ปกิณณกธรรม ตอนที่ 674


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๗๔

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๗


    ผู้ฟัง ขอเรียนถาม คำว่า วิปัสสนา จะหมายถึง อนุปัสสนา หรือเปล่า เพราะว่า มีคำว่า บ่อยๆ ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณอาจจะไม่ได้เกิดบ่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ที่นี่ต้องเข้าใจว่า วิปัสสนา คือ ปัญญาที่เห็นแจ้งเท่านั้น ไม่ต้องไปคิดเรื่องจะเป็นอนุ หรือว่าจะเป็นอะไร เป็นตัวญาณ

    ผู้ฟัง เพราะว่าเห็น อนุปัสสนาก็จะมีพิจารณาอนัตตา อนัตตานุปัสสนา ทุกข์ ความไม่เที่ยง

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นยิ่งขึ้น วิปัสสนาญาณขั้นต่อไปก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น บางคนถ้าฟังเผินอีกเหมือนกัน ก็เลยคิดว่าพิจารณา เหมือนอย่างพิจารณาเรื่องแก่ เรื่องเจ็บ เรื่องตาย แต่ความจริง ต่างระดับ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น คำว่า พิจารณา ตรงนี้ คงไม่ใช่คิด ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่บุคคล คนที่ไม่เข้าใจปรมัตถธรรมเลย แล้วก็ไม่เข้าใจเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐานเลย ถ้าอ่านตรงนี้เขาก็คิดได้ เพียงแค่ว่าคนเราเกิดมามันก็ ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย แล้วแต่ระดับของความเข้าใจ ประโยคเดียวกัน จะคิดหรือจะพูดก็ตามแต่ ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ก็ต้องรู้อีกว่าจะรู้ได้อย่างไร ไม่ใช่เพียงแต่ขั้นคิด

    ผู้ฟัง รวมตั้งแต่ขั้นเริ่มศึกษา แล้วก็พิจารณาเป็นเรื่องเป็นราวก่อน จนกระทั่งในระดับที่มีปัญญารู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริงเป็นระดับๆ จนกระทั่งถึงที่สุด

    วิทยากร ผมขออนุญาตตอบคำถามคุณธิดารัตน์ คือ พยัญชนะที่มีอนุปัสสนา ๗ ถ้าสติปัฏฐานเกิด ยังไม่เป็นอนุปัสสนา ๗ แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณ หรือเป็นวิปัสสนาที่ว่าแล้ว ไม่ต้องไปห่วง ขณะนั้นมันทำหน้าที่รู้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำอยู่แล้ว เขาจะทำอยู่แล้ว เพราะว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเป็นเจ้าของศาสนา เมื่อเป็นเจ้าของศาสนาแล้ว สัพพัญญุตญาณ ที่เรียนมาอย่างไรๆ แม้กระทั่ง ๑๖ ญาณ โสฬสญาณ ท่านก็ต้องแสดง ท่านต้องแสดง เพราะท่านเป็นเจ้าของศาสนา แต่ในขณะที่ประจักษ์แจ้ง ธรรมที่เป็นวิปัสสนาญาณ เราไม่ต้องห่วง จะไม่มีอนุปัสสนาเกิด

    ท่านอาจารย์ เมื่อเช้าเราก็พูดเรื่องฐานะ ๕ แล้วก็รู้ว่าเดี๋ยวออกไป ก็คงจะลืม พิจารณาแน่ๆ ตอนที่กำลังรับประทานอาหาร จนกระทั่งก้าวเข้ามาจนกระทั่ง ถาม ก็รู้สึกค่อนข้างจะแน่ใจ ว่าคงไม่ได้มีใครจะพิจารณา ฐานะ ๕ แต่ไม่ได้พูดเรื่องสติปัฏฐาน เพราะว่าสติปัฏฐานคงมี แต่ถ้าจะพิจารณาแบบเราจะต้องมีความแก่เป็นธรรมดา หรืออะไรอย่างนี้ ก็คงจะไม่เป็นอย่างนี้

    เพราะที่จริงแล้ว พระสูตรที่ทรงแสดง จะเป็นข้อความใดๆ เหมือนสิ่งที่อยู่ในใจ แต่ว่าจะออกมาให้เป็นคำพูด จะออกมาอย่างไร ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็เป็นคำที่ มีผู้ที่คิดน้อมไปอย่างนี้ แต่เวลาที่จะออกมาเป็นคำพูดก็เลยออกมาเป็นอย่างนี้ ซึ่งไม่ต้อเหมือนกันไปหมดทุกคำ หรืออะไรอย่างนั้น

