พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 359


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๕๙

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ อย่างที่เห็นขณะนี้ เราไม่คิดถึงรูปตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เพราะว่าตามความเป็นจริงไม่มีอะไรเหลือเลย รูปเกิดแล้วดับ มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ และ ๑๗ ขณะนี่ใครจะรู้ ระหว่างจิตเห็นกับจิตได้ยิน จิตเกิดดับเกิน ๑๗ ขณะ แล้วรูปที่เกิดแล้วดับ เมื่อจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ จะเหลืออยู่ที่ไหน

    รูปใดที่ไม่ปรากฏ รูปนั้นเกิดแล้วดับแล้ว ตามสมุฏฐาน เวลานี้เราก็จะไม่คิดถึงตัวตนที่เราเคยยึดถือร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า แต่เรากำลังจะพูดถึงธรรม คือ จิตเป็นจิต และในภูมิที่มีรูป ไม่มีจิตใดที่อาศัยรูปเกิด หรือว่าไม่ได้เกิดที่รูป จิตต้องเกิดที่รูปหนึ่งรูปใด เพราะฉะนั้นในบรรดารูปทั้งหมด เราจะไม่คิดถึงตัวทั้งตัวตลอด แต่คิดว่า เมื่อจิตต้องเกิดที่รูป ต้องมีรูปที่ตัว ซึ่งเป็นที่เกิดของจิต รูปที่เป็นที่เกิดของจิตไม่ใช่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เพราะเหตุว่าธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ไม่ว่ารูปใดๆ ทั้งสิ้นที่เป็นรูป ต้องเกิดร่วมกับมหาภูตรูป ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เช่นโสตปสาทรูปที่อยู่กลางหู ที่เราใช้คำสมมติ แล้วเป็นรูปที่สามารถกระทบเสียง ต้องกระทบตัว ใช่ หรือไม่ แต่ไม่ใช่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีรูปที่สามารถกระทบกับเสียงซึ่งเกิดดับอย่างเร็วมาก ทั้งเสียง และปสาทรูป

    การที่กรรมจะให้ผล จะเห็นความวิจิตรของกรรม สามารถทำให้จิตได้ยินเกิด เพราะว่ามีโสตปสาทรูปที่กระทบเฉพาะเสียง ซึ่งกรรมจะทำให้จิตนั้นเกิดขึ้นได้ยินเสียง ซึ่งมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ซึ่งดับไปอย่างเร็วมาก ใครก็บันดาล หรือเลือกให้ไม่ได้เลยว่า จะได้ยินเสียงอะไร แล้วแต่กรรมถึงกาลที่จะให้ผล เมื่อเสียงนั้นเกิดกระทบกับโสตปสาทรูป เป็นปัจจัยให้จิตได้ยินเกิด เพราะฉะนั้นจิตได้ยินเกิดที่โสตปสาทรูป

    ในบรรดาจิตทั้งหมด ในภูมิที่มีรูป จิต ๑๐ ประเภท คือ จักขุวิญญาณกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ เกิดที่จักขุปสาทรูป โสตวิญญาณ จิตที่กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้เอง ที่ไม่เคยรู้มาเลย เราคิดถึงตัวเราตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า แต่ให้คิดถึงรูปที่สามารถกระทบเสียง ขณะนี้กระทบแล้ว และจิตได้ยินเกิดได้ยินเสียงด้วย จิตได้ยินก็เกิดที่โสตปสาทรูป

    นี่คือการที่เราจะเข้าใจว่า ทั่วทั้งตัวเป็นที่เกิดของจิตอะไรบ้าง สำหรับหทยวัตถุ เว้นจิต ๑๐ ประเภทนี้ ไม่ว่าจะเป็นโลภมูลจิต โทสมูลจิต กุศลจิตใดๆ ทั้งสิ้น เกิดที่หทยรูป ไม่จำเป็นต้องคิดว่าอยู่ที่ไหนอย่างไร แต่ว่าเป็นรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ซึ่ง ณ ที่นั้นก็ต้องมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แต่ว่าธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่ใช่หทยรูป แต่หทยรูปก็ไม่ได้แยกจากธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แต่รูปที่เป็นที่เกิดของจิต ภาษาบาลีก็ใช้คำว่า “หทยรูป” เป็นหทยวัตถุ เป็นที่เกิดของจิต

