พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 324


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๒๔

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นความจริงของสิ่งที่ปรากฏทางตาแท้ๆ คืออะไร ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาอย่างมั่นคงที่จะรู้ว่า ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ตราบนั้นจะไม่มีทางที่จะดับกิเลส หรือความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมได้ ไม่ต้องไปไหน ไม่ต้องไปทำอะไรที่ไหนเลย มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เข้าใจถูกต้องว่ารู้จริง หรือเปล่า เข้าใจ หรือเปล่า หรือเพียงฟัง เริ่มเข้าใจ แต่ยังไม่เห็นตามความเป็นจริงอย่างนั้น จนกระทั่งบ่อยๆ

    เห็นใครก็ตามครั้งแรก จำได้ไหม หรือว่าหลายๆ ครั้งก็จะจำได้ เพราะฉะนั้นแม้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาจะปรากฏอยู่เรื่อยๆ เลย แต่ถ้าไม่ได้ฟังโดยแยบคาย ไม่ได้รู้ว่า ปัญญารู้อะไร ไปคิดว่าปัญญารู้อย่างอื่น ไปคิดว่าไปศึกษาธรรม คือ ตัวเลข ตัวหนังสือ ชื่อต่างๆ โดยที่ไม่รู้ว่า แท้ที่จริงทั้งหมดที่ทรงแสดง คือ ความจริงของสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งกำลังปรากฏนั่นเอง ให้เห็นความละเอียด ให้เห็นความน่าอัศจรรย์ ว่าเป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตา ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ และความละเอียดก็คือว่า ไม่ใช่เพียงพูดเรื่องชาติ หรือชีวิตอย่างหยาบๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย แต่พูดถึงขณะจิตแต่ละขณะ ซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป แล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น โดยใครจะรู้ หรือไม่รู้ก็ตาม ธรรมก็เป็นอย่างนี้

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ให้เข้าใจด้วยเพื่อเข้าใจความจริงของธรรม ไม่ใช่เป็นเราเมื่อไรจะเข้าใจธรรม ก็มีตัวเราขึ้นมาอีก ไม่ได้เข้าใจว่า ทั้งหมดเป็นธรรม กำลังฟังเรื่องธรรม คิดเป็นธรรม เข้าใจเป็นธรรม ไม่เข้าใจก็เป็นธรรม คือ ทุกอย่างเป็นธรรม จนกว่าจะไม่ยึดถือว่าเป็นเรา

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่าเป็นธรรม ก็พอจะเข้าใจในขั้นของการฟัง แต่ในบางครั้งรู้สึกว่า ธรรมต่อเนื่อง คืออยู่กับเราตลอดเวลา จากการฟัง การศึกษา ก็บอกว่า มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

    ท่านอาจารย์ รู้อย่างนั้นเลย หรือ

    ผู้ฟัง รู้โดยพยัญชนะ รู้โดยการฟัง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเรารู้ตามความเป็นจริงว่า ฟังจากผู้ที่ตรงตรัสรู้ ทรงแสดงอย่างนี้ แต่ปัญญาของผู้เริ่มฟังแค่ไหน ใช่ หรือไม่ แม้แต่เป็นธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตนก็ยังเข้าไม่ถึง

    เพราะฉะนั้นแทนที่เราจะไปกล่าวถึงโพธิปักขิยธรรม หรืออะไรต่างๆ ก็ตาม ถ้าไม่เข้าใจลักษณะของธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ไม่มีปัจจัยพอที่ปัญญาจะเจริญถึงขั้นที่เป็นโพธิปักขิยธรรม คือ ธรรมที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ปัญญาต้องเกิดตามลำดับ

