พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 356


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๕๖

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ เวลาที่มีการเคลื่อนไหวกาย วาจา จะเห็นความละเอียดของอกุศลที่มีสะสมมาอย่างละเอียดมาก นานแสนนานในแสนโกฏิกัปป์ จากไหน แม้แต่จากกิริยาอาการก็เป็นได้

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ความหมายของ “วาสนา” อีกความหมายหนึ่ง คือ ความประพฤติที่เคยชินทางกาย ทางวาจา ขณะนี้ลองดู ทุกคนนั่งเหมือนกัน หรือไม่ แม้แต่นั่ง นั่งด้วยกันหมดเลย มีแขน มีขา แต่นั่งไม่เหมือนกัน การพูดก็ไม่เหมือนกันด้วย จังหวะ หรือความคิด หรือเสียง หรืออะไรทุกอย่างก็แล้วแต่ เป็นความละเอียดอย่างยิ่งที่ทรงแสดงไว้ว่า ถ้าเป็นการสะสมที่เป็นวาสนาทางฝ่ายกุศล ไม่ต้องละ แต่ถ้าเป็นวาสนาทางฝ่ายอกุศล ใครละได้ พระอรหันต์ทั้งหลายละอกุศลหมด แต่ละวาสนาไม่ได้ เว้นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    นี่คือความละเอียดของธรรม เพราะฉะนั้นชื่อต่างๆ ที่ถามถึง ถ้าศึกษาไปก็จะพบอีกมาก

    ผู้ฟัง กระผม พ.ท. สุรินทร์ อ้วนศรี อนุศาสนาจารย์กองพลทหารม้าที่ ๑ ปัจจุบันชาวพุทธเรามักจะมีความเชื่อว่า การได้อุปสมบท หรือได้บวชเป็นพระ เป็นการตอบแทนพระคุณบิดามารดาอย่างสูงสุด ถ้ามองตรงนี้ก็เหมือนเป็นโอกาสดีที่สุดของผู้ชาย และเป็นโอกาสที่ด้อยของสตรี หรือผู้หญิง ที่ไม่ได้ตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่ ตามความเชื่อที่อาจจะถูกปลูกฝังมาตั้งแต่อดีตกาล ผมคิดว่า คำตอบของท่านอาจารย์จะเป็นแรงบันดาลใจให้สตรีได้อุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนา และเป็นแรงให้อนุรักษ์รักษาพระพุทธศาสนาให้มั่นคงยิ่งขึ้น เหมือนอย่างที่อาจารย์ได้ศึกษา และปฏิบัติธรรม นำมาเผยแพร่ และขอให้ท่านอาจารย์ช่วยแนะนำทางปฏิบัติที่ถูกต้องจริงๆ เพื่อสตรีจะได้ไม่น้อยใจในเรื่องนี้

    ท่านอาจารย์ ในครั้งพุทธกาลมีพระภิกษุณี หรือเปล่า ที่ได้บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ และถึงแม้ว่าไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ในเพศของบรรพชิตที่เป็นหญิง คือ ภิกษุณี แต่ก็มีอุบาสิกามากมายที่ได้เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นถึงพระอนาคามีบุคคล เพราะเหตุว่าการที่จะดับกิเลสหมดแล้ว จะอยู่ในเพศคฤหัสถ์ เป็นไปไม่ได้ ก็ต้องบวช แต่เมื่อไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็สามารถบรรลุคุณธรรม ถึงความเป็นพระอนาคามี ผู้ชายในยุคนั้นที่ไม่ได้เป็นพระโสดาบัน มี หรือไม่ ก็มี

    เพราะฉะนั้นความเป็นผู้รู้ หรือผู้ที่ศึกษาธรรม ผู้ที่เข้าใจธรรม ไม่ได้จำกัดเพศ และในครั้งนั้นก็มีอุบาสิกาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการแสดงธรรม เป็นธรรมกถึก และเป็นเอตทัคคะในทางอื่นด้วย การยกย่องไม่ได้ยกย่องที่เพศว่า หญิง หรือชาย แต่ยกย่องที่ปัญญา คือ ความรู้ถูก ความเห็นถูก แม้ในครั้งพุทธกาล

