พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 315


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๑๕

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้ว ใครไม่รู้ ถ้าลองฟังจริงๆ เรื่องตา ทุกคนก็มี เรื่องหู เรื่องจมูก เรื่องลิ้น เรื่องกาย เรื่องใจ เรื่องทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกคนก็มีแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่าไม่ใช่ธรรมที่สบาย ที่จะฟังเข้าใจ หมายความว่าอะไร ทั้งๆ ที่ธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ถูก ตรง และจริงด้วย เช่น ขณะนี้สภาพธรรมเกิดแล้วดับไป มีใครบ้างที่ไม่เห็นด้วย ถ้าเห็นด้วยแล้ว เป็นสิ่งที่เหมาะ ที่ควร ที่จะอบรม ที่จะเข้าใจขึ้น หรือเปล่า

    นี่ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า แม้แต่คำว่า “สัปปายะ” เราอ่านหลายๆ สูตร แม้แต่สัปปายสูตร พูดถึงการที่สภาพธรรมเปลี่ยนแปลง เกิดแล้วก็ดับไป เป็นความจริงที่ควรจะรู้ยิ่ง ไม่ใช่เราไปคิดถึงเรื่องอาหารสบาย ที่นอนสบาย อากาศสบาย หรืออะไรเท่านั้น แต่ว่าตามความเป็นจริงก็สบายสำหรับใคร และเหมาะสำหรับใคร บุคคลนั้นก็รู้เอง และไม่ใช่ว่าไม่ให้แก้ไข ไม่ใช่ว่าพอร้อนๆ ก็ทนร้อนไป ก็ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเหตุว่าถ้าคิดอย่างนั้น ไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “อนัตตา”

    อนัตตา คือ ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ตามการสะสม แม้แต่ขณะนี้ถ้าใครสักคนจะลุกขึ้นไปรับประทานน้ำ เป็นปกติหรือเปล่า สบายหรือเปล่า ทำได้ หรือเปล่า หรือว่าทำไม่ได้ นี่คือมีความเป็นตัวตนที่พยายามหากฎเกณฑ์ที่จะประพฤติปฏิบัติตาม แต่ไม่ได้เข้าใจว่า การฟังธัมมะจุดประสงค์อย่างเดียว เพื่อเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะพบข้อความใดก็ต้องสอดคล้องกันด้วย เพราะว่าสัปปายสูตรสำหรับท่านพระสารีบุตร หมายความถึงสภาพธรรมขณะนี้เกิดขึ้นแล้วดับไป สบายที่จะรู้ความจริงว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ถ้าไม่ใช่เรา สบายไหมคะ เดือดร้อนไหม ไม่เดือดร้อนเลย แต่เมื่อไม่ถึงปัญญาระดับนั้น ก็มีหนทางที่ว่า เมื่อสิ่งนี้เป็นความจริง และจะทำให้ปลดเปลื้องจากความทุกข์ทั้งปวง ก็เห็นประโยชน์ที่ว่า ถ้ายังไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ ก็ยังต้องเป็นทุกข์ต่อไป

    ด้วยเหตุนี้สำหรับแต่ละบุคคล ความสบายก็ต่างกัน แต่ไม่ใช่หมายความว่า เราเอาความสบายอย่างที่เราเข้าใจธรรมดาๆ ทางโลกมาใช้ในพระไตรปิฎก

