พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 317


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๑๗

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ผู้ฟัง ฟังดูแล้วเหมือนจุดประสงค์ที่มาศึกษานี้ คือ ละความเป็นตัวตน ให้เข้าใจว่า เดี๋ยวนี้ไม่มีตัวตน แต่เรายังเข้าใจผิด ก็ยังต้องมีตัวตนอยู่ ก็แน่นอน เมื่อยังไม่ได้ละ ก็ยังมีอยู่ เพราะฉะนั้นเรียนเข้าไปถึงความไม่มีตัวตน แต่ถ้าไม่ใช่ความไม่มีตัวตนแล้ว จะเป็นอะไรในแต่ละขณะ อย่างนั้นหรือ

    ท่านอาจารย์ ศึกษาให้เห็นถูก เข้าใจถูก ก่อนศึกษา เห็นถูกหรือเปล่า เข้าใจถูกหรือเปล่า ก็ไม่รู้ตัวเลย การศึกษาพระธรรมทั้งหมดเพื่อให้มีความเข้าใจถูกความเห็นถูก ซึ่งเป็นปัญญานั่นเอง เป็นเรื่องของปัญญาที่สามารถเข้าใจสิ่งที่มีจริงตามปกติในขณะนี้ ได้ถูกต้องว่า ไม่มีเรา

    ผู้ฟัง เข้าใจ เช่นนี้ถ้าไม่มีเรา ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ดิฉันก็แปลกใจอยู่ตรงที่ว่า พระพุทธองค์ท่านก็เน้นทางตา ทางหู มาก่อน แล้วทางจมูกกับลิ้น มันมีความรู้สึกเหมือนกับว่า ผลของกรรมทุกคนเหมือนกับจะได้รับสิ่งที่ปรากฏทางตามากกว่าทางจมูก หรือทางลิ้น อะไรทำนองนั้น นี่คิดไป

    ท่านอาจารย์ คิดเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง มันแปลกใจ

    ท่านอาจารย์ จะมีการคิดอย่างนี้ แต่ถ้าฟังธรรมเพื่อเข้าใจธรรมจริงๆ ไม่ต้องเอาความคิดของเรามาใส่ มาปน มายุ่งเหยิง คิดโน่นคิดนี่ทำไม ในเมื่อยังไม่ได้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏว่า เป็นธรรม ก็ฟังเพื่อที่จะให้เข้าใจถูกต้องว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่สภาพธรรมแต่ละอย่าง จนกว่าขณะนี้เริ่มเข้าใจลักษณะของคำที่พระไตรปิฎกใช้คำว่า “รูปารัมมณะ” หรือ “รูปารมณ์” หมายความถึงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เข้าใจจริงๆ เมื่อไร เมื่อนั้นก็คือผลของการฟัง และเริ่มที่จะคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นคำถามบางทีก็ไม่ได้ทำให้เข้าใจถึงสภาพธรรม แต่ดูเหมือนคำถามที่สงสัย และห่างไกลออกไปจากขณะนี้อีก

    ท่านอาจารย์ เป็นคำถามในเรื่องความคิดของตัวเอง แต่ไม่ใช่เป็นการฟังอะไร ก็เข้าใจถูกต้องเพิ่มขึ้นในสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง

    ผู้ฟัง เวลาฟังก็เหมือนกับควรจะน้อมมาที่พระองค์ท่านตรัสรู้ตรงนั้น ไม่ใช่ไปเอาความคิดของเรา และสงสัยโน่นสงสัยนี่อะไรต่างๆ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ฟังอะไร ประโยชน์คือเข้าใจสิ่งกำลังฟัง / ใครไม่อยากจะมีพื้นฐานพระอภิธรรมบ้าง หรือใครไม่ชอบพื้นฐานพระอภิธรรม ชอบคำเยอะๆ ดูเหมือนไม่ใช่พื้นฐานเลย โพชฌงค์ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท แต่ให้รู้ว่า ฟังอย่างไรก็ไม่รู้เรื่อง เพราะเหตุว่าไม่ได้รู้ ไม่ได้มีพื้นฐานจริงๆ ที่จะเข้าใจธรรมในขณะนี้

