พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 353


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๕๓

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ ขณะนี้อะไรเป็นรูปธาตุ ที่ไม่รู้อะไร เดี๋ยวนี้ ที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง รูปธาตุที่ไม่รู้อะไร ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ รูปธาตุไม่รู้อะไรเลย ขณะนี้มีรูปธาตุปรากฏบ้างไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ อะไร

    ผู้ฟัง สิ่งที่เห็นทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตามีจริงๆ ไม่ได้มีใครมาหลอกลวงให้เห็นผิดว่า มี แต่มีจริงๆ ลักษณะนี้เป็นรูปชนิดหนึ่ง เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เป็นธาตุชนิดหนึ่ง สิ่งที่มีเป็นธาตุ สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอะไร เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นคน หรือเป็นอะไร สามารถจะปรากฏได้ทางตา เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง เท่านั้นเอง แล้วแต่จะไปนึกไปคิดว่าเป็นอะไรหลังจากนั้น ไปจำเอาไว้ว่าเป็นคน เป็นวัตถุต่างๆ ก็แล้วแต่ แต่ลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นอื่นไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ไม่เข้าใจคำว่า “ธาตุรู้”

    ท่านอาจารย์ คิดนึก หรือเปล่า

    ผู้ฟัง คิดนึก

    ท่านอาจารย์ ขณะคิดกำลังรู้เรื่องอะไร

    ผู้ฟัง รู้ในสิ่งที่คิด

    ท่านอาจารย์ เป็นสภาพรู้ คือ รู้สิ่งที่กำลังคิด

    ผู้ฟัง ตรงนั้นเรียกว่า “ธาตุรู้”

    ผู้ฟัง ไม่ใช่เรียก มีจริง หรือเปล่า

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ เป็นคน หรือเปล่า หรือเป็นธรรมที่มีจริง

    ผู้ฟัง ถ้าโดยศึกษาแล้ว รู้ว่าเป็นธรรมที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ ธรรมกับธาตุ ความหมายเหมือนกัน

    ผู้ฟัง คำว่า ธรรม กับ ธาตุรู้ มีความหมายเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ คำว่า “ธรรม” กับคำว่า “ธาตุ” มีความหมายอย่างเดียวกัน คือ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ใครก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะธรรมนั้นได้ จะใช้คำว่า “โลภธาตุ” ใช้ได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เคยได้ยิน

    ท่านอาจารย์ โลภะมีจริง หรือไม่

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ แล้วเป็นเรา หรือเป็นใคร

    ผู้ฟัง ถ้าโดยคิดนึกแล้วจะเป็นเราอยู่เสมอ

    ท่านอาจารย์ แล้วกำลังฟังขณะนี้ โลภะเป็นเรา หรือเป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่ใช่ใคร เกิดแล้วก็หมดไป

    ผู้ฟัง เป็นสิ่งที่มีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีจริง คือ ธาตุ หรือธรรม ใช้คำหนึ่งคำใดก็ได้ เหมือนกัน

    ผู้ฟัง แล้วนามรู้ ก็เป็นจิตที่คิดนึกใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ คิดมี หรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ จริง หรือไม่

    ผู้ฟัง จริงๆ

    ท่านอาจารย์ เป็นรูป หรือเปล่า

    ผู้ฟัง คิดก็เป็นนาม

    ท่านอาจารย์ นั่นคือนามธาตุ หรือนามธรรม คือ ไม่ใช่คุณบุษกร แต่เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นคิดเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่าต้องแยกให้ชัดเจนว่า ขณะที่เห็น สภาพรู้ไม่สว่าง มืด และขณะที่สว่างคือขณะไหน หรือ

    ท่านอาจารย์ จิตมีจริงๆ เป็นธาตุรู้ ถ้ามีแต่โลกที่เป็นโอกาสโลก ไม่มีสภาพรู้เลย ก็ไม่มีใครสามารถที่จะเห็น รู้ว่าอะไรมี เป็นอย่างไร ได้เลยทั้งสิ้น แต่ธาตุทั้งหลายไม่ได้มีแต่เฉพาะรูปธาตุ ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงความเป็นธาตุว่า ไม่ให้มีธาตุนี้ หรือให้มีแต่ธาตุนั้น ธาตุเป็นธาตุ ไม่ได้มีแต่เฉพาะรูปธาตุ มีนามธาตุซึ่งเป็นธาตุรู้ด้วย

