ปกิณณกธรรม ตอนที่ 708


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๐๘

    สนทนาธรรม ที่ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ ความเสียใจ เป็นนามธรรม แน่นอนใช่ไหม รูปไม่รู้สึกใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ความเสียใจ ความดีใจ เป็นเรื่องของนามธรรมที่เกี่ยวกับจิตใจ แต่ถึงแม้ว่า จะไม่เสียใจ ไม่ดีใจ แต่ร่างกายเรามีอยู่ตราบใด จะมีสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ที่จะทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ ความรู้สึกทางกายจะมี ๒ อย่าง สุขหรือทุกข์ เป็นความรู้สึกไม่ได้เปลี่ยนเลย เพราะฉะนั้น จะมีความรู้สึกที่แยกกันคือ ทางใจเป็นโสมนัสหรือโทมนัส ทางกายเป็นสุขหรือทุกข์ อันนี้ปรากฏชัดเจน พอที่จะรู้ได้ ใช่ไหม แต่ระหว่างที่ความรู้สึกทั้ง ๔ นี้ไม่มี ก็ยังมีความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง คือความรู้สึกเฉยๆ จะบอกว่าไม่รู้สึกไม่ได้ เพราะว่ารูปไม่รู้สึก ถามรูปว่าสุขไหม เป็นไปได้ไหมที่รูปจะสุข ถามรูปว่าทุกข์ไหม รูปไม่รู้อะไรเลย รูปจะตอบว่าทุกข์ก็ไม่ได้ ถามรูปว่าเสียใจไหม รูปจะตอบได้ไหม เพราะว่ารูปไม่รู้อะไรเลย รูปดีใจไหม รูปก็ตอบไม่ได้ เพราะว่ารูปไม่รู้อะไรเลย แต่นามธรรมเป็นสภาพรู้

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีสภาพรู้ สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น ต้องมีความรู้สึกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ลักษณะของความรู้สึก เป็นเจตสิก ที่ทรงบัญญัติใช้คำว่า เวทนาเจตสิก หมายความถึง เป็นสภาพรู้สึก ต่อไปนี้คงจะไม่มีใครบอกว่า ไม่มีเวทนา เพราะเหตุว่า ทุกครั้งที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์หนึ่ง อารมณ์ใดต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง จะปราศจากเวทนาเจตสิกไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าทั้งจิต และเจตสิกเป็นสภาพรู้

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ลักษณะของเวทนาใด จะเกิดบ่อย และเกิดมาก ทีนี้ตอบได้แล้วใช่ไหม ความรู้สึกมี ๕ อย่าง สุขทางกาย ๑ ทุกข์ทางกาย ๑ โสมนัสคือสุขใจ ๑ โทมนัสทุกข์ใจ ๑ อีกลักษณะ ๑ ซึ่งไม่ใช่ทั้ง ๔ นี้ ก็คือความรู้สึก อทุกขมสุข ไม่สุขไม่ทุกข์

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ เวทนาประเภทไหนจะเกิดมาก ความรู้สึกเฉยๆ อทุกขมสุข หรือจะใช้คำว่า อุเบกขาเวทนาก็ได้ เพราะว่าต่อไปจะทราบว่า คำว่า อุเบกขา ไม่ได้ใช้สำหรับความรู้สึกอย่างเดียว แต่อทุกขมสุขจะใช้สำหรับความรู้สึกเท่านั้น คุณวีณา มีเวทนาไหมขณะนี้

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ต้องขอถามทางอเมริกา ที่บอกว่าไม่มีความรู้สึก ตอนนี้มีไหม