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นธรรมซึ่งไม่ได้หมายความว่า จะต้องมีการแบ่งแยก หรือหญิงจะเป็นเสมอชายไม่ได้ แต่ตามความเป็นจริงแต่ละบุคคลที่มีชื่อต่างๆ กัน เช่น นักร้อง เพราะร้อง นักกีฬา เพราะกีฬา ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล ท่านก็เป็นพระโสดาบัน หรือพระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ตามคุณธรรมของท่าน

    ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าใครยุคไหน ก็มีโอกาสศึกษาธรรม และก็เป็นคนดีที่คนอื่นยกย่องในความดี ไม่ได้ยกย่องในเพศ ไม่ได้เลือกว่า เพศนี้ยกย่องไม่ได้ เพศนั้นต้องยกย่อง แต่ว่ายกย่องในความดี ถ้าเป็นผู้ชายที่ไม่ดี จะยกย่อง หรือไม่ กับเป็นผู้หญิงที่ดี หรือเป็นเด็กอายุเท่าไรก็ได้ แต่เป็นเด็กที่ดี เราชื่นชมในคุณความดี และตามความเป็นจริงไม่มีอะไรเหลือ ความดีเกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่งแล้วก็ดับไป ถึงที่สุด คือ ไม่มีการเกิดเป็นใครเลยทั้งสิ้น ขณะนี้เราอาจจะบอกว่า คนนี้ดี เพราะว่าเขาทำความดีหลายอย่าง มีอนุสาวรีย์ แต่เดี๋ยวนี้เขาอยู่ไหน มีจริงๆ หรือเปล่า ชื่อนั้นอยู่ที่ไหน ณ บัดนี้ ฉันใด ณ บัดนี้ก็มีแต่ชื่อ แต่สภาพธรรมก็เกิดดับหมดไปทุกขณะ ไม่เหลือเลย จนกว่าจะถึงวันที่ไม่เหลือจริงๆ เหลือแต่ชื่อ ชื่อก็ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ใครจะเป็นเจ้าของชื่อนั้นอีก คนนั้นก็เกิดเป็นอะไรที่ไหนแล้ว และสิ่งที่มีก็เป็นเพียงความทรงจำในชื่อ แต่สภาพธรรมตามความเป็นจริงก็ไม่มีอะไรเหลือ ต้องเข้าถึงความจริง

    ผู้ฟัง รวมความแล้ว การอุปสมบทเป็นพระภิกษุก็ไม่ใช่เป็นหนทางเดียวที่จะตอบแทนพระคุณบิดามารดา ถูกต้อง หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เป็นคนดีวันนี้ เมื่อไร นั่นคือตอบแทนคุณ

    ผู้ฟัง รวมความว่า สตรีถ้าเข้าถึงธรรม ปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้อง ก็คือการตอบแทนพระคุณมารดาบิดาได้เช่นเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องทราบว่า บวชเพื่ออะไร เพื่อดีกว่าคฤหัสถ์ใช่ หรือไม่ แต่ตอนนี้เป็นคฤหัสถ์ ยังไม่ได้เป็นพระภิกษุ ก็ดีได้ไหม ถ้าเป็นคฤหัสถ์ยังดีไม่ได้ จะหวังว่าจะดีถึงพระภิกษุ เป็นไปได้อย่างไร

    ผู้ฟัง กระผมรู้สึกดีใจที่สุดที่ได้มีโอกาสมาร่วมฟังสนทนาธรรมในครั้งนี้ ผมอยากทราบว่า ทางมูลนิธิฯ มีส่วนร่วมอย่างไรในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

