พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 342


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๔๒

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ ก็มีความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วเวลาพูดถึงสิ่งที่กำลังปรากฏ คิดเรื่องอื่น หรือว่ากำลังมีสิ่งที่ปรากฏให้เข้าใจตามที่ได้ฟัง ถ้าไม่มีความเข้าใจตามที่ได้ฟังในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ต้องพูดถึงสติปัฏฐานเลย ต้องมีสัจจญาณก่อน และจะเป็นปัจจัยให้มีการเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ขณะที่กำลังฟังเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ ก็เป็นความรู้ระดับหนึ่ง ซึ่งมักจะลืมที่จะเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม ทุกๆ ขณะเป็นธรรม เมื่อลืมอย่างนี้ จึงมีการพูดถึงสิ่งที่มีจริง ที่ส่วนใหญ่จะลืมไปเรื่อยๆ แล้วก็ไปคิดอย่างอื่น คือ ไปคิดอยากจะมีสติปัฏฐานมากๆ หรืออยากจะมีสติปัฏฐาน มีวิปัสสนาญาณ ก็ไม่ต้องไปคิดเรื่องนั้นเลย เพราะว่าจริงๆ แล้ว ธรรมมี ให้พิสูจน์ความรู้ความเข้าใจว่า มีความเข้าใจสิ่งที่ปรากฏ ตรงตามที่ได้ยินได้ฟังบ้าง หรือยัง และการที่จะรู้ได้จริงๆ ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่คุ้นเคยกับลักษณะที่เป็นธรรม เพราะว่าเมื่อเห็นก็เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แสดงว่าไม่คุ้นเคยกับธาตุที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ก็แสดงว่าขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ต่อเมื่อใดในขณะที่กำลังฟัง และมีความเข้าใจ และมีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เข้าใจ ผู้นั้นก็เริ่มที่จะเข้าใจว่า ปัญญาจริงๆ ที่รู้จักธรรมจริงๆ ที่เข้าใจธรรมจริงๆ คือ ขณะที่ธรรมนั้นกำลังปรากฏ กำลังเผชิญหน้า แล้วค่อยๆ เข้าใจในความไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลย เพราะเหตุว่าไม่คุ้นเคยกับการที่จะเห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ปัญญาจากการฟัง ก็จะทำให้เห็นความต่างว่า ตราบใดที่ยังคิดเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ แม้เป็นเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ แต่ก็ไม่ใช่รู้ตรงลักษณะซึ่งเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ยังคงเป็นเรื่องอื่นๆ เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ

    ไม่ใช่ห้ามคิด แต่ให้เข้าใจว่า ขณะที่คิด คิดเรื่อง แต่ไม่ใช่ขณะที่กำลังเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ และไม่มีกฎเกณฑ์ด้วย เมื่อไรที่มีสิ่งที่ปรากฏ แม้กำลังฟัง เริ่มเข้าใจ จะเห็นความต่าง หรือไม่ ฟังมาบ่อยๆ แต่ไม่เคยรู้ตรงลักษณะ กับฟังแล้วฟังอีก ฟังแล้วฟังอีก แล้วก็มีลักษณะที่กำลังปรากฏ ให้ค่อยๆ รู้ตรง อยู่ตรงลักษณะที่กำลังปรากฏ แต่จะเห็นได้ว่า ยังไม่ถึงการละความเป็นตัวตนที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏ รวมทั้งการยังคงเห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่จะค่อยๆ ไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ดับไปแล้วก็จริง แต่การสืบต่อทำให้มีการจำ สัญญาเจตสิกก็จำว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยความเป็นอัตตสัญญา ยังคงเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จนกว่าลักษณะของสภาพธรรมจะปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นอนัตตสัญญา เพราะว่าอนัตตสัญญา ไม่ใช่เพียงจำว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่เพียงพูดว่าเห็นเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน แต่ลักษณะแท้จริงซึ่งเป็นอนัตตา ก็คือธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    นี่คือสัญญา ความจำที่มั่นคง จากสัจจญาณ ซึ่งถ้าไม่มีปัญญาที่รู้ความจริงอย่างนี้ ก็จะไม่มีการเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ก็เป็นเพียงเรื่องราวไปเรื่อยๆ ศึกษาปริยัติธรรมก็กลายเป็นภาษาต่างๆ แต่ไม่ได้รู้ว่า ปริยัติ หมายความถึงการศึกษาให้เข้าใจลักษณะที่กำลังปรากฏให้ถูกต้อง จึงจะเป็นการศึกษาแท้จริง

