ปกิณณกธรรม ตอนที่ 717


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๑๗

    สนทนาธรรม ที่ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    พ.ศ. ๒๕๔๖


    อ.อรรณพ เวทนา ก็เป็นสภาพความรู้สึก ซึ่งไม่ปราศจากเลย ไม่ว่าจะขณะไหนที่จิตเกิดขึ้นก็จะต้องมีสภาพความรู้สึก ซึ่งเราก็แสวงหา ความรู้สึกที่ดี คือความสุขทางกาย อย่างเช่น ร้อนเราก็จะหาที่เย็น อยากให้มีความสุขกาย และอยากที่จะได้เห็นได้ยิน สิ่งต่างๆ ที่จะทำให้เราเกิดความชอบ เกิดความสุขใจ หรือว่าอยากจะได้ยินเรื่องที่เป็นที่น่าพอใจก็แสวงหาเวทนา แต่จริงๆ ไม่รู้เลยว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ซึ่งจริงๆ แล้วพระองค์ทรงแสดงเวทนาขันธ์เพื่อให้เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่เราแสวงหา คือความรู้สึกว่าเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ไม่มีสาระแก่นสารเลย

    ผู้ฟัง ในขณะที่ผมฟังธรรม เดี๋ยวนี้เอง ก็ไม่รู้ความจริงว่า สภาพธรรมทางตานั้นเป็นอย่างไร เพราะว่าขณะนั้นสติไม่เกิด ก็เป็นเรื่องเป็นราวอยู่ตลอด ผมก็เป็นอกุศลตลอดในขณะที่เห็น แล้วก็ไม่รู้ความจริงว่า ธรรมทางตาเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ นี่คือการที่ยังไม่ได้ศึกษาเรื่องสภาพธรรมโดยละเอียด ซึ่งในขณะนี้เอง มีกุศลจิต มีอกุศลจิต มีวิบากจิต มีกิริยาจิตครบ เพียงแต่ว่าขณะไหนจะเป็นประเภทไหน ซึ่งเรายังไม่ได้กล่าวถึง แต่ให้ทราบว่าสิ่งที่มี ความไม่รู้มากมายมหาศาล ไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่รู้ว่าไม่ใช่เราอย่างไร แล้วแม้แต่จิตหลากหลายในขณะนี้ ที่กล่าวว่าเป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นวิบากก็มี เป็นกิริยาก็มี เราก็ไม่รู้หมด ไม่รู้อะไรทั้งนั้นเลย เต็มไปด้วยความไม่รู้จนกว่าจะค่อยๆ ศึกษาตามลำดับ แล้วจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น โดยที่ไม่ใช่เดาว่า ขณะนี้ต้องเป็นอย่างนี้ ขณะนั้นต้องเป็นอย่างนั้น แต่ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม ที่เป็นอย่างนั้นก็ดับไปหมดแล้ว ทุกๆ ขณะ

    ผู้ฟัง ถ้าผมไม่รู้ความจริงว่าเป็นธรรมทั้งหมด ก็เป็นอกุศลตลอด ที่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เลยหรือ

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศลก็ไม่รู้ เป็นวิบากก็ไม่รู้ เป็นกิริยาก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ขณะนี้มีทั้งกุศล อกุศล วิบาก และกิริยา ทีละขณะก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น เราไปสรุปเราเองไม่ได้ ว่าเป็นอกุศลทั้งหมด เพราะเหตุว่าไม่รู้จริงๆ แต่ไม่รู้ในขณะที่เป็นกุศล ไม่รู้ในขณะที่เป็นอกุศล ไม่รู้ในขณะที่เป็นวิบาก ไม่รู้ในขณะที่เป็นกิริยา