    สาวก คือ ผู้ฟัง ไม่ได้บำเพ็ญบารมีที่จะถึงการตรัสรู้สภาพธรรมด้วยตนเอง ถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และก็ไม่ได้สะสมบารมีถึงความเป็นปัจเจกพุทธะ ที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมโดยไม่ต้องฟัง แต่จะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง สาวกบารมี กี่ชาติกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น ใครจะบอกว่า เขารู้อะไร เขาประจักษ์อะไร ก็เป็นเรื่องความคิดของแต่ละคน แต่จิตขณะนี้ของแต่ละคนเป็นอะไร เกิดดับทีละขณะ แล้วก็เห็น แล้วก็ไม่เห็น แล้วก็ได้ยิน แล้วก็ไม่ได้ยิน คือ ไม่มี แล้วมี แล้วก็หามีไม่ ตลอดหมดเลยแต่ละทวาร โดยที่ไม่รู้เลย

    เพราะฉะนั้นปัญญาเกิดขั้นฟังให้เข้าใจก่อน อย่ารีบร้อนที่จะไปให้มีปัญญาขั้นอื่น ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย กำลังอยู่ที่เชิงเขาสูงมาก ขึ้นไปบนเขา จะทำอย่างไรดี กระโดด หรืออย่างไร ก็เป็นเรื่องของปัญญาซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะข้ามขั้น หรือจะอาศัยเครื่องมืออื่นไม่ได้เลย

    “พุทธะ” เป็นปัญญาที่รู้ความจริง “ศาสนา” คือ คำสอนของผู้ที่รู้ความจริง เพราะฉะนั้นผู้ฟังก็ต้องไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความจริงของสิ่งนั้น โดยไม่มีความมุ่งหมายว่าจะต้องไปเป็นอย่างนั้น จะต้องไปเป็นอย่างนี้ โดยไม่เข้าใจอะไรเลย แต่ทั้งหมดนี้ปัญญาจะค่อยๆ ทำ หน้าที่ของปัญญา ไม่ใช่เราทำ คือ ละความไม่รู้ จนกว่าจะรู้ความจริงของสภาพธรรมจนประจักษ์แจ้งได้ มิฉะนั้นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเป็นโมฆะ ถ้าไม่มีใครสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ได้ แต่ต้องอาศัยกาลเวลา และเป็นผู้ตรง สัจบารมี ตรง และยังมั่นคงเป็นอธิษฐานบารมี ที่จะเป็นสัจญาณ ไม่ไปสู่ขณะอื่น และทิ้งการไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยไปขวนขวายทำอย่างอื่น เพราะเข้าใจว่าจะรู้อย่างอื่น

    ผู้ฟัง เวลาฟังแล้วก็เกิดความหวัง แต่ท่านก็เคยกล่าวว่า ถ้าหวังก็กั้นทันที

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน แล้วหวังเป็นธรรม หรือไม่ ต้องมีความอาจหาญร่าเริงที่จะเข้าใจถูกต้อง

    ผู้ฟัง เป็น แต่ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เมื่อก่อนหน้านี้กล่าวว่าอย่างไร หวัง แล้วจะเป็นอย่างไร นอกจากหวัง หวังก็เป็นหวัง

    ผู้ฟัง แต่ท่านถามว่า เป็นธรรม ทุกๆ ครั้งก็ตอบได้ว่า เป็นธรรม เพราะว่าศึกษามา แต่ไม่ทราบจริงๆ ว่า เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ กำลังหวังเป็นอย่างอื่น หรือเป็นหวัง

    ผู้ฟัง เป็นหวัง

    ท่านอาจารย์ นั่นละ คือลักษณะนั้นแหละ เป็นธรรมชนิดหนึ่ง

    ผู้ฟัง แต่เราไม่เข้าถึงตรงลักษณะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะเข้าถึงได้อย่างไร ปัญหาอยู่ตรงนี้ ด้วยปัญญา หรือด้วยความเป็นเรา ต้องให้เราออกไปมากๆ หมดเลย กว่าจะรู้ความจริงของลักษณะของสภาพธรรมได้ ยังเป็นเราอยู่ทั้งแท่ง จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้อย่างไร รู้เมื่อไร ก็เราทั้งนั้น วันนี้พบเราทั้งวัน และจะธรรมอย่างไร ไม่ได้พบธรรมเลย เพียงแต่จะปล่อยออกจากเงื้อมมือไปสู่การเข้าใจถูกต้อง ยังไม่ปล่อยเลย