    ผู้ฟัง คือดิฉันสงสัย เพราะไม่เคยได้ยินใครพูดถึงว่า หทยวัตถุ ทำให้เกิดจิตได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ทำให้เกิดจิต กรรมเป็นปัจจัยให้หทยรูปเกิดร่วมกับธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ซึ่งกรรมเป็นปัจจัยให้เกิด ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นมหาภูตรูป ๔ ซึ่งต้องมีรูปที่ไม่แยกกันเลยอีก ๔ รูปเกิดร่วมด้วย คือ สี กลิ่น รส โอชา นี่เป็นปกติของรูป ๘ รูป ซึ่งแยกกันไม่ได้เลย แต่เมื่อกรรมทำให้รูปใดเกิด ก็จะมีชีวิตินทรียรูป หรือจะเรียกสั้นๆ ว่า ชีวิตรูป ๑ รูปเกิดร่วมด้วย ทำให้รูปนั้นต่างจากรูปอื่น ซึ่งไม่ได้เกิดจากกรรม ซึ่งไม่ใช่รูปที่ทรงชีวิต หรือมีชีวิต อย่างต้นไม้ใบหญ้า ไม่มีชีวิตรูป ไม่มีชีวิตินทรียรูป เพราะเหตุว่ากรรมไม่ได้เป็นปัจจัยให้รูปนั้นเกิด แต่ที่ใดก็ตามซึ่งมีโสตปสาทรูป หรือจักขุปสาทรูปร่วมด้วยอีก ๑ กลุ่มของรูปนั้นก็เพิ่มเป็น ๑๐ รูป คือ นอกจากมหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ซึ่งใช้คำว่า อุปาทายรูป ๔ และมีชีวิตรูป หรือชีวิตินทรียรูป ๑ แล้วยังมีจักขุปสาทรูป ๑ ในกลุ่มนั้นที่เล็กที่สุด และจักขุปสาทรูปก็เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ ถ้าเป็นกลุ่มที่ไม่มีจักขุปสาทรูป ก็จะมีหทยรูปอีก ๑ รูป กับชีวิตินทรียรูปอีก ๑ รูป แต่ว่าจิตอื่นทั้งหมดจะเกิดที่หทยรูป

    ผู้ฟัง อย่างนั้นหทยรูปเกิดขึ้น และดับไป

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมด ไม่มีอะไรเที่ยงเลย และมีกรรมเป็นสมุฏฐาน ทำให้รูปนั้นเกิด

    ผู้ฟัง คือเดิมทียังเข้าใจว่า หทยรูปตั้งอยู่ไม่ได้ดับ และจิตวนเวียนเกิดขึ้นที่หทยรูป

    ท่านอาจารย์ การฟังธรรม ฟังแล้วก็เข้าใจว่า ที่เราเคยคิดเองไม่ใช่ธรรมที่เป็นจริง เพราะเหตุว่าใครจะคิดธรรมได้ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงตรัสรู้ความจริง

    ผู้ฟัง อย่างนั้นถ้าพิจารณาตามสิ่งที่เป็นจริง ก็ไม่มีอะไรเหลือเลย

    ท่านอาจารย์ ไม่เหลือเลย ทั้งนามธรรม และรูปธรรม ที่เกิดแล้วดับหมด อย่างรวดเร็วด้วย เพราะฉะนั้นเหลืออะไร นอกจากความคิด ความจำในนิมิต ในสิ่งที่ปรากฏ ทำให้เข้าใจว่า ยังมีอยู่ ตอนหลับสนิทมีอะไรเหลือ มีชื่อเหลือ หรือไม่ ชื่ออะไร มีทรัพย์สมบัติไหม มีญาติพี่น้องไหม ไม่มีเลยใช่ หรือไม่ ก่อนจะหลับมีเห็น มีได้ยิน มีคิดนึก มีความทรงจำ มีเรื่องราวต่างๆ ชั่วขณะที่จิตเกิดขึ้นแล้วก็คิด แล้วก็จำ แล้วก็ปรุงแต่งไปด้วยเจตสิกต่างๆ แต่ทุกขณะดับหมดอย่างเร็ว แล้วไม่กลับมาอีกเลย