    ผู้ฟัง ก็เรียนให้ท่านอาจารย์ทราบก่อนที่จะมาเข้าใจเรื่องสภาพธรรม ก็รู้สึกจะไขว่คว้าที่จะเข้าใจคำพวกประเภทนั้น ที่ใหญ่ๆ โตๆ รู้สึกภูมิฐานเหลือเกิน ที่ได้รู้คำที่แปลกๆ

    ผู้ฟัง ในขณะที่เรากำลังเรียนธรรมอยู่ สิ่งที่ต้องรู้ คือ เป็นรูปเป็นนามของสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ในเบื้องต้นสิ่งที่รู้ คือความเป็นรูปเป็นนาม แต่พระอริยบุคคลตั้งแต่โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี จนกระทั่งถึงพระอรหันต์ สิ่งที่จะต้องรู้มีลึกซึ้งมากกว่าความเป็นรูปเป็นนาม หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นความคิดของคุณวิจิตร

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้อะไรกำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง รูปนาม

    ท่านอาจารย์ รูปอะไร

    ผู้ฟัง รูปที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ เป็นใคร หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เข้าใจอย่างนี้จริงๆ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ผมว่าอันนี้เป็นความในใจของผม

    ท่านอาจารย์ ฟังแค่นี้พอ หรือยัง

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่พอ

    ท่านอาจารย์ แล้วไปคิดเรื่องไหน

    ผู้ฟัง อยากจะทราบว่า ถ้าเป็นพระอริยบุคคลไปแล้ว จะ ...

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ถ้าไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เป็นพระอริยบุคคลไม่ได้ พระอริยบุคคลท่านรู้อะไร อย่างพระโสดาบัน

    ผู้ฟัง ก็รู้ความเป็นรูปเป็นนาม

    ท่านอาจารย์ โดยอะไร

    ผู้ฟัง ของสิ่งที่ปรากฎทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ท่านอาจารย์ โดยคิดเท่านั้น หรือว่าปัญญารู้ความจริงยิ่งกว่านี้

    ผู้ฟัง ด้วยปัญญา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องฟังหนทางที่จะทำให้สามารถรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ถ้าหากว่าปัญญารู้แค่รูปนาม ในเมื่อเป็นพระอริยบุคคลขึ้นไปแล้ว ควรจะรู้ลึกซึ้งมากกว่าสามัญชนสักแค่ไหน

    ท่านอาจารย์ แน่นอน จากปุถุชน ปุถุ คือ หนา คนหนาด้วยกิเลส จนกระทั่งหมดการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่เกิดอีกเลย นี่คือความลึกซึ้ง จะต้องรู้ลึกซึ้งถึงลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ ไม่ใช่เพียงฟังชื่อ จำชื่อ ตอบชื่อ คิดชื่อ แต่มีลักษณะกำลังปรากฏ ขณะเริ่มฟังก็รู้ได้ว่า กำลังเริ่มเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่มีลักษณะอย่างที่ได้ยินได้ฟังนี้ แต่ว่าปัญญายังไม่สามารถที่จะประจักษ์ความจริงได้ แต่กำลังฟัง และการฟัง ไม่ใช่เราเลย เป็นจิต เป็นเจตสิกที่เกิดขึ้นทำกิจการงาน กำลังน้อมไปสู่การเข้าใจถูกต้องยิ่งขึ้นในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งได้จริงๆ

    ผู้ฟัง สรุปแล้วถึงแม้ว่าจะเป็นพระอริยบุคคล ก็ยังต้องรู้ความลึกซึ้งของรูปนามต่อไป อย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะดับกิเลสหมดถึงความเป็นพระอรหันต์

