ปกิณณกธรรม ตอนที่ 672


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๗๒

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๗


    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น การที่จะประพฤติ ที่ว่าเนกขัมมะในที่นี้ก็คือ เจริญกุศลทุกประการ

    ท่านอาจารย์ ออกจากกาม ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ออกจากกิเลสกาม

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังติดในกามจะเป็นกุศลได้ไหม ไม่ว่าประการหนึ่ง ประการใด

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ที่เป็นกุศลก็เพราะออกจากกาม ออกจากความติดข้อง

    ผู้ฟัง แต่ถ้าออกโดยเพศ อันนั้นก็จะสูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ โดยเพศ โดยการบวช บวชก็คืออกจากกาม

    ผู้ฟัง ออกจากกาม

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ เนกขัมมธาตุ หรือกามธาตุ

    ผู้ฟัง สลับกันไป

    ท่านอาจารย์ แต่ต้องมีเนกขัมมธาตุด้วย ที่ทำให้มีการศึกษา ซึ่งก็ต้องมาจากธาตุนี้มี แล้วก็มีสัญญาความจำ แล้วก็มีวิตก การตรึกนึกถึง ความเร่าร้อนเวลาที่เป็นอกุศล ก็จะต่างจากขณะที่เป็นกุศลแน่นอน ใช่ไหม สำหรับอกุศล ถ้าเราใช้คำว่า เร่าร้อน เราเห็นชัดถึง ความเป็นอกุศล แต่ทางฝ่ายกุศล ไม่เร่าร้อนอย่างอกุศล ถ้าเราจะคิดถึงความขวนขวาย ซึ่งไม่ใช่อยู่เฉยๆ หรือว่าไม่ใช่อยู่นิ่งๆ คือเรามีกุศลเกิดขึ้นแล้ว แล้วเราก็จะมีกุศลต่อๆ ไปอีก ในเมื่อที่เรารู้ว่าขณะนั้น เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้มีการตรึกนึกถึงแล้วมีฉันทะในกุศล เพราะว่าคนที่มีกุศลจิตเกิด แล้วก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี จะเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลนั้นๆ อีกไหม แล้วแต่ว่าใครถนัดกุศลอย่างไหน ถ้ากุศลเกิดมีความสามารถในการจัดดอกไม้ จัดอีกไหม หรือหนเดียวพอ

    นี่ก็เป็นเรื่องที่จะทำให้ มี สัญญาความจำแล้วมีการตรึกถึงกุศล อย่างไหนก็ได้ บางคนก็ให้ทาน ก็มีความสุขมาก ปิติมากทีเดียว เอาของไปแจก มหาทาน ไม่ว่าใครที่ไหนอย่างไร ก็ให้ได้เป็นประโยชน์สุขแก่เขา มีสัญญาความจำว่าขณะนั้น จิตพอใจ มีฉันทะในกุศลอย่างนั้น ก็เป็นเหตุให้เกิด เนกขัมมะปริราหะ แต่ว่า ไม่ใช่ในลักษณะของอกุศล ซึ่งเราเห็นชัดว่า เวลาที่อกุศลเกิด ความเร่าร้อนมี

    เพราะฉะนั้น ก็จะเป็นทางที่จะให้แสวงหาในทางอกุศล ด้วยกาย ด้วยวาจา ฉันใด ทางฝ่ายกุศลก็มีการแสวงหาด้วย ด้วยกาย ด้วยวาจา เท่าที่ประเภทนั้นๆ อย่างบางคนที่สนทนาธรรม ก็มีความคิดที่ต้องการที่จะให้คนอื่น ได้เข้าใจธรรม ขณะนั้นก็จะไม่ได้อยู่เฉยๆ เลย กุศลจิตเกิด แล้วก็มีฉันทะ มีความพอใจ แล้วก็มีการขวนขวาย หรือพยายาม แสวงหา เป็นเหตุให้แสวงหาว่าเมื่อไร ที่ไหน ที่จะมีการฟังธรรม มีการสนทนาธรรม หรือว่ากุศลอื่นก็ได้ ที่ไม่ใช่เรื่องของธรรม จะเป็นในลักษณะของคุณหมอก็เป็นลักษณะที่จะทำกุศลได้ ในทางหนึ่ง ก็แล้วแต่ฉันทะ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าทั้งทางฝ่ายกุศล และอกุศล ก็ต้องมีเหตุ ที่จะให้เกิดขึ้น ทั้งกาย ทั้งวาจา