    เพราะว่าเรายังไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้ เพียงแต่ขณะนี้มีสภาพธรรม ให้เริ่มเห็นตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น เตือนอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นธรรม แต่ละลักษณะนี่เป็นธรรม ที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม แล้วก็กำลังจะให้เข้าใจนามธรรม และรูปธรรม ว่ารูปธรรมเป็นรูปขันธ์ แล้วก็นามธรรมมี ๒ อย่าง คือ จิต และเจตสิก จิตเป็นวิญญาณขันธ์ เพราะฉะนั้น มีเจตสิก ๕๒ ประเภท ซึ่งเจตสิก ๑ ประเภทเป็นเวทนาขันธ์ ได้แก่ เวทนาเจตสิก สภาพที่รู้สึก ไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิก ไม่ว่าจะรู้สึกดีใจ เสียใจ ก็เป็นเจตสิกนี้แหละที่รู้สึก แล้วแต่ว่าจะรู้สึกอย่างไร เพราะฉะนั้น ไม่ใช่การแปลง แต่หมายความว่า มีปัจจัยที่ความรู้สึกชนิดใดจะเกิด เกิดแล้วดับ แปลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะเป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น การเข้าใจคำ และการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ต้องตรงตลอดเวลา ว่าเมื่อเป็นสังขารธรรม ขณะที่เกิดปรุงแต่งแล้วเกิดเป็นสังขตธรรม เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น แล้วก็ดับไป ถ้าเป็นสุขเวทนาก็คือสุขเวทนา แปลงไม่ได้ ดับไป พอมีปัจจัยที่ทุกขเวทนาจะเกิด ก็เป็นทุกขเวทนาเกิดแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็กล่าวว่า เวทนามีความรู้สึก ๕ อย่าง เพราะว่าคุณรุ่งอรุณโดนครูตี แล้วผมก็อธิบายว่า ที่รู้สึกเจ็บนั้นเป็นเวทนา ไม่ใช่จิต แล้วก็มาโทมนัสตั้งเดือน เป็นปัญหาในชีวิตประจำวันของทุกๆ คนด้วย ที่เป็นปุถุชน เพราะว่าไม่อยากให้เกิด

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้ว่า โทมนัสเกิดแล้วก็ดับ ทุกอย่างไม่เที่ยงเลย เกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วทุกขณะ ที่จะไม่ยึดถือว่าเป็นเรา ไม่มีตัวเรา ไม่มีตัวตนได้ ก็ต่อเมื่อได้ประจักษ์ ความจริงของสภาพธรรมที่เกิดดับ ไม่อย่างนั้นจะไถ่ถอนการที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรามานานแสนนานไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง เรียนถาม ที่บอกว่า อะไร ความรู้สึกนั้นใช่ไหม บอกว่า

    ผู้ฟัง เจ็บนั้นเป็นเวทนา

    ผู้ฟัง เป็นเวทนา

    ผู้ฟัง ไม่ใช่จิต

    ผู้ฟัง แต่ว่าจิตรู้อารมณ์เดียวกันกับเจตสิก เจตสิกกับจิตจะรู้อารมณ์ มีอารมณ์เดียวกัน

    ผู้ฟัง ใช่ ก็มีอารมณ์เดียวกัน จิตเขารับรู้ไม้เรียว เจตสิกเวทนา ทำหน้าที่เจ็บ

    ผู้ฟัง แต่คิดว่า พร้อมๆ กัน

    ท่านอาจารย์ เวลานี้ทุกอย่างพร้อมกันหมดเลย ไม่เห็นอะไรเกิดดับเลย เพราะว่าเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก จนกระทั่งเป็นคนที่นั่งอยู่ในที่นี่ เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นอะไรทุกอย่าง

    ผู้ฟัง หนูอยากทราบว่า อย่างที่คุณจำนงพูดเรื่องเดิมอยู่นี้ เราก็ยังมีความรู้สึกอันนั้นอยู่ อันนี้เป็นสัญญาขันธ์หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เราจะใช้คำนี้เสมอจนกว่าเราจะได้เข้าใจแล้วว่าคืออะไร อย่างถ้าเราได้ยินคำว่า เวทนาขันธ์ แล้วเรายังไม่เข้าใจ เราก็จะถามนี่เป็นเวทนาขันธ์ไหม ใช่ไหม แต่ถ้าเรามีความเข้าใจแล้ว เราจะถามไหมว่าเป็นเวทนาขันธ์หรือเปล่า

