พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 355


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๕๕

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ แต่ลองดู ในพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มี หรือไม่ที่จะบอกว่า ให้มีสิ่งนั้นสิ่งนี้เพื่อที่จะได้คุ้มครอง หรือว่าทรงสอนให้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพื่อที่จะได้รู้ตามความเป็นจริงว่า อะไรแน่ซึ่งคุ้มครองโลกจริงๆ ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคประสูติ และตรัสรู้ สังคมที่นั่นก็เป็นสังคมที่ไม่เข้าใจธรรม และมีการแตกแยกทางความคิดทุกกาลสมัย ที่จะให้คนเราเหมือนกันแม้แต่ในความคิด ก็เป็นไปไม่ได้ แต่คนต่างคิด ต่างคนต่างเข้าใจ แต่เมื่อมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็มิใช่ว่าคนอื่นนับถือลัทธิอื่นจะได้มาเฝ้า และฟังพระธรรม

    แม้แต่ในกาลไหนๆ ก็ตาม พระธรรมก็ยังมีอยู่ เราก็ไม่สามารถจะไปบังคับใครให้มีความสนใจเพื่อจะเข้าถึงพระธรรม ได้ฟังพระธรรม ได้ไตร่ตรองพระธรรม จนกระทั่งเป็นความเห็นเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง ตามที่ได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะเปลี่ยนแปลงคนอื่น แต่ละคนก็เป็นหน่วยหนึ่งของสังคม ไม่ว่ากระแสไปทางไหนก็ตาม ถ้ามีโจร ๕๐๐ คน แต่เราจะเป็น ๑ ใน ๕๐๐ นั้น หรือเปล่า หรือไม่ว่าจะมีพลเมืองมากสักเท่าไรก็ตาม กระแสเป็นอย่างไรก็ตาม เราเป็นผู้ที่มั่นคงในเรื่องเหตุ และผล ในการที่จะได้ยินได้ฟังก่อน เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง ก่อนที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความไม่รู้ เพราะว่าถ้าทำอะไรไปก็ตามด้วยความไม่รู้ ผลก็คือไม่รู้ อย่างไรก็รู้ไม่ได้ เพราะว่าไม่ได้รู้ตั้งแต่ต้น

    ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ถ้าเป็นผู้ละเอียด และมั่นใจ เข้าใจในเหตุผล และพระพุทธศาสนาก็ทรงแสดงไว้โดยประการต่างๆ โดยละเอียด ถ้าได้เข้าใจจริงๆ ก็จะไม่เป็นผู้หลงทำสิ่งที่ไม่เข้าใจ

    ผู้ฟัง ในสังคมปัจจุบัน จะเห็นว่าความคิดแตกแยกกันพอสมควร สาเหตุอาจจะเกิดจากทิฏฐิที่มีอยู่ในตัว ในทางพระพุทธศาสนานั้น คนที่เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม เรียกว่า มีมิจฉาทิฏฐิ ส่วนบุคคลใดเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เราก็จะเรียกบุคคลนั้นว่า มีสัมมาทิฏฐิ เช่นนี้เราจะแก้คนที่มีมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งมีอยู่มากในปัจจุบันนี้ ในทางธรรมจะแก้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ คนที่จะแก้ต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ จะเอามิจฉาทิฏฐิไปแก้มิจฉาทิฏฐิ ก็เป็นไปไม่ได้ และสำหรับคำว่า “ทิฏฐิ” เป็นความเห็น ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นที่ถูกต้อง ก่อนอื่น ผู้ที่จะแก้ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า สัมมาทิฏฐิคืออะไร ไม่ใช่เราคิดเอง ไม่มีใครสามารถที่จะคิดเองได้ แต่เมื่อมีการเริ่มเข้าใจธรรม จะเห็นพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ของใคร เพราะว่าคนอื่นนอกจากนั้น แม้ท่านพระสารีบุตรก็เป็นพระสาวก เราเป็นใคร ถ้าเราไม่มีความเห็นถูกต้องโดยการศึกษาพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ แม้ตัวเราก็ยังคงเห็นผิด

