พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 310


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๑๐

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่า จริงๆ แล้ว ปรมัตถธรรมที่ปรากฏเมื่อกระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพียงปรากฏเล็กน้อยแล้วก็ดับไป แต่ใจคิดนึกถึงเรื่องสิ่งที่ปรากฏทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทั้งวันอย่างมั่นคง ว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ เช่นเมื่อเห็น ไม่รู้เลยว่า สิ่งที่ปรากฏดับแล้วเพราะเร็วมาก แล้วจิตก็คิดจำส่วนสัดรูปร่างสัณฐาน แล้วก็ไม่ลืม แล้วก็ยังเข้าใจว่า ยังมีอยู่ ยังเที่ยงอยู่ แสดงให้เห็นว่า ความเข้าใจที่ผิดมาก จนกระทั่งแม้สภาพธรรมปรากฏเช่นนี้จริงๆ ก็ยังไม่สามารถเข้าใจได้ จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจเมื่อไร ก็ค่อยๆ คลายความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ ปัญญามีหน้าที่รู้แล้วละความไม่รู้ กว่าจะเริ่มรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏก็คือเดี๋ยวนี้ อย่างนี้เท่านั้นเอง นอกจากนั้นก็คิดหมด อยู่ในโลกของความมืดสนิท ซึ่งมีสิ่งที่ปรากฎให้เห็นแล้วก็คิด ปรากฎให้ได้ยินแล้วก็คิด ก็เป็นโลกของความคิดนึกซึ่งจำว่าเป็นตัวตน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เที่ยง ไม่ได้ดับไปเลย

    จากการที่ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็เพื่อให้ฟังจนกว่าจะเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วก็ฟังต่อไป พิจารณาต่อไป อบรมปัญญาต่อไป ก็เห็นถูกตามความเป็นจริงของสภาพนั้นได้ในวันหนึ่ง

    ผู้ฟัง การที่เราจะพูดความจริงสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ แต่เราหลีกเลี่ยงกล่าวคำไม่จริง ก็ไม่น่าจะถูกต้อง ยกตัวอย่าง เราซื้อสิ่งของให้มารดา ท่านก็จะถามว่าซื้อมาเท่าไร แพงไหม ถ้าเราบอกความจริงไป มารดาก็เหมือนจะรับประทานไม่ลง แต่ถ้าเราพูดไม่จริง ใหม่ๆ ไม่รู้สึกอะไร เพราะเหมือนกับว่าการพูดไม่จริงเหมือนจะมีประโยชน์กว่าความจริงที่เราจะพูด แต่พอพิจารณาธรรมไปแล้ว ยังไงก็เป็นอกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องพูดจริง

    ผู้ฟัง ถึงแม้ความจริงนั้นจะไปประทุษร้ายผู้อื่น

    ท่านอาจารย์ คำจริง ถ้าไม่มีประโยชน์ ไม่ควรพูด สิ่งนี้แน่นอน แต่ต้องดูกาลด้วย เหมาะควรกับเวลา หรือไม่ และขณะที่พูดก็ต้องพูดด้วยจิตเมตตาด้วยคำที่ไพเราะ ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน แต่ประโยชน์คือ ต้องพิจารณาว่าเป็นประโยชน์ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ต้องเลือกพูดจริงที่เป็นประโยชน์

    ท่านอาจารย์ แม้เป็นความจริง ก็ต้องดูว่าเป็นประโยชน์ หรือเปล่า ทุกคนรู้เรื่องจริงมาก แต่ไม่ได้พูดทั้งหมด โดยเฉพาะถ้าสิ่งนั้นไม่มีประโยชน์ แต่ก่อนนี้ก็อาจจะพูดจริงเพราะเห็นว่าจริง ก็พูดได้เพราะจริง แต่ต่อไปก็จะพิจารณาว่า จริง แต่มีประโยชน์ หรือมีโทษกับบุคคลอื่น ถ้าไม่มีประโยชน์ใดๆ เลยทั้งสิ้น ก็ไม่พูด เพราะไม่มีประโยชน์ แม้ว่าเป็นเรื่องจริง แต่ถ้าเป็นประโยชน์ เป็นสิ่งที่ควรพูด และก็ดูกาลด้วยว่าจะได้รับประโยชน์จากคำพูดนั้นถูกต้องตามประโยชน์นั้นๆ หรือไม่ เวลาพูดก็พูดด้วยถ้อยคำที่น่าฟัง