    ผู้ฟัง มีแล้ว

    ท่านอาจารย์ ขณะไหนที่ไม่มีความรู้สึก

    ผู้ฟัง ตอนที่นอนหลับ

    ท่านอาจารย์ ใช่ กำลังจะให้ถามตอนนี้ เพราะเหตุว่า ตอนหลับ มีจิตก็เหมือนไม่มี เพราะไม่มีใครรู้ ต่อเมื่อไรตื่นขึ้น จึงรู้ว่าหลับ ถูกต้องไหม ไม่ใช่ รู้ว่าตาย แต่รู้ว่าหลับ ก็แสดงว่า ในขณะที่หลับ ไม่ใช่ตาย ที่ไม่ใช่ตาย ก็เพราะเหตุว่า มีจิต เจตสิก เกิดดับสืบต่อ แต่ไม่ได้ทำหน้าที่เห็น จิตนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเห็น จิตนั้นไม่ได้เกิดขึ้นได้ยิน จิตนั้นไม่ได้เกิดขึ้นได้กลิ่น จิตนั้นไม่ได้เกิดขึ้นลิ้มรส จิตนั้นไม่ได้เกิดขึ้นคิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ขณะนั้น จิตทำภวังคกิจ ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นโดย ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่คือความละเอียดของจิตในวันหนึ่งๆ ซึ่งต่อไปก็จะแสดงให้ละเอียดขึ้นๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจได้

    เพราะฉะนั้น เมื่อไม่รู้ก็เหมือนกับว่า ไม่มีจิต แต่ความจริงที่ใด ที่มีจิต ขณะใดที่จิตเกิด ขณะนั้นต้องมีเจตสิกซึ่งเป็นความรู้สึกเกิดด้วยทุกครั้ง อันนี้พอที่จะเข้าใจว่า คนหลับไม่ใช่คนตาย ที่ต่างก็เพราะเหตุว่ามีจิต แล้วเมื่อมีจิตก็ต้องมีสังขารธรรมที่ปรุงแต่งให้จิตเกิด สังขารธรรมที่ปรุงแต่งให้จิตเกิดก็คือเจตสิก เกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน เจตสิกก็อาศัยจิต เพราะว่าเจตสิกจะเกิดที่อื่นไม่ได้ แล้วจิตก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทำให้จิตเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า จิต และเจตสิกไม่เคยแยกจากกันเลย ใครบอกว่ามีแต่จิต ไม่มีเจตสิก คือผิด ใครบอกว่ามีแต่เจตสิก ไม่มีจิต ก็คือผิด เพราะว่าขณะใดที่จิตเกิด ขณะนั้นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แม้ขณะที่นอนหลับ มีจิตเกิด ก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเวทนาความรู้สึกก็เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น แต่เมื่อขณะนั้นไม่ได้รู้อารมณ์ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อารมณ์นั้นหรือโลกนี้ทั้งโลก ก็ไม่ได้ปรากฏเลย ไม่ว่าโลกไหนๆ ก็ไม่ปรากฏ ในสวรรค์ขณะที่เป็นภวังคจิต ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็ไม่ได้คิดนึก ขณะนั้นก็ไม่ใช่จิตประเภทนั้นๆ

    ผู้ฟัง ตอนที่เวลารูปเสื่อม รูปจะมีความรู้สึกอะไรไหม

    ท่านอาจารย์ รูป เป็นรูปตลอดกาล รูปจะเปลี่ยนเป็นนามธรรมไม่ได้เลย รูปไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เมื่อไร ไม่มีความรู้สึกเลย เพราะรูปไม่ใช่สภาพรู้ อันนี้แน่นอนตายตัวเลย รูปบนสวรรค์ รูปยังมีชีวิต รูปที่ตายแล้ว หรืออะไรก็ตามแต่ รูปแล้ว ไม่ใช่สภาพรู้ รูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้ทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง แล้วถึงแม้จะหนาวจัด หรือเย็นจัด รูปไม่มีความรู้สึกทั้งนั้นเลย

    ท่านอาจารย์ รูป รู้สึกอะไรไม่ได้เลย ขณะที่หนาว เป็นความรู้สึก เป็นจิตซึ่งเกิดกับเจตสิก แล้วก็มีความหนาว ขณะนั้นเป็นอารมณ์ จึงรู้สึกในความหนาวนั้น

    นี่ต้องแยกโดยเด็ดขาดตั้งแต่ต้น นี่เป็นเหตุที่จะทำให้เราเข้าใจความหมายของ รูปกับนาม ว่าสภาพที่เป็นรูปแล้ว ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปของใคร ภพไหน ภูมิไหน เมื่อไร รูปก็ไม่ใช่สภาพรู้

