พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 307


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๐๗

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรม ไม่ใช่เราศึกษา แต่ว่าเป็นปัญญาที่เริ่มเข้าใจตามความเป็นจริง ถ้าปัญญาไม่เกิด ไม่เข้าใจเพิ่มขึ้น ก็เป็นการนึกคิดด้วยความเป็นเราเรื่องสติปัฏฐาน อยากจะคิดเรื่องสติปัฏฐาน ไม่อยากจะคิดเรื่องอื่น แต่ไม่ใช่ ให้ไปคิดเรื่องสติปัฏฐาน ให้เข้าใจ สภาพธรรมที่ปรากฏจากการฟัง และการสนทนาเพิ่มขึ้น ไม่ต้องกังวลเรื่องสติปัฏฐาน ถ้าใครไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วคิดว่าเข้าใจสติปัฏฐาน ทำสติปัฏฐาน ก็ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็หลงเข้าใจว่า เป็นธรรมที่เข้าใจแล้ว แต่ความจริงไม่ได้เข้าใจ เพราะถ้าเข้าใจจะทำหรือเปล่า ขณะนี้จะทำอะไร ทำอะไรได้ ทำสติได้ไหม ทำวิริยะได้ไหม แต่รู้ว่ามีแล้วในขณะที่เป็นกุศล

    ผู้ฟัง การที่เราฟังแล้วเราเข้าใจว่า สภาพธรรมต่างๆ มีจริง แต่เรายังไม่สามารถตอบได้ว่า สติปัฏฐานคืออะไร

    ท่านอาจารย์ จะไปตอบใคร

    ผู้ฟัง ตอบตัวเอง

    ท่านอาจารย์ ทำไมต้องถามตัวเอง และตอบตัวเอง ไม่เข้าใจก็คือไม่เข้าใจ ก็ฟังให้เข้าใจ มีตัวจริงๆ เลย ทั้งๆ ที่ตัวไม่มี แต่ในความรู้สึกมีตัวจริงๆ กำลังฟังธรรม ก็เป็นตัว จะคิดก็เป็นตัวที่ถาม และจะคิดก็เป็นตัวที่ตอบ ก็แสดงให้เห็นว่า ยังมีความเป็นตัวตนหนักแน่นมากมาย ไถ่ถอนยากสักแค่ไหน ไม่ใช่เป็นเรื่องรีบร้อน แต่เป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ตัวมี หรือเปล่า แล้วทำไมต้องมานั่งถามตัว แล้วทำไมจะต้องตอบตัว เรื่องอะไร อยู่ดีๆ ก็ถามตัว อยู่ดีๆ ก็ตอบตัว

    ผู้ฟัง ในความเป็นจริงแล้ว สภาพที่ถามตนเอง หรือมีคำตอบให้ตนเอง ก็คือสภาพคิดนึก ซึ่งในขณะที่เราฟังธรรมแล้วเกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้น จะห้ามความคิดต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ยาก

    ท่านอาจารย์ ทำไมถึงคิดจะห้ามความคิดที่ต่อเนื่อง นี่ผิดแล้ว ธรรมคือสิ่งที่มี เป็นอนัตตา ลืมคำนี้ได้อย่างไร ทั้งหมดที่ฟังแต่ละชาติ แต่ละภพ แต่ละครั้งที่ได้ยิน เพื่อให้มีความเข้าใจมั่นคงในความเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใคร แต่เป็นธรรมซึ่งเกิดเมื่อมีปัจจัย เป็นสิ่งที่จะต้องมั่นคงไปแต่ละชาติ หากยังไม่มีความมั่นคง ก็เป็นเราไปตลอดที่ศึกษาธรรม ฟังธรรม เข้าใจธรรม ก็เป็นเราหมด ไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่า เป็นธรรม คุณสุกัญญาจะห้ามคิด หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ห้าม

    ท่านอาจารย์ ไม่มีคำนี้อีก ที่จะห้ามไม่ได้

    ผู้ฟัง เมื่อเกิดความคิดนึกขึ้นมา ไม่รู้ ก็คือไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เปลี่ยนได้ไหมให้เป็นรู้

    ผู้ฟัง เปลี่ยนไม่ได้ แต่ก็ยังมีลักษณะของความต้องการที่จะรู้

    ท่านอาจารย์ ความต้องการ เปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่า เราไม่รู้ธรรมตลอด ตั้งแต่คิด และก็ต้องการ ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม รู้กับไม่รู้ ลองคิดดู ที่กล่าวว่า ไม่รู้ แล้วก็ไม่รู้ทั้งวัน กว่าจะรู้ทั่ว ทำไมต้องทั่ว ถ้าไม่ทั่วก็ยังเป็นเรา แล้วก็ยังสงสัย ทั่วนี่ ไม่ใช่ในสิ่งที่ยังไม่ปรากฏ ในสิ่งที่กำลังปรากฏนี่เอง