    ผู้ฟัง เวลาที่เราฟังแล้ว เข้าใจปริยัติ และเรื่องราว แต่เมื่อยังไม่รู้ลักษณะ ก็เหมือนกับไม่แน่ใจว่า เราก็จะจำผิดเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ อยู่อย่างนี้ หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ฟังอย่างไร จะจำผิด ในเมื่อมีสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ได้พูดเรื่องอื่น พูดให้เข้าใจว่า สิ่งนี้มีจริง และถ้าไม่เคยฟัง ก็ไม่เคยจะรู้ความจริงของสิ่งที่เพียงปรากฏ เพียงปรากฏ จะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้ แต่การจำผิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด มาจากการที่ไม่ได้ใส่ใจ ไม่ได้รู้ลักษณะของสิ่งที่เพียงปรากฏ

    ก็ต้องมีการไตร่ตรองตั้งแต่ต้น อะไรถูก นี่คือความเห็น สัตว์บุคคลมีจริงหรือไม่ หรือสิ่งที่มีจริงๆ คือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา และความคิดนึกก็มีจริง แต่ว่าเป็นความคิดนึกจากการจำ รูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ ถ้าไม่จำรูปร่างสัณฐาน จะคิดว่าสิ่งนั้นเป็นอะไรไม่ได้ แต่เพราะเหตุว่าแม้มีสิ่งที่ปรากฏ เพราะไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ก็จำรูปร่างสัณฐาน ซึ่งมีเพราะการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว เหมือนสิ่งที่ลวงตาให้เห็นว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทั้งๆ ที่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นเอง แต่ความคิดนึกจากการจดจำ นานแสนนานในสังสารวัฏฏ์ว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น ปัญญาจริงๆ ต้องสามารถที่จะรู้แม้การคิดนึก แม้การจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็คือ ชั่วขณะที่กำลังคิด ถ้าไม่คิดก็ไม่มี กลายเป็นอื่นไปแล้ว กลายเป็นขณะรู้เสียง ขณะรู้แข็ง ขณะนั้นไม่ใช่คิด

    เพราะฉะนั้น คิดก็มี แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ปัญญาจริงๆ ก็จะค่อยๆ ละความไม่รู้ แล้วก็จะนำไปสู่การละอัตตสัญญา และนำไปสู่การประจักษ์แจ้งความจริง ซึ่งเกิดดับของสภาพธรรม มิฉะนั้นจะไถ่ถอน หรือจะคลาย จะหมดความสงสัยในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังไม่ได้ ขณะนี้สภาพธรรมเกิดขึ้นอย่างไร ดับอย่างไร ไม่ใช่ความรู้ขั้นเข้าใจสามารถจะไปรู้ลักษณะนั้นได้ แต่เข้าใจว่า เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ที่จะรู้ได้นั้นคือปัญญา ไม่ใช่เราไปแสวงหาหนทางลัด แต่ต้องเป็นปัญญาที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะอะไร ฟังมาตั้งนาน เข้าใจขึ้นเหมือนจับด้ามมีดหรือเปล่า ทีละเล็กละน้อยอย่างนั้น จนกว่าด้ามมีดจะสึก เมื่อด้ามมีดยังไม่สึก มองเห็นหรือไม่ ว่าขณะนี้ที่กำลังจับอยู่ด้ามมีดจะค่อยๆ สึกไป

    ผู้ฟัง ไม่เห็น ถ้าเช่นนั้นเราก็ต้องเชื่อมั่นว่า การที่ไม่เคยทราบ และไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แต่ถ้าเราได้ฟังบ่อยๆ สัญญาที่จำผิด ก็จะมีสัญญาใหม่ที่จำถูกเพิ่มขึ้นแทนสัญญาที่จำผิด

