พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 313


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๑๓

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ ชีวิตประจำวัน จิตมี โลภะมี จิตที่เกิดร่วมกับโลภะ จะไม่เกิดร่วมกับสภาพธรรมอื่น นอกจากเจตสิก เจตสิกก็ต้องเกิดกับจิต แต่เป็นเรา ตลอดวัน พอดีใจ ก็ไม่รู้เลยว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไป กำลังเสียใจ เป็นทุกข์ ก็ไม่รู้ว่า เป็นความรู้สึกซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย ถ้าเห็น ได้ยินสิ่งที่น่าพอใจ ความรู้สึกชนิดนั้นจะเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นแม้ความรู้สึกซึ่งต่างกันไปในวันหนึ่งๆ ก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เกิดแล้ว เป็นแล้ว ตามเหตุตามปัจจัย แต่ไม่รู้ แม้ว่าความรู้สึกบอกได้ เสียใจ ก็บอกได้ ดีใจ ก็บอกได้ โกรธก็บอกได้ พอใจก็บอกได้ แต่ไม่รู้ว่า เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นเมื่อลักษณะอย่างนั้นมีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ไม่รู้ว่า เป็นธรรมอะไร จึงต้องศึกษา ฟังให้เข้าใจว่า เป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน แล้วแต่ว่าเป็นประเภทที่เป็นผลของกรรม เป็นวิบาก หรือเป็นการสะสมที่เมื่อเห็นแล้วก็พอใจ หรือขุ่นใจ ตามการสะสม คือ ให้เข้าถึงความเป็นธรรมในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นอยู่แล้ว มีเหตุปัจจัยเกิดแล้ว แล้วไม่เคยรู้ ก็รู้เท่านั้นค่ะ เพราะฉะนั้นคิดก็มีอยู่แล้ว เหมือนเห็นก็มีอยู่แล้ว เป็นปกติ ค่อยๆ เข้าใจลักษณะนั้น

    อ.ธิดารัตน์ จากคำถามของพี่บง ท่านหมายความว่า เวลาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ถึงแม้ว่าในขณะที่โลภมูลจิตเกิดขึ้น จะมีทั้งจิต และเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกัน แต่เวลาที่สภาพธรรมนั้น เช่น ลักษณะของจิตจะมาปรากฏแก่ปัญญา ก็ต้องเป็นแค่จิตอย่างเดียวที่ปรากฏแก่ปัญญา หรือว่าลักษณะของโลภเจตสิกมาปรากฏแก่ปัญญา ก็ต้องเป็นทีละอย่าง อย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าปนกันไม่ได้

    อ.ธิดารัตน์ เวลาที่จะรู้จิต หรือเจตสิกนั้น อย่างเช่นเป็นโลภมูลจิต หรือเป็นเจตสิก อย่างนี้หมายความว่า ปัญญาจะต้องเข้าใจมากกว่าขั้นสติปัฏฐาน หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ มีปัญญาที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งไม่ปนกัน อย่างความรู้สึก ต่างกับเห็น ขณะที่กำลังเห็น มีความรู้สึกเกิดร่วมด้วยแน่นอน แต่ขณะที่กำลังเห็น เราไม่ได้คิดถึงความรู้สึกเลย ทั้งๆ ที่ความรู้สึกก็มี เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด ที่จะเริ่มเข้าใจ ลองคิดดู อย่างที่กล่าวถึง เราจะระลึกลักษณะของผัสสเจตสิกหรือ ไม่มีทางเลย แม้แต่สภาพธรรมซึ่งเป็นนามธรรมทั้งหมดทุกประเภท ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นนามธรรม ไม่รู้ว่าเป็นธรรม และไม่รู้ว่าเป็นนามธรรมด้วย

    เพราะฉะนั้นเวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด ต้องเกิดจากความรู้ ความเข้าใจจากการที่เคยฟัง ถ้าไม่มีความรู้ ความเข้าใจจากการที่เคยฟัง ไม่มีทางที่จะเป็นสติสัมปชัญญะ จะเป็นความจงใจ จะเป็นความเป็นตัวตนที่อยากจะรู้ตรงนั้น หรือพยายามที่จะไปรู้ตรงนี้ ขณะนั้นไม่เห็นความเป็นอนัตตาเลยว่า ขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด แล้วสติจะระลึกอะไร เป็นเรื่องของสติที่เกิดแล้วระลึก

    เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังเห็น ไม่มีใครไปบังคับ ไปบอกว่าให้รู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วแต่ว่าขณะนั้นสติจะเกิดระลึกอะไร จะค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ว่าขณะนี้ไม่มีคน แล้วมีสีสันวัณณะ กำลังคิดเรื่องสีสันวัณณะต่างหาก กำลังพูดกับใคร เหมือนกับมีคน แต่กำลังเป็นความคิดที่ทำให้เปล่งเสียงออกมา แล้วก็เข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ขณะนี้ไม่มีคน แต่มีธรรมกำลังปรากฏทางตา จริงหรือเปล่า คือจะต้องรู้ว่า จริง หรือเปล่า ถ้าจริงก็ต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะประจักษ์แจ้งได้

    ผู้ฟัง ขณะที่เห็นก็กล่าวไว้ว่า มีสีเป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ ทำไมต้องกล่าวว่ามีสี ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏนี่แหละ จะเรียกอะไรก็ได้ จะได้ลืมคำว่า “สี” แล้วหันมารู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณค่ะ แล้วจริงๆ แล้วก็ต้องมีเจตสิก ๗ ดวง เกิดร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ เกิดกับจิต ไม่ได้เกิดกับสี

    ผู้ฟัง ทีนี้สติสัมปชัญญะก็สามารถจะเกิดระลึกรู้รูปก็ได้ ถ้าระลึกรู้รูป ก็ต้องเป็นวิถีจิตทางปัญจทวาร เพราะรู้รูป แต่ถ้าเผอิญจะไปรู้ลักษณะของผัสสะ หรือเจตนา ก็ต้องวิถีจิตอื่นที่เป็นทางมโนทวาร อันนี้ตามที่เรียนมา ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ และตามจริงๆ ยังไม่รู้ความต่างของปัญจทวาร และมโนทวาร ก็ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนกว่าปัญญาแทงตลอดเมื่อไร ลักษณะของมโนทวารจึงปรากฏ ก็เป็นการแยกขาดของลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม

    ผู้ฟัง อย่างนี้ที่ดิฉันพูดไป ปัญญาคงไม่แทงตลอด หรือรู้อย่างนั้นได้จริงๆ แต่ที่มาศึกษาเพื่อให้เข้าใจว่าไม่มีเรา แต่เป็นสภาพธรรมอย่างนี้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จนกว่าขณะนี้เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ปัญญาขั้นเจริญสติปัฏฐาน อย่างเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ลักษณะของรูปารมณ์ขั้นเจริญสติปัฏฐาน เราไม่สามารถจะระลึกได้เลยว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงรูปารมณ์ ปัญญาขั้นสติปัฏฐานปรากฏจะระลึกได้แค่ไหนคะ คือฟังแล้วเหมือนเข้าใจ แต่พอไปคิดทั้งคืนแล้ว เราก็ไม่เข้าใจดีเท่าไร อยากให้ท่านอาจารย์อธิบายเรื่องผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน และปัญญาขั้นการฟังกับขั้นเจริญสติปัฏฐาน เป็นแค่ไหน

    ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่ ก็คือติดที่คำ เพราะว่าคนละภาษา กว่าจะรู้ว่า คำนั้นหมายความถึงสภาพธรรมใดจริงๆ ก็ต้องเข้าใจในภาษาที่เราสามารถจะเข้าใจได้ เช่น สงสัยว่า เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน สงสัยตอนนี้ใช่ไหม เป็นผู้มีปกติเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ หรือไม่ ลองเทียบเคียง จะไปมุ่งเข้าใจผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน อยากจะรู้ลักษณะของสติในขณะที่กำลังเป็นปกติ อยากจะเข้าใจ แต่กลับกันใหม่ได้ไหมว่า เป็นผู้มีปกติเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ หรือเปล่า ยังไม่ต้องไปใช้คำที่เราไม่รู้ เช่น สติปัฏฐาน แต่ว่า “เข้าใจ” รู้ได้ใช่ไหม มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และขณะนี้กำลังเป็นปกติ หรือผิดปกติ

    ผู้ฟัง เป็นปกติ

    ท่านอาจารย์ เป็นปกติเพราะอะไร นี่คือความเข้าใจที่ต้องเข้าใจจริงๆ ถ้าเข้าใจจริงๆ แล้วจะตอบทุกอย่างได้ เพราะอะไรจึงว่าเป็นปกติ

