พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 346


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๔๖

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ แต่ปัญจทวาราวัชชนะทางตา ขณะนี้เกิดก่อนจักขุวิญญาณที่เห็น แล้วใครจะรู้ความละเอียดของความเป็นธรรม ซึ่งถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงโดยละเอียดจริงๆ ให้มีการสะสมความเข้าใจในความเป็นอนัตตา ที่จะเห็นว่า ธรรมเป็นอนัตตา เป็นไปไม่ได้เลย ถ้าไม่รู้ความละเอียด และไม่เข้าใจเพิ่มขึ้นว่า จริงๆ แล้ว แต่ละขณะเป็นอนัตตาอย่างไร ด้วยเหตุนี้จึงทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา และที่ละเอียดยิ่งสำหรับคนที่ไม่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ทันที เพราะว่าสะสมมาไม่พอ แต่ผู้ที่กำลังสะสม ถ้าสะสมด้วยความเป็นตัวตน ด้วยความเป็นเรา ไม่มีทางที่จะดับกิเลสได้เลย แต่เมื่อฟังแล้วก็คือว่า ฟังให้เข้าใจถูกต้องว่า ฟังธรรมเพื่อรู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เป็นเรา ด้วยเหตุนี้คงไม่ลืม ปัญจทวาราวัชชนจิต และมโนทวาราวัชชนจิต เป็นกิริยาจิตทั้ง ๒ และเกิดขึ้นเป็นวิถีจิตแรกทั้ง ๒ แต่ต่างกันที่มโนทวาราวัชชนจิตมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ปัญจทวาราวัชชนจิตแม้ทำกิจอาวัชชนะ แต่ไม่ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ในขณะนี้จิตเกิดขึ้น และมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยต่างขณะกันไปมากมาย จิตขณะนี้ดับไป มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นสืบต่อ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร แต่ไม่รู้เลย แต่การที่เข้าใจถูกขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ก็จะทำให้ไม่สะสม และเห็นความละเอียดจริงๆ ว่า ใครรู้ได้ ก่อนที่จะได้ฟังธรรม เราก็บูชาพระรัตนตรัย แต่ใครรู้ได้ ธรรมที่จะได้ยินได้ฟัง ต้องมาจากการตรัสรู้ และการทรงแสดง เพื่ออนุเคราะห์คนที่ยังไม่เข้าใจธรรมให้เข้าใจขึ้น ไม่ใช่ฟังแล้วจะไปบรรลุมรรคผลเมื่อไร ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย แต่กว่าจะได้เข้าใจตามความเป็นจริงทีละเล็กทีละน้อยสะสมไป ยิ่งฟังก็ไม่ใช่เพียงเพื่อเรารู้ แต่เพื่อประพฤติปฏิบัติตาม คือ ขัดเกลากิเลส และความไม่รู้

    ถ้ามีความเข้าใจธรรมจริงๆ ไม่ว่าจะฟังอุปมา หรือพยัญชนะใดๆ ก็สามารถเข้าใจได้ว่า ขณะนี้เอง เหมือนพยับแดด ไม่ต่างกันเลย มีสิ่งที่ทำให้เข้าใจว่า เหมือนมีสิ่งนั้น เที่ยง แต่จริงๆ แล้วหามีไม่ เพราะว่าเกิดแล้วดับแล้วทั้งหมด มีแต่เพียงการสืบต่อที่เหมือนกับนิมิตของพยับแดดที่ทำให้เหมือนกับว่ามีน้ำอยู่ แต่พอเข้าใกล้แล้วก็หายไป ขณะที่ยังไม่ได้เข้าใกล้ธรรม ก็เหมือนมีธรรมที่เที่ยง แต่ถ้าเข้าใกล้จริงๆ จะรู้ได้ว่า ธรรมแต่ละลักษณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ก็ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญาถึงระดับที่สามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรม ซึ่งมีผู้ที่ได้รู้แล้ว และคำที่ได้กล่าว เป็นคำจริงทั้งหมด เมื่อเป็นคำจริง และธรรมก็มีอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้ขาดธรรมเลย ไม่ว่าจะขณะใดก็ทั้งสิ้น เห็นก็เป็นธรรม ได้ยินก็เป็นธรรม คิดนึกก็เป็นธรรม แต่ไม่รู้ธรรม หรือบางคนก็อาจจะไม่มีโอกาสได้ยินได้ฟังเลย แต่ผู้ที่ได้ยินได้ฟังก็ยังสงสัยว่า แล้วจะมีประโยชน์อะไร นั่นคือไม่ได้เข้าใจเลย ประโยชน์ก็คือว่า ได้รู้ความจริง ถ้ารู้ความจริงแล้ว ยังคงติดข้องยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นเรา หรือเปล่า และถ้าไม่มีการติดข้องยึดถือว่าเป็นเรา หรือเป็นของเรา ความทุกข์จะน้อยลง หรือไม่ จนสามารถดับได้ตามลำดับขั้น