    การที่จะแก้คนอื่น ก่อนอื่นต้องมีความเข้าใจจริงๆ ว่า ความเห็นผิดที่ว่าเห็นผิด เห็นอะไรผิด คือ ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพียงผิวเผินไม่สามารถจะแก้ไขอะไรได้เลย เหมือนกับคนเป็นโรค และมีหมอเยอะ แต่หมอแต่ละท่านไม่ได้รู้จริงในเรื่องสมุฏฐาน ในเรื่องยาที่จะรักษาโรค คนนั้นจะหายจากโรคได้ หรือไม่ แต่ถ้าเป็นหมอที่มีความเข้าใจจริงๆ มียาดีจริงๆ ก็สามารถรักษาโรคได้ ซึ่งคำอุปมาทรงอุปมาว่า พระผู้มีพระภาคเหมือนหมอ พระธรรมเหมือนยา และผู้ที่ป่วยไข้ คือ ชาวโลกซึ่งไม่มีความเห็นถูก ก็เหมือนกับคนเป็นไข้

    หนทางเดียวที่แต่ละบุคคลจะเริ่มรู้จัก และเข้าใจจริงๆ ก็คือว่า เราคิดธรรมเองไม่ได้ แต่ต้องศึกษาด้วยความเคารพในความละเอียด ในความลึกซึ้งของธรรม และเป็นเรื่องซึ่งไม่ผิวเผิน ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ต้องตอบคำถาม แต่ต้องตั้งต้นด้วย “เห็นอะไรผิด” ถ้าตอบสิ่งนี้ไม่ได้ ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า ขณะไหนเป็นความเห็นผิด และขณะไหนเป็นความเห็นถูก เป็นเรื่องชีวิตประจำวันจริงๆ แต่ว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป เพื่อที่จะตรัสรู้ความจริง ที่ทรงแสดงทุกคำจริง ซึ่งควรแก่การบูชาทุกคำที่ได้ยินได้ฟัง เพราะว่ากว่าจะได้ตรัสรู้ และทรงแสดงก็นานมากทีเดียว ผ่านการได้เฝ้า ได้ฟังพระธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าถึง ๒๔ พระองค์ เพราะฉะนั้นความเห็นผิด เห็นอะไรผิด ขณะนี้เห็นผิด หรือเปล่า นี่คือการตั้งต้นของการที่จะเข้าใจพระธรรม

    ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นชีวิตประจำวัน หรือเปล่า บางคนคิดว่า ธรรมต้องแยกจากชีวิตประจำวัน แต่นั่นไม่ถูกต้อง ถ้าไม่ใช่ชีวิตประจำวัน ถ้าไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏ ประโยชน์ของพระธรรมจะมี หรือไม่ ในเมื่อไม่สามารถเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏได้

    ด้วยเหตุนี้จึงทราบว่า ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายเป็นธรรม ซึ่งเห็นถูก หรือเห็นผิด ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม และก่อนชาตินี้ แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว ตั้งแต่สมัยที่พระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญพระบารมี ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคลมีความเห็นผิดในสิ่งที่มีในชีวิตประจำวัน หรือเปล่า ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม อาจจะไม่รู้เลยว่า เห็นผิดคืออย่างไร และเห็นถูกคืออย่างไร และในอีกแสนโกฏิกัปป์ข้างหน้า เพราะว่าชีวิตแต่ละขณะผ่านไปอย่างรวดเร็วเกินที่จะประมาณได้ และไม่มีใครหยุดยั้งได้ เกิดมาแล้วที่จะไม่ให้เป็นไป ที่จะไม่ให้เห็น ไม่ให้ได้ยิน ไม่ให้สุข ไม่ให้ทุกข์ ไม่ให้คิดนึกเรื่องต่างๆ เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นจิตนิยาม เป็นธรรมเนียมของจิต ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นดับไปแล้ว ก็ยังมีจิตขณะอื่นซึ่งเกิดดับสืบต่อ เช่น จิตขณะแรกที่เกิดกับจิตขณะนี้ห่างกันนานมาก ถ้าได้มีความเข้าใจจริงๆ ว่า ถ้าไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ความเห็นถูก และการที่จะเข้าใจได้ก็คือว่า ขณะนี้เริ่มฟังว่า ธรรมอยู่ที่ไหน และธรรมคืออะไร เพราะว่าบางคนเดินทางไกลแสนไกล ขึ้นเหนือลงใต้ หาธรรม แต่ไม่รู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรมตามที่ได้ทรงแสดง