    ผู้ฟัง เพราะสิ่งที่ปรากฏ ปรากฏแล้วค่ะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะสภาพธรรมขณะนี้เกิดแล้ว ไม่มีใครไปทำให้ผิดปกติได้เลย มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น ขณะนี้เห็น ปกติ ทำให้ต่างจากปกติได้ไหม และเวลาเห็นแล้ว ต่างคนต่างคิด เป็นปกติ หรือว่าใครไปทำให้ความคิดนั้นผิดปกติไปจากที่กำลังคิด นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การที่จะเข้าใจธรรม ต้องเป็นผู้ละเอียด และรู้ว่า ธรรมเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร และไม่ใช่ใครด้วย เพราะฉะนั้นที่เคยคิดว่าเป็นเรา มีเรา เป็นตัวตนของเราทั้งหมด เป็นความเข้าใจผิด เพราะเหตุว่าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ตามความเป็นจริง เพราะไม่รู้ ไม่ต้องไปคิดเรื่องสติปัฏฐาน ยังไม่ต้องคิดเรื่องสติปัฏฐานเลย เพราะเหตุว่าแม้แต่ขณะนี้กำลังเข้าใจ ก็ไม่รู้ว่ามีสติเกิดร่วมด้วย แล้วจะไปเข้าใจลักษณะของสติปัฏฐานได้ไหม ในขณะที่ยังเข้าใจไม่พอ

    ด้วยเหตุนี้ ไม่ใช่พอเราได้ยินคำหนึ่งคำใด ก็อยากถึง อยากทำ อยากมี โดยไม่รู้ เข้าใจว่ารู้ ผิดหรือเปล่า ผิดใช่ไหม เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็เป็นความรู้ผิด เพราะเข้าใจว่ารู้ แต่ความจริงไม่รู้ ด้วยเหตุนี้จะสนใจกับสติปัฏฐานที่ยังไม่เกิด หรือว่าจะมีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็ฟังเพื่อเข้าใจขึ้น ถ้าตราบใดที่ยังมีความเข้าใจไม่เพียงพอ ไม่ละเอียด จะให้สติปัฏฐานระลึกลักษณะของอะไร เพราะว่าขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับสืบต่อเร็วมากเลย สิ่งใดที่ปรากฏ ซึ่งแต่ก่อนนี้ปรากฏโดยไม่มีความรู้ความจริงของลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ กี่ภพกี่ชาติก็ผ่านไป โดยเห็น ก็เห็นไปเรื่อยๆ แล้วก็ไม่รู้ลักษณะของสภาพที่เห็นเลย กับขณะนี้ที่มีการเห็น ที่จะเข้าใจลักษณะเห็นให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ว่าเห็นที่ทุกคนยอมรับว่ามีจริง ไม่ใช่เรา เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นทำกิจเห็นแล้วก็ดับไป

    นี่คือความเข้าใจที่ต้องมี เพราะฉะนั้นถ้าใครที่ยังไม่เข้าใจอย่างนี้ แต่มุ่งไปหาคนที่จะสอนสติปัฏฐาน แล้วก็บอกว่า ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏให้รู้อย่างนั้น ให้รู้อย่างนี้ ให้จดจ้องที่นั่นที่นี่ ไม่ให้ไปที่ไหน ไม่ให้กลับมาที่นี่ หรืออะไรอย่างนั้น เป็นความรู้เรื่องเห็น หรือเปล่า หรือว่าไม่มีความรู้เรื่องเห็นเลย แต่เตรียมพร้อมที่จะทำ เพราะอยากจะรู้ความจริง หรือเปล่าก็ไม่ทราบของเห็น เพราะเหตุว่าเมื่อเป็นความรู้ ต้องเป็นปัญญา ต้องเป็นความเข้าใจตามลำดับขั้น ตั้งแต่ในขั้นของการฟัง ถ้าในขั้นของการฟังยังไม่มั่นคง สติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติอีกระดับหนึ่งก็เกิดไม่ได้ จะไปรู้คำแปล จะไปรู้ว่า ขณะนี้สิ่งที่มีจริง เป็นสิ่งที่สติสามารถที่จะตามรู้ หรือรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ ก็ไม่สามารถเข้าใจอย่างนี้ เพราะเหตุว่ามีความเป็นตัวตนที่ต้องการจะทำให้เห็น แต่ไม่ใช่เป็นการระลึกได้ และรู้ว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ การฟังให้เข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ พอหรือยัง หรือยังจะต้องฟังอีก และในขณะที่ฟังเข้าใจเมื่อไร ขณะนั้นสติเกิดร่วมกับปัญญาระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่มีปัญญาระดับนี้ จะไม่มีปัจจัยที่จะทำให้มีการสามารถเข้าถึงลักษณะของธาตุรู้ที่กำลังเห็นในขณะนี้เลย

    เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่อยากจะปฏิบัติ อยากจะรู้ว่า ขณะที่สติปัฏฐานเกิด มีลักษณะอย่างไร จะได้ไปทำให้เป็นลักษณะอย่างนั้น แต่ว่าการที่ได้ฟัง ยิ่งฟังก็เริ่มเข้าใจ ก็จะค่อยๆ ละความไม่รู้ ซึ่งยากไหมที่จะละความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ เพราะเหตุว่าไม่เคยได้ยินได้ฟังลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะว่าฝืนกับความคิดที่เคยไม่รู้ และเคยยึดถือสิ่งปรากฏทางตาว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีจริงๆ อย่างมั่นคง เช่น มีคนในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็ยังไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงโดยละเอียด ถึงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นความจริงแต่ละลักษณะ จนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจขึ้น และขณะใดที่เข้าใจ เป็นปกติไหม

    ผู้ฟัง เป็นปกติ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังเข้าใจเดี๋ยวนี้เป็นปกติ แต่ยังไม่ถึงระดับที่สติสัมปชัญญะเกิด และเข้าใจลักษณะของธาตุรู้ หรือสภาพเห็นที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานก็คือ สติอีกระดับหนึ่งที่อาศัยการฟังเข้าใจปรุงแต่ง ทำให้ขณะนี้รู้ได้ ว่ามีสิ่งที่ปรากฏ และยังไม่คิดอะไรเลย เพราะว่าขณะนั้นกำลังรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังเห็น นี่ต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ เพราะว่าเห็นโดยไม่รู้มานานแสนนาน ทุกวิชาต้องอาศัยกาลเวลาไหม แม้แต่ภาษา จะเรียนภาษาอะไรก็ตาม ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ก็มีเสียงทั้งนั้นเลย แต่เสียงที่ต่างๆ กันไป ถ้าไม่มีการค่อยๆ เข้าใจลักษณะที่ต่างกันของเสียงนั้น สามารถจะเข้าใจความหมายของเสียงนั้นได้ไหม นี่คือเรื่องทางโลก แต่เรื่องของสภาพธรรม มีธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่ ค่อยๆ ชิน ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจว่า สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น สามารถที่จะคลายอัตตานุทิฏฐิ คือ การเห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาได้ไหม

    นี่ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนเป็นผู้ตรง ที่จะรู้ว่า การเข้าใจธรรมคืออย่างนี้ คือ รู้ว่าอะไรเป็นธรรมที่สามารถจะปรากฏ แล้วปรากฏได้ทางไหน เพราะขณะนี้ถ้าไม่มีตา คือ จักขุปสาท เห็นไม่มี สิ่งที่ปรากฏขณะนี้ไม่มี แต่ทางใจคิดได้ แม้ไม่เห็น คนตาบอดก็คิดได้ แต่เห็นไม่ได้ เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาจริงๆ ก็คือเป็นธาตุ หรือเป็นธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งถ้ารู้เมื่อไร ประจักษ์แจ้งเมื่อไร ก็ไม่มีเรา ไม่มีคน ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดในสิ่งที่ปรากฏทางตา และคำที่เราฟังมาจนชิน “ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา” เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน หรือเปล่า สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้เป็นอะไร เป็นคน เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ หรือเป็นสิ่งที่ปรากฏ กว่าเราจะเข้าใจจริงๆ และอบรมเจริญปัญญาที่จะไม่ลืมการศึกษา เหมือนภาษาหนึ่งภาษาใด กว่าจะชินที่จะเข้าใจในเสียงนั้นได้ถูกต้อง ก็คือมีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ยังไม่ชินเลย ยังไม่ได้ศึกษา เหมือนเสียง ใครพูดภาษาอื่นที่เราไม่เข้าใจ เราก็ไม่ได้ศึกษา เพราะฉะนั้นจะให้เราไปรู้ความหมาย เข้าใจความหมายของเสียงนั้นก็ไม่ได้ ฉันใด สิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้ายังไม่มีการศึกษา คือ การเริ่มที่จะน้อมไปเข้าใจ ไม่ใช่ตัวเราพยายามไปน้อมให้โค้งไปที่จะเข้าใจ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่การฟังเข้าใจกำลังน้อมไปสู่ความเห็นที่ถูกต้องว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ คืออย่างนี้ และเมื่อไหร่ที่เริ่มค่อยๆ เข้าใจขึ้น ขณะนั้นก็จะรู้ว่า ขณะนั้นเราจะไม่รู้ว่า สติเกิดแล้ว เพราะเหตุว่าขณะนั้นกำลังมีความเข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏ ถ้าสติไม่เกิด ไม่มีการรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ ความเห็นถูกก็เจริญไม่ได้

