ปกิณณกธรรม ตอนที่ 718


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๑๘

    สนทนาธรรม ที่ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ สัญญาที่เกิดกับจิตประเภทที่เป็นกุศลก็เป็นกุศลสัญญา จนกว่าจะเกิดร่วมกับปัญญา แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมขึ้น ทั้งหมดนี้ก็เพราะสัญญาความจำ ซึ่งขณะนี้ก็มี แต่เราไม่เคยรู้ตัวเราตามความเป็นจริงว่า สัญญาที่มีกับเราขณะนี้เป็นประเภทไหน มากน้อยแค่ไหน เป็นประเภทที่จำถูก เข้าใจถูก ในเรื่องราวของสภาพธรรม แล้วก็เป็นความจำถูก ความเข้าใจถูก พร้อมกับสติสัมปชัญญะ ที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม หรือว่ากำลังเจริญขึ้น นี่ก็เป็นเรื่องของสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง แล้วสัญญานี้ก็เป็นสภาพธรรมที่มีความสำคัญมาก เพราะเหตุว่า เมื่อมีความจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จะมีการปรุงแต่งด้วยเจตสิกอื่นๆ ที่จะเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง นี่ก็คือชีวิตตามความเป็นจริง แต่กว่าจะรู้อย่างนี้นานไหม ขั้นฟัง ขั้นเข้าใจ แล้วขั้นรู้ว่ามีจริง แล้วขั้นค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็อบรมไป ไม่ใช่ว่าจะไม่สามารถรู้ได้ แต่ว่าเป็นผู้ที่ตรงว่า ขณะนี้สามารถที่จะเข้าใจในระดับไหน

    ผู้ฟัง สัญญามีความสำคัญที่ท่านแสดงว่าเป็นขันธ์ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ทำให้มี ความสภาพที่จำ แล้วเลยติดพร้อมกับความจำนั้น เช่น จำว่าเป็นสีเขียว สีต่างๆ สีอะไรต่ออะไร เพราะว่ามีสัญญา ซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะด้วย แต่ว่าลักษณะของสัญญา ดูเหมือนว่าจะละเอียด แล้วก็ไม่ปรากฏง่ายๆ กับสติในตอนเริ่มต้น เป็นอย่างนี้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เรื่องที่สภาพธรรมใดจะปรากฏ ก็แล้วแต่ว่าสติปัฏฐาน หรือสติสัมปชัญญะจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด เช่น ในขณะนี้ แม้จะพูดว่าสัญญามี เพราะทุกคนกำลังจำ ที่ทุกคนกำลังเห็น แล้วรู้ว่าอะไร ก็คือขณะนั้นสัญญาจำ แม้ว่าจะกล่าวอย่างนี้ แต่ว่าถ้าสติสัมปชัญญะไม่ระลึกลักษณะของสัญญาสภาพที่จำ ก็ไม่มีทางที่จะรู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ ข้อสำคัญที่สุดคือ ธรรมทั้งหมดมีจริง แต่โลภะ ความอยากหรือความต้องการ ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมใดๆ ได้เลย

