาณขันธ์ เวทนาเจตสิก ๑ เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก ๑ เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลือเป็นสังขารขันธ์

    ผู้ฟัง ขณะที่เห็น หรือได้ยินต่างๆ เรียกว่ามีขันธ์ทั้ง ๕ ประชุมรวมกันครบ

    ท่านอาจารย์ ในภูมิ คือในสถานที่เกิด โอกาสโลก ซึ่งเป็นที่เกิด ที่มีขันธ์ ๕ นามธรรม กับรูปธรรม ต้องอาศัยกัน และกัน จะมีจิตไปเกิดข้างนอกรูปไม่ได้เลย สักจิตเดียว จิตจะต้องอาศัยรูปเป็นที่เกิดด้วย

    เพราะฉะนั้น ในขณะใดที่เป็นภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตเกิดขึ้นก็จะมีทั้ง ๕ ขันธ์ แต่ว่าขณะนั้นจิตจะรู้อะไร เฉพาะสิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิต

    ผู้ฟัง ขณะที่ฟังอยู่นี้ เข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นปรมัตถธรรม เป็นจิต เจตสิก รูป ท่านอาจารย์กำลังอธิบายให้เรารู้ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นปรมัตถธรรม เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง พระผู้มีพระภาค ทรงตรัสรู้อริยสัจจธรรม ธรรมทั้งนั้นเลย

    ผู้ฟัง แต่ด้วยสัญญาก็ยังเป็นเราอยู่

    ท่านอาจารย์ ด้วยสัญญาความทรงจำในรูปร่างสัณฐาน จึงมีการคิดถึงเรืองราวต่างๆ จะเป็นคน จะเป็นสัตว์ จะเป็นวัตถุสิ่งของ ก็คือ สิ่งที่เป็นอารมณ์ในขณะที่จิตคิดเรื่องนั้น ถ้าจิตไม่คิดเรื่องนั้น เรื่องนั้นก็ไม่มี

    ผู้ฟัง แต่ก็เป็นการยากมาก ที่ว่า ไม่มีเรา เพราะยังเป็นเรา

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ขณะนี้ ทุกคนมีอัตตสัญญา สัญญาที่จำว่าเป็นเรา เราเห็น เราได้ยิน เราคิด เราสุข เราทุกข์ ทั้งหมดนี้เป็นอัตตสัญญา ความทรงจำว่าเป็นเรา ซึ่งเป็นความทางจำที่หนาแน่นมาก กว่าเราจะได้ฟังธรรม แล้วค่อยๆ เข้าใจถูก แต่ว่าจะมีอนัตตสัญญาจริงๆ ต่อเมื่อมีสติสัมปชัญญะ แล้วก็รู้ลักษณะของสภาพธรรม จนประจักษ์ความเป็นอนัตตา ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงเริ่มที่จะเป็นอนัตตสัญญา ยากไหม กว่าที่จะไถ่ถอนความเป็นเรา แต่มีหนทาง เพราะว่าเราได้เริ่มฟัง แล้วก็ได้เริ่มเข้าใจ

    ผู้ฟัง ขณะที่ฟังก็เหมือนกับท่านอาจารย์ กำลังเตือน

    ท่านอาจารย์ เตือนให้ไม่ลืม ถ้าจะจากโลกนี้ไป ก็อย่างน้อยไม่ลืม ว่าเป็นธรรม ทุกอย่าง เวลาได้ยินได้ฟังอีกก็เข้าใจ คำนี้คือคำว่า ธรรม หรือขณะที่กำลังมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ ขณะที่กำลังรู้ลักษณะนั้น เข้าใจว่าเป็นธรรม ขณะนั้นก็จะสะสมความเข้าใจที่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เป็นเพียงความเข้าใจ เข้าใจเฉยๆ

    ท่านอาจารย์ เป็นความเข้าใจซึ่งเกิดจากการฟัง เกิดจากการไตร่ตรอง เกิดจากการระลึกได้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นธรรม เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็รู้ตัวเอง ว่าอย่างไรถึงจะมีการรู้ว่าเป็นอนัตตา ความเข้าใจในขั้นการฟังเท่านั้น

    ผู้ฟัง อย่างกรณีที่อัตตสัญญา จำว่าเป็นคน เป็นเรา เป็นบุคคล

    ท่านอาจารย์ มาจากความไม่รู้ เราเกิดมาไม่ใช่ว่าเรารู้ว่าขณะนั้น มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งเป็น ธรรม แล้วจิตที่เห็นก็เป็นธรรม ความรู้สึกขณะนั้นก็เป็นธรรม เราไม่ได้รู้อย่างนี้เลย เราเกิดมาด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ความจำของเราก็คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง คือ จำรูปร่างสัณฐาน จำว่าเที่ยง จำว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    ผู้ฟัง ในชีวิตการทำงาน เราก็จะเจอรูปมากมายเลย ทั้งวันเลย

