ปกิณณกธรรม ตอนที่ 710


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๑๐

    สนทนาธรรม ที่ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ เกิดมาแล้วบางคนก็คงหวังมรดก อยากได้มรดกจากญาติพี่น้อง เป็นทรัพย์สมบัติ เป็นอะไรต่างๆ แต่ติดตามไปไม่ได้เลย จะใช้ได้ก็คือ ประโยชน์ในชาตินี้เท่านั้นเอง ติดตามไปถึงชาติหน้าไม่ได้ แต่ถ้าเป็นกุศลจิต ซึ่งเป็นเหตุที่ดีก็จะให้ผลที่ดี ซึ่งเราก็ยังไม่กล่าวถึงอะไรทั้งหมด เพียงแต่ว่าให้เข้าใจปรมัตถธรรม ให้เข้าใจธรรม และให้รู้ว่าที่เรากำลังพูดถึงปรมัตถธรรม ละเอียดขึ้นๆ ก็เป็นปิฎกที่ ๓ ในพระไตรปิฎก คือพระอภิธรรมปิฎก เพราะเหตุว่า อภิ คือ ละเอียดยิ่ง สิ่งที่มีที่เป็นปรมัตถธรรม ละเอียดมาก ด้วยปัญญาที่จะค่อยๆ อบรมจนกระทั่งรู้ความจริง จนกระทั่งค่อยๆ ละความไม่รู้ จนกว่าจะเป็นบารมีที่สามารถถึงฝั่ง

    ผู้ฟัง อย่างคนที่ได้ ปริเฉท

    ท่านอาจารย์ อันนี้เราพูดถึงปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง อันนั้นก็ไม่ใช่ปรมัตถธรรม

    ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เพราะฉะนั้น จะอยู่ในความเข้าใจในสิ่งที่

    ผู้ฟัง เรามองเห็น ก็ไม่ใช่ปัญญา

    ท่านอาจารย์ กำลังจะพูดให้เข้าใจก่อน เพราะว่าโลกของเรา ก่อนที่จะฟัง เป็นโลกของคนมากมาย เป็นโลกของเรื่องราวต่างๆ วุ่นวายสับสนมากมาย ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง วงศาคณาญาติ รวมทั้งบุคคลทั้งหลายในโลก ในประเทศต่างๆ ด้วย นั่นคือสิ่งที่เรามีอยู่เป็นชีวิตประจำวัน

    แต่เรายังไม่ได้เข้าใจ จิต เจตสิก รูป ซึ่งถ้า จิต เจตสิก รูป ไม่มี อะไรๆ ก็ไม่มี จะมีอะไรที่ไหน ภูเขาจะมีได้ไหม เพราะภูเขาก็เป็นรูป ถ้าภูเขาไม่มีใครเห็น จะมีใครรู้ไหมว่ามีภูเขา ก็ไม่มีใครรู้ เพราะเหตุว่า ขณะนั้นไม่มีสภาพรู้ หรือธาตุรู้ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องมีความเข้าใจเรื่อง จิต เจตสิก รูป ให้ละเอียดขึ้น ให้ชัดเจนขึ้น ให้เป็นปัญญาของเรา สมกับที่เป็นผู้รับมรดก ถ้าสามารถเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็ยังสืบต่อมรดกนั้นให้คนรุ่นหลังๆ ต่อไปได้ ที่จะมีความเห็นถูก เข้าใจถูก

