พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 345


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๔๕

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ ขอทบทวนอีกครั้งหนึ่ง ฟังธรรมเพื่ออะไร เพื่อเข้าใจ ทุกคนตอบได้ ถามต่อว่า ฟังธรรมเพื่อเข้าใจ เท่านั้น หรือ

    ผู้ฟัง ฟังธรรมเพื่อเข้าใจ และเพื่อปฏิบัติถูก

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา จะไม่จบอยู่แค่ฟังธรรมเพื่อเข้าใจ เพราะว่าบางคนเข้าใจแล้วก็ไม่ได้ละคลายกิเลสใดๆ เลยทั้งสิ้น เพียงแต่ฟัง แล้วก็รู้สึกว่ารู้แล้ว เริ่มเข้าใจขึ้น นี่เป็นธรรม จิตเห็นขณะนี้เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏ นี่คือฟังแล้วเข้าใจ แต่ว่ามีประโยชน์อะไร เป็นผู้ที่ว่าง่าย หรือเปล่า เพราะว่าฟังเพื่อจะละอกุศล ความไม่รู้ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจ

    ประโยชน์สูงสุด คือ เมื่อเข้าใจแล้ว ละคลายอกุศล จนกระทั่งสามารถที่จะดับอกุศลได้ ไม่เกิดอีกเลย นี่เป็นจุดประสงค์ของการฟัง หรือเปล่า หรือว่าแค่รู้ จะได้จำได้ว่า อยู่ที่หน้าไหน เล่มไหน เท่านั้นเอง นั่นไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

    การฟังธรรม คงขาดความละเอียดไม่ได้ แม้เป็นคำที่เราได้ยินได้ฟังบ่อยๆ แต่ถ้าฟังแล้วเพิ่มความเข้าใจในความเป็นอนัตตายิ่งขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องท่อง แต่รู้ว่า เป็นความจริง ที่ถามว่า เมื่อคืนนี้ใครหลับสบายบ้าง ตอนนี้จะตอบว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง หลับไม่ค่อยสบาย

    ท่านอาจารย์ ไม่ค่อยสบาย ขณะนั้นไม่ใช่หลับสนิท มีคำตอบอื่น หรือไม่

    ผู้ฟัง ฝัน

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นก็ไม่ใช่หลับสนิท นี่คือ ในการที่เราจะเข้าใจชื่อต่างๆ ที่กล่าว หมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริง

    ปฏิสนธิจิตเกิด ขณะแรกดับไปแล้ว ไม่จบการให้ผลของกรรม การที่จิตแต่ละขณะจะเกิดขึ้นได้ อาศัยปัจจัยหลายประการ ไม่ใช่อย่างเดียวเลย มีกรรมที่ทำแล้วทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด เมื่อปฏิสนธิจิตดับแล้ว กรรมก็ไม่ได้สิ้นสุด แต่กรรมก็ยังทำให้จิตประเภทเดียวกันที่ทำให้เกิดเป็นบุคคลนี้เกิดสืบต่อ แต่ไม่ได้ทำกิจเกิดขึ้นสืบต่อจากจุติจิต ก็เป็นจิตที่เกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิต ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ ระหว่างที่ยังไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเลย เหมือนกันหมดทุกภพชาติ จะเกิดเป็นมนุษย์ หรือจะเกิดเป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นสัตว์เดรัจฉาน ตัวเล็ก ตัวใหญ่อย่างไร ปฏิสนธิจิตขณะนั้นไม่มีอารมณ์ใดๆ ปรากฏให้รู้เลยว่า มีจิตเกิดขึ้นแล้ว และเมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว จิตทุกขณะ เว้นจุติจิตของพระอรหันต์ เป็นปัจจัยทำให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ

    ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงขณะนี้ มีขณะไหนบ้าง ของใครที่ขาดจิต ไม่มีจิตเกิด ไม่มีเลย แต่ว่าจิตที่เกิดทำกิจหน้าที่ตามประเภทของจิตนั้น ตามควร เพราะเหตุว่าเมื่อกล่าวว่า จิตที่ดับไปเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด โดยสภาวะ โดยความเป็นอนันตรปัจจัย ต้องเกิดสืบต่อทันทีไม่มีระหว่างคั่น แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นอีก คือ ต้องเป็นไปตามลำดับด้วย หมายความว่าเมื่อปฏิสนธิจิตขณะแรกดับ จิตขณะต่อไปที่เกิดสืบต่อดำรงภพชาติ จะให้มีจิตอื่น เช่น โลภมูลจิต หรือจิตเห็นเกิดขึ้นไม่ได้เลย โดยสภาพความเป็นสมันตรปัจจัย ซึ่งจิตแต่ละขณะเกิดสืบต่อ ไม่มีใครสามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลง หรือไปจัดสรรให้จิตขณะโน้นเกิดแทนจิตขณะนี้ เป็นไปไม่ได้เลย นี่คือความเป็นอนัตตา นี่ก็คงเข้าใจได้ถึงความเป็นอนัตตา

    หลับแล้ว ไม่ให้ตื่น ได้ หรือไม่ ไม่ได้ อนัตตา หรือเปล่า ให้เห็นความจริงว่า ไม่ว่าใครก็ตามจะมีแต่ปฏิสนธิกับภวังค์ตลอดไป แล้วก็จุติ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าในจิตที่ทำกิจปฏิสนธิ มีทุกอย่างที่ประมวลมาในอดีตอนันตชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยสะสม ที่จะเป็นปัจจัยให้จิตเกิดสืบต่อทำกิจตามสมควร เช่น เวลาที่หลับสนิท ฝัน หรือไม่ ไม่ฝัน แต่ขณะที่หลับ ฝัน หรือไม่ ฝัน ฝันเป็นเห็น หรือเปล่า ได้ยินจริงๆ หรือเปล่า แต่การสะสม อย่างวันนี้จะมีการเห็น การได้ยินอะไรก็แล้วแต่ จะเป็นปัจจัยให้ฝันได้ แต่มีใครรู้ล่วงหน้า หรือไม่ว่า จะฝันถึงอะไร ไม่มีเลย แสดงความเป็นอนัตตา หรือเปล่า

    นี่คือฟังให้เข้าใจความเป็นอนัตตาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นธาตุ เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าสามารถที่จะเข้าใจละเอียดขึ้นๆ แม้ในขั้นการฟัง ก็มีความเข้าใจที่มั่นคงว่า ธรรมไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน บังคับให้ตื่นก็ไม่ได้ จะตื่นเมื่อไร ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครไปกำหนดกะเกณฑ์ด้วยความเป็นตัวตน ด้วยความเป็นเราได้ แต่ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งหมด

    เวลาฝัน ทราบ หรือไม่ว่า จิตอะไรฝัน เป็นจิตแน่ๆ เป็นจิตอะไรฝัน เพราะเหตุว่าธรรมเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เมื่อปฏิสนธิจิตขณะแรกดับไป เป็นปัจจัยให้จิตซึ่งเป็นวิบากประเภทเดียวกันเกิดสืบต่อ ดำรงภพชาติ โดยที่ไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึกเลย

    ระหว่างที่เป็นภวังคจิต จะไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น ไม่รู้ว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นการสืบต่อดำรงภพชาติ ซึ่งความเป็นไปของจิตต่อจากนั้น จะมีอีกมากมาย ซึ่งแต่ละคนก็ผ่านมาแล้ว เกิดมาแล้วมีอะไรบ้าง ไม่ใช่มีแต่เพียงปฏิสนธิ แล้วก็ภวังค์ แต่หลังจากนั้นแล้ว ก็จะมีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์

    การสะสมของเราในวันนี้ ทำให้เกิดความคิดนึก แม้ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัส ก็จริง แต่จากการที่เห็นแล้วจำ ได้ยินแล้วจำ ทั้งหมดก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดคิดนึกขึ้น

    เมื่อปฏิสนธิจิตของแต่ละคน สะสมทุกสิ่งทุกอย่างในแสนโกฏิกัปป์มาแล้ว จะเอาไปทิ้งไว้ที่ไหน ถ้าไม่เป็นปัจจัยให้สิ่งที่ได้สะสมมาแล้ว มีปัจจัยที่จะเกิดเป็นจิตขณะต่อไป ที่จะทำให้มีการคิดนึกเกิดขึ้น มีใครไม่คิดบ้าง ไม่มีเลย แล้วคิดได้อย่างไร มาจากไหน ถ้าไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยมีสุขมีทุกข์ในสิ่งนั้น ก็คงจะไม่คิดถึงสิ่งนั้นเลย

