ปกิณณกธรรม ตอนที่ 696


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๙๖

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ และข้อความ ของอรรถกถาก็มี ข้อความว่าพระตถาคตทรงบัญญัติความรอบรู้กามทั้งหลาย ด้วยอนาคามิมรรค เพราะฉะนั้น ต้องรอบรู้คือ รู้ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง สรุปแล้วในที่สุด ผมคิดว่ากามคุณไม่ได้สอนให้เรา เห็นด้วยกับมันเท่าไร คืออย่าให้ไปหลงในกามคุณ ผมนึกว่าอย่างนั้นเท่าที่ได้ยินได้ฟังมา แต่ไหนแต่ไร หลายๆ แห่ง

    ท่านอาจารย์ คุณเด่นพงษ์ จะละกามคุณ หรือจะละ กาม

    ผู้ฟัง ละกามคุณ

    ท่านอาจารย์ หรือละกาม

    ผู้ฟัง ถ้าคุณในที่นี้ แปลว่า เครื่องผูก ผมก็ จะละด้วย

    ท่านอาจารย์ กามมี ๒ ความหมาย ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ กิเลสเป็นกาม แล้วก็รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นกาม อย่างกามาวจรจิต หมายความถึง จิตที่เป็นไปในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แม้จิตของพระอรหันต์ก็มี แต่เป็นกิริยาจิต คือยังเป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น จะละกามคุณ หรือว่าจะละกาม

    ผู้ฟัง เท่าที่ผมได้ยิน ท่านอาจารย์ด้วยความเคารพ คือ ได้ยินแต่คำว่า กามคุณๆ กามโทษไม่เคยได้ยิน

    ท่านอาจารย์ โทษของกาม ก็มี นี่

    ผู้ฟัง แต่คำว่า กามโทษไม่ค่อยเห็น ก็เลยคิดว่า คำว่า กามคุณ มันตีความถึง ความผูก ผูกรัดอะไรอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราติดในภาษา แต่ว่าจริงๆ แล้วเราต้องคิดถึงความเข้าใจ กามมีจริง เป็นกิเลสกาม นั่นเป็นนามธรรม ที่จะต้องละ แต่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ชื่อว่ากาม

    ผู้ฟัง กาม วัตถุ

    ท่านอาจารย์ วัตถุกาม นี้กว้างกว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คืออะไรๆ ทั้งหมดที่เป็นที่ตั้งของความติดข้อง เป็นวัตถุกามทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนามธรรม รูปธรรม ก็เป็นวัตถุกาม แต่เวลาที่เราพูดถึง กาม คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เราแยกออกมา จากวัตถุกามอื่นๆ ว่าหมายเฉพาะ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ส่วนกิเลสกาม เป็นสิ่งที่จะต้องละ แล้วเราจะละรูปที่เป็นอิฏฐารมณ์ ได้ไหม ในเมื่อรูปนั้นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง บังเอิญความเข้าใจเก่าๆ มันมีแต่ความไม่ดี เห็นแต่สิ่งไม่ดีทั้งนั้น

    ท่านอาจารย์ แต่จริงๆ เราก็พอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าพอใจ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ส่วนตัวผม ถึงแม้พอใจ ก็เพียงพอใจในระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้น ความรู้สึกผม รถ ลา ม้า ใช้อะไร ที่โดยสวยๆ งามๆ ผมรู้สึก เพราะว่า รู้สึกมันก็แค่นั้น ความรู้สึกเป็นอย่างนั้น ก็เลยคิดว่าอันนี้น่าจะใช่ น่าจะถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ แต่วันหนึ่งๆ คุณเด่นพงษ์ จะหนีไม่พ้นกาม รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แน่นอน

    ผู้ฟัง แน่นอน ใช่

    ท่านอาจารย์ แล้วพอใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ชนิดไหน อันนี้เราต้องเป็นผู้ตรง จะพอใจประเภทที่เป็นอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ หรือว่ายังคงมีความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าพอใจ นี้คือความจริง เพราะฉะนั้น ความจริงเป็นอย่างไร ก็ต้องเข้าใจความจริงอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงต้องรู้ทั้งคุณ และโทษ