    อ.อรรณพ เมื่อสักครู่ ท่านอาจารย์กล่าวว่าให้เห็นประโยชน์ของการรักษาประเพณีที่เป็นประโยชน์ในทางธรรม ก็คือการสนทนาธรรม อยากกราบเรียนถามว่า สนทนาอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์

    ท่านอาจารย์ อย่างนี้

    อ.อรรณพ ในการสนทนา ก็มีความสงสัย ความสนใจของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกัน

    ท่านอาจารย์ อย่างคุณสุกัญญาเมื่อสักครู่นี้ แล้วเราก็สนทนากันเรื่องสติสติปัฏฐาน เรื่องความคิดซึ่งเป็นอนัตตา เรื่องโลภะซึ่งเกิดต่อ ก็เป็นธรรมทั้งหมด ไม่อย่างนั้นจะเสียเวลาไหม เราอุตส่าห์ศึกษา ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่มีอะไรเลย โลภะก็เป็นเจตสิก มีเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วยเท่าไร ก็เปล่าประโยชน์ ถ้าไม่เข้าใจว่า แท้ที่จริงก็คือสภาพธรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะรู้ได้ต่อเมื่อสติสัมปชัญญะเกิด ไม่ใช่เพียงสติขั้นฟัง เราก็จะรู้ว่า มีความต่างของปัญญาระดับฟังกับระดับที่ได้อบรมรู้จักลักษณะของสภาพธรรมทีละเล็กทีละน้อย

    อ.อรรณพ ในการฟัง การศึกษาก็มีการเข้าใจในขั้นเรื่องราว และธรรมที่พระองค์ทรงแสดงก็หลากหลายพยัญชนะ มีข้อความ มีหัวข้อธรรมมาก สำหรับการศึกษาของผู้ที่เริ่มศึกษา ก็มีความสนใจเรื่องราวในเรื่องหัวข้อ หรือจำนวน หรือตัวเลข

    ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ รู้ไหมว่าการศึกษาธรรม ศึกษาอะไร

    อ.อรรณพ ศึกษาสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ศึกษาให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏให้ถูกต้อง เพราะสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้เป็นธรรม จะไปยุ่งเกี่ยวอะไรกับตัวเลขมากๆ อย่างโลภะมีจริง เราจะเริ่มจากการที่ว่า เรามีความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ต้องการเห็นสิ่งที่สวยๆ งามๆ ทางหู เสียงเพราะๆ ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ เราก็จะรู้ว่า ขณะนั้นโลภะเป็นไปทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง จะนับหรือไม่ และอีกอย่างหนึ่งเวลาที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ความเห็นผิดต้องเกิดเพราะติดข้องพอใจในความเห็นนั้น ขณะนั้นก็เป็นโลภะซึ่งต่างกับเวลาที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ก็เป็นโลภะประเภทที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย จะนับ หรือไม่ว่า ความเห็นผิดมีมากมายก่ายกองเท่าไร และเวลาที่เกิดโลภะ บางครั้งเราก็เฉยๆ ใช่ไหม เอื้อมมือไป ไม่ใช่ไม่ต้องการ ไปหยิบน้ำจะดื่ม นี่ก็คือโลภะที่เกิดร่วมกับความรู้สึกอทุกขมสุข เฉยๆ ให้เข้าใจในขณะนั้น สภาพธรรมนั้น

