พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 326


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๒๖

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ เวลาที่ได้ยิน ก็เป็นอีกขณะหนึ่ง ไม่ใช่ขณะที่เห็น เสียงมีหลายเสียง เสียงก็ต่างๆ กันไป เสียงของสิ่งมีชีวิต เสียงของสิ่งที่ไม่มีชีวิต แม้แต่คนก็ เวลาได้ยิน รู้ได้เลยว่า เสียงใคร ถูกต้องไหม เพราะว่าเสียงแม้หลากหลาย แต่สัญญา ความจำ ก็จำได้ เสียงก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ขณะที่เสียงปรากฏ ต้องมีธาตุที่กำลังได้ยินเสียง เสียงจึงปรากฏได้ เพราะฉะนั้นไม่มีคน แต่มีธรรมที่เป็นนามธรรมที่สามารถได้ยินเสียงในขณะนี้

    เราคุ้นกับเรื่องราวของจิต เจตสิก รูป แต่ไม่คุ้นกับตัวจริงของจิต เจตสิก และรูป

    ผู้ฟัง ที่เกิดดับอยู่ทุกขณะใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ กำลังมีทั้งจิต ทั้งเจตสิก ทั้งรูป ไม่คุ้นเคยเลยสักอย่าง แต่กำลังฟังเรื่องราว เพื่อที่จะได้รู้จักตัวจริงๆ ของสภาพธรรม เมื่อไรที่สภาพธรรมปรากฏสามารถจะเข้าใจได้ นั่นคือฟังเข้าใจ จนกระทั่งเป็นสัจญาณ เป็นปัญญาที่รู้ความจริงของอริยสัจ ๔ ว่า สภาพธรรมขณะนี้เกิดแล้วดับ แม้ว่ายังไม่ประจักษ์ แต่ถ้าไม่เกิด จะปรากฏไม่ได้เลย ขณะใดที่สภาพธรรมใดปรากฏแล้ว หมายความว่าเกิดแล้ว และดับแล้วด้วย รวดเร็วมาก แต่ก็มีการเกิดดับสืบต่อ ก็อยู่ในโลกของความไม่รู้ความจริง จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ก็คือการที่จะเข้าใจขึ้น ไม่ใช่เราเข้าใจด้วย เป็นสภาพของเจตสิกประเภทหนึ่งซึ่งสามารถเห็นถูก เข้าใจถูก

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นก็คือความเข้าใจที่เราเรียน เรื่องชื่อ เรื่องราวของลักษณะธรรม ก็สามารถนำไปสู่ความเข้าใจสภาพธรรมได้

    ท่านอาจารย์ ปัญญาเจริญขึ้น เติบโตขึ้น เข้าใจถูกเพิ่มขึ้น ไม่ใช่มีสิ่งอื่นเลย นอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้

    ผู้ฟัง ซึ่งยากมากๆ เลย

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นการสรรเสริญพระปัญญาคุณทุกครั้งที่กล่าวว่า ยากมาก

    อ.นิภัทร การรู้ธรรม เราจะต้องรู้ว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใครทั้งนั้น ที่เราเดือดร้อน เพราะเราเอาธรรมมาเป็นเรา ไม่ศึกษาธรรมให้เข้าใจ ก็ไม่เห็นประโยชน์ ใช้ชีวิตวันหนึ่งๆ ในโลกไปโดยไร้สาระ ชีวิตนี้น้อย แร้นแค้น และเต็มไปด้วยทุกข์ เพราะฉะนั้นเราจะทำชีวิตอันน้อย แร้นแค้นนี้ให้มีสาระ ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร ก็ด้วยการเข้าใจธรรม เพราะว่าถ้าเข้าใจธรรม เราจะเห็นว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ควรที่จะไปยึดถือว่าเป็นเรา เป็นคน เป็นสิ่งของ ที่ยึดถือนั้นเป็นความเข้าใจของชาวโลก ถ้าในฝ่ายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ขัดกับความเห็นของชาวโลก แต่ว่าเป็นความจริงที่เราต้องรู้ ต้องเข้าใจ ถ้าเรารู้ เราเข้าใจ ก็จะเห็นคุณค่าของพระศาสนา เห็นคุณค่าของพระธรรม แล้วจะฟังพระธรรมได้ตลอด ไม่มีเบื่อ ยิ่งดื่มด่ำซาบซึ้ง ยิ่งฟังเท่าไรยิ่งดี