    ผู้ฟัง คำว่า แสวงหา ฟังดูเหมือนกับโลภะ หรือ ต้องการ

    ท่านอาจารย์ ไม่ ในทางกุศลได้

    ผู้ฟัง สืบเนื่องจากคุณหมอ เนกขัมมปริเยสะ มีหลายระดับ คืออย่างนี้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ ขณะไหนเกิดขึ้นก็เป็นชีวิตประจำวัน จริงๆ เกิดขึ้นเมื่อไรก็รู้ ก็ค่อยๆ เข้าใจไป ไม่ใช่ว่าเรามีขีดเส้นตาย ว่าเกินนี้เป็นอย่างนี้ เกินนั้นเป็นอย่างนั้น ต่ำกว่านี้เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ แต่ว่าให้ทราบถึงว่า ขณะใดก็ตามมีกายวาจาอย่างไร เพราะมีเหตุ หรือว่า ยังอยู่ในระดับที่เพียงแต่ตรึก หรือนึกถึง คุณจำนง มีความความคิดเห็นไหม ถ้าพิจารณาจะพิจารณาอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็พิจารณาแล้วจิตมันก็ยังกระด้างอยู่ ไม่อ่อนน้อม ยังไม่สลด

    ท่านอาจารย์ ก็อาศัยการสะสม ไม่ใช่ว่าใครจะพิจารณา หรือเพียงแต่ได้ฟัง แล้วก็จะมีการระลึกถึง การแก่ ความตาย ความเจ็บไข้ได้ เช่น ข้อความที่ว่าสตรี บุรุษ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต ไม่เว้นใครเลย ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ อันนี้คนที่ยังไม่แก่ คงจะยาก ที่จะคิดว่าเรายังไม่แก่ แต่เราก็จะต้องแก่จนกว่าเราจะเห็นความแก่ ที่มีคนแก่ มากๆ เราก็พิจารณาว่าถึงอย่างไร เราก็ไม่พ้น ความแก่นี้ไปได้ แล้วเราก็เคยแก่มาแล้ว บ่อยๆ ในสังสารวัฏฏ์ ก็เป็นเรื่องธรรมดาจริงๆ ในความเป็นธรรม หรือธรรมดา คือสภาพธรรม ที่มีจริง ซึ่งถ้าเพียงแต่พิจารณาโดยนัยของพระสูตร ก็อาจจะมีความรู้สึกที่ เป็นกุศลในขณะนั้นที่ คลายความเมา ในความไม่แก่ หรือว่าในความไม่มีโรค หรือในความที่ยังไม่ตาย แต่เพียงนิดเดียว ต่อจากนั้นก็เหมือนเดิม ก็แสดงให้เห็นว่าแม้ว่าจะทรงเตือนตลอด ทรงโอวาทตลอด ทรงอนุสาสนี บ่อยๆ เนืองๆ แต่ก็เป็นเรื่องที่ วันนี้ใครประพฤติปฏิบัติตามบ้าง พระธรรมถ้าประพฤติปฏิบัติตาม ก็จะเป็นประโยชน์จริงๆ แต่จิตใจที่ยังไม่พร้อม ที่จะประพฤติปฏิบัติตาม แม้ได้ฟังอย่างนี้ เพียงอย่างนี้ จะพิจารณาอันไหน จะพิจารณาอย่างไร ก็เป็นเรื่องซึ่งแล้วแต่การสะสม

