พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 321


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๒๑

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่ตรงต่อธรรม พระธรรมที่ทรงแสดง เพื่อที่จะให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตนเอง คือ ความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ก็จะเห็นได้ว่ายากไหมเพียงแค่ฟัง ที่จะมีความเห็นถูกอย่างนั้นจริงๆ เพราะว่าจะเปลี่ยนสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ เมื่อไหร่ก็ค่อยๆ สะสมไปทีละเล็กทีละน้อยว่า ไม่มีใคร ไม่มีอะไรในสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ในโทรทัศน์ มีคนไหม มี มีโต๊ะ มีเก้าอี้ไหม ในโทรทัศน์

    นี่คือสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็เป็นคน ทั้งๆ ที่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง ฉันใด ขณะนี้เหมือนกัน ไม่มีความต่างกันเลย สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ว่าที่ไหน ในหน้าหนังสือพิมพ์มีรูปลิงไหม มี เห็นไหม พอเห็นก็เป็นลิง ซึ่งความจริงจะเป็นลิงได้อย่างไร ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วคิดนึกถึงรูปร่างสัณฐาน ลิงบางตัวไม่มีหาง จริงๆ แต่ก็ยังรู้ว่าเป็นลิง ก็ลองดูว่า สัญญา ความจำมากมายทับถมจนกระทั่งเป็นความไม่รู้ ทันทีที่ปรากฏก็ไม่รู้เลย นานแสนนาน จนกว่าจะมีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งรู้จริงๆ แต่กว่าจะรู้จริงได้สำหรับแต่ละพระองค์ก็แล้วแต่ว่าสะสมมา จะเป็น ๔ อสงไขยแสนกัป ๘ อสงไขยแสนกัป หรือว่า ๑๖ อสงไขยแสนกัป แล้วเราไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่การสะสมแต่ละภพแต่ละชาติ มีความค่อยๆ เข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ถ้ามีโอกาสจะได้เฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง แต่ก็ไม่แน่ อาจจะหลายๆ พระองค์ต่อไปเรื่อยๆ ก็แล้วแต่ เพราะเหตุว่าถ้ามีการสะสมพื้นฐานของปัญญา ที่มีศรัทธาที่จะได้ยินได้ฟังต่อไป เมื่อได้ฟังธรรม ความเข้าใจก็จะต่างกับคนที่ไม่ได้สะสมความเห็นถูกเป็นพื้นฐานในจิตใจ

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ชาตินี้จะหวังอะไร หรือเปล่า จากการฟังธรรม หรือเพียงเมื่อฟัง ก็ได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ฟังสักเท่าไรว่าเป็นธรรม แต่ขณะนี้ก็ยังเป็นเรา เพราะฉะนั้นเมื่อฟังแล้วเข้าใจเพิ่มขึ้น ก็จะรู้ตามความเป็นจริงว่า จริงๆ แล้วไม่มีเรา นี่คือความมั่นคงของการที่เริ่มเข้าใจถูก แต่ยังไม่ประจักษ์ความไม่ใช่เรา

