พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 335


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๓๕

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ เมื่อวานคุณสุกัญญาไม่ได้มา แต่คุณสุกัญญาลองคิดถึงว่า ตั้งแต่เช้ามาจนกระทั่งถึง ณ บัดนี้ จิตเกิดดับนับได้ หรือไม่ นับไม่ได้เลย มีปัญญาเกิดมาก หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ ในขณะที่ปัญญาไม่เกิด แล้วก็เป็นอกุศลส่วนใหญ่ โลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ทั้งทางตา หู จมูกก็มีการได้กลิ่น ลิ้นก็มีการลิ้มรส กายก็มีการกระทบสัมผัส มากแค่ไหน ประมาณไม่ได้เลย นั่นคือความไม่รู้เฉพาะวันนี้ เกิดมานานเท่าไรแล้วในชาตินี้ และในชาติก่อนๆ แสนโกฏิกัปป์ ก็เป็นการแสดงอยู่แล้วว่า ฟังธรรมก็ยังไม่ถึงลักษณะที่เป็นธรรม เพียงแต่ฟังเรื่องราวของธรรม

    กว่าจะมีปัญญาที่จะคลายความยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน จะเป็นไปได้ หรือไม่ ที่จะเกิดขึ้นโดยทันทีมากมาย ในเมื่ออกุศลเกิดทีละ ๑ ขณะ แม้ว่าจะเกิดติดต่อกัน ๗ ขณะแต่ละวาระ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่เพียง ๑ ขณะ ๑ ขณะ ๑ ขณะ ทีละ ๑ ขณะ ก็มากมายมหาศาลฉันใด การที่ได้ฟังธรรมแล้วเข้าใจ กว่าจะค่อยๆ ไปละ หรือไปลดความไม่เข้าใจ และความติดข้อง ก็ต้อง ๑ ขณะ ๑ ขณะ แล้วจะบอกว่า ยังไม่เข้าใจ ก็ถูกต้อง เพราะเหตุว่าการฟังธรรมไม่ใช่เมื่อฟังแล้วหมดกิเลส ยังมีเรื่องที่จะต้องฟังให้เข้าใจอีกมาก แต่ไม่ใช่เป็นการไปติดที่คำ แต่ธรรมทั้งหมดไม่ว่าจะใช้ภาษาอะไรก็ตาม เพื่อให้รู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริง และเข้าใจลักษณะนั้น

    ขณะนี้เห็นเกิดแล้ว ใช่ไหม นึกถึงจักขุวิญญาณ หรือเปล่า นึกถึงคำว่าเห็น หรือเปล่า นึกถึงคำว่าเห็นเป็นนามธรรม หรือเปล่า นึกถึงคำว่าเห็น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน หรือเปล่า บางคนเรียกชื่อ แต่หลังจากเห็น

    เห็นจริงๆ มีชื่อ หรือเปล่า หรือว่าเป็นธรรมซึ่งเกิดขึ้นทำกิจการงานเห็น แต่ต้องใช้ชื่อ เพราะเหตุว่าธรรมหลากหลายมาก และธรรมใดที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เกิดแล้วดับไป ไม่กลับมาอีกเลย จะไม่มีความยั่งยืน ความเป็นเรา ตลอดทุกภพชาติ ตลอดทั้งชีวิต ทั้งชาตินี้ ก็คือสภาพธรรมทั้งหมด แต่เพราะความไม่รู้ ความสงสัยก็มากมาย สงสัยเรื่องนั้น สงสัยเรื่องนี้ สงสัยว่าตายแล้วเกิดไหม สงสัยว่าตายแล้วไปเกิดเป็นอะไร มากมายหลายอย่าง สงสัยแม้กระทั่งว่า ความตั้งใจเป็นธรรม หรือเปล่า นี่ก็คือเรื่องที่จะต้องฟัง และมีความมั่นคงว่า สิ่งที่มีจริง มีสภาพลักษณะเฉพาะอย่างๆ ก็เป็นธรรมแต่ละลักษณะ