    ท่านอาจารย์ ฟังดูเหมือนไม่มีส่วนใช่ หรือไม่ แต่ขณะนี้กำลังเป็นส่วนร่วม ในการให้ได้ความเข้าใจที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา ซึ่งอาจจะเป็นส่วนที่คนละเลย เพราะว่าคนมักจะคิดถึงส่วนอื่น แต่เมื่อได้เข้าใจธรรมแล้ว จะเห็นได้ว่า เป็นกำลังที่สำคัญมาก เพราะว่าเมื่อมีความเข้าใจถูก เป็นคนดี ทุกคนในห้องนี้อาจจะไม่มีใครทราบว่า เราช่วยใครบ้าง แม้จะไม่ช่วยในลักษณะขององค์กร แต่ละคนก็ช่วยในส่วนตัวแต่ละอย่าง มีการช่วยโรงเรียน และมีการช่วยคนที่อยู่ห่างไกล และทำสิ่งที่จะทำให้จิตใจของแต่ละคนเกิดความวุ่นวาย เพราะความไม่รู้ เพราะมีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ โดยที่ไม่รู้เลยว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะลดลงไปได้อย่างไร

    กำลังทำกิจกรรมซึ่งช่วยอยู่ แต่คนอื่นอาจจะมองไม่เห็น เพราะไม่เหมือนกับชื่อเป็นองค์กรที่จะช่วยอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว ทุกคนช่วยโดยที่คนอื่นไม่รู้เลยว่า แต่ละท่านได้ช่วยอะไรบ้าง แต่ช่วยที่สำคัญที่สุด ที่คนอื่นละเลยก็คือช่วยให้ได้เข้าใจพระธรรม

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามว่า พรหมวิหาร ๔ เมตตา กรุณา มุทิตา ก็พอเข้าใจ แต่อยากรู้สภาพธรรมที่ชื่อว่า อุเบกขา ที่เมื่อเกิดปรากฏแล้ว เป็นคุณธรรมที่ดีอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นไม่ข้ามความหมายของคำว่า “พรหมวิหาร” มิฉะนั้นแล้วก็เป็นแต่ชื่อ พรหม คือ ผู้ประเสริฐ วิหาร คือ ความเป็นอยู่ ดังนั้น พรหมวิหาร คือ ความเป็นอยู่ของผู้ประเสริฐ หรือความอยู่ ผู้ประเสริฐอยู่อย่างไร อยู่ด้วยโลภะ อยู่ด้วยความเกลียดชัง อยู่ด้วยความริษยา อยู่ด้วยความเห็นแก่ตัว หรือเปล่า นั่นไม่ใช่ผู้ประเสริฐเลย

    ผู้ประเสริฐจริงๆ แม้ในชีวิตประจำวัน ก็คือ เมตตา หมายความว่าอะไร ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน พร้อมจะเกื้อกูล ไม่หมายความว่า ให้เราหลงผิด ทำผิดไปกับคนอื่น แต่การเกื้อกูลจริงๆ คือ เกื้อกูลให้ถูกต้อง ให้เขามีความเห็นถูก ให้มีความเข้าใจถูก ให้มีกายวาจาใจที่ถูก นี่คือความเป็นมิตรที่แท้จริง

