พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 302


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๐๒

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นในขณะนี้ก็พูดถึงเรื่องจิตซึ่งเป็นกิริยาว่า เป็นจิตที่ไม่ใช่กุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิตใดๆ แต่เป็นการกล่าวถึงก่อนที่จิตจะพ้นสภาพของภวังค์สู่การรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด จะต้องมีจิตที่เกิดเป็นวิถีแรก ซึ่งเป็นกิริยาจิต เพราะฉะนั้นกิริยาจิตจะมี ๒ ประเภท หรือ ๒ ดวงก็ได้ คือ กิริยาจิตที่สามารถจะรู้อารมณ์ที่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ๕ ทางนี้ได้ทางหนึ่งทางใด ทีละทาง ชื่อว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต มาจากคำว่า “ปัญจ” ๕ และ “ทวาร” ก็คือทาง “อาวัชชนะ” ก็คือรำพึงถึง หรือนึกถึงนั่นเอง จะใช้คำอะไรก็จะยาวไป จากการที่จิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ แล้วทำกิจ เพราะขณะนี้ก็ไม่รู้ว่ามากมายกี่ขณะแล้ว

    เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้น รู้อารมณ์ที่กระทบทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ถ้าเป็นทางใจ ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดไม่ได้ แต่เป็นหน้าที่ของมโนทวาราวัชชนจิตที่นึก วันหนึ่งๆ คิดมากไหม คิดตลอดเวลาเพราะไม่ใช่ภวังคจิตขณะนั้น แต่มโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นนึก แล้วแต่ว่าจะนึกถึงอารมณ์อะไร โลภะ หรือโทสะ หรือกุศลก็เกิดตามการสั่งสม ตามที่มโนทวาราวัชชนจิตนึกถึงอารมณ์ใด จิตที่เกิดสืบต่อ ก็มีอารมณ์เดียวกัน แต่ไม่ใช่กิริยาจิต ถ้าไม่ใช่ พระอรหันต์ ก็ต้องเป็นอกุศลจิต หรือกุศลจิต

    พอที่จะเข้าใจกิริยาจิตไหมว่า มี เป็นปกติธรรมดา ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ก็จะมีกิริยาจิต ๒ ประเภท คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต และมโนทวาราวัชชนจิต เป็นจิตที่เพียงเกิดขึ้นทำกิจของอาวัชชนะ คือเป็นวิถีจิตแรกที่รู้อารมณ์ก่อนวิถีจิตอื่นๆ เท่านั้นเอง แต่สำหรับพระอรหันต์แล้ว ก็มีจิต ๒ ดวงนี้ด้วย และไม่มีกุศล และอกุศลเลย เพราะเหตุว่าหมดกิเลสแล้ว ก็เป็นกิริยาจิต

    ผู้ฟัง แสดงว่าเวลาเราเรียนเรื่องจิต เราจะต้องรู้ว่า จิตเกิดเป็นชาติอะไร และทำกิจหน้าที่อะไร เป็นภูมิอะไร ที่เกี่ยวกับจิตทั้งหลายให้เข้าใจรวมกันไปก่อน

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ก็เรียนเรื่องจิต ก็จะได้รู้ว่า จิตไม่ใช่เรา โดยประการต่างๆ ทุกประการ ภูมิก็ต่างกัน ชาติก็ต่างกัน กิจก็ต่างกัน ก็เป็นชั่วขณะหนึ่งซึ่งจิตเกิดขึ้นทำกิจแล้วหมดไป ไม่กลับมาอีกเลย จะกลับไปถึงแสนโกฏิกัปป์ ให้เป็นคนเก่า ก็ไม่มีทาง แม้แต่วันนี้ที่ผ่านไปทุกขณะ ก็ไม่ได้กลับมาอีกเลย