    ท่านอาจารย์ ขอสนทนาเสริมตรงนี้นิด เพราะว่าการฟังธรรมก็มีประโยชน์ อย่างที่ได้ฟังเมื่อครู่นี้ ทุกคนได้ยินคำว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ถูกต้องไหม มีความเห็นตรง หรือฟังที่จะเป็นปัญญาที่สามารถรู้จริงๆ ว่า ขณะนี้เป็นธรรม

    ถ้าไม่ได้ยินคำนี้เลยว่า ทุกอย่างเป็นธรรม มีการที่จะรู้ไหม ปัญญาจะสามารถเข้าถึง หรือสามารถทีจะถึงลักษณะของธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน แต่ไม่ใช่เพียงฟัง รู้แล้ว หรือว่าเข้าใจจริงๆ เพราะประเดี๋ยวก็ถามอีก เพราะไม่แน่ใจว่า เป็นธรรม หรือเปล่า ทั้งๆ ที่ได้ยินได้ฟังว่า ทุกอย่างที่มีจริง เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับเมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว ขณะนั้นเป็นความเข้าใจระดับไหน เป็นทิฏฐุชุกรรม เริ่มมีความเห็นตรง เพื่อที่จะได้ฟังต่อไป เข้าใจให้ถูกต้องยิ่งขึ้น ขณะนั้นผู้นั้นก็จะรู้ว่า กำลังเข้าใจ เพราะว่าลักษณะของปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น แต่ในขณะที่เริ่มต้น เพิ่งจะได้ยินได้ฟัง หรืออาจจะไปอ่านข้อความไหนก็ได้ อ่านแล้วก็ผ่านไป เพราะว่าไม่ได้พูดอย่างนี้ซ้ำกันทั้งหน้า ก็มีข้อความอื่นด้วย เพราะฉะนั้นข้อความนี้ก็เพียงได้ยินแล้วก็หมดไป ขณะนั้นมีความเห็นตรงระดับไหน

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า บางคนไม่มีแม้แต่ทิฏฐุชุกรรม ที่จะเห็นตรง ได้ยินคำว่า “อนัตตา” ก็บอกว่าอัตตาก็มี อย่างนี้จะเห็นตรง หรือไม่ ก็เห็นไม่ตรง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แม้ว่าเป็นความจริง แต่ขึ้นอยู่กับขณะนั้น จิตขณะนั้นกระทำความเห็นให้ตรง จิต และเจตสิกที่เกิดขณะนั้นเห็นตรงตามที่ได้ฟัง หรือว่ายังไม่ได้เห็นตรงตามที่ได้ฟัง และกว่าจะมีความเข้าใจในคำนี้จริงๆ ก็ต้องเป็นการฟัง และค่อยๆ เข้าใจขึ้นจากคำที่ได้ยิน และจากสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกว่าจะรู้ได้ว่า ไม่ปฏิเสธเลย ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ ได้ยินคำว่า “สิ่งที่ปรากฏ” ไม่ใช่ตัวตน ทำความเห็นให้ตรง แต่ยังไม่สามารถจะเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้ ด้วยเหตุนี้แม้ในการฟังธรรม ก็จะรู้ว่า เมื่อฟังแล้ว มีความเห็นตรง เจตสิกขณะนั้นเกิดเป็นจิตเป็นสภาพที่กระทำความเห็นให้ตรงหรือเปล่า อุชุกตา เป็นผู้ที่ตรงหรือเปล่า หรือว่าไม่ตรง