    อ.วิชัย ก็เคยสนทนาเรื่องของคำพูด ก็มีความเห็นของท่านวัสสการพราหมณ์ ท่านก็มีความเห็นว่า การพูดตามความเป็นจริงในสิ่งที่เห็น ในสิ่งที่ได้ยิน ในสิ่งที่ทราบ โทษผิดจากการพูดความจริงนั้นไม่มี ก็เป็นความเห็นของวัสสการพราหมณ์ ไม่ทราบว่าเห็นจริง หรือไม่ เมื่อเห็นสิ่งใดก็พูดสิ่งนั้น และได้ยินสิ่งใดก็พูดสิ่งนั้น ทราบสิ่งใดก็พูดสิ่งนั้น ไม่ทราบว่าความเห็นอย่างนี้ถูกจริงไหม

    ผู้ฟัง จริง เพราะว่าศีลข้อวาจา ก็จะมีอยู่ว่า สิ่งใดควรพูด หรือไม่ควรพูด ที่เป็นปัญหาสำคัญมาก ก็คือว่าบางครั้งจะกล่าวจริง หรือกล่าวไม่จริง จะตัดสินใจ แต่เพื่อเป็นความมั่นคงในการตัดสินใจ ก็เลยต้องกราบเรียนถามท่านอาจารย์

    อ.วิชัย พระผู้มีพระภาคก็ตรัสแก่วัสสการพราหมณ์ พระองค์ตรัสว่า พระองค์ไม่กล่าวว่า สิ่งทั้งหมดที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ทราบ ควรกล่าว และไม่กล่าวว่า สิ่งที่เห็น ได้ยิน ได้ทราบทั้งหมดไม่ควรกล่าว แต่ถ้ากล่าวสิ่งใดให้กุศลธรรมเจริญควรกล่าว ถ้ากล่าวแล้วอกุศลเจริญ ไม่ควรกล่าว

    ท่านอาจารย์ ปัญหาของคุณสุกัญญาเป็นเรื่องของมารดาที่ซื้อของมาให้ท่าน แล้วท่านก็อาจจะไม่อยากได้ยินคำว่าราคาที่แพง คุณสุกัญญาตัดสินใจว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ต้องพิจารณาสภาวะจิตใจของมารดาในขณะนั้นด้วย คือถ้าพูดไปแล้วเป็นการเพิ่มพูนอกุศลของมารดา ก็เลือกที่จะไม่พูดดีกว่า

    อ.นิภัทร ถ้าเผื่อเอาตามที่พระพุทธเจ้าว่า ๑.พูดจริง ๒.ถูกกาล ๓.ถูกเวลา ๔.เป็นประโยชน์ และ ๕.ไพเราะ ผสานสามัคคี องค์มีอยู่แล้ว สมมติว่าคุณแม่ไม่อยากได้ยินคำว่าแพง ก็บอกว่า ซื้อมาค่อนข้างแพง ก็ยังไม่เท็จ ไม่ได้ผิด ๕ อย่างนี้

    อ.อรรณพ พูดตามความเป็นจริงว่า ไม่แพงเมื่อเทียบกับคุณภาพ ที่สำคัญก็คือ เป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต กุศลจิตที่หวังให้มารดาได้บริโภคของที่เป็นประโยชน์ นั่นก็เป็นกุศลจิต แต่ขณะที่ถ้าเราพูดไม่ตรง ถึงจะคิดว่าหวังดีไม่อยากให้มารดาเกิดความไม่สบายใจ แต่ในขณะที่เราพูดไม่ตรง จะต้องเป็นอกุศลจิตที่พูดคำไม่ตรง คำเท็จจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย นี้เป็นประเด็นหนึ่ง จิตที่พูดสิ่งที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง สมมติราคาพันหนึ่ง เราบอกว่า ๓๐๐ ก็เป็นจิตที่ไม่ตรง นั้นก็เป็นอกุศลจิตที่พูดคำไม่จริง แต่แม้พูดสิ่งที่เป็นความจริงอย่างนั้น แต่พูดด้วยจิตอะไร อย่างคนที่พูดจาส่อเสียดกัน เอาเรื่องจริงของคนอื่นมาพูด แต่ด้วยจิตที่จะทำให้เกิดความแตกแยกกัน แม้เป็นความจริง แต่จิตที่พูดอย่างนั้นเป็นอกุศล เพราะออกมาจากจิตที่มุ่งให้เขาแตกกัน