    เวลาที่ทุกคนมีความทุกข์แล้วอยากหมดทุกข์ แต่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม แล้วจะดับทุกข์ได้อย่างไร แต่ถ้ารู้ความจริงขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ความทุกข์ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ก็จะค่อยๆ บรรเทาลง

    ต่อจากปัญจทวาราวัชชนะ และมโนทวาราวัชชนะ แต่จริงๆ แล้วยังไม่ได้กล่าวถึงต่อจากมโนทวาราวัชชนะ เพียงแต่หลังจากภวังคจิต ซึ่งเป็นภวังคจลนะ และ ภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว วิถีจิตแรกคือปัญจทวาราวัชชนะ ทาง ๕ ทวาร และจิตนี้ก็ต้องดับ และเมื่อดับไปแล้ว ก็มีจิตที่ทำกิจเห็นทางตา ขณะนี้ หรือทำกิจได้ยินขณะนี้ แค่ ๒ วิถีก่อน

    ผู้ฟัง ที่เรียกว่าจิตฝัน เป็นจิตอะไร

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ฝัน ฝันว่าอะไร

    ผู้ฟัง ฝันเรื่องราวต่างๆ

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือเป็นจิตเห็น หรือเป็นจิตได้ยิน

    ผู้ฟัง ที่ฝันเรื่องราวต่างๆ ก็มีทั้งกุศล และอกุศล

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต และอกุศลจิต

    ผู้ฟัง จิตมี ๔ ชาติด้วยกัน แต่กำลังกล่าวถึงชาติที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบาก ซึ่งเป็นผลของทั้งกุศล และอกุศล แต่กิริยาจิตที่มีวิริยะบ้าง ไม่มีวิริยะบ้าง ก็แสดงว่าไม่เกี่ยวกับชาติในการที่จิตจะมีวิริยะ หรือไม่มีวิริยะ แต่ท่านอาจารย์กล่าวว่า อาศัยปสาท ช่วยชี้แนะเพิ่มเติมด้วย

    ท่านอาจารย์ เวลาที่กล่าวถึงชาติของจิต ก็ต้องมีความเข้าใจที่มั่นคงว่า จิตเกิดขึ้นต้องเป็น ๑ ใน ๔ ชาติของจิต คือ การเกิดขึ้นเป็นไป เป็นชนิดหนึ่งชนิดใดใน ๔ คือ เกิดเป็นกุศล ชาติหนึ่ง เกิดขึ้น คือ ชาติเป็นกุศล และอีกประเภทหนึ่ง คือ เกิดขึ้นเป็นอกุศล เหมือนกันไม่ได้เลย กุศลก็เป็นกุศล อกุศลก็เป็นอกุศล ซึ่งกุศลอกุศลไม่ใช่ผล แต่เป็นเหตุที่จะให้เกิดผล เมื่อกุศลจิต หรืออกุศลจิตเกิดขึ้น เป็นกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็จะเป็นกรรมปัจจัย แม้ดับไปแล้ว ก็สะสมสืบต่ออยู่ในจิต ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้จิตที่เป็นผลเกิดขึ้น จิตที่เป็นผล ใช้คำว่า วิปาก หมายความว่า สุกงอม เพราะว่าการสะสมมามาก แต่กรรมไหนจะเกิดขึ้นก็ต้องอาศัยปัจจัยด้วย

