พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 360


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๖๐

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐


    อ.วิชัย รูปที่เป็นอารมณ์ คือ วัณณรูป สามารถรู้ได้ ๒ ทวาร เรากล่าวถึงตัวที่เป็นอารมณ์ สิ่งที่จิตรู้ แต่สิ่งที่จิตรู้ สามารถรู้ได้ทางตาก็ได้ รู้ได้ทางใจก็ได้ สิ่งนั้นก็ต้องเป็นรูปารมณ์ ส่วนสัททารมณ์ก็เช่นเดียวกัน เสียง จิตเกิดรู้ทางโสตทวารรู้เสียง ทางมโนทวารก็สามารถรู้เสียงได้ด้วย สัททารมณ์ก็เป็นสัททารมณ์ คือ รู้ได้ ๒ ทวาร คือ ทางโสตทวาร และทางมโนทวาร

    ผู้ฟัง สรุปแล้ว อารมณ์ที่รู้ทางปสาทรูป ๕ จะรู้ได้ทั้งปัญจทวาร และมโนทวาร เป็นอารมณ์ของทั้ง ๒ ทวาร รู้ได้ ๒ ทาง ใช่ หรือไม่

    อ.วิชัย แล้วแต่ว่าจะกล่าวถึงอารมณ์ไหน ถ้าเป็นรูปารมณ์ ก็รู้ได้ทางจักขุทวาร และทางมโนทวาร

    ผู้ฟัง ความรู้สึกเป็นอารมณ์ของจิตที่เกิดที่จะรู้ได้ ใช่ หรือไม่ ทีนี้สภาพธรรมก็แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ รูปธรรม และนามธรรม อย่างรูปธรรมก็พอจะสังเกตได้ว่า มีความเป็นจริง และเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน แต่ในสภาพของนามธรรม ถ้านามธรรมที่เป็นอารมณ์ของจิต เป็นนามธรรม หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนนามธรรมให้เป็นอย่างอื่นได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง เปลี่ยนนามธรรมให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่ว่าลักษณะ อย่างนามธรรมก็ต้องมีลักษณะของนามธรรม ๒ ประเภท คือ มีจิตกับเจตสิก เวลาขณะที่เกิด จะเข้าใจว่า สิ่งที่เกิด หรือสภาพธรรมที่เกิดเป็นรูปธรรมนามธรรม หรือว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏมีลักษณะเหมือนกัน หรือต่างกัน

    ผู้ฟัง มีลักษณะแตกต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ก็รู้ตามความเป็นจริงในลักษณะนั้น ไม่ต้องใช้ชื่ออะไร

    ผู้ฟัง ไม่ต้องใช้ชื่อ และไม่ต้องตรึก หรือพิจารณาว่า สิ่งนั้นคืออะไร หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ศึกษาเพื่อเข้าใจ ถูกต้องไหม ไม่ใช่จำชื่อ ขณะนี้มีแข็งกำลังปรากฏ หรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ลักษณะที่แข็งปรากฏแล้ว ต้องเรียกชื่ออะไร หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ต้องเรียกชื่อ

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่เคยรู้ว่าแข็งเป็นธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง วันนี้มีแข็งมากมาย ตั้งแต่เช้าที่ปรากฏกระทบสัมผัส รู้ หรือไม่ว่าเป็นธรรม ทั้งๆ ที่แข็งก็ปรากฏ แม้เดี๋ยวนี้แข็งก็ปรากฏ ถามใคร ใครก็บอกว่าแข็ง จับอะไรดูก็แข็ง แต่คนที่ตอบอย่างนั้น รู้ หรือไม่ว่าแข็งเป็นธรรม