    เพราะฉะนั้น เพียงแต่คิดว่า สัญญาไม่ปรากฏ แล้วก็สติไม่ระลึก ถ้าเกิดคิดว่าแล้วทำอย่างไรสติจะระลึก แล้วทำอย่างไรสัญญาถึงจะปรากฏให้รู้ได้ แค่นี้ก็คือว่า พ้นจากการเข้าใจถูกต้องว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องซึ่งให้เข้าใจจริงๆ ว่า ธรรมมี ไม่ใช่ไม่มี แต่ว่าปัญญาสามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมอะไร ทั้งๆ ที่กำลังเห็น สติสัมปชัญญะไม่ได้ระลึกลักษณะเห็นก็ได้ อาจจะระลึกลักษณะของแข็ง เพราะว่าแข็งก็มี ก็กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่อบรมเข้าใจถูกในสิ่งที่สติสัมปชัญญะระลึก แต่ตอนนี้ก็คง จะยังไม่สามารถไปถึงขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด ซึ่งความจริงแล้ว ไม่ใช่สิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าผู้ที่เคยฟังธรรมมาก่อนนาน อาจจะเป็นหลายๆ ชาติ เพียงฟังเท่านี้ สติสัมปชัญญะสามารถจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าใช้คำว่า ระลึก ก็ต้องมานั่งคิดกันอีกใช่ไหม ว่าระลึกอย่างไร แต่ถ้ากล่าวว่าขณะนี้ มีลักษณะใด รู้ตรงลักษณะนั้น เพราะว่าลักษณะนั้นมีจริงๆ ขณะนั้น ก็เป็นลักษณะของสติสัมปชัญญะ แต่ยังมีความเป็นเรามากมาย จนกว่าความเป็นเราจะค่อยๆ น้อยลงไปทีละน้อย จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ได้จริงๆ ว่าทุกอย่างที่มีจริงในขณะนี้เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่อันนี้เรากำลังพูดถึงเรื่องของสัญญาความจำ ซึ่งมีทุกขณะจิต แต่ไม่เคยรู้เลย ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับพร้อมจิต แล้วก็รู้อารมณ์เดียวกับจิต เพราะฉะนั้น ก็มีความหลากหลายของสัญญา คือสัญญาที่เป็นกุศลก็มี สัญญาที่เป็นอกุศลก็มี

    ผู้ฟัง พูดถึงสัญญาขันธ์ ซึ่งเป็นขันธ์ขันธ์หนึ่ง ในชีวิตประจำวันบางครั้งเราก็จะเห็นในสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งเป็นการเห็นครั้งแรก อันนี้ก็จะเห็นความแตกต่างว่า ขณะนั้นเป็นครั้งแรกที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น ก็พอที่จะพิจารณาถึงความเป็นสภาพธรรม ที่เป็นลักษณะของสัญญาที่จำในอารมณ์

    ท่านอาจารย์ ยังจำได้ว่าไม่เคยเห็นมาก่อน จำทั้งนั้นเลย ไม่ขาดเลย แล้วแต่ว่าเราสามารถที่จะคิดอะไร อย่างขณะนี้ นั่งเฉยๆ คิดอะไรขึ้นมาสักคำก็เพราะจำได้ ถ้าจำไม่ได้จะคิดคำนั้นก็ไม่ได้ใช่ไหม ก็เป็นเรื่องชีวิตประจำวันจริงๆ

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติขณะนี้ จำเบอร์โทรศัพท์ของใครได้สักคน แสดงว่าสัญญาทำหน้าที่จำเสียงที่ผ่านมาแล้วใช่ไหม ที่ได้ยินผ่านมาอย่างนี้ใช่ไหม ที่คุณกุลบอกว่า สัญญาจำอารมณ์เป็นในลักษณะนี้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ แท้จริงแล้วสัญญาจำหมด จำสิ่งที่ปรากฏทางตาด้วย จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำสิ่งที่กระทบสัมผัส จำเรื่องราว จำคำต่างๆ ด้วย เหนื่อยไหมสัญญา ถ้าเป็นคนคงเหนื่อย แต่นี่เกิดขึ้นทำหน้าที่แล้วก็ดับไป เกิดขึ้นทำหน้าที่แล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นเรื่องที่ไร้สาระ ทำไมจำง่ายเหลือเกิน แต่ถ้าเรื่องธรรม เรื่องที่จะให้ตัวเองดีขึ้น ไม่ค่อยจำ นี่เป็นเพราะเหตุไร

