พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 323


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๒๓

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐


    ผู้ฟัง ทีนี้ท่านอาจารย์กล่าวอย่างนี้ก็เข้าใจ แต่ว่าจริงๆ แล้ว จะเป็นว่ามีเรา ที่ไปศึกษา และจำเรื่องราวที่ฟัง ไม่ยอมรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทั้งๆ ที่เห็น ได้ยิน ท่านอาจารย์ก็กล่าว แต่ว่าฟังแล้วเหมือนไม่รู้ตรงนั้น แล้วก็เป็นเราเห็น เราได้ยิน อยู่อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ คนเราเหมือนกันไหม

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ ต่างกันที่ไหน

    ผู้ฟัง ปัญญา

    ท่านอาจารย์ แล้วปัญญามาจากไหน

    ผู้ฟัง ปัญญาก็มาจากการฟังให้เข้าใจ แล้วพิจารณาไตร่ตรอง

    ท่านอาจารย์ แล้วปัญญาจะเท่ากันไหม ถ้าอบรมมาไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน

    ผู้ฟัง ไม่เท่ากัน

    ท่านอาจารย์ เหตุไม่มี ถ้าสามารถที่ขณะนี้ อย่างท่านอุคคฤหบดีสามารถประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรม และรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นโสดาบัน เป็นพระสกทาคามีบุคคล เป็นพระอนาคามีบุคคล น่าอัศจรรย์ปัญญาของบุคคลที่สามารถที่จะรู้ความจริงของธรรมที่ปรากฏเมื่อได้ฟัง กับผู้ที่ฟังแล้ว สภาพธรรมก็ปรากฏ แต่กว่าจะค่อยๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย โดยการรู้ว่า จริงไหมที่ได้ฟัง จริง หรือเปล่า พูดเรื่องสิ่งที่ไม่มี หรือพูดเรื่องสิ่งที่มี แต่ไม่เคยรู้มาก่อนเลย ว่าความจริงแล้วเป็นธรรม หรือเป็นธาตุแต่ละลักษณะ แต่มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป ไม่เหลืออะไรเลย ก็ยังหลงยึดถือ เพราะความไม่รู้ว่าเป็นเรา

    เพราะฉะนั้นถ้ามีปัญญาขั้นเริ่มฟัง เริ่มเข้าใจ จะไปถึงประจักษ์แจ้งการเกิดดับของสภาพธรรมในขณะนี้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ ทีนี้คือดูแล้ว อวิชชามากกว่า ปัญญาน้อยมาก ก็ต้องฟังบ่อยๆ เนืองๆ แล้วก็ตั้งใจฟัง และพิจารณาไตร่ตรองจนกว่าสังขารขันธ์จะทำหน้าที่ของเขาอย่างนั้น หรือ

    ท่านอาจารย์ ใช่ ต้องมีเหตุที่สมควรของปัญญาแต่ละขั้น ถ้าขณะนี้ไม่มีการเข้าใจจากการฟัง ต่อไปจะเข้าใจอะไรได้ หรือไม่ แม้ว่าจะไปอ่านตำราสักกี่เล่มก็ตาม แต่ไม่รู้ว่าขณะนี้เป็นจิต และสภาพธรรมที่มีจริงๆ ก็คือ นามธรรม และรูปธรรม มีทั้งจิต ทั้งเจตสิก ทั้งรูปซึ่งไม่ใช่เรา ต้องอบรมสัจญาณ ความมั่นคงที่จะเข้าใจถูกต้องว่า เป็นธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จนกว่าจะประจักษ์แจ้งจริงๆ แต่ปัญญาต้องเจริญขึ้นจากขณะที่ฟัง

    ผู้ฟัง เมื่อครู่นี้ท่านอาจารย์อธิบายวิถีจิต ก็ทำให้เห็นว่า จิตก็เกิดดับตามเหตุตามปัจจัย เช่น อนันตรปัจจัย ดวงนี้ดับ ดวงต่อไปเกิด เพื่อให้เห็นว่า ไม่มีตัวเราจริงๆ เป็นอนัตตาจริงๆ เราต้องเข้าใจอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจ หรือเข้าใจในขณะที่ฟังว่าเป็นอย่างนี้