    นี่เป็นสิ่งที่เราจะต้องเข้าใจถึงความต่าง รูปธาตุจะเป็นนามธาตุไม่ได้เลยด้วยประการใดๆ ทั้งปวง นามธาตุสักนามธาตุเดียวก็จะเป็นรูปธาตุไม่ได้เลย

    นามธาตุปลอดจากรูปโดยประการทั้งปวง เป็นธาตุรู้ล้วนๆ เวลาเกิดขึ้นต้องรู้ ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน อย่างไรทั้งสิ้น กำลังหลับสนิท ยังไม่ตาย มีจิตเป็นธาตุรู้ แม้ว่าอารมณ์ขณะที่กำลังหลับสนิทไม่ได้ปรากฏเหมือนตอนตื่น แต่เมื่อเป็นธาตุรู้เกิดขึ้น ก็จะไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น

    ในขณะที่เสียงปรากฏ เสียงเป็นรูปธาตุ ลักษณะของเสียงเป็นอย่างนี้ที่กำลังปรากฏทางหู เพราะมีธาตุที่กำลังได้ยิน เวลาพูดถึงนามธาตุเป็นสิ่งหนึ่งที่ทุกคนไม่ได้คิดถึงเลย ทุกคนเพียงแต่บอกว่ามีจิต อาจจะบอกว่ามีวิญญาณ แต่ก็ไม่รู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพนั้นคืออย่างไร แต่นั่นคือความไม่ชัดเจน เพราะความไม่รู้จริง แต่เมื่อเป็นการรู้จริง ทรงแสดงจริง ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย ไม่เคยคิดมาก่อนเลย แต่ก็เริ่มเข้าใจว่า สิ่งที่เราพูดบ่อยๆ สิ่งที่เราเรียกว่า “จิต” จริงๆ แล้วลักษณะแท้จริงคืออะไร มีจริงๆ ไม่มีรูปร่างใดๆ ไม่มีสีสันวัณณะ ไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลย เป็นธาตุรู้ล้วนๆ เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะเมื่อเป็นธาตุรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกจิตรู้ ใช้คำว่า “อารัมมณะ” หรือ “อารัมพนะ” จะมีจิตเกิดขึ้นโดยไม่มีอารมณ์ ในภาษาไทย หรือ อารัมมณะ ในภาษาบาลีไม่ได้ จะมีอารัมมณะ โดยไม่มีจิตไม่ได้ เสียงปรากฏกับจิตได้ยิน สงสัยในลักษณะของเสียง หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่สงสัย

    ท่านอาจารย์ ไม่สงสัยใช่ หรือไม่ เพราะว่าเสียงกำลังปรากฏ แล้วถ้าไม่มีธาตุที่กำลังได้ยิน เริ่มคิดถึงธาตุที่ได้ยินแล้ว ไม่ใช่เสียง ธาตุที่ได้ยินที่กำลังรู้ลักษณะของเสียง เพราะว่าเสียงแต่ละเสียงมีลักษณะต่างๆ กัน ไม่เหมือนกันเลย ที่จำกันได้ว่าเป็นเสียงคนนั้นคนนี้ เพราะเหตุว่าลักษณะของเสียงซึ่งเป็นรูป หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง เลวบ้าง ประณีตบ้าง ก็แล้วแต่ ที่จะจำแนกไปเป็นลักษณะต่างๆ ถึงความหลากหลาย เสียงเป็นเสียง แต่สภาพที่รู้เสียงนั้น ในลักษณะของเสียงนั้น เพราะกำลังได้ยินเสียงนั้นต้องมี มิฉะนั้นเสียงไม่ปรากฏ ธาตุรู้ หรือสภาพรู้ มีสีสันวัณณะอะไร หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ธาตุรู้