    จะได้เข้าใจให้ถูกต้องว่า ความไม่รู้ หรือความเห็นผิด ไม่ใช่ขณะอื่น แต่ขณะนี้เองที่กำลังเห็น จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม แล้วค่อยๆ เห็นถูกขึ้น จนกว่าสภาพของปัญญา หรือจิตใจจะเจริญ ไม่ใช่วัตถุเจริญ แต่ว่าสภาพของจิตที่เจริญขึ้น ด้วยปัญญา สามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นพระอริยบุคคล ตามที่ทรงปรารถนาไว้ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า แม้พระองค์จะได้เป็นพระอรหันต์ ดับกิเลสหมดสิ้นในขณะที่ได้ฟังธรรม แต่ก็หวัง หรือปรารถนาที่จะช่วยบุคคลอื่น ซึ่งถ้าใครได้ฟังพระธรรมแล้วรู้ว่า คนที่ไม่ได้ฟังพระธรรม มีความเห็นผิด มีความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรม จะมีจิตที่กรุณาในความไม่รู้ของคนอื่นมากสักแค่ไหน นี่คือผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เมื่อเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระมหากรุณามากที่จะให้คนได้เริ่มเข้าใจถูก เห็นถูก แม้ว่าคนนั้นจะอยู่ไกลแสนไกล แต่ถ้าสามารถเข้าใจได้ ก็เสด็จไปเพื่อทรงแสดงธรรม ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นเลย ไม่ใช่เพื่อลาภสักการะ ไม่ใช่เพื่อทรัพย์สินเงินทอง แต่เพื่อให้เขาเห็นถูก

    การฟังพระธรรม เริ่มด้วยความไม่รู้ และค่อยๆ รู้ว่า พระธรรมคือขณะนี้ เดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นความเห็นผิด ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ตอบไม่ได้ว่า ขณะนี้เห็นผิดอย่างไร ถ้าเรามีความเข้าใจไม่ถูกต้อง เราก็จะชักพาคนไปในทางที่ผิดได้มากทีเดียว

    การที่เราจะมีความเข้าใจที่ถูกต้องมั่นคง ต้องไม่ลืมว่า มีความคิดที่จะช่วยทุกคนให้มีความสุข ให้มีความสงบ จนกระทั่งทุกคนก็คือหน่วยของประเทศชาติ ด้วยความจริงใจ และด้วยความมั่นคง ไม่ใช่เราคิดจะช่วยคนอื่น หรือประเทศชาติ แต่คิดถึงตัวเองก่อน และช่วยตัวเองก่อน เหมือนกับที่อะไรที่ผิดพลาดไปแล้วก็แก้ไม่ได้ แต่ว่าตามความเป็นจริงทุกอย่างผิด แล้วแก้ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าในพระวินัยบัญญัติ พระภิกษุที่ท่านทำผิดจากพระวินัย ท่านก็ยังมีโอกาสที่รู้ว่าผิด และการแก้ก็คือปลงอาบัติ ไม่ใช่เพียงปาก แต่ด้วยความจริงใจที่จะไม่กระทำอย่างนั้นอีก