    แม้แต่สัญญาขันธ์ก็ตามแต่ หรือคำอื่นๆ อีกมากต่อไป ถ้าเรายังไม่เข้าใจคำนั้น เราก็จะถามอยู่เรื่อยๆ ว่าเป็นอย่างนี้หรือเปล่า เป็นกุศลหรือเปล่า เป็นอกุศลหรือเปล่า แต่เราเข้าใจแล้วเราก็จะไม่ถาม เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับการเข้าใจ ถ้าเราได้ยินคำว่าเวทนา รู้ไหมว่าเป็นปรมัตถธรรมตอนนี้ รู้ เป็นจิตหรือเป็นเจตสิก หรือเป็นรูป หรือเป็นนิพพาน รู้ไหม รู้ เพราะเรารู้ เป็นเวทนาขันธ์ใช่ไหม ก็รู้ เพราะฉะนั้น ทุกอย่างเมื่อเข้าใจแล้วก็คือเข้าใจ แต่ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็ยังจะต้องสงสัยไป ใช่ไหม

    เดี๋ยวนี้ทุกคนอยู่ที่นี่ แล้วเราก็พูดถึงเรื่องรูปให้มีความเข้าใจจริงๆ ว่าในชีวิตประจำวัน รูปที่ปรากฏมีเพียง ๗ รูป ทั้งๆ ที่ทรงแสดงไว้ ว่ารูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป แต่รูปที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน คือ สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตาในขณะนี้ ๑ รูป ที่จะต้องมีการค่อยๆ เข้าใจขึ้น ว่าเป็นลักษณะของธรรมที่กระทบจักขุปสาทแล้วปรากฏ เพราะฉะนั้น จะเป็นคน จะเป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาไม่ได้เลย ถ้าไม่มีการคิด ก็จะเห็นได้ว่าตามความเป็นจริงโลกของความคิดทำให้มีเรื่องราวต่างๆ มีสัตว์ มีบุคคลต่างๆ ทั้งๆ ที่สภาพธรรมก็ปรากฏโดยที่ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ คือสิ่งที่ปรากฏทางตาก็มีลักษณะอย่างนี้แหละ เมื่อไรที่ค่อยๆ เข้าใจ โดยระลึกได้ว่าขณะนี้ที่เคยเป็นคนเป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ เพราะคิดถึงรูปร่างสัณฐานแล้วจำ แต่ถ้าไม่มีการคิด ไม่มีการจำ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏอย่างนี้แหละ

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมใดเป็นอย่างไร แล้วก็รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นในขณะนั้น จึงเป็นการอบรมความเห็นถูก ที่จะละการยึดติดในเรื่องราว การที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม ก็คือไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล สละความยึดถือว่าเป็นเรา แล้วก็สละเรื่องราวทั้งหมดที่เคยทรงจำไว้ ว่าเป็นเรา มีญาติพี่น้องเท่าไร บ้านอยู่ที่ไหน วันนี้มีอะไร ดอกไม้อยู่ตรงไหน นี่คือเรื่องราวทั้งหมด เพราะว่าขณะใดก็ตามที่มีลักษณะของสภาพปรมัตถธรรมกำลังปรากฏ ตรงนั้นขณะนั้นไม่มีเรื่องราวใดๆ ทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น เวลาที่เราเป็นทุกข์คงไม่ทราบ ทุกข์เพราะเรื่องราวที่จิตคิด ถ้ามีปัญญาในขณะนั้นที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่ง ตรงนั้นไม่มีเรื่องราวเลย

    ขณะนั้นที่สติระลึก มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง พ้นจากความทุกข์ของเรื่องราว เพราะฉะนั้น การที่จะพ้นจากความทุกข์ของเรื่องราว ก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่ามีเท่านี้เอง แล้วจนกระทั่งสามารถที่ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป แต่ก็คงจะเป็นเวลาอีกนาน เพราะว่าต้องเป็นผู้ที่ตรง ในขั้นของการฟัง ว่าขณะนี้เราได้ฟังธรรมแล้วธรรมก็กำลังมีปรากฏอยู่ เรื่องของจิตก็เป็นธาตุรู้สภาพรู้ แล้วก็มีเวทนาความรู้สึก ซึ่งไม่เคยขาดไปเลย แต่ทั้งๆ ที่พูดอย่างนี้บ่อยๆ ก็ยังไม่ถึงกาละที่ถึงความสมบูรณ์ของความเข้าใจ ที่จะทำให้สติปัฏฐานเกิด ระลึกทันที ตรงลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งที่กำลังปรากฏทีละอย่าง

