พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 354


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๕๔

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ ขณะเกิดเป็นผลของกรรม ปฏิสนธิกิจ ขณะนั้นเป็นวิบาก ขณะที่ยังไม่มีการเห็น การได้ยิน แต่ว่าดำรงภพชาติ ยังไม่ให้ตาย ขณะนั้นก็เป็นผลของกรรมที่ยังไม่ให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ พอถึงจิตขณะสุดท้ายเกิดขึ้น ดับแล้ว พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ ขณะนั้นก็เป็นผลของกรรมที่ทำให้ไม่สามารถเป็นบุคคลนี้ต่อไปอีกได้ แต่ระหว่างนั้นที่ยังมีชีวิตอยู่ ผลของกรรม ต้องมีความเข้าใจอย่างชัดเจนว่าขณะไหน กำลังเห็นนี่เอง เป็นผลของกรรม เลือกไม่ได้ จะเห็นอะไร เมื่อไร ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย กรรมทำให้ปสาทรูปเกิดขึ้น ที่สามารถกระทบกับรูปเฉพาะแต่ละทาง และจิตซึ่งเป็นผลของกรรมในขณะที่เห็นจึงเกิด เพราะเหตุว่าเมื่อถึงกาลที่กรรมจะให้ผลทางตา ต้องเห็น ถ้าถึงกาลที่กรรมจะให้ผลทางกาย ต้องเจ็บ หรือต้องสบาย ความรู้สึกนั้นเป็นผลของกรรมด้วย หรือทางหู เวลาผลของกรรมให้ผล ก็คือต้องได้ยินเสียงนั้น จะเป็นเสียงอื่นไม่ได้

    ผู้ฟัง อย่างการได้ยิน ตรงนี้หนูสงสัยนิดหนึ่ง อย่างบางคนได้ยินเรื่องนี้โกรธ แต่อีกคนได้ยินเหมือนกันไม่โกรธ

    ท่านอาจารย์ ตัวได้ยินเหมือนกัน หรือไม่

    ผู้ฟัง ตัวได้ยินเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ แต่หลังจากได้ยินแล้ว ไม่ใช่วิบากแล้ว เป็นไปตามการสะสม สะสมกุศลจิต หรือสะสมอกุศลจิตมา แล้วก็บังคับไม่ได้ว่าจะให้เป็นกุศลจิต ถ้าถึงกาลที่อกุศลจิตจะเกิดก็ต้องเกิด เพราะความไม่รู้ก็เป็นเราหมดเลย แต่ความจริงเป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นธาตุซึ่งเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แต่ละ ๑ ขณะ มีปัจจัยทำให้เกิด โดยไม่มีใครสามารถที่จะรู้ความละเอียด

    ผู้ฟัง มีคำถามจากท่านผู้ฟังว่า ขอความกรุณาท่านอาจารย์อธิบาย “การอบรมเจริญปัญญา” นอกจากการฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เพื่อให้สติเกิดแล้ว ยังมีอะไรอีกบ้าง หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ควรคิด หรือไม่ควรคิด หรือฟังแต่คำตอบ

    อ.ธีรพันธ์ ก็ไมได้ฟังอย่างเดียว ต้องอาศัยการอบรม อบรมจากขั้นการฟัง การพิจารณา ต้องแยกเป็นขั้นๆ ขั้นฟัง แล้วก็พิจารณา แล้วก็อบรมเจริญ ที่เรียกว่า “อบรมเจริญภาวนา” ให้มีให้เป็นบ่อยๆ ขึ้น ก็คือการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง เพราะสติปัฏฐานเกิดไม่ง่ายเลย จะฟังแล้วให้สติเกิดทันทีเลยเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้นยากมากจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังฟังคุณธีรพันธ์ กำลังฟังความคิดของคุณธีรพันธ์ ใช่ หรือเปล่า ใช่ ถูกต้อง หรือไม่ กำลังฟังความคิดของคุณธีรพันธ์ กำลังฟังนั่น คิดเองด้วย หรือเปล่า แม้ว่าจะเป็นความคิดของใครก็ตามที่กำลังฟัง แต่ขณะที่ฟังต้องเป็นความคิดของตัวเองที่จะทำให้เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เมื่อสักครู่ก็ไม่ได้ฟังคุณธีรพันธ์แล้ว และต่อไปวันนี้ก็อาจจะได้ฟังตอนบ่าย แต่ระหว่างที่ยังไม่ได้ฟัง คิดถึงที่ฟังคุณธีรพันธ์ หรือเปล่า