    ผู้ฟัง บางขณะผมได้ฟังบรรยาย พระสูตรเรื่องนี้ เรื่องฐานะ ๕ บางทีข้อความ ๑ ฟังแล้วเกิดสลด เหมือนกัน แต่บางทีฟังแล้ววันนี้รับตรงๆ เลย อ่านทั้ง ๕ ก็ยังไม่สลด มันก็เป็นอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าใจธรรม แล้วก็รู้หนทางปฏิบัติ อาศัยการที่ได้ทรงแสดงธรรมไว้แล้ว อ่าน ก็จะทำให้รู้ว่า จุดประสงค์ของการที่เราเกิดมาแล้วเรามีโอกาสได้ฟังพระธรรม ก็คือการที่จะพิจารณา เข้าใจพระธรรม ส่วนประกอบอื่นๆ ในพระสูตร จะทำให้เวลาที่เรามัวเมาหรือว่า เราหลงลืมไปบ้าง ก็อาจจะคิด แต่น้อยมาก เพราะเหตุว่าการที่ จะละคลายกิเลสได้จริงๆ ต้องเป็นการรู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่ว่าใครก็ตาม ที่เพียงได้ฟังเท่านี้ แล้วก็สามารถที่จะพิจารณาได้บ่อยๆ หรือว่าสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม จนกระทั่งประจักษ์แจ้ง ลักษณะของสภาพธรรมได้

    แต่อาศัยเมื่อได้เข้าใจสภาพธรรม แล้วนั่นแหละ แล้วก็ได้ฟัง ในขณะนั้นก็จะพิจารณแล้วก็ จะรู้สึกว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควร ที่จะมัวเมาหรือประมาท

    การที่กรรมที่ได้กระทำแล้ว เป็นเหตุที่จะให้เกิดผลแน่นอน แต่ต้องอาศัยโอกาสด้วย เพราะเหตุว่ากรรมมีมาก แล้วแต่ว่ากรรมไหนสุกงอม พร้อมที่จะให้ผล ก็เป็นปัจจัยให้จิตที่เป็นวิบาก คือผลของกรรมนั้นเกิดขึ้น หรือว่าเวลาที่กรรมที่ได้กระทำแล้วก็มีปัจจัยพร้อมเมื่อไร โอกาสอีกหลายอย่างเช่นฐานะ ก็จะมีความละเอียดต่อไป ว่ากรรมไหนจะให้ผล แต่ผลทั้งหมด ต้องมาจากเหตุ คือกรรมที่ได้กระทำแล้ว

    แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ อย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่ทรงดับขันธปรินิพพาน เมื่อยังมีขันธ์อยู่ ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้ กรรมที่ได้กระทำแล้ว ยังมีโอกาสให้ผล ตราบจนกระทั่งเมื่อไรที่ปรินิพพาน เมื่อนั้นถึงแม้ว่ากรรมจะได้ทำมาแล้ว แต่ยังไม่ทันให้ผล ก็ไม่สามารถที่จะให้ผลได้ เพราะเหตุว่าปรินิพพานแล้ว ถ้าจะเอาหลักอย่างนี้ เราก็คงจะไม่ต้องไปถึงรายละเอียดแต่ให้ทราบว่า กรรมใดที่ได้ทำแล้ว แม้นาน ไม่พูดถึงดวงที่ ๑ หรืออะไรเลย พูดทั่วๆ ไปว่า แม้นานแล้ว ก็มีโอกาสที่จะให้ผล ตราบเท่าที่ยังไม่ปรินิพพาน

    วิทยากร คือคิดว่าไม่ให้ผล หมายคความว่า หลังจากปรินิพพานแล้ว คือถ้ายังทรงพระชนม์อยู่ อย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็ทำกรรมมามากมาย แต่เมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ วิบากขันธ์ คือขันธ์ที่ได้มาจากกรรมยังอยู่ ก็ต้องได้รับผล พระพุทธเจ้า ก็ได้รับผลของกรรม วิบากยังได้รับอยู่ ยังมีขันธ์อยู่ ถ้ายังมีขันธ์อยู่