    ผู้ฟัง คือ ที่กราบเรียนถามท่านอาจารย์ เนื่องจากสภาพธรรมในชีวิตประจำวันที่เกิดมีหลากหลายมาก ในเรื่องของความรู้สึก ซึ่งตามการศึกษา เมื่อสภาพของความรู้สึกเกิดขึ้นนั้น คือ สภาพอารมณ์ของจิต คือ จิตเกิดขึ้นแล้วรู้อารมณ์ อารมณ์นั้นก็คือสภาพที่เกิดขึ้นจริงๆ ในชีวิตประจำวัน และก็เกิดบ่อยมาก เมื่อสภาพธรรมเหล่านั้นเกิดขึ้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการคิดนึกต่อในสภาพธรรมที่ปรากฏนั้นว่าเป็นสิ่งใด และเป็นลักษณะปรมัตถธรรมชนิดไหน

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่กำลังเกิด เราเคยฟังมาแล้ว นามธรรมก็เคยฟัง รูปธรรมก็เคยฟัง ความรู้สึกก็เคยฟัง แต่ไม่ได้รู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพนั้นๆ ที่กำลังปรากฏ ปัญญาคือสามารถเข้าใจลักษณะนั้นว่า ลักษณะนั้น จริงๆ ไม่ต้องเรียกอะไรเลย แต่มีจริงๆ และเป็นลักษณะของธรรม ถ้าสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของธรรมที่ปรากฏโดยตลอดทั้ง ๖ ทาง จะมีเรา หรือมีธรรม

    ผู้ฟัง มีธรรม แต่เหมือนกับเข้าไม่ถึงลักษณะของสภาพธรรม แต่สภาพธรรมในชีวิตประจำวันเกิดจริง และความรู้สึกมีจริง เมื่อเกิดความรู้สึกขึ้น ก็เกิดความสงสัยว่า สิ่งที่เกิดขึ้น เรียกว่าเป็นอารมณ์ของจิต หรือจะเรียกว่า เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง นี่คือความคิดนึกซึ่งเกิดจากการฟังธรรม

    ท่านอาจารย์ เวลาฟังธรรมก็ทราบว่า คำว่า “อารมณ์” ในภาษาไทย หรืออารัมมณะ ในภาษาบาลี หมายความถึงสิ่งที่จิตกำลังรู้ อะไรก็ได้ทั้งหมดที่จิตกำลังรู้เป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง อย่างนั้นไม่ว่าสภาพสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นเป็นสภาพธรรม และเป็นเพียงระยะสั้นๆ เล็กน้อย นอกจากก็จะคิดนึกหมดใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ คิดนึกเป็นธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เรื่องที่คิดเป็นธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นสมมติบัญญัติ เป็นความทรงจำ เป็นเรื่องราวของจิตที่กำลังคิด

    ผู้ฟัง วิถีจิตแรกที่เกิดกับทวารต่างๆ และก็ยังมีจิต เจตสิกอีก ไม่เข้าใจตรงนี้

    อ.อรรณพ จิตเกิด ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ

    ผู้ฟัง วิถีจิต คือ อย่างไร

    อ.อรรณพ วิถีจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ ตอนที่หลับสนิทเป็นวิถีจิต หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    อ.อรรณพ แต่ตอนหลับสนิทมีจิต หรือไม่

    ผู้ฟัง หลับสนิทก็มีจิต

    อ.อรรณพ ขณะที่หลับสนิท จิตเป็นกุศล เป็นอกุศล หรือเป็นวิบาก หรือเป็นกิริยา

    ผู้ฟัง จิตที่หลับสนิทเป็นวิบาก

    อ.อรรณพ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นให้เข้าใจว่า ขณะที่เป็นวิถีจิต อย่างขณะเห็น ขณะนี้เป็นวิถีจิต เป็นวิถีจิตทางตา มีจิตเห็นเกิดขึ้นพร้อมกับเจตสิกทั้ง ๗ เกิดขึ้นพร้อมกัน และดับพร้อมกัน และขณะที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ขณะที่มีจิต และเจตสิกเหล่านี้อยู่ ก็รู้สี คือ รู้รูปารมณ์เดียวกัน

    ผู้ฟัง แล้วทุกทวารเหมือนกันอย่างนี้หมดเลยใช่ หรือไม่

    อ.อรรณพ จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    ผู้ฟัง จะต้องมีเจตสิก ๗ ดวง เกิดขึ้นพร้อมกัน