    ผู้ฟัง ขอเล่าประสบการณ์นิดหนึ่ง คือ กระผมคุมสอบคัดเลือก ระหว่างเดือนเมษา อากาศก็ร้อนมาก ก็มีเพื่อนอาจารย์หญิงก็บ่นว่าร้อนๆ เขาถามผมว่า ร้อนไหม ผมบอกว่าร้อน ผมก็ไม่ใส่ใจว่าจะร้อน จะหนาวสักแค่ไหน อยู่ได้สบาย แต่ถ้าบอกว่าร้อนจังเลย เหมือนกับเราไปสนใจกับอากาศร้อน ทำให้ใจไม่สบาย ผมว่าอันนี้ก็เข้ากับสัปปายะได้เหมือนกันใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คุณวิจิตรมีเพื่อนฝูงมิตรสหายหลายคน แล้วเวลาที่มีความหวังดีต่อเขา ทำอะไรให้เขา อาจจะพูดอย่างที่คุณวิจิตรพูด ไปสนใจอะไรกับร้อน เดี๋ยวยิ่งร้อนใหญ่ ใช่ไหม ร้อนก็ร้อนไป คุณวิจิตรอาจจะว่าอย่างนั้น แต่เขาพร้อมจะเข้าใจ หรือเปล่า สิ่งที่คุณวิจิตรทำ สำหรับคุณวิจิตร แต่สำหรับเพื่อนคนนั้นเขาพร้อมไหมที่จะคล้อยตาม แต่ถึงแม้ว่าจะคล้อยตาม ก็ไม่ใช่ความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นการเป็นมิตรที่ดี ที่ประเสริฐ ก็คืออนุเคราะห์ สงเคราะห์ให้คนอื่นมีความเข้าใจถูก ไม่ใช่เพียงให้เขาพ้นทุกข์จากความร้อนเพียงชั่วคราว หรือเพียงแต่คิดอย่างนี้ก็แล้วกัน อย่างนั้นก็แล้วกัน แต่ก็ไม่ใช่การอบรมปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นก็มีหลายระดับ เราก็ไม่สามารถมีวิธีการ หรือมีกฎเกณฑ์สำหรับใครๆ ได้ นอกจากจะรู้จักคนที่เราพร้อมจะอนุเคราะห์ดีจริงๆ ถึงสามารถจะอนุเคราะห์ได้ ก็ไม่ใช่เรื่องเป็นกฎเกณฑ์ แต่ว่าการฟังธรรมทุกครั้ง ให้เห็นความละเอียด และให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ และสามารถทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเพิ่มขึ้น มิฉะนั้นไม่ชื่อว่า ฟังธรรม เป็นฟังเรื่องอื่น

    ผู้ฟัง เรียนถามคุณวิชัย ขันธ์ ๕ ที่เราศึกษามีประโยชน์อย่างไร และในชีวิตประจำวันปรากฏอยู่ทุกขณะ หรือเปล่า

    อ.วิชัย ขันธ์ ๕ มีจริง เพราะเหตุว่ามีลักษณะจริงๆ และสามารถเข้าใจได้ ขันธ์ หมายถึง กอง ขันธ์ ๕ หมายถึงธรรมที่สามารถแยกออกเป็น ๕ ส่วน ๕ กอง ก็มี ๑.รูปขันธ์ ๒.เวทนาขันธ์ ๓.สัญญาขันธ์ ๔.สังขารขันธ์ ๕.วิญญาณขันธ์ เพราะฉะนั้นการจะเข้าใจเรื่องของขันธ์ ไม่ใช่ขณะอื่น แต่ให้เข้าใจว่า ในส่วนของรูปขันธ์ รูปคืออะไร รูปหมายถึงเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่รู้อะไรเลย มีจริง แต่ไม่สามารถรู้อะไรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปหยาบละเอียด หรือรูปประเภทใดก็ตามที่จำแนกออกเป็นรูป ๒๘ ประเภท รูปทั้งหมดเป็นรูปขันธ์ เป็นกองของรูป เป็นส่วนอื่นไม่ได้ จะเป็นเวทนาขันธ์ไม่ได้ จะเป็นสัญญาขันธ์ไม่ได้ จะเป็นสังขารขันธ์ไม่ได้ จะเป็นวิญญาณขันธ์ไม่ได้ อันนี้เป็นส่วนของรูปขันธ์