    ที่จะช่วยได้จริงๆ ไม่พ้นจากธรรมซึ่งเป็นบารมี มีความจริงใจ และมีความมั่นคง มีวิริยะ มีความเพียร และมีขันติ คือความอดทนด้วย อดทนนี่ อดทนต่อทุกสิ่งทุกอย่าง อดทนต่อการที่จะเป็นคนดี เป็นคนตรง และเป็นคนที่จริงใจ มั่นคงในการช่วยคนอื่น มิฉะนั้นเราก็จะคลอนแคลน แล้วเราคิดว่าเราช่วย แต่ความจริงเราช่วย หรือเปล่า หรือเราช่วยให้เขาผิดไปอีกไกลมากทีเดียว

    สำหรับเรื่องของประเทศชาติ ก็เป็นเรื่องที่ว่า ถ้าเราเป็นคนดี มีความตั้งใจดี มีความหวังดี คิดทุกอย่างรอบคอบ ไม่ใช่ทำไปโดยไม่รู้อะไร ก็ตื่นเต้นตามกันไป โดยที่เราก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่รู้ แล้วก็ทำไปด้วยความไม่รู้ อย่างนั้นไม่มีประโยชน์ทั้งตนเอง และบุคคลอื่นทั้งชาตินี้ และชาติหน้าด้วย เพราะเหตุว่าไม่ได้ให้ความเข้าใจ ไม่ได้ให้ความจริงอะไร นอกจากเป็นสิ่งที่เราคิดว่าเราทำ แต่ทำด้วยความไม่รู้

    สำหรับการที่จะบัญญัติ หรือไม่บัญญัติพระพุทธศาสนาไว้ในรัฐธรรมนูญ ทุกคนมีความคิดหลากหลายต่างกัน ช่วยกันพิจารณา ไม่ใช่คนเดียวเป็นคนที่จะตัดสิน แต่ต้องช่วยพิจารณาอย่างรอบคอบว่า ประโยชน์คืออะไร ถ้ายังตอบไม่ได้ ทำไปจะมีประโยชน์ หรือเปล่า เพราะว่าแม้แต่พระพุทธศาสนาจริงๆ ที่จะรักษา อยู่ที่ไหน คืออะไร ก็ยังตอบกันไม่ได้ และจะให้เป็นศาสนาประจำชาติ โดยที่ไม่รู้เลยว่า พระพุทธศาสนานั้นคืออะไร ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผลเลยตั้งแต่ต้น ถ้าแต่ละคนมีความจริงใจ และมั่นคง ก็จะไม่ทำในสิ่งที่ไม่รู้ และข้อสำคัญก็คือว่า ประโยชน์คืออะไร ลองไตร่ตรอง ลองช่วยกันคิดซิว่า ประโยชน์คืออะไร ถ้าไม่มีประโยชน์ จะใส่ไว้ทำไม คำว่า “ประชาธิปไตย” หมายความว่าอย่างไร ทุกคนมีสิทธิส่วนตัว แต่ต้องไม่ทำผิดกฎหมาย ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่สำหรับเรื่องของจิตใจ บังคับใจของใครให้เชื่ออย่างนั้น ให้คิดอย่างนี้ได้ หรือไม่ และเราจะไปบังคับใจคนอื่นให้เห็นถูกตามพระพุทธศาสนา ไม่ให้มีหลักความเชื่อ หรือความคิดอย่างอื่นเลย ใครทำได้ ไม่ว่าในสมัยไหน ทำไม่ได้เลย ในครั้งพุทธกาลก็มีคนที่พยายามทำอย่างนี้ แต่พระพุทธเจ้าก็เปรียบเทียบว่า ลองไปถมบ่อคลองมหาสมุทรให้เต็ม เมื่อไรจะเต็มได้ ถ้าทำได้ ก็คือสามารถบังคับบัญชา หรือทำได้ ในสิ่งที่ความจริงเป็นไปไม่ได้เลย