    ผู้ฟัง ขณะเห็นก็คิด ขณะได้ยินก็คิด เห็นแล้วคิดอย่างไร ได้ยินแล้วคิดอย่างไร คิดเป็นกุศล คิดเป็นอกุศล การคิดต้องสะสมมา บางครั้งก็คิดถูก บางครั้งก็คิดผิด การได้มาศึกษาธรรมทำให้มีความเข้าใจในความเป็นอนัตตามากขึ้น

    ท่านอาจารย์ ประโยชน์ของการฟัง ในขั้นเข้าใจก็รู้ว่า เป็นธรรม จนกว่าจะเป็นธรรมโดยประจักษ์แจ้ง ซึ่งเมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ปัญญาก็สามารถรู้ความจริงได้ เป็นปัญญาที่ได้อบรมแล้ว จึงสามารถรู้ได้

    อ.กุลวิไล ถ้ามีความเห็นถูก ความดำริก็ถูกต้องด้วย การศึกษาในส่วนของพื้นฐานพระอภิธรรมจะเกื้อกูลต่อความเห็นถูกในสภาพธรรมที่มีจริง และเป็นปัจจัยให้เรามีการไตร่ตรอง และตรึกในทางที่ถูกต้อง คือ เป็นเหตุเป็นผล และเป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง ปัจจัยที่จะให้กุศลจิตเกิดขึ้นก็จะเจริญยิ่งขึ้น

    ผู้ฟัง การที่จะมีความเห็นถูกต้อง การที่จะมีความดำริที่ถูกต้อง ต้องอบรม ต้องบ่อยๆ เนืองๆ

    ท่านอาจารย์ ตามลำดับด้วย แค่ฟังจะให้สติสัมปชัญญะเกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ได้ไหม เพียงแค่ฟัง แต่ต้องฟังอีก เข้าใจอีก แล้วสติจะเกิดก็เป็นอนัตตา เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง

    อ.กุลวิไล ดิฉันชอบที่ท่านอาจารย์อุปมาเกี่ยวกับการจับด้ามมีด ที่จะทำให้เห็นว่า ถ้าเรามีความเข้าใจถูก และก็อบรมสะสมไปเรื่อยๆ ก็จะถึงวันหนึ่งที่จะเข้าใจถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ แต่ถ้ามีความต้องการผล โดยที่เหตุนั้นไม่สมควรกับผล ก็เป็นไปกับอกุศลธรรม แล้วจะรีบให้ด้ามมีดสึก เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าจับบ้าง ไม่จับบ้าง

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้มีด้ามมีดไหม หรือหาด้ามมีดไม่เจอ จะไปด้ามมีด ไม่รู้ด้ามมีดอยู่ที่ไหน มีไหมด้ามมีด มีตลอด ไม่เคยขาดเลย ทางตา ไม่รู้ ทางหู ไม่รู้ ทางจมูก ไม่รู้ ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่รู้

    อ.กุลวิไล ขณะนี้ธรรมมี แต่ถ้าไม่รู้จักตัวธรรม ปัญญาก็ไม่สามารถเจริญได้ เพราะยังยึดถือธรรมที่ปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ผู้ฟัง สติ คือ สภาพที่ระลึกได้ วิตกเจตสิกที่สามารถระลึกได้นั้น ได้ทั้งกุศล และอกุศล ใช่ หรือไม่ แล้วจะให้มีสติเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อกุศลไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ คุณวิจิตรพูดคำว่า “สติ” สติมีจริงๆ ใช่ หรือไม่ เป็นธรรม ฝ่ายไหน

    ผู้ฟัง ฝ่ายกุศล

    ท่านอาจารย์ ฝ่ายดี เป็นโสภณ ฝ่ายดี จะเป็นฝ่ายไม่ดีได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ คุณวิจิตรลองคิดถึงไอศกรีม คิดถึงได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ เป็นสติ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่สติ