    ดังนั้นในส่วนของรูปปรากฏ เพราะเหตุว่าโดยสภาพของรูปไม่สามารถรู้อะไรได้ แต่สามารถปรากฏแก่จิต คือ เป็นอารมณ์แก่จิตได้ จะสามารถเข้าใจรูปได้ ก็ต่อเมื่อขณะนั้นรูปปรากฏ อย่างเช่นขณะนี้กำลังเห็น สิ่งที่ปรากฏเป็นรูปๆ หนึ่ง ซึ่งสามารถปรากฏได้ทางตา เรียกว่าวัณณรูป วัณณรูปก็เป็นรูปขันธ์ หรือขณะได้ยิน เสียงปรากฏแก่จิตได้ยิน ขณะนั้นเสียงเป็นรูปขันธ์ไหม เป็น เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะกล่าวถึงรูปใดก็ตาม รูปทั้งหมดเป็นรูปขันธ์ เพราะเหตุว่าจะเป็นขันธ์อื่นไม่ได้ ต้องเป็นส่วนของรูปเท่านั้น แม้ในส่วนของวัณณรูปเองก็มีหลากหลาย สิ่งที่ปรากฏทางตา มีความแตกต่างของวัณณรูปต่างๆ สีเขียวบ้าง แดงบ้าง ก็เป็นส่วนของรูปขันธ์ทั้งหมด เพราะเป็นส่วนของรูปทั้งหมด

    ในส่วนของเวทนาขันธ์ ความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นโทมนัส เป็นโสมนัส หรือเป็นอุเบกขา หรือเวทนาที่เป็นกุศลก็มี เวทนาที่เป็นอกุศลก็มี เวทนาที่เป็นอัพยากตะก็มี ทั้งหมดก็เป็นเวทนาขันธ์ เพราะเป็นสภาพของความรู้สึกที่เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นโทมนัส โสมนัส หรือเป็นอุเบกขา ขณะใดก็ตามที่มีความรู้สึก ขณะนี้มีความรู้สึกไหม เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือโทมนัส โสมนัส หรืออุเบกขา เพราะว่าเวทนาเกิดกับจิตทุกประเภท เมื่อเกิดกับจิตทุกประเภท เกิดแล้วก็ต้องดับแล้วทันที ลักษณะของเวทนาที่เกิด ที่ปรากฏ คือ ปรากฏแก่จิต เพราะฉะนั้นจิตก็สามารถมีเวทนาเป็นอารมณ์ได้ จะเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือเป็นโทมนัส หรือเป็นโสมนัส หรือเป็นอุเบกขา ขณะนั้นไม่ว่าจะเป็นเวทนาขณะใดก็ตาม หรือโดยสภาพใดก็ตาม เวทนาก็เป็นเวทนาขันธ์

    ในส่วนของสัญญา ความจำ สัญญาเป็นกุศลก็มี สัญญาที่เป็นอกุศลก็มี สัญญาที่เป็นอัพยากตะก็มี สัญญาทั้งหมดล้วนเป็นสัญญาขันธ์

    ส่วนของสังขารขันธ์ สังขารขันธ์ก็มีหลากหลายของลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสังขารขันธ์ เพราะเป็นขันธ์ที่ปรุงแต่ง เช่น โลภะ ความติดข้องยินดีพอใจเป็นสังขารขันธ์ ลักษณะของสังขารขันธ์ก็มีทั้งหมด ๕๐ ประเภท อาจจะเข้าใจว่า เป็นเจตสิก ๕๐ เว้น สัญญา และเวทนา เพราะฉะนั้นโดยลักษณะของสภาพธรรมแตกต่างกันออกไปถึง ๕๐ ประเภท เป็นสังขารขันธ์ ก็มีหลากหลาย พอยกตัวอย่างได้อีกไหม ผัสสะเป็นสังขารขันธ์ เจตนาก็เป็นสังขารขันธ์ ขณะนี้มีสังขารขันธ์อะไรปรากฏบ้างไหม ขณะที่คิด ขณะที่ตรึก หรือจรดในอารมณ์ก็เป็นสังขารขันธ์ โดยลักษณะของสังขารขันธ์ก็สามารถจะเข้าใจได้ว่า ไม่ใช่รูปขันธ์ ไม่ใช่เวทนาขันธ์ ไม่ใช่สัญญาขันธ์ ไม่ใช่วิญญาณขันธ์ ทั้งหมดเป็นสังขารขันธ์