    ท่านอาจารย์ เพราะคุ้นเคย พอใจในเรื่องไร้สาระ อย่างบางคนฟังธรรมเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เบื่อมากเลย ไม่เห็นไปไหน ก็อยู่ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ เพราะฉะนั้น สู้เพลินในเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ได้ เพลินในคน ยังไม่พอ เพลินในนิทาน ในนิยาย ในโทรทัศน์ ในหนังสือพิมพ์ เป็นเรื่องราวของสภาพธรรมที่เกิดดับตลอดเวลา แต่เพราะความไม่รู้ แล้วก็คุ้นเคยกับความทรงจำ ด้วยสัญญาที่จำในเรื่องต่างๆ ก็ติดข้องในเรื่องที่มี เพราะฉะนั้น ยากแสนยากที่จะสละเรื่องราว สละความเป็นตัวตน ก็คือสละเรื่องราวด้วย เพราะว่า จิต เจตสิก ไม่ใช่เรื่องราว เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เกิดขึ้นทำกิจ อย่างเห็นก็คือ เห็นสีสันวัณณะที่ปรากฏแล้วก็ดับ ไม่ใช่เรื่องราว จิตเกิดขึ้นได้ยินเสียง เสียงเป็นปรมัตถธรรม เป็นรูปธรรมเกิดแล้วก็ดับ แต่เรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏกับเสียงที่ปรากฏที่จำไว้ ทำให้ติดข้อง และเพลินในเรื่องราวต่างๆ

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าจะสละความไม่รู้ ก็คือมีความเห็นที่ถูกต้องว่า แท้ที่จริงแล้วเรื่องนั้น มีจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าเพราะจำว่ามี ซึ่งเป็นอัตตสัญญา จำสิ่งที่เกิดแล้วดับไปแล้วว่ายังมีอยู่ อย่างคนที่กำลังนั่งอยู่ รูปที่กระทบจักขุปสาทเกิดแล้วดับตลอดเวลา แต่ก็จำผิดว่ายังมีอยู่ยังไม่ดับเลย เพราะฉะนั้น ก็จำเรื่องราวของสิ่งที่มีอยู่ ด้วยความติดข้อง ด้วยความเพลิดเพลิน ด้วยความไม่รู้ แต่ถ้าเป็นความรู้ถูก ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ไม่ใช่เราจะเพลินอย่างเรื่องราว แต่จะเกิดปิติโสมนัสได้ ที่ได้รู้ความจริงที่ซ่อนเร้นมานานแสนนาน ว่าแท้ที่จริงแล้วขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏจริงๆ เป็นสีสันวัณณะต่างๆ เท่านั้นเอง สละการที่เคยยึดถือว่าเป็นคน เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ คือ สละเรื่องราวทั้งหมด เรื่องราวว่า สีนี้เป็นญาติ สีนี้เป็นเพื่อน สีนี้เป็นสิ่งของ สีนี้เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะความจริงสิ่งที่ปรากฏทางตา ลักษณะจริงๆ คือสามารถกระทบจักขุปสาทแล้วดับ คนอยู่ที่ไหนถ้าไม่คิด ไม่จำ จำไว้อย่างเหนียวแน่น อัตตสัญญา ความทรงจำว่าเป็นบุคคล ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม และเพลิดเพลินไปอัตตสัญญา เพราะฉะนั้น กว่าจะสละได้ ไม่ใช่สละเพียงเรา แต่ต้องสละเรื่องราวทั้งหมดด้วย เพราะว่าเรื่องราวทั้งหมดไม่ใช่ปรมัตถธรรม

    ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม คือไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูปเกิดดับสืบต่อ เรื่องราวทั้งหมดจะมีไม่ได้ เรื่องราวมีเมื่อจิตคิด ถ้าจิตไม่คิดเรื่องใด เรื่องนั้นก็ไม่มีในขณะนั้น

    ผู้ฟัง ฟังแล้ว ชื่นใจ กลับลืมไปอีก อันนี้เป็นเพราะอะไร

    ท่านอาจารย์ ความรู้มาก หรือความไม่รู้มากกว่ากัน

    ผู้ฟัง ความไม่รู้มากกว่า

    ท่านอาจารย์ ความไม่รู้มากกว่าก็เป็นปัจจัยให้เกิดไม่รู้ความจริงในขณะที่ไม่ได้ฟัง ไม่เกิดความเข้าใจถูกต้อง