    แต่ให้ทราบว่า สิ่งที่ประเสริฐสุด ก็คือปัญญาของเราเองด้วย ที่จะต้องเป็นผู้ตรงว่า ขณะที่กำลังฟัง เริ่มเข้าใจหรือเปล่า แล้วเข้าใจแค่ไหนก็คือแค่นั้นตามความเป็นจริง แต่ถ้าจะไปดูข้อความอื่นในพระไตรปิฎกทั้งหมดไม่ใช่ปัญญาของเรา ที่เพิ่งเริ่มจะฟัง เป็นปัญญาของท่านพระสารีบุตร เช่น ปฏิสัมภิทามรรค ปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัญญาของสาวก เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้เลยว่า ไม่ใช่ปัญญาของผู้ที่ยังไม่ได้อบรม แต่ผู้ที่อบรมก็คือว่าจะข้ามขั้น ไปถึงระดับนั้นยังไม่ได้ แต่ต้องรู้สภาพธรรมที่มีจริงๆ เพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ทีแรกผมคิดว่า ผมเข้าใจดี ว่า จักขุปสาท หรือ ตา มีลักษณะอย่างไร แต่เมื่อมาได้ฟังท่านอาจารย์แล้ว ก็รู้ว่า นั้นเป็นเพียงการคาดคะเนเอาใช่ไหม ว่าคนนั้นไม่มีจักขุปสาท คนนี้มี แต่ว่ามืด อะไรอย่างนั้น มีไม่เต็มที่อะไรอย่างนี้ เป็นการเดาหรือคาดคะเนเอา ซึ่งไม่ถูกต้องตามลักษณะที่แท้จริงใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องของความคิดนึก แต่ว่าสภาพธรรมที่มีจริง สามารถที่จะพิสูจน์ได้ทุกขณะ เวลาที่หลับสนิท จะยิ่งกว่ามืดหรือเปล่า เทียบได้เลย ใช่ไหม เพราะว่าไม่มีอะไรปรากฏให้เห็นว่ามืด หรือให้คิดว่ามืด เพราะเหตุว่า ขณะนั้น แม้มีจิต เจตสิก ก็เหมือนไม่มี แต่ทำไมตื่น แล้วรู้ว่าเมื่อกี้นี้หลับ ก็แสดงให้เห็นว่าสามารถที่จะจำ ภาวะ หรือขณะซึ่งไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏเลย เพราะฉะนั้น ปัญญาของเรา ที่จะรู้ความจริง ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นถึงความต่างของขณะที่เป็นภวังคจิต คือขณะที่หลับสนิท แล้วขณะที่เป็นมโนทวารวิถี ต่างกันแล้วใช่ไหม เพราะเหตุว่ากำลังหลับสนิทเป็นใครอยู่ที่ไหน ทราบไหม มีพี่น้องกี่คน เรื่องยุ่งๆ ตอนก่อนจะหลับมันหายไปไหนหมด ในขณะที่กำลังหลับไม่มีเลย แต่ว่าพอตื่นขึ้นแล้ว มีหมดทุกอย่าง มีเรื่องมีราวต่างๆ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ต้องเทียบเคียง ความต่างของสภาพธรรม ที่มีจริงๆ ว่าขณะที่หลับสนิทไม่ฝันเลย ไม่มีอะไรปรากฏ กับขณะที่แม้ตื่น แต่สิ่งอื่นไม่ได้ปรากฏ แต่คิด ขณะนั้นก็ยังมีคิด ในความมืดสนิท มีคิด ไม่มีแสงสว่าง ขณะที่คิด หลับตาพิสูจน์ได้เลย ตอนนี้ทางตาจะมาคั่น แล้วเราก็ยังคงคิดว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ยังไม่ไหว ยังคิดไม่ออก ยังจำไว้ว่าเป็นคนนั้นคนนี้ จนกว่าเราจะค่อยๆ ไต่รตรอง แล้วพิจารณาว่า ในขณะที่คิด แม้ไม่เหมือนกับขณะที่หลับสนิท เพราะหลับสนิทไม่ได้คิดเลย ไม่ฝันด้วย แต่เวลาตื่น ก็ไม่ได้เห็น แต่ว่ามีคิด เพราะฉะนั้น ความคิดตรงนั้นก็มืดสนิท แต่ก็ยังไม่เหมือนกับขณะที่อะไรๆ ไม่ปรากฏเลย ในขณะที่หลับสนิท นี้ก็เป็นขั้นๆ จนกระทั่งถึงขณะที่เห็น นี่ก็ต่างกับขณะที่คิด ซึ่งคิดนี้มืดสนิท แต่เห็นนี้ไม่มืดเลย และขณะที่ได้ยินเสียง ก็ยังมีลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ปรากฏจริงๆ แล้วให้อุ่นใจ ว่ายังมีเรา เห็นไหมว่าความที่เราติดข้องในความเป็นตัวตน ในภพในชาติ ในเสียง ในทุกอย่างนี้ กว่าจะค่อยๆ ขัดเกลา ละคลาย แซะ จะทำวิธีไหน อย่างไร ใช้คำอะไร ก็ตามแต่ แต่เป็นสิ่งที่ติดสนิท ต้องใช้กาลเวลาจริงๆ ที่อาศัยความที่เข้าใจขึ้นจากการฟังทีละเล็กทีละน้อย อบรมเจริญปัญญา ที่จะเป็นปัญญาของเราเอง ที่เมื่อได้ฟังพระธรรมชาติไหน สามารถที่จะรู้ว่านี่คือพระธรรม