    ในส่วนของวิญญาณขันธ์ ก็เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ เช่น จักขุวิญญาณ คือ สภาพที่รู้แจ้งทางตา กำลังเห็นขณะนี้ก็เป็นวิญญาณขันธ์ เพราะเป็นสภาพที่รู้แจ้ง เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์

    นี่ก็เป็นส่วนของขันธ์ ๕ และขณะนี้ก็กำลังเป็นไป เพราะเหตุว่าถ้ากล่าวถึงขณะ ขณะนี้ก็โดยนัยที่ว่า มีขณะที่เกิดขึ้นก็มี ขณะที่ตั้งอยู่ก็มี ขณะที่ดับไปก็มี และสภาพธรรมที่เกิดขึ้นมีขณะ เพราะเหตุว่าขณะที่เกิด ขณะที่ตั้งอยู่ ขณะที่ดับ ขันธ์ ๕ มีขณะเกิด มีขณะตั้งอยู่ และมีขณะดับ เพราะฉะนั้นขณะนี้ก็มี เพราะเหตุว่าขันธ์ ๕ ขณะนี้ก็เกิด ตั้งอยู่ และก็ดับไป แต่ว่าการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ก็มีปัจจัยให้ขันธ์เกิดสืบต่อด้วยปัจจัยประการต่างๆ

    ผู้ฟัง จากที่ฟังมาแล้ว ก็พอจะเข้าใจได้ว่า ขันธ์ ๕ เกิดทุกขณะของจิต แต่ว่าไม่ได้เกิดทั้งหมด อย่างรูปขันธ์ก็เกิดทีละขณะ แต่อย่างไรก็ต้องมีรูปเกิด ใช่ไหม หมายความว่าเกิด การที่จะระลึกรู้ก็ขณะเดียว ในทำนองเดียวกันถ้าพูดถึงสังขารขันธ์ที่ว่ามี ๕๐ ก็ไม่ได้เกิด หมายความว่าใน ๑ ขณะจิตไม่ได้เกิดทั้ง ๕๐ สังขารขันธ์เลย เป็นเพราะอะไรคะตรงนี้

    อ.วิชัย เพราะเหตุว่าโดยสภาพของธรรม มีเหตุปัจจัยให้เกิด ยกตัวอย่างในส่วนของรูปจะมีสมุฏฐานให้รูปเกิดขึ้น คือ เกิดจากกรรมก็มี เกิดจากอุตุก็มี เกิดจากจิตก็มี เกิดจากอาหารก็มี ดังนั้นรูปที่จะเกิดต้องได้ปัจจัยเหล่านี้ ต้องได้สมุฏฐานเหล่านี้ รูปนั้นจึงสามารถเกิดขึ้นได้ แม้ในส่วนของนามธรรมก็ตาม นามธรรมที่เป็นจิต ที่เป็นวิญญาณขันธ์ ที่เป็นเวทนาขันธ์ ที่เป็นสัญญาขันธ์ เมื่อวิญญาณขันธ์เกิดขึ้น ต้องมีเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์เกิดร่วมด้วย สังขารขันธ์เป็นการปรุงแต่ง การเกิดขึ้นของนามธรรม คือ จิต บางขณะเป็นชาติกุศลก็มี บางขณะเป็นชาติอกุศลก็มี บางขณะเป็นชาติวิบาก ชาติกิริยา ซึ่งโดยสภาพของสังขารขันธ์เอง บางอย่างเป็นอกุศลอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเมื่อกุศลจิตเกิดขึ้น ก็ต้องไม่มีส่วนของสังขารขันธ์ที่เป็นอกุศลเกิดร่วมด้วยแน่นอน

