พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 332


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๓๒

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ เข้าใจ หรือไม่

    ผู้ฟัง เข้าใจขึ้นแล้ว

    ท่านอาจารย์ เข้าใจฟองน้ำ หรือเข้าใจเวทนา หรือต่อมน้ำ หรือกาบกล้วย หรืออะไร

    ผู้ฟัง เข้าใจเวทนา สัญญา

    ท่านอาจารย์ ต่อไปนี้เวลาคิดถึงเวทนา จะไม่ได้คิดถึงต่อมน้ำ หรือเห็นเป็นต่อมน้ำ ใช่ หรือไม่

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ จุดประสงค์ คือ เพียงเทียบเคียงให้เห็นความต่างของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งรูปธรรมก็ไม่ใช่นามธรรม และนามธรรมแต่ละชนิดก็ต่างกันไป แต่ไม่ใช่ว่าต่อไปนี้ก็เป็นต่อมน้ำเล็กๆ หรือเป็นกาบกล้วย หรือเป็นอะไร

    อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์ให้คำแนะนำเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะว่าจริงๆ แล้ว แต่ละพระสูตร ที่ยกตัวอย่าง พระพุทธเจ้าท่านก็จะชี้สิ่งที่เห็นในชีวิตประจำวันให้เป็นเครื่องระลึก คือยกขึ้นเป็นอุปมา แต่ละพระสูตรก็จะอุปมาไม่เหมือนกันด้วยซ้ำไป แล้วแต่ที่ท่านจะยกขึ้นอุปมาในพระสูตรใด ก็เพื่อความเข้าใจสภาพธรรมนั่นเอง

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เข้าใจอุปมา แต่เข้าใจสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามอาจารย์อรรณพ ธรรมไม่อยู่ไกลเลย อยู่ที่ตัวเราเอง ก็เลยศึกษาว่า ไม่จดจ้อง เมื่ออารมณ์เกิดขึ้นก็พิจารณาว่า มีอารมณ์โกรธเกิดขึ้น มีการเกิดดับเป็นอนัตตา แล้วทำให้ละคลายจากอารมณ์นั้น และคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้จิต เจตสิกได้สะสมในการรับรู้ต่อๆ ไป

    อ.อรรณพ เป็นความคิด ไม่ใช่เป็นการระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรม จริงๆ ก็เป็นการจดจ้อง มุ่งไปที่จะรู้อารมณ์ในชีวิตประจำวัน ใช่ไหม กราบเรียนท่านอาจารย์ เพราะว่าอธิบายยากมาก

    ท่านอาจารย์ ธรรมก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวจริงๆ ตามการสะสม ในขณะที่เขารู้สึกว่า มีความก้าวหน้า และมีการรู้ หรือเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังดู เป็นเขา หรือว่าเป็นธรรม การจดจ้องไม่ได้อยู่ที่สิ่งที่ปรากฏให้รู้ แต่เป็นสภาพที่กำลังดู สภาพธรรมขณะนี้เกิดแล้ว ดับแล้วด้วย ถ้าไม่เข้าใจลักษณะของสติสัมปชัญญะว่า เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และไม่ใช่ตัวตนจะดู แต่เป็นการรู้ลักษณะแต่ละลักษณะ ซึ่งปกติเป็นอย่างขณะนี้ ไม่ได้เป็นอย่างอื่นเลย

    ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ก่อนอื่นก็จะต้องไตร่ตรองว่า ปัญญาสามารถที่จะรู้ เห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ หรือไม่ นี่คือความมั่นคงในความเป็นปัญญาที่ได้อบรมแล้วเจริญแล้วว่า สามารถจะรู้ความจริงของสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏ ซึ่งใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ ทั้งสภาพธรรมที่เกิดแล้วปรากฏ และสภาพธรรมซึ่งเป็นสติที่กำลังรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ต้องเป็นความละเอียดจริงๆ มิฉะนั้นแล้วก็จะเหมือนกับว่า เขามีความก้าวหน้า สามารถที่จะดูสิ่งต่างๆ ซึ่งขณะนั้นเข้าใจว่าใส่ชื่อลงไปว่า เป็นธรรม แต่ว่าความเป็นธรรมต้องหมายถึงสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ในขณะนี้เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ปัญญา และสติสามารถที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ หรือจะไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แล้วเข้าใจว่า ได้ทำการดูจนรู้ลักษณะของธรรม แล้วขณะนี้เป็นธรรม หรือไม่ เป็นตัวเรา หรือไม่ เป็นสิ่งที่มีลักษณะแต่ละอย่าง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย หรือไม่ ถ้าไม่ใช่สติสัมปชัญญะ ก็เป็นเราอยู่ตลอดเวลา มีความพอใจที่จะไม่รู้ความจริงที่มีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย แต่มีความเข้าใจว่า ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรม หรือความจริง หรือชื่อ หรืออะไรก็ตามแต่จะคิดในขณะนั้นว่าได้รู้ลักษณะนั้นๆ แล้ว แต่ถ้ารู้ลักษณะจริงๆ ต้องรู้ลักษณะซึ่งไม่ใช่ตัวตน แล้วก็เกิด แล้วก็ดับด้วย และขณะที่กำลังรู้ก็บังคับบัญชาไม่ได้เลยว่า จะรู้สิ่งใด ขณะนี้มีสภาพธรรมที่เกิดแล้วปรากฏ แล้วแต่สติจะเกิด หรือไม่เกิด แต่สภาพธรรมที่เกิดแล้วก็มีปัจจัย เกิดแล้วก็ดับไปอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ไปบังคับให้ดู ให้รู้ แต่หมายความว่า ให้มีความเข้าใจถูกต้องว่า ปัญญาสามารถจะรู้ได้ไหม ถ้าเขาคิดว่า ปัญญาไม่สามารถจะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นปัญญา หรือไม่

    เรียกชื่อว่า “ปัญญา” แต่จะเป็นปัญญาได้อย่างไร ในเมื่อไม่ได้เห็นถูกตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ และการที่จะมีความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมได้ ต้องมีสติสัมปชัญญะ สติสัมปชัญญะไม่ใช่ใครเลย ไม่ใช่เป็นเราดู แต่ขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิด รู้เลยว่า ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างมั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรม ซึ่งเกิดแล้วปรากฏ ก็จะไปทำอย่างอื่น เพื่อจะไปรู้สิ่งอื่น แต่ว่าไม่ได้มีความเห็นตามความเป็นจริงว่าขณะนี้เป็นธรรม แม้ว่าจะได้ฟังมาโดยตลอดว่า ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม แต่ความเข้าใจผิดก็ทำให้ไม่เกิดวิริยะ ซึ่งไม่ใช่เรา แล้วก็ความเห็นถูกที่จะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ สัมมาวายามะ ต่างกับ มิจฉาวายามะ ขณะที่เพียรจะไปรู้สิ่งซึ่งดู เป็นตัวเราที่ดู แต่ไม่ใช่เป็นสัมมาวายามะ ซึ่งเกิดเพราะขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏแล้วยังไม่รู้ ก็ฟังจนกว่าจะมีความเข้าใจถูกต้องของขณะที่ไม่ใช่สติสัมปชัญญะ แต่เป็นสติขั้นฟังเข้าใจ และเมื่อรู้ลักษณะของสติสัมปชัญญะโดยขั้นเข้าใจแล้ว ก็เป็นปัจจัย เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่ง สติสัมปชัญญะจะเกิดเมื่อไร ใครบอกได้ ไม่ใช่เราดูเลย นี่ก็เป็นความต่างกัน

    ธรรมจึงเป็นเฉพาะแต่ละบุคคลที่ฟัง และมีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ตรง ถูกต้อง หรือว่าคลาดเคลื่อน หรือว่าด้วยความเป็นตัวตน มิฉะนั้นแล้วก็คงจะไม่ยาก ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่การจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ปัญญาต้องเจริญตามลำดับ ถ้าไม่มีขั้นฟัง ขั้นเข้าใจจริงๆ ก็จะมีความเป็นเราซึ่งต้องการจะรู้อริยสัจธรรมอย่างมาก จนกระทั่งบางคนก็บอกว่าเร็วที่สุดที่จะเร็วได้ ยิ่งเป็นชาตินี้ยิ่งดี นั่นอะไร โดยไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ในลักษณะที่เป็นธรรม แม้แต่สติสัมปชัญญะก็ไม่มี เพราะไม่รู้ และก็มีความเห็นผิด คือ มีการเข้าใจว่าจะต้องดู จึงจะเห็น แต่ขณะนี้สภาพธรรมปรากฏแล้ว อวิชชาไม่สามารถที่จะเห็นความจริงของสภาพธรรม อวิชชากับปัญญา ต่างกันมาก ขณะใดที่มีเราดู ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญาแน่นอน