    ท่านอาจารย์ ที่กำลังได้ยินเสียง

    ผู้ฟัง ไม่มีสีสันวัณณะ

    ท่านอาจารย์ เขียว หรือแดง

    ผู้ฟัง ไม่มีทั้งเขียวทั้งแดง

    ท่านอาจารย์ ไม่มีสีสันใดๆ หอม หรือเหม็น

    ผู้ฟัง ไม่มีหอม หรือเหม็น

    ท่านอาจารย์ ไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลย เป็นธาตุที่มืดสนิท หรือไม่

    ผู้ฟัง มืด

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาสว่าง วัณณธาตุ แต่จิตที่กำลังเห็น สภาพเห็น ธาตุรู้ แยกออกจากสิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นอย่างนี้ เป็นอย่างหนึ่ง ลืมตาเมื่อไร มีจิตเห็นเกิดขึ้น สิ่งนี้ก็ปรากฏ เปลี่ยนไม่ได้เลยในแสนโกฏิกัปป์ ต่อไปข้างหน้า สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นสิ่งนี้เอง เหมือนที่ปรากฏในขณะนี้ จะเปลี่ยนเป็นอื่นไม่ได้ จะเปลี่ยนเป็นกลิ่น จะเปลี่ยนเป็นเสียงไม่ได้ มีลักษณะที่กำลังปรากฏให้เห็น กำลังถูกเห็น กำลังมีสภาพเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น แต่ลักษณะของสภาพเห็นต้องมืดสนิท เหมือนกำลังได้ยินเสียง

    ผู้ฟัง ถ้าเสียงไม่สว่าง ธาตุเห็นจะทำกิจอะไร

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้อะไรสว่าง

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏ ถ้าไม่มีจิตเห็นสิ่งนี้ สิ่งนี้ปรากฏได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ต้องแยกจิตที่กำลังเห็นออกจากสิ่งที่ปรากฏทางตา เหมือนแยกเสียงกับจิตที่ได้ยินเสียง เสียงเป็นเสียง จิตที่ได้ยินเสียงเป็นจิต ไม่ใช่เสียง สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ก็ไม่ใช่จิต แต่เป็นสิ่งที่ปรากฏกับจิตที่กำลังเห็น

    ผู้ฟัง นามธรรมที่เห็น ขณะนั้นไม่สว่าง

    ท่านอาจารย์ ตัวนามธรรมมืดตลอดกาล ไม่มีสีสันใดๆ

    ผู้ฟัง ขณะที่นามธรรมเห็น ขณะนั้นทำกิจอะไร ถ้าไม่เห็นสว่าง

    ท่านอาจารย์ ทำกิจเห็นสิ่งที่ปรากฏที่สว่าง ตัวจิตไม่ได้สว่าง ตัวจิตเป็นธาตุรู้ เหมือนได้ยินเสียง เสียงก็ไม่สว่าง อยู่ในห้อง และตอนกลางคืนดับไฟ แต่ลืมตา เห็นมืด หรือไม่

    ผู้ฟัง เห็นมืดเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ คนที่ตาบอดมีทางที่จะเห็นมืดอย่างคุณนิรันดร์เห็นในห้องมืด หรือไม่

    ผู้ฟัง คนตาบอด เขาก็มืดเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ จะเหมือน หรือไม่กับคนที่ตาดี แต่ปิดไฟในห้องมืด

    ผู้ฟัง ก็คงไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ ไม่เหมือน กำลังหลับสนิทเห็นมืด หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ นี่คือความต่างกันตามลำดับขั้น มีจิตจริง ใครก็จะทำลายไม่ให้จิตเกิดไม่ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัย จิตต้องเกิดดับสืบต่อ ใครจะรู้ หรือไม่รู้ก็ตามแต่ จิตเป็นธาตุซึ่งเมื่อเกิด และดับไป ตัวจิตเป็นอนันตรปัจจัย ทันทีที่จิตนั้นดับหมด ปราดไป ไม่เหลือเลย เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด ใครก็ยับยั้งไม่ได้