    ท่านอาจารย์ แล้วเวลาไม่ทำงาน รูปหายไปหรืออย่างไร

    ผู้ฟัง มันเบาลง เพราะความคิดเราไม่ฟุ้งไป

    ท่านอาจารย์ ฟุ้งหมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง เช่น อย่างสมมติว่าเราทำงาน เจ้านายเขาชมเรา เราก็จะเริ่มตามขั้นตอนที่ท่านอาจารย์สอน พอเสียงมาเราก็จำได้ว่า เสียงอย่างนี้เรียกว่า คำชม แล้วก็จะเข้าไปในข้อที่ว่า เป็นเวทนาขันธ์ใช่ไหม รู้สึกสุข แล้วมันก็จะวนอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ สุข เป็น ขันธ์อะไร

    ผู้ฟัง เป็นเวทนาขันธ์

    ท่านอาจารย์ จำได้ เป็นอะไร

    ผู้ฟัง จำได้เป็นสัญญา

    ท่านอาจารย์ คิดนึก เรื่องราวต่างๆ เป็นอะไร สังขารขันธ์ นอกจากเวทนา สัญญา แล้วก็เป็น เจตสิกอื่นก็เป็นสังขารขันธ์

    ผู้ฟัง ถ้าเราได้ยินคำชม นั่นคือ เราต้องแปลความให้ได้ว่า นั่นคือเป็นเสียง อย่างนั้นไหม หมายถึง เราต้องไม่ให้มีความรู้สึกเกิดขึ้นในใจเราว่า เราสุข หรือเราทุกข์ ไม่ให้มันมีเกิดขึ้นในชีวิตเรา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คนที่จะฟังธรรม แล้วจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ก็ตอนที่ว่า คิดว่า เมื่อฟังแล้ว จะไปทำ คล้ายๆ กับว่าต่อไปนี้เราก็จะต้องทำ ความจำให้น้อยลง ไม่ต้องไปจำเรื่องความสรรเสริญ ไม่ต้องไปจำเรื่องอะไรต่างๆ แต่ตามความเป็นจริง ขอให้คิดถึงสัจจะ ความจริง ขณะนี้มีสิ่งที่ปรกาฏเพราะเกิดแล้ว ใครทำให้เกิด เกิดแล้วใช่ไหม เพราะฉะนั้น ถ้าจะเกิดความพอใจอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นมา สิ่งนั้นเกิดแล้ว เป็นเจตสิก และจิต ซึ่งเกิดร่วมกันในขณะที่มีความรู้สึกพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ

    การศึกษาธรรม ไม่ใช่ไปทำ หรือไปคิดว่าต้องให้เป็นอย่างนี้ ต้องให้เป็นอย่างนั้น แต่สิ่งใดที่เกิดแล้วปรากฏ ให้เข้าใจถูก ให้เห็นถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นปกติ ที่จะมีความเห็นถูกต้องยิ่งขึ้น จนกระทั่ง ละการยึดถือว่าเป็นตัวตน หรือเป็นเราได้ ต้องมีความเห็นถูกเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เป็นการทำให้เป็นสิ่งที่เข้าใจว่าถูก

    แต่หมายความว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่เกิด ความมั่นคงในการเข้าใจว่าเป็นธรรม ซึ่งเป็นอนัตตาจะเพิ่มขึ้น เพราะรู้ว่าถ้าไม่มีปัจจัยที่จะให้สภาพนั้นๆ เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น สภาพธรรมนั้นๆ ก็เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นไม่ได้ แต่ที่สภาพธรรมนั้นเกิดแล้วเป็นแล้ว อย่างนี้ ชื่อที่ใช้ในภาษาบาลีคือ สังขต สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้วเกิด เกิดเป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ สภาพธรรมนั้นเกิดแล้วดับ

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกที่สุขก็ชั่วขณะ ความรู้สึกที่ทุกข์ก็ชั่วขณะ การที่จะคิดเรื่องบุคคลรอบข้าง ผู้ที่ทำงานร่วมกันก็ชั่วขณะ แต่ถ้าเรามีปัญญารู้ว่า ทุกอย่างก็คือสภาพธรรมทั้งนั้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป การยึดติดในความเป็นเราเป็นเขา ก็จะลดน้อยลง แล้วก็จะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น