    ผู้ฟัง ต่อเนื่องกับคำถามของคุณกนกวรรณ ในเมื่อสภาพธรรมจริงๆ เป็นธรรม ไม่มีตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นอนัตตา ถ้าเมื่อไรที่เริ่มต้นผิดไปจากนี้ คือ มีตัวตนที่จะไปทำ เพื่อให้ปัญญาเกิด รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็เริ่มต้นผิดจากความเป็นจริงแน่นอน คนที่ไม่เข้าใจว่า อะไรผิด อะไรถูก สามารถเอาตัวนี้ไปบอกได้ว่า ใช่ หรือไม่ใช่ ที่ทำให้เรามีปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ คงไม่ลืมข้อความที่ว่า อริยสัจ ๔ ลึกซึ้งทั้ง ๔ อริยสัจ ผู้ที่จะดู แสดงความลึกซึ้งของมรรคสัจอย่างไร ที่จะกล่าวว่า ลึกซึ้ง หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมขณะนี้ลึกซึ้ง แม้หนทางก็ลึกซึ้ง แต่ถ้าจะไปดู ลองกล่าวถึงความลึกซึ้งของหนทางว่า กำลังดูอยู่นั่น ลึกซึ้งอย่างไร แต่ความลึกซึ้ง คือ สภาพธรรมเป็นอนัตตา ลืมไม่ได้เลย ลักษณะของสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่ความเป็นเราจะดู และขณะนี้สภาพธรรมปรากฏแล้ว เราจะดูอะไร นั่นเป็นอนัตตา หรือไม่ ขณะนี้กำลังเห็น เขาจะดูเห็นอย่างไร หรือว่าจะเข้าใจให้ถูกต้องว่า ขณะนี้สิ่งที่มีจริงๆ เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ กว่าจะฟังคำนี้จนกระทั่งมีความเข้าใจที่มั่นคง ก็จะรู้ว่า ญาณทั้ง ๓ คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ เป็นไปในอริยสัจทั้ง ๔ ประมาทไม่ได้เลย แม้แต่การจะมีความเข้าใจที่มั่นคงในสัจจะทั้ง ๔ ก็จะต้องมั่นคงจริงๆ จนกระทั่งว่า ขณะนี้ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดก็รู้ ขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดก็รู้ เพราะว่าสติสัมปชัญญะไม่ใช่เราดู

    ผู้ฟัง ถ้าเรามั่นคงว่า ทุกอย่างเป็นธรรม และเป็นอนัตตา เราก็จะมีหลัก ใครจะให้ไขว้เขวไปนอกทาง เราก็จะเข้าใจได้ว่า ไม่สามารถทำให้ปัญญาเกิดรู้ความเป็นจริงได้

    ท่านอาจารย์ อีกอย่างหนึ่ง ปัญญาเกิดแล้ว ละอะไร หรือว่ายินดีที่เรารู้ ขณะที่คิดว่ารู้มากๆ เกิดความพอใจว่าได้รู้มากแล้ว ขณะนั้นละอะไร หรือว่าได้ เพราะเราได้รู้ขึ้น แต่ไม่ใช่ปัญญาที่รู้แล้วละความไม่รู้ จากสิ่งซึ่งกำลังปรากฏ เพราะเกิดแล้ว