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณ

    ผู้ฟัง เพิ่มเติม ใน ขุททกนิกายมหานิเทศ กามทั้งหลายเปรียบด้วยโครงกระดูก เพราะอรรถว่าเป็นของมีความยินดีน้อย กามทั้งหลายเปรียบด้วยชิ้นเนื้อ เพราะอรรถว่าเป็นของสาธารณะแก่ชนหมู่มาก กามทั้งหลายเปรียบด้วยคบหญ้าเพลิง เป็นของตามเผา เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องตามเผา กามทั้งหลาย เปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง เป็นของให้เร่าร้อนมาก กามทั้งหลายเปรียบด้วยความฝัน ด้วยอรรถว่าเป็นของปรากฏชั่วคราว กามทั้งหลายเปรีบด้วยของขอยืม เพราะอรรถว่าเป็นของเป็นไปชั่วการกำหนด กามทั้งหลาย เปรียบด้วยต้นไม้มีผลมาก เพราะอรรถว่าเป็นของทำให้กิ่งหัก และให้ต้นล้ม กามทั้งหลายเปรียบด้วยดาบ และมีด เพราะอรรถว่า เป็นของฟัน กามทั้งหลายเปรียบด้วยหัวงู เพราะอรรถว่าเป็นของน่าสะพรึงกลัว กามทั้งหลายเปรียบด้วยกองไฟ เพราะอรรถว่าเป็นดังกองไฟใหญ่ มีในพระไตรปิฎก หลายแห่ง อันนี้ผมนำมาจาก ขุททกนิกายมหานิเทศ

    ท่านอาจารย์ ต้องเห็นอย่างนี้ ใช่ไหม หรือว่าเห็นเหมือนเดิม ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นการไถ่ถอนกามทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย การจำกัดฉันทราคะ ในกามทั้งหลาย การละฉันทราคะในกามทั้งหลายใดเล่า นี้เป็นการไถ่ถอนกามทั้งหลาย เพราะฉะนั้น เวลาที่พูดถึงกาม จะต้องเข้าใจว่าหมายความถึงกิเลสกาม หรือหมายความถึง วัตถุกาม หรือหมายความถึง กาม ที่เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะใช้คำเดียวกัน แต่จะต้องมีความเข้าใจเป็นพื้นฐาน ก็อะไรเล่าเป็นการไถ่ถอนกามทั้งหลาย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การกำจัด ฉันท ราคะในกามทั้งหลาย การละฉันทราคะในกามทั้งหลายใดเล่า นี้เป็นการไถ่ถอนกามทั้งหลาย

    ผู้ฟัง วันนี้ที่ผมมา ผมอยากได้ชี้แจงตรงนี้ว่า จริงๆ แล้วในอัตตาตัวตนนั้น มันมี แต่มันมี มันไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา ที่พระพุทธเจ้า พระองค์ท่านตรัสว่า ท้ายสุดแล้วเป็นอนัตตา คือไม่มีตัวตน เหตุผลนั้นหมายถึงว่ามนุษย์ ผู้ที่เกิดมา อาจจะมีอายุ ก็ต้องอุปมาอุปมัย ๑ ขวบถึง ๑๐ ปี ๑ ปีถึง ๒๐ ปี ๑ ปีถีง ๖๐ ปีแล้วแต่อายุไขของเขา พระพุทธเจ้า พระองค์ท่านก็ทรงสั่งสอนว่าจงอย่าอยู่ด้วยความประมาท จงสร้างบุญกุศล เพราะเราไม่รู้ว่า ชีวิตเราจะเป็นอนัตตาเมื่อไร ก็คือหมดตัวตน ความเป็นตัวเป็นต้น เมื่อไร เท่านั้น ไม่ทราบถูกผิด

