พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 319


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๑­๙

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ ในขณะนี้ได้ยินเสียง เข้าใจเสียงว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ หรือว่าเหมือนธรรมดา มีใครบ้างที่เสียงปรากฏ แล้วเสียงก็หมดไป กลิ่นปรากฏแล้วก็หมดไป รสปรากฏแล้วก็หมดไป ทุกอย่างดูเป็นธรรมดา แต่ห่างมาก เพราะว่าไม่รู้ความจริงของธรรมที่กำลังเป็นจริงอย่างนั้น แม้แต่ทางเดียว ถ้ามีความเข้าใจในสิ่งนั้น ขณะนั้น พอถึงทางอื่น ไม่ใช่ไปรู้เห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะที่กำลังได้ยินเสียง แต่จะมีความเข้าใจในธาตุรู้ ซึ่งเป็นสภาพได้ยินต่างกับเสียง แต่ละทางจนกว่าจะละคลายความเป็นเรา เพราะว่าการเป็นเราหนักหนามากเลย เหนียวแน่นลึกจนกระทั่งต้องฟังแล้วมีความเข้าใจว่า ต้องเป็นปัญญาจริงๆ เท่านั้น จึงจะสามารถค่อยๆ รู้ถูก ถ้ายังรู้ไม่ถูก ก็ไม่คลายการไปยึดถือว่า ขณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นเอง

    อ.วิชัย จะเข้าใจอย่างนี้ หรือไม่ว่า ถ้ากล่าวถึงเมื่อปัญญาเจริญขึ้น การปรุงแต่งของปัญญา จะเป็นการน้อมไปที่จะรู้แม้ในอารมณ์ที่ปรากฏกับลักษณะของนามธรรมที่รู้อารมณ์ปรากฏ เพราะเห็นความต่างของธาตุรู้กับสภาพที่ถูกรู้ หรือ

    ท่านอาจารย์ เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด ขณะนั้นต้องมีลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งปรากฏแน่นอน แต่การที่จะรู้ลักษณะนั้นที่เป็นสภาพธรรมจะค่อยๆ เกิดขึ้น และขณะนั้นก็ต้องตรงที่จะเข้าใจถูกต้องว่า ลักษณะนั้นเป็นรูปธรรม หรือนามธรรม แต่ไม่ต้องเอ่ยชื่อ เพราะว่าส่วนใหญ่เวลาที่เราเริ่มเรียน เราเรียนจากการฟัง และการอ่านเรื่องธรรม เรื่องรูปธรรม และนามธรรม จนกระทั่งบางคนแสวงหาว่า รูปธรรมนามธรรมอยู่ที่ไหน เป็นอะไร แต่นั่นไม่ใช่ เพราะเหตุว่าในขณะนี้เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม แต่ไม่รู้

    เมื่อฟังแล้วก็เริ่มรู้ความต่างของนามธรรม และรูปธรรมขั้นเข้าใจจากการฟัง แต่เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด แล้วมีลักษณะที่สติกำลังระลึก ไม่ต้องมีชื่ออะไรเลยทั้งสิ้น แต่แค่นั้นปัญญายังไม่รู้ชัด ยังไม่สามารถที่จะเห็นว่าเป็นเพียงธรรม ไม่ว่าจะนามธรรมใด รูปธรรมใดทั้งสิ้น อย่างโกรธเกิดขึ้น โกรธก็เกิด มีปัจจัยก็โกรธ ไม่มีชื่อว่าคนนั้นคนนี้เลย แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ทั้งๆ ที่ลักษณะนั้นไม่เปลี่ยน รูปธรรมก็เช่นเดียวกัน ลักษณะของรูปธรรมก็ไม่เปลี่ยน รูปธรรมก็เป็นรูปธรรมแต่ไหนแต่ไร เปลี่ยนไม่ได้ เป็นรูปขันธ์ นามธรรมก็เปลี่ยนไม่ได้เลย แต่ไม่รู้ต่างหากว่า ว่านั่นเป็นเพียงธรรม