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่สติเกิด ขณะนั้นเป็นกุศล เป็นจิตที่ดี ฝ่ายดี เช่นอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง นึกถึงการทำบุญ ทำทาน หรือการบูชาพระ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ให้ ขณะที่วิรัติทุจริต นอกจากนั้นขณะนี้มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ คิดเรื่องอื่นก็ได้ เป็นสติ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นสติ ขณะนั้นทำกิจอะไร เป็นธรรมฝ่ายดี

    ผู้ฟัง ทำกิจที่เป็นกุศล เป็นโสภณ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ คือ เราพูดเรื่องสติ แต่หาตัวสติไม่เจอ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ใช่ หรือไม่ แต่แม้ขณะนี้เอง ขณะที่เข้าใจ เป็นคุณวิจิตร หรือเป็นโสภณเจตสิก สภาพธรรมที่ดีงาม ซึ่งมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้งที่จิตฝ่ายดีงามเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ที่ผมเข้าใจคือ ในเมื่อนึกถึงรูป

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ นึกถึง ขณะนั้นเป็นสติ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ ผมก็เลยยังเข้าใจว่า มีสติระลึกถึงรูปที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

    ท่านอาจารย์ ต้องฟังจนกระทั่งเข้าใจ ไม่สับสน แล้วสติจึงระลึกลักษณะด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย

    อ.กุลวิไล มีคำถามฝากมาเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ว่า การศึกษาธรรมให้เข้าถึงความมั่นคงในกรรม ต้องเข้าใจอย่างไร เพราะดิฉันมักจะถูกผู้อื่นเบียดเบียนอยู่บ่อยๆ ซึ่งจะเกิดโทสะอยู่ตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ ตรงตลอดกาล ก็คือศึกษาให้รู้ว่า ธรรมเป็นอนัตตา แต่ต้องรู้ในความหมายของคำว่า “อนัตตา” คือไม่ใช่ตัวตน ต้องการที่จะรู้เฉพาะอย่างเป็นตัวตน หรือเปล่า แล้วต้องการที่จะเข้าใจเรื่องที่จะทำให้ใจสบาย เป็นตัวตน หรือเปล่า ก็ตรงกันข้ามกับความหมายของคำว่า “อนัตตา”

    การศึกษาธรรม ไม่ใช่เพื่อที่จะเอาประโยชน์ไปแก้ไขสถานการณ์ด้วยความเป็นตัวตน แล้วก็คิดว่า ได้ประโยชน์แล้วจากการฟังธรรม ชีวิตดีขึ้น ครอบครัวดีขึ้น ตัวตนทุกสิ่งทุกอย่างสบายขึ้น นั่นไม่ใช่การศึกษาธรรม การศึกษาธรรม คือ เข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม นี่คือการศึกษาธรรม

    อ.กุลวิไล การที่จะมีความมั่นคงในเรื่องของกรรม ก็ต้องมีความเข้าใจถูก เห็นถูก ในสภาพธรรมที่มีจริง เพราะถ้าไม่ใช่ความเห็นถูกที่เป็นปัญญาแล้ว ความมั่นคงในกรรม และผลของกรรมไม่มีแน่นอน อาจจะเป็นเพียงขั้นเริ่มต้นที่ว่า ฟังแล้วคล้อยตามกัน แต่ไม่ใช่การประจักษ์สภาพธรรม หรือเห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นเราอยู่ มั่นคงไหม เราทำดีมาตลอดชีวิตเลย กรรมอยู่ที่ไหน ไม่เห็นให้ผลเลย ทำความดีแล้วได้รับสิ่งที่ไม่ดี ก็ไม่มีความเข้าใจอีกว่า จริงๆ แล้วเป็นอนัตตา ไม่สามารถเลือกได้ และเป็นธรรม ที่ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ด้วย

    ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็เลิกคิด แต่เริ่มที่จะรู้เหตุ และผล และสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่มีใครสามารถที่จะเลือก หรือบันดาลให้อะไรเกิดขึ้นในชีวิตได้เลย ถึงแม้ว่ามีความเห็นถูก ไม่ให้คนอื่นกล่าวร้ายได้ หรือไม่ ก็ไม่ได้