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ความคิดมีหลากหลายมากมาย แม้ว่าฟังแล้วไม่คิดอีกก็ได้ ใช่ หรือไม่ แล้วฟังแล้วก็ยังไม่ลืม ยังคิดถึงคำที่คุณธีรพันธ์พูดอีกก็ได้ ไม่ใช่ว่าเราสามารถบังคับได้ แต่เราสามารถรู้ว่า การฟังไม่ใช่เพียงได้ยิน แม้ว่าจะฟังเรื่องอะไรก็ตาม ใครก็ตาม ขณะที่ฟังก็มีการคิด มีการไตร่ตรอง และรู้ได้ว่า ขณะที่กำลังฟัง และคิดไตร่ตรอง เข้าใจแค่ไหน และหลังจากที่ฟังแล้ว ไม่ได้ฟังอีก จะมีการคิดอีก หรือเปล่า ก็แสดงให้เห็นว่า เรื่องที่จะคิดในวันหนึ่งๆ มากมาย และมักจะคิดเรื่องอื่น ไม่ได้คิดเรื่องธรรมที่ได้ฟัง

    ถ้าจะเข้าใจขึ้น คิดเรื่องไหน ก็เป็นคำตอบของตัวเองที่จะมีความเข้าใจได้ว่า เมื่อมีการฟัง ไม่ใช่เพียงฟัง แต่แม้ขณะที่ฟัง ก็มีการไตร่ตรอง และขณะที่กำลังฟังไตร่ตรอง แม้ไม่ได้ฟังอีก จะมีปัจจัยที่จะคิดถึงธรรมที่ได้ฟังอีก หรือเปล่า ถ้าไม่มีก็อยู่เพียงแค่นั้น แต่ถ้ามีก็อาจจะไตร่ตรองเพิ่มเติม มีการขวนขวายเพิ่มเติม มีการอ่านด้วยตัวเอง ไตร่ตรองด้วยตัวเอง หรือฟังคนอื่น สนทนาธรรมกันก็ได้

    ทั้งหมดเป็นเรื่องของแต่ละคน ที่จะพิจารณาไตร่ตรองในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ไม่ใช่ฟังแล้ว เป็นความเห็นของคุณธีรพันธ์ รับทราบ จบ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ก็ต้องรู้ว่าขณะที่ฟังมีความเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่ได้ฟัง เพราะว่าทุกคนก็ได้ยินคำว่า “อบรม” ขณะที่ไม่เข้าใจ แต่ฟัง อบรม หรือเปล่า แต่ขณะที่ฟังแล้วเข้าใจ อบรมปัญญา ไม่ใช่ไปอบรมอย่างอื่น เมื่อเข้าใจขึ้นอีก ปัญญาเพิ่มขึ้นอีก ก็เพราะอบรม ไม่ใช่เพียงครั้งเดียว แต่ว่าหลายๆ ครั้ง บ่อยๆ เนืองๆ

    ผู้ฟัง กราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า เบื่อหน่ายในการทำงาน เพราะมีความรู้สึกว่า งานทางโลกทำไปก็ไม่มีประโยชน์เลย ไม่ใช่สิ่งที่เราควรศึกษา หรือรู้ในชาตินี้ เกิดอาการอย่างนี้ขึ้นมาสลับ ถ้ามีโอกาสจริงๆ แล้ว ไม่น่าต้องแต่งงาน ไม่น่าต้องมีลูก ไม่น่าต้อง ... น่าจะศึกษาธรรม เพราะว่าทุกอย่างรู้ว่าเป็นสภาพธรรม แต่เป็นความทุกข์มาก ถ้าเราทำงานอยู่อย่างนี้ ก็ไม่มีเวลาที่จะศึกษาธรรมให้ละเอียด และเวลาก็เหลือน้อย และอายุก็เท่านี้ นอนหลับไป ไม่รู้วันไหนจะไม่ตื่น