    ผู้ฟัง ก็เข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ท่านอาจารย์ เข้าใจ ก็คือปัญญาระดับหนึ่งที่จากการที่ไม่เคยฟังเลย ก็ไม่เคยรู้ว่า เป็นจิตซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว ทำให้หลงยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นเราต้องมั่นคงว่า ปัญญาจากการฟังขั้นรู้เรื่องราวของลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ บารมีมี ๑๐ สัจบารมี อธิษฐานบารมี อธิษฐานบารมีต้องไปอธิษฐานที่ไหน หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ต้อง

    ท่านอาจารย์ เป็นความมั่นคงของความจริงใจที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เมื่อรู้ว่า เป็นสิ่งที่มีจริง และความจริงเป็นอย่างนั้น ความจริงคือไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นก็มีความอดทน มีวิริยเจตสิกซึ่งเป็นวิริยบารมี ที่มีความมั่นคงที่จะฟังแล้วพิจารณาเข้าใจขึ้น จนกว่าจะประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นเราต้องมั่นคงว่า ฟัง เข้าใจขั้นเรื่องราวของลักษณะของสภาพธรรม จะทำให้เป็นเหตุปัจจัยให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจจริงๆ แล้ว จะเปลี่ยนเป็นไม่เข้าใจได้ไหม จะเปลี่ยนเป็นความเห็นผิด การไปทำสิ่งผิดๆ ได้ไหม ในเมื่อรู้ว่า นั่นไม่สามารถทำให้รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ แม้การอบรมปัญญาในขั้นการฟังหมายความว่า ต้องมีปัญญาเข้าใจลักษณะในขั้นการฟังด้วย หรือไม่ คือถ้าเทียบเคียงกับอบรมเจริญสติ ที่ระลึกในลักษณะของสภาพธรรม คือ การอบรมเจริญ ก็ต้องรู้ความต่างกันระหว่างขณะที่สติเกิดกับหลงลืมสติ ก็ลองคิดเทียบเคียงกับขณะที่แม้ขั้นการฟัง คือ การที่จะอบรมเจริญ หมายความว่า ต้องรู้ลักษณะของความเข้าใจ หรือปัญญาในขั้นการฟังด้วยไหม

    ท่านอาจารย์ ฟังเพื่อเข้าใจ หรือจะให้สติปัฏฐานเกิด เพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ผู้ฟัง ก็เพื่อเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง

    ท่านอาจารย์ เพื่อเข้าใจ เพราะเหตุว่าถ้ายังไม่เข้าใจจนถึงขั้นที่สามารถจะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจได้

    เพราะฉะนั้นในขณะที่ฟัง ไม่คิดถึงสติปัฏฐาน ไม่คิดถึงนิพพาน ไม่คิดถึงการละกิเลส เพราะเหตุว่าตัวตนละไม่ได้ ปัญญาเท่านั้นที่สามารถละกิเลสได้ แต่ถ้าไม่มีปัญญา พยายามหาทางใดๆ ที่จะละกิเลส หรือที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็เป็นไปไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นฟัง เพื่อละความต้องการที่อยากจะถึง หาหนทาง เมื่อไรจะทัน หรืออะไรก็แล้วแต่ ให้รู้ว่า เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ต้องมีความเข้าใจตามลำดับขั้นจริงๆ คือ ขณะนี้มีความเข้าใจแค่ไหน ก็เป็นผู้ที่ตรงว่า ขณะนี้กำลังพูดถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา มีจริงๆ และจะรู้ว่า เป็นเพียงธาตุ หรือธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเพียงปรากฏ ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีสิ่งใดที่เป็นตัวตนในสิ่งที่ปรากฏเลย

    เพราะฉะนั้นการที่จะแยกการจำอย่างรวดเร็วว่า กำลังเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นการรู้ความจริงว่า เห็นสิ่งที่ปรากฏ พอจะเป็นไปได้ไหม เพียงแค่มีสิ่งที่ปรากฏ แล้วเริ่มที่จะเข้าใจว่า เพียงเห็นสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ก็เข้าใจว่า ขณะที่มีความเข้าใจ ก็จะมีความรู้ว่า มีความเข้าใจด้วย

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ว่ากำลังเห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เป็นความเข้าใจขั้นฟัง แต่จริงๆ สิ่งที่ปรากฏยังเป็นคนหนึ่งคนใดอยู่เสมอ ก็แสดงให้เห็นว่า กว่าปัญญาจะอบรม จนกระทั่งคลายการมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดในสิ่งที่ปรากฏ

    พระโสดาบันจะมีการเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติ ลองคิดดู ในสังสารวัฏฏ์ที่เกิดดับนานแสนนานมาแล้ว พระพุทธเจ้าเองทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัปบ้าง ๘ อสงไขยแสนกัปบ้าง ๑๖ อสงไขยแสนกัปบ้าง แล้วเราขณะนั้นอยู่ที่ไหน กว่าที่จะสามารถฟังเข้าใจว่า จริงๆ แล้วทุกอย่างที่เป็นธรรม มีลักษณะเฉพาะตน ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริง เป็นรูปที่กระทบจักขุปสาท เกิดแล้วดับ แม้ขั้นฟัง จริง หรือเปล่า ถ้าจริง อบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจในขณะที่กำลังเห็น ว่าขณะนี้ไม่มีคน ไม่มีอะไร แต่มีสิ่งที่ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ แม้เป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ ก็หลายวาระ เพราะว่าจะต้องมีเพียงสิ่งที่สามารถกระทบจักขุปสาทปรากฏ แล้วก็ดับไป นับวาระไม่ได้ ไม่มีใครไปนั่งนับวาระ เพราะว่าเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่การที่เคยจำว่ามีคน ในขณะที่กำลังเห็น ถูก หรือผิด มั่นคงพอที่จะเข้าใจในความหมายของคำว่า “อนัตตา” เป็นธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นธรรมอย่างหนึ่งซึ่งปรากฏได้ทางตา

    นี่คือ การอบรมเจริญปัญญาด้วยความเป็นผู้ตรง ขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้นสติมีไหม ปัญญามีไหม กำลังมีสิ่งที่สติกำลังรู้ และปัญญากำลังเข้าใจไหม

    เพราะฉะนั้นก็จะเข้าใจหนทาง คือ สติปัฏฐาน ว่าไม่ใช่ชื่อที่เราเอาไปปฏิบัติ ชักชวนให้ทำ แต่เป็นการที่จะอบรมเจริญปัญญาของตนเองจากการฟัง ซึ่งเป็นผู้ที่ละเอียด เพราะว่าผู้ที่ทรงธรรม ต้องเป็นผู้ที่เห็นความลึกซึ้งของธรรม ถ้าคิดว่าธรรมไม่ลึกซึ้งเลย พูดว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ไม่ได้เข้าใจจริงๆ ในความลึกซึ้งว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้ากล่าวว่าเป็นธรรม และเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นคนไม่ได้ เป็นอะไรก็ไม่ได้ เป็นได้อย่างเดียว คือ ธาตุที่สามารถกระทบจักขุปสาทแล้วปรากฏ

    เพราะฉะนั้นก็จะเข้าใจว่า ในชีวิตประจำวันอยู่ในโลกของความคิดนึก และความจำ จากสิ่งที่ปรากฏทางตา สั้นมาก ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย สั้นๆ ทั้งนั้น แต่ความคิดที่เกิดสืบต่อแต่ละขณะ ทำให้เป็นสิ่งที่เหมือนไม่ดับเลย และเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะคิด ก็คิดถึงคน จำ ไม่ได้รู้เลยว่า ขณะนั้นเป็นสภาพที่เพียงคิดเพราะจำ ถ้าไม่จำ ก็คิดถึงสิ่งนั้นไม่ได้เลย

    ด้วยเหตุนี้การฟังธรรม จึงต้องเป็นผู้ที่ละเอียด เมื่อเป็นผู้ละเอียด ผู้นั้นจะเป็นผู้ทรงธรรม สามารถจะเข้าใจธรรมได้

    ผู้ฟัง เรียนขยายความ คำว่า “ทรงธรรม”

    ท่านอาจารย์ มีความเข้าใจธรรมที่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง คือการเห็น เมื่อเห็นแล้ว จิตก็ต้องมีชอบ และไม่ชอบ ตรงนี้เหมือนระลึกไม่ถูกว่า คือ จิตเห็นแล้วไม่ชอบ ก็ระลึกต่อไปว่า จิตนี้ทำไมไม่ชอบ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ระลึก คิด

    ผู้ฟัง ก็จะคิดอย่างนี้ไปเรื่อย

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นขั้นคิด เราคิดอะไรก็ได้ เมื่อมีปัจจัยที่จะคิด คิดก็เกิด ถ้าไม่คิดเรื่องจิต คิดเรื่องอื่น หรือเปล่า

