พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 357


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๕๗

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ เวลาเราใช้คำว่า “สติ” เราแปลคำนี้ว่า “ระลึกได้” ขณะที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ จะระลึกอะไรได้ บางคนอาจจะคิดถึงธุระที่ควรจะทำ แต่ลืม อาจจะวางของไว้ตรงนั้นตรงนี้ แล้วก็เกิดคิด แล้วก็บอกว่าระลึกได้ แต่ความจริงคำว่า “สติสัมปชัญญะ” สติเป็นธรรมฝ่ายดี ถ้าเป็นเพียงการคิดเรื่องหนึ่งเรื่องใด ในขณะนั้นเป็นอกุศลที่คิดก็ได้ ใช่ หรือไม่ แต่ถ้าเป็นสติ ไม่ใช่อกุศล สติต้องเป็นธรรมฝ่ายดี และในขณะที่กำลังฟัง ก็มีสติ แต่เพราะไม่มีความเข้าใจถึงระดับที่สามารถรู้ลักษณะของสติในขณะที่ฟัง

    ในขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด คือ จิต และเจตสิกต่างๆ เกิดขึ้น และดับไป สืบต่ออย่างรวดเร็วมาก แต่ถ้าไม่มีปัญญาถึงระดับที่สามารถรู้ตรงลักษณะที่กำลังปรากฏ เมื่อนั้นก็ไม่สามารถที่จะแทงตลอด คือ รู้ความจริงของสิ่งนั้นได้ คำที่พูดเมื่อสักครู่นี้ แสดงว่าในขณะที่กำลังเห็น ยังไม่สามารถแทงตลอดลักษณะของรูปที่ปรากฏ และยังไม่สามารถแทงตลอด คือ รู้ความจริงของสภาพที่กำลังเห็น นี่แสดงให้เห็นว่าถูก หรือไม่ ขั้นฟัง และกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ แล้วจะไปทำอะไรให้เกิดความรู้ความเข้าใจธรรม ที่มีจริงๆ ที่เกิดแล้วปรากฏในขณะนี้ เป็นไปไม่ได้เลย

    ด้วยเหตุนี้การอบรมเจริญปัญญา จึงต้องอาศัยการฟัง ฟังแล้วฟังอีก เป็นผู้ที่ตรงว่า ฟังเรื่องอะไร ฟังธรรมแล้วก็รู้ด้วยว่า ธรรมมีจริงๆ กำลังปรากฏ ไม่ใช่ไปตบแต่งคิดนั้นคิดนี่ แล้วก็กล่าวว่าเป็นธรรม แต่ลักษณะของธรรมจริงๆ กำลังปรากฏ ให้รู้ว่ามี แต่กว่าจะเข้าใจว่า ไม่ใช่เรา อย่างเห็น ทุกคนก็รู้ว่ามี แต่ไม่ใช่เรา ไม่ว่าจะฟังอีกนานสักเท่าไร กี่ภพกี่ชาติ เพื่อรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ แทงตลอดธรรมซึ่งเป็นนามธรรม และรูปธรรม จึงจะคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ เพราะความไม่รู้ และเคยฟังอย่างนี้มานานเท่าไร กี่ชาติแล้ว ไม่ทราบใช่ หรือไม่ เอาชาตินี้ พอถึงชาติหน้า เคยฟังเรื่องนี้มานานเท่าไร กี่ครั้ง และความเข้าใจที่จะติดตามไปถึงชาติหน้าแค่ไหน เพราะฟังในชาตินี้ เราก็ฟังบ่อย วันเสาร์ วันอาทิตย์ และประจำวันก็ทางวิทยุ แต่ความเข้าใจของเราในสิ่งที่ปรากฏทางตาที่จะติดตามไป ให้สามารถที่จะรู้ว่า เริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ หรือเข้าใจ พอพูดถึงสิ่งที่ปรากฏก็สามารถรู้ตรงลักษณะนั้นจริงๆ ซึ่งไม่ใช่ขณะที่คิดว่า เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่เป็นการรู้ และไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ เพราะรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า กว่าเราจะเข้าใจจริงๆ ต้องอาศัยการฟัง การสะสมความเข้าใจ ซึ่งในชาติก่อนๆ นานมาแล้วนับไม่ถ้วน รู้ไหมว่าได้เคยฟัง หรือเปล่า และเคยฟังแค่ไหน และเข้าใจแค่ไหน ถ้ายังน้อยมาก ผลก็คือปรากฏในชาตินี้ มีศรัทธาที่จะได้ยินได้ฟัง แต่ความเข้าใจก็ต้องเป็นเรื่องที่ตรง เพราะว่าเคยไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม นานนับไม่ถ้วน แสนโกฏิกัปป์ แล้วก็เพียงฟังนิดเดียว แล้วก็เริ่มค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วจะให้หมดความสงสัย แล้วประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรม เป็นไปไม่ได้ แต่ผู้ที่รู้จริงอย่างนี้ ได้มีแล้ว เพราะฉะนั้นผู้ที่กำลังสะสม วันหนึ่งก็จะต้องเป็นผู้สามารถรู้ความจริงได้ ถ้าสะสมปัญญาต่อไป