    ถ้าปรินิพพานแล้วละก็ ตัวอย่างท่านองคุลีมาล จะชัดเจนมากเลย

    ท่านอาจารย์ ขอโทษ ถึงแม้เป็นพระอรหันต์แล้ว อย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ได้รับผลของอดีตกรรม ที่ได้ทำแล้ว ทรงประชวร องคุลิมาลก็ได้ จนกว่าจะปรินิพพาน

    วิทยากร พระองค์คุลิมาลยังถูกขว้างปา เวลาไปบิณฑบาต

    ท่านอาจารย์ ก็เลือกกรรมไม่ได้ พูดง่ายๆ ก็คือยังไม่ตาย ตราบใด ก็ยังต้องได้รับผลของกรรมเมื่อมีโอกาส เพราะเหตุว่ากรรมมากมาย ไม่ใช่ว่า กรรมทั้งหมดจะให้ผลได้หมดเลย กรรมที่ยังเหลือ ที่ยังไม่ได้ให้ผลก็มี แต่ว่าปรินิพพานก่อน เพราะฉะนั้น กรรมใดที่หลังจากปรินิพพานแล้ว ก็ไม่มีโอกาสจะให้ผลได้เลย เพราะว่าปรินิพพานแล้ว

    วิทยากร ยกตัวอย่าง ก็คือ พระโมคคัลลานะ ท่านมีฤทธิ์มาก โจรมาล้อมอยู่ ท่านก็เหาะไปตั้งหลายวัน หลายครั้ง ท่านก็พิจารณา ดูว่าท่านเป็นเพราะอะไร โจรถึงคิดจะฆ่า ท่านก็นึกถึงว่าอดีตกรรมท่านได้ทำไว้มี ได้ประทุษร้ายมารดา บิดา ท่านก็ไม่หนี โจรก็ทุบ ทุบจนแหลก แต่ท่านไม่ตายนะ โจรนึกว่าตายแล้ว ไปทิ้ง ท่านก็ ประสานร่างกายเหาะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปทูลลาปรินิพพาน เป็นผลของกรรม

    ผู้ฟัง อยากจะเรียนถามว่า กรรมที่ให้ผลแล้ว จะต้องให้ผลอีก หรือเปล่า แล้วก็ถ้าให้ผลอีก เมื่อไรจะหมดกรรมสักที

    ท่านอาจารย์ ขึ้นอยู่กับว่ากรรมอะไร กรรมที่ให้ผลแล้วยังไม่หมด ตายไปก่อน ก็ยังมีโอกาสที่จะให้ผล ในชาติต่อไปได้ หรือว่าเวลาที่เกิดมาแล้ว การรับผลของกรรมก็ ตามสมควรแก่กำลังของกรรมนั้นๆ ถ้ากรรมไม่หมด ไม่มีทางเลย ต้องหมด เมื่อให้ผลหมดแล้ว แต่ว่าแต่ละกรรมก็มีกำลังต่างกัน บางกรรมก็ให้ผลมาก บางกรรมก็ให้ผลน้อย

    วิทยากร ผมก็จะเพิ่มเติม คือเรื่องกรรม ทำไมไม่หมดไปสักที อะไรอย่างนั้น ก็อย่างที่ท่านอาจารย์ ว่าแล้วแต่กำลัง ของกรรม แต่ถ้าเราดูตัวอย่างในพระไตรปิฎก จะเห็นเลย อย่างท่านพระอานนท์ นี่ ท่านไปเป็นชู้กับภรรยาเขา ท่านต้องเป็นกระเทยเท่าไร ไปเกิดเป็นลา เกิดเป็นแพะ อะไรต่ออะไร แล้วยังบางทีเศษของกรรมอีก ยังไม่หมด ยังเหลืออยู่ แต่ต้องหมด อย่างที่ท่านอาจารย์ว่า ต้องหมด เพราะตัวอย่างในพระไตรปิฎก มีหลายเรื่อง