    ผู้ฟัง คิดเรื่องอื่น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคิดอะไรได้หมด แต่จิตคิด ก็เป็นเพียงจิตที่คิดไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง และเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว เมื่อรู้ว่าไม่ชอบ ก็ให้จิตรู้ว่า ไม่ชอบ อย่างนั้น หรือ

    ท่านอาจารย์ กำลังจะทำ หาหนทาง หาคำแนะนำ หากฎเกณฑ์ หาวิธี เข้าใจ หรือเปล่า ว่า คิด บังคับไม่ได้ ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่เรา เป็นนามธาตุ เป็นนามธรรม แค่นี้ เข้าใจตรงนี้ โลภะเกิดขึ้น บังคับได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วจะบังคับ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่บังคับ

    ท่านอาจารย์ หาวิธีอะไร

    ผู้ฟัง ก็พยายามจะระงับ

    ท่านอาจารย์ กำลังพยายามระงับ ก็คือเรา อนัตตา ไม่อยู่เลยในความจำ ได้ยินแล้วก็ผ่านไป เข้าใจความหมายว่า อนัตตาไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน แต่ว่ากำลังพยายามนั่น ใคร

    ผู้ฟัง คือความอยากได้ ความอยากจะรู้

    ท่านอาจารย์ เป็นปัญญา หรือไม่ ในขณะนั้น

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ แล้วจะไปอยากทำไม

    ผู้ฟัง ก็พยายามให้รู้อยู่เรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะสำเร็จได้เพราะความพยายามอย่างนั้น หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วไปพยายามทำไม

    ผู้ฟัง เป็นไปเอง

    ท่านอาจารย์ เป็นไปเอง เพราะไม่รู้ เพราะฉะนั้นความไม่รู้มากไหม ฟังแล้วรู้บ้างไหม ว่าเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง รู้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นอนัตตา ก็คือขณะนี้มีธรรมเกิดแล้วทั้งหมด ไม่ต้องพยายามทำอะไรเลยทั้งสิ้น ถูก หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถูก

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้นก็คือฟังให้รู้สิ่งที่ปรากฏเพราะเกิดแล้ว เท่านั้นเอง ไม่ใช่ให้ไปทำอะไร

    ผู้ฟัง สิ่งที่จะรู้ ไม่จำเป็นต้องไปรู้ชื่อ ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ชื่อ ภาษาอะไรดี

    ผู้ฟัง อย่างเช่น ทางตาเห็นรูปอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็น มีจริงๆ

    ผู้ฟัง และก็เห็นขณะสั้นๆ นิดเดียว

    ท่านอาจารย์ ตามความจริง สั้นนิดเดียว หรือยัง

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วไม่เข้าใจว่า สั้นนิดเดียวขนาดไหน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งไปถึงตอนอื่น แต่ให้ทราบความเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา แม้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน จริงๆ ที่เราคิดว่าเราเห็นคนนั้นคนนี้ หรือเปล่า แยกลักษณะของสิ่งที่เพียงปรากฏทางตาออก เมื่อไหร่ เริ่มเข้าใจความหมายของคำว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เวลานี้ปนกันแล้ว ใช่ไหม เพราะความเข้าใจของเราไม่มากพอที่จะเข้าใจถูกว่า ในขณะนี้สิ่งนี้ที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องขณะอื่นเลย ให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า เป็นเพียงสภาพที่ปรากฏทางตา ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ค่อยๆ คลายการยึดมั่นว่า มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดในสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือยัง เพียงแต่เริ่ม

    เพราะฉะนั้นปัญญาเจริญโดยการเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ การอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่ขณะอื่น ไม่ใช่พยายามไปเพ่ง ไปจ้อง ให้เห็นอะไร แต่สิ่งที่กำลังเผชิญหน้าขณะนี้ เมื่อไรจะรู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรมลักษณะหนึ่ง ซึ่งสามารถปรากฏให้เห็นได้