    ด้วยเหตุนี้ถ้าเป็นผู้ที่ตรงต่อปัญญาที่จะเข้าใจสิ่งที่ปรากฏ ก็จะไม่ข้าม แม้แต่ในขณะที่ฟัง ไม่ได้หวังอะไร หรือยังหวังอยู่ ไม่หวังแล้วใช่หรือไม่ ไม่กล้าหวัง ทำไมจึงไม่กล้า ไม่สามารถที่จะหวังได้ หวังจะเป็นอรูปพรหมภูมิ ยังง่ายกว่า แต่ว่าหวังที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ต้องเป็นเรื่องของปัญญาจริงๆ แต่จริงๆ แล้ว แม้หวังเป็นอรูปพรหมก็แสนยาก เพราะว่าขณะนี้ถ้ายังไม่รู้ว่า ความสงบของจิตต่างกับขณะที่ไม่สงบอย่างไร กุศลจิตต่างกับอกุศลจิตอย่างไร ก็จะรู้ได้เลยว่า เกิดมาเรามีพื้นฐานที่สะสมมาแล้วอย่างไร สะสมความไม่รู้มาก หรือสะสมความรู้ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่ตรง ศึกษาธรรมขณะนี้ แต่ก่อนเคยหวัง และบางคนก็อาจจะหวังเล็กๆ น้อยๆ จนกระทั่งถึงแม้อย่างไรก็ตามขอถึงนามรูปปริจเฉทญาณก็พอ นี่คิดอย่างนี้ คิดดูสิ ความหวัง ไม่ได้หวังเพียงเข้าใจธรรมที่กำลังได้ยินได้ฟังให้เพิ่มขึ้น แค่เข้าใจ ให้เพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้นนี่เป็นหนทางละความหวัง ซึ่งความหวังเป็นโลภะ ซึ่งติดแน่นนานแสนนานมาแล้ว ไม่มีอะไรจะละได้เลย นอกจากปัญญา เพราะฉะนั้นถ้าปัญญายังไม่ถึงระดับที่จะละ ใครก็ห้ามความหวังไม่ได้ ประเดี๋ยวก็อาจจะหวัง ไม่หวังถึงนั่น ก็หวังแค่นี้ หรือว่าลดลงมาจากนามรูปปริจเฉทญาณ ก็หวังมีสติปัฏฐานมากๆ ในวันหนึ่ง ก็ค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ แต่ยิ่งฟังยิ่งรู้ ไม่ใช่สิ่งที่จะพึงหวังได้ แต่เป็นสิ่งที่ค่อยๆ เข้าใจ ขณะที่กำลังสะสมความเข้าใจ ขณะนั้นเป็นหนทางที่จะละโลภะ

    อัปปิจฉกถา กถาวัตถุ ๑๐ หมายความถึงเรื่องที่ควรแก่การสนทนากัน เราเกิดมาเราสนทนาเรื่องต่างๆ มากมาย แต่เรื่องการที่จะสนทนาเพื่อจะให้เห็นประโยชน์ของการละความติดข้อง ถ้าพูดถึงโลภะ บางท่านก็อาจจะถามว่า แล้วเป็นตัณหา หรือเปล่า คือไปติดที่คำ พอได้ยิน “โลภะ” ได้ยิน “ตัณหา” ได้ยินคำอะไร ก็เกิดสงสัยว่า แล้วโลภะเป็นตัณหา หรือเปล่า เพราะเหตุว่าตัณหามี ๓ อย่าง เพราะฉะนั้นขณะนี้เป็นตัณหา หรือเป็นโลภะ นี้ก็คือความสงสัย แต่ไม่ใช่การฟัง และเข้าใจ ว่าธรรมหลากหลาย เพราะเหตุว่าระดับขั้นของธรรมแต่ละลักษณะต่างกันมาก มีตั้งแต่ที่เป็นอาสวะ เกิดแล้วรวดเร็ว โดยไม่ทันรู้เลย หรือที่เป็นนิวรณธรรม ไม่ได้หายไป จางไป กลุ้มรุมอยู่ตลอดเวลา ก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนก็สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้

    เพราะฉะนั้นในขณะที่ฟัง กำลังฟังเพื่อที่จะละความติดข้อง เพราะว่าถ้ายังมีอวิชชา มีความติดข้อง ก็ย่อมจะพ้นจากทุกข์ไม่ได้เลย แต่เราหวังการพ้นทุกข์ที่ง่ายมากเลย มีธรรมอะไรบ้าง คนนี้กำลังเป็นทุกข์ ช่วยบอกหน่อย จะได้ไปบอกเขา ได้ไหม มีธรรมอะไรหรือที่สามารถจะเป็นอย่างนั้นได้ โดยที่ไม่ใช่ปัญญาของเขาเลย หวังที่จะนำธรรมใดไปให้เขา ในเมื่อปัญญาของเขาไม่มี