    ขณะที่นอนหลับสนิท ไม่มีการเห็นการได้ยิน คิดนึกใดๆ ก็ไม่มี แต่มีจิตเกิดดับดำรงภพชาติ ขณะนั้นที่กำลังหลับสนิท เห็นมืด หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ ไม่กล่าวถึงเห็น ขณะที่นอนหลับสนิท มืด หรือไม่

    ผู้ฟัง มืดครับ

    ท่านอาจารย์ ทำไมทราบได้ หลับสนิท

    ผู้ฟัง ก็เพราะไม่เห็นอะไรเลย

    ท่านอาจารย์ หลับสนิทต่างกับขณะตื่นแล้ว ความที่สภาพธรรมปรากฏจริงๆ จะต่างกันแค่ไหน ธาตุรู้มี ไม่ว่าจะหลับ หรือตื่น เปลี่ยนลักษณะของธาตุรู้ได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้เลย เมื่อธาตุรู้เกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ขณะที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่มีอะไรปรากฏเลย ถูกต้อง หรือไม่

    ผู้ฟัง ขณะที่ไม่รู้อารมณ์ทางหู

    ท่านอาจารย์ ไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การคิดนึก ขณะนั้นมีอะไรปรากฏ หรือไม่ ไม่คิด ไม่ฝัน

    ผู้ฟัง ก็ไม่มีอะไรปรากฏเลย

    ท่านอาจารย์ แต่มีจิต หรือไม่

    ผู้ฟัง มีจิตอยู่

    ท่านอาจารย์ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความต่างกันของธาตุรู้ แม้ว่ามี เกิดดับ ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ให้เกิดไม่ได้เลย แต่ขณะนั้นไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่รู้ว่ามีธาตุรู้ การรู้ธาตุได้ ไม่ใช่หลับสนิท เพราะว่าจะต้องรู้ทางมโนทวาร

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้แต่สิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เราก็ต้องรู้ความต่างกันจริงๆ ตามความเป็นจริง หลับสนิทมีจิตเป็นธาตุรู้ ไม่มีอะไรปรากฎ ไม่มีสีสันใดๆ เลยปรากฏ แต่มีธาตุรู้ เพราะฉะนั้นเวลาที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เฉพาะธาตุรู้ก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม เป็นธาตุรู้ แต่ต่างกันที่ว่า กำลังเห็นเพราะอาศัยตา จึงมีธาตุอีกชนิดหนึ่ง ใช้คำว่า “จักขุวิญญาณธาตุ” นี่เป็นการจำแนกธาตุรู้ออกไป ต่างกันเป็น ๗ ประเภท คือ จักขุวิญญาณธาตุ เป็นธาตุซึ่งอาศัยจักขุปสาท อาศัยสิ่งที่ปรากฏทางตากระทบกัน เป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิดขึ้น เป็นธาตุที่เป็นเพียงธาตุเห็น จะเป็นธาตุอื่นไม่ได้ ไม่ใช่ธาตุได้ยิน ไม่ใช่ธาตุคิดนึก แต่ธาตุนี้เกิดเมื่อไร คือ ทำกิจเห็น เป็นจิตประเภทหนึ่ง เป็นธาตุชนิดหนึ่ง คือ ให้เห็นความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา

    ในขณะที่กำลังเห็นจริงๆ ธาตุรู้ ก็คือมืดสนิท เหมือนเดิม เป็นธาตุรู้เหมือนเดิมด้วย แต่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏ คือ เห็น จึงกล่าวว่า มีจิตหลายประเภท และทำกิจต่างๆ กัน

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์จะให้ผมเข้าใจตรงจุดไหน ผมจะได้

    ท่านอาจารย์ เข้าใจธาตุก่อนว่า มี ๒ อย่าง คือ รูปธาตุกับนามธาตุ และความต่างกันโดยสิ้นเชิง รูปมีหลากหลาย รูปที่ปรากฏทางตาก็อย่างหนึ่ง รูปที่ปรากฏทางหูก็อีกอย่างหนึ่ง รูปที่ปรากฏทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็แต่ละอย่างไป ไม่ใช่นามธาตุ ไม่ว่าเราจะมองไม่เห็น เช่น เสียง เสียงเป็นเสียง จะเป็นนามธาตุไม่ได้