    เพราะฉะนั้นก็รู้ว่า โลภะเกิดร่วมกับความรู้สึกเฉยๆ ก็ได้ หรือบางครั้งเราก็ปลาบปลื้มปิติเป็นสุข ขณะนั้นก็เป็นโลภะที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ต้องนับหรือไม่ ถ้านับ ขณะนั้นไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเป็นอย่างนั้น แต่ทั้งหมดที่ได้ฟังมา โลภะจะเป็นกี่ประเภท เกิดร่วมกับสภาพธรรมอะไรบ้าง จะแจ่มแจ้งเมื่อสภาพธรรมนั้นปรากฏกับสติ จะรู้เลยว่า ลักษณะนั้น เป็นโลภะที่เกิดร่วมกับโสมนัส หรือลักษณะของโสมนัสที่เกิดกับกุศลจิตก็มี ที่เกิดกับอกุศลจิตก็มี นี่คือการศึกษาธรรม เพราะฉะนั้นตัวเลขครบ ไม่ใช่ไม่ครบ แต่ว่าความรู้ของเราครบ หรือเปล่า เริ่มรู้ลักษณะของแม้โลภะ หรือยัง ทั้งๆ ที่พูดถึงโลภะอยู่ตลอดเวลา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตั้งแต่เช้าไม่ขาดเลย ก็จะต้องไปนั่งนับทำไม แต่การที่จะรู้กว้างขวาง ก็คือเป็นโอกาสที่จะได้เห็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าบุคคลนั้นไม่รู้จริง จะกล่าวถึงความจริงอย่างละเอียดอย่างนี้ได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นจำนวนทั้งหลายใครรู้ แล้วเรารู้จริงๆ แค่ไหน

    ธรรมจะทำให้รู้จักตัวเอง ไม่หลอกตัวเอง และรู้ประโยชน์ของการที่จะเข้าใจถูกต้องว่า การศึกษาธรรม คือ ศึกษาให้เกิดความเข้าใจ เห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นธรรม มิฉะนั้นเราก็จะไปมีตัวเลขมากมาย พอถึงชาติหน้าก็ลืมอีก คนละภาษาไปอีก โดยที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของการศึกษาธรรม ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า ธรรมคืออะไร และการฟัง คือการเข้าใจอะไร เข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ

    อ.อรรณพ ขณะนี้เราสนทนาธรรมเพื่อเข้าใจพื้นฐานพระอภิธรรม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เรากำหนด ในความเข้าใจพื้นฐานพระอภิธรรม ในรูปของการสนทนาธรรม ซึ่งอภิธรรม มีจิต เจตสิก รูป นิพพาน การที่เราเข้าใจขั้นเรื่องราว ก็ดูว่ามากเกินกว่าปัญญาในขั้นระลึกรู้ที่จะรู้ได้ อย่างเช่นเมื่อสักครู่อาจารย์กล่าวว่า แม้เพียงสภาพที่ติดข้องรู้หรือยัง เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ในความละเอียดของโลภะว่า มี ๘ มีอะไรสัมปยุตอะไร ในขั้นรู้ตรงสภาพ หรือประจักษ์ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปได้ละเอียดครอบคลุมได้อย่างนั้น การสนทนาเพื่อเข้าใจพื้นฐานพระอภิธรรม ควรจะเข้าใจในขอบเขตขนาดไหน

    ท่านอาจารย์ ขอบเขตคือฟังเข้าใจได้แค่ไหน พูดถึงนิพพานตอนนี้ดีไหม ทุกคนส่ายหน้า เพราะอะไร ไม่ใช่ขอบเขตที่จะเข้าใจได้ แต่เราก็จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า การศึกษาแค่ไหน ก็คือในขอบเขตที่เราจะค่อยๆ เข้าใจไปเรื่อยๆ แต่ต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ ไม่มีกฎเกณฑ์ และการศึกษาของบุคคลในครั้งพุทธกาลกับปัจจุบัน ที่ต่างกันก็คือว่า ในยุคนั้นไม่มีหนังสือเลยที่จะมาอ่านกันเป็นเล่มๆ แต่มีการฟัง ฟังเรื่องอะไร เดี๋ยวนี้เราก็กำลังฟัง ฟังเรื่องสิ่งที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ บุคคลในครั้งนั้นก็สามารถที่จะกล่าวถึงความเข้าใจของตนเองได้ตามการสะสม เช่นขณะนี้ทุกอย่างเป็นธรรม ทุกคนก็เข้าใจ เห็นขณะนี้มี เป็นธรรม หรือเปล่า เป็น แต่ไม่ประจักษ์ว่าเกิดดับ ต่างกับบุคคลที่กราบทูลตอบว่า จักขุไม่เที่ยง จักขุวิญญาณไม่เที่ยง สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่เที่ยง แต่ก็เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏนี่เอง

    เพราะฉะนั้นก็คงจะต้องรู้จักตัวเองว่า ปัญญาของเรายังไม่ไปถึงการที่จะประจักษ์การเกิดดับ แต่ฟังให้เป็นผู้ที่มีความเห็นถูกว่าสภาพธรรมไม่เที่ยง เพราะว่าเราไม่เคยคิดถึงความไม่เที่ยงของสภาพธรรม เราคิดถึงความไม่เที่ยงของสิ่งซึ่งเราจำได้ คนนั้นตาย คนนั้นเป็นอะไรก็แล้วแต่ ไม่เที่ยง เจ็บไข้ได้ป่วย เคยมามูลนิธิ ตอนนี้ก็ต้องเข้าโรงพยาบาล เราก็อาจจะคิดเพียงแค่นั้น แต่ไม่ได้คิดถึงสภาพธรรมเลย ยังมีความเป็นคน