    ไม่ว่าจะเป็นธรรมใดๆ ก็ตาม ที่สติระลึก ลักษณะของรูปเปลี่ยนไม่ได้ ความเข้าใจในสิ่งนั้นโดยไม่ต้องเอ่ยในความเป็นรูป ก็รู้รูปลักษณะหนึ่ง หรือขณะที่กำลังรู้ลักษณะที่แข็ง เป็นนามชนิดหนึ่ง เป็นสภาพรู้ ขณะนั้นก็ไม่ต้องใส่ชื่อว่านาม เพราะเหตุว่าขณะนั้นลักษณะของนามค่อยๆ ปรากฏเป็นนามธรรม ซึ่งลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมก็ต่างกัน แต่ความรู้ค่อยๆ เพิ่มขึ้น

    อ.วิชัย ในชั่วขณะที่ปัญญาเกิดรู้ เข้าใจในลักษณะ แต่ว่าปัญญายังไม่เจริญพอที่จะเห็นความต่าง ใช่ไหม ต้องอบรม

    ท่านอาจารย์ หมายความว่ายังไม่รู้ชัดในสิ่งที่ปรากฏ แต่ไม่ได้ไปเทียบเคียง ไม่ต้องไปคิด เพราะว่ากำลังรู้ชัดในสิ่งหนึ่ง อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตา กว่าจะถึงกาลที่รู้จริงๆ ว่า ไม่มีสัตว์ บุคคลใดๆ เลยในสิ่งที่เพียงปรากฏทางตา ก็จะต้องรู้เฉพาะในสิ่งนั้น แต่ว่าสติสัมปชัญญะไม่ได้รู้อย่างเดียว ก็มีอย่างอื่นที่ปรากฏ ลักษณะนั้นก็ต่างกันอยู่แล้ว

    อ.วิชัย ยังติดในคำว่า “ยังไม่รู้ชัด” เพราะว่าปัญญาโดยสภาพเป็นสภาพที่รู้ ตามความเป็นจริงว่า ไม่รู้ชัด ท่านอาจารย์กรุณาให้ความหมาย

    ท่านอาจารย์ รู้ระดับไหน ระดับโลกุตตระ หรือระดับที่ประจักษ์แจ้งกำลังแทงตลอด ไม่มีอะไรเลยทั้งหมด นอกจากสิ่งนั้นสิ่งเดียวที่ปรากฏให้รู้ชัด

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ถ้ารู้ชัด ก็คือเป็นวิปัสสนาญาณ ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ใช้คำว่าชัด อย่างข้อความในพระสูตรจะมีบ่อย เวลาที่ฟังธรรมแล้ว ท่านก็รู้ชัด รู้แจ้งแทงตลอดเป็นพระอริยบุคคล

    ผู้ฟัง สิ่งนั้นยังไม่สงสัย แต่สงสัยตรงรู้ไม่ชัด

    ท่านอาจารย์ เวลานี้รู้ชัดอะไรดีกว่า

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่รู้

    ท่านอาจารย์ นั่นแหละ คือ ไม่ชัด

    ผู้ฟัง กับไม่รู้อะไรเลย

    ท่านอาจารย์ ก็เหมือนกัน ก็ยิ่งไม่ชัดใหญ่

    ผู้ฟัง ตัวอย่างทางจักขุทวาร อย่างเห็น แสงไม่พอ หรือว่าตาสั้น ตายาว ไม่ใส่แว่น ก็รู้ว่าเห็นไม่ชัด อันนี้พอรู้

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่า “เห็น ไม่ชัด” ปัญญาเข้าใจชัด หรือเปล่า ปัญญากับเห็นไม่เหมือนกัน เห็นธรรมดา ก็คือมีสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ปัญญาที่ชัด หมายความถึงเห็น ชัดเหมือนเห็น เพราะสามารถที่จะรู้สิ่งนั้นจริงๆ ไม่มีความสงสัยในสิ่งนั้น

    ผู้ฟัง พอเอาเปรียบเทียบกันระหว่างปัญญากับทางจักขุวิญญาณ คำว่า “ไม่ชัด” ก็เลยอยากจะทราบว่า ปัญญา เห็นแล้วเริ่มรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่คิดตาม ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล สิ่งนี้พอจะรู้บ้าง แม้ว่าจะไม่ชัดก็ตาม ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ รู้อะไรตรงนั้นที่กำลังคิด