    จึงมีขณะที่ไม่มีอะไรปรากฏเลย เมื่อไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้คิดนึก ก็ไม่มีอะไร ไม่มีแม้แต่เรา หรือชื่อของเรา หรือบ้านของเรา หรือสมบัติของเรา ขณะนั้นก็แสดงว่าก่อนจะถึงขณะนี้ต้องมีจิตเกิดก่อนแล้วดับ ทั้งวัน เกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไป สืบต่อ แล้วก็หมดไป ความจริงก็คือไม่มีอะไรเหลือ แล้วก็เกิดใหม่อีก ยึดติดอีก เข้าใจว่ามีอีก เข้าใจว่าเป็นเราอีก จนกว่าปัญญาจะเกิดขึ้นค่อยๆ เข้าใจถูกต้อง

    อ.วิชัย มีคำถามว่า ชื่อของจิต และชื่อของกิจ ที่มีชื่อ และกิจของจิตอย่างนั้น เพราะเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะอาการรู้อย่างนั้นๆ เป็นความเข้าใจถูก หรือไม่ ถ้ากล่าวถึงสภาพรู้ หรือธาตุรู้ จริงๆ แล้วไม่มีชื่อ เป็นสภาพธรรมอย่างนั้นๆ แต่ทรงแสดงเพื่อให้บุคคลที่ฟัง สามารถจะเข้าใจธรรมนั้นๆ เช่น ถ้ากล่าวถึงจิต ซึ่งเป็นธาตุรู้ทางตา ทรงแสดงว่า เป็นจักขุวิญญาณ วิญญาณ หมายถึง สภาพที่รู้แจ้ง จักขุ ก็คือตา คือ สภาพที่รู้แจ้งทางตา ก็คือจิตเห็น ก็คือจิตทำกิจเห็นนั่นเอง

    ถ้าเราสามารถฟัง และเข้าใจ เข้าถึงสภาพธรรมนั้นๆ แต่ที่ทรงแสดง คือบัญญัติตามที่ทรงตรัสรู้ ที่สามารถบัญญัติพยัญชนะของสภาพธรรมนั้นๆ

    ผู้ฟัง การเรียนกิจของจิต หรือวิถีจิต และไม่ใช่วิถีจิต จุดประสงค์ของการเรียนเหล่านี้ เพื่อให้เห็นว่า ธรรมที่เกิดต้องเกิดตามเหตุปัจจัย และเป็นอนัตตาอย่างไร ถ้าเราไปมัวจำว่า กิจ ๑๔ กิจ ถ้าพูดเป็นภาษาบาลีก็ยาก และวิถีจิตใหม่ๆ สัมปฏิจฉันนะ กว่าจะคุ้นคำนี้ก็หลายครั้งมาก เมื่อเราศึกษาสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็จะเห็นว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จริงๆ อันนี้เป็นการศึกษาที่ทำให้เข้าใจสภาพธรรม หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจสภาพธรรมแล้ว เวลาได้ยินชื่อ สามารถเข้าใจได้ หรือไม่ว่า หมายความถึงอะไร อย่าง “เห็น” ภาษาไทย ต้องมีสิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งกระทบกับตา ทีนี้ถ้าใช้ภาษาบาลี จักขุ ภาษาไทย ตาอยู่ตรงไหน มีตาขาว ตาดำ ก็ยังไม่ใช่จักขุปสาท ยังไม่ละเอียดพอ ที่จะรู้ว่า แท้ที่จริงแล้วรูปที่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ ไม่ใช่ตาทั้งหมด แต่เป็นเฉพาะจักขุปสาทรูปที่อยู่กลางตา ที่สามารถกระทบกับธาตุที่กระทบได้ คือ วัณณธาตุ

    การศึกษาทั้งหมด ถ้าเรามีความเข้าใจตัวธรรมเดี๋ยวนี้ แล้วเราได้ยินชื่อ ก็ไม่น่าสงสัย อย่างเวลานี้ทุกคนก็มีตา แล้วก็มีเห็น แล้วถ้าใช้คำว่า จักขุ ก็รู้ ถ้าใช้คำว่า “จักขุปสาท” คือ ไม่ใช่เอ่ยคำว่า “จักขุปสาท” โดยไม่รู้ว่า จักขุปสาทคืออะไร จักขุปสาทเป็นรูปที่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏขณะนี้ ซึ่งเป็นวัณณธาตุ แล้วจิตเห็นจึงกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ ถ้าจิตเห็นไม่เกิด สิ่งที่ปรากฏก็เกิดไม่ได้