    ให้ทราบว่า ขณะที่เป็นภวังคจิตก็จะมีการสะสม ซึ่งสามารถทำให้มีการตรึก นึกถึงสิ่งที่ได้เคยประสบมาแล้ว โดยที่ใครก็คาดล่วงหน้าไม่ได้เลยว่า จะนึกในลักษณะใด นี่จะกล่าวถึงทางใจก่อน เพราะเหตุว่าเมื่อมีภวังคจิต แล้วเป็นภวังคจิตตลอดไปไม่ได้ แต่จะมีการคิดนึกเกิดขึ้น เพราะการสะสมที่ได้สะสมมาแล้ว จะไปคิดนึกในสิ่งที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยรู้มาก่อนเลย เป็นไปไม่ได้ แต่ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า จะคิดอะไรในฝัน ขอกล่าวถึงขณะที่คิดนึก เพราะเหตุว่าเราจะใช้คำว่า ฝัน หรือไม่ฝันก็ตาม แต่ขณะนั้นกำลังคิดนึกถึงสิ่งที่ได้เคยรู้มาแล้ว แต่ว่าภวังคจิตมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยตามประเภท ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม อกุศลวิบากที่เกิดขึ้นจะมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยน้อยกว่าเวลาที่เป็นผลของกุศลกรรม

    นี่คือเราทั้งหมดเลย เกิดมาก็ไม่รู้ว่า แม้แต่ขณะที่นอนหลับสนิท ก็ยังมีความต่างกันของจิตต่างๆ ที่ทำกิจปฏิสนธิ แล้วแต่ว่า แต่ละคนสะสมมา เกิดเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศลขั้นกามาวจระ คือเป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จึงทำให้เกิดในสวรรค์ ในมนุษย์ เมื่อเป็นผลของกุศลกรรม และถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม แม้ว่าจะเป็นจิตที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ขณะนั้นก็มีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยต่างกับบุคคลที่เกิดเป็นมนุษย์

    นี่คือแม้ขณะที่หลับสนิท ประเภทของจิตที่ทำกิจนั้นๆ ก็ยังต่างกัน

    ด้วยเหตุนี้จากการที่กำลังหลับสนิท ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลย ความเป็นไปของธรรมก็คือว่า เมื่อเกิดแล้ว เป็นภวังค์แล้ว ต้องมีการรู้อารมณ์ทางตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย หรือใจ โดยที่ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ล่วงหน้าว่า ขณะไหน เมื่อไร แต่ว่ามีปัจจัยพร้อมที่จะเกิดขึ้น

    ขอกล่าวถึงหลังจากภวังคจิต ดำรงภพชาติแล้ว จะมีการรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทวาร ถ้าเป็นการคิดนึกเรื่องราวทั้งวันที่สะสมมาแล้ว มีกำลังที่จะทำให้ภวังคจิตไหวเพื่อที่จะสิ้นสุด ที่จะไม่เป็นภวังค์อีกต่อไป

    กระแสภวังค์ที่เกิดดับสืบต่อ ซึ่งอุปมาเหมือนกระแสน้ำ ไม่มีใครสามารถรู้จำนวนได้ว่ามากแค่ไหน แต่ว่าภวังค์ขณะสุดท้ายที่จะไม่เป็นภวังค์อีกต่อไป ภาษาบาลีใช้คำว่า ภวังคุปัจเฉทะ หมายความถึงกระแสภวังค์ หรือภวังค์ขณะสุดท้าย จะใช้คำว่า ตัดกระแสภวังค์ก็ได้ ถ้าได้ยินคำว่า ภวังคุปัจเฉทะ เมื่อไร หมายความว่าเป็นภวังค์ต่อไปไม่ได้ ต้องเป็นวิถีจิต แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ แต่ก่อนที่จะถึงภวังคุปัจเฉทะ กระแสภวังค์ซึ่งเป็นภวังค์มาตลอด ก็จะมีขณะที่เกิดก่อนภวังคุปัจเฉทะ ๑ ขณะ เป็นภวังคจลนะ