    ความคิดของแต่ละคนมาจากไหน ทำไมขณะนี้ เดี๋ยวนี้ต่างคนต่างคิด คิดไม่เหมือนกันเลย ทำไมไม่เหมือน เห็นสิ่งเดียวกัน ก็คิดต่างกันไปตามการสะสม จริงๆ แล้ว เมื่อร่วมกันเป็นแต่ละบุคคล ซึ่งจะอยู่ในประเทศ เพื่อความสงบสุข ก็รู้ว่า กฎหมายสำหรับป้องกันการกระทำที่ทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อน เป็นเรื่องของกาย วาจา ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้าเป็นชาวพุทธ เกือบจะเรียกได้ว่า กฎหมายไม่มีความจำเป็นใดๆ เลย เพราะว่าถ้าเพียงศีล ๕ หรือสำหรับพระภิกษุ ศีล ๒๒๗ ประพฤติปฏิบัติตามขัดเกลากิเลส ไม่มีการทำผิดใดๆ เลย แต่ที่จำเป็นต้องมีกฎหมาย เพราะว่าต่างคนก็ต่างความคิด ต่างคนก็ต่างความเห็น สำหรับปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ ก็ต้องคิดถึงกาลข้างหน้าด้วย หรือแม้ในขณะนี้ว่า ถ้าบัญญัติไว้เป็นเหตุให้สมานฉันท์ ร่วมกัน หรือว่าเป็นความแตกแยก หรือ แตกแปลกจากที่ตัวเองเคยคิด

    ต้องคิดให้ละเอียด ไม่ใช่เพื่อเรา เราคือใคร “เรา” เห็น หรือไม่ เห็นถูก หรือเห็นผิด มีความเมตตาในความเห็นของคนอื่น หรือเปล่า เคารพในสิทธิ์ของคนอื่น หรือเปล่า ว่า เรื่องความคิดความอ่านของแต่ละคน รับฟัง แล้วก็สามารถเข้าใจได้ว่า ทำไมคิดอย่างนั้น แต่ถ้าร่วมกัน ปรึกษาหารือ ประโยชน์มาก่อน ถ้ามีใครตอบได้ว่า บัญญัติแล้วได้ประโยชน์อะไร หรือบัญญัติแล้วเกิดความแตกแยก ลองพิจารณาว่า จริงๆ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าบัญญัติไว้ เพราะจริงๆ แล้วเป็นเรื่องของจิตใจซึ่งบังคับไม่ได้ ถ้ามีหลักคุณธรรมจริยธรรมอย่างที่กล่าวกัน กฎหมายไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่เพราะเหตุว่า แม้ว่ามีศาสนาต่างๆ แต่ด้วยความไม่เข้าใจ และสะสมอุปนิสัยต่างๆ กัน ก็มีการกระทำทางกาย ทางวาจาซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นจะตอบได้ หรือไม่สำหรับผู้ที่ต้องการให้มีคำว่า พระพุทธศาสนาในรัฐธรรมนูญ ประโยชน์อยู่ที่ไหน คืออะไร ประโยชน์จริงๆ

    ผู้ฟัง ประโยชน์คือความมั่นคงของพระพุทธศาสนา

    ท่านอาจารย์ แปลว่ารักพระพุทธศาสนามาก

    ผู้ฟัง รักมาก

    ท่านอาจารย์ รักเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ หรือกุศล

    ผู้ฟัง รักเป็นโลภะก็ได้ หรือเป็นกุศลก็ได้

    ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้าสอนให้รักอย่างนี้ หรือเปล่า หรือให้ละโลภะ ให้ละความสำคัญตน ให้ละการยึดมั่น

    ผู้ฟัง ถ้าท่านอาจารย์ให้ผมตอบตอนนี้ ต้องระดับอนาคามี ถึงจะละโลภะทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ แต่คำสอนทั้งหมด กถาวัตถุ ๑๐ เพื่อความไม่มีโลภะ แล้วแต่ว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน ตามลำดับขั้น ไม่ใช่เป็นการไปฝืนให้บัญญัติ ประโยชน์คือคิดว่าจะมั่นคงด้วยการบัญญัติใช่ หรือไม่