    เพราะฉะนั้นเรื่องราวต่างๆ มากมาย เป็นคน เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น โดยไม่รู้ว่า เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่เป็นอะไรเลย แต่เป็นสิ่งที่ปรากฏ แล้วสัญญา ความจำก็จำรูปร่างสัณฐาน จำเรื่องราว จำทุกอย่าง โดยไม่รู้ความจริงว่า ในขณะที่จำเป็นเรื่องราวต่างๆ ไม่ใช่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถเห็นความเป็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ การอบรมเจริญปัญญา ไม่ลืม ปัญญา ไม่ใช่ให้ไปทำอะไรเลย ฟังเข้าใจจนกระทั่งขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ แล้วค่อยๆ เข้าใจถูกในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่ที่ยากเพราะอะไร ไม่ใช่มีแต่เฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตา คิดนึกมีแล้ว ได้ยินมีแล้ว เร็วจนกระทั่งไม่มีปัจจัยพอที่จะเข้าใจถูกต้องว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่ถ้าฟังบ่อยๆ มากเข้า ค่อยๆ เข้าใจ ก็ลองคิดดูว่า วันหนึ่งๆ เราคิดเรื่องราวต่างๆ มากมาย โดยไม่ได้คิดเลยว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นลักษณะนี้ เป็นธรรมชนิดหนึ่ง แม้คิดยังไม่คิด ทั้งๆ ที่ฟัง แต่ว่าคิดเรื่องอื่นหมด ก็แสดงให้เห็นถึง การสะสมความจำในอัตตา สภาพที่เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดหนาแน่นมากขนาดไหน กว่าปัญญาจะค่อยๆ เข้าใจความหมายของอนัตตา แยกออกเป็นแต่ละสภาพธรรมซึ่งปรากฏได้แต่ละทาง ซึ่งสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ ไม่ปรากฏทางหู นี่ก็ชัดเจนอยู่แล้ว เพียงแค่หลับ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ไม่ปรากฏได้เลย ขณะที่กำลังได้ยิน ถ้าหลับตาก็ไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏ แต่เมื่อลืมตา ก็มีทั้งสิ่งที่ปรากฏทางตา และก็มีทั้งเสียง ซึ่งรวมกันแล้ว ก็ต้องเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ยังไม่รู้ว่า เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างจริงๆ

    ด้วยเหตุนี้การฟังธรรม ฟังเพื่อเข้าใจถูกในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จนกระทั่งมั่นคงเป็นสัจญาณ ไม่ทิ้ง ไม่ละการเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ มิฉะนั้นก็จะมีความเป็นเรา ไม่สนใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่า เป็นธรรม แต่มุ่งจะไปทำอย่างอื่น และยังคงไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือสิ่งที่ปรากฏทางหู

    เพราะฉะนั้นชีวิตประจำวันเป็นการเกิดดับของสภาพธรรมอย่างรวดเร็วเกินประมาณ แต่ที่รู้ได้ว่ารวดเร็วแค่ไหน ก็คือว่า เพียงเห็น ก็ไม่รู้แล้ว เมื่อเห็นแล้ว ดับแล้ว แต่ว่ามีการคิดนึกสืบต่อทันทีอย่างรวดเร็ว

    ด้วยเหตุนี้สติปัฏฐานทั้งหมดทุกบรรพ เป็นเพียงอาศัยระลึก พอระลึกแล้วก็ดับแล้ว แล้วสติสัมปชัญญะก็ระลึกลักษณะของสิ่งที่ปรากฏต่อไป

    นั่นแสดงว่าสามารถเข้าถึงความความเป็นธรรมของสภาพธรรมแต่ละลักษณะจริงๆ จึงสามารถไม่ติดข้อง ไม่สงสัยในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง เมื่อเห็นสิ่งที่ปรากฏแล้ว จิตก็ต้องคิดนึกไป แล้วมารู้สภาพที่คิดนึกอีก

    ท่านอาจารย์ เป็นความจริงใช่ หรือไม่ ก็ไม่ต้องทำอะไร ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นคิดนึก

    ผู้ฟัง แค่รู้ขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ แค่รู้ขณะนั้นว่าอย่างไง เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่เราที่คิด ทั้งหมดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา ไม่ว่าจะคิด ไม่ว่าจะเห็น ไม่ว่าจะจำ ไม่ว่าจะชอบ ไม่ว่าจะโกรธ ไม่ว่าจะสุข ไม่ว่าจะทุกข์ ทุกอย่างเป็นธรรม และกว่าปัญญาจะรู้จริงๆ ก็ต้องอาศัยกาลเวลา มิฉะนั้นจะเป็นผู้ที่จะเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติไม่ได้ เพราะว่าไม่ได้รู้เลย ไม่ได้คลายความติดข้องในวัฏฏะ ในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วจะไปเกิดอีกเพียง ๗ ชาติได้อย่างไร