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้จะเกิดการคิดนึกขึ้นมา จิตก็ต้องเป็นไปโดยความเป็นอนัตตาว่าจะต้องเกิดดับสืบต่อกัน จากภวังค์เป็นไปจนกว่าจะถึงวิถีจิต จะมีภวังคจลนะเกิดแล้วดับไป เริ่มไหวที่จะทิ้งอารมณ์ของภวังค์ มีอารมณ์ใหม่ตามกำลังที่ได้สะสมมา

    เมื่อภวังคจลนะดับไป ภวังค์ขณะต่อไป เป็นกระแสภวังค์สุดท้าย ภวังคุปัจเฉทะ ถ้าจำ ภวังค์ แล้วก็ภวังคจลนะ แล้วก็ภวังคุปัจเฉทะ เพื่อจะได้รู้ว่า ๓ ภวังค์ หมายความถึงว่า ที่เป็นภวังค์ก็ดำรงภพชาติ แต่พอถึงภวังคจลนะ เริ่มที่จะรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ แล้วเวลาที่เป็นภวังคุปัจเฉทะ ก็หมายความถึงว่า ขณะนั้นเป็นภวังค์ขณะสุดท้าย ซึ่งจิตต่อไปจะเป็นภวังค์อีกต่อไปไม่ได้

    แค่นี้ ไม่ทราบว่าเป็นชีวิตประจำวันที่เราเริ่มจะมองเห็น หรือเปล่า ว่าเรามีความไม่รู้ระดับไหน ไม่รู้เลย เป็นเราโดยตลอด แต่ว่าตามความเป็นจริงเป็นความเป็นไปของวิญญาณ คือ เมื่อมีจิตเกิดขึ้น ก็จะต้องเป็นไปอย่างนี้เองในภพหนึ่งชาติหนึ่ง

    สำหรับวิถีจิตแรกที่เรากล่าวถึงในคราวก่อน ก็กล่าวถึง ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มีอารมณ์ที่กระทบปสาทนั้นๆ เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ มี เป็นรูปๆ หนึ่ง ซึ่งจะต้องมีอยู่ในธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แต่ว่าไม่ได้ปรากฏ ถ้าไม่มีจักขุปสาทที่สามารถจะกระทบกับรูปนี้

    นี่ก็คือไม่รู้เลยว่า แม้ในขณะเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ เป็นสิ่งที่มีจริง แล้วก็เป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นวัณณธาตุ สามารถที่จะปรากฏเป็นสีสันวัณณะต่างๆ เมื่อกระทบกับจักขุปสาท แล้วจิตเกิดขึ้นเห็น สิ่งนี้จึงปรากฏได้ แต่ก่อนเห็นจะต้องมีวิถีจิตแรก เพราะว่าวิถีจิตต้องเกิดขึ้นตามลำดับ จะเห็นทันทีไม่ได้ เมื่อรูปารมณ์ หรือวัณณะกระทบกับจักขุปสาท จะให้จิตเกิดขึ้นเห็นทันทีไม่ได้ ความเป็นไปของจิตที่เป็นอนัตตา ก็คือว่า เมื่อภวังคุปัจเฉทะ คือ ภวังค์ขณะสุดท้ายดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด ใช้คำว่า “ปัญจ” ๕ ทวาร คือ ทาง อาวัชชนะ คือ จิตนี้เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทาง แต่ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ได้ลิ้มรส ยังไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิต หรือเปล่า เป็น ภวังคจลนะเป็นวิถีจิต หรือเปล่า ไม่เป็น ภวังคุปัจเฉทะเป็นวิถีจิต หรือเปล่า ไม่เป็น ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิต หรือเปล่า เป็น

    ที่จะจำก็คือ วิถีจิตแรกสำหรับ ๖ ทวาร สำหรับปัญจทวาร คือ ทวาร ๕ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นจิตประเภทหนึ่ง ส่วนทางใจไม่ใช่ปัญจทวาราวัชชนจิต จะมาทำหน้าที่รู้อารมณ์ทางใจเป็นวิถีจิตแรก แต่ต้องเป็นมโนทวาราวัชชนจิต เพราะอะไร ไม่ได้มีอารมณ์มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่จิตสามารถที่จะมีปัจจัยเกิดขึ้นรู้อารมณ์ เพราะเคยสะสมมา เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว มโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ปรากฏในขณะนั้น เพราะจิตทุกขณะต้องมีอารมณ์