    ก็แยกความละเอียด ตาทั้งหมดไม่ใช่จักขุปสาท แต่ว่ามีตาดำ ตาขาว และส่วนที่กระทบกับวัณณธาตุได้จริงๆ ก็คือ ปสาทรูป ซึ่งไม่มีใครมองเห็นเลย เห็นเมื่อไร เห็นเป็นเพียงสิ่งที่เป็นวัณณรูปเท่านั้น ในบรรดารูปทั้งหมด รูปเดียวที่ปรากฏให้เห็นได้ คือ วัณณรูป ไม่ว่าจะเห็นอะไรทั้งสิ้น และเรียกว่าอะไรที่เห็น แต่ความจริงสิ่งที่ถูกเห็น หรือสามารถจะเห็นได้ ก็เป็นรูปที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้น

    ถ้าเข้าใจความละเอียด จักขุ คือ ตาทั้งหมด ภาษาบาลี จะใช้คำว่า สสัมภารจักขุ ไม่จำชื่อนี้ได้ เอาเฉพาะภาษาไทย ตาทั้งหมด ที่เราเรียกว่า ตา แต่ตาทั้งหมดไม่ใช่จักขุปสาทรูป เฉพาะส่วนที่สามารถกระทบวัณณธาตุ ซึ่งเรามองไม่เห็นเลย แต่รู้ว่าต้องอยู่ที่ตา และอยู่กลางตาด้วย ไม่ใช่ริมตาซ้าย ขวา ข้างล่าง ข้างบน เพราะฉะนั้นไม่มีใครเห็นรูปนี้ แต่รูปนี้มีแน่นอน เพราะเหตุว่ามีธาตุที่ปรากฏ เพราะเห็นเกิดขึ้น แต่สิ่งนั้นต้องกระทบกับตา คือ จักขุปสาท

    ถ้าเรามีความละเอียด เราก็ไม่ยากที่จะจำ ตา คือ จักขุ ปสาท ก็รูป แต่เป็นรูปที่กระทบกับสีสันวัณณะที่ปรากฏ และรูปนี้ก็อยู่ที่กลางตาแต่มองไม่เห็น เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่รู้ว่า จักขุ หมายถึงอะไร จักขุปสาทเป็นรูปเฉพาะ พิเศษอย่างไร ก็ไม่ยาก ไม่ใช่ หรือ ภาษาไทยเราก็ใช้คำว่า ประสาท กันบ่อยๆ แต่ไม่รู้ว่าจะเข้าใจคำนั้นตามวิชาไหน แต่ตามความเป็นจริงก็เป็นรูปที่เป็นปสาทรูป เป็นรูปพิเศษ ไม่ใช่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แต่จะปราศจากธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่ได้ แต่รูปนั้นถ้าเป็นจักขุปสาท ก็กระทบเฉพาะวัณณธาตุ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ถ้าเป็นโสตปสาท ไม่ใช่จักขุปสาทเลย โสตปสาทกระทบกับวัณณธาตุไม่ได้ แต่กระทบกับสัททธาตุ คือ เสียง ได้ยินคำว่า “เสียง” ภาษาไทย ภาษาบาลีก็คล้ายๆ กัน ไม่ใช่เสียง แต่ใช้คำว่า “สัทท”

    ทีละคำ สองคำ เราก็จำไปเองได้ ไม่อยากจะจำ ฟังบ่อยๆ ก็จำไปเอง ไม่ต้องตั้งใจจะจำ แต่พอฟังใครเขาพูด เราก็เคยได้ยินคำนี้ อย่างปสาทรูปก็เคยได้ยิน แต่ได้ยินแล้วผ่านไป จะไม่ทำให้เข้าใจธรรม แต่ได้ยินแล้วเข้าใจ และรู้ความเป็นจริงว่า เป็นรูปที่ต่างจากรูปอื่นอย่างไร ก็จะทำให้ไม่คิดว่าภาษาบาลียากเกินไป เพราะว่าเราไม่ได้ไปเรียนแบบไวยากรณ์ จะต้องรู้ลึกซึ้ง หรือสามารถแปลได้ แต่เมื่อได้ยินภาษาหนึ่ง แล้วเข้าใจเพียงความจริง หรือธาตุ หรือสภาพธรรมนั้นก็พอที่จะเข้าใจธรรมนั้นได้