    ผู้ฟัง คำถามของคุณสุกัญญาในกรณีที่มีบุคคลที่ ๓ อยู่ด้วย แล้วเราเข้าไปพบมารดา แล้วเราซื้อของมา ท่านถามว่าแพงไหม และบุคคลที่ ๓ ไม่ทราบว่าเราซื้อแพง หรือไม่แพง ก็ตอบแทนว่า ไม่แพง คุณแม่ทานเถอะ แล้วเราเงียบได้ไหม หรือว่าเราจะทำประการใด

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เรื่องอนุญาตเลย เป็นเรื่องเข้าใจ และแต่ละบุคคลก็ต่างวาระ ต่างกาลด้วย แล้วแต่เหตุการณ์ขณะนั้นว่า มีปัจจัยอะไร ที่จะทำให้กล่าวคำอะไร ไม่ได้หมายความว่า คนที่มีความเข้าใจธรรมแล้ว จะไม่มีวจีทุจริตเลย ยังคงมีอยู่ จนกว่าจะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ไม่เกิดอีกเลย เป็นพระโสดาบันจะไม่กล่าวคำที่ไม่จริง

    เพราะฉะนั้นเรื่องวาจา คิดอย่างหนึ่ง พอถึงเวลา พูดอีกอย่างหนึ่งก็ได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่ปัจจัยขณะนั้น

    ผู้ฟัง ในกรณีที่เราไม่ได้ทำสิ่งที่ผู้หนึ่งกล่าว เราจำเป็นต้องบอกตามความเป็นจริง หรือไม่ หรือว่าเราไม่ต้องพูดก็ได้

    ท่านอาจารย์ เพื่อประโยชน์ หรือเพื่ออะไร ถ้าเขาไม่รู้ความจริง เขามีอกุศลจิตเพิ่มขึ้นมากมาย แต่ถ้ารู้แล้ว เขาก็จะไม่มีอกุศลจิตอย่างนั้น การป้องกันไม่ให้เขาเกิดอกุศลจิต ก็คือให้เขารู้ว่า ความจริงคืออย่างนี้ เป็นผู้ที่ตรง คือ รู้ประโยชน์ว่าเพื่ออนุเคราะห์ไม่ให้อกุศลเขาเกิดต่อไปอีก ก็สมควรพูดความจริง แต่ถ้าเขาไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ เขายึดถือแล้วเป็นเรื่องราวอย่างนั้น ก็ไม่มีประโยชน์ ต้องคิดถึงประโยชน์

    ผู้ฟัง ถ้าพูดเรื่องเกี่ยวกับอดีต ก็เป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว อนาคตก็ยังไม่ถึง แต่ถ้าเผื่อเป็นปัจจุบัน เหมือนกับเป็นปัจจุบันส่วนกว้าง ก็คือขณะนั้นลักษณะของสติปัฏฐานปรากฏเกิดขึ้น ถ้าเราไม่เคยได้ฟังเรื่องสติปัฏฐานเลย การอ่านพระสูตร เหมือนกับไร้ค่าเลย