    ผู้ฟัง จากคำที่ว่า “จิตคิด” มันยังคงไม่ถูกต้องทีเดียว หรือเปล่า หรือว่าใช้ได้ เพราะจากที่ฟังมันแยกเป็น ๒ ส่วน ที่ว่าจิตเป็นสภาพรู้ แต่ว่า วิตก เป็นการตรึก ตรึกก็คือคิด

    ท่านอาจารย์ เวลาที่พูดถึงจิต จิตเกิดโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเจตสิกต้องเกิดร่วมด้วย และแต่ละเจตสิกก็ทำกิจการงานของเจตสิกนั้นๆ แต่กล่าวถึงจิตได้ และก็รวมถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยทั้งหมด

    จิตโกรธ ความจริงถ้าไม่มีโทสเจตสิกเกิด จิตขณะนั้นจะเป็นลักษณะของโทสะ ที่มีความโกรธปรากฏไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ที่ดิฉันกราบเรียนถามท่านอาจารย์ตรงนี้ ก็เพราะว่า ถ้าบอกว่าจิตเป็นสภาพรู้ เราก็จะพิจารณาตรงนั้นเป็นอย่างนี้ แต่ถ้ากล่าวว่า “จิตคิด” ก็เลยคล้ายแย้งๆ กัน แต่ถ้าพูดว่า วิตกเป็นตัวตรึก รู้สึกว่าจะตรงทาง

    ท่านอาจารย์ แล้วสามารถที่จะรู้ลักษณะของวิตก หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ เวลานี้สภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้สิ่งที่ปรากฏ มี แต่ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ใครเป็นใหญ่ในการรู้ จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้ กว่าที่เราคิดว่า เรารู้จักชื่อ “วิตกเจตสิก” เป็นสภาพที่ตรึก หรือจรด เพราะเหตุว่าแม้จักขุวิญญาณเกิดเห็นแล้วดับไป จิตที่เกิดสืบต่อยังต้องมีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย แม้ไม่คิดเป็นคำๆ เลย แต่ก็ต้องจรดในสิ่งที่เพิ่งรู้ด้วยจักขุวิญญาณ เพราะจิตที่เป็นสัมปฏิจฉันนจิตที่เกิดต่อ ไม่ได้ทำทัสสนกิจ ทั้งๆ ที่มีอารมณ์นั่นเอง แต่กิจของสัมปฏิจฉันนะนั้นคือ เพียงรับรู้อารมณ์นั้นต่อ ซึ่งต้องมีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย และใครจะไปรู้ลักษณะของวิตกเจตสิก ถ้ายังไม่รู้ลักษณะของนามธรรม

    เวลาที่นามธรรมเกิดปรากฏ เป็นลักษณะของสภาพที่ต่างจากรูปธรรม ขณะนั้นก็มีทั้งจิต เจตสิก เกิดร่วมด้วย เพียงแต่จะรู้ลักษณะที่ต่าง คือ ลักษณะหนึ่งเป็นธาตุรู้ จิตก็เป็นธาตุรู้ เจตสิกก็เป็นธาตุรู้ ซึ่งรูปไม่ใช่สภาวธรรมที่จะรู้อะไรได้เลย แม้ขณะนี้ได้ยินเพียงชื่อ ธาตุรู้ คือ จิตเป็นใหญ่เป็นประธาน แล้วก็มีเจตสิก เช่น วิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย เวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย สัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็ใช่ว่าจะไปรู้ลักษณะของสัญญา หรือของวิตก หรือของเจตนา ชีวิตินทรียเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตในขณะนั้น