    ผู้ฟัง แล้วเราต้องเชื่อว่า ปัญญาเท่านั้นที่ละได้ ตัวตนไม่มีทางที่จะ ละอะไรได้เลย

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็นมรรค ทางที่จะรู้ความจริงของเห็น ลึกซึ้งไหม จะไปดูอย่างไร ดู "เห็น" ดูอย่างไรถึงจะเข้าใจถูกต้องว่าเป็นธาตุ หรือเป็นธรรม กำลังเห็นขณะนี้มีแน่นอน และไม่ใช่เราด้วย กำลังคิดก็มีแน่นอน ก็ไม่ใช่ตัวตน กว่าจะเข้าใจลักษณะของนามธรรมขั้นฟังอย่างมั่นคง และรู้ลักษณะของสติสัมปชัญญะ ซึ่งทรงแสดงไว้ว่าเป็นหนทางเดียว ไม่ใช่เราดู แต่ว่าต้องเป็นมรรคมีองค์ ๘ ปกติก็มี ๕ องค์ และปัญญาก็สามารถรู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด โดยเฉพาะสิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน รู้ได้ หรือเปล่า ถ้าไม่รู้ ยังคงเป็นเรา หรือเปล่าที่เห็น และจะเอาออกได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่ปัญญาที่รู้จริงๆ ไม่ใช่ไปเลือกดูบางนามบางรูป แล้วเข้าใจว่ารู้แล้ว โดยที่ไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง แล้วคำว่า ที่อาศัยเกิดของจิต อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตเกิดที่รูปใด รูปนั้นเป็นที่เกิดของจิต เพราะว่าจิตจะไม่เกิดนอกรูป รูปมีทั้งหมด ๒๘ รูป รูปที่เป็นปสาทรูป มี ๕ รูปเท่านั้นใน ๒๘ รูป

    ผู้ฟัง เกิดใน ๕ รูป

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ รูปทั้งหมดมีเท่าไร

    ผู้ฟัง มี ๒๘ รูป

    ท่านอาจารย์ แล้วที่เป็นปสาทรูป กี่รูป

    ผู้ฟัง มี ๕ รูป

    ท่านอาจารย์ แล้วจะกล่าวว่า อย่างอื่นเป็นปสาทรูปได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอะไรบ้างที่เป็นปสาทรูป ปสาทรูป ๕ คือ

    ผู้ฟัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย

    ท่านอาจารย์ เท่านั้น หรือ และอีก ๒๓ รูปเป็นปสาทรูป หรือไม่ และปสาทรูปเหล่านี้อยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง ยังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ก็ฟังจนกว่าจะเข้าใจ ไม่ใช่ไปคิดเอง ไม่ใช่ฟังนิดหนึ่งแล้วไปคิดต่อมากๆ

    ผู้ฟัง การศึกษาพื้นฐานพระอภิธรรมนั้นเคยเรียนถามท่านอาจารย์แล้ว ท่านอาจารย์ตอบว่า ศึกษาไปจนตลอดชีวิต และเกิดชาติหน้า ถ้าพบพระธรรมที่ถูกต้อง ก็ยังศึกษาต่อได้ เป็นพื้นฐานไปตลอด

    อ.อรรณพ ความเป็นตัวตนมีมากจริงๆ ไม่ว่าตอนที่ไม่ได้ศึกษา หรือตอนที่ศึกษา ได้ฟังธรรมแล้ว ความเป็นตัวตนก็ครอบงำตลอด เป็นตัวเราที่ไม่อยากให้เกิดโทสะ ไม่อยากให้เกิดอกุศล เป็นตัวเราที่อยากให้มีกุศลอย่างนั้นอย่างนี้ พระธรรมที่พระองค์ท่านทรงแสดง ท่านแสดงถึงโทษของอกุศล เราก็มีความเป็นตัวตนที่ไม่อยากให้อกุศลอย่างนั้นเกิด หรือเวลาท่านแสดงคุณของกุศลธรรมต่างๆ ก็อยากได้กุศล เพราะฉะนั้นก็เลยเหมือนกับว่า พระธรรมที่พระองค์ท่านทรงแสดง ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยโทษของอกุศล หรือคุณของกุศลก็ตาม แต่ผู้ฟังที่ยังมีความเป็นตัวตนอยู่มาก การฟังก็เหมือนจะไปทำให้มีตัวตนที่อยากได้กุศล และไม่อยากเป็นอกุศล พระธรรมจะเกื้อกูลให้เราคลายความเป็นตัวตนในการศึกษาธรรมอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ตามที่คุณอรรณพกล่าว ก็เป็นเรื่องของความติดข้องซึ่งละยาก และเห็นยาก เพราะเหตุว่าเราคุ้นเคย และอยู่ใต้อำนาจของโลภะ หรือความติดข้องมานานแสนนาน ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า การฟังพระธรรม คือ ฟังสิ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏ ให้เข้าใจความจริงที่ลึกซึ้งของธรรมนั้น ไม่ใช่ว่าเพียงแต่เราฟังว่า ขณะนี้เป็นธรรม แล้วความลึกซึ้งของธรรมอยู่ที่ไหน ถ้าไม่สามารถที่จะเห็นความลึกซึ้งของอริยสัจธรรม ความจริง มีจริงๆ เป็นสิ่งที่แน่นอน ซึ่งทำให้ผู้ที่รู้จริง จากความเป็นปุถุชน ซึ่งไม่รู้ และหลงติดด้วยความไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล สามารถที่จะมีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ด้วยปัญญาของตนเอง ซึ่งเกิดจากการฟัง และไตร่ตรองความละเอียด เพราะว่าถ้ายังมีโลภะหนุน ก็ต้องมีความต้องการแทรกตรงนั้น แทรกตรงนี้ ให้เป็นอย่างนั้น ให้คิดอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าฟังด้วยดี คือ ไม่ใช่เพื่อเรา หรือเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะเหตุว่ายังไม่รู้อะไรเลย แล้วฟังด้วยความหวังว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็แสดงว่ายังไม่ได้เข้าใจธรรม ยังไม่รู้จักธรรม เพียงแต่ได้ยินได้ฟังว่า ขณะนี้เป็นธรรม ไม่เคยปราศจากธรรมเลย แต่ตัวธรรมจริงๆ ยังไม่รู้จัก