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เราเจาะจงไปอ่านสติปัฏฐาน หรืออยากจะให้มีสติปัฏฐานเกิด แต่ต้องรู้ว่า ความเข้าใจสิ่งที่กำลังมี มีในระดับไหน ยังไม่ต้องไปคิดถึงสติปัฏฐาน ถ้ายังไม่มีความเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตรงตามความเป็นจริง เมื่อมีความเข้าใจถูกต้องตรง ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องสติปัฏฐานเลย เพราะว่าความเข้าใจจากการฟัง เราไม่ได้ฟังแค่พื้นฐานว่าเป็นธรรม ขณะนี้กำลังเกิดดับ แต่จะต้องต่อไปถึงหนทางที่จะมีความเห็นถูกยิ่งขึ้น และขณะไหนเห็นถูก ขณะไหนเห็นผิดด้วย ถ้าไม่มีความเห็นผิด ต้องละความเห็นผิดไหม

    ผู้ฟัง ก็คงไม่ต้องละ ไม่มีอะไรจะละ

    ท่านอาจารย์ ความเห็นผิด เกิดขึ้นเมื่อไร ขณะไหน ไม่ใช่เป็นเรื่องฟัง จำ แต่เป็นเรื่องที่จะรู้จริงๆ ว่า ขณะไหนเป็นความเห็นผิด ขณะไหนไม่มีความเห็นผิด

    ผู้ฟัง เวลาที่เราได้ฟังธรรมแล้ว วันหนึ่งๆ ก็มีจิตที่เป็นกุศลที่ทำให้ระลึกถึงธรรมได้ อย่างนี้ก็จะยังไม่ใช่เป็นลักษณะที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คุณบงอยากจะเรียก หรือรู้ว่าขณะนั้นไม่ได้เข้าใจลักษณะที่กำลังปรากฏแต่ละทางถูกต้องตามความเป็นจริง เช่น ขณะนี้ทุกคนเห็น แล้วมีตา รู้ความจริงของเห็น รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏหรือเปล่า ก่อนที่จะไปคิดว่า แล้วจะเรียกว่า สติปัฏฐาน หรือเปล่า ไม่ใช่เป็นเรื่องเรียก แต่เป็นเรื่องที่ตรงว่า ความรู้ของเราระดับไหน ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แต่ถ้าไม่ได้ฟังธรรมโดยละเอียด ต้องเป็นเราแน่นอน เพราะว่าเคยเห็นคน เคยเห็นต้นไม้ เคยเห็นสิ่งของต่างๆ แต่ถ้าฟังแล้ว และมีความเข้าใจจริงๆ ว่า สิ่งที่สามารถจะปรากฏจริงๆ ให้เห็นได้ เป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะที่กำลังปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท จิตเห็นเกิดขึ้นเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้จึงปรากฏลักษณะของสิ่งนี้ได้ ถ้าคนที่ไม่เคยฟัง ไม่เคยคิด ก็คิดว่าจะมาพูดเรื่องเห็นทำไม ธรรมดาที่สุด ตั้งแต่เกิดมาก็มีเห็น แล้วก็จะเห็นไปเรื่อยๆ แต่เคยรู้ความจริงหรือไม่ว่า ที่จริงเห็นนี่น่าอัศจรรย์ เพราะว่าคนตาบอดนึกเท่าไร พยายามเท่าไรที่จะเข้าใจว่า มีธรรมอย่างหนึ่งซึ่งสามารถที่จะปรากฏเป็นสีสันวัณณะต่างๆ มีรูปร่างสัณฐานต่างๆ สมมติเรียกว่า ต้นไม้ ดอกไม้ เรียกคน เรียกสัตว์ต่างๆ เขาไม่มีโอกาสที่สามารถจะเห็นสิ่งนี้ได้เลย น่าอัศจรรย์ หรือไม่ว่าทำไม ทั้งๆ ที่สิ่งนี้มี แต่ปรากฏได้เฉพาะเมื่อจิตเห็นเกิดขึ้นเท่านั้น

    ขณะนั้นจะเป็นใคร ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยก็คือว่า เกิดไม่ได้ แล้วจะเป็นเราได้อย่างไร เพียงมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป ถ้าไม่ประจักษ์อย่างนี้ อริยสัจจะก็ไม่มีความหมาย ก็มีความหมายเพียงแต่ชื่อ เพราะเหตุว่าเมื่อธรรมทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะมีปัจจัย ปรากฏ แล้วก็หมดไป การฟังธรรม คือ ขณะนี้เป็นอย่างนี้ แต่ปัญญายังไม่ถึงระดับนั้น ก็ไม่ต้องไปเรียกชื่ออะไรหมด แต่เป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ขณะนี้ฟัง แล้วก็กำลังเข้าใจเรื่องราวของสิ่งที่มีจริงๆ แต่ตัวจริงของสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก ทั้งจิต และเจตสิกมากมายนับไม่ถ้วน