    เพราะฉะนั้นหนทางเดียว คือ ให้แต่ละท่านได้เข้าใจธรรม หนทางเดียวจริงๆ ที่เริ่มละความติดข้อง เพราะมีความเข้าใจถูกต้องว่า ไม่มีเรา แต่กว่าจะเป็นอย่างนั้นได้ ก็ต้องสะสมความเห็นถูกที่ตรงจริงๆ กับทุกคำที่ได้แสดงไว้ในพระไตรปิฎกซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ไม่พ้นไปได้เลย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ควรรู้ หรือไม่ควรรู้ ก็เป็นเรื่องที่ถ้าฟังพระธรรมก็จะค่อยๆ ละความหวังที่อยากได้ โดยที่ไม่รู้อะไรเลย หรือไม่ได้คลายความไม่รู้ ไม่ได้เพิ่มความเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ยังคงมีเรื่องต่างๆ เรื่องนี้ วันนั้นเป็นอย่างนี้ วันนี้เป็นอย่างนั้น ก็คือไม่ใช่ธรรม แต่เป็นเรื่องของธรรม ยังคงมีความเข้าใจผิดว่า เป็นตัวตนอยู่

    เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่อดทน และก็ฟังเพื่อจะละความติดข้อง เมื่อเหตุมี วันหนึ่งผลต้องมี แต่ว่าใจร้อน ใจเร็วด้วยความเป็นเราไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าขณะไหนที่มีความหวังความต้องการ ขณะนั้นเพราะไม่รู้ว่า เป็นธรรม ตรงกันข้ามกับที่กำลังได้ฟังอยู่ ซึ่งค่อยๆ เข้าใจขึ้นที่จะทำให้สามารถถึงสภาพธรรมที่เป็นธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตนได้

    ผู้ฟัง คือฟังอยู่ทุกวัน ทีแรกก็เข้าใจว่าตัวเองละกิเลสได้แล้ว ทุกอย่างละได้แล้ว อันที่จริงแล้วไม่ใช่เลย ยังอยู่เหมือนเดิม

    ท่านอาจารย์ นั่นสิแล้วทำไมไปคิดอย่างนั้นได้อย่างไร ละได้แล้ว ไม่ทราบละอะไร

    ผู้ฟัง บางครั้งก็ข่มได้ ก็เลยเข้าใจว่า ละได้แล้ว

    ท่านอาจารย์ สิ่งนี้ คือเห็นประโยชน์ของการฟัง ฟังที่จะรู้ความจริง เข้าใจความจริงว่า แท้จริงละไม่ได้เพราะเหตุใด

    ผู้ฟัง เพราะยังไม่ได้เข้าใจจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นไม่ใช่ไปแสวงหาหนทางอื่น ใช่หรือไม่ นอกจากฟังแล้วเริ่มเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่าจิตอาศัยทวารทั้ง ๖ เกิด แต่ทีนี้ก็ยังข้องใจว่า แล้วอรูปพรหมจิต ไปปรากฏอยู่ตรงไหน

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้อรูปพรหมอยู่ที่ไหน ไม่ทราบถามถึงสิ่งที่ไม่ทราบ แต่จิตคืออะไร มีจริงๆ ใช่ หรือไม่ เป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้นยาก หรือไม่ ที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริง แต่ไม่มีรูปร่างใดๆ ปรากฏให้เห็นเลย ถ้ามีรูปร่างปรากฏก็พอจะเห็นได้ เสียงมีจริง ก็จะปรากฏให้รู้ได้เมื่อได้ยิน กลิ่นมีจริง ก็พอปรากฏให้รู้ได้ ทั้งๆ ที่ไม่เห็น แต่ก็ปรากฏให้รู้ได้ว่า สภาพนั้นมีจริง เป็นกลิ่น รสทั้งหลายมีอยู่ในมหาภูตรูป ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่มีที่ไหนที่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แล้วไม่มีรส แต่แม้กระนั้นรสก็ไม่สามารถจะปรากฏได้ ถ้าไม่มีชิวหาปสาท คือ ลิ้นที่เป็นรูปสามารถกระทบกับรส รสจึงปรากฏได้ แต่มองไม่เห็น แต่ก็ยังปรากฏให้รู้ว่ามีได้ เพราะเป็นรูป เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว รูปร่างเป็นอย่างไร เย็น รูปร่างเป็นอย่างไร ร้อน รูปร่างเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ไม่มี