    พื้นฐานพระอภิธรรมเริ่มจากการฟังเรื่องธรรม แล้วก็รู้จักตัวธรรม จนกว่าจะเห็นธรรมนั้นตามความเป็นจริง ไม่ใช่เรื่องวันสองวัน เดือนสองเดือน หรือปีสองปี หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ชาติสองชาติ หรืออาจจะกล่าวได้อีกว่า กัปสองกัป ก็แล้วแต่ ขึ้นอยู่กับปัญญา ความเห็นถูก ซึ่งต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นสัจจะ เป็นความจริง ผู้ฟังก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อความจริง ฟังจนกว่าจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามลำดับขั้น ในขั้นเข้าใจว่า บังคับบัญชาไม่ได้ ปรากฏแล้วเพราะเกิดขึ้น จะรู้จะเข้าใจอะไร ต้องสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ ฟังเพื่อรู้จักตัวสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จนกว่าจะเห็นความเป็นธรรม ละการยึดถือว่าเป็นตัวตน ยาก หรือง่าย ขั้นฟังก็ต้องละเอียดที่จะรู้ว่า แม้ที่คุณอรรณพกล่าวเมื่อสักครู่นี้ ก็คือเรื่องของความติดข้อง และความติดข้องที่สะสมมานานแสนนาน และการที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะหมดสิ้นไปเพียงฟัง เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะแม้ขณะนี้จะฟังเรื่องจิตประเภทต่างๆ เรื่องเจตสิกที่เกิดกับจิตประเภทต่างๆ โดยความเป็นปัจจัย แต่ละสภาพธรรมอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น โดยฐานะของความเป็นปัจจัยต่างๆ แม้จะฟังอย่างไรก็ตาม ขณะนี้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดแล้ว ทำกิจนั้นๆ เป็นปัจจัยนั้นๆ แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว การดับไปอย่างรวดเร็วของธรรม ทำให้ไม่สามารถเห็นความเป็นจริงได้ เพราะเห็นสิ่งที่สืบต่อ และทำให้ทรงจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดตลอดมา จนกว่าความเข้าใจของธรรมจะเริ่มเข้าใจ และมีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมทีละลักษณะ ไม่ปะปนกัน เพราะเหตุว่าแม้แต่คำที่กล่าวว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดเพราะเหตุปัจจัย ก็ต้องไตร่ตรอง หรือไปคิดเรื่องอื่น หรือว่าขณะนี้แม้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็เกิดเพราะเหตุปัจจัย ความไม่รู้มากแค่ไหน ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่นเลย แต่ฟังจนกว่าวันไหนที่จะเริ่มเข้าใจว่า ลักษณะจริงๆ ของทุกสิ่งทุกอย่างสั้นมาก รวดเร็วมาก และไม่ปะปนกัน

    ผู้ฟัง เรื่องพระสูตรเมื่อวานนี้ ท่านอาจารย์ก็บอกว่า ถ้าสงสัยว่าเจ้าสรกานิดื่มน้ำจัณฑ์ แล้วทำไมเป็นพระโสดาบันได้ ท่านอาจารย์ก็บอกว่า ฟังธรรมแล้วก็สงสัย ดิฉันก็เถียงทันทีว่า ถ้าไม่สงสัยแล้วจะสนทนาธรรมได้อย่างไร เมื่อกลับไปนึกแล้วก็ละอายใจมาก ต้องกราบขออภัย