    ทุกอย่างต้องถึงความเป็นอนัตตาว่า บังคับบัญชาไม่ได้ แต่ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตามที่เกิด มีปัจจัยแล้วจึงเกิด อันนี้ก็เป็นของธรรมดา ที่จะเห็นความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน มิฉะนั้นแล้วก็จะมีโลภะ มีความอยาก มีความต้องการ ไม่อยากให้ใครกล่าวร้าย ไม่อยากให้ใครเบียดเบียน แต่ว่าบังคับได้ไหม แค่คำเดียวที่ถาม และก็ไตร่ตรอง ก็จะทำให้เห็นได้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์บอกว่า การศึกษาธรรม ไม่ต้องหวังว่าจะเป็นคนดี หรือหวังผล แต่ในความเป็นจริง ถ้าเราเข้าใจแม้เพียงเรื่องราวของธรรม ยังไม่รู้จักตัวจริงของธรรม อย่างตัวหนูเองสมัยก่อนนี้โมโหบ่อยมากกว่าปัจจุบัน เมื่อฟังธรรมเข้าใจแม้ขั้นเรื่องราวแล้ว จริงๆ ก็คือธรรม ไม่มีตัวตน ก็ปรุงแต่งไป ก็ทำให้บางเรื่องเล็กน้อย เราอาจจะโมโห เมื่อฟังธรรมมากๆ สถานการณ์คล้ายๆ กัน ก็ทำให้เราใจเย็นลงมากกว่าสมัยก่อน คิดว่าเราไม่ได้หวังผล แต่ว่าอาจจะเป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งจิตเราให้มีอกุศลน้อยลงกว่าก่อนที่ยังไม่ศึกษา

    ท่านอาจารย์ ละชั่ว ไม่ทำชั่ว ใช่ หรือไม่

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ บำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม หรือเปล่า แล้วก็ชำระจิตให้บริสุทธิ์ เพียงแค่ละชั่ว พอ หรือไม่ แล้วทำความดีวันหนึ่งๆ พอไหม หรือควรชำระจิตในบริสุทธิ์จากอกุศลด้วย

    คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเลือกเอาแค่นั้น หรือ คือ แค่ละชั่ว หรือทำความดี ที่เราฟังธรรม เพื่อละความไม่รู้ และการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา จะสุข จะทุกข์ อย่างไรๆ ก็ตาม เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เข้าใจความจริง และก็ไม่หวั่นไหว ทุกคนตายแน่นอน ก่อนตายจะเข้าใจธรรม จะเป็นคนดี หรือทำดีก็แล้วแต่ หรือจะทำสิ่งที่ชั่วร้าย ไม่ดี แล้วก็ตายไป

    เพราะฉะนั้นยังไม่ตาย ก็เป็นโอกาสที่ได้เข้าใจธรรมด้วย และการเข้าใจธรรมก็เป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำที่ดีทั้งกาย ทั้งวาจาเพิ่มขึ้น โดยที่รู้เหตุผลว่า ไม่ใช่เรา แต่เราอยากเป็นคนดีโดยยังเป็นเราอยู่ หรือแม้ว่าขณะที่เป็นกุศลก็ไม่ใช่เรา ก็มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น จนสามารถที่จะรู้ว่า กว่าจะได้ยินได้ฟังคำสอนที่สามารถให้เกิดปัญญาที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน ยาก และก็นาน ไม่รู้ว่า ต่อไปจะเกิดที่ไหน อีกกี่ชาติ มีโอกาสจะได้ยินได้ฟังอีก หรือเปล่า

    เมื่อยังไม่สิ้นชีวิตไป ก็ควรสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ซึ่งก็เป็นความดี ไม่ใช่ไม่ดี แต่ว่าเป็นความดีด้วยความเข้าใจถูกต้องว่า ไม่ใช่เรา และไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง ต้องไม่ลืมเรื่องไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน และเป็นอนัตตา