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ยกตัวอย่างคนตาบอดก็จะเห็นไม่ได้ ก็เปรียบเหมือนว่า ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด อธิบายอย่างไรก็คงเข้าใจไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่ก่อนที่จะถึงสติปัฏฐาน ต้องฟังธรรมให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้เพิ่มขึ้นว่า ไม่ใช่เรา

    ก็มีท่านที่บอกว่า ฟังมาเท่าไรก็ยังคงเป็นเราอยู่ ผู้ที่รู้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ท่านฟังมานานเท่าไร แต่ละท่าน ไม่ใช่ชาติเดียว

    เป็นสิ่งที่แม้มีจริง และความจริงนี้ก็จะไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น แต่ต้องอาศัยความอดทน และกาลเวลาที่จะรู้ตัวเองว่า ค่อยๆ เข้าใจขึ้นในสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ หรือยัง ยังเลย พูดไปเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา พูดไปเรื่องคนตาบอดไม่มีโอกาสจะเห็น พูดไปว่าต้องมีเหตุปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้นปรากฏ แล้วก็หมดไป แต่ก็ยังไม่ได้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า ขณะนี้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างหนึ่ง และคิดนึกเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุว่าขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตาแน่นอน เพราะมีจิตเห็น ไม่ใช่เพราะเราเห็น เพราะมีจิตเห็น คิดถึงเรื่องอื่น หรือไม่ คิดถึงเรื่องอื่น คิดไม่ใช่เห็นแน่ๆ เพราะขณะนั้นกำลังเป็นเรื่องอื่น ไม่ได้รู้เลยว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้เป็นอะไร

    ก็สามารถจะแยกได้ว่า คิดเป็นอย่างหนึ่ง และเห็นเป็นอย่างหนึ่ง และคิดตามสิ่งที่ปรากฏเพราะความจำทางตาก็อีกอย่างหนึ่ง ทำให้เหมือนกับว่า มีคนอยู่ตลอดเวลา

    พูดบ่อยๆ ไปอีกนานเท่าไร ก็เพื่อจะเกื้อกูลให้ค่อยๆ น้อมไป ไม่มีใครสามารถจะไปกลับความเห็นผิดให้เป็นความเห็นถูกได้ทันที และถ้าจะพูดถึงเรื่องอกุศลที่ทุกคนเห็นโทษ และคิดว่าไม่น่าจะมีเลย ใครยังคิดว่าจะมีอกุศลเยอะๆ ดี ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แต่ผู้ที่เริ่มเห็นโทษของอกุศล ก็จะรู้ได้ว่า การจะละอกุศล ทั้งๆ ที่ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มี เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย จะให้ละความพอใจ ความติดข้อง โดยไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงสิ่งที่ติดข้องก็เพราะปรากฏทางตาเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ แล้วก็จำไว้ มีความพอใจในสิ่งนั้น เมื่อเห็นอีก ก็เกิดความพอใจอีก แต่ว่าสิ่งนั้นก็ดับไปแล้ว ไม่มีเหลือเลย

    การดับกิเลสเป็นเรื่องต้องอบรมเจริญปัญญานาน ต้องเป็นความรู้จริง และถ้าไม่รู้ความจริงอย่างนี้ ก็ไม่สามารถดับกิเลสได้ จึงต้องมีความเห็นถูกซึ่งเป็นปัญญา ตรงกันข้ามกับอวิชชา เมื่อมีความเห็นถูก ก็คือว่า เป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน จึงสามารถดับอกุศลอื่นๆ โดยที่รู้ความจริงก่อนว่า เป็นธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน คือ สามารถที่จะเห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมนั่นเอง

