พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 312


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๑๒

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙


    ผู้ฟัง เมื่อเราคิดนึกเป็นเรื่องราวโดยหลงลืมสติ กับคิดแล้วพอจะมีสติพิจารณาได้ มีความสงสัยในสภาพธรรมทั้ง ๒ ประเภท

    ท่านอาจารย์ มีจริง เพราะไม่รู้จึงเป็นเรา และยังสงสัย จนกว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้น ตอนนี้กำลังสงสัยอะไร

    ผู้ฟัง สงสัยสภาพคิดนึก เพราะว่าเป็นเรื่องราวจนความคิดนึกมากมายแทบจะเป็นขัน หรือเป็นชามอ่าง แต่หลงลืมสติ ไม่รู้เลยว่า จริงๆ เป็นสภาพคิดนึก ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็จะหมดไป แต่ก็ไม่หมด

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร เพราะความเป็นเรา จริงๆ ธรรมดับแล้ว ไม่กังวลถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วด้วย และสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่นี่เป็นตลอดวัน เพราะฉะนั้นอะไร ถ้าไม่ใช่ตัวตน และความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรม ถ้ารู้จริงๆ ไม่ต้องกังวลถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้วเลย สิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็ยังไม่มาถึง ขณะนี้มีสิ่งที่ฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้นในสิ่งที่กำลังปรากฏ นั่นเป็นหนทางเดียว และขณะใดที่กำลังรู้ลักษณะ ขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา เป็นสติอีกระดับหนึ่ง ไม่ต้องใช้ชื่ออะไรก็ได้ แต่เป็นสติที่สามารถเข้าถึง คือ กำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ก็เป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง

    ผู้ฟัง ความคิดนึกโดยที่เป็นเราคิดนึก และก็เป็นเรื่องราวใหญ่โตยืดยาว แต่มีความสงสัยในลักษณะว่า เหตุนี้เกิดเพราะอย่างนั้น หรืออย่างไร ซึ่งจริงๆ แล้วความสงสัยนี้ถ้าจะพิจารณา ก็ไม่ใช่ลักษณะของสภาพธรรม แต่เป็นเราสงสัยในเรื่องราวต่างๆ สภาพนี้ไม่ใช่ลักษณะของโมหะวิจิกิจฉา หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ต้องการชื่ออีกแล้ว แล้วก็ดับไปแล้วด้วย แต่จะรู้จริงๆ ในลักษณะ โดยไม่ต้องเรียกชื่อ สงสัยเป็นสงสัย เข้าใจเป็นเข้าใจ เห็นผิดเป็นเห็นผิด ยึดถือเป็นยึดถือ

    ผู้ฟัง ถ้าความสงสัยกับความเห็นผิดจะต้องต่างกันโดยลักษณะของสภาพธรรม ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช่ เกิดพร้อมกันไม่ได้ สงสัยนี่ยังไม่ได้เห็นผิด ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ต้องเห็นผิด เพราะว่า ...

    ท่านอาจารย์ สงสัยเพราะไม่รู้

    ผู้ฟัง ไม่รู้สภาพจริงที่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ แต่เห็นผิดนี่ยึดมั่นในความเห็นนั้นว่าถูก ทั้งๆ ที่ความเห็นนั้นไม่ถูก

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์บอกว่า จิตเป็นสภาพรู้ เป็นหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่เข้าใจว่า ที่มีจิต ๘๙ ประเภทได้ เพราะสาเหตุอะไร

    ท่านอาจารย์ มีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยปรุงแต่ง และต่างกันโดยชาติ และต่างกันโดยอารมณ์ก็ได้ เช่น จิตเห็นก็ต่างกับจิตได้ยิน เพราะฉะนั้นจิต ๒ ประเภทนี้ก็ต่างกันโดยอารมณ์ ทั้งๆ ที่เจตสิกที่เกิดกับจิตเห็นกับเจตสิกที่เกิดกับจิตได้ยินจำนวนเท่ากัน ประเภทเดียวกัน