    ก็เห็นได้ว่า ไม่ใช่ให้เราไปนั่งท่อง แล้วหวังผลของเมตตา บางคนท่องตั้งหลายจบ ภาษาบาลีด้วย ภาษาไทยด้วย พอท่องเสร็จก็โกรธ อย่างนั้นไม่ใช่เลย ไม่ได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องในความหมายของความประพฤติ หรือความเป็นอยู่ หรือธรรมของพรหม คือ ผู้ประเสริฐ มีความเป็นเพื่อน และความเป็นเพื่อน ที่เราใช้คำว่า เจริญพรหมวิหาร ไม่ใช่คับแคบอยู่เฉพาะในหมู่ของเรา ในบ้านของเรา ในวงศาคณาญาติของเราไม่พอ เพราะว่าตามความเป็นจริงแล้ว ความเป็นมิตรเป็นกุศล ทำไมไม่ให้มีมากๆ กุศลทั้งหลายควรเจริญให้มาก มีความเป็นเพื่อน ไม่เดือดร้อนเลยสักขณะเดียว ไม่ว่าจะเป็นตรงไหน ที่ไหน และเวลาที่เราใช้คำว่า “ความเป็นเพื่อน” จะใช้กับสัตว์บุคคล เพราะฉะนั้นสิ่งใดก็ตามที่เราเคยไม่ชอบ ขณะนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข ทั้งเรา และเขา แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นความหวังดีเท่าที่จะกระทำได้ เราไม่สามารถจะไปเปลี่ยนใจใครได้ แต่ใจของเราที่ไม่เป็นศัตรู ไม่คิดร้ายต่อใคร ขณะนั้นเราจะไม่มีศัตรูเลย เพราะว่าเราไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร แต่มีความฉลาดที่จะรู้ว่า ทำอย่างไรจึงจะเป็นมิตรแท้ มิตรที่ดีของแต่ละคนได้ โดยการรู้จักที่ตัวเขาจริงๆ แล้วถึงกาลโอกาสไหนที่สามารถจะกระทำสิ่งใดให้เขาเป็นคนดีได้ หรือมีความคิดความเห็นที่ถูกได้ เราก็ทำ

    ความเป็นมิตร ทุกกาล ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน มีคนที่ให้เราเห็นเสมอ จะเป็นคนแปลกหน้า เป็นเพื่อนเขาได้ หรือไม่ หวังดีได้ไหม คนไทยมีอุปนิสัยทางพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานซึ่งเป็นที่ชื่นชม คือ เป็นผู้มีน้ำใจ ไม่ว่าจะเป็นแขกแปลกหน้ามาเมื่อไร ที่ไหน ชาวต่างประเทศ หรือใครก็ตามแต่ คนไทยก็จะเอื้อเฟื้อ นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งซึ่งเป็นพื้นฐานที่ปลูกฝังมาในทางธรรม แต่ถ้าไม่กระทำต่อไป หรือไม่เข้าใจจริงๆ เราจะเป็นผู้หวังที่หวังผล เพราะว่าบางคนก็จะถามว่า เมตตาแล้วได้อะไร และเมตตามีอานิสงส์อย่างไร ข้ามการที่จะเมตตาไปสู่ว่า เมตตาแล้วจะได้อะไร นี่ไม่ถูกต้องเลย เมตตาเป็นคุณธรรม ซึ่งมีได้ทุกกาล คือ ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน วันนี้มีเมตตาแค่ไหน ธรรมไม่ใช่ไปดูอื่นไกลเลย แต่เป็นสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ที่บ้านวันนี้เมตตาใคร หรือเปล่า คนที่อยู่รอบข้าง ถ้าเราคิดจะเมตตาคนอื่น แต่คนที่อยู่ใกล้เรา เราไม่เมตตาเลย และจะมีความสุขไหม และจะมีความเจริญ มีความเมตตาเพิ่มขึ้น หรือไม่

    ธรรมทั้งหมดเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เมื่อมีปัญญาแล้ว กาย วาจาของเราจะดีขึ้น คนที่เคยพูดคำที่ไม่น่าฟัง แต่พอเข้าใจในความเป็นเพื่อน และคิดถึงว่า คนอื่นก็ไม่อยากได้ยินคำอย่างนี้ จะหยุด แม้ว่ากำลังจะกล่าวคำที่ไม่น่าฟัง นี่คือความเมตตา คือ ความเป็นเพื่อน ทุกกรณี ทุกสถานการณ์ เป็นประโยชน์