    ผู้ฟัง ก็รู้เข้าใจว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ตามที่ได้ฟังมาจากปริยัติ

    ท่านอาจารย์ คิดตาม คิดตามก็คือคิดตาม ความจริงเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าคิดตามเป็นคิดตาม จะให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม

    ผู้ฟัง คิดตาม ก็คือยังไม่ใช่รู้ชัด

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ขั้นคิด สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา

    ผู้ฟัง แล้วระดับไหนถึงจะรู้ว่า เริ่มรู้ไม่ชัดบ้าง

    ท่านอาจารย์ สติสัมปชัญญะเกิด หรือเปล่า รู้ความต่างกันของขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด กับขณะที่หลงลืมสติ หรือยัง ถ้าตราบใดที่สติสัมปชัญญะยังไม่เกิด ก็มีความเข้าใจความต่างขั้นเข้าใจ จึงสามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะไหนสติเกิด เพราะเข้าใจถูกต้อง ว่าต้องเป็นขณะนั้นเท่านั้นที่เป็นสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง เบื้องต้นก็คือ เข้าใจความต่างกันระหว่างสติปัฏฐานไม่เกิดกับ สติปัฏฐานเกิด

    ท่านอาจารย์ ขั้นปริยัติต้องมี ทุกอย่างต้องให้เข้าใจปริยัติก่อน มั่นคง

    ผู้ฟัง แล้วขั้นต้นของปฏิบัติ อย่างไรจึงเรียกว่าขั้นต้นของปฏิบัติ

    ท่านอาจารย์ ปฏิบัติ คืออะไร ก่อนอื่นเวลาจะพูดถึงอะไร ถ้าไม่มีความเข้าใจสิ่งนั้น ผิดหมดเลย เพราะยังไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น “ปฏิปัตติ” ในภาษาบาลี ที่ภาษาไทย ใช้คำว่า “ปฏิบัติ” คืออะไร

    ผู้ฟัง คือสติระลึกแล้วปัญญารู้ลักษณะของสภาพนั้นๆ แต่ว่าขั้นต้นของเขาคือ ...

    ท่านอาจารย์ นี่ไง

    ผู้ฟัง นี่ หรือขั้นต้น

    ท่านอาจารย์ ขั้นต้นก่อนนั้น คือ ปริยัติ แล้วก็ปฏิบัติ แล้วก็ปฏิเวธ แต่ทั้ง ๓ นี้ก็ไกลกัน ไม่ใช่ว่าใกล้กันมาก ตามการสะสม ถ้าไม่ได้ฟังธรรมเลย ปริยัติไม่มีเลย ปฏิบัติได้ไหม ไม่ได้ ถ้าฟังธรรมเล็กๆ น้อยๆ ยังไม่มีความเข้าใจที่มั่นคง จะปฏิบัติถูกไหม

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่ถูก แล้วอย่างไรจึงจะเรียกว่า ขั้นสูงของปริยัติ

    ท่านอาจารย์ มีความเข้าใจที่มั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรม และเป็นอนัตตายิ่งขึ้น ไม่เช่นนั้นเราจะฟังเรื่องจักขุวิญญาณ รูปารมณ์ทำไม เพื่อจะได้เข้าใจถูกต้องจนกว่าจะประจักษ์จริงๆ

    ผู้ฟัง ดิฉันอยากขอให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายสติขั้นพิจารณาอย่างละเอียดสักนิดหนึ่ง เพื่อให้เห็นความต่างกันระหว่าง “หลงลืมสติ” “สติขั้นพิจารณา” และขั้น “สติปัฏฐาน”

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังฟังก็เป็นกุศลจิตซึ่งต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย เวลาที่เราให้ทาน ไม่ใช่ขณะที่กำลังฟังธรรม ขณะที่กำลังฟัง จิต และเจตสิกเกิดดับสืบต่อ และทำกิจพิจารณา โดยไม่ต้อง “มีเรา” อีกต่างหากที่จะไปพิจารณา แต่ขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมของสังขารขันธ์ที่เกิดดับก็ปรุงแต่งจนกระทั่งเป็นความเข้าใจในขณะนั้น เป็นปกติอย่างนี้