    ผู้ฟัง แต่ฐานะ ๕ ในที่นี้ก็คงไม่พ้นกาย เวทนา จิต ธรรม ที่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ แต่อันนี้พูดถึง ความเป็นธรรมดา ที่จะต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

    ผู้ฟัง ในพระสูตรนี้ ได้กล่าวถึงความเมาในชีวิต ความเมาในความไม่มีโรค ความเมาในความเป็นหนุ่มเป็นสาว ในตอนแรกก่อนที่ท่านอาจารย์อธิบายก็รู้สึกว่า ความเมาทั้ง ๓ ประการนี้ เราไม่เป็น ใช่ไหม คือจะอยู่ไกลตัวว่า น่าจะเป็นคนอื่นที่เมา

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีพระสูตรนี้ เราจะไม่รู้เลยว่า วันหนึ่งๆ เราไม่ได้คิดอย่างนี้ ที่ถามแต่ละคน แต่ละคนว่า คิดหรือเปล่าว่าจะแก่ คิดหรือเปล่าว่าจะเจ็บ หรือแม้แต่สิ่งที่เรามีซึ่งเป็นที่รัก ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของ หรือว่าผู้คนก็ตามแต่ เราเคยคิดไหมว่าจะพลัดพรากจากไป มีแต่ว่าเดี๋ยวจะกลับไปหา เดี๋ยวจะเพลิดเพลิน เดี๋ยวจะทำอย่างนี้ อย่างนั้น นี่ก็แสดงว่า วันหนึ่งๆ เราไกล จากการที่จะคิดถึงความเป็นธรรมดา ได้แก่ความแก่ ความเจ็บ ความตาย จนกว่าสิ่งนั้นจะมาถึงตัว แล้วเมื่อมาถึงตัวแล้ว ก็แล้วแต่ว่าใครจะคิด หรือไม่คิดอย่างนี้ อาจจะคิดอย่างวุ่นวาย ก็ได้ เมื่อไรจะหายสักที จะทำอย่างไร แต่ที่จะคิดเห็นความเป็นธรรมดาว่า เมื่อเกิดกับคนอื่นแล้ว ณ บัดนี้ได้เกิดกับเรา ก็คงจะไม่ได้มีใครคิด แล้วนอกจากนี้แล้ว ไม่ใช่ให้เพียงคิดอย่างนี้ เพราะว่าถัาถึงแม้ว่าคิดอย่างนี้ ก็ยังประมาท ตราบใดที่สติสัมปชัญญะไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ก็เป็นเพียงแค่ คิดนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็หมดไป ลืมไป

    ผู้ฟัง ศัพท์ที่ว่า ธรรมดา ภาษาไทย คือ ธัมมัตตา ความเป็นธรรมดาของธรรม ซึ่งก็รวมไปถึง สภาพที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทุกๆ ขณะให้ด้วย ใช่ไหม ไม่ต้องรอว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงจนแก่ จนเจ็บป่วย จนที่จะต้องพลัดพราก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าขณะที่สติปัฏฐานเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมไม่ต้องห่วง ว่าเราจะต้องมาพิจารณาอย่างนี้ไหม เรื่องเราจะต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เพราะเหตุว่าขณะใดก็ตาม ที่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมหมายความว่า เป็นผู้ไม่เมา ด้วยประการทั้งปวง ไม่ต้องมานั่งคิดว่าจะแก่ จะเจ็บ จะตาย เพราะว่าถึงคิดอย่างนั้นสติสัมปชัญญะไม่ระลึก ก็ไม่สามารถที่จะละคลายได้ เพราะฉะนั้น ไม่ต้อง ไปกังวลสำหรับ คนที่แล้วเราจะต้องคิดไหม เห็นว่าให้พิจาณาบ่อยๆ เนืองๆ แต่ว่าเมื่อมีความเข้าใจถูก ในเรื่องหนทางที่จะอบรมเจริญปัญญา คือ สติปัฏฐานไม่ต้องคิดที่จะตาม หรือว่าไม่ต้องคิดที่จะพูด แต่รู้ว่าขณะใดก็ตาม ขณะที่สภาพธรรม เกิดแล้วปรากฏ ให้รู้ตามความเป็นจริง ของสิ่งที่ปรากฏแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่ยังไม่เกิด อันนี้ก็จะทำให้เราไม่หลงไปที่จะทำ อย่างหนึ่งอย่างใดขึ้น กลับมาที่สิ่งที่มีแล้วในขณะนี้ เพราะเกิดแล้ว