    ท่านอาจารย์ นี่คือคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ไปสอนให้ใครเป็นอัตตา หรือว่ายังคงเป็นตัวตนอยู่ เพราะว่าความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง รูปที่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน ส่วนใหญ่ที่พอเห็นได้ เป็นรูปที่เกิดจากอุตุ เกิดจากอาหาร แล้วถ้าเป็นรูปที่เกิดจากกรรม หรือรูปที่เกิดจากจิต จะสามารถเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ รูปอะไร หรือ

    ผู้ฟัง อย่างเช่น ฟังจากพระไตรปิฎก ยักคิ้วหลิ่วตา เป็นรูปที่เกิดจากจิต แต่พอมาฟังเรื่องธาตุไฟ จิตที่เป็นโทสะ หรือโลภะ เวลาธาตุไฟเกิด ก็เป็นรูปที่เกิดจากจิตด้วยเช่นกัน ใช่ หรือไม่ อย่างร้อน หรือเวลาโกรธมากๆ หน้าตึง ปวดหัว เหล่านี้ก็เป็นรูปที่เกิดจากจิตใช่ไหม ก็สามารถจะระลึกได้เป็นอารมณ์ของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ คุณวรศักดิ์ (ปะ) ปน หรือเปล่า ขณะที่กำลังรู้ว่า รูปมีสมุฏฐานอะไรบ้าง ก็คือความเข้าใจที่จะรู้ว่า รูปก็เป็นธรรม ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าอะไรเป็นปัจจัยของรูปนั้นๆ เช่น กรรมก็เป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้นได้ รูปใดเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย รูปนั้นก็เป็นกัมมชรูป ถูกต้อง หรือไม่

    ผู้ฟัง เกิดได้ทางกายทวาร

    ท่านอาจารย์ นี่คือการที่คุณวรศักดิ์ศึกษาให้เข้าใจว่า แม้รูปที่เกิด ก็แล้วแต่ว่า จะมีอะไรเป็นสมุฏฐาน จะมีกรรมเป็นสมุฏฐาน หรือจะมีจิตเป็นสมุฏฐาน หรือจะมีอุตุเป็นสมุฏฐาน หรือมีอาหารเป็นสมุฏฐาน เข้าใจอย่างนี้ใช่ หรือไม่ จบไปตอนหนึ่ง คือ ความเข้าใจตอนนั้น ณ บัดนี้ คือ รูปที่ปรากฏ สติสัมปชัญญะสามารถเกิดขึ้นรู้รูปนั้นได้ไหม ไม่ต้องไปเกี่ยวกับสมุฏฐานใดเลยทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง พอดีฟังเรื่องโทสะแล้วมีธาตุไฟเข้ามาร่วมด้วย ก็เลยคิดสงสัยไปว่า

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าเวลาที่พูดรูปที่เกิดจากโทสะ ไม่ใช่ขณะที่คุณวรศักดิ์ถามว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏที่เป็นรูปที่จะรู้ได้ คนละเรื่องอีกแล้ว

    เพราะฉะนั้นศึกษาเรื่องใด ฟังเรื่องใด ก็คือให้เข้าใจเรื่องนั้น ขณะนี้มีสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ใช่ให้ไปรู้ว่า เกิดจากสมุฏฐานใด ขณะนั้นไม่ใช่รู้ลักษณะของรูป และรูปก็ กำลังปรากฏด้วย เมื่อไรที่สติสัมปชัญญะระลึก คือ กำลังรู้ตรงลักษณะของรูปนั้น จะไม่มีความคิดใดๆ ว่า รูปนั้นเกิดจากสมุฏฐานใด แต่เป็นการเริ่มที่จะรู้ลักษณะของรูปซึ่งแม้มีในขณะนี้ก็ไม่เคยรู้ว่า เป็นเพียงรูปชนิดหนึ่งที่กำลังปรากฏ