    ท่านอาจารย์ ท่านวิสาขามิคารมารดาเป็นพระโสดาบันเมื่ออายุ ๗ ขวบ ตอนนั้นยังไม่ได้แต่งงาน แต่ภายหลังก็แต่งงาน ตามการสะสม เพราะท่านเป็นพระโสดาบัน ท่านไม่ใช่พระอนาคามี

    เราจะไม่รู้เลยว่า มีปัจจัยอะไรที่ชีวิตของแต่ละคนต่างกันไป แต่ว่าจากการสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ก็จะเริ่มเห็นประโยชน์ว่า อะไรมีประโยชน์กว่ากัน แต่ไม่ได้หมายความว่า ขณะที่คุณกนกวรรณเบื่อทำงาน จะเบื่ออย่างอื่นไปด้วย อาหาร อร่อยๆ เบื่อไหม ไม่เบื่อ แต่เบื่องาน

    ผู้ฟัง คือมีความรู้สึกว่า มาฟังธรรมวันอาทิตย์ได้วันเดียว เพราะภาระงาน และเมื่อไรจะรู้เรื่อง

    ท่านอาจารย์ ภาระงานเป็นธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ภาระงานเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ รู้ หรือไม่รู้ดีกว่ากัน ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ชีวิตของคฤหัสถ์ตามความเป็นจริง คือ จะรู้เมื่อสิ่งนั้นเกิดแล้ว ถ้ายังไม่เกิดจะไม่รู้เลย กำลังเบื่องาน แต่ไปดูโทรทัศน์เรื่องนี้ดีกว่า ก็แสดงให้เห็นว่า เรายังไม่เข้าใจความเป็นธรรมแต่ละลักษณะตามความเป็นจริง จริงๆ แล้วไม่มีใครสามารถรู้ว่า ในแสนโกฏิกัปป์ ในจิตแต่ละ ๑ ขณะ สะสมอะไรมามากน้อยแค่ไหน ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ยังไม่ได้ฟังธรรมเลย อย่างท่านพระสารีบุตร ท่านพระพาหิยะ ก่อนที่จะได้ฟังธรรม ท่านสะสมปัญญาระดับถึงความเป็นพระอรหันต์เอตทัคคะ ถึงความเป็นอัครสาวกอย่างท่านพระสารีบุตร แต่ตอนที่ยังไม่ได้ฟังธรรมเลย ท่านจะรู้ หรือไม่ว่า ท่านได้สะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น แต่เมื่อสิ่งใดเกิดจึงรู้ถึงการสะสมที่ได้สะสมมาแล้ว

    วันนี้ดูเป็นคนดี ไม่ได้โกรธใคร แต่ถ้ามีเหตุปัจจัยที่จะโกรธ จะรู้กำลังของความโกรธในขณะนั้น หรือไม่ว่า ถึงขนาดไหน ถ้ายังไม่มีอะไรที่จะเกิดปรากฏ จะไม่สามารถรู้ถึงการสะสมที่สะสมมาในจิตแต่ละขณะ ในแสนโกฏิกัปป์ ไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายกุศล หรือทางฝ่ายอกุศลก็ตาม

    สิ่งใดที่เกิด เช่น เบื่อ ขณะนั้นเป็นธรรม ถ้ายังไม่รู้ ก็ยังเป็นเรา เพราะมีเบื่อบ้าง ไม่เบื่อบ้าง ทุกอย่างที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นความรู้สึกที่บางครั้ง เหมือนกับว่าวันอาทิตย์มีความสุขมาก ได้นั่งฟังท่านอาจารย์ แล้วเกิดความรู้สึกว่า อยากจะมาฟังที่นี่ แต่ถ้าเป็นวันจันทร์ถึงเสาร์เป็นทุกข์มาก ก็แสดงว่ายังไม่เข้าใจใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ มีโอกาสฟังธรรม คิดถึงธรรมที่ได้ฟังด้วย ถ้ามีสัญญา ความจำที่มั่นคง ทุกอย่างเป็นธรรม แล้วถ้าขณะนั้นปัญญาไม่รู้ สิ่งนั้นหมดแล้ว ไม่รอ เพราะว่าเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสภาพธรรมที่เกิดแล้วปรากฏ