    ความต่างกันของปัญจทวาราวัชชนจิตกับมโนทวาราวัชชนจิตมี หรือไม่ โดยความเป็นอนัตตา ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่ใช่มโนทวาราวัชชนจิต เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็ต่างกัน สำหรับมโนทวาราวัชชนจิตมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นสภาพที่ ภาษาไทยจะใช้คำว่า เพียร ประคับประคอง หรือพยายาม อุตสาหะ แต่ให้ทราบว่าเจตสิกแต่ละลักษณะ แต่ละชนิด จะมีระดับของเจตสิกนั้นๆ ที่ต่างกันไป แม้แต่ปัญญา ความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ก็มีระดับความเห็นที่ถูกต้องยิ่งขึ้นต่างกันไปตามลำดับ เพราะฉะนั้นเจตสิกแต่ละประเภทก็มีกำลัง หรือมีความต่างกัน

    สำหรับปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นโดยอาศัยการกระทบกันของรูปที่สามารถกระทบปสาท เช่น ถ้าเป็นเสียงกระทบกับโสตปสาท ถ้าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ได้กระทบโสตปสาท กระทบไม่ได้เลย แต่กระทบจักขุปสาท

    สำหรับวิถีจิตแรก คือ อาวัชชนจิตทางปัญจทวาร ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นการเกิดขึ้นเป็นไปตามปัจจัย คือ ตามการกระทบ ก็เป็นปัจจัยให้เมื่อมีการกระทบกันแล้ว ถ้าไม่กล่าวโดยละเอียด ก็คือว่า จิตที่เป็นวิถีจิตขณะแรกเกิดขึ้นเป็นไปตามการกระทบ จึงไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ทางใจไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่มีอะไรมากระทบที่เป็นปัจจัยที่จะให้เป็นวิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น แต่เป็นการรู้อารมณ์ทางใจ ซึ่งต่อไปถ้าศึกษาโดยละเอียดจริงๆ โดยพิจารณาในเหตุในผล ก็จะรู้ได้ว่า การที่จิตแต่ละประเภท มีชื่อต่างกัน ก็เพราะเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เพราะกิจการงานต่างกัน และเพราะอารมณ์ต่างกัน

    นี่เป็นเหตุที่แม้จิตจะเกิดขึ้นเพียง ๑ ขณะ มีปัจจัยที่ทำให้จิตเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพียงแค่ ๑ ขณะ แต่ก็มีความหลากหลาย มีความต่างกันไป แสดงความเป็นอนัตตา ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ อย่างมั่นคง ก็จะไม่ถือว่า จิตหนึ่งจิตใดเป็นเรา เพราะแม้แต่จิตใดจะเกิดขึ้นได้แต่ละประเภท ก็ต่างกันไปตามเหตุตามปัจจัย ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นจิตหนึ่ง ไม่ใช่มโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นจิตอีก ๑ ประเภท แต่ว่าดูความละเอียด ความหลากหลาย ก็คือว่า ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต โดยชาติ เกิดขึ้นเป็นผลของกรรม ภวังคจิตซึ่งเกิดสืบต่อดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น ต่อจากปฏิสนธิ ก็เป็นวิบากจิต ซึ่งเป็นผลของกรรมเดียวกัน ที่ทำให้เป็นบุคคลนั้นดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น แต่เวลาที่จะรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะเป็นวิบากที่ทำให้ปฏิสนธิ และภวังค์ไม่ได้ แต่ว่าจะต้องมีจิตที่เกิดขึ้น ไม่ใช่วิบากจิต แต่เป็นกิริยาจิต จึงสามารถที่จะเปลี่ยนจากการดำรงภพชาติแต่ละขณะมาจนกระทั่งถึงขณะที่รู้อารมณ์ ต้องมีจิตที่เกิดก่อน ซึ่งไม่ใช่วิบาก แต่เป็นกิริยา