    ผู้ฟัง การเบื่อหน่าย ในจักขุวิญญาณ ในจักขุสัมผัส ลักษณะอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่คุณแก้วเบื่อหน่าย ต้องเป็นปัญญาที่อบรมแล้ว

    ผู้ฟัง เบื่อหน่ายในลักษณะไหน

    ท่านอาจารย์ ชินที่จะเห็นการเกิดขึ้น และดับไป

    ผู้ฟัง ในพระสูตรนี้ พระองค์ก็แสดงว่า เราจักแสดงข้อปฏิบัติ อันเป็นที่สบายแก่การเพิกถอน ซึ่งความสำคัญทั้งปวง แล้วก็ได้ตรัสถาม ภิกษุ ไล่มาเรื่อยๆ ตั้งแต่จักษุเป็นต้นมา จนถึงใจ พร้อมทั้งอารมณ์ต่างๆ เป็นการถามตอบกันธรรมดา เหมือนกับว่าไม่มีข้อปฏิบัติเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น พระธรรมเป็นสิ่งที่อ่านแล้ว ต้องตรึกตรอง ไตร่ตรอง จนกระทั่งเข้าใจจริงๆ อย่างที่ว่าเราจะแสดงข้อปฏิบัติกล่าวไว้เลย ไม่ใช่ว่าพูดเรื่องอื่น แต่เรื่องข้อปฏิบัติ อันเป็นที่สบายแก่การเพิกถอน ซึ่งความสำคัญสิ่งทั้งปวง ด้วยตัณหามานะ และทิฏฐิ คิดหรือเปล่า ว่าขณะใดก็ตามที่เรามีความผูกพัน หรือว่ามีความเห็นต่างๆ หรือว่ามีความสำคัญตน ขณะนั้นสบายหรือเปล่า เพราะฉะนั้น จะเป็นข้อปฏิบัติที่สบายไม่ได้เลย ที่จะให้มีโลภะ แล้วก็ให้มีมานะ ให้มีทิฏฐิ แต่ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม ก่อนที่จะเข้าใจ ก็คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างสำคัญ แต่ในความสำคัญ สำคัญด้วยอะไร สำคัญด้วยโลภะ เรามีญาติพี่น้อง เรามีบุตรหลาน เรามีเพื่อนฝูง สำคัญในความผูกพัน ถ้าเราไม่มีความผูกพันจะสำคัญไหม คนทั้งโลกจะสำคัญไหม แต่ว่าสำคัญสำหรับคนที่มี ความผูกพัน เมื่อมีความผูกพัน สบายไหม

    เพราะฉะนั้น นี่ตรงกันข้ามเลย กำลังจะแสดงหนทางที่เป็นที่สบาย แก่การเพิกถอนสิ่งทั้งปวง นี่ด้วยตัณหา ด้วยทิฏฐิ ด้วยมานะก็โดยนัยเดียวกัน ขณะใดที่มีความสำคัญตน สุขหรือเปล่า ลองคิดดู แค่ความรู้สึกสำคัญ ก็ไม่สุขแล้ว ใช่ไหม ขณะนั้นต้องเป็นทุกข์ด้วยประการหนึ่ง ประการใด ที่เกิดความสำคัญตนขึ้นมา

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ทั้งหมดเราไม่เคยคิดเลยว่า ความสำคัญของเรา ก็มาจากตัณหา แล้วก็มานะทิฏฐิ เพราะฉะนั้น เครื่องที่จะเป็นข้อปฏิบัติที่สบายแก่การเพิกถอน ถ้ามีความเข้าใจขั้นฟัง ว่าขณะนี้ ไม่มีเรา แต่มีสภาพธรรมนี่ขั้นฟัง เบาหน่อย จริงๆ แล้วไม่มีอะไรที่เป็นสาระเลย แต่ว่ามีธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดแล้วดับ เท่านั้นเอง ถ้าสามารถที่จะเข้าถึงอรรถะ ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้จริงๆ ความเบาสบายย่อมเพิ่มขึ้น นี้เพียงขั้นฟัง แล้วก็ไตร่ตรองว่าแท้ที่จริง ทำไมว่าไม่ใช่เรา แล้วก็ไม่มีของเราด้วย