    ผู้ฟัง คือปล่อยไม่ได้ ไม่ยอมปล่อย

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าไม่มีปัญญา ตัวตนไม่มีทาง จะต้องมีโลภะครอบครองอยู่เสมอ ไม่พ้นจากกำลังของโลภะได้ จนกว่าปัญญาเกิดเมื่อไร ค่อยๆ เจริญขึ้น ก็จะค่อยๆ ออกจากโลภะ และเมื่อนั้นจะเห็นความต่างกันของขณะที่อยู่ภายใต้อำนาจของโลภะกับการเป็นอิสระพ้นจากโลภะทีละเล็กทีละน้อย ก็เห็นความต่าง

    ผู้ฟัง ที่ว่าฟังว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่มีเรา จนจรดกระดูก ขอความกรุณาท่านอาจารย์อธิบาย

    ท่านอาจารย์ เข้าใจจริงๆ ไม่เปลี่ยน ไม่ใช่เพียงผิวเผิน แต่มั่นคง ไม่เปลี่ยน

    ผู้ฟัง คือเข้าใจขั้นฟังขั้นเรื่องราวก็ได้ แต่ว่า

    ท่านอาจารย์ ก็แสดงให้รู้ว่า ปัญญายังไม่เจริญถึงขั้นต่อๆ ไป ต้องอาศัยการฟังต่อไปอีก เพื่อละโลภะ เพื่อละความหวัง เพื่อละการต้องการถึงโดยไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ด้วย ไม่ใช่ขณะอื่น

    ผู้ฟัง เพราะจรืงๆ ความเป็นเราเหนียวแน่นมากๆ

    ท่านอาจารย์ ไม่อย่างนั้นคงไม่ต้องอาศัยการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ใครบอกให้นั่ง ประเดี๋ยวก็รู้ นั่นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง สมมติเรามีปัญหาที่ต้องตัดสินใจหนักในชีวิต ก็บอกว่าทุกอย่างเป็นธรรม เดี๋ยวก็จะมีผลของกรรมตามที่ได้สะสมไว้ แต่จริงๆ ก็คิดว่า เป็นเรา ก็จะทุกข์อย่างนี้ เราก็ทุกข์อยู่กับปัญหาอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจริงๆ ต้องอาศัยเป็นผู้ละเอียดรอบคอบ มั่นคง ตรง และความจริงเป็นเรา หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจจริงๆ ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ นั่นละ คือ จรดกระดูก

    ผู้ฟัง ต้องฟังอีกนาน

    ท่านอาจารย์ มีใครบ้าง ที่ไม่ฟังในครั้งก่อน แม้พระภิกษุทั้งหลายอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อยู่ทำไม พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ อยู่ทำไม ถ้าไม่ฟังพระธรรม และเวลาที่เสด็จจาริกไปที่อื่น ก็ติดตามไปเพื่ออะไร เพื่อฟังพระธรรม ท่านเป็นพระภิกษุในครั้งโน้น ลองคิดถึงในครั้งที่ได้เฝ้าเฉพาะพระพักตร์ ได้เห็นมีศรัทธา อย่างท่านที่มีศรัทธาจะเห็นพระรูปกายของพระผู้มีพระภาค พระวักลิ แต่ก็ยังมีศรัทธาในความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    พระพุทธรูปงามไหม เพราะว่ามีทั้งที่งาม และไม่งาม พระพุทธรูปซึ่งใครๆ ก็กล่าวว่า งามมาก เห็นแล้วมีศรัทธาไหม เหมือนทำให้ระลึกถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บางคนก็คิดเลยว่า นี่เป็นพระพุทธเจ้า แต่ความจริงเป็นไม่ได้ จะเป็นได้อย่างไร เป็นแต่สิ่งที่ทำให้เหมือน คล้ายคลึงเท่าที่จะคิดว่า จะทำให้ระลึกถึงพระรูปกายได้ คือว่า ไม่เหมือนรูปอื่นๆ ของคนอื่นๆ เมื่อมีศรัทธาแล้ว มีโลภะติดข้องในรูปนั้นด้วย หรือเปล่า