    เวลาที่เห็นแล้วไม่รู้ มีได้ใช่ไหม แล้วเวลาที่ เห็นแล้วรู้ เวลาที่อกุศลจิตเกิด ก็จะมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยหลายประเภท ฉันใด เวลาที่กุศลจิต หรือจิตที่ดีงาม โสภณจิตเกิด ก็จะมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทำกิจการงานพร้อมกับจิตในขณะนั้น เร็วมาก เท่ากับการเกิดดับของจิต เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน เพราะฉะนั้นขณะที่เห็นแล้วไม่รู้ กับขณะที่เห็นแล้วรู้ เร็ว หรือช้า ต่างกัน หรือเปล่า รวดเร็วอย่างไรก็อย่างนั้น แต่ว่าเมื่อมีเพียงเล็กน้อย ความเข้าใจนั้นยังไม่มั่นคง ยังไม่มากพอ เพียงแต่ว่าเมื่อเริ่มมีความเข้าใจ ก็รู้ว่าขณะนั้นมีลักษณะที่ไม่เคยสนใจ ไม่เคยใส่ใจ ไม่เคยเข้าใจ แต่ก็กำลังปรากฏ และเวลาที่เริ่มจะเข้าใจลักษณะนั้น ก็จะเข้าใจความหมายของคำว่า “ไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ” เพราะเหตุว่าปกติธรรมดา พอเห็นแล้วไม่รู้ ก็ติดในนิมิต คือ สิ่งที่ปรากฏ เข้าใจว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีจริง และเที่ยง และก็ไม่ดับด้วย ยังคงเป็นคนที่นั่งอยู่ และไม่ปรากฏว่าดับไปเลย นี่คือการติดในนิมิตอนุพยัญชนะ แต่ขณะใดที่เริ่มเข้าใจ แม้เริ่มเข้าใจว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นไม่ได้สนใจ ชั่วขณะนั้นไม่ได้สนใจในนิมิตอนุพยัญชนะ และจะรู้ว่า การที่จะละคลายความติดข้องในนิมิตอนุพยัญชนะ เพราะมีความรู้เพิ่มขึ้นว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เคยเป็นอะไรมาก่อนก็ตามแต่ ถ้าเข้าใจถูกต้องว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ต่างกันไหม ความรู้ความเข้าใจว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ละคลายความที่จะไปจำว่า เป็นคนที่เที่ยง ยั่งยืน มีสัตว์ มีบุคคล ในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นกว่าจะมีความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ก็ไม่ใช่ว่าเราไปมีความเข้าใจคำแปลของคำว่า “สติปัฏฐาน” โดยที่ไม่รู้ว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏ และความเข้าใจต้องเริ่มจากการฟังเข้าใจ

    ผู้ฟัง กราบขอบพระคุณอาจารย์มาก ได้ฟังอาจารย์วันนี้ก็พอเข้าใจขึ้นมาบ้าง

    ท่านอาจารย์ สะสมความไม่รู้ สะสมความไม่เข้าใจในสิ่งที่ปรากฏมานาน พอเริ่มที่จะเข้าใจนิดหนึ่ง นิดเดียว แล้วก็เคยมีการสะสมความไม่เข้าใจ ความไม่เข้าใจนั้นก็ต้องมีโอกาสเกิดมากกว่า จนกว่าความเข้าใจนั้นจะมั่นคง