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม ถ้าศึกษาด้วยความเข้าใจในความเป็นธรรม ในความเป็นอนัตตา ก็จะเป็นปัจจัยที่จะทำให้มีการระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ไม่ใช่รีบร้อนอยากจะมี หรือว่าอยากจะเร็ว หรือว่าอยากจะมาก ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คือว่า ไม่เห็นโลภะซึ่งเป็นสมุทัย

    การศึกษาทั้งหมด ต้องค่อยๆ เจริญขึ้น ตามลำดับขั้น จากขั้นของการฟัง มีความเข้าใจจริงๆ และถึงกาละที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง ตลอดชีวิตหรือเปล่า หรือว่าแม้ชาติต่อๆ ไปด้วย ไม่ใช่ชาติเดียว แต่อย่างน้อยที่สุด มีการสะสมความเห็นถูก และหนทางถูก ที่จะทำให้สามารถประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ได้

    ผู้ฟัง ดิฉันเข้าใจถูกต้องไหม โลกของความคิดเป็นนาม เรื่องที่คิดเป็นรูป

    ท่านอาจารย์ เรื่องอะไร ที่คิด ขอสักตัวอย่าง ๑

    ผู้ฟัง ตัวอย่าง ดิฉันถูกคุณครูตีแล้วเจ็บ หลังจากนั้นจบไป เรื่องนั้นดิฉันก็เอามาคิดแล้วคิดอีก แล้วก็โกรธคุณครู

    ท่านอาจารย์ แล้วขณะที่คิดเรื่อง ดิฉันถูกคุณครูตีอยู่ตรงไหน ขณะที่กำลังคิดว่าดิฉันถูกคุณครูตี คุณครูอยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง ไม่มีจบไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่รูป จิตที่คิดพร้อมเจตสิกที่เกิดเป็นนามธรรม เป็นปรมัตถธรรม เรื่องที่คิดเป็นเรื่องราว

    ผู้ฟัง เป็นเรื่องราวใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นคำต่างๆ

    ผู้ฟัง อีกนิดหนึ่ง อาจารย์ๆ สอนบอกว่า

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เป็นรูป หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นความคิด ก็คงเป็นนาม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ไม่ใช่ทั้งนามธรรม และรูปธรรม ถ้านามที่เกิด ก็มีจิต และเจตสิกที่กำลังคิด นั่นเป็นนามธรรม รูปก็มีลักษณะของรูปแต่ละรูป เช่น รูปกำลังปรากฏทางตาอย่างหนึ่ง รูปที่ปรากฏทางหูอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังคิดว่าดิฉันถูกครูตี ไม่มีทั้งดิฉัน ไม่มีทั้งไม้เรียว ไม่มีทั้งครูตี เพราะฉะนั้น ก็เป็นแต่เพียงความทรงจำ แล้วขณะที่คิดอย่างนั้น เป็นการคิดถึงคำ เพราะว่าความคิดมีหลายอย่าง คิดที่ไม่เป็นคำก็มี เร็วมากด้วย ไม่มีการรู้ตัวเลยว่าขณะนี้ ที่กำลังเห็นว่าเป็นอะไรคิดแล้ว เพราะว่าสิ่งนั้น เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏเฉยๆ แต่ทำไมเห็นเป็นคน แสดงว่าขณะที่รู้หรือคิด เข้าใจว่าเป็นคน ขณะนั้นคิดแล้ว ในรูปร่างสัณฐาน และความทรงจำ เพราะฉะนั้น เรื่องของความคิดนี้มากมาย จิตที่คิดพร้อมเจตสิกที่เกิด เป็นนามธรรม เป็นปรมัตถธรรม แต่เรื่องราวเป็นความทรงจำ ในสีสันวัณณะ จำได้ว่ามีครู จำไม้เรียวได้ จำได้ว่าถูกตี