    แต่ว่าการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่บ่อย แล้วก็ไม่เร็ว เพราะฉะนั้น จากโลกนี้ไปแล้ว เราจะไปอยู่ที่ไหน สามารถที่จะได้ยินได้ฟังไหม ได้ยินได้ฟังอาจจะได้ แต่เข้าใจหรือเปล่า เช่น แมว นก เป็ด ไก่ ได้ยินได้ แต่เข้าใจหรือเปล่า นี่ก็เป็นเรื่องที่เราจะเห็นประโยชน์สูงสุด คือไม่มีอะไรที่จะเสมอกับการเข้าใจพระธรรม การเข้าใจธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าหากนอนหลับ ก็หมายความว่า มืดหมด

    ท่านอาจารย์ นอนหลับ มืดก็ไม่รู้ อะไรก็ไม้รู้สักอย่าง โลกนี้ ไม่มีเลย หายไปหมด

    ผู้ฟัง มีภวังค์ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้น ผู้ที่ตรัสรู้ทรงแสดงว่ามีจิต เจตสิก เกิดดับ แม้ว่าไม่มีการเห็น ไม่มีการรู้สึกตัวเลย แล้วจิตนั้นทำกิจอะไร ซึ่งต่อไป เราก็จะศึกษาเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ทั้งหมดได้ถูกต้องขึ้น ให้เห็นว่าไม่ใช่ตัวตนยิ่งขึ้น เราถึงเพียงแต่ว่าให้เราพิสูจน์ว่า ธรรมมีจริงๆ ปรากฏได้กี่ทาง เป็นนามธรรมอะไร เป็นรูปธรรมอะไร

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ก็แสดงให้เห็นถึงว่ามีธรรมที่มี แล้วก็เกิดขึ้น ที่เป็นไปในชีวิตประจำวัน รู้สึกว่า การฟัง ก็เข้าใจว่ามี กำลังปรากฏจริงๆ แต่ว่าความรู้ที่ละเอียดลงไป จะอบรมอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ในขั้นอนุบาล ก็คงจะให้รู้มั่นคงว่า นามธรรมมี รูปธรรมมี ๒ อย่าง จนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วเราก็จะไปพูดเรื่องตามลำดับ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่มีจริง ก็คิดได้ใช่ไหมว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้อะไร

    ผู้ฟัง ก็ต้องสิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ ตรัสรู้สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ยังไม่ได้ปรากฏ หรือสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่เรารู้หรือยัง เห็นไหมว่าความต่างของผู้ที่รู้ กับผู้ที่ไม่รู้ เริ่มเห็นตามความเป็นจริง แม้แต่คำว่า โมหะ แม้แต่คำว่า อวิชชา แม้สิ่งนั้นกำลังเผชิญหน้า ก็ไม่รู้ตามความเป็นจริง ต้องตั้งต้นอย่างนี้

    สำหรับหนทางที่จะรู้จริง มี แต่ว่าต้องเกิดจากการเข้าใจสภาพธรรมตามลำดับ ถ้ายังไม่มีความเข้าใจสภาพธรรมที่มั่นคง ตามลำดับยิ่งขึ้น ใครจะไปบันดาลให้มีปัญญาระดับนั้น ก็เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการฟัง ก็คือให้รู้เรื่องของสภาพธรรม แล้วก็ให้รู้หนทางที่ จะทำให้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงด้วย แต่หนทางในวันนี้ก็คงจะยากหน่อย เพียงแต่ว่าให้รู้ว่า การรู้ก็คือรู้สิ่งนี้