    ผู้ฟัง อย่างที่ฟังโดยพยัญชนะอย่างนี้ ก็พอจะเข้าใจได้ แต่ก็มานึกดูอีกทีหนึ่ง ก็คือกว่าจะเข้าใจจริงๆ ก็ต่อเมื่อสติระลึกรู้ตรงนั้นจริงๆ แต่ก็ยัง แต่มันอยากจะรู้

    ท่านอาจารย์ แล้วจะทำอย่างไร ตั้งแสนโกฏิกัปป์ มีเครื่องกั้นทันที จะรู้เพราะอยากได้ หรือไม่ เมื่อไรหมดอยาก เมื่อนั้นจะรู้

    ผู้ฟัง มันก็ไม่หมด

    ท่านอาจารย์ จึงไม่รู้ เพราะไม่หมดอยาก แล้วจะรู้ได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ก็เลยต้องกราบเรียนถามท่าน เพื่อให้ความอยากตรงนี้คลายลงสักนิดหนึ่ง หรือว่ารู้จักความอยากให้มากขึ้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าฟังแล้วก็รู้ว่า ถึงอยากเท่าไรก็ไม่รู้ แต่เมื่อเริ่มฟัง เริ่มเข้าใจ ค่อยๆ ละความไม่รู้

    น่าอัศจรรย์ หรือไม่ ที่สิ่งที่ปรากฏแล้วเคยไม่รู้ เหมือนเดี๋ยวนี้เลย แต่เวลาปัญญาเกิด ก็สิ่งนี้เอง แต่คิดถึงลักษณะของปัญญาที่สามารถเข้าใจได้ จนกระทั่งละความไม่รู้ แล้วก็ประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมในสิ่งที่กำลังปรากฏอย่างนี้เอง

    ไม่ว่าจะฟังเมื่อไร ที่ไหน ที่โลกมนุษย์ หรือที่โลกสวรรค์ หรือที่ไหนก็ตาม ก็ไม่พ้นจากสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เพื่อรู้ความจริง การฟังก็คือไม่พ้นจากสิ่งต่างๆ เหล่านี้เลย แล้วก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า กำลังฟังเรื่องเห็น ทั้งๆ ที่กำลังเห็น กำลังฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏทางตา ความเข้าใจเพิ่มขึ้น แม้เพียงเล็กน้อยบ้าง หรือไม่ ไม่ต้องไปคิดถึงจำนวนมากเลย อย่างอยาก อยากมหาศาลเลย แทงตลอดเลย แต่ขณะนี้แม้เพียงจะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ มี หรือไม่ ถ้าไม่มี อยากไปเท่าไร ก็ยิ่งทับถมการปิดบัง เพราะว่าขณะนี้เพราะอยาก เพราะไม่รู้ จึงอยาก จึงไม่เห็นความจริงของสภาพธรรม