    นี่คือการที่เราไม่คุ้นเคยกับคำเหล่านี้ แต่เมื่อได้ยินแล้ว และค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า จิตที่เกิดขึ้นเป็นกุศล เกิดขึ้นเป็นอกุศล เป็นเหตุ และจิตที่เป็นวิบาก ก็คือจิตที่อาศัยกุศล และอกุศลที่ดับไปแล้วนั่นเองเกิดขึ้น เป็นผลของกรรมที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง แต่กิริยาจิตเป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง ไม่ใช่ผลของกรรม และไม่ใช่กรรม แต่เกิดขึ้นทำกิจที่จะรู้สิ่งที่กระทบในขณะนั้น โดยที่เป็นกิริยาจิต เพราะสามารถที่จะรู้อารมณ์ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ได้ แต่ถ้าเป็นวิบากจิตที่เป็นกุศลวิบาก จะรู้แต่เฉพาะอารมณ์ที่น่าพอใจ ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม วิบากจิตก็จะเกิดขึ้น จะไปรู้อารมณ์ที่น่าพอใจไม่ได้เลย เมื่อเป็นผลของอกุศลกรรม ก็จะต้องรู้เฉพาะอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นอกุศลวิบาก แต่กิริยาจิตสามารถที่จะรู้อารมณ์ทั้งที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจ เพราะว่าเพียงเกิดขึ้นทำกิจรู้อารมณ์ที่กระทบ แต่ยังไม่ใช่เป็นผลจริงๆ ของกรรมที่จะมีการเห็น หรือการได้ยิน เป็นต้น

    ก็ให้ทราบถึงความละเอียดของจิต ซึ่งเวลาได้ยินคำว่า “กิริยาจิต” เข้าใจได้ว่า หมายถึงจิตที่ไม่ใช่เหตุ และไม่ใช่ผล คือ ไม่ใช่กุศล อกุศล และไม่ใช่วิบาก แต่เป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง

    ขณะนี้มีกิริยาจิต หรือไม่ มี หรือไม่มี

    มี เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต หรือมโนทวาราวัชชนจิตเท่านั้น สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ กุศลไม่มี อกุศลไม่มี ก็จะมีเพียงวิบาก และกิริยา แต่สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ก็มีกิริยาจิต แต่ว่าเป็นกิริยาจิตที่ไม่ใช่ประเภทของพระอรหันต์ที่หมดกิเลสแล้ว ต่อไปก็จะได้ทราบว่า กิริยาจิตประเภทที่ประกอบด้วยเจตสิกที่ต่างกับกิริยาจิตของพระอรหันต์ที่ไม่มีกุศล และอกุศลแล้ว แต่เป็นกิริยา

    นี่คือเราทั้งหมด ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่เคยรู้เลยสักนิดเดียวว่า เป็นธรรมแต่ละอย่าง การฟังเพื่อจุดประสงค์ให้เห็นความเป็นอนัตตา จะฟังเรื่องชื่อต่างๆ กิจต่างๆ อารมณ์ต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ถ้าเราเพียงแต่จะจำ ๒ คำก่อน ปัญจทวาราวัชชนะ กับมโนทวาราวัชชนะ โดยพยัญชนะ โดยความหมาย และคำแปล แต่ต้องเป็นไปตามความเป็นจริง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่ใช่มโนทวาราวัชชนจิต เพราะว่าเกิดขึ้นโดยอาศัยการกระทบกันของรูป เช่น เสียงกระทบโสตปสาท ก็จะเป็นปัจจัยให้หลังจากที่ภวังคจลนะ และภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว จิตนี้เกิดขึ้นรู้ เป็นวิถีจิตแรก เพราะว่าก่อนนั้นเป็นภวังค์ จะไม่รู้อารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่ปัญจทวาราวัชชนะทางตา ขณะนี้เกิดก่อนจักขุวิญญาณที่เห็น แล้วใครจะรู้ความละเอียดของความเป็นธรรม ซึ่งถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงโดยละเอียดจริงๆ ให้มีการสะสมความเข้าใจในความเป็นอนัตตา ที่จะเห็นว่า ธรรมเป็นอนัตตา เป็นไปไม่ได้เลย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    15 ม.ค. 2567