    ผู้ฟัง แต่ที่นี้ มานึกถึงตอนที่รูปมี ดิน น้ำ ลมไฟ เป็น กลาป กลาป

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่รูปมี ดิน น้ำ ไฟ ลม ดินเป็นรูป น้ำเป็นรูป ไฟเป็นรูป

    ผู้ฟัง เข้าใจ

    ผู้ฟัง ผมมีคำถาม ในขณะที่นอนหลับ เป็นภวังค์ จิตดวงไหนเกิด

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดพอหรือยัง ยังไม่ต้องดวงไหน ตอนนี้เราอยู่ขั้น อนุบาล

    ผู้ฟัง เอาแค่มีจิตเกิด เท่านั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง จะดวงไหน ไม่ต้องสนใจ

    ท่านอาจารย์ โดยมาก บางคนอาจจะเข้าใจว่า ศพยังรู้สึก ใช่ไหม กลัวเขาจะหนาว ต้องเอาผ้าไปห่ม หรือว่าอาจจะคิดว่าเขาหิว ก็เอาอาหารไปตั้งไว้ แต่จริงๆ แล้ว รูปไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ว่ารูปจะเกิด ที่ไหน อย่างไร สิ่งใดก็ตามที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย มองเห็น หรือไม่มองเห็นก็เป็นรูป เช่น เสียง มองไม่เห็นเลย แต่เสียงไม่ใช่สภาพรู้ เสียงเป็นรูป เพราะว่าเดิมเราอาจจะเข้าใจว่าสิ่งที่เราเห็น ทางตา ภูเขา ต้นไม้ สัณฐานต่างๆ เป็นรูป แต่ความจริงในทางพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ สิ่งที่เกิดขึ้น มีปัจจัยปรุงแต่ง แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ไม่ใช่สภาพธรรมที่รู้อะไร สภาพธรรมนั้นเป็นรูปธรรมทั้งหมด จะมองเห็น หรือมองไม่เห็นก็ตาม คุณวิจิตร เห็นแข็งไหม

    ผู้ฟัง ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ เห็นหวานไหม

    ผู้ฟัง ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ เห็นกลิ่นไหม

    ผู้ฟัง ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ แต่กลิ่นมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ หวานมีไหม เสียงมีไหม เป็น นามธรรมหรือเป็นรูปธรรม

    ผู้ฟัง สิ่งนั้นเป็นรูปหมด

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร ทำไมว่าเป็นรูป

    ผู้ฟัง เพราะมันไม่รู้อะไร

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ไม่ใช่สภาพรู้

    ผู้ฟัง ขอบคุณค่ะ

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้เราก็รู้จักจิตแล้ว เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ จิตไม่โกรธ จิตไม่ใช่เจตสิก แต่จิตรู้ สิ่งที่กำลังปรากฏชัดเจน ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตเป็นสภาพที่รู้สิ่งที่กำลังถูกรู้ แม้ว่ามองไม่เห็น เช่น เสียง จิตกำลังได้ยินเสียง ถ้าเป็นรูปจะไม่รู้อะไรเลย จะได้ยินไม่ได้ด้วย