    ผู้ฟัง ถ้าจิตเห็นกับจิตได้ยินไม่มีอารมณ์เกิดร่วมด้วย จะเรียกว่าอะไร

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพธรรมที่รู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้เรียกว่า “อารัมมณะ” หรือ “อารมณ์ของจิต” ที่กำลังรู้สิ่งนั้น เสียงที่คุณแสงธรรมไม่ได้ยิน เป็นอารมณ์ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ได้เป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิตได้ยิน เสียงเป็นอารมณ์ได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเสียงเป็นเสียง เมื่อมีปัจจัยก็เกิด แต่เสียงใดที่จิตกำลังได้ยิน เสียงนั้นเป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังรู้เสียงนั้น

    อ.วิชัย เมื่อศึกษาธรรมมากขึ้น ก็ค่อยๆ มีความเข้าใจว่า โดยความไม่รู้ เป็นปัจจัยให้เกิดความยึดถือ ด้วยตัณหาบ้าง มานะบ้าง ทิฏฐิบ้าง จากความเข้าใจ ก็รู้ว่า ชีวิตประจำวันก็เต็มไปด้วยความไม่รู้ และการที่จะสั่งสมความเข้าใจให้ปัญญาค่อยๆ เริ่มเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น รู้สึกว่ายากในการเจริญปัญญาที่จะหลีกจากการยึดถือความเป็นตัวเรา

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องเป็นผู้ที่จริงใจ ธรรมยากแล้วเราจะไปเปลี่ยนให้ง่าย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อเกิดมาแล้วมีโอกาสได้ฟัง และค่อยๆ ได้สะสมความเห็นถูก ก็ทำให้การสะสมสืบต่อไปจนกระทั่งมีโอกาสที่จะได้ฟังอีก มีโอกาสเข้าใจถูก เห็นถูกอีก แค่นี้จะพอไหม นี่เรายังไม่รู้จักโลภะมากพอที่จะรู้ว่า แทรกเข้ามาได้ทุกโอกาส ทุกขณะเลย ขณะใดที่รู้สึกว่าช้า ขณะใดที่รู้สึกว่าเมื่อไรจะรู้สักที แล้วก็แสนยาก ถ้ารู้ว่า ยาก และเกิดปีติว่าได้มีโอกาสได้ฟังสิ่งที่แสนยาก และจะดีกว่าไม่ได้ฟังเลยไหม เพียงแค่ได้ฟังสิ่งที่แสนยาก ก็น่าจะปีติแล้ว เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่มีการได้ฟังอย่างนี้เลย และสิ่งที่ยากเป็นสิ่งซึ่งสามารถจะอบรมจนกระทั่งเข้าใจขึ้น จนกระทั่งละคลายความเป็นตัวตน และความไม่รู้ได้ด้วย แต่ก่อนอื่นต้องเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ไม่รู้คือไม่รู้ และรู้ก็คือรู้ และรู้ระดับไหน ก็คือระดับนั้น ไม่มีความอยากเพิ่มขึ้นโดยไร้เหตุที่ว่า ไม่มีทางเลยที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่เป็นอริยสัจจะ ถ้ายังไม่มีความเข้าใจถูกจนมั่นคงจริงๆ ว่า ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาแค่นี้เอง และคิดดูว่า เราฟังนานเท่าไรกว่าสังขารขันธ์จะปรุงแต่งให้เกิดการรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ และรู้ขณะนี้เพราะคิด หรือเพราะสติสัมปชัญญะ ซึ่งสติสัมปชัญญะเกิดแล้วดับ เร็วมาก แต่แม้กระนั้นก็มีความต่างกัน และจะรู้ได้ด้วยว่า ถึงแม้เป็นสิ่งที่ได้สะสมมา แต่การที่จะปรุงแต่งจนกระทั่งเป็นแม้ความคิดถูก หรือแม้เป็นสัมมาสติที่เป็นสัมปชัญญะที่กำลังรู้ลักษณะ แล้วก็หมดไป ก็จะต้องมีความอดทนต่อไปอีกว่า ได้รู้ความจริง ได้รู้ของจริง ซึ่งไม่ใช่ของปลอม และสามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจไปเรื่อยๆ เมื่อไรก็เมื่อนั้น