    ผู้ฟัง จากที่เราศึกษาอภิธรรม ก็บอกว่า ถ้าทั้ง ๕ ทวารเกิดขึ้น ดับไปแล้ว ทางมโนทวาร ทางใจก็เกิดต่อเสมอ อย่างเวลาที่คิดนึกขึ้นมาว่า ได้ทานของเปรี้ยวๆ ขณะนั้นเหมือนปรากฏอยู่ที่ลิ้นด้วย ตรงนี้คงเป็นสัญญา ความจำ ใช่ไหม จากที่เคยจำไว้ พอรสปรากฏ จะเกิดลักษณะขึ้น แล้วมีความรู้สึกที่ลิ้น ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็เหมือนกรอบเมื่อวานนี้ รับประทานอะไรกรอบแล้ว มันทางไหน นี่ก็คือสภาพธรรมเกิดแล้วดับแล้ว แต่เพราะไม่รู้ ขณะต่อไปก็คิดติดตามด้วยความติดข้อง ซึ่งขณะนั้นก็ไม่รู้ว่า มีโลภะแล้ว ที่ต้องการเข้าใจ ต้องการรู้ เรื่องของการละโลภะ เรื่องของการละความเห็นผิด ต้องเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ

    ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ศึกษาพระอภิธรรม ก็จะศึกษาเรื่องของจิตประเภทต่างๆ ไม่ใช่มีจิตประเภทเดียว และจิตแต่ละประเภทที่เกิดขึ้น ก็มีเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งให้เป็นอย่างนั้น เจตสิกที่เป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งจิต เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต ก็ทำให้จิตหลากหลายเป็นประเภทต่างๆ เราก็ฟังไป แต่วันนี้สิ่งที่ได้ฟังแล้ว สามารถมีการตรึก ไม่ใช่ตัวตน แต่การปรุงแต่งของการฟังที่ละเอียด ก็ทำให้เริ่มที่จะค่อยๆ เข้าใจว่า ตั้งแต่ตื่นมาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ เราอยู่ที่ไหน ถ้ายังเป็นเราอยู่อย่างมากมาย ก็แสดงว่า สิ่งที่ได้ฟังก็น้อย ยังไม่สามารถทำให้ตรึกคิดในความละเอียดของธรรม ที่จะทำให้เห็นความเป็นอนัตตายิ่งขึ้น

    แม้แต่ความคิด ก็บังคับบัญชาไม่ได้ เราเผิน เราไม่ละเอียด แต่เราไม่รู้ว่า แม้แต่การฟังแต่ละครั้งก็ยังไม่ถึงความสมบูรณ์ที่ทำให้ใคร่ครวญธรรมโดยละเอียด แล้วเข้าใจประโยชน์ของการเข้าใจธรรมโดยละเอียด เพื่อที่จะละความเป็นตัวตน

    กรอบ ยังอยู่ไหม เปรี้ยวๆ ยังอยู่ หรือเปล่า น้ำลายที่ออกมา ยังอยู่ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เวลาที่เราเรียนถามคำถาม ขณะนั้นลักษณะของโลภะปรากฏแล้ว หรือ ไม่รู้สึกเลย

    ท่านอาจารย์ ทำไมถึงอยากรู้เรื่อง “กรอบ” เห็นไหม

    ผู้ฟัง ตรงนี้เอง

    ท่านอาจารย์ มีความติดข้อง

    ผู้ฟัง มันซ่อนมากเลย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เห็นโลภะแล้ว ละโลภะไม่ได้ ถ้าไม่เห็นความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ขณะนี้ ก็ละไม่ได้ ต้องละด้วยความรู้เท่านั้น ความรู้ก็คิดเองไม่ได้อีก ต้องเพราะได้ฟังพระธรรม