    สติสัมปชัญญะ หรือสติปัฏฐาน ไม่ใช่ให้เราไปเลือกสถานที่ เหตุการณ์ สิ่งแวดล้อม หรือลักษณะของธรรมว่า ทางตานี่ไม่รู้หรอก จะไปรู้ทางหู หรือจะไปรู้ทางกาย นั่นคือความไม่รู้ และความเป็นตัวตน กว่าจะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราได้หมดสิ้น ไม่เกิดอีกเลย ก็ต้องเป็นปัญญาที่มีกำลังที่จะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่สิ่งที่จะไปทำให้เกิดขึ้นรู้ แต่สิ่งนี้เกิดแล้ว ใช้คำว่า “ตามรู้” คือ รู้สิ่งที่เกิดแล้วนั่นเอง ตามความเป็นจริง ถ้าเบื่อเกิดขึ้น ก็เป็นธรรม ปัญญาที่รู้ลักษณะที่เบื่อ ปัญญานั้นไม่เบื่อ แต่สภาพเบื่อนั้นมี และปัญญาสามารถเข้าใจถูกได้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา เป็นธรรม

    กว่าจะถึงความอาจหาญ ร่าเริงจริงๆ ด้วยปัญญาที่เห็นถูก ก็ต้องเป็นการอบรม ซึ่งขอใช้คำว่า “ผจญ” อีกมาก กว่าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะจริงๆ

    ทุกท่านมีเวลาไม่มาก เพราะเหตุว่าส่วนใหญ่แล้วชีวิตของเราก็เป็นไปในเรื่องอื่น แต่ถ้าเทียบกับการที่จะได้มีโอกาสฟังพระธรรม และมีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ก็จะรู้ได้ว่า ในสังสารวัฏที่ยาวนาน จนถึง ณ บัดนี้จะต่อไป เวลาที่จะมีโอกาสฟังจริงๆ พิจารณาจริงๆ และเริ่มเข้าใจพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็ไม่มากเลย ก็เป็นโอกาสสำหรับพุทธบริษัทที่จะได้สนทนาธรรม เพราะว่าในครั้งพุทธกาล ตอนที่มารทูลเชิญพระผู้มีพระภาคปรินิพพาน พระองค์ก็ตรัสว่า ตราบใดที่พุทธบริษัท ๔ ซึ่งก็หมายความถึงภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างแตกฉานในพระธรรม ก็ยังไม่ปรินิพพาน ถึงแม้ว่าจะปรินิพพานไปแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของพุทธบริษัททั้ง ๔ แต่ ณ บัดนี้ก็เหลือเพียง ๓ ที่จะได้มีการสนทนา เพื่อที่จะรักษาพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง มิฉะนั้นเราจะคิดถึงพระพุทธศาสนาตามความคิดความเข้าใจของเราเอง ต่างคนต่างคิด แต่ว่าตามความเป็นจริงพระธรรมที่ทรงแสดง ทรงบำเพ็ญพระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป การที่มีโอกาสได้ยินได้ฟังแต่ละคำที่ทรงแสดงในครั้งพุทธกาล และได้จาริกสืบทอดมาจนถึงยุคนี้สมัยนี้ ก็เป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุดในชีวิตแต่ละชาติที่จะบูชาพระคุณ ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี ไม่ใช่เพื่อที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมเพียงพระองค์เดียว แต่เพื่อให้บุคคลอื่นมีโอกาสได้เข้าใจธรรมด้วย