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม แล้วก็เป็นธรรมดา แล้วก็หมดไปแล้ว แต่ก็สามารถรู้ลักษณะความสงสัย และความไม่สบายใจ คือ เป็นธรรมทั้งหมด การที่เราบอกว่า กว่าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง แม้ขณะที่กำลังพูด สภาพธรรมก็เกิดดับไปตั้งเท่าไรแล้ว ถ้าสติสัมปชัญญะจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมสักอย่างหนึ่ง ขณะนี้ เช่น แข็ง สภาพธรรมอื่นทางตา การคิดนึกทั้งหมดก็ดับไปนับไม่ถ้วน แต่ไม่รู้ ขณะใดก็ตามที่มีสภาพธรรมปรากฏ เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเสียงที่ปรากฏทางหู แต่ขณะที่ฟัง หรือไม่ฟังก็ตาม ความคิดนึกมากมายที่เกิดขึ้นเป็นไป อย่างวันนี้ทั้งวันตื่นขึ้นมา คิด หรือเปล่า

    ผู้ฟัง คิดตลอด

    ท่านอาจารย์ มาก หรือน้อย คิดมาก ถ้าขณะนั้นไม่มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จะรู้ หรือไม่ ว่า คิดเมื่อสักครู่นี้ไม่เหลือ เพราะว่ากำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏสติสัมปชัญญะคืออย่างนี้ เป็นอย่างนี้ จะคิดทั้งวัน ก็ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ต่อเมื่อใดมีลักษณะของสภาพธรรมที่สติกำลังระลึก ก็รู้ว่าขณะนั้นไม่ได้คิด คิดก็มี แต่คิดหมดแล้ว โดยไม่รู้ว่าเป็นสภาพธรรม

    การอบรมเจริญปัญญา ก็เป็นเรื่องที่รู้ว่า สิ่งที่ปัญญาจะต้องอบรม คือ การรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเมื่อไร ก็สามารถรู้ได้ว่า เรื่องไม่ใช่สิ่งที่มีจริง แต่คิดเรื่องนั้นหมดแล้ว และมีการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ด้วยเหตุนี้การรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏนั่นเอง จึงจะทำให้เข้าใจความต่างของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เป็นปรมัตถธรรม กับเรื่องราวต่างๆ ซึ่งทำให้เราหลงเข้าใจว่ามีจริง แต่พอคิดหมด เรื่องนั้นก็หมดเช่น คุณอรวรรณ เรื่องเมื่อสักครู่ก็หมดแล้ว เมื่อวานนี้ก็คิดตั้งหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องนี้ด้วย ก็หมดไป

    ผู้ฟัง จะกล่าวต่ออีกเล็กน้อยว่า ในความรู้สึกจริงๆ รู้สึกซาบซึ้งว่า ท่านอาจารย์ และมูลนิธิฯ มีพระคุณมากๆ ที่สามารถทำให้คำสอนของพระพุทธเจ้าง่าย พอที่ปัญญาน้อยๆ อย่างเราเข้าใจได้ แต่ก็ไม่ได้แสดงออก แต่ขณะที่ไม่พอใจ หรือท่านอาจารย์พูดไม่ถูกหู ก็เถียงเลย จริงๆ แล้วซาบซึ้งในพระคุณมาก แต่ไม่แสดงออก เพราะเป็นคนไม่อ่อนน้อมถ่อมตน แต่พอพูดไม่ถูกใจก็เถียงออกไปเลย

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมก็เกิดขึ้นโดยความเป็นอนัตตา แต่เป็นเรา เห็น หรือไม่ กว่าจะรู้จริงๆ ว่า แม้ขณะนั้นก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งดับไปแล้วหมดไปแล้ว

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แล้วก็เป็นอนัตตา แล้วก็เกิดดับตามเหตุปัจจัย ขณะนี้กำลังฟังเรื่องปัจจัย ๒๔ รู้สึกว่าการเข้าใจเรื่องเหตุปัจจัย จะเข้าใจได้ยากมาก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    15 ม.ค. 2567