    เห็นไหม ต้องเป็นผู้ที่ตรง แต่ไม่ใช่มีแต่เฉพาะความติดข้อง ยังมีศรัทธาด้วย ก็ต้องแยกกัน แม้แต่ในปัจจุบัน เห็นพระพุทธรูปงาม ก็มีศรัทธาด้วย และมีโลภะด้วย คนละขณะ ฉันใด ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็จะมีสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง สืบต่ออย่างรวดเร็ว ซึ่งปัญญาเท่านั้นที่จะสามารถรู้ได้ว่า เป็นธรรมทั้งหมด

    เพราะฉะนั้นกำลังมีปัญหาหนักๆ ถ้าไม่มีจิต มีปัญหาไหม ถ้าเป็นกุศลจิต มีปัญหาไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีโลภมูลจิต กำลังเพลิดเพลินสนุกสนาน มีปัญหาไหม มี หรือไม่มี

    ผู้ฟัง ไม่มี เพราะว่ากำลังสนุกเพลิดเพลิน

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจสิ่งที่มีตามความเป็นจริง ต้องเป็นจิตปรมัตถ์ แต่จิตประเภทไหน แม้ได้ฟังแล้ว บางคนก็ตอบอย่างหนึ่ง อีกคนก็ตอบอีกอย่างหนึ่ง ทั้งๆ ที่ฟังด้วยกัน

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นความคิด ยังไม่ใช่การประจักษ์ลักษณะของธาตุนั้นจริงๆ จึงคิดไตร่ตรอง และพูดตามความคิด แต่ถ้าเป็นขณะที่กำลังรู้ตรงลักษณะนั้น ต้องคิดอะไร หรือเปล่า ในเมื่อกำลังรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น

    นี่ก็เป็นปัญญาที่ต่างขั้น แต่ก็ต้องรู้ได้ว่า ถ้าไม่มีปัญญาประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม จะเป็นพระอริยบุคคลไม่ได้ จะดับกิเลส ความสงสัย ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมไม่ได้

    ผู้ฟัง เพียงขั้นเห็น ได้ยิน ว่าเป็นธรรม ดูเหมือนจะรู้ยากมากๆ เลย

    ท่านอาจารย์ ก็ยังมีโอกาสที่ได้ฟัง ลองคิดถึงชาติไหนซึ่งไม่มีโอกาสได้ฟัง แล้วจะเป็นอย่างไรชาตินั้น และโอกาสที่จะได้ฟัง จะมีโอกาสต่อไปอีกมาก หรือน้อย ไม่มีใครรับประกันได้เลย และเมื่อได้ฟังอีกในชาติต่อๆ ไป จะเข้าใจเพิ่มขึ้นอีกเท่าไร ไม่ต้องไปหวังมากมายอะไรเลย พิสูจน์จากชาตินี้ กำลังมีธรรมปรากฏ กำลังฟังเรื่องธรรม มีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แค่ไหน เพียงแม้แต่เป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เริ่มเห็นความต่างของอัตตานุทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวตน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด กับความเข้าใจถูก เห็นถูกว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน อัตตากับอนัตตา ตรงกันข้าม เป็นเพียงธรรมเท่านั้นจริงๆ ที่กำลังปรากฏให้รู้ ให้เข้าใจ จนกว่าปัญญาสามารถรู้ได้