    เพราะว่าตอนเกิดก็มีสภาพธรรมเกิด แล้วต่อจากเกิดก็มีแต่สภาพธรรมทั้งนั้น ทั้งเห็น ทั้งได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ก็เป็นธรรมโดยตลอด ไม่ใช่เราเลยสักขณะเดียว แต่เพราะเหตุว่าไม่มีความเข้าใจจริงๆ ก็เป็นทุกข์ไป สุขไป ทุกข์ไปด้วยโลภะ ด้วยทิฏฐิ ด้วยมานะ แต่ถ้าขณะใดที่รู้ความจริง แม้ขั้นฟัง แล้วก็ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง ฟังแล้วมีปัจจัยที่จะให้สติสัมปชัญญะเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ว่าขณะนั้นเป็นทุกข์ ด้วยประการใดก็ตาม ด้วยความเป็นห่วง ด้วยความโกรธ ด้วยความปรุงแต่งต่างๆ แต่ถ้าสามารถที่จะอบรมเจริญปัญญา ให้รู้ลักษณะของสภาพธรรม ตามที่ตรัสถามภิกษุทั้งหลาย แล้วภิกษุทั้งหลายก็รู้จริงๆ และตอบจริงๆ ขณะนั้น ก็เป็นข้อปฏิบัติที่สบาย แก่การเพิกถอนสิ่งทั้งปวง

    ผู้ฟัง ได้ยินในเรื่องของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แล้วก็ไม่ใช่เรา ก็ได้ยินมาตั้งแต่คงจะหลายๆ สิบปี สำหรับท่านที่ฟังมานาน ดูแล้วก็ไม่ได้รู้ตามเป็นจริงอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ แต่ค่อยๆ เข้าใจขึ้นไหม

    ผู้ฟัง เริ่มที่จะ

    ท่านอาจารย์ แล้วค่อยๆ มั่นคงขึ้นไหม แม้ว่าสติสัมปชัญญะ หรือสติปัฏฐานยังไม่เกิด แต่ก็รู้ว่าการศึกษาธรรมเพื่อ เข้าใจสิ่งที่มีแล้วในขณะนี้ เข้าใจสิ่งที่มีแล้ว คือไม่ต้องทำอะไร

    ผู้ฟัง ไม่ต้องทำอะไร

    ท่านอาจารย์ เพราะว่ามีแล้ว จะทำอันไหน จะทำอะไรก็มีแล้วเดี๋ยวนี้ แต่ให้เข้าใจให้ถูกต้อง ว่าสิ่งที่กำลังมีแล้วในขณะนี้ เป็นอะไร ไม่ใช่เราอย่างไร นี่คือการอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีแล้วเพราะเกิด เกิดแล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง ทีนี้ท่านจะแสดงเรื่องของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้จะต้องรู้ตามลำดับ อย่างนี้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เราไม่เคยรู้เลย ว่าเห็นขณะนี้ดับ ถ้าไม่ได้ฟัง ได้ยินได้กลิ่น ลิ้มรสทุกขณะเกิดขึ้นแล้วดับไป แต่เมื่อได้ฟังแล้ว พิจารณา เห็นด้วยไหม เริ่มตั้งแต่เห็นด้วย แล้วค่อยๆ มั่นคงขึ้น จนกว่าสติปัฏฐานจะเกิด จนกว่าปัญญาจะสามารถประจักษ์แจ้งได้ ว่าเป็นความจริงอย่างที่ได้ฟัง แล้วก็ไตร่ตรองว่าความจริงเป็นอย่างนี้ การประจักษ์แจ้งก็ต้องประจักษ์แจ้งอย่างนี้