    การศึกษาธรรม ศึกษาเพื่อให้เริ่มเข้าใจลักษณะของธรรม เพราะก่อนนี้ แม้ธรรมก็เป็นธรรม แต่ไหนแต่ไรมา แต่ไม่มีใครเคยรู้เลยว่า เป็นธรรมแต่ละลักษณะ เพราะความไม่รู้ จึงเป็นเรา และเป็นสิ่งต่างๆ ไม่หมดไปเลย เห็นครั้งใดก็เป็นเรา และสิ่งที่ปรากฏก็เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด กว่าจะมีความค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกระทั่งประจักษ์ความจริงซึ่งเป็นอริยสัจจะ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ใครจะไปทำ แต่เป็นการอบรมให้ปัญญาซึ่งยังไม่เคยเกิด ค่อยๆ เกิดเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม จนกว่าปัญญาที่เข้าใจนั้นเจริญขึ้นตามลำดับขั้น สามารถประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ เป็นวิปัสสนาปัญญาที่เห็นแจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ด้วยปัญญาที่อบรมแล้ว จนกระทั่งสามารถแทงตลอดความจริงของสภาพธรรม

    นี่เป็นเรื่องของการอบรมปัญญา นี่เป็นเรื่องของความเห็นถูก นี่เป็นเรื่องของศรัทธา ซึ่งมี แต่จะรู้ไหมในขณะนี้ เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ว่า ชีวิตตามความเป็นจริง แม้ลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม ถ้าไม่ได้ฟัง บางคนก็ไม่รู้ว่า ความหมายของธรรมคืออะไร ความหมายของนามธรรมคืออะไร ความหมายของรูปธรรมคืออะไร ถ้าถามคนทั่วไป เสียงเป็นอะไร เขาจะไม่บอกเลยว่า เป็นรูปธรรม เพราะเขาไม่เห็น เขาเข้าใจว่า เฉพาะสิ่งที่มองเห็นเท่านั้นที่เป็นรูป

    ก็แสดงให้เห็นว่า การไม่รู้มากมายมหาศาลนานนับไม่ถ้วน แล้วเพิ่งจะเริ่มฟัง เริ่มค่อยๆ เข้าใจ กว่าปัญญาจะเจริญขึ้น แต่เป็นผู้ตรง แล้วมีความมั่นคง มีความจริงใจที่ฟังเพื่อเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด

    ผู้ฟัง ต้องกราบขอบพระคุณที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงว่า วิตกจะตรึกหลังจากที่จักขุวิญญาณดับไป ขณะนั้นก็ยังไม่มีเป็นเรื่องราวเลย ที่จริงน่าจะเข้าใจได้ แต่ไม่ได้เข้าใจ จนกระทั่งท่านอาจารย์เน้น แล้วก็กล่าวถึงตรงนี้

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นเหตุที่ทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา เพื่อใคร ถ้าไม่ใช่เพื่อผู้ที่ไม่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในกาลสมัยที่ยังไม่ปรินิพพาน และในกาลต่อมา ที่จะมีพระธรรมเป็นสิ่งแทนพระองค์ เพราะว่าทรงแสดงไว้แล้ว ตลอด ๔๕ พรรษา

    ผู้ฟัง ความหมายก็คือ วิตกที่เกิดหลังจากจักขุวิญญาณไปแล้ว ระลึกถึงปรมัตถธรรม

    ท่านอาจารย์ นั่นคือวิตกจริงๆ เพราะฉะนั้นวิตกที่เกิดกับจิตอื่นทั้งหมด ก็แล้วแต่ว่าจิตนั้นกำลังมีอารมณ์อะไร

    ผู้ฟัง คือดิฉันคิดแต่ว่า การตรึกจะตรึกเป็นคำอยู่เสมอ ไม่ได้คิดเลยว่า ตรึกถึงสภาพปรมัตถธรรมด้วย

    ท่านอาจารย์ ถ้ามิฉะนั้นก็จะไม่เข้าใจสัมมาสังกัปปะ ซึ่งเป็นมรรคหนึ่งในมรรคมีองค์ ๘ ว่าขณะนั้นไม่มีการตรึกในชื่อ แต่เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่สติสัมปชัญญะกำลังระลึก