    สำหรับกรุณา ก็มีคนอีกมาก ซึ่งกำลังเป็นทุกข์ เราจะพบบ่อยๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ ถ้าสามารถอนุเคราะห์ช่วยเหลือได้ ขณะนั้นก็เป็นกุศล กรุณาให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ แต่ผู้ที่มีพระมหากรุณากว่าคนอื่นทั้งหมด ก็คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าสัตว์โลกมีความไม่รู้ มีความเห็นผิด เข้าใจผิดในธรรม จึงทรงพระมหากรุณาแสดงพระธรรม เห็นได้เลยว่า ธรรมมีประโยชน์ เมื่อมีความเข้าใจแล้ว นำมาซึ่งสิ่งที่เป็นกุศลเพิ่มขึ้นทั้งกายวาจาใจ

    เมื่อมีเมตตา กรุณาด้วย ไม่ใช่กรุณาเฉพาะกาย แต่กรุณาถึงใจของเขาด้วย ใครที่ไม่มีความเห็นถูก ไม่มีความเข้าใจถูก มีหนทางใดที่จะทำให้เขาได้ยินได้ฟัง ก็กรุณาได้

    มุทิตา อีกเรื่องหนึ่ง สัตว์โลกเดี๋ยวก็ได้ลาภ เดี๋ยวก็เสื่อมลาภ ใครนำมาให้ อาจจะคิดว่าคนอื่นนำมาให้ แต่จริงๆ แล้ว กรรมของตนที่ได้กระทำแล้วนำมา มากน้อยตามปัจจัยที่ได้สะสมมาทั้งสิ้น แม้แต่จิตขณะแรกที่เกิดขึ้นเป็นผลของกรรมหนึ่งกรรมเดียว ถึงแม้ว่าเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศลกรรม แต่ทำไมต่างกัน เพราะว่ากรรมที่ได้สะสมมาในแสนโกฏิกัปป์ ไม่ได้หายไปไหนเลย ประมวลมาที่จะทำให้กรรมที่ทำให้เป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ประสบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย รวมทั้งลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ซึ่งกรรมที่ได้กระทำแล้วเท่านั้นที่นำมาให้ ที่จะให้ได้รับผลทั้งที่เป็นฝ่ายที่น่าพอใจ และฝ่ายที่ไม่น่าพอใจ ก็เป็นเรื่องที่เมื่อมีความกรุณาแล้ว และมีมุทิตาด้วยเวลาใครได้รับสิ่งที่ดี เพราะผลของกรรมของเขา ก็ชื่นชมในกรรมที่เขาได้กระทำมา ที่ทำให้เขาได้รับสิ่งที่ดี

    สำหรับอุเบกขา ช่วยได้ทุกคน หรือเปล่า เมื่อช่วยไม่ได้แล้วจะโศกเศร้า หรือจะมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม ขณะนั้นจิตใจก็ไม่หวั่นไหว เพราะเหตุว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ใครเป็นทุกข์ แม้เพียงการร้องไห้ ก็ทรงแสดงว่า มีประโยชน์อะไรที่จะรู้สึกโทมนัส เสียใจ แต่ถ้ามีปัญญาที่สามารถไม่หวั่นไหวในขณะนั้น เพราะรู้ว่า แต่ละคนไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็เป็นไปตามกรรม

    เป็นชีวิตประจำวัน ที่เมื่อเข้าใจแล้ว ก็อบรมเจริญขึ้นได้ แต่ต้องเข้าใจความหมายด้วย เข้าใจสภาพธรรมในขณะนั้นด้วย

    ผู้ฟัง ผม พ.อ. บุนนาค บุญลา ผู้อำนวยการกองรักษาการณ์ กรมยุทธศึกษาทหารบก ผมศึกษาอภิธรรม คำว่า “อัตตวาทะ” หมายถึงวาทะชนิดใด