    ผู้ฟัง จิตเห็นเป็นชาติวิบาก และมีเจตสิกอะไรด้วย แล้วทำกิจอะไรใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จุดประสงค์ คือ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ให้เห็นถูก ให้เข้าใจถูกว่า ไม่มีเรา ไม่ใช่เรา ไม่มีตัวตน จะรู้ความจริงอย่างนี้ได้เมื่อไร ก็แล้วแต่การสะสมของปัญญา

    ผู้ฟัง เราต้องเข้าใจตามที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และอาจารย์ก็นำมาสอนพวกเรา

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญ คือ เป็นปกติ เช่นนี้มักจะลืมกัน ไปทำขึ้น เพราะอยากรู้ แต่ไม่รู้สิ่งที่กำลังมี เพราะเกิดแล้ว ตามเหตุตามปัจจัย หนทางก็เบี่ยงไปคนละทาง

    ผู้ฟัง ถ้าเราเรียนแบบไปท่องวิถีจิต

    ท่านอาจารย์ ท่องทำไม

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นเราก็จะไม่เข้าใจเลย

    ท่านอาจารย์ เมื่อกี้นี้เข้าใจปัญจทวาราวัชชนจิตกับมโนทวาราวัชชนจิตไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ มี ๒ ดวงเท่านั้น ไม่มีมากกว่านั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นในพระไตรปิฎก และอรรถกถา ถ้าเข้าใจแล้ว อาจจะยังจำชื่อไม่ได้ แต่ ปัญจะ ๕ นี่จำได้ ทวารก็จำได้ แค่ อาวัชชนะ อีกคำเดียว คือ รำพึงถึง นึกถึง รู้อารมณ์ที่กระทบครั้งแรก ก็รวมกันเป็น ปัญจทวาราวัชชนจิต ก็จำได้แล้ว ชื่อยากๆ ภาษาไทยก็มีตั้งมาก โลกาภิวัฒน์ ภาษาบาลี แปลว่าอะไร บูรณาการ ทำไมไปจำได้ แล้วแค่นี้จำไม่ได้ หรือ

    ผู้ฟัง ถ้าฟังบ่อยๆ ก็เข้าใจ ก็จำได้เอง

    ท่านอาจารย์ ฟังบ่อยๆ ก็ไม่ต้องท่องเลย

    ผู้ฟัง ถ้าเราเกิดด้วยมหาวิบากที่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย เราก็จะเข้าใจธรรมจำกัด

    ท่านอาจารย์ ปฏิสนธิจิตของผู้ถามเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นมหาวิบาก

    ท่านอาจารย์ เป็นผลของกุศลที่เป็นขั้นกามาวจร ไม่ใช่รูปฌาน อรูปฌาน เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดมาแล้ว เปลี่ยนได้ไหม

    อรวรรณ ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมที่ทำให้เกิดเป็น ๒ ท่านนี่ ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว จิตที่เกิดต่อเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นภวังคจิต

    ท่านอาจารย์ เหมือนเดิมเลยใช่ไหม ประเภทเดียวกัน สะสมมาอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น จะเปลี่ยนไม่ได้ จะเอาของผู้ฟังไปแลกกับผู้ฟังอีกคน ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย ทุกอย่างที่สะสมมาสืบต่อในจิต ๑ ขณะที่เกิดขึ้น ลองคิดดูว่า รวดเร็วสักแค่ไหน นามธรรมไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่สภาพของจิตที่เป็นกุศล และอกุศลเกิดแล้วสะสมสืบต่อ เพราะฉะนั้นอัธยาศัยก็ต่างกัน แม้ว่าจะเป็นระดับของกามาวจรกุศลที่ทำให้กามาวจรวิบาก หรือที่เราใช้คำว่า “มหาวิบาก” ทำกิจปฏิสนธิ แต่ก็หลากหลายตามการสะสม เมื่อได้สามารถที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นพระโสดาบัน ภวังคจิตเปลี่ยน หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เปลี่ยน