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณท่านอาจารย์ ทำให้ได้เข้าใจลึกขึ้นไปอีก คืออย่างที่มาเรียนเป็นเรื่องจริงๆ เลย คือ ฟังดูก็รู้ว่าเป็นอย่างไร แต่เข้าใจลึกถึงความแยกแยะออกไปไม่ได้

    มาถึงเรื่องที่ดิฉันกล่าวตอนแรกว่า จิตเป็นสภาพรู้กับพูดถึงวิตก นี่ก็แสดงว่าเป็นปรมัตถธรรม และบัญญัติ ในขั้นแรก คือ รู้ว่าเป็นสภาพนามธรรม ก็พอแล้ว เพราะปัญญาเราคงลึกไปแยกแยะอะไรอย่างนั้นไม่ถูก

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่า “รู้” หรือใช้คำว่า “ได้ยิน” แล้วจำ

    ผู้ฟัง ตอนนี้ได้ยินแล้วจำ

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่รู้

    ผู้ฟัง จะค่อยๆ เข้าไปหาที่จะรู้จริงๆ ได้

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าไม่รู้อย่างนี้ จะมีหนทางให้รู้ความจริงได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่มีทาง

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง กราบเรียนถามสรุปอีกนิดหนึ่งว่า ยังรู้ไม่ได้ว่า มีวิเสสลักษณะจริงๆ ก็รู้ว่าเป็นนามธรรมซึ่งต่างกับรูปธรรม แค่นี้เหมือนกับเป็นพื้น

    ท่านอาจารย์ ลองคิดดู สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก ถ้าไม่ใช่สติสัมปชัญญะเกิดระลึกในขณะนั้น จะมีลักษณะของสภาพธรรมอะไรให้เข้าใจไหม ก็เป็นเรื่องราวทั้งหมดจากความคิดนึก

    ผู้ฟัง คำถามต่อเนื่องจากเมื่อสักครู่นี้ ที่ท่านอาจารย์บอกว่า ถ้าเป็นพระอริยบุคคลแล้ว สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เขาจะมองได้ลึกซึ้งกว่าปุถุชน จะขอตัวอย่างจากอาจารย์ว่า ผมกำลังนั่งที่นี่ มองเห็นคุณเข็ม แล้วจะดูให้ลึกซึ้งกว่าปุถุชนได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่จะดูให้ลึกซึ้งได้อย่างไร เป็นความเข้าใจถูก ต้องเป็นความเข้าใจ เข้าใจว่า ขณะนี้จริงๆ เห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นรูปนาม

    ท่านอาจารย์ เห็น

    ผู้ฟัง เห็นรูป

    ท่านอาจารย์ แน่ใจว่า ไม่ใช่คุณเข็มแล้ว

    ผู้ฟัง ไม่ใช่คุณเข็ม

    ท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่บอกว่า เห็นคุณเข็ม และความจริงคือ

    ผู้ฟัง เป็นสมมติบัญญัติ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วเห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นรูป

    ท่านอาจารย์ รูปอะไร เห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นสี

    ท่านอาจารย์ เห็นธาตุ หรือธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีจริง ที่สามารถจะปรากฏให้เห็นได้ทางตาเท่านั้น ไม่ปรากฏทางอื่นเลย ต่อจากนั้นจะคิดนึกอะไรก็มากมายหลายเรื่อง แต่ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเปลี่ยนไม่ได้เลย เพียงแค่ปรากฏ กระทบจักขุปสาท ปรากฏแล้วดับไป สืบต่อเร็วจนกระทั่งทำให้ผู้ที่ไม่รู้ความจริง เห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ไม่ได้ดับเลย