    อยู่ท่ามกลางธรรม ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริง แต่ว่าขณะนี้รูปมีกำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ตอนที่ปวดหัว เวลาโกรธ เป็นรูปที่เกิดจากกรรม หรือเปล่า หรือเกิดจากจิต จากการศึกษาพอจะทราบได้ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ รูปที่เกิดจากสมุฏฐานใดๆ ก็ตาม มีอายุ ๑๗ ขณะจิต

    ผู้ฟัง ไม่สนใจว่า จากสมุฏฐานใดก็ช่าง แต่เป็นสิ่งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ สามารถรู้ได้ หรือไม่ ขณะนี้เป็นรูป แล้วไปคิดถึงสมุฏฐาน แล้วจะไม่รู้ ลักษณะของรูปว่าเป็นรูป มีรูปปรากฏทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจด้วยรับสืบต่อจากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ไม่รู้ว่าเป็นรูป ทั้งๆ ที่การฟังก็รู้ว่า รูปธรรมปรากฏได้ในวันหนึ่งๆ ก็ทางตา ทางหู ทั้งๆ ที่อย่างนี้มีรูปกำลังปรากฏ ก็ไม่ได้รู้ ลักษณะของรูป เพราะความเข้าใจไม่มั่นคงพอที่จะรู้ว่า ขณะนี้ไม่รู้อะไร คือ ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ

    ถ้าฟังแล้วก็มีความเข้าใจว่า การเข้าใจลักษณะของธรรม ไม่ต้องคิดว่าเป็นรูป หรือเป็นนามเลยก็ได้ ใช่ หรือไม่ เพราะเพียงแต่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรม มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ต้องไปพยายามค้นหาว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม เพราะถ้าเป็นการค้นหา ขณะนั้นไม่ใช่เป็นการรู้ลักษณะที่เป็นรูป ไม่ใช่รู้ลักษณะที่เป็นนาม กำลังพยายามที่จะนึกถึงที่เคยได้ยินได้ฟัง พยายามที่จะใส่ชื่อว่า นามต้องมีลักษณะอย่างนี้ คือ ไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น นั่นกำลังไปนึกเรื่องราวของสภาพธรรม แต่ขณะที่มีธรรมปรากฏ และขณะนั้นสติรู้ตรงลักษณะนั้น มีสภาพที่กำลังรู้ตรงลักษณะนั้น ก็ไม่ต้องไปคิดถึงคำว่า นาม ไม่ต้องไปคิดถึงคำว่า รูป ลักษณะนั้นต่างกันเอง ลักษณะที่เป็นรูป ก็เป็นรูป ลักษณะที่เป็นนาม ก็เป็นนาม โดยไม่ต้องไปนั่งเปรียบเทียบ ไม่ต้องไปคิดเป็นชื่อต่างๆ แต่การที่รู้ลักษณะ ค่อยๆ เข้าใจลักษณะก็ต่างกัน อย่างขณะนี้แข็งกำลังปรากฏ หลงลืมสติ ก็คือไม่มีการรู้ตรงลักษณะแข็ง แต่เวลาที่ไม่มีอย่างอื่นเลยทั้งสิ้น ไม่คิดนึก ไม่ทำอะไร แต่กำลังรู้ตรงลักษณะแข็ง ลักษณะแข็งมีจริงๆ ให้รู้ ถ้ารู้ตรงนั้น รู้ความจริง ภายหลังก็จะรู้ลักษณะของนามธรรม หรือรูปธรรมอื่นๆ เพราะรู้ตรงลักษณะของแต่ละสภาพธรรม โดยเข้าใจถูกต้องว่า เป็นสภาพธรรม และความต่างของสภาพธรรมที่สติระลึกนั่นเอง ก็จะทำให้สามารถที่จะเห็นความต่างว่า ลักษณะที่เป็นนามธรรมไม่ใช่ลักษณะที่เป็นรูปธรรม