    ท่านอาจารย์ ยังคงเป็นเหมือนเดิม แต่ต่างจากเดิม หรือเปล่า ด้วยอะไร ต้องเป็นชาติเดียวกัน คือเป็นวิบาก ต้องเป็นภูมิเดียวกัน คือ เป็นกามาวจรวิบาก แต่ต่างกันที่ดับอนุสัยกิเลสที่สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ ด้วยโสตาปัตติมรรคจิต เพราะฉะนั้นเมื่อโสตาปัตติมรรคจิตเกิดรู้แจ้งนิพพานเป็นอารมณ์ ขณะนั้นดับอนุสัยกิเลสที่เป็นทิฏฐานุสัย และวิจิกิจฉานุสัย ไม่เกิดอีกเลย นี่คือความต่างกันของคำสอนของผู้ตรัสรู้ กับผู้ไม่ได้ตรัสรู้ ถ้าผู้ที่ไม่ได้ตรัสรู้ จะรู้ไหมว่า ขณะนี้แต่ละคนสะสมธรรมฝ่ายดี และฝ่ายไม่ดี ทั้งอาสยะ และอนุสยะมากน้อยแค่ไหน แต่เวลาที่มีปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น สามารถค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง สามารถที่จะประจักษ์ธาตุซึ่งเป็นนามธาตุ และรูปธาตุ แสดงให้เห็นว่า ปัญญาขณะนั้นรู้ถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม จนกระทั่งสามารถที่ประจักษ์การเกิดดับเมื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรมเมื่อใด แม้วิปลาสที่เห็นผิดว่าเป็นตัวตน ว่าเที่ยง ว่างาม ว่าสุข ไม่มีเลย ที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด และจิตที่เกิดสืบต่อที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยก็จะไม่มีอัตตา หรืออัตตวิปลาส หรือวิปลาสไม่มี และไม่มีความเห็นผิดว่าเที่ยง หรือว่าเป็นตัวตน แต่ยังมีวิปลาสที่เห็นว่างาม และเป็นสุข สัญญาวิปลาสว่าเที่ยง ไม่มี สัญญาวิปลาสว่าเป็นตัวตน ไม่มี เพราะว่าได้อบรมจนกระทั่งดับเป็นสมุจเฉท แต่วิบากจิตเปลี่ยนไม่ได้เลย ที่ทำปฏิสนธิกิจ ยังต้องเป็นอย่างนั้นไปจนกว่าจะถึงจุติ แต่ถ้าสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงความเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ภวังคจิตก็เป็นภวังคจิตประเภทนั้นแต่ว่าดับกิเลสที่เป็นอนุสัยหมด เมื่ออนุสัยกิเลสดับหมด กิเลสอื่นเกิดไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นแม้กุศล และอกุศลก็ไม่มี มีแต่กิริยาจิต

    ผู้ฟัง ถ้าเรามาอบรมปัญญา ชวนจิตที่เป็นกุศลก็จะมากกว่าอกุศล และทำให้กิเลสที่มีอยู่ลดลงตามที่ได้อบรมเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ทางฝ่ายกุศลเพิ่มขึ้น แต่ว่าอนุสัยก็ยังคงมีเหมือนเดิม จนกว่าจะถึงโลกุตตรจิตเมื่อใด จึงจะสามารถดับอนุสัยกิเลสได้ตามขั้นของโลกุตตรจิตนั้นๆ

    ผู้ฟัง แต่ต้องเริ่มด้วยการค่อยๆ สะสมกุศล และอกุศล หรือกิเลสของเราก็จะลดลงไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ที่เป็นผู้ถามวันนี้ ก็มาจากการสะสมในแสนโกฏิกัปป์ ที่จะเป็นบุคคลชาติหน้า ก็สะสมสิ่งที่มีในวันนี้ต่อไป