    ท่านอาจารย์ ก็ขอสนทนา ขณะนี้มีอะไร เดี๋ยวนี้เอง ขณะนี้มีอะไร

    ผู้ฟัง ขณะนี้หรือ ก็ที่ผมเห็นก็มีเรามีเขาอยู่

    ท่านอาจารย์ มี สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา มี แน่นอน มีเห็นไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เห็น กับสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอันเดียวกันหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าโดยรวมๆ ก็เป็นอันเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ ไม่รวม

    ผู้ฟัง ถ้าโดยไม่รวมนี้ ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตามี แล้วเห็นก็มี แล้วเห็นก็ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา เราอยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง ถ้าโดยรวมๆ ก็อยู่กับโลก

    ท่านอาจารย์ ไม่รวม คือนี่เป็นความคิดนึกก่อนฟังธรรม ใช่ไหม แต่เมื่อฟังธรรมแล้วเราต้องทราบ ที่เราเคยคิด กับที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ด้วยการทรงบำเพ็ญ พระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป แล้วทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา ถ้าก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม หมายความว่า ใน ๔๕ พรรษานี้ เราไม่เคยรู้เลย ว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมอะไร ถูกต้องไหม แต่เวลาที่ฟังแล้ว ที่จะรู้ว่าพระองค์ ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อเมื่อเราฟัง สิ่งที่เราไม่เคยฟังมาเลย ไม่ใช่ความคิดของเราด้วย เพราะเราจะคิดอย่างพระปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้เลย ต้องอาศัยการฟัง แล้วก็พิสูจน์ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ถูกต้องไหม ในเมื่อพระองค์ทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แสดงว่าทุกอย่างหมด แสดงว่าไม่มีอัตตา เพราะว่าเป็นอนัตตา จะมีอัตตา แล้วเป็นอนัตตาไม่ได้ ใช่ไหม เพราะว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เราต้องยอมรับความจริง เพื่อที่เราจะได้เข้าใจยิ่งขึ้น

    ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ก่อนฟังพระธรรม เรายังไม่รู้เลยว่าอะไรเป็นธรรม แต่เวลาฟังแล้วเราจะรู้ว่า ทุกอย่างที่มีจริง เป็นธรรม จึงเป็นอนัตตา ความหมายเหมือนกันเลย เพราะเหตุว่า อ-นัต-ตา ก็คือว่าไม่ใช่ตัวตน เมื่อไม่ใช่ตัวตน ก็คือธาตุ หรือ ธรรมนั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เคยเป็นเรา หรือเคยคิดว่ามีเรา ความจริงเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็รู้ว่าความจริงแล้วก็เป็นธรรม หรือว่าเป็นธาตุแต่ละลักษณะ ซึ่งมีลักษณะจริงๆ สามารถที่จะปรากฏได้แต่ละทาง เช่น ทางตาในขณะนี้ ถ้าบอกว่ามีเห็น กับมีสิ่งที่กำลังปรากฏ สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตาจะเป็น ใครไม่ได้เลย เพราะว่าเป็นเพียงสิ่งที่สามารถกระทบจักขุปสาท กระทบโสตปสาทก็ไม่ได้ กระทบกายปสาทก็ไม่ได้ ต้องกระทบเฉพาะจักขุปสาท ซึ่งคนที่มีจักขุปสาทเท่านั้น จะเป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิดขึ้น คนตาบอด สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาจะกระทบไม่ได้เลย กระทบตรงไหนก็กระทบไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่มีทางที่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้จะปรากฏกับคนตาบอด นี่คือความหมายของอนัตตา ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้เลย สิ่งใดจะเกิด ก็เกิดเพราะเหตุปัจจัย ที่สมควรแก่สิ่งนั้นๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยที่ว่าอยากจะให้เกิดก็ไม่ได้ จะไม่ให้ไม่เกิดก็ไม่ได้ ในเมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิด นี่คืออนัตตา