    อ.อรรณพ เฉพาะจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น เฉพาะจิตลิ้มรส เฉพาะจิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย จะมีเจตสิกเพียง ๗ แต่ถ้าเป็นจิตอื่นก็มีเจตสิกมากกว่านี้ อาจจะมี ๑๐ เช่น ปัญจทวาราวัชชนจิต ก็มีเจตสิกอื่นเพิ่มด้วย เพราะว่าเป็นจิตขณะแรกของวิถี ก็มีวิตกที่ตรึกในอารมณ์นั้น วิจาร คือ สภาพที่วิจาร ซึ่งไม่ใช่วิจารอย่างที่เราคิดว่าเป็นเรื่องราว แต่เป็นกิจของสภาพธรรมที่แสนอัศจรรย์ และเกิดขึ้นทำกิจสั้นๆ อธิโมกข์ ความปักใจมั่นคง ซึ่งจิตบางอย่างเวลาที่เราลังเลสงสัย ขณะนั้นไม่มีอธิโมกข์เกิด เช่น ลังเล และสงสัยว่า ธรรมของพระพุทธเจ้าจริง หรือเปล่า จะบอกว่าจริงก็ไม่เต็มปาก จะบอกว่าไม่ใช่ก็คลุมเครือ ขณะที่ลังเลสงสัย นั่นไม่มีอธิโมกข์ แต่มีลักษณะของเอกัคคตา เพราะเป็นเพียงให้เกิดความตั้งมั่นขึ้นเท่านั้นเอง แต่ไม่ใช่ปักใจ เพราะฉะนั้นเรื่องต่างๆ เหล่านี้ต้องค่อยๆ ศึกษาไป แต่เริ่มต้นขอให้เข้าใจว่า ขณะที่เห็นไม่ใช่เรา เพราะเป็นจิต และเจตสิกอีก ๗ ที่เกิดขึ้น และรู้อารมณ์

    ผู้ฟัง เมื่อศึกษาเรื่องจิต ก็จะมีรายละเอียดของจิตมาก เช่น ชาติ ภูมิ กิจ วิถี ไม่ใช่วิถี หรือเจตสิกก็จะแบ่งไป รูป ๒๘ ถ้ากล่าวถึงนัยจิต เจตสิก รูป ในนัยของขันธ์ อายตนะ ปฏิจจสมุปบาท อริยสัจ ๔ อินทรีย์ ... . จะถามว่า ปัญญาสามารถเข้าใจให้เป็นเรื่องเดียวกันได้ว่า ถึงที่สุดแล้ว ศึกษาแล้ว ก็คือ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ผิดจากความเป็นจริง ตามที่ได้ศึกษา คุณอรวรรณได้ยินคำว่า “อนัตตา” เข้าใจว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง อนัตตา ก็คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และบังคับบัญชาไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นอนัตตา หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นอนัตตา

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะประจักษ์ความจริง ไม่ใช่กล่าวว่าเป็นเฉยๆ ก็แล้วไป ไม่ใช่อย่างนั้น การศึกษาไม่จบสิ้น จนกว่าจะรู้ความจริงของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นหมายความว่า เมื่อเราศึกษา เราก็ศึกษาไปทีละเรื่อง แต่ที่สุดแล้วก็ให้เข้าใจ เพราะลักษณะของสภาพธรรมก็จะมีอยู่แค่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส คิดนึก รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่เราลงละเอียดแต่ละนัย ก็เพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมให้ละเอียดยิ่งขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าความจริงมากเหลือเกิน เช่น จิตเห็นขณะนี้เป็นธาตุ เข้าใจ หรือไม่ ไม่ใช่เรา สามารถเห็นเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้น ขณะได้ยินเสียงไม่ใช่จิตเห็นแล้ว ก็เรื่องจริงๆ ตามความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริง จนกว่าจะเข้าใจขึ้น จนกว่าสามารถประจักษ์แจ้งความจริงซึ่งเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ต้องตรง เมื่อเข้าใจว่า อนัตตาไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นธรรม จะหยุดอยู่เพียงเท่านั้น คือ ไม่ได้รู้จริง เพียงแค่นั้นไม่พอ เมื่อรู้เข้าใจ ยังไม่จบ ยังจะต้องถึงการประจักษ์แจ้งด้วย