    ผู้ฟัง บ่อยครั้งก็คิดว่า ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ว่า เป็นธรรมที่เกิดดับ และเป็นอนัตตา คือ เป็นสิ่งมหัศจรรย์ และเป็นความจริง คือเหมือนกับเรายากมากที่จะรู้ มัวแต่ไปคิดว่าเป็นเรา และเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเห็นพระปัญญาคุณไหม ยากมาก แต่ทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรม และทรงพระมหากรุณาแสดงให้คนอื่นเกิดความเข้าใจถูกต้อง ไม่ใช่ความหลอกลวง ไม่ใช่การที่จะมีโลภะไปต้องการที่จะรู้ แต่เป็นที่จะเป็นผู้ตรงว่า ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏแล้วก็ฟัง จะฟังอีกมากน้อยเท่าไรไม่สำคัญ เพราะการฟัง และการไตร่ตรอง โดยไม่ใช่เราเลย เป็นจิต เจตสิกซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน ก็จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง เมื่อครู่นี้ที่กล่าวว่า มีโลภะ ก็ไม่รู้ว่ามีโลภะ ตรงนี้ถ้าไม่ได้มาฟัง หรือมาสนทนาตรงนี้ จะไม่ทราบ ทีนี้ก็อาจจะทราบในขั้นของการฟังว่า เป็นโลภะ แต่ถึงเวลานั้นจริงๆ ก็ไม่ทราบว่าเป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ ก็เพราะสติปัฏฐานไม่เกิด ปัญญาไม่ถึงระดับที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ถ้าไม่เข้าใจขณะนี้เพียงพอ

    ผู้ฟัง ขณะนี้

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ที่กำลังฟัง มีความเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเพิ่มขึ้น หรือเปล่า แม้ในขั้นของความเข้าใจว่า ตามความเป็นจริงไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีอะไรเลย เป็นเพียงธาตุที่สามารถกระทบ เกิดขึ้นแล้วต้องกระทบกับจักขุปสาท จิตเห็นเกิดขึ้นดับไป สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดับไปด้วย ดับไปทั้งจิตที่เห็น และสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ดับ เห็นต่อไปได้ไหม หรือสิ่งที่ปรากฏทางตาดับแล้ว เห็นต่อไปได้ไหม

    ผู้ฟัง สิ่งที่ท่านอาจารย์พูดตรงนี้ว่า เมื่อจักขุปสาทกระทบรูป เพียงปรากฏเท่านี้ ก็พอจะเข้าใจในขั้นที่เป็นตัวอักษร รวมกันเป็นสิ่งที่ปรากฏ แต่จริงๆ แล้ว เพราะว่าตรงนั้นสติไม่เกิด ก็เลยไม่เข้าใจ ก็ไปคิดว่า ปรากฏ ปรากฏอย่างไร เห็นนี่ เห็นแค่ไหน ไม่ต้องเห็นขอบเขต ก็เป็นไปไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องคิดมาก ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้ แล้วสามารถจะรู้อะไรต่อไปได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ต่อไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องจากสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง แต่ทางตาเป็นสิ่งที่ยากมาก

    ท่านอาจารย์ ทางไหนง่าย ถ้าไม่อาศัยความเข้าใจจริงๆ ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ จะค่อยๆ คลายไหมว่า แท้ที่จริงอยู่ในโลกของความคิด จากสิ่งที่ปรากฏทางตานิดหนึ่ง ทางหูนิดหนึ่ง ทางจมูกนิดหนึ่ง ทางลิ้นนิดหนึ่ง ทางกายนิดหนึ่ง ใจก็คิดเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต ตลอดชาติ มีสิ่งนั้นสิ่งนี้ มีคนนั้นคนนี้ เที่ยง ถาวร เป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจ ความผูกพันต่างๆ