    ผู้ฟัง หนูมีความสงสัยว่า ถ้าคนที่ทำกรรมชั่ว เขาทำกรรมชั่วกี่แสนโกฏิกัปป์ ชาติ แล้วก็ทำชั่วไปเรื่อยๆ เขาไม่มีวันที่จะพ้นจากปรักของความชั่ว ตรงนั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แสนโกฏิกัปป์ ผ่านมาแล้ว คุณแอ๊วทำกรรมไว้เท่าไร

    ผู้ฟัง จำไม่ได้

    ท่านอาจารย์ มากมายมหาศาล เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่า ชาตินี้กรรมไหนจะให้ผล ถ้าเป็นอกุศลกรรมแรง ที่ได้กระทำแล้ว แม้ว่าเกิดในนรกแล้ว ไม่หมดผลของกรรมนั้น ก็สามารถที่จะให้ผล เป็นเศษของกรรม ที่ไม่ใช่เกิดในนรก แม้เกิดเป็นมนุษย์ แล้วก็ยังมีโอกาสที่จะให้ผลได้ จนกว่าจะหมดกำลังของกรรมนั้น

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเรา รู้เรื่องกรรมว่าเราทำมา ครบหรือยัง จวนจะหมดหรือยัง หรือว่ากรรมทางอกุศลนี้เท่าไร กรรมทางกุศลเท่าไร ไม่มีทางที่จะรู้ได้เลย แต่ว่าทุกวันนี้ก็มีกรรม เช่น ในขณะที่กำลังฟังธรรม เป็นกรรมหรือเปล่า เป็นกุศลกรรม แล้วก็จะให้ผลเมื่อไรก็ไม่รู้

    เพราะฉะนั้น แต่ละวัน ไม่ได้เคยขาดกรรม แล้วแต่ว่า จะกรรมใหญ่ กรรมน้อย กรรมเล็ก กรรมแรง พูดอะไรให้คนอื่นเจ็บช้ำ น้ำใจบ้างหรือเปล่า พูด ตั้งใจเบียดเบียนหรือเปล่า ขณะนั้นจิตอะไร แรงแค่ไหน แล้วก็จะให้ผลตามกำลังของจิตนั้นๆ กับการที่กล่าวร้ายประทุษร้าย เบียดเบียนเรื่องที่ หนักหนาสาหัสกว่านั้น ผลของกรรมก็ต้องมากกว่า

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีทางเลยที่ใครจะหมดกรรม ถ้าไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า ซึ่งจะเหลือการเกิดอีกเพียง ๗ ชาติ และก็แม้ชาติสุดท้าย ที่เป็นพระอรหันต์ ก็มีโอกาสที่กรรมจะให้ผล ระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ จะหมดการให้ผลได้ก็ต่อเมื่อปรินิพพาน คือจุดจุติเกิดดับไปแล้ว ไม่มีการเกิดอีกเลย เพราะฉะนั้น กรรมทั้งหลายที่ได้กระทำแล้ว จึงไม่มีโอกาสที่จะให้ผล

    แต่นอกจากนั้นแล้วก็เตรียมรับผลของกรรมได้ ถึงแม้ในขณะนี้ ก็เป็นการรับผลของกรรม โดยไม่รู้ คือเราเรียนเรื่องกรรม แล้วก็เรียนเรื่องผลของกรรม แต่ต้องมีความมั่นใจ เข้าใจจริงๆ ว่า การที่จะรับผลของกรรม มี ๕ ทางเท่านั้น คือ ทางตาเห็น เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือว่าเจ็บปวดไหม ขณะที่กำลังเห็น ใครปวดเจ็บบ้างกำลังเห็น ชั่วขณะที่เห็น เพียงแต่สิ่งที่ปรากฏ เป็นสิ่งที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ นั่นคือผลของกรรม แต่ไม่มีการรู้สึกปวดหรือเจ็บขณะที่เห็นเลย ความรู้สึกที่เกิดกับจิตเห็น จริงๆ แล้วคืออทุกขมสุข หรือว่าอุเบกขาเวทนา นี่คือการรับผลของกรรม เบาไหม แค่เห็น เพียงแต่ว่าสิ่งที่เห็น น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ เท่านั้นเอง ถ้าไม่เดือดร้อนก็ไม่ได้ทุกข์อะไรเลย