    ผู้ฟัง มั่นคง เพราะว่าทางนิตินัย

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าไม่มีคนศึกษาเลยแม้จะบัญญัติไว้จะมั่นคง หรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้าไม่มีผู้ศึกษา ก็ไม่มั่นคง

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีผู้ศึกษาโดยไม่บัญญัติ จะมั่นคง หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็มั่นคง

    ผู้ฟัง ผมได้ฟังท่านอาจารย์สุจินต์เมื่อสักครู่นี้ ผมยอมรับเลยว่า ถ้าไม่อยู่ในใจ ต่อให้ไปบัญญัติอยู่ที่ใด ก็ไร้ผล

    ท่านอาจารย์ จริงๆ ดิฉันคิดว่า พ้นจากธรรมไม่ได้เลย และเป็นสิ่งที่สำคัญด้วยว่า ทุกคนมีความเห็น แต่ว่าความเห็นของตนเองเป็นไปตามธรรมมากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นนักปกครอง หรือทหาร เป็นพ่อค้า นักธุรกิจ ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็จะทำประโยชน์แก่ตนเอง และบุคคลอื่น และประเทศชาติได้

    สำหรับเรื่องของการที่ต่างคนต่างใจ ฟังเท่าไรก็ยิ่งเห็นว่า ต่างคนต่างคิด แสดงให้เห็นถึงสัจธรรม คือ ความเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาใครได้ แม้แต่ตัวเองบังคับได้ หรือไม่ ไม่ให้โลภ ไม่ให้โกรธ ไม่ให้หลง ให้เป็นคนดี บังคับไม่ได้เลย เมื่อธรรมทั้งหลายไม่ใช่เรา เราอยากเป็นคนดี เป็นพระอรหันต์ ก็เป็นไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นธรรม ถ้าเรามีความมั่นคงที่จะศึกษาให้เข้าใจความจริง และตรงต่อตัวเอง เราจะไม่หวั่นไหว เพราะแต่ละคนก็คิดแต่ละอย่าง ก็เป็นเรื่องแต่ละคน จะไปบังคับเขาก็ไม่ได้ แต่สำหรับเราเอง ถ้ามีความเข้าใจถูกขึ้น มีความมั่นคงขึ้น และสามารถช่วยให้คนอื่นเข้าใจว่า พระธรรมสำหรับทุกกาล ทุกบุคคล ทุกเหตุการณ์ ก็จะทำให้แต่ละคนมีชีวิตอยู่ในความถูกต้อง ในทางที่เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น

    นี่ก็เป็นสิ่งที่ผู้มีความเห็นอย่างเดียวกัน ก็ไม่ได้มีใครอยากจะไปบังคับให้มีพระพุทธศาสนาในรัฐธรรมนูญ เพราะรู้ในความเป็นอนัตตา และรู้ว่า จริงๆ แล้วถ้าสมมติว่า คนอื่นที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา เรามีความเมตตา มีความกรุณา มีมุทิตา มีอุเบกขา หรือไม่ เพราะเหตุว่าไม่ใช่จะต้องไปเป็นศัตรูกับบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือความคิดที่ต่างกัน แต่เมื่อมีความคิดที่ต่างกันเพราะการสะสม โอกาสที่ทำให้มีความคิดถูกต้องเหมือนกันได้ ก็ควรจะทำ

    ผู้ฟัง คำว่า “มีบุญ” “ มีวาสนา” และ “มีบารมี” ที่จะทำให้คนมีสันติสุขในโลกนี้ หมายความว่าอย่างไร และในบรรดา ๓ คำนี้ “บุญ” “วาสนา” “บารมี” เกิดขึ้นพร้อมกัน หรือเกิดขึ้นก่อนหน้ากันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขอสนทนาสั้นๆ สั้นที่สุด คือ คนดีเป็นคนที่ทุกคนได้รับประโยชน์ ไม่ได้รับโทษจากคนดี หรือเปล่า และเราจะเรียก “ดี” โดยศัพท์ หรือโดยคำได้หลายอย่าง “เดชะ” คือ เดช มีบุญเดชด้วย คือ พระธรรมที่ทรงแสดง ทรงแสดงไว้โดยละเอียด โดยประการทั้งปวง ตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้าศึกษาจะพบคำตอบทั้งหมด แต่ทั้งหมดก็คือ ความดีเป็นเรา หรือเปล่า และความดีนั้นมีหลายระดับ และความดีนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เราต้องการให้โลกเป็นสุข ไม่ใช่เรามีความชั่วกันทุกคน แล้วโลกจะเป็นสุขได้