    ผู้ฟัง ถ้าเกี่ยวกับตัณหา มานะ ทิฏฐิ ก็คือรู้ลักษณะของ ที่เป็นเจตสิก คือเห็นถึงความไม่มีตัวตน มันจะสอดคล้องกันอย่างนี้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องใช้ชื่อเลย เพราะเหตุว่าสภาพธรรม ถึงแม้ว่า ใครไม่เรียกชื่อ อย่างสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ต้องเรียกอะไรเลย แต่รู้ว่ามี แล้วถ้าไม่เข้าใจตามความเป็นจริงว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เมื่อมีปัจจัยคือกระทบกับจักขุปสาท สิ่งนี้ก็ปรากฏไม่ได้ คือทุกคำเพียงแต่ช่วย ให้เข้าใจว่า สิ่งที่ปรากฏมีจริง แต่หาเป็นสัตว์บุคคลใดๆ ไม่ เป็นเพียงสิ่งที่กระทบจักขุปสาท แล้วปรากฏ เมื่อมีจิตเห็น ถ้าจิตไม่เห็นสีสันวัณณะขณะนี้ก็ไม่ปรากฏ แล้วถ้าสีสันวัณณะไม่ปรากฏ จะมีความคิดไหมว่า ขณะนี้กำลังเห็นคนนั้น กำลังเห็นคนนี้

    เพราะฉะนั้น นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้จิตคิดถึงรูปร่าง สัญฐาน แล้วก็มีสัญญาความจำ สิ่งที่ปรากฏ เป็นอะไร นี่คือการเกิดดับสืบต่อ อย่างรวดเร็ว จากการเห็น แล้วก็การจำ แล้วก็การรู้ สิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุ สิ่งต่างๆ เป็นเรื่องเป็นราวของสิ่งที่ปรากฏ ทางตา มีสิ่งที่ปรากฏทางตาจริง แต่ว่ามีเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏทางตามากมายมหาศาล แม้แต่ขณะที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ ได้ยินอย่างนี้ก็ เห็นด้วย มีเห็นด้วย ไม่ใช่ไม่มีเห็นเลย ไม่ใช่ว่ามืดไปหมดเลย กำลังได้ยินก็มีสว่าง มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาจริงๆ ก็สามารถที่จะเห็นความต่างกันได้ ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ เป็นอย่างหนึ่ง แล้วก็ความคิดนึก ความทรงจำ เรื่องราวต่างๆ เป็นสิ่งที่ต่างออกไปจากสิ่งที่ปรากฏทางตา ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ ระลึกได้ ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าสามารถที่จะรู้จริง โดยการประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ แล้วข้อสำคัญคือ ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ฟังมาก ไม่สะดุ้งสะเทือนเลย ใช่ไหม ต่อให้บอกว่าไม่ใช่เรา ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ก็ฟังไปแต่ว่าความเป็นเราเต็ม

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะละ ความเป็นเราได้จริงๆ ลองคิดถึงการเจริญขึ้น ของปัญญาตามลำดับ พร้อมที่จะสละ ละ เรื่องราวทั้งหมดไหม เพราะว่าเรื่องราวไม่จริง สิ่งที่มีจริง คือปรมัตถธรรม คือสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา จริง แต่ความคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ไม่มี คือไม่ใช่เป็นปรมัตถธรรม ไม่มีลักษณะเหมือนอย่างสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตาในขณะนี้ ถูกต้องไหม ไม่ว่าจะคิดเรื่องอะไรต่างๆ ก็มีเพียงในความคิด ในความมืด ไม่ใช่ ในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า การที่เราจะค่อยๆ รู้ และค่อยๆ ละได้ อาจหาญที่จะเป็นอย่างนั้นเมื่อไร ถ้าละความเป็นเรา ตามความเป็นจริงว่าไม่มีเรา ยังมีไหม สัตว์ บุคคล ตัวตน ขั้นฟัง จนกระทั่งขั้นประจักษ์ จนถึงขั้นที่สละเรื่องราวทั้งหมด

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์ยกตัวอย่าง ท่านอาจารย์ยกตัวอย่างกับน้ำกับฟ้าที่มันจรดกัน คือตรงนั้น เป็นสิ่งที่ ปรากฏทางตา ทั้งๆ ที่เราก็รู้แล้วว่า น้ำกับฟ้าจรดกัน โดยความเข้าใจ แต่เราก็แยกไม่ออก เพราะฉะนั้น ตรงนั้น เห็นชัดๆ เลยว่า นั่นแหละ คือสิ่งที่ปรากฏทางตา ทั้งๆ ที่อยากจะแยกจากกัน ก็ยังแยกไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่ก็ยังมีความคิดว่า น้ำกับฟ้าจรดกัน แล้วก็มีเราที่กำลังเห็นด้วย แต่ถ้าจะรู้ ว่าไม่มีเราเลย ก็ต้องไม่มีอะไรเลยทั้งหมด เมื่อไม่มีเราแล้วจะมีอย่างอื่นได้อย่างไร เพราะมีเราจึงมีคนอื่น แต่ถ้าไม่มีเรา คนอื่นก็ไม่มี เป็นแต่เพียงจิตที่คิด เพราะฉะนั้น เรื่องสนุกสนานต่างๆ เรื่องราวทั้งหมด จากตาเห็น หูได้ยิน เสื้อผ้าสวยๆ อาหารอร่อย พวกนี้ สละเรื่องราวทั้งหมด ไม่มี มีแต่สภาพปรมัตถธรรมที่เกิดดับ