    ทางหู การรับผลของกรรม ไม่ว่าเสียงจะดังสนั่นสักเท่าไร แต่ขณะที่ได้ยิน ถ้าศึกษาจะทราบว่า ขณะนั้นเป็นอทุกขมสุข หรืออุเบกขาเวทนา รับผลของกรรมเพียงได้ยินเสียง ที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจเท่านั้นเอง ทางตาก็แค่เห็น ทางหูก็แค่ได้ยิน ทางจมูกก็ได้กลิ่น เราอาจจะรู้สึกว่ากลิ่นเหม็นมาก แต่ก็ไม่ได้ทำอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าจริงๆ แล้ว ชั่วขณะที่กลิ่นปรากฏ ลองคิดถึงว่า เวลาที่เรารู้สึกว่ากลิ่นแรง หรือว่ากลิ่นเหม็นมาก หลายวาระ จนกระทั่งความรู้สึกเหมือนกับ กลิ่นน้ำหอม หรือกลิ่นเนื้อชิ้นหนึ่งใหญ่ๆ เราพอได้กลิ่น แต่ถ้าสับย่อยให้ละเอียดยิบ กลิ่นจะจางลงมาก ฉันใด เวลาที่เรารู้สึกว่า กลิ่นเหม็น ขณะนั้นก็ต้องหลายวาระ ที่เป็นปฏิกูล หรือว่า ความไม่น่าพอใจของกลิ่นนั้น ทำให้มีความรู้สึกอย่างนั้น แต่ชั่วแต่ละขณะ ที่จิตเกิดขึ้นได้กลิ่น ขณะนั้น เป็นอทุกขมสุเวทนา เป็นความรู้สึก เฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ นี่คือผลของกรรม จริงๆ แล้วเป็นอย่างไร ก็แค่เห็น แค่ได้ยิน แค่ได้กลิ่น แม้ลิ้มรส ทุกขณะที่รับประทานอาหารทุกมื้อ ขณะใดที่ลิ้มรสใด ขณะนั้นก็คือผลของกรรม ขณะนั้นก็เป็นอุเบกขาเวทนา อทุกขมสุข ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ขณะนั้นไม่สุขไม่ทุกข์

    มีอยู่ทางกาย ทางเดียว ซึ่งเมื่อเกิดมาแล้วทุกคน ก็มีกายปสาท อันนี้หนักหนา เวลาที่เป็นผลของอกุศลกรรม มีทั้งโรคทุกชนิด คัน ปวด เจ็บ เมือย สารพัดอย่าง นั่นคือขณะนั้นจิตเกิดขึ้น เป็นผลของอกุศลกรรม จิตนั้นเป็นอกุศลวิบาก เกิดร่วมกับทุกขเวทนา จริงๆ แล้วตอนนั้น เป็นตอนที่ได้รับผลของกรรม ทางกายอย่างเต็มที่

    ทั้งๆ ที่ทางตาจะเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ทางหู ได้ยินเสียงไม่น่าพอใจทางกลิ่นไม่น่าพอใจ ทางลิ้นไม่น่าพอใจก็ตามแต่ แต่ว่าไม่ได้ทำให้เราเกิดทุกข์ เหมือนอย่างทางกาย เพราะฉะนั้น การรับผลของกรรม ถ้าเราเป็นผู้ที่ตรง เราก็จะรู้ละเอียดขึ้นๆ