    ผู้ฟัง มีวิธีไหม

    ท่านอาจารย์ วิธีอะไร

    ผู้ฟัง วิธีที่จะให้จำ ถึงสิ่งดีๆ ให้มากขึ้น

    ท่านอาจารย์ ฟังเรื่องไหนบ่อยกว่ากัน

    ผู้ฟัง ส่วนมากจะฟังธรรมมากกว่า แต่ไม่ค่อยจะจำ

    ท่านอาจารย์ ก่อนๆ นี้ฟังอะไรมากกว่า

    ผู้ฟัง ก่อนนี้ฟังเพลง เดี๋ยวนี้เลิกหมดแล้ว

    ท่านอาจารย์ เพลงที่เคยฟังมาก่อน ตั้งแต่เกิดจนถึงวันนี้ มากกว่าหรือน้อยกว่าธรรมที่ได้ฟัง

    ผู้ฟัง มากกว่า

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นคนที่มีเหตุมีผล สิ่งใดที่มีมาก สะสมมามาก ก็มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดมาก ก็เป็นของธรรมดา ถ้ามีความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีแล้วในขณะนี้ อันนั้นก็จะทำให้รู้ว่า เราไม่สามารถที่จะมีเราที่จะไปคิดนึกหรือทำอะไรขึ้นมา แต่ว่าสิ่งใดก็ตาม เกิดแล้วทั้งนั้นจึงได้ปรากฏ แม้แต่ความคิดว่า มีวิธีไหม ขณะนั้น ก็เป็นความคิดที่เกิดแล้ว จะเปลี่ยนความคิดนั้นเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย สิ่งใดก็ตามที่มีขณะนี้ เพราะเกิดแล้ว นี่ต้องเข้าใจ แล้วต่อไปสิ่งใดก็ตามที่จะเกิด ก็เพราะมีปัจจัยที่จะเกิดด้วย ก็คือการเข้าใจธรรมในความเป็นปัจจัยของธรรมถูกต้อง ค่อยๆ เข้าใจถูก ไม่ใช่ว่าอยากจะเป็นอย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่ในขณะนี้ เพราะว่าขณะนี้เป็นแล้วโดยที่ไม่มีใครสร้าง แต่มีปัจจัยก็เกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ข้างหน้าหรืออนาคตต่อไปที่จะเกิด ก็เหมือนกัน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็เพราะว่า มีปัจจัยพร้อมที่เกิดเป็นอย่างนั้นในขณะนั้นไม่เป็นอย่างอื่น การฟังธรรม คือการเข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ถ้ายังมีตัวเราอยากจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ลืมไปอีกแล้ว ก็ต้องฟังจนกว่าจะเข้าใจจริงๆ ว่า เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ที่ว่า ที่เห็นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ตัวตน เราเขา ผมพยายามจะมอง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ตัวตน เราเขา

    ท่านอาจารย์ อันนั้นคือผมพยายาม ขณะนั้นก็ป็นเรา ที่สำคัญที่สุด คือไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรม ไม่ต้องไปพยายามทำอะไร แต่เข้าใจ พยายามไปมองให้ไม่ใช่เรา หรือไม่ใช่สิ่งนั้น สิ่งนี้ เป็นเราที่กำลังพยายาม เพราะฉะนั้น จะเอาเราอันนี้ออกได้อย่างไร ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ ว่าแม้ขณะนั้นก็เป็นธรรม เป็นความคิดนึก

    ผู้ฟัง บางทีก็สอนตัวเอง นี่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ตัวตน เราเขา

    ท่านอาจารย์ นึกขึ้นมาได้ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยคิด ก็มีปัจจัยที่จะเกิดคิดเมื่อไร ไม่ได้ตลอดเวลา เมื่อไรคิดขณะนั้นก็ทราบว่า มีเหตุปัจจัย ที่ทำให้คิดอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณ

    ผู้ฟัง ท่านแสดงว่า ขันธ์ก็เป็นของว่างเปล่า แต่ทำไมเราจึงยึดติดในความว่างเปล่าอันนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้ว่าว่างเปล่า ห้องนี้ไม่เห็นว่าง ก็มีคนมากมายยังไม่ได้ว่างเลย จะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วสัญญาก็มีอยู่ทุกขณะที่จำ หรือกำลังทำอะไรก็ตามแต่ เช่น เดินลงบันได มีสัญญาไหม ต้องมีแน่นอน ไม่มีลงบันไดไม่ได้ จะรับประทานอาหารหยิบช้อน หยิบส้อม มีสัญญาไหม ก็มี เพราะฉะนั้น สัญญาจริงๆ แล้ว ถ้ารู้ว่าขณะใดที่รู้ว่าเป็นสิ่งใด หรือจำ ขณะนั้นก็เป็นหน้าที่ของสัญญาเจตสิก ส่วนเจตสิกทั้งหมดที่เหลือ ๕๐ เจตสิก เป็นสังขารขันธ์

    เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วในวันหนึ่งๆ ก็มีแต่จิต เจตสิก รูป รูปนี่ก็แน่นอน ที่ตัวเราก็มี ภายนอกก็มี แต่ขณะใดที่มีการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ขณะนั้นจะไม่พ้นจากการยึดมั่นในรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์เลย จึงมีอีกคำหนึ่งว่า อุปาทานขันธ์ คือขันธ์ใดเป็นที่ตั้งของความยึดถือ ขณะนั้นก็เป็นอุปาทานขันธ์ สำหรับที่สรุปไปว่า เจตสิกที่เหลืออีก ๕๐ เป็นสังขารขันธ์ ถ้าพ้นจากชื่อเวทนา พ้นจากชื่อสัญญา ได้ยินชื่อต่อไปอีกหลายชื่อ ซึ่งเป็นชื่อของเจตสิก เจตสิกนั้นๆ เป็นสังขารขันธ์ เช่น โลภะเป็นสังขารขันธ์ โทสะเป็นสังขารขันธ์ ปัญญาเป็นสังขารขันธ์ สติเป็นสังขารขันธ์ วิริยะเป็นสังขารขันธ์ มัจฉริยะเป็นสังขารขันธ์ จะชื่ออะไรก็ตาม นอกจากนี้ทั้งหมด เป็นสังขารขันธ์

    เพราะฉะนั้น ก็จำได้เลยโดยไม่ต้องท่อง ปรมัตถธรรม ๓ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ จำแนกเป็นขันธ์ ๕ ในขณะนี้กำลังหลับสนิท ขาดขันธ์หนึ่งขันธ์ใดหรือเปล่า ไม่ขาดเลย ครบ เพราะอะไร กำลังหลับ มีรูปขันธ์แน่นอน แล้วมีอะไรอีก

    ผู้ฟัง มีเวทนาขันธ์

    ท่านอาจารย์ ใช่

    ผู้ฟัง มีสัญญา

    ท่านอาจารย์ มีสัญญาขันธ์

    ผู้ฟัง สังขารขันธ์ เวทนาขันธ์ วิญญาณขันธ์

    ท่านอาจารย์ วิญญาณขันธ์ ครบทั้ง ๕ ไม่ว่าจะหลับหรือจะตื่น ถ้าตาย ศพมีกี่ขันธ์

    ผู้ฟัง เหลือรูปขันธ์อย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ รูปขันธ์อย่างเดียว นามขันธ์ทั้ง ๔ ไม่มีเลย เพราะฉะนั้น นามขันธ์ ๔ ไม่แยกกันเลย ไม่ว่าจะเกิดในภพภูมิไหนก็ตาม ต้องมีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้ง ๔ ขันธ์เรียกว่า นามขันธ์ ๔ จะแยกมีนามขันธ์เดียวไม่ได้

    ผู้ฟัง ลักษณะของสัญญา ขณะที่เขาจำสีหรือเสียง จะเป็นลักษณะของ เรียกว่าจำในลักษณะของปรมัตถธรรมหรือเปล่า แต่ตามที่เข้าใจเหมือนกับว่า ถ้าจะรู้ในลักษณะของปรมัตถธรรมต้องสติปัฏฐานเกิด ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ความจำ เป็นลักษณะของเจตสิก ซึ่งมีหน้าที่จำไม่ใช่ลักษณะของสติ นี่ต้องแยกกัน