    อ.วิชัย แสดงว่าแม้ความคิดตอนนั้น ถ้าไม่ใช่ปัญญา ก็เป็นตัวเราที่มีความคิดอย่างนั้น ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ สัมมาสังกัปปะ มีหลายระดับ การตรึกที่ถูก ลองคิดดูว่า วันหนึ่งๆ เรามีความคิดถูกบ้าง หรือเปล่า ถ้าในขณะที่ไม่ได้ฟังธรรม ตื่นมาคิดถูก หรือเปล่า เป็นสัมมาสังกัปปะ เป็นความตรึก หรือเป็นความคิดด้วยกุศล หรือ อกุศล แค่นี้เราก็มองเห็น ใช่ไหม ว่าจริงๆ แล้วแม้แต่ความเห็นถูกว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ที่มั่นคง เริ่มมีศรัทธาที่จะเข้าใกล้ลักษณะของธรรม เพื่อที่จะเห็นถูกว่า ไม่ใช่ตัวตน ศรัทธานี้เมื่อมีแล้ว ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นได้ ถ้าเห็นประโยชน์ แต่จะรู้ว่าทั้งหมด ไม่ใช่มีตัวเราที่สามารถจะไปเปลี่ยนแปลง ดลบันดาลให้ชาตินี้มีมากๆ ให้เข้าใจมากๆ แต่เป็นผู้ที่ตรงว่า ธรรมที่ทรงแสดง ทรงแสดงโดยละเอียดเพื่อละความไม่รู้ เพื่อให้เริ่มมีปัจจัยน้อมไปเข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้นเป็นตัวเองตามการสะสม ถ้าคิดที่จะเปลี่ยนแปลง ผิด หรือถูก

    อ.วิชัย คลาดเคลื่อนผิดไป

    ท่านอาจารย์ โลภะก็มาอีกแล้ว เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แล้วผู้ที่ได้สะสมปัญญาที่สามารถจะไม่เป็นทาสของโลภะ ตามลำดับขั้น คือ ไม่เห็นผิดว่า การที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมโดยไม่ฟังให้เข้าใจ อาจจะมีบางท่านที่มีความเห็นอย่างนี้ ซึ่งผิด เหมือนหลงทาง คนที่หลง จะรู้ไหมว่ากำลังหลง หรือไปทางไหน อาจจะเข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นทางถูก จึงได้ไปทางนี้บ้าง ไปทางนั้นบ้าง แต่ความจริงก็คือไม่รู้หนทางที่แท้จริง

    เพราะฉะนั้น เวลาที่กล่าวถึงธรรม ไม่ใช่ธรรมบรรทัดหนึ่ง ข้อความหนึ่ง แล้วคิดเองหมด นั่นคือผิด คิดเองไม่ได้เลย แต่จะต้องรู้ว่า ธรรมที่มีโอกาสได้ฟังว่าเป็นความจริง ความจริงต่อจากนั้นไปมีอะไรอีก ที่จะเพิ่มเป็นความจริงที่รู้ว่า ถ้าไม่รู้ความจริงอย่างนั้นก็ไม่สามารถละความเป็นตัวตนได้ เพราะว่าความเป็นตัวตนลึกมาก และโลภะก็ตามตลอด โดยที่ไม่รู้เลย แม้แต่ความคิดที่จะเป็นความคิดถูก เพียงแค่คิดว่า ความกตัญญู รู้คุณของผู้มีคุณเป็นกุศล แค่นี้ก็คิดไม่ออกสำหรับคนที่ไม่ได้สะสมมาที่จะคิดถูก เห็นถูก ในเรื่องที่ดูเหมือนธรรมดา ก็คิดไม่ได้ ไม่สามารถแยกได้ว่า อย่างไรถูก อย่างไรผิด เพราะฉะนั้นธรรมที่ละเอียดกว่านั้น ที่ทำให้ยึดถือว่าเป็นตัวตน ก็ยิ่งต้องอาศัยปัญญาที่ต้องรู้จริงๆ ค่อยๆ สะสมไป