    ผู้รู้ กับ ผู้ที่ไม่รู้ ต่างกันแค่ไหน ผู้ที่ไม่รู้ก็ไม่สามารถจะพูดอะไรเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏ ได้เลยใช่ไหม จะกล่าวว่าอายตนะก็ตามที่อ่านมาเท่านั้นเอง แต่ว่าจริงๆ แล้ว แม้ลักษณะสภาวะที่เป็นอายตนะ ก็ปรากฏกับปัญญาที่จะต้องสมบูรณ์จนกระทั่งสามารถจะละคลายความเป็นเราได้ เพียงแต่ว่าไม่ใช้ชื่อ เพราะว่าสภาพธรรมจริงๆ ขณะนี้ที่ทุกคนกำลังเห็น แล้วไม่รู้ หรือว่ารู้ผิด เห็นอะไรต้องเรียกไหม ว่าชื่ออะไร ไม่ใช่ว่าเห็นโต๊ะ ก็ต้องเรียกว่า โต๊ะ เห็นคุณกาญจนา ก็ต้องเรียกว่าคุณกาญจนา เห็นคุณแก้วตา ก็ต้องเรียกคุณแก้วตา ไม่ต้องเลย ทั้งไม่เห็นนี้แหละ แต่ก็ยังรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ฉันใด

    เวลาที่ปัญญาเกิดแทนอวิชชา ขณะนั้นความรู้ไม่ได้รู้อื่นเลย แต่รู้ลักษณะความจริงของสิ่งที่ปรากฏแทนความไม่รู้ ซึ่งมีอยู่ในขณะนี้ เห็นแล้วก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งต่างๆ แต่ถ้าเป็นปัญญาคือ เห็นแล้วรู้ตามความเป็นจริง แม้ว่าไม่ต้องเรียกชื่ออะไรเลย

    ผู้ฟัง จะเรียนถาม และขอเสนอแนะอย่างนี้ได้ไหมว่า เพื่อที่คนมาใหม่ไม่ต้องดึงคนที่เขาอยู่เก่าๆ ก็จะมีสำหรับคนที่ว่าไม่เคยเข้ามาเลย มาครั้งแรก แล้วก็มาแบบชั้นอนุบาลแล้วเริ่มกันเลย ไม่ทราบว่าจะเป็นขอเสนอแนะให้ อย่างนี้ได้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีความสนใจ เราก็จะทำสิ่งที่เราสนใจ และสิ่งที่เราคิดว่าสำคัญ แต่ก่อนนี้อะไรๆ ก็สำคัญสำหรับเรา แต่ว่าเมื่อได้ฟังพระธรรมมาแล้ว พระธรรมสำคัญสำหรับเราด้วยหรือเปล่า ถ้าเป็นสิ่งที่สำคัญ เราก็คงจะมีเวลาให้พระธรรรม ตามความสำคัญที่มีต่อพระธรรม แล้วก็ตามกำลังของเราที่จะเป็นไปได้ด้วย เพราะเหตุว่าคนที่ยังมีกิเลส จะให้มีพระธรรม ๒๔ ชั่วโมง เป็นไปไม่ได้ มีใครเป็นไปได้ อย่าไปฝืน เพราะว่าทุกอย่าง เราจะไม่รู้เลยว่า มีธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้เราเป็นทาสอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้เราพ้นไปจากอำนาจของเขาเลย คือความติดข้อง ความต้องการ เพราะฉะนั้น ถ้าใครที่จะต้องการฟังพระธรรม ๒๔ ชั่วโมง มาแล้วใช่ไหม อะไรทำให้เป็นอย่างนั้น เพราะว่าถ้าเราไม่ต้องการอย่างนี้ เราก็ไปต้องการอีกอย่างหนึ่ง

    แต่ว่าตามความเป็นจริง คือพระธรรม ให้เราเกิดความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะเกิดขึ้นแล้วปรากฏ แต่ปรากฏสั้นมาก เพราะฉะนั้น มีพระธรรมมากมายที่ต่อไปเราจะทราบว่าเป็นจิตประเภทไหน เป็นเจตสิกประเภทไหน เกิดขึ้นเพราะปัจจัยอะไร มีอะไรปรุงแต่ง แต่ขณะนี้ ทั้งหมดที่คนที่รู้ๆ ผ่านไปโดยคนที่ไม่รู้ก็ไม่รู้ จนกว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้น ก็แล้วแต่ที่ว่าเราจะมีเวลาให้มากน้อยเท่าไร

    แต่เป็นผู้ที่มีอธิษฐาน คือไม่ใชขอ แต่เป็นความมั่นคงของจิต ที่จะรู้ว่าจะไม่ทิ้งพระธรรม เราอาจจะมีธุระมาก หรือบางทีก็อาจจะเป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งเกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วน เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ แต่เราก็ไม่ทิ้งพระธรรม คืออย่างไรๆ ในชีวิตของเราก็จะมีการฟัง แล้วก็การอบรมเจริญความรู้เท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างนี้ก็จะมีความมั่นคงขึ้น ในการที่จะเห็นประโยชน์สูงสุด คือการเข้าใจธรรม