    ชาติก่อนก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นท่านที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ หรือเปล่า ชาติก่อน มีสิ่งที่ปรากฏทางตา และก็เป็นแต่ละท่านที่กำลังนั่งอยู่เดี๋ยวนี้ หรือเปล่า หรือเป็นคนอื่นในชาติก่อนหมด ใช่ หรือไม่ แต่ก็มีความติดข้องแล้วในสิ่งที่ปรากฏ และบุคคลที่มีในชาติก่อนจากการเห็น เพราะความคิดนึก แต่สิ่งที่มีก็ไม่พ้นความผูกพันในสิ่งที่ปรากฏ ในความจำ ในเรื่องราวต่างๆ ยังผูกพันในสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็เห็นเป็นคนนั้นคนนี้ หรือเปล่า ในชาติก่อน มีแน่ๆ เหมือนเดี๋ยวนี้ แล้วก็ยังผูกพันในสิ่งที่ปรากฏชาติก่อนเป็นคนนั้นคนนี้ ที่ไม่ใช่ชาตินี้ หรือเปล่า ไม่เหลือเลย ไม่คิดด้วยซ้ำ อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ หายไปหมด ไปไหนกัน จากที่เคยพบกัน และผูกพันกัน เดี๋ยวนี้ก็เหมือนอย่างนี้ ทุกๆ ชาติก็เป็นอย่างนี้

    เพราะฉะนั้นให้เห็นลักษณะของความติดข้องจากความไม่รู้ มีสิ่งที่ปรากฏเพราะความไม่รู้ จึงยึดถือว่าเป็นอัตตา เป็นตัวตน

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่า เวลาเห็นก็คิดทันที สัญญาจะเกิดขึ้นก่อน หรือคิดเกิดขึ้นก่อน

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน การฟังธรรม ธรรมเป็นสิ่งที่จริง เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย ตรง เพราะฉะนั้นคำใดที่พระผู้มีพระภาคตรัสจากการตรัสรู้ จะเปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้

    ความจำ คือ สัญญาเจตสิก ไม่ใช่จิต เกิดกับจิตทุกขณะ ทุกประเภท เพราะฉะนั้นเปลี่ยนไม่ได้เลย จะเกิดเป็นเทพ เป็นพรหม เป็นอรูปพรหม จิตเกิดที่ไหน ต้องมีสัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ในภูมิที่มีรูป ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิต เจตสิก เกิดดับที่เดียวกัน ไม่ได้แยกกัน

    เพราะฉะนั้นเปลี่ยนไม่ได้ ทิ้งไม่ได้ จะเข้าใจเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ถ้าเป็นความเข้าใจถูกต้อง ก็ต้องเป็นอย่างนี้ จะมีคำว่า “สัญญาเกิดก่อนจิต หรือจิตเกิดก่อนสัญญา” ได้ไหม ในเมื่อจิตต้องเกิด และมีสัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกขณะ ไม่ขาดสัญญาเจตสิกเลย

    ขณะเห็น เป็นจิต หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นจิตเห็น

    ท่านอาจารย์ มีสัญญาเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วยไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ นอกจากสัญญาเจตสิก ยังมีเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วย หรือเปล่า

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มี ก็ไม่รู้อะไรเลย ดับไปแล้วหมด เพราะฉะนั้นฟังจนกว่าจะเข้าใจ ในความไม่ใช่ตัวตน มั่นคงเป็นสัจญาณ ไม่ใช่ว่าให้ไปทำอย่างอื่น