    ผู้ฟัง ลักษณะของปรมัตถธรรมจริงๆ ที่สติสามารถระลึกรู้ได้เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีปรมัตถธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง จากการฟัง จากการศึกษาก็มีปรมัตถธรรมที่ปรากฏ แต่ไม่มีสติที่ระลึกได้

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะปัญญายังไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง แต่ว่าในขณะเดียวกัน สภาพปรมัตถธรรมแต่ละทางเป็นหนึ่ง หรือไม่ หมายถึงไม่มีสอง

    ท่านอาจารย์ เสียงกับแข็ง เหมือนกัน หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เสียงกับแข็ง ไม่เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ๑ หรือไม่ เสียง ๑ แข็ง ๑

    ผู้ฟัง แต่ละทาง กราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ในทางหนึ่งมีปรมัตถธรรมเพียง ๑ ไม่มี ๒ ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า จิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ จะรู้อารมณ์ ๒ อย่าง หรือรู้อารมณ์อย่างเดียว

    ผู้ฟัง รู้อารมณ์อย่างเดียว แต่ลักษณะสติสัมปชัญญะที่ระลึกได้ทางหนึ่งทางใด เช่น ทางกาย ระลึกได้หลายประเภท ทางหู เป็นประเภทเดียวที่สามารถระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางหูได้ แต่ว่าในความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน ที่เรามีความคิดนึกสืบต่อ ลักษณะของเสียงที่ปรากฏ ไม่ได้เป็น ๑ เดียว หมายถึงมีเสียงหลายๆ เสียง หลายๆ ชนิด หลายๆ ประเภท

    ท่านอาจารย์ ทีละ ๑ หรือเปล่า หรือพร้อมกันหลายๆ เสียง

    ผู้ฟัง ทีละ ๑ ถ้าสติสัมปชัญญะระลึกรู้สภาพปรมัตถธรรมที่ปรากฏ เพียง ๑ แล้วดับ แล้วหมดไป อีก ๒ – ๓ วัน สติสัมปชัญญะเกิดระลึก

    ท่านอาจารย์ ทำไมห่างปานนั้น อีกตั้ง ๒ – ๓ วัน

    ผู้ฟัง เพราะปัญญาน้อย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่เสียงนั้นแล้ว ๒ – ๓ วัน ไม่ใช่เสียงเก่าแล้ว คนละเสียงแล้ว

    ผู้ฟัง แล้วลักษณะปรมัตถธรรมจะเป็นอย่างเดียวกันไหม

    ท่านอาจารย์ ทางหู สามารถจะรู้กลิ่นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องเป็นเสียงเท่านั้นที่ปรากฏ และต้องเป็นเสียงที่เกิดขึ้นด้วย ถ้าเสียงยังไม่เกิด เสียงก็ปรากฏไม่ได้ และเสียงแต่ละเสียงที่ปรากฏ ก็มีปัจจัยให้เสียงเกิดแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง แต่ว่าปัจจัยที่ทำให้เสียงเกิด ก็มีมากมายหลายชนิด

    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้เสียงจึงหลากหลาย ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะจะรู้ไหมว่า เสียงหลากหลาย

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้น ลักษณะของสติสัมปชัญญะที่ระลึกสภาพธรรมที่ปรากฏ ที่เป็นปรมัตถธรรมแต่ละครั้ง ก็จะต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ลักษณะของสติ เป็นสภาพที่รู้ ไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่ความรู้สึก เพราะฉะนั้นสติจะเป็นอื่นไม่ได้ แต่ว่าสิ่งที่สติระลึก แล้วแต่ว่าขณะนั้นอะไรเกิดปรากฏแล้วสติเกิดระลึกรู้สิ่งนั้น สติจะไปเลือกรู้สิ่งที่ไม่ปรากฏไม่ได้ ไม่มีหน้าที่ที่จะไปเลือกเลย ต้องมีสิ่งที่เกิดแล้ว ใช่ไหม แล้วสติจึงตามรู้ ไม่ใช่ไปรู้อื่น ลักษณะนั้นมีปรากฏให้รู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง มิฉะนั้นจะไประลึกรู้อะไร