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องความจริงช่วงหนึ่งว่า สำหรับคนที่แบบว่า อาจจะฟังมากแล้ว ก็คงจะบางครั้ง ก็จะเบื่อๆ จริงๆ สำหรับตัวหนูเอง บางครั้งก็เบื่อเหมือนกัน แต่ว่าก็เป็นความจริงที่ว่า ความเบื่อนั้นก็ปรากฏขึ้นเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเบื่อ หรือว่าจะไม่เบื่ออย่างไร ก็คือความจริงในขณะนั้น ซึ่งแต่ละคนก็ต้องทราบ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ อันนี้ก็เป็นการถูกต้อง ไม่ใช่ว่าคนฟังธรรมแล้วจะไม่เบื่อเลย น่าเบื่อ ไม่สนุก พาเราไปเล่นที่ไหน ทำอะไร ดูนก ดูต้นไม้ ก็จะดีกว่า เพลิดเพลินดี ใช่ไหม

    จะเห็นได้ว่า เพราะความติดในสิ่งที่เราเคยพอใจมาก จะยับยั้งไม่ให้เกิดความเบื่อในสิ่งซึ่งดูเหมือนกับว่า ไม่เห็นจะมีอะไรที่จะน่าพอใจเหมือนอย่าง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ว่าเราเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เกิดแล้วเป็นจริง ไม่มีใครปฏิเสธเลย แต่ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน และเป็นธรรมทั้งหมด จนกว่าเมื่อไรเป็นธรรมทั้งหมด เมื่อนั้นก็คือว่า ถึงการที่สำเร็จกิจทั้งหลายไม่ต้องมีกิจใดๆ ที่จะต้องทำอีกแล้ว คือถึงความเป็นพระอรหันต์ ถ้าตราบใดที่ยังไม่ถึง ก็จะไม่ทอดทิ้งที่จะยังคงเป็นคนที่อยู่ในเหวลึก ไม่ไต่ขึ้นมาสักทีหนึ่ง แล้วก็มืดสนิทด้วย ทั้งๆ ที่มีหนทางที่จะขึ้นจากเหว แต่ไม่ใช่หนทางที่ง่าย และไม่ใช่หนทางที่เร็ว แต่ก็เป็นหนทางที่ผู้ที่ยังเพลิดเพลินอยู่ ก็อดจะเพลิดเพลินต่อไปไม่ได้ แต่ก็ไม่ทิ้งการที่เห็นประโยชน์ แล้วก็รู้กำลังของเรา

    อย่างคราวก่อนที่กล่าวถึงว่า กำลังง่วง แล้วก็จะฟังธรรมดี หรือว่าจะหลับดี เห็นไหม ชีวิตประจำวันจริงๆ มีความเป็นเรา ที่ต้องการจะหลับ อยู่มาตั้งหลายชั่วโมงแล้วยังไม่หลับเลยสักที จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ หรือจะหลับ นี่มาแล้ว เพื่อที่จะส่องถึงสัจจธรรมความจริงของเรา ว่าตัวเราคืออย่างนี้ เดี๋ยวนี้ ที่กำลังคิดอย่างนั้น และแม้แต่สติสัมปชัญญะที่ได้อบรมแล้วจะเกิด ถ้ามีปัจจัยก็เกิด ถ้าไม่มีปัจจัย ยังเป็นผู้ที่อบรมอยู่ เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริง ที่ได้สะสมมาทั้งหมด ก็มีปัจจัยเกิดให้เห็น เพื่อที่จะรู้ว่ากำลังของปัญญาถึงระดับไหน ถึงระดับที่เห็นคุณของปัญญา สติสัมปชัญญะ การรู้ลักษณะของสภาพธรรม หรือว่านอนก่อน ใช่ไหม นี่ก็เป็นสิ่งที่เป็นธรรมดา ไม่ทราบวิทยากร ท่านอื่นเป็นหรือเปล่า