    ท่านอาจารย์ อยากเห็นธรรม นี่ใคร

    ผู้ฟัง โลภะ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทางที่จะรู้จักโลภะได้เลย ติดตาม มีอยู่ ไม่ปรากฏตัว ปัญญาเท่านั้นที่จะเห็นลักษณะของความติดข้อง ลักษณะของโลภะ เพราะฉะนั้นใครอยาก อยากเกิดขึ้น ยึดถืออยากนั้นว่าเป็นเรา แต่ลักษณะจริงๆ ก็คือสภาพที่ติดข้องต้องการนั่นเอง ลักษณะที่ติดข้องต้องการ ไม่เคยพราก หรือขาดไปจากสิ่งที่ปรากฏให้รู้ เช่น พอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ถูกต้องหรือไม่ ติดข้อง ยึดถือว่าของเรา หรือเปล่า ยึดถือว่าเป็นเรา หรือเปล่า เรื่องราวทั้งหมด เป็นเรา เป็นของเรา เป็นคนนั้นคนนี้ตลอดเวลา แต่สิ่งที่มีจริงๆ คือ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นแล้วดับไป จะเห็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าละเอียด ที่จะมีความเข้าใจที่ไม่คลาดเคลื่อน ทรงแสดงความจริงเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจในความไม่ประมาท ธรรมไม่ใช่สิ่งที่ประมาทว่าจบแล้ว รู้แล้ว เป็นไปไม่ได้เลย แต่จากการที่ทรงพระมหากรุณาแสดงสภาพธรรมโดยละเอียดยิ่ง ก็จะทำให้ผู้ได้รับฟังรู้ว่า เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เป็นเรื่องให้ไม่รู้ เป็นเรื่องให้ค่อยๆ เห็นถูก เข้าใจถูก เพื่อละความไม่รู้ เพื่อไม่ใช่เราที่รู้ ไม่ใช่เราที่ต้องการ เวลาที่ความต้องการเกิดขึ้น ขณะนั้นก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้น แสดงให้รู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่เกิดจนตายเป็นธรรม สัจจญาณก็คือมีความเห็นที่ถูกต้อง ไม่คลาดเคลื่อน มั่นคง ไม่ต้องไปคอยเวลาไหนเลย ถ้ามีความเข้าใจพอ สติสัมปชัญญะเกิดแล้ว ไม่ใช่เราจะไปดูนั่น ดูนี่ แต่ว่าขณะใดที่หลงลืมสติ ก็คือขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงในขณะนี้

    ผู้ฟัง แต่ความเป็นอนัตตา โลภะเป็นอนัตตา ก็จะมีความต้องการ เมื่อเราฟังแล้วคิดอยากจะรู้สภาพธรรม ก็เป็นอนัตตา ที่เราก็ไม่รู้ตัวว่า อยากจะรู้สิ่งที่ฟัง เหมือนกับไม่เคยรู้มาก่อน เมื่อมีความเข้าใจขั้นฟัง โลภะซึ่งเป็นอนัตตาก็อยากรู้สภาพธรรมจริงๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว เป็นอนัตตา

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ใช่ปัญญา จะเห็นโลภะ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ อริยสัจ มีโลภะ หรือไม่ เพื่อละ แล้วก็ไม่รู้ ตามไปตลอด ไม่ได้ละอะไรเลย เพราะไม่รู้จักโลภะ แล้วจะละโลภะได้อย่างไร ธรรมต้องตรง จึงจะได้สาระจากการฟังแต่ละครั้ง เป็นการอบรมเจริญปัญญา เพื่อละ ถ้าไม่เป็นการอบรมเจริญปัญญาเพื่อละ จะไม่เห็นความละเอียดของโลภะว่า ขณะใดเป็นโลภะ โลภะมีจริง แต่ถ้าไม่เห็น ขณะนั้นก็ยิ่งมีโลภะ เพราะว่าไม่มีใครรู้จักโลภะ ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ในขั้นนี้เหมือนกับ เราก็ทราบว่า ความต้องการ หรือโลภะเป็นเครื่องกั้น ก็ต้องปัญญาเท่านั้นที่เพิ่มขึ้นแล้วไปละโลภะเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ หนทางละ มีหนทางเดียว คือ ปัญญา ความเห็นถูก ความเข้าใจถูกใน ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เราจะวินิจฉัยอย่างไรว่าตัวเราไม่มี

    ท่านอาจารย์ สภาพจำ มี หรือไม่ ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตามีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แล้วจำอะไร

    ผู้ฟัง ก็จำสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่นี้เป็นคน ที่จะสงสัยว่ามีคนไหม ในเมื่อเห็นก็เป็นคน แล้วจะกล่าวว่าไม่มีคนได้อย่างไร ใช่ หรือไม่

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องพิจารณาความจริงว่า ที่เคยจำว่าเป็นคน มี หลังจากที่เห็น แล้วตอนที่เห็นกำลังปรากฏ จำหรือเปล่าว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่มีเลย