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ขณะที่จำ จะจำเป็นปรมัตถ์ไหม

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่จำ คุณบงจำสี ได้หรือเปล่า

    ผู้ฟัง จำสีได้

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะคงจะไปนึกถึงชื่อ

    ท่านอาจารย์ เพราะสัญญา จำ

    ผู้ฟัง เพราะสัญญาจำ นี่ตรงนี้กราบเรียนถามว่า จำในลักษณะที่เป็นชื่อ หรือว่าลักษณะของปรมัตถธรรม โดยที่เขาปรากฏเป็นสีอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เรียกว่าสีเหลือง พอเห็นสีเหลืองจำได้ไหม

    ผู้ฟัง จำได้

    ท่านอาจารย์ แล้วยังบอกว่าสีเหลือง จำคำแล้ว เพราะฉะนั้น จำทุกอย่าง

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณ

    ท่านอาจารย์ เรื่องของการฟังที่ต้องเข้าใจ เช่น ขณะนี้ อะไรปรากฏ มีแน่ๆ เลย คือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเดี๋ยวนี้ แต่เราไม่เคยที่จะใส่ใจ หรือที่จะรู้ตรงลักษณะ หมายความว่าพอเห็นก็เป็นเรื่องหนึ่งเรื่องใด เป็นคนหนึ่งคนใดไปเลยทันที แต่ถ้าฟังแล้ว รู้ว่าขณะนี้เป็นสิ่งที่ปรากฏ ตรงลักษณะที่กำลังปรากฏ ตรงนี้เลย ตรงที่กำลังปรากฏ นั่นคือขณะนั้น สติสัมปชัญญะเริ่มที่จะรู้ว่า ขณะนั้นมีสิ่งที่เพียงปรากฏ ไม่ได้ไปนึกถึงเรื่องหนึ่ง เรื่องใดเลย เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่จะต้องฟังจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ แล้วก็ขณะใดที่กำลังตรงลักษณะแล้วเข้าใจถูก ว่าขณะนี้มีสิ่งหนึ่งที่เป็นธรรมที่กำลังปรากฏ กับธาตุที่เห็น ก็ต้องต่อไปเรื่อยๆ เพราะเหตุว่า การอบรมเจริญปัญญาจะไม่หยุดจนกว่าจะหมดการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นเรา

    ผู้ฟัง ตรงนี้ คิดว่าสำคัญมากๆ เลย เพราะว่าถ้าตราบใดไม่ใส่ใจตรงนี้ สติปัฏฐานก็จะเกิดไม่ได้เลย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช่ แค่ขณะนี้ เป็นสิ่งที่ปรากฏ แน่นอน ค่อยๆ เริ่มทีละเล็กทีละน้อย สิ่งที่ปรากฏก็ปรากฏ เท่านั้นเอง กำลังปรากฏด้วย

    ผู้ฟัง อย่างที่ว่า คนมีปัญญามาก ปัญญาน้อย อันนี้ที่เกี่ยวกับสัญญา สัญญามาก สัญญาน้อยหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ สัญญาเกิดกับจิตทุกขณะ เพราะฉะนั้น จิตประเภทใดมาก จิตประเภทใดน้อย

    ผู้ฟัง นี่เราแยกแยะไม่ออก ระหว่างปรมัตถกับบัญญัติ เพราะว่าเรารู้ตามคล้อยตามเท่านั้น ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏ มันเป็นเพราะ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เราคล้อยตามเท่านั้น เราแยกแยะไม่ออกว่า มันเป็นบัญญัติหรือปรมัตถ อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ใช่ ค่อยๆ คล้อย ว่าสภาพธรรมใดก็ตามที่มีลักษณะปรากฏ เป็นปรมัตถธรรม นอกจากนั้นเป็นบัญญัติ สิ่งใดที่ไม่ใช่ปรมัตถ สิ่งนั้นเป็นบัญญัติ

    ผู้ฟัง การที่ศึกษา วิถีจิตเร็วมาก เร็วจนเราไม่สามารถที่จะแยกแยะได้เลย แยกไม่ออกว่า เป็นปรมัตถกับบัญญัติ