    ผู้ฟัง สมมติว่าเรามีอารมณ์โกรธ หรือโลภะ ในขณะแม้สติปัฏฐานไม่เกิด ขณะนั้นก็คงจะทุเลาได้ ขณะนั้นเรียกว่าสติเกิดในขั้นพิจารณา หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่เป็นกุศลจิต เป็นจิตที่ดีงาม ก็จะเป็นไปในทาน ในศีล ในความสงบของจิต ในการที่จะอบรมความเห็นถูกความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ในขณะคิดนึกเป็นไปได้ใช่ไหม โดยเฉพาะผู้บริหาร ในขณะที่อาจจะได้อารมณ์ไม่เป็นที่น่าพอใจ แต่ในขณะนั้นสติเกิด คือ คิดจะสงเคราะห์เพื่อนร่วมงาน เช่นนี้ก็เรียกว่า เป็นขั้นพิจารณาเหมือนกัน ได้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นต้องคิด แม้ขณะที่กำลังสงสาร หรือเมตตา ก็คิด เพราะไม่ใช่เห็น ขณะใดที่ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่ได้กลิ่น ไม่ใช่ลิ้มรส ไม่ใช่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และไม่ใช่จิตซึ่งเกิดสืบต่อทางทวารนั้นที่รู้รูปที่ยังไม่ดับ เป็นเรื่องของจิตที่คิด เดี๋ยวนี้กำลังเห็น คิดหรือเปล่า คิดแล้วจึงรู้ว่าเป็นใคร เพียงแค่นั้นก็คิดแล้ว เพราะฉะนั้นก็ทราบได้เลยว่า ขณะใดที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จิตอื่นนอกจากนี้เราไม่สามารถรู้ได้ เช่น วิถีจิตที่เป็นปัญจทวาราวัชชนะ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ตทาลัมพนะ เพราะว่าเกิดทีละ ๑ ขณะ สั้นๆ แต่ถ้าเป็นขณะที่ทำชวนกิจสืบต่อกัน ๗ ขณะ แล่นไปในอารมณ์นั้น ก็เป็นขณะที่พอจะรู้ได้ ก็หมายความว่าขณะนี้ที่ไม่เห็น แต่รู้ว่าเป็นอะไร แค่นั้นก็คือคิดแล้ว

    ผู้ฟัง ขณะที่เป็นไปในทาน ในศีล ขณะนั้นเป็นกุศลจิต และสติเกิดร่วมด้วย แต่เราไม่รู้ มีโอกาสไหมว่าตัวเราเองไม่รู้หรอกว่า ขณะนั้นสติเกิด ไม่รู้ เพราะว่ายังไม่ชินต่อการเจริญสติ อันนี้เป็นไปได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ใช่สติสัมปชัญญะจะไม่รู้ลักษณะของสภาวธรรมใดๆ เลยทั้งสิ้น เพียงแต่รู้จักชื่อ รู้ว่าขณะนั้นมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีหิริเจตสิก โอตตัปปเจตสิกเกิด แต่ก็ไม่รู้ลักษณะใดๆ เลย

    ผู้ฟัง โสภณจิตมีสิทธิ์จะเกิดได้ไหม ถ้าไม่เป็นไปในทาน ในศีล ในภาวนา

    ท่านอาจารย์ เมื่อไรที่จะเกิดได้

    ผู้ฟัง คือคำถาม

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่เป็นไปในทาน ต้องเป็นกุศล เป็นโสภณ ขณะใดที่เป็นไปในศีล วิรัติทุจริต หรือทำสิ่งที่ควรกระทำ ขณะนั้นก็เป็นโสภณ นอกจากนั้น ขณะที่นอนหลับสนิท ขณะนั้นก็มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เมื่อเป็นผลของกุศล นอนหลับจะมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นชาติวิบาก แต่เป็นโสภณ เพราะว่าเป็นผลของกุศล