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นเรื่องเฉพาะตัว อย่าคิดว่า แล้วเมื่อไรเราจะรู้ว่า ขณะไหนตอนไหนเป็นการทำความเห็นให้ตรง และมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย หรือยัง หรือว่ายังไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย หรือว่ามีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยบ้าง ยังไม่มีมากพอที่จะรู้ได้ ถ้าเป็นในลักษณะนั้น ศึกษาความเป็นอนัตตาด้วยความเป็นอัตตา คือ ตัวตนที่เหมือนจะศึกษาให้เข้าใจธรรม แต่ขณะนั้นไม่รู้หรอกว่า แท้ที่จริงขณะนั้นก็ไม่ใช่เราที่กำลังฟัง และค่อยๆ เข้าใจขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ทุกอย่างเป็นธรรม กำลังฟังเป็นธรรม ขณะที่เข้าใจก็เป็นธรรม ขณะที่ไม่เข้าใจก็เป็นธรรม ขณะที่เริ่มที่จะเห็นถูกด้วยกับสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ขณะนั้นก็เป็นธรรม

    อย่างนี้ก็คงจะเข้าใจความหมายของอุชุกตา และขณะใดที่เป็นความเห็นตรง ขณะใดมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ต้องให้คนอื่นบอกหรือไม่ ฟังแล้วยังต้องให้บอกอีกหรือเปล่า หรือฟังแล้วเข้าใจว่า ธรรมคืออย่างนี้ จนกว่าปัญญาสามารถเข้าใจถูก เห็นถูกด้วยตัวเอง นั่นคือประโยชน์ที่ทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้บุคคลที่ได้ฟัง เจริญปัญญา

    ตอนนี้ไม่ต้องคิดถึงสติปัฏฐานแล้วใช่หรือไม่ หรือไม่ได้ฟังเพื่อที่จะให้สติปัฏฐานเกิดใช่ หรือไม่ แต่ฟังเพื่อเข้าใจ

    คุณอุไรวรรณ เรื่องความเห็นถูกนี่ เป็นเรื่องสำคัญมากในการศึกษาธรรม คุณนีน่าจะมีอะไรสนทนาในเรื่องนี้ไหม เรียนเชิญ

    คุณนีน่า เรื่องการสงสัย และมีความไม่สบายใจด้วย ดิฉันคิดว่าการสงสัยเป็นธรรม เป็นอะไรที่ยังไม่เข้าใจ เพราะว่ามีหลายอย่าง หลายจิตเจตสิก

    ท่านอาจารย์ คุณนีน่า สงสัยว่า เวลาที่สงสัยนี่รู้สึกไม่สบายใจ ใช่หรือไม่

    คุณนีน่า ใช่ เป็นปัจจัยให้

    ท่านอาจารย์ แล้วพระไตรปิฎกแสดงว่า วิจิกิจฉาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่สงสัยเกิดกับโมหมูลจิต ก็เลยสงสัยไม่เข้าใจ ใช่ หรือไม่

    คุณนีน่า เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ทีนี้ ขณะนี้เห็นกับได้ยินเกิดพร้อมกัน หรือเปล่า

    คุณนีน่า ไม่พร้อมกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นวิจิกิจฉาเจตสิกจะไปเกิดกับโทสมูลจิตได้ไหม

    คุณนีน่า ดิฉันรู้ในทฤษฎี

    ท่านอาจารย์ ทฤษฎีก็คือต้องให้รู้จริงตามที่ทรงแสดงไว้ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เหมือนกับขณะเห็นกับขณะได้ยิน โดยการฟัง รู้ว่าเป็นจิตต่างประเภท เกิดคนละขณะ ก็ต้องจริงอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ขณะนี้ปรากฏเหมือนกับพร้อมกัน เหมือนกับวิจิกิจฉาจะเกิดกับโทสะ ความไม่สบายใจได้ แต่ความจริงไม่ได้