    ขอให้พิจารณาว่า ธรรมที่เป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้ง หรือเป็นสิ่งง่ายๆ ซึ่งไม่ว่าเราจะไปอ่านด้วยตัวเอง ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ แต่ว่าความจริงทุกคำที่ตรัส เป็นการทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริง ตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสูงสุด ตั้งแต่หยาบจนถึงละเอียดที่สุด ที่ยากถ้าไม่ได้ฟังแล้ว ไม่มีทางที่นักปราชญ์ หรือบัณฑิตคนไหนจะสามารถคิดเองได้

    สำหรับเวลาที่มีน้อยมาก ก็ขอเป็นการสนทนาธรรม ปัญหาทุกปัญหาที่คิดว่า จะไม่มีคำตอบในพระพุทธศาสนา ความจริงมี เพราะเหตุว่าทุกอย่างเป็นธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด โดยประการทั้งปวง

    ใครก็ได้ที่สนใจเรื่องอะไร ถ้ายังไม่มี ขอเริ่มเรื่องประเพณีกับความเข้าใจธรรม เพราะเหตุว่าบางคนเข้าใจว่า เราจะรักษาพระพุทธศาสนาด้วยประเพณี แต่ว่าเรามีความเข้าใจพระพุทธศาสนา หรือเปล่า ถ้าไม่มีความเข้าใจพระพุทธศาสนา แม้ที่เกี่ยวข้องกับประเพณี เราก็ไม่รู้ว่า จุดประสงค์แท้จริงของประเพณีนั้นๆ คืออะไร เนื่องมาจากพระพุทธศาสนาอย่างไร เราก็คงไม่ใช่บุคคลที่เพียงแต่มีประเพณี แต่ไม่มีความเข้าใจพระพุทธศาสนา เพราะว่าส่วนใหญ่ก็จะมีเพียงประเพณี แต่ว่าจะมีบุคคลส่วนหนึ่งซึ่งยังคงเห็นประโยชน์ว่า ถ้าไม่มีความเข้าใจประเพณี แต่ทำประเพณี แล้วก็ตอบไม่ได้เลยว่า ทำไมถึงต้องทำอย่างนั้น เหตุคืออะไร ผลคืออะไร ถ้าไม่มีความเข้าใจจริงๆ ก็ไม่สามารถรู้ว่า ประเพณีนั้นแท้จริงก็มาจากหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา แต่พอไม่เข้าใจ ทุกคนก็ลบเลือน ค่อยๆ เคลื่อนไป จากการที่จะเข้าใจประเพณีนั้นให้ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ประเพณีทั้งหมดก็สืบเนื่องมาจากคำสอนที่เป็นเหตุเป็นผล แต่ตราบใดที่ตอบไม่ได้ในเรื่องของประเพณีนั้นๆ ว่า ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ก็แสดงว่า ยังไม่เข้าใจในเหตุ และผลของการกระทำนั้นๆ

    ผู้ที่ตรง มีสัจจะ มีความจริงใจ นี่เป็นประโยชน์ที่เกิดมาในแต่ละภพแต่ละชาติว่า เราเกิดมาสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตคืออะไร บางคนก็อาจจะตอบกันไปคนละอย่าง แต่สำหรับคนที่ได้ยินคำว่า “พุทธศาสนา” และก็ได้สะสมความเห็นถูกที่เห็นประโยชน์สูงสุดในชีวิต เพราะว่าทุกคนเกิดแล้วต้องตาย สิ่งที่คิดว่าได้มาแล้วทั้งหมดทุกวัน แม้แต่เมื่อวานนี้ เดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหน ความสุขเมื่อวานนี้อยู่ที่ไหน เรื่องสนุก อาหาร หรือลาภยศก็ตามแต่ จะติดตามไปถึงโลกหน้าได้ หรือไม่ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วใน ๑ ชาติที่เกิดมาเป็นมนุษย์ได้อะไร แต่ถ้าไม่ได้ฟังคำสอน จะไม่รู้คุณค่าเลยว่า สิ่งที่มีคุณค่าเหนือสิ่งอื่นใด ก็คือปัญญา ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ซึ่งบุคคลอื่นที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่สามารถแสดงให้บุคคลอื่นเกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เป็นแต่ละขณะในชีวิตนี้ได้เลย