    ผู้ฟัง ในขณะที่เราใช้ความคิด เราไม่มีทวารไหน

    ท่านอาจารย์ ใช้ความคิดให้ดูสักหน่อย ใช้อย่างไร

    ผู้ฟัง คือหนูอยากจะทราบว่า ขณะนั้นเราจะพิจารณาสภาพธรรมอย่างไร ในขณะที่เราคิดว่า พรุ่งนี้เราจะไปมูลนิธิ พรุ่งนี้เราจะทำอะไรบ้าง ขณะนั้นเราจะพิจารณาอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ตัวตนอยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง หนูไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ แล้วจะละได้อย่างไร เมื่อยังไม่รู้เลย กำลังเป็นตัวตนแท้ๆ จะพิจารณาอย่างไร นี่เป็นตัวตน หรือเป็นความเข้าใจสภาพที่กำลังปรากฏขณะนี้

    แทนที่จะเข้าใจ จะทำ ถ้าเข้าใจแล้วจะทำ หรือเปล่า เพราะรู้ว่า ไม่มีใครทำอะไรได้เลยทั้งสิ้น เพราะเป็นธรรม ทั้งหมดที่เกิดแล้ว ปรากฏเพราะเหตุปัจจัย

    คำถามว่า จะพิจารณาอย่างไร ก็คือว่า ไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นตัวตน การที่จะละความเป็นตัวตนได้ เพราะรู้ ไม่ใช่เพราะทำ ไม่ใช่เพราะจะพิจารณา แต่เป็นเพราะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ทิ้งความเข้าใจไม่ได้เลย พุทธศาสนา คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคำสอนของผู้รู้ ผู้ตรัสรู้ความจริงทั้งหมด โดยประการทั้งปวง และทรงแสดงความจริงให้คนอื่นเข้าใจ คือ รู้ ไม่ใช่ให้ไปทำอะไรเลย อย่างบอกว่าละชั่ว ถ้ายังมีตัวตนอยู่ ละอย่างไร

    ด้วยเหตุนี้พระธรรมที่ทรงแสดง จะไม่พ้นจาก ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ลืมไปแล้ว ไม่ได้เคยคิดเลยว่า เป็นอนัตตา แต่มีเราที่จะละ ละไม่ได้ เพราะเหตุว่าละในที่นี้ หมายความว่าดับเป็นสมุจเฉทด้วย แต่ถ้าไม่มีปัญญาเลย แม้แต่เพียงการจะคลาย หรือการที่กุศลจิตเกิด ก็ไม่มีโอกาสจะเพิ่มได้ เพราะเหตุว่ามีความเป็นตัวตนที่ต้องการทุกอย่างเพื่อตัวเอง จะพิจารณานี่เพื่อตัวเอง หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เพื่อความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีอะไรที่ไม่เข้าใจ เดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง คือตอนที่คิดอยู่

    ท่านอาจารย์ ไม่เอาตอนนั้น ผ่านไปแล้ว หมดไปแล้ว สิ่งที่ผ่านไปแล้ว ไม่กลับมาอีกเลย และก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่เข้าใจขณะนี้ ขณะต่อไปก็ไม่เข้าใจ ถ้าเข้าใจขณะนี้ ความเข้าใจก็จะค่อยๆ สะสม ไม่ว่าสังขารขันธ์จะปรุงแต่ง ชีวิตข้างหน้าจะเป็นอะไร ชาติหน้าจะเป็นอะไร ถึงกาลที่สมบูรณ์ของปัญญาที่จะเข้าใจความจริงขณะนั้น ก็เข้าใจได้ โดยคาดไม่ถึงว่า จะต้องไปเตรียมตัวเข้าใจอะไร แต่ว่าความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ค่อยๆ สะสมไป เมื่อขณะนี้มีสิ่งที่ไม่เข้าใจ ใช่ไหม แล้วจะพิจารณาอย่างไร หรือว่าจะเข้าใจขึ้น

    หนทางเดียวจริงๆ และเป็นหนทางที่จะละโลภะด้วย ขณะนั้นมีโลภะ หรือเปล่า เพราะไม่รู้ จะบอกว่าไม่มีโลภะไม่ได้ โลภะไม่ใช่ปัญญา ถ้าเป็นปัญญาที่รู้ก็ไม่ใช่โลภะ

    ผู้ฟัง ฟังดูแล้วเหมือนกับว่า ควรจะเข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรมเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ผิด หรือ ถูก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    29 ก.พ. 2567