    วิทยากร เป็น

    วิทยากร เป็นเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม วิทยากรก็เป็น ใครก็เป็น เพราะเป็นความจริง เป็นสัจจธรรมซึ่งทุกคนไม่ปฏิเสธเลย แล้วก็รู้ด้วยว่าเป็นอกุศล ดีกว่าที่เราจะไปคิดว่าดีใช่ไหม เมื่อเป็นอกุศลก็คือเรายังมีอกุศลระดับนั้น ก็ยังมีอยู่ เดี๋ยวนี้สำหรับผู้ที่กำลังฟัง แล้วก็เข้าใจบ้าง อยู่ตรงไหน คุณจำนงค์นึกภาพออกไหมว่ากำลังอยู่ตรงไหน

    ผู้ฟัง ไม่รู้อยู่ตรงไหน

    ท่านอาจารย์ กลางทะเลโอฆะ กว้างใหญ่ มืดสนิท มีเครื่องประกอบพร้อมที่จะตรึงอยู่ ให้จมอยู่ เราไม่เคยรู้เลยว่า อาการจะหนักหนาสาหัสถึงระดับนั้น แต่ลองคิดดูว่าต้องฟันฝ่า ไม่ใช่ว่าคนที่ฟังธรรมแล้วก็นั่งเฉยๆ สบายๆ รู้ก็รู้ ไม่รู้ก็ไม่รู้ อย่างนั้นก็แสดงว่า เราไม่ได้เข้าใจคุณค่าจริงๆ แต่เรารู้กำลังของเราว่า ระดับไหน แค่ไหน และเราอยู่ตรงไหน

    ทะเลของโอฆะ คือ อวิชโชฆะ ความไม่รู้กว้างสุดสายตา กำลังเผชิญหน้าอยู่แท้ๆ ก็ไม่รู้ ทั้งวันทั้งคืน ก็ไม่รู้ กี่วัน กี่เดือน กี่ปี กี่ชาติ ก็ไม่รู้ ก็อยู่ตรงในทะเลลึก แล้วก็กิเลสอื่นๆ ก็ยังเป็นเครื่องประกอบตรึงผูกไว้อีก ไม่ใช่อยู่ๆ มีแขนขา ที่จะว่ายน้ำข้ามได้เร็ว แต่ว่าถูกพันธนาการด้วยกิเลสทั้งหลาย

    เพราะฉะนั้น วิริยะ คือ การที่เราจะไม่ท้อถอย ต้องฟันฝ่า ต้องรู้ว่าจะพ้นได้เพราะมีทาง แม้ว่าจะเป็นหนทางที่นานแสนนาน ไกลแสนไกล แต่เริ่มเดินไปทีละเล็กทีละน้อย ก็ต้องถึง เหมือนอย่างมด บนภูเขาสูงๆ ก็ยังมีได้ มาได้อย่างไรขาเล็กๆ เล็กว่าเราตั้งมากใช่ไหม เราก้าวไปเราได้เร็วกว่ามดตั้งหลายเท่า แต่เราก็ไปเจอมดบนเขา

    แสดงให้เห็นว่า ถ้ามีวิริยะ หรือมีความเพียร ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง ทุกคำเป็นความจริง ตบะที่นี่คือเผากิเลส เผาความไม่รู้ ไม่รู้อะไร ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี่แหละ ไม่ใช่ไม่รู้อย่างอื่น แต่ว่ามีสิ่งที่ปรากฏพร้อมกับความไม่รู้ ที่จากการฟังก็จะทำให้เรารู้จักตัวเองถูกต้องตามความเป็นจริงขึ้น อยู่ในทะเลหรือเปล่า กลางทะเลหรือเปล่า หรือว่าอีกฝั่งหนึ่ง คนละฝั่งกับฝั่งของนิพพาน คือเป็นฝั่งที่มีกิเลส

    ผู้ฟัง สัณฐานในเสียง ก็มีแค่เสียง ลึกเกินที่จะไปคิดแล้วว่ามัน เรื่องเก่า เรื่องอะไรอย่างนี้ ความจริงมันลึกมาก

    ท่านอาจารย์ เป็นผู้ที่ไม่ประมาท คืออย่างไรๆ ก็ตามก็รู้ว่าธรรมลึกซึ้ง อย่าผลีผลาม แล้วก็อย่าคิดว่าง่าย อย่าคิดว่าเข้าใจแล้ว แต่จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ คือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นเครื่องวัดให้รู้ว่าความเข้าใจของเรา ระดับไหน แค่ไหน

    ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตาจึงต้องเฉพาะทางตาเท่านั้น ทำไมหูไม่เห็น หรือว่าทางกายไม่เห็น หรือแม้ทางลิ้น ขณะที่จะรู้รสอาหาร แม้มือสัมผัสก็ไม่รู้รส ทำไมจะต้องปรากฏทางเฉพาะที่ลิ้นเท่านั้น อันนี้ก็เห็นถึงความอัศจรรย์ของธรรม แปลว่าต้องมีปัจจัยหลายๆ อย่าง ที่จะให้เกิดความรู้ทางด้านตาต่างๆ ด้วย

    ท่านอาจารย์ เราก็ได้เข้าใจปรมัตถธรรมพอสังเขป หมายความถึงสิ่งที่มีจริงก็มีสภาพที่ต่างกันเป็นนามธรรมกับรูปธรรม แม้ไม่ต้องเรียกชื่อ ข้อสำคัญที่สุดคือธรรม ไม่ต้องเรียกชื่ออะไรเลย ก็เป็นธรรมที่ใครก็เปลี่ยนลักษณะของธรรมนั้นไม่ได้

    สภาพที่เป็นปรมัตถธรรม ก็มี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน อะไรอีก ที่เราควรจะรู้ เพราะเหตุว่าเราอยู่ในโลกของการไม่รู้ลักษณะของจิต เจตสิก รูปเลย ไม่รู้ว่าเป็นจิต แต่คิดว่าเป็นเรา เป็นเราเห็น เราได้ยิน เราคิดนึก ไม่รู้ว่าเป็นเจตสิก แต่เป็นเราสุข เราทุกข์ ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่ปรากฏทางกาย มีแต่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว เราก็คิดว่าเรากำลังกระทบสัมผัส ชื่อต่างๆ ตามวิชาการต่างๆ จะเป็นการแพทย์ หรือจะเป็นอะไรก็ได้ อาจจะคิดว่ากำลังจับปอด หรืออะไรก็แล้วแต่ใช่ไหม แต่ว่าความจริงรู้ไหมว่า ขณะนั้นลักษณะที่แข็ง แล้วแต่ว่าจะเรียกชื่ออะไร ทำไมเราถึงเรียกชื่อต่างกัน เพราะเหตุว่าสภาพธรรมต่างกันอย่างหนึ่ง แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าเพราะความจำ ถ้าไม่มีความจำชื่อต่างๆ ก็ไม่มี เวลาที่เราคิดถึงคำว่าคน เราจะจำอย่างหนึ่ง แล้วคิดอย่างหนึ่ง พอพูดถึงคำว่า แมว เราก็จะจำอีกอย่างหนึ่ง คิดอีกอย่างหนึ่ง แม้เสียงจะเพียงสูงๆ ต่ำๆ แต่อาศัยความจำ ทำให้เรามีความคิดโดยที่เราไม่ได้รู้ตัวเลย ว่าขณะนั้นแท้ที่จริงแล้วต้องมี ความคิดถึงสิ่งที่กำลังปรากฏด้วย

    สิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ก็คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ปรากฏเสมือนไม่ดับเลย ปรากฏเสมือนว่าสืบต่อจนกระทั่งเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะเหตุว่าสภาพที่เกิดดับไม่ได้ปรากฏ การเกิดดับสืบต่ออย่างเร็ว ทำให้มีรูปร่างสัณฐาน มีความทรงจำในสิ่งที่ปรากฏ ทันทีที่เห็น จำได้เลย ไม่ต้องเรียกชื่อ ไม่ต้องพูดออกมาเป็นคำ รู้ทันทีว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ขณะใดก็ตามที่มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ ลักษณะของสภาพธรรมเป็นธรรม เป็นปรมัตถธรรม แต่ความคิดนึกจากการจำ ขณะนั้นเรื่องราวต่างๆ ที่มีแล้วก็เป็นสิ่งสำคัญเหลือเกิน ไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่จิตที่คิดเป็นปรมัตถธรรม เรื่องราวรูปร่างสัณฐานที่เราจดจำไว้ทั้งหมด เป็นแต่เพียงความทรงจำในเรื่องราว ของสิ่งที่เป็นปรมัตถธรรมที่เคยเห็น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 108
    26 มี.ค. 2567