    ข่าวร้ายมีไหม เป็นผลของกรรมหรือเปล่า ตัวข่าวเป็นผลของกรรมหรือเปล่า หรือเสียงกับจิตได้ยิน จิตได้ยินเสียงที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ ชั่วขณะนั้น เป็นผลของกรรม แต่โดยมากเราจะพูดรวม ถ้าใครได้ลาภ ยศ สรรเสริญ เราก็บอกว่า เป็นผลของกรรมดี แต่จริงๆ ขณะนั้นยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ลิ้มรส ก็ได้ เพียงแต่คิดนึก

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ผลของกรรมนั้นจริงๆ ก็ต่อเมื่อ เห็นได้ยินได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เราก็สามารถที่จะแยก เข้าใจได้ว่าเรื่องราว ที่เราพลอยเป็นสุขมากๆ หรือว่าพลอยเดือดร้อนกังวลเป็นทุกข์ คือชั่วขณะที่ต่าง จากเห็น จากได้ยิน เป็นเพราะการคิดนึก

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งสุขทุกข์ทั้งหลาย ก็มาจากการคิดนึก แต่ตัวผลของกรรมจริงๆ ก็ทางตา หู จมูก ลิ้น ไม่เดือดร้อน แต่ทางกายขณะใดที่สบาย ขณะนั้นก็เป็นผลของกุศลกรรม ขณะใดที่ไม่สบาย ขณะนั้นก็เป็นผลของอกุศลกรรม

    ผู้ฟัง คนดีที่เขาไม่ประกอบด้วยปัญญา เขาจะมีโอกาสที่จะได้แบบ มีปัญญา เกิดขึ้นไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีก็คงจะไม่มีผู้ที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ จากความไม่รู้ สู่ความค่อยๆ รู้ขึ้น เพราะทุกคนก็ไม่รู้ทั้งนั้น แล้วก็ค่อยๆ รู้ได้

    ผู้ฟัง เรื่องการฟังธรรม แม้กระทั่งในขณะนี้ เราเข้าใจในเรื่องราว เราเข้าใจความหมาย ของธรรม ทีนี้ถ้าเราฟังไป เราเข้าใจ แต่เราไม่มีปัญญาที่จะ มีสติระลึก อย่างนี้ เราก็แค่สะสม แค่ฟัง แค่ขั้นเข้าใจ ซึ่งไม่สามารถที่จะขึ้นไปสู่ขั้นสูงได้

    ท่านอาจารย์ แม้แต่เรื่องการฟังธรรม ถ้าจะพิจารณาแล้ว ก็มีหลายลักษณะ บางคนฟังแบบความรู้ เหมือนอย่างที่เคยเรียนทางโลก คืออยากจะรู้ อยากจะเข้าใจ พอพูดเรื่องจิตก็ น่าสนใจว่าจิตมีเท่าไร ประกอบด้วยเจตสิกเท่าไร เป็นความใคร่รู้ในทางโลก แต่ไม่ได้เห็นประโยชน์ว่า การที่เราได้ยินเรื่องจิต คือสามารถที่จะรู้จัก จิตซึ่งมีในแต่ละขณะถูกต้อง

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจถูกต้อง ว่าการศึกษาพระธรรม โดยพระมหากรุณาคุณที่ ทรงแสดง เพื่อให้ผู้ฟังเกิดปัญญา พิจารณา เมื่อปัญญาเกิดแล้ว เห็นถูกแล้ว เข้าใจถูก ตั้งจิตไว้ถูก ใช่ไหม ทุกอย่างก็จะเป็นไปในทางที่ดีงาม เพิ่มขึ้น นี่จึงจะเป็นผลจริงๆ ของ การเข้าใจธรรม แต่ถ้าเพียงเข้าใจเรื่องราว คิดว่ามีความรู้ ความเข้าใจมาก แต่ไม่มีอะไรที่จะไปทำให้กุศลจิตเกิดดีขึ้น ไม่ได้ขัดเกลากิเลส ไม่ได้มีการบรรเทาความไม่รู้ แล้วก็ประพฤติปฏิบัติ ตามการศึกษาการเข้าใจนั้น ก็ไร้ประโยชน์ เหมือนกับสิ่งที่เรา มี แต่เราไม่ได้ใช้