    ผู้ฟัง เป็นสัญญาใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน สัญญาต้องเกิดกับจิตทุกขณะอยู่แล้ว แต่เรากำลังจะลำดับให้ฟัง ว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง ซึ่งก็จะต้องเกี่ยวกับสัญญา ในคราวต่อไป แต่ให้ทราบว่า เรื่องราวไม่ใช่รูป และไม่ใช่นาม เพราะรูปแต่ละรูปมีลักษณะของรูปนั้นๆ ว่ารูปนี้มีจริง กำลังปรากฏทางตาเป็นรูปธรรม เสียงมีจริงกำลังปรากฏทางหูเป็นรูปธรรม แต่เรื่องราวไม่มีอะไรที่จะปรากฏ ที่จะเป็นลักษณะของรูปหรือนามธรรมเลย

    ผู้ฟัง เรื่องขันธ์ ๕ ข้อที่ ๑. ต้องมีรูป

    ท่านอาจารย์ รูปทุกรูป เป็นประเภทรูปจะเป็นอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเกิดเมื่อไร ที่ไหน ลักษณะอย่างไร บนสวรรค์ในน้ำที่ไหนก็เป็นรูป จึงเป็นรูปขันธ์ เป็นกอง หรือเป็นส่วนที่เป็นรูป เป็นสภาพธรรมที่เป็นรูป

    เพราะฉะนั้น ความรู้สึกในอดีตก็มี ปัจจุบันก็มี ต่อไปก็จะมี เวทนาความรู้สึกมีลักษณะหลากหลาย แต่ทั้งหมดก็คือสภาพของเจตสิกชนิด ๑ ไม่ใช่เจตสิกอื่นๆ อีก ๕๑ ชนิด เพราะฉะนั้น จึงเป็นเวทนาขันธ์ เป็นความรู้สึกที่มีความสำคัญมาก เพราะว่าทรงแสดงตามอำนาจของความติดข้อง หรือความยึดมั่นในสภาพธรรมนั้นๆ

    สำหรับจิต เราก็มีความยึดถือว่าเป็นเรา โดยที่ว่าไม่รู้ลักษณะของจิต เพราะฉะนั้น จิตก็เป็นวิญญาณขันธ์

    ถ้าถามใครแต่ละคนที่นี่ ทุกคนก็มีความรู้เรื่องนั้น เรื่องนี้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ รู้จักตัวเองหรือเปล่า เพราะว่าบางคนรู้เรื่องอื่นหมด แต่ไม่รู้ตัวเอง ไม่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ว่า ที่เรื่องทุกเรื่องที่แต่ละคนศึกษา หรือมีความถนัดมีความชำนาญจะมีได้ ก็เพราะมีสภาพธรรม ที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา คือ มีจิต มีเจตสิก มีรูป

    เรื่องของจิต เจตสิก รูป ฟังดูก็เหมือนธรรมดา จิตก็เป็นสภาพที่ขณะนี้กำลังเห็น กำลังคิดนึก กำลังได้ยิน รู้สึกสุขทุกข์ทางกาย ดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าความเป็นจริงแล้วสภาพธรรมที่เกิด ลองคิดดู จากสิ่งที่ไม่มีแล้วมีขึ้น จะต้องมีเหตุปัจจัย ที่ทำให้สิ่งนั้นมีขึ้น แม้แต่จิตที่มี ก็จะต้องมีเหตุปัจจัยที่ทำให้มีจิตนั้นเกิดขึ้น คือเจตสิก เรียกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏเพราะเกิดขึ้น มีความล้ำลึกที่ถ้าไม่ใช่พระปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงตรัสรู้โดยสิ้นเชิง ในความจริงของสภาพธรรม ไม่มีใครสามารถที่จะแสดงความจริงนั้น ให้คนอื่นได้เกิดความเข้าใจได้เลย