    ท่านอาจารย์ อ่อน รูปร่างเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แข็ง รูปร่างเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง แข็งก็ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ใช่ มีลักษณะที่แข็ง แต่จะมีรูปร่างเป็นสีสันวัณณะต่างๆ หรือไม่ ไม่ใช่เลย นี้ก็แสดงให้เห็นว่า แม้สิ่งที่มีจริง มองไม่เห็น แต่ยังปรากฏได้ ทำให้รู้ได้ว่า มี แต่จิต เจตสิกซึ่งเป็นนามธาตุ แม้มีจริง ก็ไม่ได้ปรากฏเหมือนอย่างรูปสีสันวัณณะทางตา ไม่เหมือนเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วจะรู้ได้ยาก หรือไม่ เมื่อเป็นนามธรรม

    เมื่อเข้าใจอย่างนี้ จะคิดถึงอรูปพรหม ก็เป็นจิต เจตสิก เพราะไม่มีรูปในภูมินั้น แต่ว่าเป็นภูมิซึ่งเกิดโดยไม่ต้องอาศัยรูป ลองคิดถึงความห่างไกล เราชินที่จะอยู่ในโลกนี้ มีทั้งรูปทางตาปรากฏ มีเสียง มีกลิ่น มีรสปรากฏ แต่เวลาที่ไม่มีรูปต่างๆ เหล่านี้เลยสักรูปเดียว ทั้งหมด ๒๘ รูป ไม่มีเลย ภาวรูปไม่มี หทยรูป ไม่มี รูปทั้งหมดไม่มีเลย แต่นามธาตุ หรือนามธรรมก็มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น โดยไม่ต้องเดือดร้อนกับรูปเลย เพราะว่าไม่มีรูปที่จะต้องเดือดร้อน

    ถ้าไม่มีความเข้าใจจริงๆ เราสามารถที่จะรู้ไหม ว่าธาตุอย่างนั้นมีได้ เมื่อมีเหตุปัจจัย เพราะว่านามธรรมไม่ใช่รูปธรรม จะเอารูปใดๆ มาเป็นนามธรรมแม้รูปเดียวก็ไม่ได้ รูปที่มองไม่เห็น ก็ไม่ใช่นามธรรม เพราะเหตุว่ารูปเป็นธาตุซึ่งมีจริง แต่ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เพราะฉะนั้นรูปกับนามตามความเป็นจริง ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องเกิดร่วมกันเสมอไป หรือว่าอาศัยกันเสมอไป มีเวลาที่นามธรรมจะเกิด โดยไม่ต้องอาศัยรูปใดๆ เลยทั้งสิ้น คือ ในอรูปพรหมภูมิ ซึ่งเป็นผลของอรูปฌานกุศล ซึ่งเป็นผลของการอบรมเจริญความสงบ จนกระทั่งความมั่นคงของความสงบปรากฏเป็นสมาธิ ระดับแม้ถึงขั้นปฐมฌาน คือฌานแรกที่เป็นอัปปนาสมาธิ ก็มีข้อความกล่าวไว้ว่า ไม่พึงคิดว่า ลักษณะนั้นเป็นอย่างไร เพราะไม่ถึง อะไรๆ ก็ตามที่ไม่ได้ปรากฏที่ยังไม่ถึง จะไปคิดอย่างไรก็ต้องคิดไม่ออก ใช่ หรือไม่ อกุศลจิต โลภะ รู้ไหม หรือมีใครบอกว่าไม่รู้ รู้ โทสะ รู้ไหม