    ผู้ฟัง คืออยากจะให้อาจารย์แนะนำอะไรเล็กๆ น้อยๆ คือฟังในเอ็มพี ๓ อาจารย์ก็กล่าวไว้ว่า ด้วยปัญญาของตัวเอง อันนี้ก็เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ แล้วอย่างไร แนะนำเล็กๆ น้อย ก็กำลังพูดถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง ก็เป็นสิ่งที่อยากจะได้อีก

    ท่านอาจารย์ อยากได้อะไรอีก

    ผู้ฟัง ก็ไม่คิดอยากจะได้แล้ว เพราะว่าฟังอาจารย์ก็พยายามค่อยๆ ระลึกรู้ขณะที่เกิดทีละเล็กทีละน้อย

    ท่านอาจารย์ เข้าใจ เมื่อไรที่ไม่เข้าใจก็แสดงว่า ต้องฟังจนกว่าจะมีการเริ่มเข้าใจ น้อยมาก เพราะว่าเราสะสมมานานแสนนาน นับไม่ถ้วนเลย แล้วจะให้เพียงแค่ฟังอย่างนี้สามารถไปเห็นถูกได้ ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม ไม่เร็วไป หรือไม่ เหตุกับผลตรงกัน หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ตรง

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องเป็นผู้รู้ตัวเอง เข้าใจ หรือไม่เข้าใจ หลงลืมสติ ของธรรมดา มีปัจจัยอะไรที่จะให้สติเกิดบ่อยๆ เพราะว่าปัจจัยที่จะให้หลงลืมสติ พร้อม มาก รวดเร็ว เพราะฉะนั้นก็เริ่มเข้าใจถูก สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ซึ่งขณะที่เห็นถูก ก็ละความติดข้อง ไม่มีอะไรที่จะละโลภะ หรือความติดข้องได้ นอกจากปัญญา เพราะไม่รู้จึงติดข้อง เมื่อไรเริ่มรู้ ก็คลายความติดข้อง กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ คลายความติดข้องว่า กำลังเห็นอยู่ขณะนี้ เป็นใคร สิ่งหนึ่งใด ในสิ่งที่ปรากฏ หรือยัง คลายก่อน ด้วยการรู้ในขณะที่กำลังปรากฏ แต่ไม่ใช่พอบอกแล้วก็จะคลายเลย ช่วยกันคลายเลย เวลานี้ไม่มีใครในสิ่งที่ปรากฏ นั่นคือหลอกตัวเอง เพราะว่าไม่รู้ลักษณะของสติ และปัญญา มีความเป็นเราที่จะทำ

    เพราะฉะนั้นก็ไม่สามารถไถ่ถอนความเป็นเราได้ จากแม้ความคิด หรือความเพียร หรือสภาพธรรมทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง ชีวิตจะอยู่ได้อย่างไร ถ้าไม่คิดแล้วไม่มีความหวัง

    ท่านอาจารย์ ใครบอกให้ไม่คิด มีใครบอกให้ไม่คิดบ้าง ในพระไตรปิฎกมี หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แล้วพูดเรื่องไม่ให้คิดได้อย่างไร ในเมื่อไม่จริง ไม่ใช่คำจริง ห้ามคิดไม่ได้

    ผู้ฟัง แต่ตอนที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เราก็คิดว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็ไปคิด

    ท่านอาจารย์ ทุกคน จนกว่าจะฟังธรรม เริ่มพิจารณาเข้าใจว่า ลักษณะของคำว่า “สิ่งที่ปรากฏทางตา” เป็นคำที่เลื่อนลอยไร้ความจริง หรือความจริงของสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นจริงแค่นี้ ไม่เป็นจริงมากกว่านี้เลย ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดในสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นธาตุที่สามารถกระทบจักขุปสาท กระทบกายไม่ได้ กระทบหูไม่ได้ สีสันวัณณะไม่ปรากฏ เป็นรูปที่สามารถกับจักขุปสาท และจิตเห็นต้องเกิดขึ้นด้วย มิฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ ปรากฏไม่ได้ คนตาบอด หรือคนที่มีจักขุปสาท แต่นอนหลับ ก็ไม่เห็น ทั้งๆ ที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ว่าจิตเห็น หรือเปล่า ก็ไม่เห็น ใช่ หรือไม่

    เพราะฉะนั้น ความจริงของสิ่งที่ปรากฏทางตาแท้ๆ นี้คืออะไร ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาอย่างมั่นคงที่จะรู้ว่า ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ตราบนั้นไม่มีทางที่จะดับกิเลส หรือความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    2 พ.ค. 2567