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์ว่า ถ้ารู้ว่ายาก ยากแล้วก็เกิดปีติ

    ท่านอาจารย์ ที่มีโอกาสได้ยินได้ฟังสิ่งที่ยากอย่างนี้

    ผู้ฟัง แต่ถ้าปัญญาไม่เกิด เมื่อยากก็ไม่อยากเรียนแล้ว มีทางเดียว คือ ต้องเจริญปัญญา จึงจะเข้าใจว่า เมื่อได้ยินได้ฟังสิ่งที่ยากแล้วเกิดปีติ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นบารมี ๑๐ ไม่ได้ขาดสัจบารมีเลย ความเป็นผู้ตรงต่อความจริง

    อ.ธิดารัตน์ ความเข้าใจสภาพจิตก็ต้องเป็นสภาพรู้ แต่เวลาที่จะรู้ลักษณะของจิตเห็นกับจิตได้ยิน จะมีลักษณะที่ต่างกันอย่างไร เพราะโดยลักษณะของจิตก็ต้องเป็นสภาพรู้อย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ และมีทางรู้อารมณ์ ๖ ทาง คือ ทางตา ขณะนี้จิตกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ ทางหู เวลาเสียงที่ปรากฏ ก็คือจิตได้ยินเสียงนั้น เวลาที่กลิ่นปรากฏ คือจิตกำลังได้กลิ่น รสปรากฏ จิตกำลังลิ้มรส เย็นร้อนอ่อนแข็งที่ปรากฏทางกายเพราะจิตกำลังรู้สิ่งนั้น จิตเป็นธาตุรู้ หรือเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้นเวลาที่จะรู้ลักษณะของจิต ขณะนั้นไม่ใช่รู้ลักษณะของอารมณ์ แต่จะไม่ให้จิตเห็นเกิดขึ้น แล้วจะไปรู้ลักษณะของจิตเปล่าๆ โดยไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือจะไปให้รู้ลักษณะของจิตเปล่าๆ โดยไม่คิดนึก ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อจิตสามารถรู้อารมณ์ได้ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง ก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นจิตกำลังมีอะไรเป็นอารมณ์ก็ตาม แต่ว่าสติสัมปชัญญะจะรู้ลักษณะของธาตุรู้ ซึ่งกำลังรู้สิ่งนั้น

    เพราะฉะนั้นก็สามารถค่อยๆ เข้าใจธาตุ หรือลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ซึ่งขณะนั้นไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีอารมณ์ปรากฏ แต่ว่าขณะนั้นไม่ได้สนใจที่จะรู้ลักษณะของอารมณ์ แต่สามารถที่จะเข้าใจถูกในธาตุที่กำลังเห็นขณะนี้ ซึ่งเวลาที่ได้ยินก็เป็นธาตุที่กำลังได้ยิน เพราะฉะนั้นลักษณะของจิตจึงเป็นธาตุรู้ หรือสภาพรู้ ซึ่งจะปรากฏลักษณะของจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ว่าไม่เป็นอื่นทางมโนทวารเท่านั้น ซึ่งขณะนั้นจะไม่มีสิ่งอื่นเจือปน ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจิตจะรู้อะไรก็ตาม ขณะไหนก็ตาม ผู้ที่สามารถประจักษ์ลักษณะของธาตุรู้ ก็ย่อมสามารถเข้าถึงลักษณะของธาตุรู้ซึ่งกำลังทำกิจนั้นๆ ได้