    ผู้ฟัง แล้วนอนหลับนี่เป็น อโสภณไม่ได้ หรือ เป็นอกุศลเจตสิกไม่ได้ หรือ

    ท่านอาจารย์ ถ้าอโสภณ อะ แปลว่า ไม่ โสภณ แปลว่า ดี ขณะใดที่ไม่มีเจตสิกที่ดีเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นก็คือ อโสภณจิต เพราะเหตุว่าไม่มีเจตสิกฝ่ายดีเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ถึงแม้จะเป็นอัญญสมานาเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นอะไรก็ตามแต่ ขณะใดที่ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นเป็นอโสภณจิต จิตของใครก็ไม่เว้น พระพุทธเจ้ามี อโสภณจิตไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เมื่อไร

    ผู้ฟัง ตอนนอนหลับ

    ท่านอาจารย์ เมื่อไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ความจริงชื่อก็ชัดเจน อโสภณก็บอกอยู่แล้วว่า หมายความถึงไม่มีอโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง คุณวิชัย ดิฉันอยากทราบความละเอียดของปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธว่า มีลักษณะที่ต่างกันอย่างไร ความเข้าใจของดิฉันที่ว่า ปฏิบัติ ปฏิปัตติ ตรงนี้จะเป็นลักษณะของสติปัฏฐานเกิดแล้วใช่ไหม และถ้าเป็นปฏิเวธ เป็นลักษณะที่เริ่มต้นตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณ หรือเปล่า ไม่ทราบเข้าใจถูก หรือไม่

    อ.วิชัย ขณะที่กำลังฟังขณะนี้ เป็นการศึกษาปริยัติไหม ฟัง ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น ไม่ใช่เพื่อจำได้มากๆ แต่ฟังเพื่อเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม ปัญญาเริ่มมีความรู้ในลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นปัญญานั้นเองเริ่มปฏิปัตติ คือ ถึงเฉพาะในลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งกว่าจะถึงในลักษณะของสภาพธรรม ก็ต้องมาจากการฟัง มีความเข้าใจก็เป็นปริยัติ เพราะฉะนั้นปริยัติเพื่อเจริญปัญญา ที่จะรู้ในลักษณะของสภาพธรรม ส่วนปฏิเวธก็ต้องหมายถึง การแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง แทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรม ก็หมายความว่า แม้แต่วิปัสสนาญาณที่ ๑ ก็อยู่ในระดับของปฏิเวธแล้ว อย่างนั้นใช่ หรือเปล่า

    อ.วิชัย ไม่ทราบ ปฏิเวธจะถึงระดับไหน

    ท่านอาจารย์ ต้องไม่ลืม ๒ ภาษา ที่แคว้นมคธพูดภาษามคธี ที่เราใช้เป็นพระไตรปิฎก ใช้คำว่า พระบาลี และภาษาไทยก็คือภาษาที่เราพูดที่เข้าใจได้ ฉันใด ภาษาธรรมดาทั่วๆ ไป ในแคว้นมคธ ก็คือภาษาธรรมดาชาวบ้าน ซึ่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ไม่ได้ประดิษฐ์คำอื่นอีกภาษาหนึ่ง แต่ใช้คำที่ใช้เป็นประจำ แต่ให้เข้าใจความหมายของสิ่งซึ่งเป็นธรรม เพราะฉะนั้นก็มีคำที่สามารถรู้ได้ อย่าง “ธรรม” ก็ไม่ใช่คำที่เป็นภาษาที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ แต่เป็นภาษาที่มีอยู่แล้ว อย่างภาษาไทยเราก็ใช้คำว่า ธาตุ ใช้คำว่า แข็ง พวกนี้ก็เป็นภาษาที่มีอยู่แล้ว

    เวลาที่ทรงแสดงธรรม ก็แสดงความจริงในภาษาที่คนสามารถที่จะเข้าใจได้ ด้วยเหตุนี้แต่ละคำก็มีความหมายหลายระดับ คือ ระดับภาษาชาวบ้านธรรมดา อย่าง วิตก สัมมาสังกัปปะ หรือมิจฉาสังกัปปะ ก็แล้วแต่จะใช้คำหนึ่งคำใด จะใช้คำว่า วิญญาณ หรือ มโน หรือ มนัส ก็ใช้ได้ ให้รู้ว่า หมายความถึงสิ่งใด