    ด้วยเหตุนี้การฟังอย่างนี้ ค่อยคลายความอยาก หรือไม่ เสียเวลาอยาก เสียเวลาจริงๆ แต่ขณะที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จะทำให้สามารถวันหนึ่งก็ประจักษ์ความจริงได้ เพราะความรู้เพิ่มขึ้น

    หนทางเดียว คือ มีความเข้าใจถูกเมื่อไร เมื่อนั้นก็ค่อยๆ คลายความอยาก พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงเพื่อละความอยาก ถ้าฟังจริงๆ เข้าใจจริงๆ ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะอยาก เพราะอยากก็ปิดกั้น ไม่ได้เข้าใจ ขณะใดที่เป็นความติดข้อง ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา

    ผู้ฟัง ขอทบทวนว่า ศึกษาถูก เข้าใจถูก หรือเปล่า ไม่มั่นใจ คือ เมื่อมาศึกษาแล้ว ก็จะพบว่าเริ่มเข้าใจ ทุกอย่างเป็นธรรม แล้วก็ลงรายละเอียด เป็นรูปเป็นนาม รูปก็ไม่รู้อะไร นามก็เป็นสภาพรู้ มีจิตกับเจตสิก และจะรู้รายละเอียดของแต่ละอย่างว่า จิตมี ๘๙ ประเภท เจตสิก ๕๒ และต้องรู้กิจ รู้ชาติ รู้วิถีจิต เมื่อศึกษาไปแล้ว หรือจะแสดงโดยนัยของธาตุ ปฏิจจสมุปบาท อายตนะ พอเราเริ่มศึกษา พอรู้บ้างจริงๆ แล้ว ก็พบว่าที่สุดก็คือการอธิบายสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่การที่จะเข้าใจที่พูดมา คือ ชาติ จิต กิจ และอีกมากมาย เมื่อเราศึกษาแต่ละอย่างแล้ว และทุกอย่างต้องเกิดเพราะปัจจัย และเราศึกษาปัจจัย ๒๔ ก็จะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ เพื่อไม่ให้เป็นตำรา หรือหนังสือ หรือคำพูด เราต้องศึกษาแบบบูรณาการ เช่น เมื่อพูดถึงจิตเห็น เราต้องรู้ว่าเป็นชาติวิบาก และมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ชนิด อย่างนี้ทำให้เราเข้าใจ หรือเปล่า ไม่ค่อยแน่ใจว่าศึกษาถูก หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ และแบบบูรณาการเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง บูรณาการก็หมายถึงว่า ถ้าเราไปศึกษาโดดๆ ว่า อายตนะก็แบบนี้ ถ้าเป็นปฏิจจสมุปปาท ก็เป็นเหตุปัจจัยตรงนี้มี ก็มีตรงนี้ ถ้าตรงนี้ไม่มี ก็ทำให้ตรงนี้ไม่มี แต่ไม่เข้าใจว่า มันคือรูป และจิตเจตสิกที่กำลังเกิด และกำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ กำลังวางรูปแบบที่จะศึกษา หรือเปล่าว่า ต้องศึกษาแบบนี้แบบนั้น

    ผู้ฟัง คือไม่ทราบว่า ทำอย่างไรถึงทำให้สิ่งที่เราศึกษามากมาย

    ท่านอาจารย์ ทำอย่างไร จะทำไปทำไม

    ผู้ฟัง ก็ฟังให้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ก็ฟังให้เข้าใจ

    ผู้ฟัง แต่ฟังเรื่องเยอะแยะมากๆ เลย ภาษาบาลี วิถีจิต ปัจจัย ๒๔ เช่น โลภมูลจิตก็มีปัจจัยหมดเลย ยกเว้นวิปากปัจจัยกับปุเรชาตปัจจัย นอกนั้นก็มีปัจจัยทุกอย่างที่เกิดด้วย ก็ทำให้เข้าใจว่า จิตแต่ละประเภทก็มีปัจจัยมากมายจริงๆ ซึ่งเมื่อเราเข้าใจอย่างนี้มากๆ ก็ทำให้เห็นความเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน

    ท่านอาจารย์ นี่คือจุดประสงค์ที่จะให้เข้าใจจริงๆ ว่า เป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง แล้วก็เป็นจิตนิยาม คือ ต้องเป็นอย่างนี้ ความจริงเป็นอย่างนี้ หน้าที่คือเข้าไปรู้ ไปเข้าใจให้ถูก

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ใช่หน้าที่ของใคร ถ้าปัญญาไม่เกิด ใครก็ไปทำหน้าที่ของปัญญาไม่ได้

    ผู้ฟัง สรุปแล้ว ไม่มีรูปแบบ ไม่มีวิธีการ ฟังให้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบรูปแบบมาจากไหน ถ้าไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง คือเหมือนกับเรียนแล้วไม่โดดๆ แต่เป็นความเชื่อมโยง และเป็นเรื่องเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ นั่นก็คือคิดหมดเลย ใช่ หรือไม่ และเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ตามที่ได้ยินได้ฟังมาทั้งหมด หรือเปล่า

    ผู้ฟัง คิดว่าเข้าใจขั้นฟังบ้างตามสมควร และก็รู้ด้วยว่า เข้าใจขั้นฟังก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ต้องให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ “ต้องให้” ยังไม่มีปัจจัย

    ผู้ฟัง ก็ต้องอบรม

    ท่านอาจารย์ เข้าใจไม่พอ ก็ต้องเข้าใจอีก จนกว่าจะค่อยๆ รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ และก็จะตรงกับทุกคำที่ได้ทรงแสดงไว้ ตามลำดับขั้นของความรู้ความเข้าใจ

    ผู้ฟัง บางทีคำที่ว่า ฟังให้เข้าใจ แล้วจะเป็นเหตุปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด บางครั้งก็ไม่แน่ใจว่า ท่านอาจารย์กับผู้ศึกษาเข้าใจคำว่า “ฟังเข้าใจ” ตรงกัน หรือเปล่า เช่นตัวหนูเองคิดว่าเข้าใจขั้นฟัง ก็ไม่ทราบว่า มากพอ หรือยัง แต่ก็พยายามฟังให้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ “มากพอ” หมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ต้องเข้าใจสัจจญาณมากๆ ว่า

    ท่านอาจารย์ สัจจญาณคืออะไร

    ผู้ฟัง สัจจญาณก็คือปัญญาที่รู้ความจริงตามความเป็นจริงในขั้นปริยัติ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้รู้แค่ไหนเห็น หรือไม่ ยังไม่ต้องใช้ชื่อ “สัจจญาณ” ก็ได้ แต่รู้แค่ไหน มั่นคงแค่ไหน หรือหาบูรณาการ รูปแบบ

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่ถึงขั้นแทรกไปในอวัยวะ จรดกระดูก

    ท่านอาจารย์ โดยมากก็มีตัวตนเข้ามาจัดการให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ต้องไม่ลืม ฟังเพื่อเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วไปพูดถึงสติปัฏฐาน แต่ไม่พูดถึงธรรมที่กำลังปรากฏให้เข้าใจขึ้น และสติจะรู้ตรงลักษณะด้วยความเข้าใจถูกต้องได้อย่างไร

    ผู้ฟัง โดยมากที่มาเรียนก็มีนัยให้มาเรียนมากมาย เช่น ปัจจัย อายตนะ ธาตุ ขันธ์ ซึ่งถ้าเราไปเข้าใจโดดๆ อย่างนั้น ไม่เข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั่นเอง ก็คือรูปนามที่กำลังปรากฏตามเหตุปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้ว่า ธรรม คือ สิ่งที่กำลังปรากฏ ฟังเพื่อเข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ไม่มีประโยชน์เลย เป็นชื่อหมด ตัวจริงหาไม่เจอ ไม่รู้ว่าขณะนี้เองที่กำลังเป็นธรรม ที่ฟังแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เข้าใจถูกต้องด้วย