    อ.ธิดารัตน์ โดยลักษณะของรูปธรรม ก็เหมือนกันใช่ไหม เวลาที่จะรู้ลักษณะของรูปธรรมก็จะต้องระลึกในลักษณะของรูปธรรมเท่านั้น จะไม่ได้รวมนามธรรม หรือสภาพรู้เข้าไป เพราะว่าผู้ศึกษา ความเข้าใจยังไม่สามารถแยกขาดระหว่างสภาพของนามธรรมกับรูปธรรมได้ชัดเจน เวลาสนทนาก็มีความสงสัยอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้การฟังจึงต้องเป็นผู้เข้าใจจริงๆ อย่างมั่นคงในความต่างของนามธรรม และรูปธรรม เพราะว่าจะปราศจากกันไม่ได้ เช่น เห็น ต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาคืออะไร นี่คือกำลังเข้าใจลักษณะของสภาพ หรือธาตุที่เป็นวัณณธาตุ ที่สามารถปรากฏทางตาในขณะนี้ คือ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งก่อนนั้นเห็นเมื่อใดก็ต้องเป็นคน เป็นสัตว์ ทุกครั้งไป แต่ว่าเวลาที่ปัญญาจะเกิด จะเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่สามารถปรากฏทางตา อาศัยการฟัง และวันนี้คงยังไม่สามารถประจักษ์ว่า ลักษณะที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างนี้ แต่เมื่อเริ่มที่จะเข้าใจ และไม่ได้กะเกณฑ์ด้วยว่า เมื่อไรจึงจะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็แสดงว่า อัตตา หรือความเป็นเรา ยังมีมาก แต่ถ้าเป็นผู้เข้าใจในความเป็นอนัตตาจริงๆ พ้นความเป็นธาตุของโลภะไปชั่วขณะ ที่จะไม่ไปบังคับให้ไปทำอย่างนี้ หรือบังคับให้เข้าใจอย่างนี้ หรือให้คิดอย่างนี้ ให้ทำอย่างนี้ แต่สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ซึ่งความจริงแล้ว ไม่ใช่จะเป็นความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสภาพธรรมตลอดเวลา แม้ชีวิตประจำวัน แต่ละคนคิดผิดบ้าง คิดถูกบ้าง คิดละเอียดบ้าง คิดไม่รอบคอบบ้าง ทั้งหมดก็มาจากสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่ง เพราะตลอดชีวิต แม้ว่าเป็น นามธรรม และรูปธรรม แต่ไม่ใช่จะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมเสมอๆ แต่เรื่องราวมากมายเหลือเกิน เรื่องราวมากมายที่ทำให้แต่ละคนต่างกันไปในความคิดเห็น เพราะสังขารขันธ์ที่เกิดจากการเข้าใจธรรม ไม่ได้ปรุงที่จะให้เข้าใจลักษณะของธรรม แต่ปรุงให้เข้าใจในเหตุในผลของธรรม