    การฟังธรรมก็คือเพื่อให้เข้าใจธรรม และรู้ว่า การที่เราได้สนทนาพระสูตรบ้าง พระวินัยบ้าง พระอภิธรรมบ้าง ก็ประกอบกันที่จะให้เห็นธรรมตามความเป็นจริงในอดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน และรวมไปถึงอนาคตก็ต้องเป็นอย่างนี้เอง เปลี่ยนแปลงสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ได้ แต่ทั้งหมดก็คือเพื่อให้เข้าใจถูกว่า ทุกอย่างเป็นธรรมซึ่งเกิดดับ เมื่อเกิดแล้วก็ต้องดับไปแต่ละขณะ ขณะนี้มีอะไรเหลือบ้าง มีนิมิต คือ สิ่งที่ปรากฏจากการเกิดดับสืบต่อกัน

    ผู้ฟัง อาจารย์บอกว่า ขอให้รู้สภาพธรรม แล้วอาจารย์พูดเกือบทุกวัน ทุกชั่วโมงว่า ให้ฟังๆ ๆ ๆ และพูดอีกคำหนึ่งที่ซ้ำๆ ก็คือ สภาพธรรมที่เป็นจริง ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ แต่ผมก็ค่อนข้างจะเริ่มเข้าใจว่า เหมือนป่าล้อมเมือง ไปเรียนธรรมทุกอย่างให้ครบ แล้วจะค่อยๆ รู้จักสติปัฏฐาน ค่อยๆ รู้จักวิปัสสนา ค่อยๆ รู้จักอภิธรรมขึ้น แล้วนิพพานเอาไว้คราวหลังก็ได้ จะเป็นอย่างนั้นใช่ หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจคำอุปมาของคุณเด่นพงศ์ว่า หมายความถึงอะไร แต่ถ้าเป็นเรื่องของการสนทนาธรรม และมีความเข้าใจถูกต้องว่า ทุกอย่างที่มีจริง เป็นธรรม แต่ว่าควรที่จะเข้าใจแม้แต่คำว่า “ธรรม” ให้ถูกต้อง และลึกขึ้น

    ขอพูดถึงคำว่า “โลก” มีใครไม่รู้จักโลกบ้าง ตอนนี้จะรู้จัก หรือไม่รู้จักโลก เคยรู้จักโลกไหม

    ผู้ฟัง โลกก็คือสิ่งที่เรากำลังอยู่เดี๋ยวนี้

    ท่านอาจารย์ ตัวโลกเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง นี่คือสิ่งที่ไม่เข้าใจ แต่โลกของอาจารย์ก็คือสิ่งที่แตกดับ เกิดดับ คล้ายๆ อย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เราอาจใช้คำอะไรก็ได้ แต่ให้ทราบว่า ใครที่ใช้คำอะไร ไม่ว่าจะเป็นคำเก่า คำใหม่ ภาษาไหนก็ตาม มีความเข้าใจจริงๆ ในคำนั้น หรือเปล่า ถ้าถูกซักไซ้ไล่เรียง ไม่รู้เลย เอาโลกไหนดี โลกกลมๆ ภูมิศาสตร์ จักรวาล หรือว่าโลกไหน แต่ว่าจริงๆ แล้ว โลกอยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง ก็อยู่ที่ตัวเรา

    ท่านอาจารย์ ควรจะเข้าใจให้ถูกต้องไหม ถ้าไม่มีสภาพธรรมใดเลยเกิดขึ้น จะมีโลกได้ไหม แต่เมื่อเกิดแล้วไม่รู้ ก็มีโลก มีคนมากมาย และเป็นคนนั้นคนนี้ต่างๆ ประเทศต่างๆ ถ้าไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีการคิดนึก จะมีโลกไหม และลึกยิ่งกว่านั้นอีก สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้มีจริง เป็นโลกหรือเปล่า เห็นไหมกับคำอธิบายที่กล่าวถึงโลกเมื่อสักครู่นี้ ถ้าไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีการคิดนึก คือ ไม่มีใดๆ เลยทั้งสิ้น โลกก็ไม่มี นี่คือคำพูดส่วนหนึ่ง ถามกลับมาว่า ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นโลก หรือเปล่า เห็นไหม ถ้าเรามีความเข้าใจ เราก็ตอบได้ ต้องเป็นโลก แต่เรายังไม่ถึงความลึกซึ้งของความหมายของโลก จะกล่าวว่า เรารู้จักโลกได้ไหม ทั้งๆ ที่ทุกคนก็ใช้ภาษา พูดกันรู้เรื่อง พอพูดถึงโลก ก็เหมือนรู้จักว่า โลกเป็นอะไร แต่ความจริงของโลกไม่รู้

    ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงทรงบำเพ็ญพระบารมี เพื่อที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่มี จนกระทั่งตรัสรู้ถึงความจริงของสิ่งที่เห็นมีจริง แต่ความจริงของเห็นคืออะไร ก็ต้องลึกลงไปอีก จึงจะกล่าวได้ ดังนั้นทุกคำแสดงว่า เราใช้โดยไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิด แต่ถ้าศึกษาธรรม พระธรรมที่ทรงแสดงอนุเคราะห์ให้ผู้ที่ได้ฟัง ไตร่ตรอง มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง

    จะใช้คำอุปมา จะพูดถึงอะไรก็ตามแต่ เราเข้าใจ หรือเปล่า ยังไม่ต้องถึง อภิธรรม แค่ “ธรรม” ถ้ามีความเข้าใจแล้ว ธรรมนั่นเอง "อภิ" ไหม ละเอียดยิ่ง อย่าง “เห็น” ละเอียดยิ่ง เกิดขึ้นมาได้อย่างไร จากขณะที่ไม่มี แล้วเกิดมีขึ้น ต้องมีปัจจัย คือ จักขุปสาทรูป ใครก็ตามที่ไม่มีจักขุปสาทรูปจะเห็นไม่ได้เลย แค่มีจักขุปสาทรูปก็ยังไม่พอที่จะให้จิตเห็นเกิดขึ้น ต้องมีสิ่งที่เป็นธาตุที่สามารถกระทบจักขุปสาท ก็ยังไม่พอ ต้องมีจิตเห็นเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏที่กระทบจักขุปสาท

    นี่คือความละเอียดของโลกหนึ่งทางตา ซึ่งถ้าไม่มีโลกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โลกที่เราเข้าใจไม่มีเลย

    จะเห็นได้ว่า ความไม่รู้มีมากแค่ไหน และความรู้ที่คิดว่ารู้แล้ว แค่ไหน และความรู้จริงนี่แค่ไหน ธรรมเมื่อแสดงโดยละเอียดให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง ก็เป็น อภิธรรม ไม่ได้ต่างกับธรรมเลย จะไปกล่าวแยกว่า ศึกษาธรรม แต่ไม่ได้ศึกษาอภิธรรมได้อย่างไร ก็คือคนนั้นยังไม่ได้เข้าใจเลยว่า ธรรมคืออะไร ก็ไม่รู้ว่า ศึกษาอะไร แต่ถ้ามีความเข้าใจถูกต้อง ธรรมก็ทั้ง ๓ ปิฎก ถ้าไม่มีนามธรรม ไม่มีรูปธรรม ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล จะมีวินัยไหม ถ้าไม่มีอกุศล ไม่มีกิเลส จะมีการกำจัดกิเลส โดยการประพฤติทางกาย ทางวาจา และทางใจไหม ก็ไม่ต้องมี

    แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจธรรมละเอียดจริงๆ ก็สามารถที่จะรู้ว่า ศึกษาอะไร และเข้าใจอะไรเพิ่มขึ้น และยังจะต้องเข้าใจเช่นนี้ จนกระทั่งประจักษ์ความจริงได้ มิฉะนั้นจะไม่มีอริยสาวก ก็จะมีแต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น แต่หนทางต้องถูกตั้งแต่ต้น