    เพราะฉะนั้น เมื่อศึกษาต่อไปๆ จะเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นอนัตตาจริงๆ เป็นอนัตตาทั้งหมด แต่เพราะความไม่รู้จึงทำให้เข้าใจว่าสิ่งที่มีในขณะนี้ เป็นอัตตา คือเป็นเรา แล้วก็เป็นคนอื่น แต่จริงๆ แล้วต้องแยกย่อยเป็นแต่ละลักษณะที่ปรากฏ แต่ละทาง เกิดขึ้นจึงได้ปรากฏ ถ้าไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ แม้สิ่งนี้กำลังเกิดก็ไม่รู้ เมื่อเกิดแล้วก็ดับไปก็ไม่รู้ นี่คือการที่จะเข้าใจได้ ว่าผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรมจะรู้อย่างนี้ ไม่ได้ ต้องฟังแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ เห็นตามว่า ไม่มีตัวตน มีแต่ธรรมซึ่งเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงว่า อภิธรรมๆ คืออะไร

    ผู้ฟัง ถ้าเป็น อภิธรรม ธรรมก็คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ พระธรรม คือ คำสั่งสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคำที่ตรัส เป็นคำจริง ไม่มีคำเท็จเลย เพราะฉะนั้น ทรงแสดงธรรม ซึ่งเราจะต้องเข้าใจว่า ธรรมคืออะไรก่อน มิฉะนั้นเราอาจจะคิดว่าเรา ปฏิบัติธรรม เราศึกษาธรรม แต่ความจริง ถ้าเราคิดว่าเราปฏิบัติธรรม แล้วศึกษาธรรม แต่เราไม่เข้าใจธรรม นั่นก็คือเราไม่ได้ศึกษา และไม่ได้ปฏิบัติ เพียงแต่ว่าเราได้ยินชื่อเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นธรรมคืออะไร ธรรมต้องเป็นสิ่งที่มีจริง พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธรรมคือ ทรงแสดงให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริง สิ่งที่ไม่มี ไม่ปรากฏ จะแสดงทำไม ใครก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ ใช่ไหม แต่ขณะนี้ สิ่งนี้กำลังมี แล้วไม่เคยรู้ ทรงแสดงให้เห็นถูก เข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้น เมื่อขณะนี้มีเห็น จริงไหม เห็น นี่จริงไหม

    ผู้ฟัง จริง

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็น สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรมไหม

    ผู้ฟัง ถ้ามองเฉยๆ มันยังไม่เป็น แต่ถ้าเมื่อมองเห็นแล้ว เกิดความรู้สึก เป็นกุศล หรืออกุศล คือดี หรือชั่ว ตรงนี้เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ยังไม่พูดถึงขณะนั้น พูดถึงแต่ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา มี จริงๆ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มี สิ่งที่มีจริง เป็นธรรมไหม

    ผู้ฟัง ต้องเป็น

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็น นี่คือเราเริ่มที่จะเข้าใจ ตามพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง แล้วก็ต้องตรง จะไม่เปลี่ยนเลย สิ่งที่ปรากฏทางตา มีจริงๆ เป็นธรรม เห็นก็เป็นธรรม คิดนึกเป็นธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นหมด

    ท่านอาจารย์ เป็นหมด เพราะฉะนั้น เราจะฟังธรรม ก็คือเราฟัง เรื่อสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ ให้เข้าใจ ว่าสิ่งนั้น ไม่ใช่เราเป็นธรรม เพราะเมื่อกี้เราบอกแล้วว่าเป็นธรรม นี่เพียงขั้นต้น ที่กล่าวตามว่าเป็นธรรม แต่ยังไม่ถึงความเป็นธรรมด้วยปัญญาอีกระดับหนึ่ง เป็นแต่เพียงเป็นธรรม ด้วยความเข้าใจ ที่เริ่มตรงว่า ทุกอย่าที่มีจริง พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แสดงพระธรรม คือแสดง เรื่องสิ่งที่มีจริง เรื่องทุกอย่างไม่เว้นเลย เสียง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหรือเปล่า กลิ่น รส โลภ โกรธ หลง ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะปลี่ยแปลงได้เลย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เปลี่ยนแปลงลักษณะของโทสะ ความขุ่นเคือง ความหยาบกระด้างให้เป็นลักษณะอื่น ไม่ได้ เพราะว่าสภาพธรรมนั้นเป็นอย่างนั้น ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นี้คือความเป็นปรมัตถธรรม ลักษณะปรมัตถธรรม ธรรมซึ่งไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้เลย