    เมื่อเห็นประโยชน์อย่างนี้ ทุกคนก็จะมีความมั่นคงที่จะรู้ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต ไม่ใช่ลาภ ซึ่งเสื่อมได้ ไม่ใช่ยศซึ่งเสื่อมได้ ไม่ใช่สรรเสริญ ก็เปลี่ยนเป็นนินทาได้ ไม่ใช่สุข ซึ่งเปลี่ยนเป็นทุกข์ได้ ซึ่งเป็นสิ่งประจำโลก ซึ่งทุกคนก็ได้รู้ได้เห็นด้วยตัวเอง

    สิ่งซึ่งประเสริฐกว่านั้นก็คือ การที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจพระธรรม และได้สมกับเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา คือ ในคำสอนของผู้ทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่าธรรมไม่ใช่เรื่องวันเดียว ไม่ใช่เรื่องครึ่งวัน แต่เป็นเรื่องตลอดชีวิต ถ้าเห็นประโยชน์ จะรู้ว่าขาดธรรมไม่ได้ เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าสิ่งอื่นจะเกิดขึ้น และหมดไป แต่ความรู้ความเข้าใจซึ่งเริ่มเกิดขึ้น และมีความสนใจที่จะรู้ต่อไปจะเจริญขึ้น

    เมื่อพูดถึงความเจริญ คนส่วนใหญ่ก็คิดถึงความเจริญด้านวัตถุ แต่ว่าใจเป็นอย่างไร ที่กำลังเดือดร้อน และจะเดือดร้อนต่อไปอีกก็เพราะจิตใจเจริญ หรือเปล่า หรือว่าไม่มีความเจริญเพราะไม่มีความรู้ ด้วยเหตุนี้การแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ใช่แก้ด้วยอย่างอื่น แต่แก้ด้วยสภาพของจิตซึ่งได้ฟังพระธรรม และมีความเข้าใจ ซึ่งนำ (นาทีที่ ๑๗.๕๙) ทำให้แม้แต่คิด แม้แต่ทำ ก็ถูกต้องยิ่งขึ้น

    คำถามในพระพุทธศาสนาต้องมีมากทีเดียว เพราะเหตุว่าต่างคนต่างคิด แต่ว่าที่คิดนั้นจะถูกตรงตามความเป็นจริงแค่ไหน ก็ต้องอาศัยการศึกษาพระธรรมอย่างละเอียด

    ผู้ฟัง ๑. ที่นี่ไม่มีพระพุทธรูป ๒. พระบรมสารีริกธาตุที่จัดตั้งไว้ รู้ได้อย่างไรว่าเป็นของจริง และ ๓. ไม่มีการจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ขออนุญาตเรียนถามอาจารย์

    ท่านอาจารย์ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงดับขันธปรินิพพาน ไม่มีพระพุทธรูป แต่ว่ามีการแจกพระบรมสารีริกธาตุให้รัฐ แคว้นต่างๆ เพื่อจะนำไปสักการบูชา ที่ใดที่ไม่มีพระบรมสารีริกธาตุ ที่นั่นจึงต้องอาศัยรูปเป็นการเตือนให้ระลึกถึง แต่ขอให้พิจารณารูปนั้นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือเปล่า ไม่ว่าใครจะสร้างในยุคไหนก็ตาม พระพักตร์ต่างกันไปตามภูมิประเทศ ที่จีน ที่ญี่ปุ่น ที่พม่า ที่ลาว นั่นน่ะ หรือ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าจะมองดูอย่างไรก็ตาม ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นแต่เพียงเครื่องเตือนให้ระลึกถึงพระคุณ