    ผู้ฟัง ถ้ายกตัวอย่างจิตเห็น เมื่อศึกษาแล้วก็จะทราบว่า เมื่อมีสีสันมากระทบกับจักขุปสาทรูป ก็เป็นเหตุปัจจัยให้จิตเห็นเกิด แล้วก็จะมีวิถีจิตตามที่เราเรียน ถ้ากล่าวโดยนัยของธาตุ ก็จะอธิบายให้เข้าใจแบบนี้เช่นเดียวกัน หรืออายตนะก็เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ก็จนกว่าทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตายเป็นธรรม ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง เรื่องธัมมารมณ์ อารมณ์ของทางใจ ก็มีปสาทรูป สุขุมรูป จิต เจตสิก นิพพาน และบัญญัติ จิตจะต้องรู้อารมณ์ใน ๕ ทวารด้วย ยกตัวอย่าง รูปารมณ์ เรียนถามว่า ในขณะซึ่งรูปดับไปแล้วทางปัญจทวาร ทางมโนทวารเกิด สงเคราะห์อยู่ในอะไรใน ๖ อารมณ์นี้

    อ.วิชัย วิถีจิตทางจักขุทวารเกิดขึ้นรู้รูปารมณ์ หลังจากวิถีจิตทางจักขุทวารดับแล้ว รูปก็ดับด้วย มีภวังคจิตคั่น มโนทวารสามารถรู้รูปารมณ์นั้นที่ดับไปแล้วเป็นอารมณ์ได้

    ผู้ฟัง ขณะใด

    อ.วิชัย แต่ว่าดับไปแล้ว ธัมมารมณ์นี้ความหมายก็คือ อารมณ์ที่รู้ได้เฉพาะทางใจ อย่างเช่นจิต จะรู้ทางตาไม่ได้ รู้ทางหูไม่ได้ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายไม่ได้ทั้งสิ้นเลย ต้องรู้ได้เฉพาะทางมโนทวารเท่านั้น คือจิต เจตสิกก็เช่นเดียวกัน ปสาทรูป สุขุมรูป นิพพาน และบัญญัติ ทั้งหมดนี้รู้ได้เฉพาะทางใจ

    ท่านอาจารย์ ขอถามนิดหนึ่ง ไม่เรียกว่า “ธัมมารมณ์” ได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ธรรมไม่เรียกชื่อได้ แต่ก็จะไม่ทราบว่า อะไรที่รู้ทางใจ

    ท่านอาจารย์ เรียกเพื่อให้รู้ความต่าง

    ผู้ฟัง ธัมมารมณ์เป็นสิ่งที่รู้ได้ทางใจเท่านั้น ไม่ใช่รูปารมณ์ ไม่ใช่สัททารมณ์ ไม่ใช่กลิ่น รส

    ผู้ฟัง รูปารมณ์ที่รู้ทางใจ ก็เป็นความคิดนึก หรือ

    ท่านอาจารย์ รูปที่ปรากฏทวารหนึ่งทวารใดแล้ว แม้ว่าภวังคจิตเกิดคั่น แต่การกระทบ และการรู้อารมณ์นั้นทางทวารนั้นเป็นปัจจัยให้มโนทวาราวัชชนจิตสามารถเกิดขึ้น และรู้ได้ในสิ่งที่เคยเกิดแล้ว และเพิ่งดับไป และแท้ที่จริงแล้วเกิดดับสืบต่อหลายวาระ