    ผู้ฟัง มองดูแล้วในชีวิตประจำวัน ก็เห็นกับได้ยิน รู้สึกจะปรากฏอยู่บ่อย ก็ทำให้เป็นเรื่องเป็นราว เพราะว่าเห็นกับได้ยิน คือดิฉันเรียนถามท่านอาจารย์ว่า การที่ฟังธรรมมาจะต้องสนใจตรงนี้มากๆ หรือเปล่า หรือว่า ตรงนี้ก็ไม่สำคัญอะไรหรอก

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรม ก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง ๓ อย่าง จิต เจตสิก รูป ฟังเรื่องจิต เจตสิก รูป มากแม้แต่ในพระสูตร จะกี่สูตรก็ตาม วันนี้ก็ ๒ สูตรแล้ว ยังต้องมาเป็นจริงในชีวิตประจำวันอีก คือธรรมที่ได้เข้าใจแล้ว ทั้งหมดจะไปเก็บไว้ที่ไหน จะเอาไปทิ้ง หรือจะทำอย่างไร ฟังแล้วเข้าใจแล้ว อยู่ที่ไหนยังต้องพิจารณา ในขณะที่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ เพราะฉะนั้น เรื่องฟัง เรื่องเข้าใจ แล้วก็ยังเรื่องพิจารณาธรรมที่มีจริง กลับมาเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ คือธรรม เมื่อนั้นก็จะค่อยๆ หมดความสงสัย ว่าศึกษาอะไร เรียนอะไร ธรรมอะไร จิตอะไร เจตสิกอะไร ทั้งหมดก็อยู่ที่สภาพธรรมที่ตัวเองทั้งหมด

    ผู้ฟัง เวลาที่ฟังธรรมใหม่ๆ ก็เกือบจะไม่เข้าใจเลยว่า จุดตรงไหนที่เราจะต้องสนใจมากๆ คืออย่าง คำถาม เดี๋ยวก็จะเรียนถามคุณประเชิญ ว่าธรรมารมณ์ได้แก่อะไรบ้าง มโนวิญญาณ มโนผัสสะ เวลาเรียนตรงนี้ ก็นึกว่า จะต้องเข้าใจให้ได้ว่ามัน ธรรมารมณ์ คืออะไรบ้าง แต่พอมาฟังกันจริงๆ แล้ว ตรงนั้นไม่ต้องจำ ไม่ต้องใส่ใจเอาตรงนี้ที่มันปรากฏ ตรงนี้ คิดว่าตรงนี้เป็นเรื่องสับสนของผู้ที่จะศึกษา กันจริงๆ

    ท่านอาจารย์ มี ๒ แบบ การศึกษาธรรมแบบ ๑ ก็ รู้แต่ชื่อมากมายเลย อาจจะเป็นคัมภีร์เป็นเล่มๆ เลย ญาณกถา หรือ อานาปานกถา หรืออะไร ก็เป็นเล่มๆ ทั้งนั้นเลย นี้คือชื่อ แต่ขณะนี้เดี๋ยวนี้ รู้อะไร แค่ไหน เพราะฉะนั้น ก็เป็นเครื่องวัด ว่าเท่าที่ได้ฟังมาแล้วทั้งหมด จุดประสงค์จริงๆ ให้จำ หรือว่าให้เข้าใจสิ่งที่มีให้ถูกต้อง เพราะเหตุว่าถ้ามีความเข้าใจ สิ่งที่มีถูกต้องในชาตินี้ ต่อไปข้างหน้า ไม่ว่าเราจะได้ยิน ได้ฟังธรรม ในภาษาอะไร เราอาจจะไม่ได้เกิดเป็นคนไทยอีก ใช่ไหม จะเป็นภาษาผรั่งเศส ภาษาอิตาเลี่ยน ภาษาญวน ภาษาเขมร แต่เป็นเรื่องของธรรมทั้งหมด แต่ภาษานี้เราจะต้องลืมแน่ๆ ภาษาไทย ถ้าไม่ได้ เกิดเป็นคนไทยอีก ก็ต้องลืม คำที่เราไปจำไว้ทั้งหมด เราจำเพียงชื่อแล้วก็ หมด มีใครจำภาษาชาติก่อนได้บาง ไม่มีทางเป็นไปได้เลย แล้วก็ชาติหน้าจะเป็นภาษาอะไรก็ไม่รู้ แต่ว่าการที่เราใช้ภาษาหนึ่ง ภาษาใด ก็เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มี แม้พระไตรปิฎก ซึ่งเป็นภาษาบาลี ก็ยังต้อง เป็นภาษาต่างๆ ตามท้องถิ่น ตามที่สามารถจะเข้าใจได้

    เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ คือ ไม่ใช่ ให้จำคำ แต่ว่าได้ยินได้ฟัง เรื่องของธรรมแล้วก็เข้าใจธรรมได้ เพราะเหตุว่า มีสภาพธรรมปรากฏทุกชาติ ตั้งแต่เกิดจนตาย ก็ให้ทราบว่านี่คือการที่เรา ฟังเรื่องอะไรก็เข้าใจธรรม ที่ได้ฟัง แล้วก็ธรรมนั้นเอง อยู่ที่ตัวเราทั้งหมด

    ฟังเรื่องจิต มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยกี่ดวง แต่เดี๋ยวนี้จิตอยู่ที่ไหน คงจะไม่สามารถจะไปรู้ว่าเจตสิก เกิดร่วมด้วยกี่ดวง แต่เห็นความเป็นอนัตตา แล้วก็มีความเข้าใจว่าจิต ไม่ใช่เจตสิก

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ต้องไม่ใช่เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ต้องไม่ใช่ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน นี่ชื่อ แต่ว่าลักษณะของสภาพธรรมก็ต่างกันอยู่แล้ว ถ้าสามารถที่การประจักษ์แจ้งลักษณะของจิตจะรู้เลย จิตไม่ใช่เจตสิกใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เวลาที่มีการระลึกลักษณะของสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้ ขณะนั้นก็จะรู้ได้ว่า ต้องเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่ถ้าเราไปจำชื่อจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานไว้ก่อน แล้วจิตมีลักษณะอย่างไร ก็ไม่รู้ พอมีการระลึกก็ยังไม่รู้ลักษณะของจิต และขณะนั้นจะกล่าวว่า มีความเข้าใจจิต เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานได้ไหม

    เพราะฉะนั้น ก็จะต้องมีการอบรม เป็นขั้นๆ ให้ทราบว่าพระไตรปิฎก แสดงโดยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สืบทอดมาโดยผู้รู้ ระดับพระอรหันต์ เมื่อมาถึงเราจะเหลือสักแค่ไหน ในการที่จะมีปัญญาที่จะเข้าไปสู่พระไตรปิฎก ต้องด้วยความละเอียด รอบคอบจริงๆ และเป็นการศึกษาโดยความไม่ประมาท แม้แต่คำ ก็ต้องรู้ว่าขณะนี้ เข้าใจธรรม คำแรก ขั้นแรกไม่เผิน เข้าใจธรรม คือทุกอย่างเป็นธรรม แล้วธรรมก็ต่างกัน เป็น ๒ อย่าง คือเป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลยอย่างหนึ่ง คือนามธรรมกับรูปธรรม แล้วเดี๋ยวนี้ รู้ ๒ อย่าง นี้หรือยัง คือเราไม่ต้องข้ามไปไหนเลย เอาตามความเป็นจริงว่าขณะนี้ ค่อยๆ เข้าใจแล้วว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดก็เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุ สิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้น เวลาที่สติปัฏฐานเกิดนิดเดียว หลังจากนั้นก็เป็นคน เป็นสัตว์อีก เพราะเหตุว่า คุ้นเคยต่อการที่จะคิดนึก ถึงรูปร่างสัณฐาน ไม่ใช่ให้ไปพยายามจ้องมอง ไม่ให้เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ ไมใช่อย่างนั้น แต่เมื่อไรที่สติเกิดก็รู้ เพราะว่ามีลักษณะของสภาพธรรมที่สติกำลังระลึกลักษณะนั้นจึงปรากฏ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 108
    25 มี.ค. 2567