    แยกลักษณะที่เป็นนามธาตุกับรูปธาตุ รู้ว่าเป็นธาตุที่ต่างกัน มีจริงๆ ทั้ง ๒ อย่าง นามธาตุก็มี รูปธาตุก็มี เพื่อให้เห็นภาวะซึ่งใครก็ไปสร้าง ไปเปลี่ยน ไปทำอะไรไม่ได้เลยทั้งสิ้น จะเปลี่ยนแปลงลักษณะของธาตุไม่ได้ เพราะธาตุเป็นธาตุ เป็นธรรม เพราะฉะนั้นเวลานี้สามารถเข้าใจความต่างของธาตุ ๒ ประเภท คือ นามธาตุกับรูปธาตุ

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์บอกว่า เวลาอยู่ในห้องมืด และหลับตา ถามว่าเห็น หรือไม่ ผมก็ตอบว่า เห็นสิ่งที่มืด และอาจารย์ก็ถามว่า ขณะนั้นมีจิตเห็นสีไหม

    ท่านอาจารย์ เห็นมืด ซึ่งต่างกับคนตาบอด คนตาบอดมีจิต แต่ไม่มีจิตประเภทที่เป็นจักขุวิญญาณธาตุ หรือจิตเห็น

    ผู้ฟัง แล้วคนตาบอดเห็นมืด นั่นคือเห็นอะไร

    ท่านอาจารย์ คนตาบอดได้ยินเสียง คนตาบอดได้กลิ่น คนตาบอดลิ้มรส คนตาบอดรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คนตาบอดคิดนึก แต่คนตาบอดไม่เห็น ไม่มีธาตุเห็นเลย มีนามธาตุอื่นได้ทั้งหมด เว้นจักขุวิญญาณธาตุ

    ผู้ฟัง ขณะที่คนตาบอดมืด ขณะนั้นไม่ใช่มืดที่เป็น

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นจิต จิตนั้นมืดยิ่งกว่าอะไรทั้งหมดเลย เป็นนามธาตุ จิต เจตสิกเป็นนามธาตุ สิ่งที่เราเห็นมืด เห็นเป็นจิต แต่สภาพที่ไม่สว่าง แต่ปรากฏทางตาได้ มี หลับตาแค่นี้ ปรากฏแล้ว

    ผู้ฟัง ขณะที่หลับตาแล้วมืด ไปอยู่ในห้องที่มืด ขณะนั้นมีจิตเห็นสิ่งที่มืด

    ท่านอาจารย์ คุณนิรันดร์จะตอบให้ถูก หรือว่าตามความเป็นจริง คือ เห็น หรือไม่เห็น

    ผู้ฟัง หมายถึงขณะไหน

    ท่านอาจารย์ ขณะหลับตาเดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง เห็นสิ่งที่มืด

    ท่านอาจารย์ เห็นสิ่งที่มืด ก็คือมีจักขุวิญญาณแน่ๆ มีรูปารมณ์แน่ๆ แต่ไม่มีแสงสว่างที่จะทำให้เห็นลักษณะสีสันต่างๆ แต่จักขุวิญญาณต้องมี เพราะเห็น จะปฏิเสธไม่ได้ ถ้าออกไปกลางแจ้ง ก็ยิ่งเห็นแสงที่อาจจะแรงกว่านี้ แต่ไม่ใช่สีสันวัณณะต่างๆ

    นี่เป็นการเข้าใจในการในความเป็นธาตุแต่ละธาตุ ไม่ใช่เรา หรือว่าไม่ใช่จะต้องเป็นอย่างที่เราคิด แต่เป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริงในความต่าง

    ผู้ฟัง แล้วขณะที่หลับตา หรืออยู่ในห้องที่มืด แล้วขณะนั้นเห็นสิ่งที่มืด แล้วจะต่างอะไรกับลืมตาแล้วเห็นสิ่งที่สว่าง