    จิต วิญญาณ มโน มนัส หทย ภาษาไทยก็ใช้ออกบ่อยไป เพียงแต่ต้องเข้าใจความหมายให้ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าอาศัยคำ แล้วเข้าใจผิด มาคิดเอาเอง อยู่ที่ความเข้าใจ ที่สับสนเพราะไม่เข้าใจ แต่ชื่อไม่ได้มีความยากอะไรเลย ชื่อคนสมัยนี้ เอาอะไรมารวมกับอะไร แล้วเป็นชื่อยาวๆ จำได้ไหม คนนี้ชื่ออะไร ไม่เคยได้ยินเลย ชื่อใหม่ๆ ทำไมจำได้ เรียกเขาถูก

    ผู้ฟัง ชื่อยาว “ปัญจทวาราวัชชนจิต”

    ท่านอาจารย์ “ปัญจทวาร” ยาก หรือ อาวัชชนะ เท่านั้นเอง รวมแล้วก็เป็น ปัญจทวาราวัชชนะ แค่นี้บอกยากมาก จำไม่ได้ แต่ชื่ออื่นที่ไม่มีความหมายที่จะส่องไปถึงลักษณะของสภาพธรรม จำได้

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วคือ เหมือนกับเป็นอุปสรรค แล้วทำอย่างไรให้ง่ายขึ้นได้ หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ คิดถึงภาษา แล้วก็เข้าใจภาษา แล้วก็ไม่เข้าใจธรรม กับเข้าใจธรรม ไม่ว่าในภาษาอะไร แล้วแต่ว่าคนฟังจะเข้าใจได้ในภาษาไหน อย่างนั้นจะเป็นประโยชน์กว่า หรือไม่ ไม่มีอุปสรรคอะไรเลย เพราะว่าธรรมจริงๆ มีจริงๆ ใครจะเข้าใจธรรมนั้นโดยภาษาอะไรก็ได้ แต่ทิ้งภาษาบาลีไม่ได้เลย เพราะจะคลาดเคลื่อน หรือจะผิดไปตามภาษาต่างๆ

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วเวลาเรียนก็ไม่สนใจภาษาบาลีมาก และไม่ชอบพูดด้วยซ้ำ อย่างคนพูด “โสตวิญญาณ” ก็จะบอกว่า “จิตได้ยิน” ก็อันเดียวกัน คือทราบว่า โสตวิญญาณ คือ จิตได้ยิน แต่ก็จะพูด จิตได้ยิน ทำให้ตัวเองเข้าใจง่ายกว่า และไม่ต้องไปนึกว่า จิตได้ยิน คือ โสตวิญญาณ

    ท่านอาจารย์ แต่เวลาพูดโสตวิญญาณ คุณอรวรรณก็เข้าใจ

    ผู้ฟัง คือเข้าใจว่าหมายถึงจิตได้ยิน แต่ “ปัญจทวาราวัชชนจิต” ไม่มีชื่ออื่น เราก็ต้องเรียกว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต

    ท่านอาจารย์ จะใช้คำไหนนอกจากนี้ ลองคิดดู ทวาร + ปัญจ + อาวัชชนะ

    ผู้ฟัง สรุปว่าฟังให้เข้าใจ บ่อยๆ เนืองๆ ก็จำได้ไปเอง

    ผู้ฟัง จิตเห็น และสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่เมื่อเห็น ก็จะเห็นเป็นสิ่งของกับสัตว์บุคคลตัวตน แม้ว่าจะศึกษาธรรม แล้วก็เข้าใจว่า จิตเห็นมีจริง กับสิ่งที่ปรากฏทางตามีจริง ก็เป็นแค่ได้ยินได้ฟัง แต่ในชีวิตประจำวัน สภาพที่เห็นจริงๆ ก็คือสิ่งของ และสัตว์ บุคคล ตัวตน

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร ทราบ หรือไม่ ทำไมเป็นอย่างนี้ แม้จะได้ยินได้ฟังว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เห็นทีไรก็เป็นคนนั้นคนนี้ เพราะอะไรทราบ หรือไม่