    ด้วยเหตุนี้จึงต้องประกอบกันหมดทุกขณะในชีวิตประจำวันว่า เป็นเรื่องของธรรมทั้งหมด ที่เป็นสังขารขันธ์ก็สะสม และปรุงแต่ง ถ้าเป็นขณะที่อกุศลมีปัจจัย ก็เป็นเรื่องของอกุศล แม้แต่ความเข้าใจผิด คิดผิด ก็เป็นไปตามอกุศล เช่น คนที่ได้ฟังธรรมแล้วเห็นว่ายาก แต่คนหนึ่งก็มีปีติที่มีโอกาสได้ยินได้ฟัง ส่วนอีกคนหนึ่งแล้วก็เมื่อไรจะรู้ เห็นไหมว่าต่างกันได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ได้ยินได้ฟังเรื่องเดียวกัน การปรุงแต่งของธรรมละเอียดมาก จนกระทั่งไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ขณะต่อไปเป็นอะไร จะเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล จะแยบคาย ไม่แยบคายประการใด แต่ทั้งหมดผู้ที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ต้องเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ปัญญาต้องเจริญ ถ้ารู้ว่ายังมืดมนทางตายังไม่เห็นเป็นอย่างนั้นสักทีว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ฟังแล้วจะไม่ค่อยๆ เข้าใจ หรือว่า สิ่งที่ปรากฏ ทำอะไรไม่ได้เลย เป็นลักษณะอย่างหนึ่ง เหมือนเสียง เสียงก็ปรากฏทางหู สิ่งนี้ก็ปรากฏทางตา และกลิ่นก็ปรากฏทางจมูก ก็ไม่เห็นจะต่างกัน ถ้าไม่เคยรู้ และยึดถือยึดมั่นในรูปร่างสัณฐาน แม้ว่าจะมีการรู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร ก็ยังยึดถือเพิ่มเติมอีก เพราะเหตุว่าหลังจากที่เห็นแล้ว ไม่มีใครเลยที่จะไม่รู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร เป็นไปตามกระแส หรือความเป็นไปของจิต ซึ่งเมื่อจิตเห็นดับ รูปดับ มโนทวารวิถีจิตก็รับรู้ต่อ แล้วสัญญาความจำ ที่เคยจำมาก็จะรู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร เหมือนกันหมด ไม่ว่าผู้ที่มีกิเลส หรือผู้ที่ไม่มีกิเลส เช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ผู้ที่ไม่มีความเห็นถูก ยังเพิ่มความเห็นผิด และยึดมั่นว่า มีคนจริงๆ ในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เรื่องของความเข้าใจถูก ต้องถูกต้องในแต่ละทาง ทางตา เห็น และมีคิดนึก และจำว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แม้ทางใจโดยนัยเดียวกัน แต่ว่ามีความเห็นผิด หรือมีการยึดมั่นในสิ่งนั้น จนกระทั่งเป็นเรา เป็นเขา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือไม่ เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจถูกต้อง ขณะที่เป็นความเห็นผิด เป็นความเห็นผิด ขณะที่เป็นการรู้บัญญัติ เป็นการรู้บัญญัติ ขณะที่สิ่งนี้กำลังปรากฏทางตา แล้วฟัง เริ่มที่จะเข้าใจจริงๆ ว่า เหมือนเสียงปรากฏ แต่เสียงไม่สว่าง ไม่ปรากฏอย่างนี้ เสียงก็เป็นเสียงลักษณะต่างๆ แต่สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นธรรม หรือธาตุชนิดหนึ่งเหมือนกัน จะเป็นอื่นไปไม่ได้ จะเป็นคน เป็นสัตว์ไม่ได้ ถ้าไม่คิด

    ผู้ฟัง จิตเป็นสภาพรู้เหมือนกันหมด แต่ว่ามีอารมณ์ต่างกัน สติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้ลักษณะของจิต จึงรู้ว่า เป็นสภาพรู้เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับอารมณ์เลย ถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่มีจิตเป็นธาตุรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะรู้อะไร เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ลักษณะของจิต ไม่ใช่รู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏ ก็กำลังเริ่มที่จะเข้าใจในธาตุรู้ หรือสภาพรู้ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งว่า ธาตุรู้ล้วนๆ เป็นอย่างนี้ แยกขาดจากรูปธรรม

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวเหมือนกับว่า ฟังมาแล้วจะไปเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ก็ผิดอีกแล้ว

    ท่านอาจารย์ มีเหตุจะให้เป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง เหมือนกับมีตัวตนใช่ไหมที่อยากจะดี

    ท่านอาจารย์ รู้ความจริง หรือเปล่าว่า ขณะนั้นเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ก็ตรงนี้อีกแล้ว

    ท่านอาจารย์ อดทน หมายความว่าอย่างไร เราจะไม่รู้จักตัวของเราตามความเป็นจริงเลย ทั้งๆ ที่ทุกขณะต้องเกิดเป็นไปตามการสะสม แลกเปลี่ยนกันไม่ได้เลย ถ้าเราไปพยายามบังคับไว้ ไม่เป็นปกติ จะเห็นการสะสมที่ได้สะสมมานาน หรือไม่ ที่เป็นปกติอย่างในขณะนี้อย่างนี้ และส่วนใหญ่ถ้าจะเห็น เห็นอะไร ลองคิดดู เห็นอกุศล แล้วก็ไม่ชอบอกุศล แล้วก็ดิ้นรน แล้วก็เดือดร้อน ถ้าปัญญาไม่พอ ก็ยึดมั่นหาทางอื่นที่จะทำให้อกุศลนั้นน้อยลง แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าเป็นการรู้จริงๆ ว่า เป็นธรรม ชั่วขณะที่สั้นมาก และก็หมดไป ก็จะเป็นอิสระจากโลภะที่พยายามไปเปลี่ยนแปลงด้วยความเป็นตัวตน แล้วก็จะเห็นธรรมที่เกิดแล้วตามความเป็นจริงตามการสะสม ซึ่งถ้าไม่เห็นอย่างนี้ ก็ละความเป็นตัวตนไม่ได้