    การศึกษาให้เข้าใจสภาพธรรมจริงๆ จากขั้นฟัง ในขณะที่กำลังฟังเหมือนในครั้งพุทธกาล ก็ไม่มีตำรา ไม่ได้บอกว่ามีรูปเท่าไร กี่รูป มีนามเท่าไร แต่ว่าสภาพธรรมที่มีในขณะนี้เอง ที่แสดงถึงความเป็นธรรมที่ต่างกัน โดยไม่จำเป็นต้องไปนึกถึงคำ หรือชื่อ

    ผู้ฟัง ต้องเป็นพระปัญญาของพระพุทธเจ้าใช่ หรือไม่ ที่จะรู้รูปที่ไม่ใช่โคจรรูป

    ท่านอาจารย์ โคจรรูปคืออะไร

    ผู้ฟัง รูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จิต รูป นี้คือ

    ท่านอาจารย์ เกิด หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เกิด

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เกิด ไม่ปรากฏ และประจักษ์การเกิด และดับ หรือยัง

    ผู้ฟัง ยังไม่ประจักษ์

    ท่านอาจารย์ ที่กล่าวว่า สภาพธรรมเกิดดับจะเอาสภาพธรรมอะไรมาเกิดดับให้รู้ ถ้าไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง อย่างการเจริญสมถภาวนาที่ระงับโทสะ หรือระงับโลภะได้ ก็แสดงว่า ไม่ชอบลักษณะของกายวิญญาณตรงนั้น หรือ

    ท่านอาจารย์ เป็นผู้ที่เห็นโทษของการติดข้องในเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งมีอยู่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน รู้ว่าขณะที่กำลังติดข้อง ไม่สงบเลย และก็จะนำมาซึ่งความไม่สงบขณะอื่นๆ เช่น โทสะบ้าง

    ผู้ฟัง แต่โมหะไม่ได้ลดลงเลย ใช่ หรือไม่ จากการเจริญสมถภาวนา

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นโมหเจตสิกเกิดไม่ได้เลย แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีโมหะ แต่มีในฐานะที่เป็นอนุสัยกิเลส ไม่ใช่เป็นเจตสิกที่เกิดขึ้นทำกิจการงานร่วมกับอกุศลเจตสิกอื่นๆ

    ผู้ฟัง เพราะว่าฟังวิปัสสนามานานพอสมควร แต่ไม่รู้ว่านานขนาดไหน แต่ก็จนเบื่อ ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถามนิดหนึ่ง เบื่ออะไร

    ผู้ฟัง เบื่อ เพราะว่ามันช้า เบื่อเพราะไม่เห็นผล ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ แล้วเบื่ออะไร

    ผู้ฟัง เบื่อเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าเบื่อการฟัง

    ผู้ฟัง บางครั้งเวลามีอะไรที่แปลกๆ มา อย่างสมถภาวนา มีอิทธิ ฤทธิ รู้สึกว่า โลภะจะชอบมากกว่า

    ท่านอาจารย์ จุดประสงค์ของการฟังเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง ก็เพื่อเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ แล้วเข้าใจ หรือยัง

    ผู้ฟัง มันน้อย แล้วก็นาน ยาก

    ท่านอาจารย์ เมื่อฟังน้อย เข้าใจมากได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วจะเข้าใจขึ้น หรือเปล่า เมื่อจุดประสงค์ของการฟัง คือ เพื่อเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อเหตุอื่น

    แสดงว่าผิดตั้งแต่ต้น จุดประสงค์ คือ ความเป็นเราต้องการผลของการฟังที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม แต่ไม่ใช่เป็นการรู้ว่า ไม่มีเรา แต่เป็นธรรม

    ผู้ฟัง เมื่อเช้าฟังเรื่องสมถภาวนา ก็สนใจขึ้นมา ทั้งๆ ที่ลืมไปตั้งนานแล้วว่า เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็เป็นสมถภาวนาซึ่งสามารถเจริญได้ในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด อย่าข้ามแต่ละคำ สมถะ คืออะไร

    ผู้ฟัง สมถะ สงบ ระงับจากอกุศล

    ท่านอาจารย์ เกิดเมื่อไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    15 ม.ค. 2567