    ผู้ฟัง เพราะความไม่รู้

    ท่านอาจารย์ และคุ้นเคยกับการที่จะไม่เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่คุ้นเคยเลยกับการเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ตามความเป็นจริง การฟังไม่พอ แม้ว่าเริ่มเข้าใจบ้าง เหมือนกับวันหนึ่งๆ ที่เราคิด เราจะคิดเรื่องที่เราคุ้นเคยทั้งนั้นเลย ถ้าใครเป็นช่างไม้ ก็จะคิดเรื่องช่างไม้ ใครเป็นนักธุรกิจ ก็จะคิดเรื่องราวของธุรกิจนั้น แต่ว่าตามความเป็นจริงเราสนใจ หรือเราสะสมมาที่จะเป็นอย่างไร ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้จิตน้อมไปที่จะคิดอย่างนั้น การฟัง แล้วก็ฟังอีก แล้วก็ฟังบ่อยๆ จนกระทั่งไม่ลืม แม้ในขณะที่กำลังฟังเดี๋ยวนี้ มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่มีตัวตนไปบอกว่า ไม่ให้เห็นเป็นคน นั่นผิด แต่สิ่งที่ปรากฏมีจริง และการที่ยังเข้าใจว่า สิ่งนั้นเป็นอะไรก็มี แต่ไม่ใช่พร้อมกัน ไม่ใช่ในขณะเดียวกัน

    การศึกษาธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียด ที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริง มิฉะนั้นจะชื่อว่า ฟังธรรม หรือฟังความจริง หรือเปล่า ถ้ายังคงเข้าใจผิด หรือว่าไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังให้ถูกต้องว่า ทางตา ขณะนี้มีเห็น เห็นอะไร อะไรที่สามารถปรากฏให้เห็นได้ มีจริงๆ กำลังปรากฏ แต่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจว่า เป็นแต่เพียงธาตุ หรือธรรมซึ่งปรากฏแล้วหมดไปด้วย ไม่เหลือเลย ไม่มีอะไรที่เหลือเลย ขณะที่ได้ยิน สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาไม่เหลือ แม้แต่ความคิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะที่กำลังได้ยินก็ไม่มี

    นี่คือการที่จะรู้ว่า ที่เราเคยคิดว่า ชีวิตยั่งยืน และเป็นเรา แท้ที่จริงก็เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดแล้วดับอย่างรวดเร็ว สืบต่อ และสิ่งที่เกิดแล้วดับแล้ว ก็ไม่ได้กลับมาอีกเลย

    นี่คือความจริง เมื่อไรรู้ความจริงอย่างนี้ จะกล่าวว่าเป็นเท็จได้ หรือไม่ และเป็นสิ่งที่ควรรู้ไหม มีประโยชน์ หรือเปล่าที่จะรู้ความจริง

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามเรื่องอารมณ์ของจิต คือ จิต ๑ ขณะเกิดขึ้นก็ต้องรู้อารมณ์ จิตขณะต่อไปที่เกิดต่อ จะต้องมีอารมณ์เดียวกับจิตขณะที่เพิ่งดับไป เป็นไปได้ หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ก็ถามกว้าง แต่จะต้องรู้ว่า ขณะนั้นกล่าวถึงจิตอะไร ขณะไหน เช่น ถ้ากล่าวถึงปฏิสนธิจิต เกิดแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไป ซึ่งเป็นผลของกรรมเดียวกัน เป็นวิบากจิตเกิดสืบต่อทำภวังคกิจ มีอารมณ์เดียวกัน แต่เวลาที่ภวังคจิตดับหมดแล้ว ภวังคุปัจเฉทะดับแล้ว จิตซึ่งเกิดต่อ ไม่ได้มีอารมณ์เดียวกับภวังคุปัจเฉทะ ซึ่งเป็นภวังค์สุดท้ายของกระแสภวังค์ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมต้องละเอียด แล้วต้องรู้ว่า ที่ถามนี่หมายความถึงขณะไหน จิตประเภทไหน ถ้าตอบไปก็ไม่ตรง ใช่ หรือไม่ จะตอบว่ามีเหมือนกัน หรือไม่เหมือนกันก็ไม่ได้ แต่ต้องรู้ว่า ถ้าเหมือนกัน คือ ขณะที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดสืบต่อมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต และภวังค์ทุกขณะก็มีอารมณ์เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นขณะไหนทั้งสิ้น ปฐมภวังค์ ภวังค์แรก ซึ่งเกิดสืบต่อจากปฏิสนธิ หรือว่าภวังคุปัจเฉทะ กระแสภวังค์ขณะสุดท้าย ก็มีอารมณ์ของภวังค์ แต่จิตที่เกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะ ไม่ได้มีอารมณ์เดียวกับภวังคุปัจเฉทะ เพราะฉะนั้นคำตอบจะรวมๆ หรือปนๆ กันไม่ได้ ต้องชัดเจน