    และในปิฎกที่ ๓ คือ พระอภิธรรมปิฎก ก็แสดง ความละเอียดยิ่ง เป็นอภิธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีคนกล่าวว่า รู้จักธรรม แต่ไม่รู้จักพระอภิธรรม ถูกหรือผิด เพราะว่า อภิธรรมก็คือธรรม แล้วแต่ว่าเราสามารถที่จะเข้าใจได้ ละเอียดแค่ไหน มากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าเรายังไม่เข้าใจหรือว่าเข้าใจเพียงเล็กน้อย เราละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนไม่ได้

    แม้แต่คำว่า ปฏิปัตติ ภาษาไทยใช้คำว่า ปฏิบัติ แต่ความหมายจริงๆ ในภาษาบาลี หมายความว่า ถึงเฉพาะลักษณะของธรรม ขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก เร็วจนกระทั่งปรากฏเหมือนกับว่า ไม่ได้ดับเลย แต่ความจริงเพราะเกิดดับอย่างเร็วต่างหาก ที่ทำให้ปรากฏเหมือนไม่ดับ เพราะฉะนั้น ถ้าสติสัมปชัญญะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่ง สภาพธรรมใด สภาพธรรมนั้นปรากฏแล้วดับไปเลย ขณะนี้เป็นอย่างนั้นทั้งหมด ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น การที่เราจะปฏิบัติธรรม ไม่ได้หมายความว่ามีความเป็นตัวตนที่จะทำ เพราะว่า เราเริ่มเข้าใจถูกต้องว่า ธรรม ทุกอย่างที่ปรากฏเพราะเกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดขึ้นก็ไม่ปรากฏ ถูกไหม

    สภาพธรรมใดที่เกิดขึ้นต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง จึงเกิดได้ เพราะฉะนั้น การที่จะมีปัญญา ไม่ใช่เราอยากมี แล้วเราก็จะมี หรือการถึงลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่การยึดถือว่าเป็นเรา สามารถไปถึงลักษณะของสภาพธรรมหนึ่ง สภาพธรรมใดได้ แต่ต้องเป็นสภาพธรรม ที่ทรงแสดงไว้ว่า สติมีจริงเป็นโสภณธรรม เป็นธรรมฝ่ายดี เป็นธรรมที่มีลักษณะที่ว่า ระลึกรู้ตรงลักษณะ คือ ถึงลักษณะของธรรม แล้วปัญญาก็จะสามารถ เห็นถูกเข้าใจถูก ในลักษณะของสภาพธรรมที่สติระลึก เพราะฉะนั้น สติกับปัญญาก็เกิดร่วมกัน ที่จะปฏิบัติธรรม ซึ่งก็ได้แก่โดยทั่วไปใช้คำว่า มรรคมีองค์ ๘ แต่ตามปกติก็จะมีมรรค ๕ องค์ เกิดร่วมกันเว้น วิรตี ๓ ก็ไม่ใช่เรา แต่ถ้าเราไม่มีความเห็นถูกเลย แล้วก็มีตัวตน ซึ่งไปปฏิบัติธรรม เราก็จะไม่ได้รู้ถูกอะไรเลย

    เพราะฉะนั้น ทุกอย่างต้องตรง แล้วก็ต้องถูกต้อง ไม่ใช่ว่าเราเข้าใจว่า เราปฏิบัติธรรม แต่เป็นเราปฏิบัติ ก็ไม่ตรงกับที่ว่า มรรคปฏิบัติ ไม่ใช่เราปฏิบัติ มรรคก็ไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง ในขณะที่เรามีชีวิตอยู่ มันเหมือนคล้ายๆ กับว่ามีตัวมีตน

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง มันไม่แน่นอน เพราะฉะนั้น

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ถึงความเป็นพระโสดาบัน ก็ยังต้องมีความเป็นตัวตน ซึ่งเป็นความเห็นผิด