    คุณอุไรวรรณ มีคำถามเพิ่มเติมจากเมื่อครู่นี้ ขณะที่มีรูป หรือนามเป็นอารมณ์ จะหมายถึงขณะที่สติระลึกถึงรูป นามได้ หรือเปล่า เช่น เมื่อรูปกระทบกับจักขุปสาท ก็รู้ว่าเป็นเพียงรูปที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หรือเมื่อเวลาโกรธ ก็รู้ว่าเป็นเพียงนามที่เป็นเพียงเจตสิก เกิดแล้วก็ดับไป การรู้รูป รู้นาม เป็นการเจริญวิปัสสนาใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ วิปัสสนา หมายถึงขณะที่ปัญญาแทงตลอดรู้แจ้งความจริงของสภาพธรรมทีละอย่าง เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นปัญญา ขณะที่เพียงคิด ขณะนั้นไม่ใช่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา และก็คิดว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ได้รู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นมีการเห็น จริง แต่หลังจากที่จิตเห็นดับไปแล้ว ก็ไม่รู้ และคิดเรื่องราวต่างๆ เพราะฉะนั้นลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา จะรู้ได้ต่อเมื่อปัญญาสามารถที่จะรู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด สติในทีนี้หมายความถึงสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นสติปัฏฐาน ซึ่งต้องเกิดเพราะเข้าใจถูกต้องว่า

    ขณะนี้เป็นธรรมที่ปรากฏ แต่ว่าลักษณะที่เป็นธรรม ไม่ได้ปรากฏเลย ต่อเมื่อไรค่อยๆ คล้อยเข้าใจ แม้แต่ในขณะที่กำลังเห็น ไม่ต้องคิดเลย แต่รู้ว่า ลักษณะนี้ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่อะไรเลยทั้งสิ้น จนกว่าจะค่อยๆ ชิน แล้วจะเห็นได้ว่า ถ้ายังไม่มีความรู้จริงๆ ก็จะสงสัย แล้วก็จะพยายาม เหมือนกับจะคิด คิดไม่มีใครห้ามเลย ไม่ใช่ว่า อย่าคิดนะ ให้รู้นะ ว่าขณะนี้ลักษณะที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างนี้ เป็นรูปชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ห้ามคิด และไม่ใช่คล้อยไปคิดตามคำที่พูด แต่ให้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า คิด ไม่ใช่เห็น คิดมีจริงๆ คิดไม่ใช่ได้ยิน คิด ไม่ใช่เสียง คิดไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ คิดเป็นคิด คิดหมด หรือไม่ หมด คิดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย หรือว่าไม่มีปัจจัย คิดก็เกิด ไปคิดเรื่องอะไรที่ไม่เคยจำ ไม่เคยรู้เลยได้หรือเปล่า ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นแม้ขณะต่อไปจะคิดอะไรก็ไม่รู้ ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ต้องไปนั่งเสียเวลา ใช่ หรือไม่ เพราะว่ามีสภาพธรรมที่แล้วแต่จะเกิดขึ้นปรากฏ เมื่อปรากฏแล้วจะรู้ หรือไม่รู้ ก็คือเมื่อไรค่อยๆ รู้ ไม่ใช่เมื่อปรากฏแล้วก็เหมือนอย่างที่พูดทุกอย่าง คือ สติสัมปชัญญะกำลังรู้ลักษณะนั้น และเมื่อสภาพธรรมอื่นปรากฏ สติสัมปชัญญะก็รู้ลักษณะของสภาพธรรมอื่นต่อไป นั่นคือสามารถที่จะรู้ว่าเป็นธรรมแต่ละลักษณะเพิ่มขึ้นแล้ว จะชินกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ลองคิดดู จริง หรือเปล่าว่า ไม่มีอะไรในสีสันวัณณะที่ปรากฏ เหมือนสิ่งที่ปรากฏในกระจก เห็นเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ความจริงไม่ได้มีสิ่งนั้นสิ่งนี้ในกระจกเลย ฉันใด ในฝันก็เห็นเป็นเรื่องเป็นราว ทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้มีอะไรในฝันเลย นอกจากจิตคิด เดี๋ยวนี้ก็คือมีสิ่งที่ปรากฏแล้วจิตคิดเหมือนฝันซึ่งต่อเนื่องกันเลย

    ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ พิจารณา เป็นความเข้าใจที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น นี่คือการอบรม นี่คือภาวนา นี่คือจิรกาลภาวนา และผู้นั้นก็จะรู้เองว่า หลงอยู่ในโลกของความคิดที่มีทุกสิ่งทุกอย่างที่เที่ยง แต่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้นเลย จากไป หมดไปทุกขณะ แล้วไม่กลับมาอีกเลย ขณะต่อไป จะเป็นคนนี้ต่อไป หรือว่าจะเป็นคนอื่นต่อไป แล้วก็มีชีวิตเป็นไปต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กี่ภพกี่ชาติก็ตามแต่ ปัญญาสามารถรู้ล่วงหน้าไหม ว่าจะแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในชาติไหน มีรูปอะไร จะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือจะเป็นเสียง หรือจะเป็นกลิ่น หรือจะเป็นสภาพคิด หรือจะเป็นความรู้สึก บอกไม่ได้เลย เพราะอะไร เพราะทุกอย่างที่เกิด เกิดแล้วดับไป ไม่กลับมาอีกเลย คาดคะเนวาดไม่ได้ว่า ชาติหน้าจะเป็นอย่างไร จะมีอะไรปรากฏ จะเป็นสีสันวัณณะในโลกนี้ หรือในสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใด ก็ไม่รู้ว่าจะปรากฏเป็นอะไร แต่เห็นเป็นเห็น ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น คือ ฟังไปเป็นจิรกาลภาวนา จนกว่าจะรู้ว่า คลายการที่เห็นเป็นตัวตน เป็นอัตตานุทิฏฐิ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะมีความรู้ว่า เพียงเห็น และทุกอย่างที่เห็นนี่ก็ติดตามไปไม่ได้เลย คิดนึกก็ติดตามไปไม่ได้ ทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีก

    คุณอุไรวรรณ มีคำถามที่ต่อเนื่องกับคำตอบของท่านอาจารย์ตรงนี้ เรียนถามว่า ขณะนี้ธรรมกำลังปรากฏ แต่ถ้าไม่รู้ แล้วก็ไม่เข้าใจว่า ธรรมที่กำลังปรากฏนั้นต่างกับความคิดนึกอย่างไร ขณะนั้นก็คงเป็นตัวตนตลอด ไม่ใช่ธรรมกำลังปรากฏ ขอความกรุณาท่านอาจารย์อธิบายความละเอียด

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่ากิเลสมีหลายระดับ นอนหลับสนิท ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล อนุสัยกิเลสอย่างละเอียดยังไม่ได้ดับไปเลย พร้อมที่มีปัจจัยเมื่อไรก็เกิดเมื่อนั้น เพราะไม่มีใครเลยที่กรรมจะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด เมื่อปฏิสนธิจิต ๑ ขณะดับไปแล้ว กรรมก็ทำให้จิตขณะต่อไปเกิดต่อจากปฏิสนธิจิตซึ่งดับไป แต่ทำหน้าที่คนละอย่าง คนละกิจ จิตขณะแรกของชาตินี้ทำปฏิสนธิกิจ สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ดับไป ในชาตินี้จะไม่มีปฏิสนธิจิตอีกเลย แต่กรรมก็ทำให้ทันทีที่จิตที่เป็นปฏิสนธิจิตดับ ปฏิสนธิจิตก็เป็นปัจจัยทำให้วิบากจิตประเภทเดียวกัน เพราะมีกรรมอย่างเดียวกันเป็นปัจจัยทำให้เกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ ปฏิสนธิจิตก็มีกิเลส ถ้าไม่มีกิเลสไม่เกิด ผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้วไม่เกิดเลย เพราะดับกิเลสหมดแล้ว แต่ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ต้องเกิด

    เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตก็ต้องมีกิเลสที่นอนเนื่อง แต่เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศล เพราะฉะนั้นจิตที่ทำกิจปฏิสนธิจึงเป็นกุศลวิบาก เป็นกามาวจรกุศลวิบากในภูมิของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็จะเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ แต่ต้องเห็น จะเป็นอย่างนั้นตลอดไปไม่ได้ มีใครบ้างหรือไม่ที่ไม่ตื่น มีไหม แน่ใจไหม ปกติตื่น ตื่นแล้วเป็นอย่างไร เห็นหรือได้ยิน หรือคิดนึก แล้วแต่ขณะนั้นจะเป็นอะไรก็ได้ รู้ล่วงหน้า หรือไม่ ว่าจะเป็นอะไร ไม่รู้ นี่คือความเป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้นขณะนั้นจะต้องรู้ว่า แม้แต่ภวังคจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อ ก็จะเปลี่ยนเป็นเห็นทันทีไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราพูดกว้างๆ ว่า ขณะใดที่เห็นแล้วก็มีการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล กล่าวถึงขณะที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าแม้ขณะที่นอนหลับสนิท ความเห็นผิดก็ยังไม่ได้หมดสิ้นไป เพราะฉะนั้นทันทีที่เห็น จะบอกว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ละอัตตานุทิฏฐิได้ไหม หรือว่าเห็นแล้ว เป็นแต่เพียงพอใจในสิ่งที่เห็น โดยที่ไม่มีการยึดถือเป็นความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย หรือว่าขณะนั้นมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้จะรู้ได้เมื่อปัญญาถึงระดับที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม จึงจะกล่าวได้ว่า ขณะนั้นมีความเห็นผิด กำลังเห็นผิด หรือมีโลภะที่กำลังติดข้องในอารมณ์ที่กำลังปรากฏทีละอารมณ์

    เพราะฉะนั้นการทรงแสดงสภาพธรรมโดยละเอียด แสดงเพื่อให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่า จิตต่างกันอย่างไร เกิดดับสืบต่อกันอย่างไร ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร แต่ว่าการที่จะรู้จริงๆ ทีละ ๑ ขณะที่จะกล่าว เป็นไปไม่ได้ นอกจากเมื่อปัญญาเกิด และขณะนั้นกำลังมีสภาพธรรมนั้นปรากฏ ชั่วขณะที่ปรากฏด้วย ยังไม่ได้ดับการเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน ก็ยังคงมีเวลา หรือขณะที่เกิด และยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ที่ไม่ดับเลย

    ผู้ฟัง กรณีของพระนารกะ ท่านปฏิบัติโมเนยยะ ปฏิบัติแบบมักน้อย ไม่พูด ไม่ถาม ไม่รับของถวาย และเดินเดียวไปในป่าเรื่อยๆ อย่างนี้จะเรียกว่า เป็นทิฏฐุชุกรรม หรือสัมมาทิฏฐิ หรือเปล่า หรือว่าเป็นอัธยาศัย หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ แต่ละขณะจิตท่านมี มหากุศล หรือเปล่า ใครก็ตามไม่ใช่แต่เฉพาะท่านพระนารกะ เวลาที่กิเลสยังไม่ได้ดับ ยังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นเป็นกุศลประเภทไหน เหมือนอย่างขณะนี้ เราจะตอบได้ไหม ขณะนี้เป็นปัญญา หรือเป็นทิฏฐุชุกรรม เป็นกุศล ซึ่งมีปัญญาเพียงขั้นกระทำความเห็นให้ตรงระดับนั้นเท่านั้น ยังไม่ถึงการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อว่าเป็นอัธยาศัยของบรรพชิตองค์นั้น แล้วท่านก็เข้าไปแบบนั้น แบบสงบ แบบสมถะแบบนั้น ก็แล้วไป ทีนี้ท่านอาจจะอยากบรรลุธรรม ก็เลยปฏิบัติอย่างนั้น หรือเปล่า ผมไม่แน่ใจจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ท่านไม่เห็นผิด

    ผู้ฟัง ทีนี้ถ้าเรานั่งปฏิบัติอย่างที่เมื่อก่อนนี้ หรือวิธีปฏิบัติแบบมักน้อย

    ท่านอาจารย์ นั่งปฏิบัติ แสดงว่ามักน้อยใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่คือหาที่สงบเงียบปฏิบัติแบบที่เขาทำกัน คือ ผมไม่อยากจะรื้อฟื้น แต่มันติดใจอยู่เท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ แต่ละคนเหมือนกัน หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนแปลงการสะสมของแต่ละคนได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง อาจจะได้ แต่ยากครับ