    ท่านอาจารย์ จากขั้นการฟัง เริ่มเข้าใจถูก ว่าสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ที่กำลังปรากฏขณะนี้ ทั้งๆ ที่กำลังปรากฏใจคิดเรื่องอื่น แสดงให้เห็นความต่าง สิ่งที่ปรากฏก็ยังมีอยู่ คือยังปรากฏ เพราะเหตุว่า เกิดดับสืบต่อไม่ปรากฏการดับเลย นี่ก็เป็นความจริงที่ว่า เพราะเหตุว่า สติสัมปชัญญะไม่ได้ระลึกทีละลักษณะจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ว่า ลักษณะหนึ่งเกิดแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ทั้งๆ ที่กำลังเห็น คิด แสดงให้เห็นว่า เห็นเป็นส่วนหนึ่ง แล้วสิ่งที่ปรากฏทางตาก็มีจริงๆ แต่ไม่ใช่คิด ขณะนี้ ลองคิดถึงต้นไม้ที่บ้าน แล้วก็สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏเหมือนเดิม

    สิ่งที่ปรากฏทางตาก็มีจริง เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ส่วนเรื่องคิด ก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น ถ้าไม่คิดถึงต้นไม้ แต่คิดถึงชื่อคิดถึงลักษณะ คิดถึงรูปร่าง ความต่างของเก้าอี้ ความต่างของโต๊ะ ความต่างของพื้น ขณะนั้นก็คือคิด ทั้งๆ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏเหมือนเดิม แต่ใจคิดต่างๆ แล้วแต่ว่าจะคิดถึงลักษณะใด นี้ก็เริ่มที่จะเห็นความต่างใช่ไหมว่า ทั้งๆ ที่สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏอย่างนี้แหละ แต่ว่าแล้วแต่ความคิด ว่าคิดนั้นจะคิดถึงอะไร

    ผู้ฟัง ทีละลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง แต่มันระลึกไม่ทัน

    ท่านอาจารย์ เร็วมาก แล้วก็ทรงแสดงหนทาง ที่จะทำให้ผู้ฟังเกิดความเห็นถูกจนกระทั่ง สามารถรู้ได้

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณ

    ผู้ฟัง สัญญาเขามั่นคง ด้วยกุศลเหตุ ๓ แล้วเขาไปจำอะไรไว้อย่างมั่นคง จึงเป็นเหตุใกล้ของสติปัฏฐาน จะไปจำอะไรไว้

    ท่านอาจารย์ จำว่าขณะนี้เป็นธรรม สิ่งที่กำลังปรากฏมีจริงๆ เป็นธรรม เป็นลักษณะหนึ่งที่มีลักษณะอย่างนี้ ไม่เป็นอื่น เป็นของจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะอย่างนี้ที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง สัญญาเจตสิกนี้ ขณะที่เขาจำอารมณ์ที่เป็นปัจจุบันอย่างเดียว หรือว่าจำอารมณ์ที่เป็นอดีตด้วย อนาคตด้วย

    วิทยากร รู้สิ่งใดก็จำในสิ่งนั้น ไม่ว่าจะเป็น อดีต อนาคต ปัจจุบัน หรือพ้นจากทั้ง ๓ กาล เช่น จำชื่อบุคคลได้ไหม

    ผู้ฟัง จำได้ ตอนนั้นไม่ได้เป็นลักษณะของการคิดได้

    วิทยากร จำกับคิด ถ้าเราเจอบุคคล แล้วสามารถรู้ไหมว่า บุคคลนี้ชื่ออะไร

    ผู้ฟัง รู้เพราะว่า เราคิดถึงสัญญาที่เราจำไว้ได้

    วิทยากร เคยมีสัญญาที่จำความเป็นบุคคลนี้อยู่ ถ้าไม่เคยรู้จักสามารถจะรู้ไหมว่าเป็นใคร

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    วิทยการ แสดงว่าต้องมีสัญญาที่จำ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 108
    26 มี.ค. 2567