    เวลาที่กรรมจะให้ผล แต่ไม่ได้ให้ผลทำภวังคกิจ แต่ให้ผลที่จะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย จะเกิดขึ้นทันทีสืบต่อจากภวังค์ ซึ่งกำลังเป็นผลของกรรมเดียวกับปฏิสนธิ ที่ทำให้จิตนั้นเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ แค่นั้นเอง ไม่ทำกิจอื่นเลย เวลาที่ทำภวังคกิจ ก็คือดำรงภพชาติ คือ ยังไม่ตาย แต่ก็ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่เป็นวิถีจิต ยังไม่คิดนึกใดๆ ขณะนั้นที่เรามองเห็นชัดก็คือขณะที่กำลังหลับสนิท เป็นขณะที่เหมือนขณะที่ปฏิสนธิเลย คือ ไม่รู้เลย จะเป็นใครอยู่ที่ไหน อย่างไร ไม่มีอะไรปรากฏ อารมณ์ของจิตมีจริงแต่ไม่ได้ปรากฏ เพราะว่าไม่ได้อาศัยทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง

    เมื่อเป็นผลของกรรมที่ทำให้ดำรงภพชาติ จะทำกิจอื่นไม่ได้ ก่อนที่จะมีโอกาสกระทำกิจอื่น หรือวิบากอื่นจะเกิดได้ ก็จะมีจิตประเภทหนึ่ง คือ วิถีจิตแรก อาวัชชนจิต เพราะทำอาวัชชนกิจ รำพึง หรือนึกถึงอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด แล้วแต่ว่าถ้าเป็นทางทวารทั้ง ๕ เมื่อมีอารมณ์กระทบกับปสาท จิตนี้ก็เกิดขึ้นรู้การกระทบ หรือรู้อารมณ์ที่กระทบ แต่ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ขณะนั้นยังไม่ใช่ผลของกรรมที่จะทำกิจเห็น เป็นต้น ซึ่งเป็นวิบากจิต เพียงแต่อาวัชชนกิจ นึกถึงสิ่งที่กระทบเท่านั้นเอง มีกิจแค่นั้นเอง แล้วก็ดับไป จึงเป็นกิริยาจิต

    ผู้ฟัง แสดงว่าขณะที่หลับสนิท ยังไม่รู้อารมณ์ในปัจจุบัน

    ท่านอาจารย์ อารมณ์ไม่ปรากฏ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เลย

    ผู้ฟัง ยังต้องมีจิตคั่นอยู่ก่อนที่จะมีการเห็น การได้ยิน ซึ่งเป็นกิริยาจิต

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าจากผลของกรรมที่ทำให้เกิดภวังคจิต แล้วก็จะเปลี่ยนเป็นผลของกรรมที่ทำให้รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

    ผู้ฟัง ซึ่งเป็นผลของกรรม แต่ว่าคนละเรื่องกัน เพราะดำรงภพชาติ แต่เมื่อไรมีการเห็น การได้ยิน ต้องมีอาวัชชนะที่จะมารับรู้อารมณ์ที่กระทบกับทวาร หรือปสาทก่อนจะเห็น ซึ่งเป็นผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าจิตนี้ไม่เกิด จิตเห็น จิตได้ยิน ก็เกิดไม่ได้ วิถีจิตใดๆ ก็เกิดไม่ได้ แต่ต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน

    ผู้ฟัง แล้วในขณะนั้นก็ไม่มีวิริยเจตสิกในการขวนขวาย

    ท่านอาจารย์ ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย จึงไม่ใช่ มโนทวาราวัชชนจิต เป็นจิตต่างประเภท เป็นจิตคนละดวง