    ถ้าใช้คำว่า “ปริยัติ” ก็หมายความถึงการศึกษาให้เข้าใจสิ่งที่มี ไม่ใช่ศึกษาวิชาการอื่น แต่ศึกษาเพื่อให้รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏในขั้นฟัง แต่ไม่ได้หมายความว่าเพียงฟัง สามารถที่จะประจักษ์แจ้งความจริงของสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง แต่ถ้าไม่มีการฟังเลย ก็ไม่มีการที่ปัญญาจะเจริญจนกระทั่ง สติสัมปชัญญะสามารถเกิด และรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งเป็นปฏิปัตติ แต่เมื่อเพียงเริ่มอบรม ยังไม่ได้แทงตลอดความจริงของลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็เป็นแต่การอบรมเจริญปัญญา

    ถ้าภาษาไทยเราใช้คำว่า “แทงตลอด” หรือภาษาบาลีจะใช้คำว่า “ปฏิเวธ” ก็ต้องไม่ได้หมายความถึงเพียงขณะที่สติสัมปชัญญะเริ่มเกิด และเริ่มจะค่อยๆ เข้าถึงลักษณะที่เป็นจริงของสภาพธรรมขณะนั้น แต่ต้องหมายความถึงขณะที่ประจักษ์แจ้ง แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะเป็นระดับไหน เพราะฉะนั้นก็มีตั้งแต่ขั้นต้น จนถึงขั้นที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม รู้แจ้งลักษณะของนิพพาน แต่ไม่ได้หมายความว่า การที่สามารถจะประจักษ์แจ้งนั้นไม่ใช่การแทงตลอด เพราะว่าต้องเป็นการแทงตลอดขั้นต้น ที่จะทำให้สามารถแทงตลอดขั้นต่อๆ ไปได้ แต่ถ้าไม่มีขั้นต้นที่แทงตลอด ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมไม่ได้ปรากฏ ตามความเป็นจริง ซึ่งไม่มีเราในที่นั้น แล้วไม่มีอย่างอื่นเลย นอกจากสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งปัญญาไม่มีความสงสัย ไม่มีความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏชัดเจน ขณะนั้นภาษาบาลีก็ใช้คำว่า “ปฏิเวธ” แทงตลอด เราจำเป็นต้องมานั่งคิดไหมว่า ตรงนั้นใช่ ตรงนี้ไม่ใช่ ถ้าเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม

    ส่วนใหญ่เราฟังธรรม ใช่ไหม แล้วเราก็คิดเรื่องธรรม วิเคราะห์อย่างที่คุณสุรีย์กล่าว แล้วพออะไรเกิดขึ้น เราก็บอกว่า สิ่งนั้นเป็นกุศลธรรม สิ่งนี้เป็นกุศลจิต สิ่งนั้นชื่อ วิจิกิจฉา หรืออะไรก็แล้วแต่จะนึกขึ้นมาได้ จนกว่าจะรู้ว่า ไม่มีเราที่กำลังวิเคราะห์ หรือที่กำลังคิด แต่เป็นธรรมทั้งหมด แม้แต่คิดขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือ ฟังให้เข้าใจจนกว่าจะรู้ว่าเป็นธรรมเท่านั้น

    ผู้ฟัง ขอให้ท่านอาจารย์ขยายความตรงนี้ด้วย เพราะว่าบางครั้งคำพูดของคน อาจจะไม่ชอบ ถ้าเราคิดเสียว่า สิ่งนี้เขาสะสมมา เป็นอันว่าจบ แต่ถ้าคิดต่อไป มีเรื่อง สิ่งนี้สำคัญมาก อัธยาศัยไม่ตรงกันนั่นเอง เรียนเชิญท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ก็กำลังสะสม แต่ละขณะที่เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เราอาจจะไม่รู้ แต่ขณะใดก็ตามที่เป็นกุศลจิต และอกุศลจิต ต่างคนก็ต่างระดับ ต่างคนก็ต่างด้วยอารมณ์ แต่ทั้งหมดนี้คือว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลเลย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วก็สะสมสืบต่อ ก็คงจะไม่มีอะไรมากกว่านี้ แต่เนื่องจากจิตของแต่ละคนต่างกัน ก็แสดงอยู่แล้วว่า สะสมมาต่างกัน และกำลังสะสมต่างกันด้วย ต่อไปข้างหน้าก็ยิ่งต่างกันออกไป