    แต่ข้อสำคัญก็คือ เราคิดว่าต้องมี หรือเราคิดว่าพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าต่างหากที่ควรระลึกถึง ถ้ามีพระพุทธรูป แต่ไม่รู้พระคุณเลย มีประโยชน์ หรือไม่ ต่อการที่ได้บำเพ็ญบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป เพื่อทรงแสดงพระธรรม ไม่ได้ให้ลาภ ยศ ใครเลย แต่เพื่อให้ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ซึ่งเป็นเหตุของความสุขทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า เพราะเหตุว่าทุกคนไม่ปรารถนาความทุกข์เลย แต่ไม่รู้ว่า ทำไมทุกข์เกิดขึ้น อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้เหตุ ไม่รู้ผล เพียงแต่มีความต้องการ แม้แต่ว่าจะมีพระพุทธรูปไว้ทำไม ก็ไม่เคยคิด แต่ถ้าเป็นผู้เข้าใจพระธรรม และรู้ว่า ไม่ว่า ณ สถานที่นั้นมีพระพุทธรูป หรือไม่มีก็สามารถที่จะระลึกถึงพระคุณได้ ทุกกาล ไม่ได้หมายความว่า เราจะลืม แต่เมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้อง นี่คือการรู้ว่า ประโยชน์ที่สุด คือ ทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง

    มีสิ่งใดเป็นเครื่องเตือนให้ระลึกถึงพระคุณ ผู้ที่จะระลึกถึงพระคุณ ต้องเป็นผู้มีความเห็นถูก มีความเข้าใจพระคุณ มิฉะนั้นแล้วขณะนี้ให้ระลึกถึงพระคุณ ระลึกได้ หรือไม่ รู้ได้ไหม ถ้าไม่มีความเห็นถูกเลย

    สิ่งที่สำคัญเหนืออย่างอื่น ก็คือความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ไม่มีคำสอนในพระไตรปิฎกที่กล่าวว่า ให้สร้างพระพุทธรูป แต่ผู้ใดก็ตามที่ฟังเข้าใจพระธรรม สามารถจะมีพุทธานุสติ ระลึกถึงพระคุณได้ตามความเข้าใจ ไม่ทราบข้อนี้หายสงสัย หรือไม่ สำหรับปัญหาข้อที่ ๑

    ผู้ฟัง ก็หมายความว่า ถ้าเราเข้าใจหลักธรรม แล้วเข้าใจพระพุทธคุณ ไม่มีพระพุทธรูปก็ได้ ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ที่ไหนก็ได้ที่มีการระลึกถึง พระคุณอยู่ที่การระลึกถึงด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง คำพูดที่ว่า คนบางคนที่บางครั้งต้องใช้สื่อ ถึงจะระลึกถึงพระพุทธคุณของพระพุทธเจ้าได้ ต้องมีรูปเคารพ หรือต้องมีสัญลักษณ์ เป็นเครื่องสะกิดเตือนใจ อย่างนี้ถูกต้อง หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ก่อนที่จะสะกิดเตือนใจ มีคำที่ทำให้เขาเข้าใจพระธรรม หรือเปล่า หรือว่าไม่มีเลย มีแต่เพียงพระพุทธรูป ระหว่างการที่มีพระพุทธรูปกับมีการพูดถึงพระธรรม ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องในพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างไหนสำคัญ

    ผู้ฟัง การที่คนบางคนพกพระ แขวนพระไว้ที่คอ แล้วไม่ยอมทำความชั่ว กลัวว่าพระเสื่อม อย่างนี้ถือว่าเป็นสื่อ หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่าแขวนเพื่ออะไร เพราะอะไร และขณะที่แขวนนั้นทำอะไร เพราะมีผู้ที่แขวน แต่ก็ทำทุจริต แล้วก็ถึงกับสิ้นชีวิตเพราะเป็นโจร ก็ยังแขวน ไม่ใช่เรามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความเชื่อมั่นว่า สิ่งนั้นจะคุ้มครอง แต่ลองดู ในพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มี หรือไม่ที่จะบอกว่า ให้มีสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพื่อจะได้คุ้มครอง หรือว่าทรงสอนให้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพื่อที่จะได้รู้ตามความเป็นจริงว่า อะไรแน่ซึ่งคุ้มครองโลกจริงๆ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    15 ม.ค. 2567