    ผู้ฟัง คำว่า “อทุกขสุข” จะใช้ตอนไหน มีความหมายเหมือนอุเบกขาเลยไหม

    อ.วิชัย คำว่า อทุกขมสุข คือไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขแน่นอน คือปฏิเสธทั้งหมด แต่ถ้ากล่าวคำว่า “อุเบกขา” ก็มีหลายความหมาย มีตั้ง ๑๐ ประเภท เพราะฉะนั้นอุเบกขาในความหมายที่เป็นเวทนาที่เป็นอุเบกขาก็มี หรืออุเบกขาที่ไม่ใช่เวทนาก็มี เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจความหมายของเวทนาที่เป็นอุเบกขา ก็คืออทุกขมสุขเวทนา แต่ถ้าเข้าใจในอทุกขมสุขเวทนา ก็ต้องเป็นเวทนาอย่างเดียว แต่คำว่าอุเบกขาก็มีหลายความหมาย

    ท่านอาจารย์ ก็คงไม่ลืมว่า การศึกษาธรรมคือรู้ว่า ธรรมคืออะไร ธรรมคือสิ่งที่มีจริง แค่นี้ก่อนนะคะ เพราะฉะนั้นแทนที่เราจะไปติด หรืออยากจะรู้ความหมายของคำว่า “ขันธ์” แต่ละชื่อ ขณะนี้อะไรที่มีจริง นี่เป็นสิ่งที่เราสามารถเริ่มเข้าใจว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริง และไม่เคยเข้าใจมาก่อนเลย เพราะฉะนั้นการฟังเพื่อเข้าใจถูก เห็นถูกตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น

    ขณะนี้ทุกคนกำลังเห็น ถูกต้องไหม มีสิ่งที่ปรากฏทางตา จริงๆ แล้วสิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดดับเร็วมาก เพียงแค่สามารถปรากฏให้เห็นนิดเดียว แล้วก็ดับไป ระหว่างเห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ความจริงขณะนั้น คือ สภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างนี้ ลักษณะนี้เห็นเมื่อไร ก็มีสิ่งที่ปรากฏเป็นอย่างนี้แหละ คือ ปรากฏให้เห็น เห็นอีก ก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ก็เป็นอย่างนี้แหละ และสภาพที่เห็นขณะนั้นก็คือ ธาตุที่สามารถเห็น คือ กำลังเห็น คือฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังมีจริงๆ และรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม ที่ฟังเพื่อเข้าใจถูกต้องยิ่งขึ้น เพื่อละความไม่รู้

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตา ๑ แล้ว เวลาที่เสียงมี ปรากฏทางหู แต่เสียงก็ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เสียงก็มีจริงๆ และเสียงก็ปรากฏสั้นๆ แล้วก็ดับไป ถ้าเป็นการรู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรม เห็นมี ได้ยินมี แต่เวลาเห็น มีสีสันวัณณะปรากฏ เวลาได้ยินก็มีเสียงปรากฏ ทั้งสีที่ปรากฏ และเสียงที่ปรากฏ ต้องมีอายุเท่ากัน หมายความว่าต้องเกิดขึ้น และดับไปอย่างรวดเร็วทุกอย่าง เพราะเหตุว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นรูปธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ ต่างกับนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้นผู้ที่ทรงประจักษ์แจ้งทรงแสดงว่า รูปที่เป็นสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ซึ่งจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะนี่เร็วมาก