    ผู้ฟัง เกี่ยวกับอาศัยปสาทกระทบอารมณ์ด้วย หรือไม่

    ท่านอาจารย์ จึงไม่ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ส่วนทางใจ มโนทวาราวัชชนจิต

    ท่านอาจารย์ จะคิดอะไรให้ทราบว่า มีวิริยเจตสิกเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง แต่เราไม่สามารถบังคับได้เลย ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ รู้ไม่ได้เลยว่า ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ กำลังเห็นอย่างนี้ ตลอดเหมือนไม่ดับเลย มีจิตอะไรเกิดดับบ้าง และจิตแต่ละขณะมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย แม้แต่ความต่างของปัญจทวาราวัชชนจิต มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร จักขุวิญญาณมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร ก็ไม่รู้ การศึกษาธรรม เพื่อรู้ความไม่ใช่ตัวตน ความเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เพราะว่าปัญญาไม่สามารถรู้สิ่งเหล่านี้ได้ แต่เรารู้เหตุผลว่า จิตแต่ละประเภทที่เกิด ต้องมีเหตุผลในการมีวิริยะ หรือไม่มีวิริยะ ไม่ใช่ว่าจะเกิดลอยๆ หรืออยากจะให้มี

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรม ศึกษาสิ่งที่มีจริง เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตต่างกับมโนทวาราวัชชนจิต ก็รู้ตามความเป็นจริงว่า ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่ใช่มโนทวาราวัชชนจิต จิตบางประเภทมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่ากัน เป็นวิบากด้วย แต่ก็ไม่ใช่จิตประเภทเดียวกัน เพราะกิจต่างกัน นี่คือความละเอียดของธรรม

    ผู้ฟัง เท่ากับเป็นกิจต่างกันด้วย เพราะเป็นทางปัญจทวาราวัชชนจิต

    ผู้ฟัง สำหรับปัญจทวาราวัชชนจิต ท่านอาจารย์ให้เหตุผลว่า เพราะกระทบจึงไม่มี วิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเป็นเหตุผลอันที่ ๒ หรือเปล่าที่ว่า มีวิบากจิตเกิดต่อจากนั้น วิริยเจตสิกจึงไม่เกิดร่วมด้วย อันนี้เป็นเหตุผลอีกอันหนึ่ง หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ การฟังธรรม ต่างคนต่างคิด แล้วก็มักจะคิดเองด้วย แต่ถ้าเราจะเข้าใจว่า ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นโดยไม่รู้ว่า อะไรจะเกิดต่อ แม้มโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้น ก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดต่อ ตัวมโนทวาราวัชชนจิตนั้นไม่ได้รู้เลย แต่ปัจจัยที่ทำให้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด ต่างกับมโนทวาราวัชชนจิต จะเห็นได้ว่า จริงๆ แล้ว แม้เราไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะความต่างของเจตสิกของปัญจทวาราวัชชนะ และมโนทวาราวัชชนะ แต่ผู้ที่ตรัสรู้ และทรงแสดง เราสามารถเข้าใจความต่างได้ หรือไม่ ตามที่แสดงไว้ก็คือว่า วิริยเจตสิกเกิดกับมโนทวาราวัชชนจิต แต่ว่าวิริยเจตสิกไม่ได้เกิดกับปัญจทวาราวัชชนจิต และลองคิดดูว่า เราสามารถรู้วิริยเจตสิกได้ หรือไม่ ที่เกิดกับจิตที่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เช่น โลภะ เวลาเกิดร่วมกับจิต เป็นโลภมูลจิต โทสะ เกิดร่วมกับจิต เป็นโทสมูลจิต หรือแม้แต่โมหมูลจิต มีวิริยะเกิดร่วมด้วย เรารู้ได้ หรือไม่ เพราะเหตุว่าแม้เพียงจะฟังขณะนี้ว่า เป็นจิต ก็ยังไม่รู้ เพราะเป็นเรา