    ผู้ฟัง โดยธรรมชาติต้องจำได้ ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่ประกอบด้วยความเข้าใจถูก ความเห็นถูกว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ถ้าเป็นความเข้าใจถูกว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ แม้การจำว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรื่องราวต่างๆ ก็จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นการจำสิ่งที่ปรากฏ โดยที่ความจริงสิ่งนั้นไม่มี ไม่ใช่สิ่งที่มีจริงๆ แต่เนื่องมาจากการเห็นแล้วจึงจำว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น เรื่องราวทั้งวันก็มาจากการจำสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสุข เป็นทุกข์ไป เป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นอะไรก็แล้วแต่ทั้งหมด เพราะว่าไม่ได้รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่มีจริงเป็นเพียงสภาพธรรมจริงๆ ที่ปรากฏแล้วหมดไป เพราะฉะนั้น ระหว่างการจำเรื่องราวต่างๆ ด้วยความไม่รู้ กับการจำแม้ขณะที่กำลังเห็นเป็นคน ก็เป็นธรรม ไม่ใช่สภาพเห็น แต่เป็นสภาพคิด

    เพราะฉะนั้น จะรู้ได้ หรือไม่ ว่า ความต่างของการคิดกับขณะที่เห็น เวลาอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เรื่องมีมากมาย ตัว ก.ไก่ ข.ไข่ สีดำ สีขาวทั้งนั้นเลย แต่ว่าเรื่องมากมาย ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา รูปร่างสัณฐานต่างๆ ก็ไปจำเป็นเรื่องราวต่างๆ และอะไรจริงในขณะที่กำลังอ่านเรื่องในหนังสือ เห็นจริง คิดนึกจริง แล้วเรื่องนั้นอยู่ที่ไหน ถ้าจิตไม่คิดก็ไม่มี

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ที่เคยจำมาในแสนโกฏิกัปป์ว่า มีสัตว์ บุคคลจริงๆ ปัญญาก็จะต้องรู้ว่า การจำมีจริง ความคิดมีจริง มาจากการเห็น ถ้าไม่มีการเห็น ลองไปนึกดู จะไปนึกให้เป็นอะไรขึ้นมาได้ ถ้าไม่มีสิ่งนั้นเกิดให้เห็นก่อน แต่พอเห็นแล้วเริ่มจำแล้ว เป็นภูเขา เป็นประเทศนั้น เป็นคนนี้ เป็นเรื่องราวอย่างนั้นอย่างนี้จากสิ่งที่เพียงปรากฏ และความจริงสิ่งนั้นหมดแล้ว ดับแล้ว แต่ความจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้หมดไปเลย แม้ในฝัน ไม่มีสิ่งนั้นปรากฏ ก็ยังจำเป็นเรื่องต่างๆ ได้ และเรื่องในฝันมีจริงหรือไม่ ถ้าเรื่องในฝันไม่มีจริง ขณะนี้เรื่องที่กำลังคิด จริงหรือไม่ จริงเมื่อคิด เหมือนกับขณะที่ฝัน เหมือนเห็น

    เพราะฉะนั้น กว่าจะเข้าใจจริงๆ ว่า แท้ที่จริงแล้วสภาพธรรมจริงๆ ที่มีจริงๆ ที่เป็นปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป จิตคิดมีจริง แต่เรื่องที่คิดมาจากเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง

    ผู้ฟัง เรื่องที่คิดก็ไม่จริง

    ท่านอาจารย์ ยอมที่จะพรากจากความเห็นที่ยึดถือในสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล สิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือไม่ หรือว่ายังจะต้องจำไว้ต่อไปอีกกี่ภพกี่ชาติ ก็ยังเข้าใจว่า สิ่งที่ไม่มีนั่นเอง มีจริงๆ

    ผู้ฟัง เวลาจะสังเกตลักษณะของผู้คนต่างๆ ทำไมสังเกตง่ายย ลักษณะคนนั้นอย่างนี้ ลักษณะคนนี้อย่างนั้น แต่การที่จะสังเกตลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่สามารถสังเกตได้

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญจะเข้าใจขึ้น หรือจะสังเกต

    ผู้ฟัง ก็พยายามสังเกต

    ท่านอาจารย์ คือไม่เข้าใจลักษณะของสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นอนัตตา มีตัวเราที่สังเกต แต่ไม่ใช่ตัวสติที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย นี่คือความต่าง เราสังเกต กับรู้ว่าขณะไหนสติเกิด ขณะไหนหลงลืมสติ ขณะที่เราสังเกต ไม่ใช่สติสัมปชัญญะ ไม่ใช่สติปัฏฐาน เป็นตัวเราที่สังเกต

    พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอะไร แล้วเราฟังธรรมของใคร ของแต่ละบุคคล หรือที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

    ผู้ฟัง ของพระผู้มีพระภาค

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะยาก หรือจะง่าย

    ผู้ฟัง ก็ต้องยาก

    ท่านอาจารย์ และเป็นความจริง หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นความจริง

    ท่านอาจารย์ เมื่อเป็นความจริง สามารถจะอบรมเจริญปัญญา ค่อยๆ เข้าใจถูกต้องขึ้นได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ และถ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดง เราจะคิดเองได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราอยากจะฟังเรื่องความคิดเองของคนนั้นคนนี้ หรือเมื่อพระธรรมลึกซึ้ง ก็ฟัง ค่อยๆ เข้าใจความลึกซึ้งของพระธรรม ซึ่งไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรม แม้แต่คำว่า “ธรรม” คำเดียว ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็คือว่า ไม่ใช่เรา แต่ถ้าจะมีเราสังเกต มีเราอย่างนั้นอย่างนี้ ก็คือว่ายังไม่ได้เข้าใจธรรม

    ผู้ฟัง แล้วสภาพธรรมนี่ รู้โดยชื่อว่า ธรรม อะไรก็เป็นธรรม จิตที่คิดก็เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วไม่มีจริง หรือ

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่รู้ลักษณะ รู้จักชื่อเท่านั้น ก็รู้ความต่างของการฟังเรื่องราว จะจากกี่คัมภีร์ก็ตามแต่ จากใครก็ตามแต่ ถ้าเพียงแต่เป็นเรื่องราวของสิ่งที่มีจริง โดยไม่ส่องถึงความจริง ทุกคำที่กล่าวเป็นความจริงของสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ อย่างได้ยินคำว่า อายตนะ ในพระไตรปิฎกมี หรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ และขณะนี้อะไรเป็นอายตนะ เรียกชื่อได้ แต่รู้ลักษณะที่เป็นอายตนะ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมเพื่ออะไร เพื่อจำชื่อ จำเรื่อง หรือว่าเพื่อเข้าใจจริงๆ ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ธรรมทั้งหมดเลย แต่ไม่รู้ ก็ฟังจนค่อยๆ รู้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่ไม่มีธรรมเลย แล้วไปพูดเรื่องลึกซึ้ง เรื่องอะไรก็ไม่รู้ แต่สิ่งที่มีลึกซึ้ง เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อเร็วประมาณไม่ได้เลย แต่ความจริงก็เป็นความจริง คือ ลักษณะของธรรมก็ต่างกันไป ที่จะแสดงให้เห็นว่า ไม่มีใครเป็นเจ้าของ และไม่ใช่ของใครด้วย เพียงเกิดแล้วก็ดับไป ให้เข้าใจถูกต้องในสิ่งที่มี

    ผู้ฟัง เรารู้จักธรรมแล้ว เราจะใช้ธรรมให้ได้ประโยชน์ในโลกนี้ และในโลกหน้า และโลกอย่างยิ่งได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ประโยชน์จริงๆ คืออะไร ทุกคำต้องละเอียด ประโยชน์จริงๆ คือ เข้าใจธรรม เพราะว่าเราจะใช้คำว่า ธรรมบ่อยมาก แต่ว่ารู้จักธรรมจริงๆ หรือเปล่า เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ที่เรารู้ว่ามีประโยชน์ ๓ อย่าง ก็เพราะฟังธรรม ถ้าไม่ได้ฟังธรรม เราก็ไม่เข้าใจที่จะคิดอย่างนี้ว่า ประโยชน์นั้นมีทั้งในปัจจุบันชาติ ประโยชน์ในชาติต่อไป ประโยชน์อย่างยิ่ง แต่แม้แต่คำว่า “ประโยชน์” ก็ต้องเข้าใจ

    นี่คือความลักษณะของธรรม ผู้ที่จะได้สาระจริงๆ ก็คือเป็นผู้ที่ละเอียด

    ประโยชน์ คือ อะไร ถ้าไม่มีความเข้าใจถูก เป็นประโยชน์ หรือเปล่า ก็จะมีแต่คำ และจะมีแต่ชื่อ และจะมีความคิดว่าเป็นประโยชน์แล้ว แต่ตามความเป็นจริงประโยชน์ ก็คือความเข้าใจถูก ความเห็นถูก สำคัญกว่าอย่างอื่นหมด ไม่ว่าจะได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้สุขอย่างไรก็ตาม ชั่วคราวเล็กน้อย และก็หมดไป แล้วก็เกิดมาอีก ก็ไม่มีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็เป็นการไม่รู้อยู่นั่นเอง