    ที่โลกวุ่นวาย ก็เพราะเหตุว่าไม่เข้าใจซึ่งกัน และกัน เพราะเหตุว่า มีความเป็นเรา และมีความเป็นเขา แต่ถ้ามีความเข้าใจว่าเป็นธรรม โลภะความติดข้องของเขาที่เรากำลังเห็น กับของเราก็เหมือนกัน

    โทสะที่เราคิดว่าเขากำลังโกรธ มีกิริยาอาการที่ไม่น่าดู มีคำพูดที่ไม่น่าฟัง โทสะของเราก็เหมือนอย่างนั้น แต่เรายึดถือว่าเป็นเราเป็นเขา แต่ตามความจริงก็คือลักษณะของสภาพธรรมเท่านั้น ที่มีปัจจัยแล้วปรุงแต่งแล้วเกิด เราจะจัดการอะไรไม่ได้เลย เป็นแต่เพียงความคิด หลังจากที่เห็น หลังจากที่ได้ฟัง ก็คิดอย่างนั้นอย่างนี้ แต่จริงๆ แม้ขณะคิดก็เป็นสภาพธรรม ที่เป็นจิต และเจตสิก ซึ่งเกิดแล้วเพราะปัจจัยปรุงแต่งที่จะคิดอย่างนั้น

    ถ้าเป็นความเข้าใจอย่างนี้ เราก็จะรู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรม บังคับบัญชาไม่ได้ จะไม่ให้จิต เจตสิก เกิด เป็นไปไม่ได้เลย จะให้จิต เจตสิกประเภทนี้เกิด ไม่ให้จิต เจตสิก ประเภทนั้นเกิด ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะว่า ต่อจากนี้เราก็คงจะศึกษาเรื่องของจิต ละเอียดขึ้น ว่าลักษณะของจิต เป็นอย่างไร

    แต่ก่อนอื่นเราต้องมีพื้นฐานที่จะเข้าใจธรรม เข้าใจสังขารธรรมว่า ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ไม่ใช่สังขารธรรม เป็นวิสังขารธรรม พ้นจากสังขารที่จะปรุงแต่งให้เกิด แล้วใช้คำว่า สังขตธรรม คือ ขณะใดก็ตามที่สภาพธรรมใดเกิดแล้วเป็นอย่างนั้น เป็นสังขตธรรม เกิดแล้วเพราะปัจจัยปรุงแต่ง แล้วเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ และสังขตธรรมก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น สำหรับจิต เจตสิก รูป เป็นสังขตธรรม นิพพาน เป็นอสังขตธรรม จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม นิพพาน เป็นวิสังขารธรรม แล้วก็ขันธ์ ๕ ก็คือว่า เรายึดถือนามธรรม และรูปธรรมว่าเป็นเรานานมาก การที่จะให้มีปัญญารู้แจ้งชัดว่าไม่ใช่เรา แล้วก็ละความเห็นที่ยึดถือว่าเป็นเรา ก็ต้องนานมากด้วย แต่ว่าเป็นไปได้

    เป็นเรื่องของการที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งเรามาเรียกต่างๆ ว่าเป็นเราเป็นเขา เป็นคนนั้นคนนี้ แต่ความจริงทั้งหมดก็เป็นธรรม ถ้าเป็นผู้ที่สามารถเข้าใจ เรา และเขา ทุกคนได้ ก็จะมีความเห็นใจกัน แล้วก็จะเป็นกุศลเพิ่มขึ้น มีการอภัยให้ได้ แล้วก็มีกุศลประการอื่นๆ ด้วย

    ผู้ฟัง คำว่า สภาพรู้ เพราะได้ยินสภาพรู้บ่อยๆ สภาพรู้ตรงนี้ก็คือ ได้ยินนั่นแหละ คือสภาพรู้แล้ว ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สามารถที่จะเห็น ขณะนี้ อะไรก็ตามที่กำลังเห็น ขณะนั้นเป็นธาตุ หรือเป็นธรรมชนิดหนึ่ง เพราะเห็น ขณะที่เสียงปรากฏ สภาพธรรมที่สามารถรู้ลักษณะต่างๆ ของเสียง ที่เราใช้คำว่า ได้ยิน ก็คือธาตุที่สามารถได้ยิน แต่ไม่ใช่เราได้ยิน แต่เป็นธรรมหรือธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดแล้วต้องได้ยินเสียง และจะเกิดก็ต่อเมื่อมีโสตปสาทรูปเป็นปัจจัย ถ้าไม่มีโสตปสาทรูป จิตนี้จะเกิดไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ถ้าฟังอย่างนี้แล้ว สภาพรู้คือปกตินี้แหละ ไม่ว่าจะเห็น หรือได้ยิน ขณะนี้สภาพรู้มีอยู่แล้ว ถ้าอย่างนั้นสภาพรู้ คือวิญญาณขันธ์เลย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วก็มีเจตสิกซึ่งเป็นสภาพรู้เกิดร่วมด้วย แต่ว่าไม่ใช่สภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ ต่อไป เราจะรู้ว่าแม้เจตสิก ก็เป็นสภาพที่เป็นใหญ่แต่ไม่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้ง ลักษณะของอารมณ์ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมแต่ละอย่างก็ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้