    ท่านอาจารย์ ไปเปลี่ยนทำไม ในเมื่อขณะนี้เกิดแล้วก็รู้ความจริง เพราะฉะนั้นการที่จะรู้อัธยาศัย ไม่ใช่ไปฝืน แต่การจะรู้อัธยาศัยจริงๆ เมื่อสิ่งนั้นเกิดแล้วจึงรู้ ถ้าสิ่งนั้นยังไม่เกิด จะรู้ได้ไหม แต่ละคนก็สะสมโลภะ ความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ความขุ่นเคือง ไม่พอใจ ความริษยา ความมานะ ความสำคัญตน ไม่มีใครรู้เลยว่า มากแค่ไหน เมื่อไรเกิด เมื่อนั้นรู้

    เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า ถ้ายังไม่เกิด อย่างนอนหลับสนิท มาบอกว่า คนนี้นิสัยเป็นอย่างไร คนนั้นนิสัยเป็นอย่างไร ยังไม่ได้พูด ยังไม่ได้ทำอะไรสักอย่าง เพียงแค่นอนๆ กันไป แล้วก็หลับกันไป แล้วจะบอกว่าคนนั้นเป็นอย่างนี้ คนนี้เป็นอย่างนั้นก็ไม่ได้ แม้แต่ตัวเอง จะรู้อัธยาศัยจริงๆ ของตัวเอง เมื่อเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นขณะนี้อยู่ที่ไหน ถ้าอยู่ตรงนี้ จะไปไหน ถ้าไปไหนเมื่อไร แสดงว่าไม่เข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นใครก็ตาม อัธยาศัยจะอยู่คนเดียว จะไม่ไปโน่นมานี่ หรืออะไรก็ตาม แต่ว่าตราบใดก็ตามที่ยังไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่เกิดปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวัน นั่นไม่ใช่การประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ เพราะขณะใดที่ผิดปกติ ไม่ใช่อัธยาศัย ขณะนั้นคือความเป็นเรา หรือความเป็นตัวตน ที่ทำให้คลาดเคลื่อน เพราะว่าสภาพธรรมขณะนั้นดับแล้ว จึงไม่มีวันที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไปอย่างรวดเร็ว

    ผู้ฟัง กราบเรียนถามท่านอาจารย์อีกครั้ง คือ ถ้าเผื่อเราเห็นอัธยาศัยแบบนั้น มันดี มันไม่ผิด แล้วเราก็อยากปฏิบัติธรรมให้ได้ดี แล้วเอาอย่างนั้น ก็ไม่ได้ ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ท่านพระสารีบุตรเห็นท่านพระนารกะแล้วท่านรู้สึกอย่างไร จะเอาอย่าง หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ได้เอาอย่าง

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมเราอยาก

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องไปเอาอย่างคนนั้นคนนี้

    ท่านอาจารย์ อย่าลืมคำว่า อนัตตา พูดไปพูดมาทั้งหมดก็ลืมอนัตตา แต่ถ้าไม่ลืมก็คือ บังคับบัญชาไม่ได้ เดี๋ยวนี้สภาพธรรมที่เหมือนปรากฏไม่ดับเลย ความจริงดับไป เกิดดับ เกิดดับ ทุกขณะ ไม่ต้องไปกังวล ใครจะไปสร้าง ใครจะไปทำให้สภาพธรรมเกิดอีก ก็ไม่ต้อง มีปัจจัยเกิดแล้ว แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้นจะรู้ก็ต่อเมื่อสภาพธรรมนั้นปรากฏ เกิดแล้วปรากฏ

    ผู้ฟัง บางทีอาจจะถูกกับอัธยาศัยของเราก็ได้

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้สภาพธรรมเกิดแล้วปรากฏตามการสะสม ซึ่งเป็นอัธยาศัย

    ผู้ฟัง เป็นอยู่แล้วใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ใช่ เป็นอยู่แล้วทุกขณะ จะรู้ว่าอัธยาศัยอย่างไร ไม่ใช่ไปวาดภาพคิดเองว่า เราคงสะสมมาอย่างนี้ เราคงจะเป็นอย่างนั้น แต่ธรรมใดเกิดขึ้นปรากฏ นั่นส่องถึงอัธยาศัยที่ได้สะสมมา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    2 พ.ค. 2567