    ผู้ฟัง แต่รูปารมณ์ก็ไม่ใช่ปสาทรูป และไม่ใช่สุขุมรูป

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จึงได้ถามว่า การที่เราจำเป็นจะต้องใช้คำว่า “ธัมมารมณ์” ให้รู้ว่า หมายถึงเฉพาะรูปที่รู้ได้ทางใจเท่านั้น รูปารมณ์ที่ปรากฏทางตา เวลาที่มโนทวาร รู้รูปารมณ์ ต่างกัน หรือเหมือนกันกับรูปารมณ์ที่ปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนลักษณะของรูปารมณ์ให้เป็นอื่นได้ หรือไม่ ไม่ให้เป็นอย่างรูปารมณ์ที่ปรากฏแล้ว ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ รูปารมณ์ไม่ว่าจะปรากฏทางไหนก็เป็นรูปารมณ์

    ผู้ฟัง อย่างนั้นลักษณะอารมณ์ที่รู้ได้ทางมโนทวาร ก็ต้องรู้ทางปัญจทวารได้ด้วยทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ อย่าเพิ่งสับสน รูปารมณ์ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหูสามารถรู้ได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ทางใจรับรู้ต่อ เพราะฉะนั้นทางใจรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง ไม่เว้นเลย นี่เป็นข้อหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะเป็นอารมณ์อะไร ปรากฏทางไหน มโนทวารรู้ต่อเสมอ เว้นขณะจุติ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีมโนทวารเกิดขึ้นรู้ต่อ นี่เป็นเหตุที่ปฏิสนธิจิตก็มีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จุติของชาติก่อนแทนวิถีทางมโนทวาร

    เวลาที่ใช้คำว่า อารมณ์ที่รู้ได้เฉพาะทางมโนทวารเท่านั้นในภาษาไทย อย่างจิต ไม่สามารถจะรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ด้วยเหตุนี้จิตเป็นสภาพที่รู้ได้ทางใจ จึงเป็นธัมมารมณ์ เจตสิกก็ไม่สามารถรู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เจตสิกเป็นธัมมารมณ์ แม้แต่ปสาทรูป สุขุมรูป นิพพาน บัญญัติ ก็รู้ได้เฉพาะทางใจเท่านั้น

    ต้องแยก รูปารมณ์เป็นธัมมารมณ์ได้ หรือไม่ ไม่ได้ แต่รู้ได้ทางมโนทวาร สัททารมณ์เป็นธัมมารมณ์ใช่ไหม ไม่ใช่ แต่รู้ได้ทางมโนทวารด้วย เปลี่ยนลักษณะของอารมณ์นั้นๆ ไม่ได้เลย อารมณ์นั้นๆ ยังปรากฏเป็นอย่างนั้น เพียงแต่ว่าจะรู้ทางทวารไหน

    ผู้ฟัง ขอทวนความเข้าใจ คือ ธัมมารมณ์ ก็คืออารมณ์ที่รู้ได้เฉพาะทางใจเท่านั้น แต่ถ้าเป็นรูปารมณ์ สัททารมณ์

    ท่านอาจารย์ รู้ได้ ๒ ทวาร เพราะอะไร เพราะมโนทวารรู้อารมณ์ได้ทุกอารมณ์ มโนทวารสามารถรู้อารมณ์ต่อจากทางทวารนั้นๆ แต่ถ้าไม่มีทางทวารนั้นๆ มโนทวารก็ยังนึก หรือจำอารมณ์นั้น แต่ไม่ใช่อารมณ์นั้น เพราะฉะนั้นเวลาที่ฝัน ฝันเห็นรูปารมณ์ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ฝันเห็นก็เป็นคิดนึก แต่ไม่มีรูปารมณ์

    ท่านอาจารย์ เพียงจำไว้อย่างแน่นหนาเลย ไม่ลืมเลย เพราะฉะนั้นสามารถจะนึกถึงสีสันวัณณะ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องราว เพราะแม้แต่ในขณะนี้ที่รูปารมณ์ สิ่งที่ปรากฏทางตากำลังปรากฏ แต่ไม่รู้เลย เป็นเรื่องราวหมดเลย เป็นคน เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ ไม่ได้รู้ความเป็นจริงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏแล้วหมดไป แล้วก็มีการคิดนึก จำสิ่งที่ปรากฏไว้เป็นรูปร่าง เป็นบุคคลต่างๆ