    เพราะฉะนั้น ที่เรายึดถือว่าเป็นเรา ก็คือธรรมที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม นั่นเอง เพราะความไม่รู้ ซึ่งการเกิดขึ้น และดับไปของทั้งนามธรรม และรูปธรรม ซึ่งเกิดแล้วดับแล้ว อันไหนจะเป็นเรา รูปก็เกิดแล้วก็ดับไปหมด เป็นเราไม่ได้ เป็นของเราไม่ได้ เพราะไม่มีแล้ว จิต และเจตสิก ซึ่งเกิดแล้วก็ดับไปทุกๆ ขณะก็หมดไปแล้ว จะเป็นของเราไม่ได้ ของใครไม่ได้ เพราะไม่มีแล้ว แม้ขณะที่กำลังเกิดขึ้น ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง แต่ละอย่าง และเรื่องรูป ต่อๆ ไปเราก็จะค่อยๆ กล่าวถึงเพิ่มเติม และแม้แต่นาม คือจิต เจตสิก ก็จะค่อยๆ กล่าวถึง แต่ว่าจะเป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน ซึ่งขณะนี้ ทุกคนก็ทราบเรื่องของจิต และ เราก็กำลังจะกล่าวถึง เจตสิกซึ่งเกิดกับจิต แล้วมีความหลากหลายเป็นถึง ๕๒ ประเภท แต่ก็จะค่อยๆ กล่าวถึงที่สำคัญ เช่น ความรู้สึกให้รู้ว่ามี เป็นของเราหรือเปล่า ความรู้สึก แต่เดิมเป็นเราสุข เราทุกข์ แต่เดี๋ยวนี้ทราบว่าสุขเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับ ทุกข์เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีตัวตน ไม่มีเจ้าของ เป็นอนัตตา ธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา มีใครยังสงสัยเรื่องความรู้สึกไหม ซึ่งเป็นเจตสิกที่ภาษาบาลีใช้คำว่า เวทนาเจตสิก ภาษาไทยเคยได้ยิน คำว่า เวด-ทะ-นา ใช่ไหม ภาษาไทยหมายความว่าอย่างไร คำว่า เวทนา สงสารมาก เป็นความรู้สึกหรือเปล่า จิตเกิดแล้ว จะไม่มีความรู้สึกไม่ได้เลย แต่เราต้องเป็นผู้ที่เข้าใจให้ถูกต้อง ว่าขณะนั้น ความรู้สึกชนิดไหน เกิดกับจิตในขณะนั้น รูปมีเวทนาไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี เวทนาเป็นเวทนา แต่รูปไม่มีเวทนา คือไม่มีความรู้สึก

    ผู้ฟัง รูปของคนตาย กับรูปของคนเป็น มีอะไรต่างกันบ้าง

    ท่านอาจารย์ ถ้าทราบว่ารูปของคนเป็น มีรูปที่เกิดจากสมุฏฐาน ๔ คือ บางกลุ่มหรือบางรูปเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดเพราะอุตุความเย็นความร้อนเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดเพราะอาหารที่รับประทานเข้าไปที่บริโภคเป็นสมุฏฐาน

    เพราะฉะนั้น คนตายจะไม่มีรูปที่เกิดจากกรรม สิ้นสุดจากความเป็นบุคคลนั้นโดยสิ้นเชิง จะไม่มีรูปที่เกิดจากจิต เพราะขณะที่ตายแล้ว ไม่มีจิตที่จะเป็นปัจจัยให้รูปที่เกิดจากจิตเกิดได้ แล้วก็ไม่มีรูปที่เกิดจากอาหาร เพราะว่ารูปที่เกิดจากอาหาร และรูปที่เกิดจากอุตุ ก็จะเกิดดับๆ เช่นเดียวกับรูปอื่น เพราะฉะนั้น หลังจากที่สิ้นชีวิตแล้ว ไม่มีรูปที่เกิดจากกรรม ไม่มีรูปที่เกิดจากจิต ไม่มีรูปเกิดจากอาหาร มีรูปเกิดจากอุตุ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น คนที่ตาย รูป ก็จะเหมือนกับ รูปของต้นไม้ มีค่าเท่ากัน

    ท่านอาจารย์ ใช่ เป็นรูปที่เกิดจากอุตุ คือมีลักษณะที่เย็นหรือร้อน เป็นธาตุไฟ อ่อนหรือแข็งเป็นธาตุดิน ตึงหรือไหว ธาตุลม แล้วก็ธาตุน้ำ ซึ่งเกาะกุม แล้วก็มีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา ๘ รูปรวมกัน ใน ๑ กลาปเล็กๆ คือกลุ่มของรูปที่แตกย่อยละเอียดอย่างไร จนกระทั่งแยกอีกไม่ได้ ก็จะมีรูป ๘ รูป รวมอยู่ในที่นั้น