    กว่าจะไถ่ถอนการที่เคยสะสมมานานมากที่ไม่รู้ แม้แต่จิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้น สะสมมาประการใด พอมาถึงปัญจทวาราวัชชนจิต ก็คือเพียงเกิดก่อน เพราะรู้ว่าอารมณ์กระทบ ยังไม่ทันเห็น ยังไม่ทันได้ยิน แล้วดับไป แต่หลังจากนั้นแล้ว สิ่งที่สะสมมาในจิตตั้งแต่ปฏิสนธิ ประมวลมาซึ่งกรรมที่สามารถให้ผลในชาตินั้น แล้วแต่ว่าเป็นใคร ชีวิตของสุนัขต่างกัน หรือไม่ บางตัวก็แสนสบาย เจ้านายดูแลดี บางตัวก็แสนลำบาก อันนี้ก็แสดงให้เห็นว่า แม้แต่เป็นสุนัข หรือเป็นแมว หรือเป็นคน ความต่างกันที่สะสมมาหลากหลาย เมื่อมีความหลากหลายอย่างนี้ ความเป็นไปในชีวิตจะหลากหลาย หรือไม่ ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึง ณ บัดนี้ มีใครรู้บ้างว่า เราจะเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ผ่านอะไรมามากมายหลายอย่าง ตามการสะสม ตามความเป็นจริงที่จะต้องเป็นไปตามการสะสม

    เรามาถึงเพียงจากภวังค์ ก็เป็นวิถีจิตแรก คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตกับมโนทวาราวัชชนจิต เพราะว่าทางที่จิตจะรู้อารมณ์มี ๖ ทาง ถ้าไม่ใช่อย่างนี้แล้วก็คือภวังค์ ดำรงภพชาติไป แต่ก็ไม่มีใครสามารถที่จะให้เป็นภวังค์ไปตลอด ทั้งๆ ที่ถามว่า เมื่อคืนนี้หลับสบาย หรือไม่ ก็ยังจะตอบว่าอย่างไร ถ้าเป็นความเข้าใจธรรมก็ตอบโดยละเอียดว่า ขณะไหน อย่างไร เป็นทวารไหน หรืออะไร แต่ถ้าไม่รู้จะตอบได้ หรือไม่ว่า หลับสบายไหม บางคนก็บอกว่า วันนี้หลับดีจัง สุขภาพดี หลับดี หลับตลอดไปดี หรือไม่ แล้วก็รู้ว่า หลับตลอดไป เป็นไปไม่ได้เลย ถูกต้อง หรือไม่ แล้วก็ลองคิดดูว่า ตื่นมาทำไม หลับตลอดไปไม่ได้ และไม่อยากหลับตลอดไป ตื่นมาทำไม แค่เห็นแล้วหมดแล้ว วิถีจิตสั้นมาก ภวังคจิตเกิดสืบต่อ แต่แสนเร็ว จนไม่ปรากฏว่า แต่ละขณะแสนสั้น และสิ่งใดที่มีปัจจัยเกิดแล้ว ดับแล้ว ไม่กลับมาอีกเลย จะไปเกิดเป็นใครที่ไหนก็ตาม ชั่วกรรมให้ผลที่จะมีชีวิตอยู่เป็นบุคคลนั้นในชาตินั้น และต่อจากนั้นหายไปเลย หายไปจริงๆ หมดไปเลย หาอีกไม่ได้เลย ตามก็ไม่พบ อย่างไรก็ไม่เจอ หมดแล้ว นี่คือความเป็นจริงของสภาพธรรม แม้ว่ายังไม่จากโลกนี้ไป แต่ทุกขณะจิตก็เป็นอย่างนี้