    เมื่อจำสิ่งที่ปรากฏทางตาโดยรูปร่างสีสัน เป็นเรื่องราวต่างๆ เวลาที่ฝันเหมือนเห็น แต่ไม่ได้มีรูปารมณ์ปรากฏในฝัน แต่เป็นเพียงสัญญา ความจำ และส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องราว เหมือนกับขณะนี้กำลังคิดเรื่องราว ไม่ได้สนใจในสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งเกิดแล้วดับแล้ว แต่ว่าจำ เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ฉันใด เวลาที่ฝันก็ฝันเป็นเรื่องเป็นราว เห็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนนั้นคนนี้ แต่ให้ทราบว่า ทางมโนทวารขณะนั้นไม่ใช่มีรูปารมณ์เป็นอารมณ์ แต่ว่ามีบัญญัติเป็นอารมณ์ แต่เวลาที่ทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เกิดแล้วดับ มีภวังค์คั่นก็จริง แต่มโนทวารวิถีจิตที่เกิดต่อ มีรูปที่เป็นรูปารมณ์จริงๆ แต่เป็นรูปที่ดับแล้ว นี่เป็นความต่างกัน

    ผู้ฟัง ในชีวิตจริงๆ เนื่องจากสติปัฏฐานยังไม่เกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรม ยกตัวอย่างเช่น เห็นขณะนี้ก็เป็นดอกไม้ ท่านอาจารย์ และท่านวิทยากร เวลาในฝัน เราก็ไม่เคยฝันเห็นรูปารมณ์ แต่จะฝันถึงท่านอาจารย์ ก็ได้เห็น และได้คุยสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องราวที่เหมือนเราไม่เคยจำรูปารมณ์ หรือสัททารมณ์

    ท่านอาจารย์ จริงๆ เหมือนขณะนี้ หรือไม่ หรือเป็นคนอื่นในฝันไป ไม่ใช่คนนี้ที่กำลังเห็น

    ผู้ฟัง ก็เหมือนท่านอาจารย์ ถ้าฝันถึงคุณธิดารัตน์ก็จะเหมือนคุณธิดารัตน์

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่มีรูปารมณ์ปรากฏ เพราะไม่มีอะไรกระทบจักขุปสาท

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติลักษณะของสติปัฏฐานยังไม่เกิด เราไม่มีทางฝันเป็นรูปารมณ์ เพราะเราไม่เคยรู้รูปารมณ์จริงๆ

    ท่านอาจารย์ มีความจำเรื่องราว และจำรูปารมณ์ด้วย ถ้าไม่มีรูปารมณ์ จะกล่าวว่าเป็นคนนั้นคนนี้ เห็นคนนั้นคนนี้ได้อย่างไร แต่เป็นเพียงความจำ ซึ่งจำเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรื่องเป็นราว แต่สภาพของรูปารมณ์จริงๆ วัณณธาตุต้องกระทบจักขุปสาทรูป แล้วจิตเห็นเกิดขึ้น จึงกล่าวว่าขณะนั้นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นวัณณธาตุจริงๆ ในฝันไม่มีอะไรมากระทบจักขุปสาท จิตเห็นก็ไม่ได้เกิด มีแต่ความจำเรื่องราว

    ผู้ฟัง ขออนุญาตถามเรื่องธาตุ

    ท่านอาจารย์ โลภะเป็นธาตุ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นธาตุ

    ท่านอาจารย์ โทสะเป็นธาตุ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นธาตุ

    ท่านอาจารย์ เสียงเป็นธาตุ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นธาตุ

    ท่านอาจารย์ ได้ยินเป็นธาตุ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นธาตุ

    ท่านอาจารย์ คิดนึกเป็นธาตุ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นธาตุ