    ผู้ฟัง ถ้าสังขารธรรมเกิด ก็จะต้องเกี่ยวข้องกับสังขตธรรมด้วย มันจะแยกจากกันไม่ได้เลย หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ คงไม่ใช่เกี่ยวข้อง แต่เป็นคำที่ ๒ ความหมาย เช่น สังขารธรรม ก็คือ ธรรมใดๆ ก็ตามที่เป็นจิต เจตสิก รูป จะเกิดขึ้นมา เดี่ยวๆ โดดๆ โดยไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกัน และกันเกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ก็จะต้องมีสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น เป็นสังขารธรรม

    แต่สภาพธรรมใดก็ตามในขณะนี้ ที่กำลังปรากฏ เพราะเกิดแล้วจึงปรากฏ แล้วที่เกิด เกิดแล้ว ก็เพราะเหตุว่าปัจจัยปรุงแต่งแล้วจึงเกิด ให้ทราบว่าขณะใดก็ตาม ขณะนั้นสภาพธรรมนั้นเกิดแล้ว เพราะปัจจัยปรุงแต่แล้วเกิด ถ้ายังไม่ปรุงแต่งก็ยังไม่เกิด แต่ปรุงแต่งแล้วเกิดทันที ขณะนั้นก็เป็นสังขตธรรม ความหมายเหมือนกัน แต่ว่าความหมายของพยัญชนะก็คืออย่างหนึ่ง อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น อีกอย่างหนึ่ง ก็คือเมื่อเกิดแล้วปรุงแต่งแล้วเกิดแล้วก็ดับ เพราะสังขตธรรมที่เกิดแล้วก็ต้องดับ

    สำหรับการที่กล่าวถึง นามธรรม ๕๓ ก็เพราะเหตุว่า จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใดขณะไหนก็ตาม ใครจะมาทำหน้าที่นี้ไม่ได้เลย เจตสิกทั้งหมดจะทำหน้าที่ของจิต คือเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ ไม่ได้ ฉันใด จิตก็ไม่สามารถที่จะไปทำกิจของเจตสิกแต่ละเจตสิกได้

    เพราะฉะนั้น เวลาที่สภาพธรรมเกิดรวมกันที่เป็นนามธรรม ก็จะเห็นได้ว่าปรุงแต่งให้จิต และเจตสิก แต่ละขณะเกิดขึ้นเป็นไปต่างๆ เช่นจิตก็จะต่างเป็นไปถึง ๘๙ ประเภท ถ้าเรามีความเข้าใจถูกต้อง ไม่ว่าจะกล่าวโดยนัยใดๆ เราก็ไม่สงสัย

    อย่างผัสสเจตสิก เป็นสภาพเจตสิกที่กระทบอารมณ์ รูปกับรูปกระทบกันไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยใช่ไหม แต่นามธรรมที่กระทบอารมณ์ใด จิตรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่ผัสสเจตสิกระทบ ขณะที่เสียงปรากฏ เราจะไม่รู้เลย ว่าขณะนั้น จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของเสียง ซึ่งผัสสเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกระทบ จิตไม่มีหน้าที่จะไปกระทบเลย ไม่มีหน้าที่จำ ไม่มีหน้าที่รู้สึก เจตสิกแต่ละอย่างที่เกิดร่วมกันก็ทำหน้าที่นั้นๆ เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างนี้ เราก็จะไม่สงสัยว่า จะกล่าวถึงจิต ๘๙ หรือจะกล่าวรวมว่านามธรรม ๕๓ เพราะเหตุว่าจิต ก็เป็นสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เจตสิกหนึ่งเจตสิกใดเลย แล้วเจตสิกแต่ละชนิดก็ไม่ใช่เจตสิกอื่นๆ แล้วก็ไมใช่จิตด้วย เพราะฉะนั้น ก็รวมได้ว่า เป็นนามธรรม ๕๓

    ผู้ฟัง ขณะที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงจิต ที่ว่าจำแนกออกเป็นถึง ๘๙ ประเภท หรือว่า ๑๒๑ ประเภท

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 108
    26 มี.ค. 2567