    ผู้ฟัง ยกตัวอย่างเช่นท่านอาจารย์อธิบายขันธ์ ก็ไม่พ้นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเดิมเราอาจจะเรียนขันธ์ ๕ ขันธ์ แต่ก็ไม่สามารถเข้าใจได้ว่า ก็คือลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ กำลังได้ยินชื่อ “ขันธ์” ถูกต้อง หรือไม่ แล้วขันธ์จริงๆ อยู่ที่ไหน ตอบได้ กำลังปรากฏ แต่ถ้าสติไม่เกิดรู้ลักษณะนั้น จะกล่าวได้ หรือไม่ว่า รู้จักขันธ์

    ผู้ฟัง ยังกล่าวไม่ได้ ก็รู้ขั้นฟัง

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดก็เพื่อที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มี ฟังเพื่อความเข้าใจนั้น จะเป็นปัจจัยให้มีการระลึกได้ ที่ใช้คำว่า “ระลึกได้” ไม่ใช่ระลึกเรื่องราว แต่ระลึกเพราะรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม แล้วเวลาที่เกิดการระลึก จะระลึกตรงลักษณะของธรรมแต่ละลักษณะ เพราะว่าตลอดชีวิตเป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งหมด มีจริงๆ แต่มีชั่วขณะที่ปรากฏ ลองคิดดู เล็กน้อยแค่ไหน ปรากฏแล้วดับไป ไม่กลับมาอีกเลย และรู้อย่างนี้ หรือเปล่า ถ้าไม่รู้ก็ติดข้อง เพราะคิดว่าสิ่งนั้นเที่ยง ไม่ได้ดับไปเลย แม้แต่แข็งมี กำลังปรากฏ ฟัง มีความเข้าใจ สติกำลังรู้ตรงแข็ง หรือเปล่า ถ้ารู้ก็เป็นปกติธรรมดา ไม่ต้องตื่นเต้น แต่รู้ว่า แม้แข็งปรากฏ ปัญญายังไม่พอที่จะประจักษ์การเกิดดับของแข็ง แต่จากการฟังรู้ว่า แข็งต้องเกิดแล้วก็ดับ แต่ขณะที่แข็งปรากฏ แล้วก็มีปัจจัยที่จะมีสติเกิดรู้ลักษณะของแข็ง ก็ยังไม่ประจักษ์การเกิดดับ

    ก็แสดงว่า ธรรมที่มีเป็นจริง สามารถที่จะรู้ได้ด้วยปัญญาที่อบรมเจริญแล้ว จนถึงระดับที่สามารถแทงตลอดความจริงนั้นๆ ได้ ไม่ใช่ตัวเราจะไปพยายามทำอย่างอื่นเลย มีธรรมตลอดเวลา ก็เป็นเครื่องให้เรารู้ว่า การฟังธรรม ก็คือฟังให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นธรรม จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง ซึ่งพระพุทธองค์จะตรัสในนัยไหน ก็คือให้เราเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ไม่อย่างนั้นจะชื่อว่า “เข้าใจ” ได้อย่างไร ปรากฏก็ไม่เข้าใจ แล้วไปนั่งฟังอะไรก็ไม่รู้เรื่องสิ่งที่มีจริงๆ เป็นอย่างที่เข้าใจ ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ก็ไม่ตรง

    ผู้ฟัง คือแต่ก่อนเข้าใจว่า จิตคิด คือ ชวนกิจ ใช่ หรือไม่

    อ.วิชัย โดยสภาพของจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งซึ่งอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นจิตขณะไหนก็ตาม แต่เมื่อจิตเกิดขึ้นทีละขณะ ก็มีกิจของเขา แต่โดยสภาพของจิตเอง ทุกขณะเป็นสภาพที่รู้แจ้งซึ่งอารมณ์