    จึงต้องฟัง จนกว่าจะเกิดความรู้ความเข้าใจจริงๆ ว่า ถ้าเป็นการเห็น แม้เห็นก็ไม่ใช่เรา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีจักขุปสาท เห็นเกิดไม่ได้ และถ้าไม่มีสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้กระทบจักขุปสาท สิ่งนี้ก็ปรากฏไม่ได้ จะเห็นสิ่งนี้ไม่ได้เลย ชั่วขณะที่เพียงเห็น จะเป็นใครไม่ได้เลย ทั้งหมดไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้คิด ก็เกิดขึ้นคิดแล้วก็หมดไป ก็ได้กล่าวถึงเมื่อวานนี้ ไม่ทราบว่าคุณวิจิตรมา หรือเปล่า เมื่อวานนี้คุณวิจิตรทำอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง เมื่อวานนี้ผมไปฟังธรรมอีกที่หนึ่ง

    ท่านอาจารย์ แล้วมีเห็นไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เป็นคุณวิจิตรเห็น หรือเปล่า เป็นคุณวิจิตรไป เป็นคุณวิจิตรฟังธรรมอีกที่หนึ่ง แล้วก็เป็นคุณวิจิตรที่เห็นเมื่อวานนี้ด้วย วันนี้ยังมีขณะนั้นๆ อยู่ หรือเปล่า ถึงวันนี้ มี หรือเปล่า

    ผู้ฟัง วันนี้ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี แสดงว่าคุณวิจิตรหมดไปแล้วเมื่อวานนี้ เห็นก็หมดไปแล้ว เพราะฉะนั้นคุณวิจิตรก็หมดไปแล้วฉันใด วันนี้ที่กำลังนั่งอยู่ก็เป็นอย่างนั้น พอถึงพรุ่งนี้ก็ไม่มีเหลือเลย แต่ความจริงนั้นยังยาวไป ทุกขณะนี้เอง ถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญาจริงๆ ไม่มีคุณวิจิตร และมีความเห็นถูกว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ละการที่เคยยึดถืออย่างมั่นคงว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง เพราะมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกว่า แม้จิตเห็นขณะนี้ก็เป็นธรรม หรือเป็นธาตุชนิดหนึ่ง

    นี่คือความรู้ก่อนที่จะถึงความเป็นพระโสดาบัน ไม่ใช่ให้ไปมองอย่างไร ให้เห็นอย่างไร ให้คิดอย่างไร นั่นไม่ใช่ความรู้เลย เป็นความต้องการที่จะเป็นอย่างนั้น โดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด แต่ไม่ใช่ความรู้อะไรเลย

    ผู้ฟัง สรุปแล้ว นี่คือความลึกซึ้งของการเห็น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพียงแค่นี้ ลึกซึ้งผ่านไปตั้งมากมายก็ไม่รู้ในความลึกซึ้งนั้น และก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะฟัง และมีความเข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง เมื่อผมขอตัวอย่าง อาจารย์ก็ยกตัวอย่างมา สรุปแล้วนี่ก็ความลึกซึ้งของการเห็น ก็เป็นความเข้าใจระดับหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ คำสอนของพระองค์ต้องตามลำดับ ไม่มีใครสามารถจะรู้สภาพธรรมในขณะนี้ตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีการฟังให้เข้าใจก่อน แล้วถ้าไม่มีการฟังให้เข้าใจ จะมีการกำลังเข้าใจถูกในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏแต่ละลักษณะ ซึ่งเป็นปฏิปัตติ ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น “ปฏิปัตติ” ไม่ได้แปลว่า ทำอย่างไร แต่ปัญญาสามารถที่จะเกิดพร้อมสติที่กำลังถึงลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งที่กำลังปรากฏ เพื่อปัญญาจะได้เห็นจริงๆ เข้าใจจริงๆ ในความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น จนกว่าแทงตลอด ก็ไม่ผิดจากความเป็นจริงที่ได้ฟัง คือ เป็นธรรมซึ่งเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ก็มี ๓ ขั้น ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

    ผู้ฟัง คุณอรรณพ ขออนุญาตเรียนถามเรื่อง “อายตนะ” เพราะไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูก หรือไม่