    เพราะฉะนั้นก่อนอื่นฟังเรื่องเห็น กำลังมีเห็น ให้เข้าใจว่าที่เราเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ถูกต้อง หรือจะต้องมีความรู้ว่า เฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏสั้นมากเช่นเดียวกับเสียงที่ปรากฏทางหู หรือว่าเย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ที่ปรากฏทางกายก็สั้นมาก กลิ่น รสทั้งหมด เป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้น และมีอายุที่สั้นมาก สภาพธรรมที่กล่าวถึง เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา เสียง กลิ่น รส เย็น หรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวที่ปรากฏ ไม่ใช่สภาพรู้ นี่คือขณะนี้ เดี๋ยวนี้ที่จะเข้าใจว่า ธรรมเหล่านี้เป็นรูปธรรม ซึ่งรูปธรรมแต่ละลักษณะก็ต่างกันไป เช่น เสียง ก็ไม่ใช่กลิ่น แต่ทั้งหมดก็เป็นประเภทของธรรมที่เป็นรูป คือไม่ใช่สภาพรู้

    เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคทรงประมวลลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ว่าจะปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือไม่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่เป็นรูปธรรมที่สามารถรู้ได้ทางใจ แต่เมื่อสภาพธรรมนั้นไม่ใช่สภาพรู้ มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นลักษณะของรูปธรรมแต่ละรูป ก็เป็นรูปขันธ์ อันนี้พอจะเข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ และรู้ว่าคำนี้มาจากไหน คำว่า “ขันธ์” ไม่ใช่ลอยๆ แต่ว่ามีสิ่งที่ปรากฏนี่แหละ ซึ่งเป็นสภาพไม่รู้อะไรเลย เป็นรูป และรูปอื่นๆ ซึ่งไม่รู้อะไรเลย ทั้งหมดก็เป็นรูป จึงเป็นรูปขันธ์ รวมเป็นประเภทของรูป ซึ่งเป็นรูปขันธ์

    ตรงนี้ยังมีใครสงสัยความหมายของรูปขันธ์ไหม

    สภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ว่าจะเป็นเสียง เสียงก็ไม่รู้อะไร กลิ่นก็ไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้นเสียงก็เป็นรูป กลิ่นก็เป็นรูป รวมประเภทธรรมที่ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือไม่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่เป็นรูป ก็เป็นรูปขันธ์ คือ จะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากจะเป็นรูปที่ไม่ใช่สภาพรู้ ตรงนี้หมดสงสัย หรือยังในคำว่า “ธรรม” ในคำว่า “รูป” ในคำว่า “รูปขันธ์”

    ผู้ฟัง สงสัยตรงที่จะพิจารณาได้อย่างไร ถ้าพูดถึงรูป ๒๗ หรือ ๒๘

    ท่านอาจารย์ ยังไม่พูดถึง ๒๗ หรืออะไรเลย คือ ขณะนี้มีรูปที่ปรากฏ ฟังให้เข้าใจ ถ้าจะได้ยินคำว่า “ขันธ์” ขันธ์ ไม่ใช่คำลอยๆ แต่กล่าวถึง หมายถึงสิ่งที่มีจริง ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น และลักษณะของสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ เช่น ขณะนี้เสียงไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้นเสียงเป็นรูปธรรม เป็นธรรมที่เป็นรูป คือ เป็นธรรมที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ กลิ่นก็เป็นธรรมที่ปรากฏ ได้กลิ่นเมื่อไร ลักษณะของกลิ่นก็ปรากฏ ซึ่งกลิ่นไม่ใช่สภาพรู้ ลักษณะของธรรมทุกประเภท ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ เป็นรูปขันธ์ หมายความว่าเป็นส่วน เป็นธรรม เป็นกอง หรือรูปทั้งหมดนั่นเอง รวมแล้วก็เป็นรูปขันธ์

    แค่นี้ ฟังธรรมต้องเข้าใจตามลำดับ ไม่ใช่เข้าใจอื่นด้วย เข้าใจเดี๋ยวนี้ที่เสียงปรากฏทางตา เข้าใจเดี๋ยวนี้ที่สิ่งที่ปรากฏปรากฏ เข้าใจขณะที่แข็งปรากฏ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เลื่อนลอย หมายถึงสิ่งที่มีเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นทั้งหมดที่ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นรูปขันธ์ แค่นี้ ตรงนี้เข้าใจ หรือยัง