    ผู้ฟัง เช่นทางกาย ธาตุดินปรากฏ ให้สติสัมปชัญญะระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ธาตุดินนั้นก็มีคุณสมบัติที่ต่างกัน มิฉะนั้นธาตุดินก็จะไม่ปรากฏทั้งแข็ง และอ่อน ซึ่งลักษณะของสติสัมปชัญญะที่ระลึกปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางกาย เป็นธาตุดิน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในแต่ละขณะที่สติสามารถระลึกได้เหมือนกัน หรือต่างกัน

    ท่านอาจารย์ แข็งกับอ่อน เหมือนกันไหม

    ผู้ฟัง ไม่เหมือนแน่นอน

    ท่านอาจารย์ ถ้าแข็งปรากฏ สติรู้อะไร

    ผู้ฟัง รู้แข็ง

    ท่านอาจารย์ ถ้าอ่อนปรากฏ เกิดขึ้น สติรู้อะไร

    ผู้ฟัง รู้อ่อน แต่จะมีแข็งมากแข็งน้อย แข็งกลาง ถ้ามีความรู้สึกอย่างนี้จริงๆ น่าจะเป็นคิดนึก ซึ่งไม่ใช่ลักษณะที่แท้จริงของปรมัตถธรรม แต่ปัญญาน้อย

    ท่านอาจารย์ เวลานี้แข็งกำลังปรากฏ กำลังรู้แข็ง ต้องมีการเปรียบเทียบไหมแข็งน้อย แข็งมาก หรือว่าแข็งปรากฏแล้วก็หมดไป ให้ละความไม่รู้ในสภาพที่เป็นสภาวะธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเพียงปรากฏทางกายเท่านั้นเอง ทุกอย่างที่ปรากฏแต่ละทางก็คือปรากฏเกิดขึ้นแต่ละทางเท่านั้นเอง แล้วก็หมดไป แต่ว่าความจำ และการคิดนึกปรุงแต่งจนกระทั่งไม่ลืม เช่น ขณะนี้ที่พูดถึงเห็นบ่อยๆ แม้แต่ในพระไตรปิฎกก็กล่าวถึงจักขุทวาร ก่อนอื่นเลย จักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร และมโนทวาร ไม่ได้ทิ้งจักขุ เพราะขณะนี้ก็มีรูปที่ปรากฏทางตา ให้เข้าใจจริงๆ เมื่อไร ว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่มีจริง และปรากฏได้เพราะเห็นเท่านั้นเอง จะมีอะไรเกินกว่านี้ นี่คือการจะละความเป็นเรา ความเป็นตัวตน และความสำคัญ ความยึดมั่นในเรื่องราวต่างๆ ซึ่งติดตามการเห็น ให้รู้ความเป็นจริง

    ผู้ฟัง แข็งปรากฏ สติระลึกรู้สภาพที่ปรากฏ คือ แข็ง แต่จริงๆ แล้ว เป็นลักษณะของตามรู้ในสิ่งที่เกิด เมื่อตามรู้ในสิ่งที่เกิด..

    ท่านอาจารย์ ภาษาทำให้เรานึกคิดไปตามความเข้าใจของเรา พอได้ยินคำว่า ตามรู้ แล้วแต่ว่าแต่ละคนจะเข้าใจว่าอย่างไร เพราะว่าแม้แต่คำว่า สติ ใช้คำว่า “สติ” ก็ยังเข้าใจกันไปต่างๆ นานา คนที่ไม่ได้ศึกษาธรรมเลย ก็บอกว่า เดินดีๆ ไม่มีสติ เดี๋ยวหกล้ม ก็พูดกันไป แต่นั่นไม่ใช่ลักษณะของสติ

    เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดงด้วยพยัญชนะที่ส่องไปถึงลักษณะของสภาพธรรมใด เราควรเข้าถึงลักษณะของคำนั้น เช่น พอพูดถึงสติ ไม่ใช่จำคำว่า “สติ” ไม่ใช่รู้สติเป็นโสภณธรรม โดยชื่อ แต่ว่าลักษณะของสติจริงๆ ต้องเป็นเจตสิก เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งต่างกับเจตสิกอื่นที่ไม่ใช่สติ เพราะฉะนั้นควรเข้าถึงลักษณะของสติ ภาษาไทยแปลว่า “ระลึกรู้” ถ้าคนที่เข้าใจเพียงภาษาไทย แต่ไม่ได้ศึกษาธรรม ก็ไปคิดว่าระลึกเรื่องราวอะไรก็ได้ ขณะนั้นกำลังรู้เรื่องนั้น ก็ไปเข้าใจว่า นั่นคือสติ ก็ไม่ถูก แต่เมื่อสติเป็นโสภณธรรม ก็ต้องมีความเข้าใจว่า ทุกขณะที่กุศลจิต โสภณจิตเกิด ต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย ใครจะรู้ หรือไม่รู้ก็ตาม พระปัญญาคุณที่ทรงตรัสรู้ ทรงแสดงความจริง ซึ่งไม่เป็นอย่างอื่น

    ด้วยเหตุนี้ แม้ขณะนี้ที่กำลังฟัง เข้าใจ รู้ไหมว่า มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็ไม่รู้ แล้วเราจะไปแปลว่า เป็นสภาพที่ระลึกรู้ ถ้าเราไปยึดติดอยู่ที่คำแปลนั้น แต่ว่าไม่เข้าถึงลักษณะของสติซึ่งเป็นโสภณธรรม ขณะนี้เป็นไปกับการเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เพราะว่าจิตได้ยิน คือ โสตวิญญาณ ไม่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ในขณะใดที่จิตเกิด แล้วมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะขณะนั้นสติเป็นไปกับสภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน และปัญญาก็ทำหน้าที่ของปัญญา เจตสิกทั้งหลายที่เกิดดับอย่างเร็วมากก็ร่วมกันทำกิจของเจตสิกนั้นๆ ไป

    เพราะฉะนั้นอย่าไปติดที่คำว่า “ระลึกรู้” และคิดว่าเข้าใจแล้ว แต่ต้องรู้อรรถ ลักษณะของสติ คือ สภาพที่เป็นไปในทางฝ่ายกุศล ขั้นฟังก็มีสติ และในขณะที่ให้ทาน กุศลจิตเกิดก็มีสติ แต่ก็ไม่รู้ ขณะที่วิรัติทุจริต ละเว้นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เบียดเบียนคนอื่น ขณะนั้นก็มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย จะไปแปลว่า ระลึกรู้ หรืออะไรก็ตามแต่ แต่ให้ทราบว่า สติมีลักษณะที่ต่างจากเจตสิกอื่น

    เพราะฉะนั้นเวลาที่เมื่อถึงสติปัฏฐาน หรือสติสัมปชัญญะ ไม่ต้องไปนึกคำแปล ว่าสติเป็นสภาพที่ระลึกรู้ แต่ขณะนี้มีสภาพธรรมปรากฏ ปกติไม่เคยรู้ลักษณะของสิ่งนั้น เพราะผ่านไปรวดเร็วทั้งวัน เมื่อครู่นี้ผ่านไปทั้งหมด จิตทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นวิถีจิตทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ผ่านไปหมด โดยไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กล่าวถึง เพราะว่าไม่ใช่สติขั้นสติสัมปชัญญะ ที่เป็นสติปัฏฐาน ต่อเมื่อใดมีการรู้ลักษณะ ขณะนั้นสติ ถ้าจะแปลว่า “ตามรู้” คือ ไม่ได้ไปที่อื่น มีสิ่งที่กำลังปรากฏ และสติก็รู้ลักษณะนั้น อยู่ตรงลักษณะนั้น นั่นคือ ตามลักษณะที่ปรากฏ ไม่ได้ไปอื่น