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีจริงทั้งหมดที่เป็นธรรมก็เป็นธาตุทั้งหมด

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นเวลาศึกษาธาตุ ๑๘

    ท่านอาจารย์ ประมวลธาตุทั้งหมดเป็น ๑๘ ประเภท แต่ถ้าแจกก็คือทุกอย่าง อย่างธรรมธาตุ เป็นโลภะ โทสะ โมหะ เจตสิก นี่คือการแยกละเอียด ธรรมธาตุก็ต้องเว้นธาตุอื่นๆ ที่ได้แจกออกไปแล้ว

    ผู้ฟัง ซึ่งเวลาศึกษาจะรู้สึกว่าละเอียด และสับสน ไม่ค่อยจะเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจ สิ่งที่ได้ยินได้ฟังจริงๆ ไม่เข้าใจก็ไตร่ตรองจนกว่าจะเป็นความเข้าใจ แต่ว่าอย่าข้าม และอย่าคิดว่าเข้าใจแล้ว ซึ่งจะสับสน ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ

    ผู้ฟัง ก็ต้องฟังให้เข้าใจจริงๆ ตรงไหนที่ติด ก็ไปดูว่า จริงๆ แล้วคืออะไร อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ความจริงก็ทนต่อการพิสูจน์ สามารถค่อยๆ ไตร่ตรอง ค่อยๆ เข้าใจได้ ตามกำลังของการพิจารณา

    ผู้ฟัง ความเข้าใจยังไม่มั่นคง คือ ปัญญายังไม่พอ อย่างเช่นเรื่องธาตุ ฟังซีดีตั้งหลายครั้ง แต่พอสนทนาธรรมก็

    ท่านอาจารย์ ธรรมทุกอย่างที่มีจริงเป็นธาตุทั้งหมด จะใช้คำว่า “ธาตุ” หรือ “ธรรม” ก็ได้ จากคำเดียว คือ ธรรม หรือธาตุ แยกเป็นนามธาตุกับรูปธาตุได้ หรือไม่ เพราะว่าลักษณะต่างกัน นามธาตุไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น ปราศจากรูปแม้แต่เป็นรูปที่ละเอียดสักเท่าไร ก็ไม่มี เป็นธาตุรู้ คิดถึงธาตุนั้น ขณะนี้มี ไม่มีรูปร่าง ไม่ใช่รูปร่าง ไม่ใช่รูปใดๆ แต่เป็นธาตุที่เกิดแล้วเห็น เกิดแล้วจำ เกิดแล้วรู้สึก เกิดแล้วคิด เกิดแล้วเสียใจ เกิดแล้วดีใจ นี่คือธาตุทั้งหมดเลย เพราะไม่ใช่เรา มีจริงๆ เป็นลักษณะของธาตุแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้นจากคำว่า “ธาตุ” หรือ “ธรรม” คำเดียว แต่ว่าธรรมก็หลากหลายแล้วแยกประเภทใหญ่ๆ เป็นนามธาตุกับรูปธาตุ เริ่มจากอย่างนี้ รูปธาตุก็เป็นสภาพที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น แม้มองไม่เห็น อย่างกลิ่น มองไม่เห็นเลย แต่กลิ่นไม่ใช่สภาพรู้ กลิ่นเป็นธาตุอะไร

    ผู้ฟัง เป็นรูปธาตุ

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าศึกษาแล้วก็ทราบว่า มีธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ก็สามารถกล่าวได้จากความเข้าใจว่า เสียงเป็นปรมัตถธรรมอะไร

    ผู้ฟัง เป็นรูป

    ท่านอาจารย์ เป็นธาตุอะไร

    ผู้ฟัง เป็นรูปธาตุ คือเข้าใจหลักใหญ่ แล้วไม่ต้องไปติดคำสองคำที่เรายังไม่เข้าใจ

    อ.กุลวิไล สำหรับการศึกษาในส่วนของพื้นฐานพระอภิธรรม ก็เพื่อให้เรามีความเข้าใจถูกในสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    15 ม.ค. 2567