    ผู้ฟัง ใช่ ปกติ ก็สรุปว่า ยังคิดว่ามีอัตตาตัวตนอยู่ก็คงจะอยู่ด้วยความประมาท จงสร้างบุญกุศล สร้างบารมี

    ท่านอาจารย์ โดยเฉพาะ ความเห็นถูก เพราะว่ากุศลขั้นทานก็มี ขั้นศีลก็มี ขั้นความสงบก็มี แต่ไม่ใช่ขั้นความเห็นถูกก็ได้ คือ ธรรมมีแน่นอน แล้วก็ถ้าเข้าใจถูก เห็นถูกว่า ธรรมเป็นธรรม เป็นอนัตตา กับเห็นว่าธรรม ที่มีอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นอัตตา ความเห็นอย่างไหนถูก ความเห็นอย่างไหนผิด

    ผู้ฟัง มันต้องเป็นอนัตตาทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ที่ถูกก็คือถูก ใช่ไหม ต้องยอมรับ ที่ผิดก็คือผิด ถ้ารู้ตัวว่ามีความเห็นผิดอยู่ จะหมดความเห็นผิดได้อย่างไร หรือว่าอยากจะมีความเห็นผิดต่อไป

    ผู้ฟัง ก็ต้องศึกษา

    ท่านอาจารย์ ต้องศึกษา ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ขณะนี้มีเห็น แล้วก็ไม่รู้ความจริงของเห็น กับมีเห็นแล้วก็รู้ความจริงของเห็น เวลานี้มี ๒ ทาง ทางหนึ่งคือรู้ อีกทางหนึ่งไม่รู้ ควรจะเป็นทางไหน จะอบรมทางไหน ทางไม่รู้ต่อไป แล้วก็ไปภาวนา แล้วก็ไม่รู้ความจริงของเห็นที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ หรือว่าสามารถที่จะค่อยๆ อบรมความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็ว นี่คือความหมายของภาวนา อบรมให้มีความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ในสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้แต่การฟัง สิ่งที่จะทำให้สามารถเข้าใจถูกเห็นถูก ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็เป็นอนุตตริย

    มูล คือครั้งแรก ที่มีความเข้าใจถูก อันนั้นก็คือ อนุตตริย แล้ว ที่จะทำให้ถึงการเป็นพระโสดาบัน เมื่อได้อบรมเจริญปัญญาแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ในขั้นการฟัง จะมีปัญญาเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะว่าผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเป็นสาวก ต้องเป็นผู้ฟัง แล้วเมื่อฟังแล้วก็จะมีความเข้าใจถูกว่า ปัญญามีหลายระดับ ปัญญาที่ฟังขณะนี้ เริ่มมีความเข้าใจถูก จากที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมา ก่อนเลย เป็นเพียงระดับเข้าใจ ในเรื่องราว แต่ก็รู้ว่าความเข้าใจอย่างนี้ ไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้น จึงดับกิเลสไม่ได้ จะต้องอบรมเจริญต่อไป จนกระทั่งปัญญาสามารถที่จะค่อยๆ รู้ สิ่งที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น นี่คือการภาวนา

    เพราะฉะนั้น เป็นผู้ตรงที่จะต้องเข้าใจว่า นานแสนนานมาแล้วของสังสารวัฏฏ์ เต็มไปด้วยความไม่รู้ ไม่รู้อะไร ต้องไม่รู้ในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ไปไม่รู้อย่างอื่น ขณะนี้ ไม่รู้ ก็คือไม่รู้ในสิ่งนี้ ไม่ใช่ขณะนี้ไม่รู้แล้วไป เข้าใจว่าไม่รู้ในสิ่งอื่น ขณะนี้เมินเฉยไม่สนใจที่จะรู้ ก็ไม่ถูกต้อง