    เพราะฉะนั้นต้องเข้าถึงว่า ขณะนี้มีผู้อบรมสติปัฏฐานจริงๆ จะรู้ความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติ กับขณะที่สติเกิด เป็นปกติ จึงจะเป็นสติสัมปชัญญะ เป็นปกติ คือ ลักษณะนี้เป็นปกติอย่างนี้ ไม่มีใครไปเปลี่ยน ไม่มีตัวตนไปนึกที่ตามรู้ หรืออะไรทั้งสิ้น แต่ขณะใดที่กำลังมีลักษณะนี้ แล้วก็รู้ตรงลักษณะนี้ แล้วกำลังค่อยๆ เข้าใจขึ้น นั่นคือความหมายของ “ตามรู้”

    ผู้ฟัง อย่างนั้นขณะที่สติสัมปชัญญะระลึกลักษณะสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมปรากฏ สติกับปรมัตถธรรมเป็นคนละขณะ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ ขณะเห็นต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วบอกว่าเห็น

    ผู้ฟัง ขณะเห็นต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะที่สติรู้ ต้องมีสิ่งที่สติกำลังรู้ด้วย ปกติธรรมดา แต่ไม่ใช่จิตเห็น ทั้งๆ ที่มีสภาพธรรมปรากฏ ลักษณะไม่เปลี่ยนเลย กำลังมีลักษณะนี้แล้ว ไม่ได้คิดถึงอย่างอื่นด้วย กำลังค่อยๆ เข้าใจสิ่งนี้ มีสิ่งนี้ให้ค่อยๆ เข้าใจ เราไม่ได้ไปเรื่องอื่น ถ้าจะกล่าวถึงแข็ง แข็งปรากฏ หลงลืมสติก็คือธรรมดา แต่เวลาที่แข็งปรากฏ ลักษณะแข็งปรากฏ ขณะนั้นถ้าเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะรู้ว่า สติระลึก ลักษณะนั้นจึงปรากฏ ต่อจากกายวิญญาณที่รู้แข็ง แล้วปกติก็ผ่านไป แล้วแต่ว่าเป็นการรู้ลักษณะของสภาพรู้ หรือสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ในขณะที่สติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะรู้แต่เพียงลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางหู สิ่งที่ปรากฏทางจมูก สิ่งที่ปรากฏทางลิ้น สิ่งที่ปรากฏทางกาย แต่เนื่องจากในชีวิตประจำวัน มีสิ่งต่างๆ มากมาย และถ้ารู้ความจริงเพียง ๕ – ๖ สิ่งนี้ จะสามารถครอบคลุมโลกทั้งโลกได้ หรือว่า นี้เป็นโต๊ะ เก้าอี้ ที่มีความวิจิตรพิสดาร

    ท่านอาจารย์ ผู้ถามกล่าวว่า สิ่งต่างๆ มีมาก ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ รู้ได้กี่ทาง

    ผู้ฟัง รู้ได้ ๖ ทางครับ

    ท่านอาจารย์ มากกว่านั้นได้ไหม

    ผู้ฟัง มี ๖ ทางเท่านั้น แต่เนื่องจากท่านอาจารย์ได้เคยอธิบายไว้ว่า ในขณะที่สภาพธรรมที่ปรากฏนั้นไม่มีชื่อ แต่สามารถสื่อความหมาย หรือเรียกชื่อกันได้ว่า ถ้าเป็นภาษาไทยเรียกว่าแข็ง ลักษณะของแข็ง เรายังไม่รู้เลยว่า เป็นโต๊ะ เก้าอี้ หรือเป็นไมโครโฟนที่ผมกำลังจับอยู่

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นโต๊ะ เป็นตัวตน หรือเปล่า


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    15 ม.ค. 2567