    ผู้ฟัง รู้

    ท่านอาจารย์ แล้วเวลาที่สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ รู้ไหม

    ผู้ฟัง รู้ เวลาสงบก็รู้

    ท่านอาจารย์ รู้โดยชื่อ หรือว่ารู้โดยอะไร หรือโดยต้องถาม

    ผู้ฟัง รู้โดยชื่อ และก็ต้องถามด้วย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นยังไม่ใช่ความรู้จริงๆ ดังนั้นความรู้มีหลายขั้น รู้จริงๆ ต้องถามใคร หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ต้องถาม

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องถาม เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่รู้ลักษณะของจิตที่สงบ ฟัง เริ่มที่จะเห็นความต่างว่า ขณะที่สงบคิอไม่ใช่ขณะที่มีโลภะ โทสะ โมหะ สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ สงบจากอกุศล เป็นกุศล ซึ่งก็ยากที่จะบอกได้ เพราะว่าเกิดดับสลับกับอกุศลอย่างรวดเร็วมาก แต่จากการฟังก็จะรู้ได้ว่า ขณะใดที่เป็นไปในการให้ สามารถสละสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น ขณะนั้นจิตต้องสงบจากความติดข้องในสิ่งนั้น จากความตระหนี่ ความหวงแหน จึงสามารถจะสละได้ แต่เร็วมาก เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับเร็วมาก แม้ในขณะที่กุศลจิตเกิดให้ ก็ยังมีอกุศลจิตเกิดต่อ สืบต่อได้อย่างรวดเร็ว

    เพราะฉะนั้นการที่จะรู้จริงๆ ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง แต่ด้วยสติสัมปชัญญะซึ่งสามารถที่จะรู้ตรงลักษณะตรงที่ปรากฏ แล้วก็มีความเห็นที่ถูกต้องขึ้น

    ด้วยเหตุนี้การฟังธรรม ไม่ได้ฟังสิ่งที่ไม่มีจริง แต่สิ่งที่มีจริงทั้งหมด และไม่เคยรู้ว่าเป็นธรรมซึ่งเกิดดับ ก็คิดว่าเที่ยง และยึดถือว่าเป็นเรา เป็นเขา เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ จนกว่ามีการฟัง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจของผู้ฟังนั้นเอง ไม่ใช่เป็นความเข้าใจของคนอื่นเลยทั้งสิ้น ไม่ใช่เป็นความเข้าใจของพระสาวก หรือของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งทรงแสดง แต่เป็นความเข้าใจของผู้ที่ฟัง ไตร่ตรองแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น และเป็นผู้ที่ตรงด้วยที่จะไม่ผิด หรือไม่สับสนเรื่องการคิดว่าจะต้องรู้จักชื่อ โดยที่ไม่รู้ลักษณะของธรรมอันนี้ก็เป็นสิ่งซึ่ง ถ้าฟังเพื่อเข้าใจ ประโยชน์ก็คือจะเข้าใจขึ้น และจะคลายความติดข้องที่เคยยึดถือสภาพธรรม เพราะความไม่รู้ได้ หมดความสงสัยเรื่องอรูปพรหม หรือยัง

    ผู้ฟัง หมดแล้ว

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่สามารถที่จะรู้ได้

    ผู้ฟัง แต่ก็ยังสงส้ยอีกเรื่องคือ แล้วอสัญญสัตตาพรหมกับอรูปพรหมนี้ ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คือชื่อ หมายความว่าอะไร