    ท่านอาจารย์ อย่างคุณแสงธรรมคิด มี หรือไม่วันหนึ่งๆ

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ก่อนคิดมีจิตที่ไม่ได้คิด หรือเปล่า

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ก่อนจะคิดก็ต้องมีจิตซึ่งเกิดก่อนที่ไม่ได้คิด ก่อนจิตคิดจะเกิด จิตที่เกิดก่อน คือจิตอะไร ที่ยังไม่ได้คิด

    ผู้ฟัง ภวังค์

    ท่านอาจารย์ ภวังค์ ค่อยๆ คิด ค่อยๆ เข้าใจว่า ขณะใดก็ตามที่ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ได้มีการคิดนึกเลย ก็ยังมีจิตซึ่งเกิดดับดำรงภพชาติ คือ ทำภวังคกิจ เพราะว่าจิตทุกขณะจะต้องเกิดขึ้นทำกิจหนึ่งกิจใด ขณะนี้มีปฏิสนธิกิจ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มีแน่ เพราะเหตุว่าปฏิสนธิกิจใน ๑ ชาติ จะเกิดขึ้นเพียง ๑ ขณะ คือ ขณะแรกซึ่งเกิดสืบต่อจุติจิตของชาติก่อน ขณะนี้มีจุติจิต หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี ยังไม่ถึงเวลา เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่จุติจิต ระหว่างที่ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีจิตไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ จิตนั้นทำกิจอะไร

    ผู้ฟัง ทำภวังคกิจ

    ท่านอาจารย์ ทำภวังคกิจ เรียกว่า “ภวังคจิต” ก็ได้ เพราะแต่ละคนก็ต้องมีปฏิสนธิจิต ซึ่งกรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับไป แต่กรรมไม่ได้ทำเพียงแค่ให้ปฏิสนธิจิตเกิดขณะเดียว ยังทำให้วิบากจิตประเภทเดียวกัน เป็นผลของกรรมเดียวกันกับที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด เกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ ระหว่างที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ได้คิดนึก ก่อนคิดนึกก็ต้องมีจิตที่เป็นภวังค์เกิดก่อน แล้วจึงมีจิตที่คิด แต่โดยมาก เราจะไม่รู้ความละเอียดของความเป็นปัจจัยว่า ก่อนที่แต่ละขณะที่คิดเป็นกุศล อกุศล ต้องมีจิตที่นึกถึงสิ่งที่คิดก่อน เร็วมากเลย เราอาจจะไม่รู้เลยว่า ขณะคิดเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นกุศลจิต และอกุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใดที่คิด ทุกครั้งที่คิด จะต้องเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต แต่ก่อนนั้นอีก ก็จะต้องมีวิถีจิตแรก กุศลจิต และอกุศลจิตเป็นไปในอะไร เป็นไปในเรื่องที่คิด ก่อนที่จะเป็นกุศล และอกุศลในเรื่องที่คิด หลังจากที่ภวังคจิตดับไปแล้ว ก็จะมีวิถีจิตแรกที่จะทำให้เกิดการคิด วิถีจิตแรกนั้นก็คือ อาวัชชนจิต ที่ใช้คำว่า “มโนทวาราวัชชนจิต” เป็นจิตซึ่งไม่ใช่ภวังค์ ภวังค์ที่เกิดก่อน เป็นมโนทวาร เพราะว่าถ้าภวังค์ที่เกิดไม่ดับ จนกระทั่งภวังค์ขณะสุดท้าย คือ ภวังคุปัจเฉทะ วิถีจิตไม่มี คิดไม่ได้ อย่างเวลาที่กำลังหลับสนิท ก็เป็นภวังค์สืบต่อไปเรื่อยๆ แต่พอเกิดคิดเมื่อไร ภวังค์ที่เกิดก่อนวิถีจิตเป็นมโนทวาร