    ถ้าทุกคนเข้าใจความดี เพียงแค่วันนี้ เดี๋ยวนี้ ความดีนั้น คืออะไร ความดีนั้นมีเดช มีกำลังที่ทำให้สามารถถึงการดับกิเลสได้ เพราะว่ากิเลสเป็นสิ่งที่ไม่ดี จริงๆ แล้ว เรื่องพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ความละเอียด ความลึกซึ้งจากการทรงตรัสรู้ ก็ได้ทรงแสดงไว้โดยนัยประการต่างๆ แม้แต่ชื่อต่างๆ อย่างโลภะ เราได้ยินคำเดียว สภาพที่ติดข้องต้องการ ที่ว่าโลภมาก แต่แม้แต่เพียงอาสา ในภาษาไทย ความจริงก็คือความหวังในภาษาบาลี เป็นชีวิตประจำวัน หรือเปล่า แม้ชั่วขณะหนึ่งขณะใดที่เกิดขึ้น พ้นจากความหวัง หรือไม่ ในชีวิตประจำวัน ตื่นขึ้นมาหวังอะไร ที่โต๊ะอาหาร หรืออะไรก็ตามแต่ นี่คืออีกชื่อหนึ่งของโลภะ ชื่อต่างๆ ที่ถาม โดยสภาพธรรมก็คือเป็นสิ่งที่มีจริง แต่มีลักษณะที่ต่างกันไป จะกล่าวง่ายๆ ว่า หน้าตาต่างๆ กันก็ได้ แต่เป็นลักษณะของความติดข้อง ความต้องการนั่นเอง

    ถ้าใช้คำว่า “วาสนา” ในภาษาไทย คนไทยจะใช้คำภาษาบาลีมาก แต่ไม่ได้เอาความหมายที่ถูกต้องมาด้วย เราคิดถึงวาสนาในความเป็นใหญ่เป็นโต แต่วาสนาจริงๆ หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายดี และฝ่ายไม่ดี ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่ได้หมดไปเลย เพราะว่าสะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกๆ ขณะ เพราะฉะนั้นอาสยานุสยะ เป็นพระปัญญาของพระพุทธเจ้า ที่สามารถรู้ว่า บุคคลนี้สะสมอกุศลมามากน้อยเท่าไร และสะสมกุศลมามากน้อยเท่าไร นี่คืออาสยานุสยะ ก็คือทางฝ่ายดี และชั่ว

    สำหรับวาสนา ก็หมายความถึงการสะสมกุศล และอกุศล ถ้าเป็นทางฝ่ายอกุศล ความละเอียดของธรรมก็คือ อกุศลจิตเกิดทำให้มีการเคลื่อนไหวทางกาย ทางวาจา ไม่ใช่เพียงแต่มีอยู่ในใจ เวลาที่มีการเคลื่อนไหวกาย วาจา จะเห็นความละเอียดของอกุศลที่มีสะสมมาอย่างละเอียดมาก นานแสนนานในแสนโกฏิกัปป์ จากไหน แม้แต่จากกิริยา อาการก็เป็นได้

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ความหมายของ “วาสนา” อีกความหมายหนึ่ง คือ ความประพฤติที่เคยชินทางกาย ทางวาจา ขณะนี้ลองดู ทุกคนนั่งเหมือนกัน หรือไม่


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    15 ม.ค. 2567