    ผู้ฟัง เราไม่สามารถจะทราบได้ใช่ไหม ในจิตว่าเป็นอย่างไร เพราะว่ามันมีทั้งกุศล และอกุศล ปัญหาที่เรามีความเห็นขัดแย้งกันก็คือว่า ในจิตดวงหนึ่ง เป็นกุศลก็กุศล อกุศลก็อกุศล แต่เวลาสะสม อาสยานุสยญาณ เป็นญาณที่หยั่งรู้ทั้งกุศลอกุศลสืบต่อในจิตดวงเดียวกัน หรือคนละดวง คำว่า อาสยะ ซึ่งสะสมสืบต่อทั้งกุศล และอกุศล

    ท่านอาจารย์ ปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สามารถจะรู้ ถอยไปนานสักเท่าไรก็ตาม ใครเคยเกิดเป็นอะไร และมีการกระทำทางกาย ทางวาจาอย่างไร ที่สะสมก็สืบต่อ แต่ข้อสำคัญที่สุด พอพูดถึงการสะสม เราคิดถึงวัตถุที่เป็นรูป อย่าลืม เป็นนามธรรม ซึ่งมองไม่เห็น เพราะว่าไม่ใช่รูปธรรม คือ การศึกษาธรรมไม่เผิน แม้แต่คำว่า “นามธรรม” ก็ใช่ว่าเราจะรู้ และเข้าใจลักษณะของ นามธรรมที่กำลังมีในขณะนี้

    ถ้าเราสามารถที่จะฟังบ่อยๆ แล้วเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟังเพิ่มขึ้น ก็จะคลายความสงสัย เพราะเหตุว่าถ้าใช้คำว่า “นามธรรม” ไม่ใช่ “รูปธรรม” ประเภทหนึ่งประเภทใด ไม่ว่าจะเป็นรูปหยาบ รูปละเอียด มองเห็น มองไม่เห็น ก็ตาม ลักษณะของนามธาตุ หรือนามธรรม ซึ่งเป็นธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้น ไม่ใช่ลักษณะของรูปธรรมใดๆ เลยทั้งสิ้น

    ลองคิดถึงนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรมประเภทหนึ่งประเภทใดทั้งสิ้น ตัดปัญหาไปได้เลยว่า ไม่ใช่รูปธรรม แล้วก็ไม่มีรูปธรรมด้วย จึงเป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นรู้เท่านั้นเอง แต่ว่าธาตุชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นรู้แล้วก็ดับไป แล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตเจตสิกซึ่งเป็นนามธาตุ ธาตุรู้เกิดสืบต่อทันที โดยไม่มีระหว่างคั่น คือ ขณะนี้เองก็มีนามธาตุซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วก็เป็นปัจจัยให้นามธรรม หรือนามธาตุขณะต่อไปเกิดขึ้น ถ้าขณะนี้เป็นกุศล กำลังฟังธัมมะ มีความเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังว่า ขณะนี้เป็นธัมมะ ความเข้าใจของเราเพียงแค่ได้ยินคำ รู้ความหมาย หรือสามารถจะค่อยๆ เข้าถึงสภาพที่เป็นนามธรรม นี่ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

    ถ้าจะเข้าใจจริงๆ ก็คือว่า เมื่อนามธาตุซึ่งเป็นกุศลดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น สิ่งที่เกิดไปแล้ว ดับไป ไปไหน

    ผู้ฟัง สะสม

    ท่านอาจารย์ ก็ตอบได้ แต่โดยความเป็นปัจจัย จะต้องมองเห็นไหมในเมื่อเป็นนามธรรม

    ผู้ฟัง ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นอย่างนี้

    ผู้ฟัง จิตดวงหนึ่งสะสมสืบต่อไปอีกดวงหนึ่ง คำว่า “อาสยะ” หมายถึงการสั่งสมทั้งกุศล และอกุศล


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    25 เม.ย. 2567