    มโนทวาร ก็คือ ภวังคุปัจเฉทะ ต่อไปนี้เวลาพูดถึงทวาร ๖ คือ จักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร และมโนทวาร ก็จะรู้ได้ว่า รูป ๕ รูปซึ่งสามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ให้ได้ยิน เป็นปสาทรูป ต่างกับรูปอื่น เพราะว่าเป็นรูปพิเศษที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แล้วจิตเห็น จิตได้ยิน จึงเกิดได้

    ในทวาร ๖ ก็จะเป็นรูป ๕ ทวาร คือ จักขุปสาทเป็นจักขุทวาร โสตปสาทเป็นโสตทวาร ฆานปสาทเป็นฆานทวาร ชิวหาปสาทเป็นชิวหาทวาร กายปสาทเป็นกายทวาร และภวังคุปัจเฉทะเป็นมโนทวาร หมายถึงจิตที่เกิดก่อนวิถีจิตทางใจ

    อ.อรรณพ ที่เราศึกษาพื้นฐานพระอภิธรรม ก็ศึกษาเรื่องชาติของจิตบ้าง เรื่องกิจของจิตบ้าง เรื่องวิถีจิตบ้าง บางท่านคิดว่าละเอียดมากมาย แต่จริงๆ แล้วน้อยมากถ้าเทียบกับพระธรรมที่พระองค์ท่านทรงแสดงไว้ทั้งหมด ที่เราศึกษาอย่างนี้ วัตถุประสงค์คือเป็นไปเพื่อการเข้าใจถูก แล้วก็รู้ว่า ไม่มีขณะใดเลยที่เป็นตัวเรา เพราะเป็นจิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นทำกิจ ทำหน้าที่ ทั้งขณะที่หลับ คือ ไม่ใช่วิถีจิต คือ ขณะปฏิสนธิจิต ขณะภวังคจิต และขณะจุติ ซึ่งเป็นจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต ก็ไม่ใช่เรา และแม้ว่าจะเป็นวิถีจิตทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นจิตแต่ละอย่างเกิดขึ้นทำกิจแต่ละประเภท แต่ละลักษณะไป ก็ไม่มีขณะใดที่เป็นเรา

    จึงอยากให้พิจารณาว่า ที่เราสนทนาขณะนี้เป็นประโยชน์แม้ในเรื่องวิถีจิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ถ้าพระองค์ท่านไม่ทรงแสดง ไม่มีทางจะรู้ เพราะขณะนี้เห็นก็เป็นคนเสียแล้ว แต่พระองค์ท่านทรงแสดงว่า ก่อนการเห็น ก็ต้องมีจิตอะไรเกิดขึ้นบ้าง อย่างไร ทำหน้าที่อย่างไร ก็ประกอบให้เรามีความมั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรมแต่ละอย่าง ไม่ใช่เราเลย

    ผู้ฟัง อยากจะให้อาจารย์ขยายเพิ่มเติมว่า ขณะเห็น เห็นอย่างเดียว แต่ไปปรากฏทางมโนทวาร อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ให้ทราบว่า ต้องมีคิดแน่นอน แล้วแต่ว่าจะคิดตามสิ่งที่เห็น หรือไม่ได้คิดตามสิ่งที่เห็น เวลาที่มีเสียงปรากฏ แล้วก็คิดตามเสียงนั้น หรือว่าไม่ได้คิดตามเสียงนั้น ก็ต้องแยกว่าแต่ละทวารต่างกัน ทางตา มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางหูมีเสียงปรากฏ แต่ทางใจสามารถที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏสืบต่อทันที โดยที่เราไม่สามารถเห็นถึงความรวดเร็วได้ เช่น เมื่อมีสิ่งที่ปรากฏทางตา รู้ว่าเป็นอะไร ขณะที่รู้เพราะจำ และแม้ไม่เห็นอีก ก็ยังคิดถึงสิ่งนั้นได้ ก็แสดงให้เห็นว่า คิดต่อจากเห็น ต่อจากได้ยิน ต่อจากได้กลิ่น ต่อจากลิ้มรส ต่อจากการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    15 ม.ค. 2567