    คุณอุไรวรรณ เรียนท่านอาจารย์ มีคำถามจากพระคุณเจ้ารูปหนึ่ง ท่านกล่าวถามมาว่า การเจริญสมถะกัมฐาน ท่านกล่าวว่า ต้องชำระศีลให้บริสุทธิ์ก่อน ต้องตัดบริโภชต่างๆ ให้ได้ก่อน จึงจะเจริญสมถะกัมฐานได้ แล้วการเจริญสติปัฏฐาน ๔ มีข้อปฏิบัติอย่างนั้น หรือเปล่า ถ้าไม่มี ไม่ผิดกับคำพระพุทธพจน์ หรือ เพราะว่าหนทางให้ถึงการดับทุกข์ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นข้อปฏิบัติเป็นเบื้องต้น ซึ่งเป็นเหตุทำให้เกิดผล ถ้าเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียวจะครบองค์ ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจถูกตั้งแต่ต้น เพราะเหตุว่าถ้ายังไม่เข้าใจว่าสมถะคืออะไร วิปัสสนาคืออะไร ก็ผิดไปตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นถ้าไม่เข้าใจให้ถูกต้องว่า สมถะคือความสงบซึ่งต้องเป็นกุศล อกุศลคือไม่สงบแน่นอน แต่ว่าขณะใดก็ตามที่สงบจาก

    โลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นเป็นความสงบ ขณะที่ให้ทานเป็นกุศลจิตสงบ แต่สั้น เพราะเหตุว่า ไม่ว่าจะเป็นกุศล หรือ อกุศลใดๆ ก็เกิด ดับ สืบติดต่อกันอย่างมากที่สุดเพียง ๗ ขณะเท่านั้น ยังไม่ทันจะรู้ว่าเป็นอะไร เพราะฉะนั้นเวลาที่จะกล่าวถึงความสงบก็ต้องเข้าใจว่าเป็นกุศลจิต และผู้ที่จะอบรมเจรฺิญสมถภาวนาได้ก็ต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศล ถ้าไม่เห็นโทษของอกุศลจะเจริญทำไม

    เพราะฉะนั้นผู้นั้นมีปัญญาที่จะรู้ว่า ปกติธรรมดา เห็นแล้วเป็นอกุศล ถูกต้อง หรือเปล่า ได้ยินแล้วก็เป็นอกุศล ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แม้คิดนึกก็เป็นไปในอกุศลต่างๆ วันหนึ่งๆ อกุศลมากเหลือเกิน ถ้าเห็นโทษอย่างนี้ ก็จะรู้ว่า ถ้าจะให้สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ ต้องเป็นผู้ที่สามารถรู้ว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นอกุศลจิต มิฉะนั้นก็จะสับสน

    เพราะฉะนั้นขณะที่ต้องการตั้งใจ ที่จะให้จิตจดจ้องอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ขณะนั้นเป็นกุศล หรืออกุศล ถ้าไม่รู้ ก็ไม่สามารถจะอบรมเจริญความสงบได้ เพราะเหตุว่าสมาธิก็มีทั้งมิจฉาสมาธิ และสัมมาสมาธิ และพระธรรมที่ทรงแสดงเป็นเรื่องละ การละโดยนัยของสมถะ คือ ละการติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในการคิดนึกเรื่องราวต่างๆ และจิตก็สงบมั่นคงขึ้นเป็นกุศล จนกระทั่งเป็นความสงบระดับขั้นต่างๆ กว่าจะถึงฌานจิต ซึ่งกว่าจะถึงฌานจิต ก็มีข้อความที่แสดงว่า ไม่ใช่วิสัยที่พึงจะคิดถึงฌานจิต เพราะเหตุว่าถ้าไม่ใช่สภาพของจิตที่เป็นกามาวจรจิต จิตที่เป็นไปในชีวิตประจำวัน เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ซึ่งเป็นปกติ ขณะนั้นหมายความว่า มีปัญญาถึงระดับขั้นที่สามารถจะรู้ลักษณะของจิตที่เหนือจากชีวิตประจำวันที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และการคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ซึ่งก็ไม่พ้นจากเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องโผฏฐัพพะ

    เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ตรง ที่จะเห็นถูกว่า สมถภาวนาคืออะไร ขณะไหนเป็นกุศล และเป็นอกุศล เราฟังเรื่องกุศลจิต และฟังเรื่องอกุศลจิต พอเข้าใจใช่ หรือไม่ แต่ขณะนี้จิตเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    15 ม.ค. 2567