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่น “อภิธรรม” เติมจากคำว่า “ธรรม” มาแล้ว ธรรมคือสิ่งที่ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ กำลังเห็นเป็นธรรม หรือไม่ เป็น สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรมไหม เป็น กำลังเห็นอะไร ถ้าจะเข้าใจความหมายของ “อัตตวาทะ” ก็ต้องมีความเข้าใจว่า เดี๋ยวนี้กำลังเห็นอะไร

    นี่เป็นความละเอียด ถ้าเห็นว่าเป็นโต๊ะ เป็นอัตตา หรืออนัตตา “อนัตตา” คือ ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับอย่างรวดเร็วสุดจะประมาณได้ แต่เพราะอาศัยการเกิดดับสืบต่อ จนไม่มีใครสามารถที่จะรู้ขณะที่เกิด และดับไป ก็มีการจำสีสันวัณณะของสิ่งที่ปรากฏ และรู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร โดยที่ไม่รู้ความจริงว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น คนตาบอดไม่มีจักขุปสาท ไม่เห็น แต่คนที่มีจักขุปสาทขณะนี้กำลังเห็น แต่ไม่รู้ว่า มีความเห็นถูก หรือมีความเห็นผิด เป็น “อัตตวาทะ” หรือเปล่า แต่ถ้าขณะใดก็ตามมีความคิดว่า เห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ไม่ได้มีอะไรเกิดดับเลย ขณะนั้นคือความหมายของอัตตวาทะ เพราะเหตุว่าตรงกันข้ามกับอนัตตา

    ขอเชิญคุณนิภัทรให้ความเห็น ในเรื่องภาษาบาลี

    อ.นิภัทร อัตตวาทะ เป็นศัพท์ที่มาจาก อัตตะ + วาทะ อัตตะ ความเป็นตัวตน วาทะ ในที่นี้แปลว่า “ว่า” เพราะมีคำต่อว่า อุปาทาน เป็นอัตตวาทุปาทาน ยึดมั่นว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา

    คำว่า “วาทะ” จริงๆ แปลว่า “กล่าว” แปลว่า “พูด” แต่ในที่นี้ท่านแปลว่า “ว่า” ยึดมั่นว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา

    ผู้ฟัง มีผู้ถามว่า ที่ว่า “สภาพรู้” สภาพรู้คืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ อย่างไรก็ไม่สามารถจะเอาสภาพรู้มาให้ใครเห็นได้ สภาพรู้เป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างเลย อย่างเสียงอย่างนี้ ก็ยังมีลักษณะของเสียงซึ่งเป็นรูป แม้มองไม่เห็น สำหรับสภาพรู้ทั้งมองไม่เห็นด้วย และไม่มีลักษณะที่จะปรากฏได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เหมือนอย่างสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หรือเสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นปรากฏทางจมูก รสปรากฏทางลิ้น แต่ว่าธาตุรู้มี ถ้าไม่มีธาตุรู้ ถ้าเราจะคิดถึงว่า เรากำลังพูดถึงสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อนเลย แต่เป็นสิ่งที่มีจริงๆ แน่นอน เช่น เห็น ทุกคนก็ไม่สงสัยเลยสักนิดเดียวว่ากำลังเห็น แต่ที่ไม่รู้ตามความเป็นจริง ก็คือไม่รู้ว่า เห็นเป็นธาตุที่เกิดขึ้นรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าพูดอย่างนี้ก็ยากแล้ว ใช่ หรือไม่ เวลาพูดถึงเรื่องรู้ เราคิดถึงเรื่องรู้อื่น รู้ไหมว่าดอกไม้นั้นชื่ออะไร รู้ไหมว่าถนนนั้นอยู่ที่ไหน เราคิดว่าเป็นเรื่องรู้อย่างนั้น แต่ความจริงลักษณะของธรรมที่สามารถ ที่จะให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏในขณะนี้ปรากฏได้ เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เพียงแค่หลับ ไม่ปรากฏแล้ว แต่เราไม่เคยคิด ไม่เคยไตร่ตรอง ที่จะเข้าใจว่า ไม่มีเรา แต่สิ่งที่มีจริงๆ ก็มีสภาพธรรมซึ่งเป็นอย่างนั้น