    เพราะฉะนั้น แม้แต่ความไม่รู้ ก็ต้องรู้ว่าไม่รู้อะไร ไม่รู้เมื่อไร ไม่รู้ในขณะนี้เอง จึงต้องอาศัยการฟัง ที่ทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรม ทางตาเพราะกำลังเห็น ทางหู เพราะกำลังได้ยิน ถ้ามีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส ก็จะต้องรู้ในสภาพธรรมนั้นๆ ว่า เป็นอนัตตา คือทั้งหมดต้องเป็นความเข้าใจที่ค่อยๆ เพิ่มจากการฟัง ขณะนั้นละความไม่รู้ตามลำดับ ถ้าฟังแล้วเข้าใจเมื่อไร ก็ละความไม่รู้ซึ่งเกิดจากการไม่เคย ฟังมาก่อน แล้วเวลาที่พิจารณา อย่างวันนี้ ฟังตรงนี้เดี๋ยวนี้ แล้วก็ไปไตร่ตรองพิจารณาว่า ปัญญาสามารถที่จะรู้ความจริงของธรรมที่กำลังปรากฏ ได้ไหม ถ้ารู้ไม่ได้ ไม่ต้องนับถือใครเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะไม่รู้ ใช่ไหม แต่ผู้ตรัสรู้ ทรงแสดงทั้งหนทาง ที่จะให้ผู้ที่ได้ฟัง สามารถอบรมเจริญปัญญาจนรู้ความจริง คือรู้อริยสัจจธรรมได้ เป็นพระอริยบุคคลได้ แต่ต้องอาศัยจากปัญญาของบุคคลนั้นเอง ไม่ใช่ปัญญาของบุคคลอื่น

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีครู อาจารย์ ที่เราคิดว่าจะปฏิบัติ เราจะต้องเข้าใจว่าปฏิบัติอะไร อย่างไร เพื่ออะไร แล้วก็ปัญญารู้อะไร ถ้ามีคนบอกว่าให้นั่ง ก็น่าจะต้องคิดว่า ทำไมต้องนั่ง ขณะนี้ก็มีสภาพธรรมแล้ว มีหนทางใดที่จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจถูก เห็นถูก ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าบอกว่า มีคนหนึ่ง เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ท่านก็มาสนทนาธรรมด้วย แล้วท่านก็ไปปฏิบัติธรรม ท่านก็บอกว่าท่านนอนไม่หลับ ครู อาจารย์ที่สอนก็บอกให้นอนแบบสีหไสยา คนนั้นก็นอนแบบสีหไสยา โดยที่ว่ายังไม่รู้เลยว่า ทำไมต้องนอนอย่างนั้น แล้วนอนอย่างนั้นแล้วจะเป็นอย่างไร เพราะว่า ใจของเขา เขาต้องการหลับอย่างเดียว มาให้เขานอนอย่างนั้นทำไม แต่ถ้าบอกเขาว่านอนอย่างนั้นแล้วเขาะจะนอนหลับ เขาก็ทำตาม แต่เขาก็ไม่หลับอีก นี่ก็เป็นเรื่องซึ่งไม่ได้มีเหตุผล หรือว่าไม่มีความเข้าใจของเราเอง

    ข้อสำคัญที่สุด พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นพระบรมศาสดาด้วยเหตุใด ด้วยทรงแสดงพระธรรมที่ทำให้ คนที่ได้ฟัง สามารถพิจารณาไตร่ตรอง เกิดความเห็นถูก เกิดปัญญาของตัวเอง ต้องเป็นปัญญาของเราเอง เพราะฉะนั้น ถ้าไม่สมเหตุ สมผล แล้วก็จะให้ทำ แล้วก็บอกว่าปัญญาจะเกิด แล้วก็ไม่บอกว่าปัญญาจะรู้อะไร ทั้งๆ ที่กำลังเห็น ก็ไม่ได้แสดงหนทางที่จะทำให้เกิดความเข้าใจถูก เห็นถูก ในสิ่งที่กำลังเห็น ทุกอย่างที่ เป็นจริงมีจริง ในชีวิตประจำวัน แล้วไม่รู้ตามความเป็นจริง แล้วให้ไปรู้อะไร นี่ก็แสดงว่าไม่ตรง ตามความเป็นจริง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 108
    25 มี.ค. 2567