    ผู้ฟัง อย่างที่ท่านอาจารย์แนะนำว่า ถ้าเรารู้ธรรมๆ ๆ ก็คืออภิธรรมนั่นเอง ถ้าเรารู้จริง รู้ละเอียด ก็จะเข้าไปสู่จุดหมายปลายทาง คือ อภิธรรม สติปัฏฐาน วิปัสสนา ไม่ทราบว่าจะใช่ หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง ก็คือธรรมเป็นเรื่องละ ด้วยความรู้ ใครที่ยังไม่อยากจะละ ก็คงไม่ต้องมาศึกษาธรรมหรอก เพราะว่าโลภะทำให้เรามีความต้องการยึดมั่น ไม่ละอะไรเลย แต่เมื่อศึกษาธรรม ธรรมทั้งหมดละความเห็นผิด ละอกุศล ละความไม่รู้ ละกิเลส ดีไหม อยากไหม เรียนไหม ศึกษาไหม อบรมไหม รู้ไหม ต้องเป็นผู้ที่จริงใจ และตรง ไม่ใช่ว่า ศึกษาธรรมเพราะอยากเข้าใจ แล้วพอแล้ว เข้าใจแล้ว แต่ตัวเองจะเป็นอย่างไรไม่รู้ ธรรมอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ และไม่เข้าใจเลยว่า ศึกษาเพื่ออะไร ถ้าศึกษาเพื่อเกียรติยศ ชื่อเสียง ความเป็นผู้เก่ง มีผู้สรรเสริญ อย่างที่คุณเด่นพงศ์กล่าวว่า ทางโลกจะต้องมีเป้าจะได้สำเร็จอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ทางธรรม เป็นเรื่องละทั้งหมด ที่ทางโลกติดข้อง

    ต้องรู้โดยละเอียดจริงๆ ว่า แม้การศึกษาที่แต่ละคนกำลังฟัง ก็ต้องรู้ว่าเพื่อนำไปสู่การละอกุศล ยังไม่พอ ละกุศลด้วย ทั้งหมด ถึงความไม่มีกิเลสเลย ไม่ติดข้องทั้งในอกุศล กุศล ถึงความเป็นพระอรหันต์

    ผู้ฟัง อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือทางหู จะมีทั้งสิ่งที่ดี และไม่ดี แต่ในชีวิตประจำวันปรากฏ ไม่ใช่สภาพของปรมัตถธรรมที่ปรากฏ แต่สติปัญญาของเรา ยังเป็นเราเห็น เราได้ยิน เพราะฉะนั้นก็เป็นแค่เรื่องราว ทีนี้พอเราเห็น เราได้ยิน ก็มาคิดนึกว่า เป็นสิ่งดีกับไม่ดี กราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า เช่นนี้ไม่ใช่สภาพจริงๆ ของปรมัตถธรรม ที่แยกออกมาว่า เป็นสิ่งดี หรือไม่ดีในขณะที่ปรากฏจริงๆ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเป็นปรมัตถธรรม แต่ไม่รู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม คิดเป็นปรมัตถธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นปรมัตถธรรม

    ท่านอาจารย์ จะคิดอะไรก็ได้ทั้งหมดเลย จะคิดภาษาไหน อะไรก็ได้ จะคิดวิชาการอะไรก็ได้ จะคิดเรื่องรักษาโรค เป็นแพทย์ เป็นอะไรก็ได้ แต่คิดเป็นคิด ไม่ใช่เราเลย เป็นขณะที่คิดซึ่งไม่ใช่ขณะที่เห็น

    ผู้ฟัง แต่ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา หากเป็นสิ่งที่ดี หรือไม่ดี ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะรู้ได้ ใช่ไหม ถ้าไม่มีปัญญาที่จะรู้ว่า สิ่งนั้นเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ ความจริงมีอะไรปรากฏทางตาขณะนี้ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ รู้ หรือไม่ว่า สภาพเห็น กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ถ้าไม่มีจิตเห็น สภาพที่กำลังปรากฏทางตา ปรากฏไม่ได้เลย แม้มีจริง ถ้าไม่รู้อย่างนี้ สามารถที่จะรู้หรือไม่ว่า ขณะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ คือ สิ่งที่ดี น่าพอใจ หรือเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ เพราะดับแล้วเร็วมาก ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรม ไม่ใช่เราจะให้สามารถบอกได้ว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาชั่วระยะสั้นเป็นอิฏฐารมณ์ที่น่าพอใจ หรือเป็นอนิฏฐารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ โดยยังไม่รู้ แล้วยังไม่ละ แล้วยังไม่คลาย ปกปิดไว้ตั้งแต่ไม่รู้ว่า เป็นธรรมที่มีจริง และก็ดับไปแล้ว แล้วจะไปให้รู้ถึงลักษณะนั้นว่า เป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ เป็นไปไม่ได้ และถ้าศึกษาธรรมโดยละเอียดจะทราบได้ว่า ขณะที่สิ่งที่ปรากฏทางตายังไม่ปรากฏ มี ใช่หรือไม่


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    20 ม.ค. 2567