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ยังไม่เข้าใจอะไร

    ผู้ฟัง คือ ที่ดิฉันไม่เข้าใจสงสัยอยู่ เวลาที่พูดว่า รูปรวมกัน

    ท่านอาจารย์ รูปแต่ละรูปเป็นสภาพไม่รู้ เมื่อกล่าวถึงสภาพไม่รู้ทั้งหมดรวมแล้วทั้งหมดเลยเป็นรูปขันธ์ ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่สภาพไม่รู้แล้วจะเป็นอื่น เพราะฉะนั้นเมื่อรวมประเภทของธรรมที่ไม่รู้อะไรเลยทั้งหมด จึงกล่าวว่า รูปขันธ์ หมายความว่ารวมรูปทุกประเภท

    ผู้ฟัง รูปเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร เป็นรูปทุกประเภท

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นถามว่า เสียงเป็นธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นรูป หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นรูป

    ท่านอาจารย์ เป็นรูปขันธ์ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นรูปขันธ์ด้วย เพราะเสียงไม่รู้อะไร ท่านอาจารย์พูดถึงว่า ไม่ว่าสี หรือว่าเสียง หรือรูปว่า มีอายุเกิดดับเท่ากัน แต่บางครั้งเรารู้สึกว่า เราได้ยินนานมาก หรือบางครั้งจะรู้สึกเย็นมาก ตรงนี้หมายความว่าเกิดดับเท่ากัน เพียงแต่จิตเกิดซ้ำ หรืออย่างไร ถึงนาน

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ รู้อารมณ์ได้ทีละอย่าง จิตเกิดดับเร็วกว่ารูป เพราะฉะนั้นกว่ารูปๆ หนึ่งซึ่งเป็นสภาวะรูปจะดับไป จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งจึงดับ แต่ให้เข้าใจว่า รูปดับเร็วแค่ไหน คนที่ไม่รู้ ก็เห็นว่ารูปนานมาก ไม่เห็นดับสักที แต่ผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ก็รู้จริงว่า สภาวะรูปทุกประเภทมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ

    เพราะฉะนั้นเคยเห็นว่า เห็นนาน ไม่ดับสักที เห็นถูก หรือเห็นผิด ก่อนที่จะฟังธรรม เห็นถูก หรือเห็นผิด แต่พอฟังแล้ว พอเข้าใจได้ไหมว่า ขณะนี้มีเห็น เหมือนไม่ดับเลย แต่ทำไมมีได้ยิน ในเมื่อจิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ จิตเห็นจะได้ยินไม่ได้ และจิตได้ยินก็จะเห็นไม่ได้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ได้ยินสั้นฉันใด สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดับไปรวดเร็ว สั้นเท่ากันทั้งหมดเลย กว่าจะคลายการที่เคยไม่รู้ การที่เคยหลง ยึดถือสภาพธรรมว่าเที่ยง ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จะต้องรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่กำลังมีในขณะนี้ ไม่ใช่ไปไตร่ตรอง ตรึกตรองถึงสิ่งที่ไม่ปรากฏ ทั้งๆ ที่มีสิ่งที่ปรากฏ แต่ไปนึกอย่างอื่น โดยที่ไม่เข้าใจถูกต้องในสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมจึงต้องรู้ว่า ฟังเพื่อให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ เพื่อจะได้ละคลายความติดข้อง เพราะความไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ และจะรู้ได้เลยว่า ความติดข้องมากมายระดับไหน ซึ่งยากแค่ไหนที่จะค่อยๆ เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง ถ้าขณะนี้จะกล่าวว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ยากที่จะเชื่อ เพราะเคยจำไว้แน่นหนาว่า เป็นแน่นอน แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างหนึ่ง เพราะปรากฏ ส่วนการทรงจำรูปร่างสัณฐาน และคิดถึงสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้ความจริงว่า สิ่งที่ปรากฏเพียงปรากฏ เป็นอื่นไม่ได้เลย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    18 เม.ย. 2567