    ผู้ฟัง จากที่มาฟังตรงนี้ ก็ได้เข้าใจแล้วว่า จริงๆ สภาพธรรมก่อนจะเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ก็ต้องมีสภาพที่เห็นปรากฏก่อน แล้วก็คิดนึกต่อ พอเข้าใจตรงนี้แล้ว ก็ไปติดตรงที่บอกว่า คิดนึกแล้วตรงนั้นไม่ใช่คน ตรงนี้เข้าใจอย่างไร หรือเข้าใจว่า นั่นเป็นบัญญัติ หรือเป็นความคิดนึก คนจริงๆ ไม่มี ต้องเข้าใจตรงนี้ หรือว่าอะไรที่ชัดเจนกว่านี้

    ท่านอาจารย์ จิตคิดใช่ไหม

    ผู้ฟัง มาลงตรงที่จิตคิด เพราะฉะนั้นขณะใดที่เราเข้าใจว่าเป็นคน ขณะนั้นเป็นลักษณะของจิตที่คิดแล้ว

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะว่าจิตเห็นไม่ใช่จิตคิด จิตได้ยินก็ไม่ใช่จิตคิด

    ผู้ฟัง ลักษณะตรงนี้เป็นเรื่องยากที่เราไม่เข้าใจว่า เราจะพิจารณาตรงไหน อย่างไร แสดงว่าความเข้าใจยังไม่พอใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วก็เข้าใจ และธรรมก็กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นการศึกษาก็ไม่ใช่ไปคิดถึงตัวสะกด หรือจำนวน แต่ลักษณะของธรรมกำลังปรากฏให้เข้าใจในขณะที่กำลังฟัง แทนที่จะสนใจอย่างอื่น ก็มีปัจจัยทำให้เริ่มค่อยๆ เข้าใจลักษณะ เพราะว่ามีลักษณะจริงๆ ที่กำลังกล่าวถึง เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา มีแน่นอน แต่เราไม่เคยรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง ทั้ง ๕ ทวาร ก็เป็นเรื่องยากที่เราจะศึกษาถึง เพราะฉะนั้นรู้สึกว่าจะเป็นสภาพของคิดนึกมากมาย แต่สภาพของคิดนึกก็มีความละเอียด อย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวในเบื้องต้นว่า จะเป็นลักษณะของโลภะก็ได้ โทสะก็ได้ หรือกุศลก็ได้

    ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่ก็เป็นจิตคิด หลังจากที่เห็น หลังจากที่ได้ยิน คิดตลอด แล้วยังจำไว้ด้วย แม้ไม่เห็น ก็ยังคิด

    ผู้ฟัง พอรู้ว่าคิด แล้วมันจบแค่นั้น หรือว่าปัญญาซึมเข้าไปอีก

    ท่านอาจารย์ ลักษณะคิดเป็นสภาพรู้ ต้องเข้าถึงลักษณะที่เป็นธาตุรู้

    ผู้ฟัง แล้วจะรู้ขณะนั้นว่าเป็นโลภะ เป็นโทสะ ก็ได้ ที่เป็นมูลจิต

    ท่านอาจารย์ อะไรปรากฏ เราไม่ได้ไปนั่งเรียกชื่อจิต ขณะนั้น แต่กำลังเข้าถึงลักษณะของธาตุรู้ ซึ่งเป็นจิต

    ผู้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นโมหมูลจิต หรือโทสมูลจิต ก็เป็นสภาพรู้เท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ชีวิตประจำวัน จิตมี โลภะมี จิตที่เกิดร่วมกับโลภะ จะไม่เกิดร่วมกับสภาพธรรมอื่น นอกจากเจตสิก เจตสิกก็ต้องเกิดกับจิต แต่เป็นเรา ตลอดวัน เมื่อดีใจ ก็ไม่รู้เลยว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไป


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    15 ม.ค. 2567