    ในขณะนี้ที่กำลังเห็น สิ่งที่เราสามารถเข้าใจได้ คือ มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น แต่แม้กระนั้นก็ไม่ได้เคยเข้าใจว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย แสดงให้รู้ว่า ความไม่รู้มากมายแค่ไหน แม้จะพูดเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ กำลังปรากฏ ก็ยังไม่รู้ ยังไม่สามารถเข้าใจได้ ทั้งๆ ที่สิ่งนี้ก็กำลังมีจริงๆ

    เพราะฉะนั้นต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ไตร่ตรอง ค่อยๆ พิจารณาเพื่อจะรู้ให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่เราอีกต่อไปเลย ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ก็คือว่าเป็นธรรมเท่านั้นที่มีลักษณะแต่ละอย่างที่ปรากฏให้เข้าใจได้ ให้รู้ได้ เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ มี เพราะมีเห็น แค่นี้ ยังไม่ต้องพูดว่า เห็นเป็นอะไร เห็นเป็นเรา หรือเปล่า แต่เพราะมีเห็น แค่นี้พอที่จะเข้าใจได้ หรือไม่ว่า เพราะมีเห็น

    เพราะฉะนั้นเห็น มี แต่เห็นอยู่ที่ไหน ขณะที่กำลังเห็น เห็นอยู่ที่ไหน เห็นที่ไหน เห็นที่ตา เห็นจะอยู่ที่อื่นได้ หรือไม่ ไม่ได้ เราก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า เห็นเกิดที่ตา กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    กว่าปัญญาจะสมบูรณ์ถึงขั้นประจักษ์แจ้งว่าเป็นธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตน เพียงฟังครั้งเดียว ไม่มีทางเลย แต่จากการฟัง เริ่มเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย อีกหน่อยก็สามารถถึงระดับขั้นที่แทงตลอดความจริงว่า ขณะที่กำลังเห็น ธาตุชนิดนี้ มี และไม่มีรูปร่างสัณฐานใดๆ เลยทั้งสิ้น ปรากฏได้ทางมโนทวาร เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสีสันต่างๆ เสียงปรากฏทางหู เวลาที่กระทบหู แต่ธาตุรู้ จะรู้ได้ทางมโนทวาร หมายความว่าทางใจ ไม่ใช่ทางตา มองไม่เห็น และไม่มีสีสันวัณณะที่จะปรากฏให้ได้ยิน แต่จะประจักษ์แจ้งในความเป็นธาตุรู้ ก็ค่อยๆ ฟัง จนกว่าจะถึงกาลที่สามารถรู้ลักษณะที่เป็นธาตุรู้ได้ แต่ในขั้นต้นก็คือว่า มีจริงๆ เมื่อไรที่เห็น เมื่อนั้นก็เป็นธาตุที่กำลังเห็น คือ รู้ว่าลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น ไม่ว่าจะเห็นที่ไหน ก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นในขณะนั้น และสิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อนก็คือว่า แม้สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ก็เกิด จึงได้ปรากฏ

    นี่เป็นความไม่รู้ทั้งหมดมานานแสนนาน และกว่าจะค่อยๆ เข้าใจในขั้นฟัง จนกระทั่งฟังไปอีกเท่าไรๆ ก็คือว่าไม่ใช่เพื่อให้ไปทำอะไรเลยทั้งสิ้น แต่เพื่อรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เวลาเราใช้คำว่า “สติ” เราแปลคำนี้ว่า “ระลึกได้” ขณะที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ จะระลึกอะไรได้ บางคนอาจจะคิดถึงธุระที่ควรจะทำ แต่ลืม อาจจะวางของไว้ตรงนั้นตรงนี้ แล้วก็เกิดคิด แล้วก็บอกว่าระลึกได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    15 ม.ค. 2567