    ผู้ฟัง รูปที่บ่งบอกสภาวะ ว่าเป็นเพศหญิง เพศชาย อันนี้เป็นของอุตุ หรือว่าเป็นของกรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นรูปที่เกิดจากกรรม เพราะฉะนั้น ก็จะไม่มีเลย

    ผู้ฟัง รู้สึกว่าคนตาย ลักษณะของการแสดงความเป็นเพศหญิงเพศชาย มันยังปรากฏอยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เวลานี้ คนที่ยังมีชีวิตอยู่เราก็เห็นว่าเป็นหญิง แล้วคนที่ตายแล้วเราก็บอกว่ายังเป็นหญิงอยู่ แต่ความจริง สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอะไร สิ่งที่ปรากฏทางตา เปลี่ยนไม่ได้เลย เป็นรูปชนิดหนึ่งซึ่งกระทบจักขุปสาทปรากฏแล้วดับ แต่สืบต่อเร็วจนกระทั่ง สัญญาความจำ

    เพราะฉะนั้น สัญญาเป็นเจตสิกอีกชนิดหนึ่ง ที่มีความสำคัญมาก นอกจากเวทนาเจตสิกซึ่งเป็นสภาพรู้สึก ซึ่งทุกคนแสวงหา ต้องการสุขเวทนา ก็ยังมีสัญญาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพจำ ซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ มิฉะนั้นแล้ว เราจะไม่สามารถจำอะไรได้เลย แต่เราไม่รู้ว่าสัญญาเป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับ ด้วยความไม่รู้ ก็ทำให้เราเห็นว่าสิ่งต่างๆ นิจจัง คือเที่ยง ไม่ได้เกิดไม่ได้ดับเลย เพราะฉะนั้น สัญญาที่จำว่ารูปร่างลักษณะอย่างนี้เป็นหญิง รูปร่างลักษณะอย่างนั้นเป็นชาย แต่ตัวภาวะรูป ซึ่งเป็นรูปที่เกิดจากกรรม ซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วตัว ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้มีการให้รูปที่ปรากฏมี ลักษณะของหญิงหรือชาย

    แต่ว่าลองดูจริงๆ นี่ก็เป็นเรื่องของสัญญาโดยตลอด ในเรื่องของหญิงหรือชาย เช่น ตุ๊กตา พอเห็นหุ่นในร้าน รู้ไหมว่าหญิงหรือชาย หุ่นหญิงหรือหุ่นชาย แต่ไม่มีภาวะรูปเลย นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า สัญญาความจำ จำในสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็มีการยึดถือว่าลักษณะอย่างนั้นเป็นหญิง แม้ว่าเป็นตุ๊กตาหรือหุ่น ก็ยังเป็นหญิง แต่ความจริงไม่มีภาวะรูปเลย ก็เป็นการที่เราจะได้เข้าใจสภาพธรรมถูกต้อง ว่าสัญญาเป็นสิ่งที่มีจริง แล้วก็เริ่มตั้งแต่เกิด แล้วก็ค่อยสะสม ค่อยๆ จดจำทุกอย่าง จนกระทั่งเหมือนกับสิ่งที่ปรากฏ เป็นสิ่งที่เที่ยงแล้วก็ไม่ดับเลย นั่นคือ อัตตสัญญา นิจจสัญญา

    ผู้ฟัง ผมอยากทราบว่าเวลาคน ความจำเสื่อม แล้วเขาไม่ทราบว่า เป็นหญิงหรือชาย แล้วทำอย่างไร

    วิทยากร โดยหลัก เวทนาก็เป็นเพียงเจตสิกชนิดหนึ่ง สัญญาก็เป็นเจตสิกอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกดวง ทุกประเภท แล้วแต่ว่าจะเกิดกับจิตประเภทไหน ถ้าสัญญานั้นเกิดกับจิตประเภทที่มีกำลังอ่อน อย่างเช่น จิตที่ประกอบด้วยโมหะมากๆ ก็ไม่มีกำลังในการที่จะจำ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่หมายความว่า จะปราศจากสัญญา แต่ว่าสัญญานั้นจะมีกำลังมากน้อยเพียงใด