    ถ้าพูดถึงมนายตนะที่เป็นจิต ก็กล่าวว่า เป็นอายตนะภายใน ถ้าเจตสิกก็เป็นธัมมายตนะ เป็นอายตนะภายนอก ตรงนี้ถูกต้องนะคะ ที่สงสัยก็คือ ถ้าพูดถึงรูปแล้ว ฟังดูเหมือนกับว่า รูปมี ๕ รูปเท่านั้นเอง หรือที่เป็นอายตนะภายใน ได้แก่ จักขายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ เท่านั้น หรือเปล่าที่เป็นอายตนะภายใน รูปนอกจากนั้นเป็นอายตนะภายนอก ใช่ หรือไม่

    อ.อรรณพ อย่างจักขุปสาท เป็นรูปซึ่งแม้จะไม่รู้อะไร แต่เป็นรูปที่มีความเหมาะ ที่ท่านบอกว่า ใส ก็คือเหมาะสม มีคุณสมบัติ มีความเหมาะควรที่จะกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา คือ สี ที่เป็นรูปได้ สภาพของรูปที่มีความใส เหมาะควรที่สามารถจะกระทบกับรูปภายนอกได้ รูปภายนอก ก็คือ สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นรูปภายนอก ๗ รูป ส่วนอายตนะภายใน ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย รูปอื่นนอกนั้นไม่สามารถรับกระทบรูปอื่นได้ จึงเป็นภายใน

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ได้ยินคำว่า “นิพพาน” แล้วไม่ค่อยเข้าใจว่า นิพพานที่ไม่เกิดแล้วไม่ดับ แต่ว่านิพพานก็มีอยู่แล้ว อย่างนั้น หรือ จริงๆ แล้วมีอยู่แล้ว เพราะว่าไม่เกิด และไม่ดับ แต่ว่าปัญญาที่เข้าไปรู้ลักษณะของนิพพานตรงนั้น

    ท่านอาจารย์ นิพพานเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นปรมัตถธรรม ที่ไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ เป็นปรมัตถธรรม หมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ที่ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าอย่างไร หมายความว่ามีจริง ถ้านิพพานไม่มีจริง จะต้องพูดถึง หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็ไม่ต้อง

    ท่านอาจารย์ นิพพาน เป็นสภาพธรรมที่จิตสามารถจะประจักษ์แจ้งได้หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะจิตเป็นสภาพรู้ เมื่อนิพพานเป็นสิ่งที่มีจริง จิตจึงสามารถมีนิพพานเป็นอารมณ์ หรือรู้นิพพานได้ รู้ลักษณะของนิพพานได้ จิตประเภทไหนที่สามารถรู้นิพพานได้

    ผู้ฟัง โลกุตตรจิต

    ท่านอาจารย์ อกุศลจิตรู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ กุศลขั้นทาน รู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ กุศลขั้นศีล รู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ กุศลขั้นความสงบ รู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ยังไม่ได้

    ท่านอาจารย์ กุศลที่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ยังไม่หมดความติดข้อง รู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง โสดาปัตติมรรคจิตรู้ได้ อกุศลก็ยังไม่หมด

    ท่านอาจารย์ ในขณะที่กำลังอบรมเจริญปัญญา รู้นิพพานได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง คิดว่ายังไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังฟังเรื่องนิพพาน จะรู้ลักษณะของนิพพานได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่นิพพานมีจริง

    ผู้ฟัง มี แสดงว่ามีอยู่แล้วใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ มีจริง จะมีอยู่แล้วตรงไหน อย่างไร ในเมื่อไม่รู้ แล้วไปนั่งคิดเรื่องอะไร คิดเกินกว่าที่ได้ยินได้ฟังเสมอ เอาความคิดของเรามาใส่ แล้วจะรู้อย่างไร อยู่ที่ไหน ก็ไม่ใช่เรื่องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามลำดับ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    19 เม.ย. 2567