    ในคราวก่อนก็ได้พูดถึงเรื่องของจิต เจตสิก รูป โดยนัยของขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นไปตามการยึดถือ เพราะเหตุว่า สภาพธรรมเมื่อแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ก็ได้ ๒ ประเภท คือสภาพธรรมอย่างหนึ่งเป็นรูปธรรม ไม่สามารถที่จะรู้ จะเห็นจะคิด จะนึกได้เลย ส่วนสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งนั้นเป็นนามธรรม คือเป็นทุกขณะในขณะนี้ ที่กำลังเห็นกำลังได้ยิน กำลังรู้สึกต่างๆ

    ธรรมไม่ได้อยู่ไกลตัวหรือนอกตัว แต่มีจริงทุกๆ ขณะ แม้ในขณะนี้ ที่กล่าวถึงเห็น ก็เพื่อให้ทุกคนรู้ว่าเห็นขณะนี้มี แล้วก็เป็นธรรม แต่ความห่างไกลของปัญญาที่จะเห็นว่า เห็นมีจริง ไม่ใช่เราเป็นธรรม ก็ลองคิดดูว่าในแสนโกฏิกัปป์ หรือนานแสนนานมาแล้ว เราไม่เคยรู้เลย ว่าขณะนี้สภาพธรรมทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับ ไม่มีสภาพธรรมใดเลยที่ปรากฏในขณะนี้ที่ไม่ดับ

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงความห่างไกลกันมากของปัญญาที่เริ่มจากการฟัง จนกว่าจะเข้าใจ จนกว่าจะอบรม จนกระทั่งประจักษ์จริงๆ ว่าสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคลเป็นธรรม ตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้ ด้วยปัญญาของเราเอง

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ ว่าชีวิตที่ดำเนินไปวันหนึ่งๆ แม้มีสิ่งที่ปรากฏก็ไม่เคยรู้ความจริง แล้วก็ยึดถือสิ่งนั้นๆ ด้วย เช่น สิ่งที่เป็นรูป เราติดมากแค่ไหน มีใครไม่ปรารถนารูปหนึ่งรูปใดบ้างไหม ตั้งแต่เกิดจนตายกี่ชาติมาแล้ว ก็ปรารถนาเห็นสิ่งดีๆ ได้ยินเสียงดีๆ ได้กลิ่นดีๆ ลิ้มรสดีๆ รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสดีๆ เพราะฉะนั้น รูปเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราติดข้องมาก เป็นรูปขันธ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปหยาบ รูปละเอียด รูปใกล้ รูปไกล รูปอดีต รูปอนาคตอย่างไรก็ตาม ก็เป็นประเภทของรูป แต่ละรูป เป็นรูปซี่งไม่ใช่นามธรรม

    สำหรับจิตก็เป็นวิญญาณขันธ์ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เหลืออีก ๓ ขันธ์ เพราะว่าขันธ์ ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑ มีใครยังไม่คล่องเรื่องขันธ์ ๕ บ้างไหมโดยชื่อ รูปขันธ์ แน่นอน มี ขณะนี้กำลังปรากฏ วิญญาณขันธ์ขณะนี้มีไหม มี กำลังเห็น กำลังได้ยิน เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ เป็นเจตสิก สำหรับเวทนาขันธ์ ได้แก่ เวทนาเจตสิก ๑ ประเภท ซึ่งเป็นความรู้สึกอย่าง ๑ อย่างใดใน ๕ อย่าง คือขณะนี้ รู้สึกอย่างไร เฉยๆ หรือว่าดีใจ หรือว่าเสียใจ หรือว่าสุขทางกาย หรือว่าทุกข์ทางกาย จะไม้พ้นจากความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใดเลยทั้งสิ้น

    เพราะเหตุว่า เป็นสภาพธรรมที่ต้องเกิด แต่เมื่อเกิดแล้ว เป็นสิ่งที่เป็นใหญ่ ทำให้แต่ละคนเดือดร้อน หรือเป็นทุกข์ หรือแสวงหาทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อความรู้สึกที่เป็นสุข ในบรรดาความรู้สึกทั้งหมด ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ คือ อทุกขมสุข หรืออุเบกขา ความรู้สึกที่ดีใจเสียใจ ความรู้สึกที่เป็นทุกข์กายทุกข์ใจ สิ่งที่ทุกคนไม่ปรารถนาเลย คือทุกข์กาย และทุกข์ใจ แต่สิ่งที่ทุกคนปรารถนา คือสุขกาย และสุขใจ ถ้าไม่ได้ก็ขอเพียงเฉยๆ ก็ยังดี

    เราแสวงหาตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งหลับทุกวันเพื่อความรู้สึกอันนี้ เวทนาเจตสิกจึงเป็นเวทนาขันธ์ เป็นสิ่งที่เรายึดมั่นว่าเป็นเราแล้วก็มีความยึดมั่นในสภาพธรรมนี้ จนกระทั่งต้องเป็นสุขเป็นทุกข์เรื่อยๆ ก็เพราะเวทนาเจตสิก แต่ลองคิดดูนอกจากนั้น ในบรรดาเจตสิก ๕๒, ๑ เจตสิกคือเวทนาเจตสิก มีความสำคัญมาก นอกจากเวทนาเจตสิกแล้ว

    สัญญาเจตสิก เป็นสภาพที่จำ แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะเกิดกับจิตอะไร นี่คือที่ตัวเราทั้งหมดเลย ปกติเรารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏไหม ไม่ แต่ว่าสัญญาเกิดแล้ว จำแล้วในสิ่งที่ปรากฏ โดยคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะไม่รู้ความจริงว่าขณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ได้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงก็มีสัญญาความทรงจำในสภาพธรรม ซึ่งเกิดดับอย่างเร็วมาก เหมือนไม่ดับเลย เช่น ในขณะนี้สภาพธรรมกำลังเกิดดับเร็วมากเหมือนไม่ดับ เป็นคุณจำนง ตั้งแต่เห็นจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ก็ยังไม่ดับเลย เพราะความเกิดดับของสภาพธรรม ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม เร็วมาก

    เพราะฉะนั้น สัญญาก็จำผิด คือจำการเกิดดับสืบต่ออย่างเร็ว จนไม่ปรากฏว่าดับ ในรูปร่างสัณฐานซึ่งทรงจำไว้อีก ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ มีหลายสีสัน แต่ทำไหมเราสามารถที่จะรู้ว่าเป็นใคร หรือเป็นอะไร ถ้าไม่มีสัญญาเจตสิกคือสภาพที่จำ ก็จะไม่มีการรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร แต่ว่าสัญญาเจตสิกก็จะเปลี่ยนไป จากสัญญาเจตสิกที่เกิดกับอวิชชา การไม่รู้ความจริง แล้วก็ยึดถือสิ่งที่ปรากฏว่ามีจริงๆ ไม่ใช่สภาพธรรม ที่เพียงเกิดขึ้นแล้วดับไป ก็จะยึดถืออย่างนี้เรื่อยไป แต่ว่าบางกาละเป็นกุศล เพราะว่าสภาพธรรมมีหลากหลายมาก ขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นก็เกิดร่วม นอกจากอวิชชาความไม่รู้แล้ว ก็ยังจะเกิดร่วมกับโลภะความติดข้องในสิ่งที่เห็น หรือความขุ่นเคืองไม่พอใจในสิ่งที่ปรากฏ เพราะเหตุว่า ชีวิตก็อย่างนี้ เวลาที่เห็นสิ่งหนึ่ง สิ่งใดแล้วก็ ไม่ชอบ ก็ชัง

    เพราะฉะนั้น จะห็นได้ว่าปกติ เมื่อมีอวิชชาความไม่รู้ก็จะเกิดร่วมกับอกุศลอื่นๆ ซึ่งก็เป็นนามธรรมซึ่งมีจริง แล้วก็เป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง แต่บางกาละก็มีเจตสิกประเภทอื่นที่เกิด เพราะฉะนั้น สัญญาที่เกิดร่วมกับจิตประเภทอกุศล ก็เป็นอกุศลสัญญา ส่วนสัญญาที่เกิดกับจิตประเภทที่เป็นกุศล ก็เป็นกุศลสัญญา จนกว่าจะเกิดร่วมกับปัญญา แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมขึ้น ทั้งหมดนี้ก็เพราะสัญญาความจำ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 108
    26 มี.ค. 2567