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงเรื่องอารมณ์ของปฏิสนธิ และภวังค์ ซึ่งก็เป็นอารมณ์ก่อนจุติจิต ของชาติที่แล้ว ซึ่งก็มีอารมณ์เดียวกัน คือ ขณะปฏิสนธิจิตมีอารมณ์ก่อนจุติจิตของชาติที่แล้ว ภวังคจิตที่เกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิตก็มีอารมณ์เดียวกัน แต่ขณะที่เป็นวิถีจิตเกิดขึ้น วาระเช่นทางปัญจทวาร หรือทางมโนทวารก็ตาม ในวาระหนึ่งๆ ซึ่งวิถีจิตเกิดขึ้นเป็นไปในอารมณ์นั้น ตลอดวิถีจิตที่เกิดขึ้นมีอารมณ์เดียวกัน เพราะเหตุว่าอารมณ์มี ๖ อย่าง ก็คือ รูปารมณ์ ๑ สัททารมณ์ ๑ คันธารมณ์ ๑ รสารมณ์ ๑ โผฏฐัพพารมณ์ ๑ และธัมมารมณ์ ๑ ขณะใดก็ตามที่วิถีจิตเกิดขึ้นทางจักขุทวาร ขณะนั้นตลอดทั้งวิถีจิตที่เกิดขึ้นต้องมีอารมณ์เดียวกันทั้งหมด ก็คือมีรูปารมณ์เป็นอารมณ์

    ทางโสตทวาร ทางฆานทวาร ทางชิวหาทวาร ทางกายทวาร ซึ่งก็มีอารมณ์ ทางทวารนั้นๆ ส่วนธัมมารมณ์ซึ่งเป็นอารมณ์รู้ได้ทางใจเท่านั้น ขณะที่มโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางมโนทวาร ชวนจิตที่เกิดสืบต่อ และตทาลัมพนจิตที่เกิดสืบต่อนั้น ก็มีอารมณ์เดียวกัน คือ วิถีจิตทางมโนทวารก็มีอารมณ์เดียวกัน แล้วแต่ว่าจะมี รูปารมณ์เป็นอารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ หรือว่ามี ธัมมารมณ์เป็นอารมณ์ เพราะเหตุว่าวิถีจิตทางมโนทวารรู้ได้ทั้ง ๖ อารมณ์

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นหมายความว่า ในแต่ละวาระของวิถีจิต ก็จะมีอารมณ์เดียวกันตลอด และถ้าเป็นธัมมารมณ์ก็จะมี ๖ อย่าง

    อ.วิชัย ธัมมารมณ์ก็คืออารมณ์ที่รู้ได้เฉพาะทางใจทางเดียว ก็มีจิต เจตสิก ปสาทรูป สุขุมรูป นิพพาน และบัญญัติ ธรรมเหล่านี้รู้ได้เฉพาะทางใจ ซึ่งทางปัญจทวารที่รู้ได้ทางมโนทวารด้วย ก็ไม่นับเป็นธัมมารมณ์

    รูปารมณ์ก็ต้องเป็นรูปารมณ์ แม้จะรู้ได้ ๒ ทวาร ก็ต้องเป็นรูปารมณ์อย่างเดียว จะเปลี่ยนอารมณ์นั้นไม่ได้ เพราะเหตุว่าสิ่งที่เป็นรูป ที่เป็นอารมณ์ รูปที่เป็นอารมณ์ คือ วัณณรูป สามารถรู้ได้ ๒ ทวาร อันนี้เรากล่าวถึงตัวที่เป็นอารมณ์ สิ่งที่จิตรู้ แต่สิ่งที่จิตรู้ สามารถรู้ได้ทางตาก็ได้ รู้ได้ทางใจก็ได้ สิ่งนั้นก็ต้องเป็นรูปารมณ์


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    15 ม.ค. 2567