    ถ้าสภาวธรรมนั้นไม่มีจริง ชื่อที่ต่างกันก็ไม่มี เพราะการที่จะใช้ชื่อบัญญัติเพื่อให้รู้สภาพที่มีที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นถ้าใช้คำว่า “อรูปพรหม” ไม่ใช่กามาวจรภูมิ ที่เต็มไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือรูปพรหม ก็ยังเป็นผู้อบรมเจริญความสงบถึงระดับขั้นที่ไม่ติดข้อง ระงับความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ก็ยังมีรูป จึงเป็นรูปพรหม

    เพราะฉะนั้นเวลาได้ยินคำว่า “อสัญญสัตตา” ไม่ใช่ข้ามไป จำชื่อไว้ และสงสัยว่าเป็นอย่างไร แต่ถ้าเข้าใจความหมายของคำนั้น ก็จะคลายสงสัยด้วย เพราะฉะนั้นไม่ใช่ข้ามไป ต้องละเอียด ที่ว่าเมื่อได้ยินแล้ว จะเข้าใจได้ ก็เพราะเหตุว่าคำนั้นแสดงถึงความจริงของสภาพธรรมนั้น

    ผู้ฟัง เรื่องการแบ่งรูปออกเป็นหลายนัย มีทั้งรูปภายในรูปภายนอก ทีนี้มีข้อสงสัยว่า ปสาทรูปเป็นภายใน และที่เหลือ ๒๓ รูป เป็นภายนอกสำหรับ ๒๒ รูปนั้นไม่สงสัย แต่สงสัยว่า หทยรูป ทำไมถึงจัดแบ่งเป็นภายนอก

    ท่านอาจารย์ ใครแบ่งให้ พระพุทธเจ้าไม่ได้แบ่ง สภาพธรรมเป็นอย่างไร ก็แสดงตามตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ถ้ามีความเป็นตัวเรา เราคิดว่าตำรับตำราทั้งหมดแบ่งไว้ มีคนแบ่ง มีคนจัดอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ตามความเป็นจริงก็คือ สภาพธรรมที่มี ที่เกิดขึ้นปรากฏเพียงชั่วคราวที่สั้นมาก ใครสามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นได้อย่างถ่องแท้ แม้แต่รูป สภาพธรรมที่ไม่สามารถจะรู้อะไร ก็ไม่ใช่มีเพียงอย่างเดียว เมื่อมีหลายๆ อย่าง ก็ยังไม่เห็นว่าเป็นรูปธรรม ยังคงไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น จึงทรงแสดงความจริงของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ แต่ละอย่าง ตามความเป็นจริง ให้พิจารณาให้เข้าใจตามนัยที่ทรงแสดง เพราะว่านัยที่ทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมหลากหลายมากมาย เพราะว่าสามารถจะกล่าวถึงสภาพธรรมแต่ละอย่าง โดยนัยต่างๆ

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้ก็มีรูปที่กำลังปรากฏ แล้วเรารู้ความจริงเรื่องรูปที่ปรากฏมากมายแค่ไหน หรือเราคิดว่า เราจะต้องไปแบ่ง หรือไปจำชื่อต่างๆ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่ให้รู้ความจริงลักษณะของรูปแต่ละรูปโดยถ่องแท้ เช่น ในขณะนี้มีเห็น ต้องมีรูปปรากฏ และต้องมีสภาพธรรมที่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ด้วย คือ รูปที่สามารถกระทบได้ เป็นรูปที่ไม่ใช่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ไม่ใช่สี ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่จมูก ไม่ใช่ลิ้น ไม่ใช่กาย แต่ต้องเป็นรูปที่มีลักษณะที่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏ ถ้ากล่าวเป็นชื่อภาษาบาลีก็เป็น “จักขุปสาทรูป” รู้ลักษณะของจักขุปสาทรูปหรือเปล่า ถ่องแท้หรือยัง แต่ว่ารูปนี้มีแน่นอน ขณะใดก็ตามที่จิตเห็นเกิด แสดงว่ารูปนี้ต้องมี และยังไม่ดับด้วย ทั้งรูปที่ปรากฏทางตา และจักขุปสาท