    ด้วยเหตุนี้ ลองพิจารณาว่า ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิตเกิดแล้ว ดับไปแล้วก็จริง แต่เป็นปัจจัยสะสมสืบต่อที่จะทำให้มีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แม้เป็นเรื่องเดิม คำเดิม เหมือนเมื่อวานนี้ทุกอย่าง แต่ความเข้าใจก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น นี่เป็นการสะสมความรู้ความเข้าใจ ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้าจะกล่าวถึงชีวิตประจำวันของคนทั่วๆ ไป บางขณะเป็นกุศล บางขณะเป็นอกุศล ก็สะสมเป็นปัจจัย ทั้งฝ่ายกุศล และอกุศล คือ สะสมทั้ง ๒ อย่าง แต่สำหรับความเข้าใจที่จะทำให้สามารถออกจากสังสารวัฏฏ์ เพราะมีความเห็นถูก เป็นโพธิปักขิยธรรม เป็นธรรมฝ่ายการตรัสรู้ คือ รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ใช้คำว่า “เจริญ” เพราะเหตุว่าแม้กุศลทั่วๆ ไป ธรรมดาก็สะสมไป แต่ยังไม่ได้อบรมเจริญความเห็นถูก สติปัฏฐานก็จะต้องมีสิ่งที่กำลังปรากฏ และสติซึ่งเป็นสติปัฏฐานก็คือ สัมมาสติที่เกิดร่วมกับสัมมาทิฏฐิในขณะที่กำลังเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ขณะนี้เป็นการเจริญโพธิปักขิยธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายที่จะดับทั้งกุศล และอกุศลที่ได้สะสมมา

    ผู้ฟัง กราบขอบพระคุณอาจารย์มาก

    ท่านอาจารย์ และเจริญได้แค่ไหน ใครรู้ ตัวเองรู้ เพราะเป็นความเข้าใจถูก ไม่ใช่ความเข้าใจผิด

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์บอกว่า เราเรียนธรรมเหมือนกับเรียนวิชาอื่นที่ต้องพยายามทำความเข้าใจ คือ ถ้าไม่เข้าใจแล้วเราใช้ความพยายามจำแล้วทำความเข้าใจ ก็ยังง่าย แต่ธรรมนี่ เราก็เห็น เราก็ได้ยิน เราก็คิดนึกอยู่อย่างนี้ แต่ความเข้าใจขั้นฟัง หรือขั้นจำได้ ก็ไม่ยากเท่าไร แต่ขั้นที่จะรู้จริงๆ ว่า เห็นเป็นธรรม แล้วเกิดดับตามเหตุปัจจัย แล้วก็ได้ยิน ดูเหมือนยากมากๆ เลย

    ท่านอาจารย์ มิฉะนั้นจะต้องมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วมีพระสาวกไหม ถ้าใครๆ ก็เข้าใจได้ง่ายๆ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องฟังให้มากกว่าเรียนวิชาการอื่นๆ ทางโลกมาก

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะว่าธรรมตรงกันข้ามกับทางโลก ทางโลกเป็นฝ่ายได้ เป็นฝ่ายเอา เป็นฝ่ายติดข้อง แต่ธรรมทั้งหมดเป็นเรื่องละ ทุกอย่างที่เคยติดมาทั้งหมด ถ้าเข้าใจธรรม มีความเห็นถูกแล้ว ก็ละความเห็นผิด จนกระทั่งประจักษ์แจ้งความจริง ก็คือสามารถจะละคลายจนกระทั่งดับการยึดถือสภาพธรรมด้วยความเข้าใจผิด ด้วยความไม่รู้

    ผู้ฟัง การที่เราจะเข้าใจธรรมยาก ก็ต้อง “จิรกาลภาวนา” และบ่อยๆ เนืองๆ

    ท่านอาจารย์ ก็เข้าใจซาบซึ้งเลย ได้ยินคำไหนในพระไตรปิฎก ก็เข้าใจซาบซึ้ง จิรกาลภาวนา ซาบซึ้งถึงบุคคลที่ได้เฝ้าพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมในขณะนั้น ได้เห็นศรัทธาของสุเมธดาบส ได้ฟังคำพยากรณ์แล้วปีติที่ว่า ถึงแม้จะไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมในสมัยของพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ร่าเริงเบิกบานที่มีโอกาสสามารถเข้าใจถูก เห็นถูกในสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต่อๆ ไป บุคคลในครั้งนั้นกำลังเฝ้า กำลังฟัง ได้รับฟังคำพยากรณ์ รู้สึกปีติยินดี ที่มีโอกาสจะได้ฟัง และรู้แจ้งสภาพธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    12 มี.ค. 2567