    ผู้ฟัง คนที่เขาความจำเสื่อมนี้ เขามีโมหะ มากหรือเปล่า

    วิทยากร ถึงคนความจำไม่เสื่อมก็มีโมหะมากเหมือนกัน แต่ถึงจะไม่ใช่ผู้ที่มีความจำเสื่อม แต่เราก็ตรึกนึกคิดส่วนใหญ่เต็มไปด้วยอกุศล แต่ก็ยังสามารถปฏิบัติงานหรือทำงานได้ แต่ว่าความเป็นระบบของการตรึกด้วยอกุศล ก็แตกต่างกันไป ความสับสนของจิตใจก็ต่างระดับกัน แต่ก็ประกอบด้วยความไม่รู้คือ โมหะเหมือนกัน เพราะส่วนใหญ่เป็นอกุศลจิต

    ผู้ฟัง อยากจะทราบว่าจิตกับเจตสิก แตกต่างกันอย่างไร

    วิทยากร ความแตกต่างระหว่าง จิต และเจตสิก จิตหมายถึงว่าเป็นใหญ่ในการที่จะรู้ แจ้งในอารมณ์นั้นๆ ขณะนี้กำลังเห็น เห็นในที่นี้คือ มีสิ่งที่จิตกำลังรู้ในสิ่งที่เห็น ก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏได้ทางตา ขณะนั้น จิตเป็นใหญ่ในการรู้แจ้ ในสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ว่าแม้ในขณะที่เห็นนั้นเอง ก็มีสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิตเห็นด้วย นั้นก็คือเรียกว่า เจตสิกนั่นเอง ดังนั้นขณะที่เห็น มีความรู้สึกไหม

    ผู้ฟัง มี

    วิทยากร มี ก็คือความรู้สึกดีใจ เสียใจ หรือว่าเฉยๆ เพราะฉะนั้น ขณะที่เห็น มีความรู้สึกด้วย ไม่ใช่ดีใจ ไม่ใช่เสียใจ แต่ว่าเป็นความรู้สึกเฉยๆ ก็คือประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา นี้ก็คือให้เห็นว่า มีจิตซึ่งเป็นใหญ่ในการรู้ในสิ่งที่เห็น แล้วก็มีสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิตด้วย คือ เรียกว่า เวทนา ความรู้สึก

    ท่านอาจารย์ จิต กับ เจตสิก เป็นนามธรรม แล้วก็เกิดพร้อมกัน แล้วก็ดับพร้อมกัน แล้วก็รู้อารมณ์เดียวกัน ขณะใดขณะหนึ่งที่จิตเกิดขึ้น จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท ถ้าเป็นอกุศลก็เพิ่มอกุศลเจตสิก ขึ้นมาอีก ถ้าเป็นโสภณจิตฝ่ายดีก็เพิ่ม ทางฝ่ายโสภณเจตสิกขึ้นมา

    เพราะฉะนั้น ในขณะเดียวที่เกิดสั้นแสนสั้น และทั้งจิต และเจตสิกก็เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ยากต่อการที่เราจะสามารถรู้ถึงลักษณะของเจตสิก แต่ละเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน แต่ให้ทราบว่า จิตเป็นใหญ่เป็นประธาน เพราะเหตุว่า แม้เจตสิกก็เกิดกับจิต ไม่ได้เกิดกับสภาพธรรมอื่นเลย เจตสิกบางเจตสิกไม่ได้เกิดในขณะที่เจตสิกประเภทหนึ่งประเภทใดเกิด แต่จิตต้องมีอยู่ตลอด จะขาดจิตไม่ได้เลย

    ตั้งแต่เกิด จนตาย มีจิตแล้วก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เจตสิกที่ไม่เกิดกับจิตก็มีในขณะนั้น ไม่ใช่ว่าทั้งหมดของ ๕๒ ประเภทนั้นต้องเกิดพ้อมกันในจิตหนึ่งขณะ นี่คือความต่าง แล้วแต่ว่าจิตนั้นจะประกอบด้วยเจตสิกประเภทใด ถ้าประกอบด้วยโลภะ ความติดข้อง ขณะนั้นจะไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่จิตต้องมี เพราะว่าจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธาน

    เมื่อมีการเกิดขึ้นของสัตว์ บุคคล ไม่ว่าจะในภพไหน ภูมิไหนก็ตาม จิตจะต้องเป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ เหมือนกับพระราชา มีอำมาตย์ทำงานให้แต่ตัวพระราชาก็ไม่ต้องทำอะไร เพราะฉะนั้น เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็ทำหน้าที่ของแต่ละเจตสิกที่เกิดกับจิตนั้นๆ แต่ว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งอารมณ์ ขณะนี้กำลังเห็น สิ่งที่ถูกเห็น เพราะจิตรู้แจ้ง แล้วเวลาที่เห็น เราจะเห็นความละเอียด ของสิ่งที่เราอาจจะมองดู สีสันซึ่งแม้ว่าใกล้เคียงกันมาก แต่ก็ยังไม่ใช่สีเดียวกัน เพราะเหตุว่าจิต เป็นสภาพที่สามารถ ที่ทางตาก็คือเห็นแจ้งในสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ส่วนความจำ ความชอบไม่ชอบ หรือความรู้สึกดีใจเสียใจพวกนั้นเป็นลักษณะของเจตสิกที่เกิดกับจิต แต่ตัวจิตไม่ได้เป็นเวทนาเจตสิก ไม่ได้เป็นเจตสิกอื่นใด เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ ในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ คืออารมณ์ อารมณ์คือสิ่งที่จิตกำลังรู้ แม้ว่ารูปใด มีเหตุปัจจัยเกิด แต่ขณะนั้นจิตไม่ได้รู้รูปนั้น รูปนั้นไม่ใช่อารมณ์ ต้องเฉพาะสิ่งที่จิตกำลังรู้ เป็นอารมณ์ของจิต

    เพราะฉะนั้น อารมณ์ในภาษาธรรมคือสิ่งที่ถูกจิตรู้ ซึ่งในภาษาไทยจะเป็นความหมายอื่น เช่น อารมณ์ดี อารมณ์ไม่ดีก็เพราะเหตุว่าเห็นดีบ้าง ได้ยินดีบ้าง ได้กลิ่นดีบ้าง ในวันหนึ่งๆ เราก็บอกว่า อารมณ์ดี แต่ความจริงเราพูดถึงปลายเหตุในภาษาไทย แต่ตัวเหตุจริงๆ ต้องจิตเกิดขึ้น และมีอารมณ์ที่กำลังปรากฏให้จิตรู้ จิตต้องรู้อารมณ์ จิตเกิดโดยไม่รู้อารมณ์ได้ไหม ไม่ได้ เมื่อเป็นสภาพรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้

    จะมีอารมณ์โดยไม่มีจิตได้ไหม ไม่ได้ เพราะอารมณ์หมายความถึง สิ่งที่ถูกจิตกำลังรู้ รูปไม่เป็นอารมณ์ได้ไหม ได้ แต่อารมณ์ต้องเป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้ ถ้าอารมณ์เป็นรูปก็ คือรูปที่จิตกำลังรู้

    รูปเป็นรูป ไม่ใช่จิต เจตสิก นิพพาน

    เจตสิก ไม่ใช่จิต ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน

    รูป ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก นิพพาน

    นิพพาน ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป

    ต้องเป็นสภาวะธรรมที่ต่างกัน แล้วก็มีความหลากหลายที่ว่า ทำให้สภาพธรรม ที่ปรากฏ ในวันหนึ่งๆ ต่างกันไป แต่ไม่เที่ยง และไม่ใช่สาระ คือสิ่งที่เราควรจะติดข้องมาก เพราะเหตุ ว่าเกิดแล้วดับจนไม่มีอะไรเหลือ เมื่อวานนี้ สิ่งที่เกิดแล้วหมดไป ในความทรงจำของเรา ยังคิดว่ายังมีอยู่ใช่ไหม แต่ความจริง สิ่งที่ปรากฏทางตาดับ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 108
    26 มี.ค. 2567