    เพราะฉะนั้น ถ้าเพียงศึกษาเพื่อเข้าใจเรื่องราว ไม่เหมือนกับการศึกษา แล้วก็เห็นพระคุณจริงๆ เห็นประโยชน์จริงๆ ว่า กำลังแสดงสิ่งที่มีจริง ที่ เรากำลังมี ซึ่งคนอื่นไม่สามารถจะบอกเราได้โดยละเอียดว่า สิ่งนั้นคืออะไร เพราะฉะนั้น เมื่อมีความเข้าใจใน สิ่งที่ได้ฟังเพิ่มขึ้น ก็จะมีความเข้าใจ และความเข้าใจนั้นก็จะทำให้ ประพฤติปฏิบัติตาม

    เพราะฉะนั้น สุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการฟัง คือความเข้าใจจริงๆ ก็จะเป็นเหตุให้เกิด ศีลมยปัญญา ความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่ดีขึ้น มิฉะนั้นแล้วก็เหมือนเดิม มีแต่ความรู้ แต่ว่าการที่กายวาจาก็ ไม่ได้ขัดเกลาเลย เขาไม่ได้รับประโยชน์จริงๆ

    ผู้ฟัง ความมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาว มัวเมาในที่นี้หมายถึง ความประมาทใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ความประมาท แล้วก็ความไม่รู้ และอกุศลทั้งหลายเลย

    ผู้ฟัง เรื่องความแก่ ส่วนมากดิฉันก็มักจะเข้าใจว่า เห็น คนนั้นยังหนุ่มยังสาว แล้วก็แก่ แต่คราวนี้มันเป็นลักษณะของเสียง ดิฉันโทรศัพท์ไปที่ ๑๑๓๓ ถามเบอร์ คนที่รับโทรศัพท์ก็ตอบมาเรียกบอกว่า คุณป้าจะถามอะไร ทำนองนั้น ดิฉันก็ เอ๊ะ เสียงมันก็ทำให้รู้ถึงความแก่ได้หรือ ตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ก็ได้ เสียงเด็ก ยิ่งชัดเลย ใช่ไหม เด็กเกิดใหม่ๆ เด็กที่กำลังหัดพูด

    ผู้ฟัง ตกลงเสียงก็แก่ได้ ทีนี้ขออนุญาต พูดถึงเรื่องของความตาย เมื่อเช้าท่านอาจารย์ได้บรรยายถึง เรื่องภวังคจิต ถ้าพูดถึงความตาย ส่วนมากเราจะว่า ชาติที่แล้วมีจริงไหม ชาติหน้ามีจริงไหม พออาจารย์ได้บรรยายถึงเรื่อง ภวังคจิต มีอารมณ์ของชาติที่แล้ว ตรงนี้ทำให้ดิฉัน เข้าใจได้เลยว่าต้องมีชาติที่แล้วแน่ ชาตินี้เป็นชาติหน้าของชาติที่แล้วถูกต้อง อะไรก็ตาม เรื่องความตาย ชาติที่แล้วดิฉันก็คงไม่อยากตาย แต่ก็ตายมา แล้วก็พอมาถึงตรงนี้ก็รู้สึก เห็นประโยชน์ ตอนที่ตายขณะนั้น เพราะว่าตายขณะนั้นต้อง เป็นจังหวะที่ดี ถ้าอย่างนั้นจะไม่ได้เกิดมาฟังธรรม ที่ถูกต้องขณะนี้

    ท่านอาจารย์ กุศลที่ได้กระทำแล้ว กุศลหนึ่งทำให้เกิด เป็นมนุษย์ แล้วก็เป็นแต่ละบุคคล ในขณะนี้ซึ่ง เลือกไม่ได้เลย

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 108
    25 มี.ค. 2567