    ด้วยเหตุนี้การฟังธรรมก็เพื่อเข้าใจธรรม เข้าใจถูกว่าเป็นธรรม อย่างเมื่อวานนี้ที่บอกว่า เกิดมาทำไม เกิดมาทำอะไร เกิดมาคิด ถูก หรือไม่ เพราะว่าทุกคนกำลังคิด จริง หรือเปล่า คือ ทุกคำที่ได้ฟังต้องรู้ว่า เป็นจริงอย่างนั้น หรือเปล่า เพื่อที่จะได้เข้าใจแม้แต่คำที่ได้ยินว่า ขณะนี้กำลังคิด ก็จะมีคนบอกว่า เห็น แน่นอน แต่เห็น นิดเดียว หมดแล้ว ดับแล้ว โดยไม่รู้ แล้วคิด

    จริงๆ แม้จะมีสิ่งที่ปรากฏทางตา คือ เห็น ทางหู ได้ยิน ทางจมูก ได้กลิ่น ทางลิ้น ลิ้มรส ทางกาย กระทบสัมผัส ไม่พ้นความคิดเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    ก็ศึกษาธรรม โดยไม่เข้าใจธรรม โดยไม่เห็นธรรม โดยไม่รู้จักธรรม จนกว่าจะมีการฟังเข้าใจว่า จริงๆ แล้ว ไม่มีเรา แต่มีสิ่งที่มีจริง และสิ่งที่มีจริง ใครก็ไม่สามารถจะบังคับบัญชาได้ แม้แต่ ๑ ขณะที่ผ่านไป ผ่านไปด้วยการเริ่มค่อยๆ เข้าใจถูก เห็นถูก ไม่ต้องไปหาธรรมที่ไหนเลย ขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด

    แต่ละคนก็จะคิดถึงเรื่องธรรมที่ไกลตัว เช่น ข้อความในพระไตรปิฎก เช่น ปฏิจจสมุปปาท หรืออายตนะ หรือธาตุ อะไรก็ตามแต่ แต่การแสดงธรรมในครั้งนั้น ผู้ฟังเป็นใคร เป็นผู้สามารถเข้าใจคำที่ได้ยินได้ฟังอย่างลึกซึ้ง จนสามารถที่จะรู้จักธรรมที่กำลังปรากฏ สะสมความเข้าใจมาจนกระทั่งสามารถที่จะแทงตลอดความจริงของสภาพธรรม ประจักษ์การเกิดดับ ประโยชน์ตน ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่นต่อไป

    ประโยชน์จริงๆ ก็คือว่า เป็นผู้ที่คลายความติดข้อง กิเลสทั้งหลาย จนสามารถดับกิเลสได้หมดเป็นสมุจเฉท ถ้ายังมีกิเลสอยู่ จะเป็นประโยชน์แก่ใครได้มากไหม เป็นประโยชน์ได้แค่ไหน ทั้งๆ ที่กิเลสยังมี เวลาที่กิเลสเกิด ไม่เป็นประโยชน์แก่ใครเลยทั้งสิ้น แม้ตนเองก็ไม่รู้ ก็คิดว่า ขณะนี้กำลังทำประโยชน์ใหญ่กับบุคคลอื่น แต่ตามความเป็นจริงถ้าตราบใดที่กิเลสยังมีอยู่ กิเลสนั้นก็ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรเลย แต่ความเข้าใจถูก เห็นถูกเท่านั้น ที่จะค่อยๆ ทำให้กิเลสเบาบาง เป็นประโยชน์ทั้งตนเอง กับบุคคลอื่น เป็นประโยชน์ทั้งในขณะที่กุศลจิตกำลังเกิด มีความเห็นถูก และเป็นประโยชน์ต่อไปข้างหน้าด้วย

    การฟังธรรมละเอียด ที่จะไม่ข้ามแต่ละคำ แสดงให้เห็นว่า เรามีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมากน้อยแค่ไหน จริงๆ แล้ว แต่ละขณะผ่านไปหมดเลย ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ แม้คิด


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    31 ม.ค. 2567