    ก็แสดงให้เห็นว่า การที่เราจะรู้ความจริงก็จะทำให้รู้ว่า ชีวิตที่ยังมีอยู่ และมีธรรมตลอด ไม่เคยขาดธรรมเลย ควรจะเข้าใจ หรือไม่เข้าใจ และการเข้าใจจะทำให้กุศลจิตเกิดจนกระทั่งสามารถดับอกุศลได้ ไม่ใช่ไม่มีหนทางเลย แต่เพราะเหตุที่เราไม่มีความรู้ และเต็มไปด้วยความไม่รู้ จะหลับจะตื่นอย่างไรก็ไม่รู้ ทำไมหลับ ทำไมตื่น ก็ไม่รู้ และตื่นมาทำไมก็ไม่รู้ ซึ่งจะมีชีวิตต่อไปในลักษณะไหนก็แล้วแต่การสะสมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก

    เพราะฉะนั้นฟังธรรม ไม่ใช่เพื่อตัดสิน ไม่ใช่เพื่อเราสามารถตัดสินว่า นี่เป็นกุศล นั่นเป็นอกุศล แต่ฟังธรรมเพื่อเข้าใจธรรม เพื่อเข้าใจความเป็นอนัตตา เพื่อประพฤติปฏิบัติตาม แต่ไม่ใช่เรา เพราะเหตุว่าทรงแสดงไว้โดยละเอียด แม้ในพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม อย่างเมื่อวานนี้พูดถึงคนว่าง่าย พอพูดจบ ว่ายาก หรือว่าง่าย ไม่เป็นไปตามที่เราคิด อยากว่าง่าย ก็ไม่ง่าย เพราะว่าไม่ได้สะสมมาที่จะว่าง่าย

    การฟังก็เพื่อรู้ความจริงว่าเป็นอนัตตา แต่วันหนึ่งปัญญาที่ค่อยๆ อบรมเจริญขึ้น ก็จะทำหน้าที่ของปัญญาที่จะละกิเลส ไม่ใช่เพียงฟัง และเป็นเรารู้มาก และเราตัดสินได้ แต่กิเลสที่มียังคงเต็ม ก็จะไม่ได้สาระจากพระธรรม

    การฟังก็คือ รู้ว่าเพราะกิเลสมี ไม่ต้องคำนึงถึงคนอื่น ใช่ หรือไม่ ไปเอากิเลสของคนอื่นทำไม ไปคิดถึงกิเลสของคนอื่นเรื่องอะไร จะไปจัดการกิเลสของคนอื่น หรืออย่างไร แต่จริงๆ แล้ว กิเลสจริงๆ อยู่ที่ตัวที่สะสมมาแต่ละคน ถ้าฟังแล้วก็รู้ว่า มีหนทางที่จะค่อยๆ ละกิเลสด้วย ไม่ใช่เพียงแต่รู้เพื่อความเป็นเรารู้

    ผู้ฟัง เมื่ออารมณ์มากระทบกับปสาท แล้วเป็นปัจจัยให้ภวังคจลนะไหว ดิฉันสงสัยว่า แล้วอตีตภวังค์ไปไหน และอตีตภวังค์มีหน้าที่อะไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ที่จริงเวลาใช้คำว่า “อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ” หมายความถึงขณะที่อารมณ์ และปสาทเกิด และกระทบ เพื่อแสดงอายุของรูปว่ามีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แต่ทางมโนทวารไม่มีคำว่า อตีตภวังค์ ไม่จำเป็นต้องไปใช้คำนี้ เพราะอารมณ์ไม่ได้มากระทบ และไม่ได้แสดงถึงอายุของรูป

    ผู้ฟัง มีคำถามอยู่ ๒ คำถาม

    คำถามที่ ๑. คนที่สายตาไม่ชัดเจน การมองเห็นจะครบวาระ ๑๗ ขณะ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตาอายุเท่าไร ไปตัดทอนอายุของสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ผู้ถามคงจะตอบได้เองว่า การมองเห็นจะครบวาระ ๑๗ ขณะ หรือไม่

    คำถามที่ ๒ ถามว่า ทำไมเมื่อกระทบกับอตีตภวังค์ ๓ ขณะแรก จึงนาน ไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องกระทบกับอตีตภวังค์ ๓ ขณะแรก