    เพราะฉะนั้นขณะนี้ที่จิตเกิดขึ้น โดยอาศัยจักขุปสาทเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ รูปใดเกี่ยวข้องที่เป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิดขึ้น ซึ่งรูปอื่นแม้มี ก็ไม่ได้เป็นส่วนเป็นปัจจัยที่จะให้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ปรากฏ เพราะฉะนั้นรูปที่ใกล้ชิด เป็นปัจจัยให้จิตสามารถเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทุกวัน รูปนั้นทรงแสดงว่า เป็นรูปภายใน เพราะว่าเกี่ยวข้องกับการที่จิตแต่ละขณะจะเกิดขึ้น และรู้อารมณ์ที่ปรากฏให้รู้ได้ คือ รูปที่ปรากฏทางตา รูปที่ปรากฏทางหู รูปที่ปรากฏทางจมูก รูปที่ปรากฏทางลิ้น และรูปที่ปรากฏทางกาย

    เพราะฉะนั้นรูป ๕ รูปนี้เป็นรูปภายใน เพราะว่ามีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตาว่า ไม่มีใคร ไม่มีเรา และไม่มีใครสามารถที่จะไปสร้าง ไปทำให้สภาพธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นมาเลย แต่ว่าเมื่อเป็นสิ่งที่มี และไม่ใช่ตัวตน ก็เป็นธาตุแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับไป เพราะฉะนั้นจึงได้ทรงแสดงว่า อาศัยรูป ๕ รูปนี้เท่านั้น สามารถทำให้เห็นรูปที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น ๕ รูปนี้จึงเป็นภายใน รูปอื่นขณะนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่จิตเห็นจะเกิด จิตได้ยินจะเกิดเลย

    ผู้ฟัง แสดงว่าหทยรูปก็เป็นเพียงที่เกิดของจิตอื่นที่ไม่ใช่ทวิปัญจวิญญาณจิต

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง การฟังธรรมต้องเข้าใจว่า แม้สิ่งที่มี ก็ไม่มีใครสามารถจะรู้ความจริงได้เลย ถ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทรงแสดงพระธรรมที่ได้ทรงตรัสรู้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ให้เราเป็นเราที่ไปนั่งสงสัย ไปนั่งคิดว่า ทำไมทรงแสดงอย่างนี้ ไม่ทรงแสดงอย่างนั้น ธรรมไม่ใช่เพื่อจะตัดสินว่า ควรแสดงอย่างนั้น ไม่ควรแสดงอย่างนี้ หรือว่าทำไมทรงแสดงอย่างนี้ ไม่ทรงแสดงอย่างนั้น เกินปัญญาของเราที่จะไปรู้ได้ เพราะว่าแม้แต่รูปที่มีในขณะนี้ เช่น จักขุปสาท ก็ยังไม่รู้เลย แต่ที่ทรงแสดงว่าเป็นภายใน ในขณะที่มีจิตเห็นเกิดขึ้น และรูปารมณ์ที่กำลังปรากฏ ก็ไม่ใช่จักขุปสาท เป็นรูป ๒ รูปที่มีในขณะนั้น ซึ่งรูปหนึ่งเป็นภายใน เกิดที่กาย และเป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิดขึ้น สิ่งที่ถูกเห็น ก็เป็นภายนอก ไม่ใช่อยู่ภายใน

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เพื่อจะให้เราเห็นความไม่ใช่ตัวตน กว่าจิตแต่ละ ๑ ขณะ จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีปัจจัยอะไรที่เราไม่รู้เลย ใครจะรู้ว่า ขณะนี้ถ้าไม่มีจักขุปสาท จิตเห็นเกิดไม่ได้ พอเห็นแล้วก็ไม่ได้คิดอะไรเลย และก็ไม่ได้รู้ด้วยว่าเป็นธรรม ไม่ได้รู้ด้วยว่า เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    27 เม.ย. 2567