    ท่านอาจารย์ คุณธีรพันธ์จะตอบ หรือไม่

    อ.ธีรพันธ์ ถ้ามีอตีตภวังค์แล้ว หมายความว่ามีรูปมากระทบทางปัญจทวาร ทวารใดทวารหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จึงมีอตีตภวังค์ เพราะว่าก่อนที่อตีตภวังค์จะเกิดขึ้น ก็หมายความว่า กระแสของภวังค์เกิดดับสืบต่อกัน และมีรูปมากระทบ เมื่อมีรูปมากระทบ ขณะแรกที่รูปมากระทบ เป็นปัจจัยให้วิถีจิตเกิด ถ้ารูปไม่กระทบก่อน อายุของรูปเกิดดับสืบต่อ ดับไปก่อน ก็ไม่เป็นปัจจัยให้วิถีจิตเกิดขึ้น ที่เรียกว่าเป็น “โมฆวาระ” เท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ขณะที่คิดนึก ที่ไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย

    ท่านอาจารย์ กำลังคิด หรือเปล่า

    ผู้ฟัง จริงๆ ก็กำลังคิด แต่ไม่รู้ตัวว่าคิด

    ท่านอาจารย์ ให้ทราบว่า ที่คิดขณะนั้นอาศัยตา หรือเปล่า ที่กำลังคิด

    ผู้ฟัง แต่จริงๆ เรื่องราวที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ก็จะไม่พ้นทั้ง ๕ ทาง

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏจริงๆ ไม่ใช่เรื่องราว เสียงที่ปรากฏทางหู ลักษณะของเสียงมีจริงๆ ปรากฏจริงๆ เสียงไม่ใช่เรื่องราว นี่คือสิ่งที่จะต้องเข้าใจทั้ง ๖ ทางให้ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เคยกราบเรียนถามท่านอาจารย์ และท่านอาจารย์ก็เคยกล่าวว่า เรื่องราวจะมีขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย

    ท่านอาจารย์ ปรากฏแล้วจิตคิด ไม่ใช่เพียงปรากฏ แต่ต้องมีจิตที่คิดด้วยหลังจากที่เห็นแล้วคิด หลังจากที่ได้ยินแล้วคิด

    ผู้ฟัง อย่างนี้ทุกครั้งที่ทางปัญจทวารวิถีเกิด ก็จะมีทางมโนทวารคิดถึงอารมณ์ที่เพิ่งดับไปเสมอใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ นอกจากจุติจิตจะเกิดหลังจากที่เห็น หลังจากที่ได้ยิน อาจจะคิดทางมโนทวารแล้วจุติจิตก็เกิดได้ จุติจิตจะเกิดเมื่อไรได้หมด

    ผู้ฟัง แม้ขณะที่เห็น แต่ไม่ได้คิดนึกต่อเป็นเรื่องราว

    ท่านอาจารย์ แน่ใจ หรือ

    ผู้ฟัง คือถ้าอย่างเห็นก็แค่เห็น แล้วไม่ใช่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เห็นเป็นเพียงแค่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน แค่นี้ก็คิดแล้ว หรือ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง แล้วก็เป็นเรื่องราวแล้ว หรือ

    ท่านอาจารย์ เรื่องราวหมายความถึงเป็นคำ หรือเปล่า หรือเป็นเฉพาะรูปภาพ หลังจากเห็นแล้ว ถ้าดูรูปจากหนังสือพิมพ์ เห็นใช่ หรือไม่ แล้วเห็นอะไร

    ผู้ฟัง อย่างรูปบุคคลก็เห็นหญิง หรือชาย

    ท่านอาจารย์ เขากำลังทำอะไร

    ผู้ฟัง กำลังคิด

    ท่านอาจารย์ เห็นเป็นรูปเฉยๆ หรือรู้ว่า กำลังนั่ง กำลังเดิน หรือว่าเล่นฟุตบอล หรืออะไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    15 ม.ค. 2567