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะไม่มีแสงสว่างที่จะทำให้สีต่างๆ ปรากฏ เป็นเขียว เป็นแดง เป็นเหลือง เป็นธาตุ เป็นสัณฐานต่างๆ

    ผู้ฟัง แล้วแสงเข้ามาเป็นปัจจัยอะไร

    ท่านอาจารย์ ทำให้สีสันวัณณะต่างๆ ปรากฏ เป็นสีสันวัณณะต่างๆ เห็นคือเห็น จะเห็นมากเห็นน้อย เห็นมืด เห็นสว่างอย่างไร ก็คือเห็นที่ต้องจักขุปสาท

    ผู้ฟัง ไม่ว่าจะมีแสงมาประกอบ หรือไม่มีแสงมาประกอบ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เมื่อจิตเห็นเกิดขึ้น ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็น

    ผู้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นมืด หรือสว่าง

    ท่านอาจารย์ อะไรก็ตามแต่ถูกเห็น

    ผู้ฟัง แต่ขณะที่หลับสนิท

    ท่านอาจารย์ มีจิต

    ผู้ฟัง แต่ขณะนั้นไม่เห็นมืด หรือสว่างอะไรเลย

    ท่านอาจารย์ ไม่มีอะไรปรากฏเลยทั้งสิ้น เพราะว่าจิตขณะนั้นไม่ได้ทำกิจเห็น ไม่ได้ทำกิจได้ยิน ไม่ได้ทำกิจได้กลิ่น ไม่ได้ทำกิจลิ้มรส ไม่ได้ทำกิจรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ได้ทำกิจคิดนึก จึงต้องรู้ว่าขณะนั้นเป็นภวังคจิต ไม่ใช่ไม่มีจิต แต่มีจิตที่ทำภวังคกิจ ดำรงภพชาติ ยังไม่สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ และไม่นานก็ต้องเห็นอีก ได้ยินอีก หลับไปก็ตื่นขึ้นมา ก็เป็นอกุศลทั้งวัน แล้วก็หลับไปอีก แล้วก็ไม่เหลืออะไรเลย ตื่นขึ้นมาก็สะสมอกุศลไปอีกทั้งวัน ทางตาบ้าง หูบ้าง

    ผู้ฟัง ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตต้องเกิดจากรูป ขอให้อธิบายว่าอะไรเป็นปัจจัยด้วย

    อ.วิชัย จิตต้องเกิดที่รูปใช่ หรือไม่ อะไรที่เป็นปัจจัย พูดถึงจิต หรือว่ารูป

    ผู้ฟัง พูดถึงจิตที่เป็นปัจจัย เพราะปัจจัยอะไร

    อ.วิชัย โดยสภาพของจิตที่เกิดขึ้น มีหลากหลายปัจจัยมากมาย เพราะเหตุว่าเราพูดถึงจิตที่เกิดขึ้น หมายถึงจิตนั้นเป็นผลที่เกิดจากปัจจัย อะไรจะเป็นเหตุให้จิตเกิดขึ้น ก็มีมากมาย เช่น พูดถึงจิตดวงก่อนก็เป็นปัจจัยโดยอนันตรปัจจัย ที่เรากล่าวถึงเมื่อสักครู่นี้ และขณะที่จิตเกิดขึ้นเอง ขณะนั้นก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิกก็เป็นปัจจัยแก่จิต และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตต้องอาศัยรูปเกิดขึ้น รูปที่เป็นที่เกิดของจิต ก็เป็นปัจจัยให้เกิดจิตด้วย ถ้าโดยขณะปฏิสนธิ รูปที่เป็นหทยวัตถุรูปก็เป็นโดยสหชาตปัจจัย แต่ภายหลังปฏิสนธิแล้ว รูปที่จะเป็นที่เกิดของจิต รูปนั้นเป็นปุเรชาตปัจจัยแก่จิต นี่ก็จะเป็นรายละเอียดมากมาย

    ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์ สนทนาต่อเกี่ยวกับธาตุ ซึ่งเป็นรูปธาตุกับนามธาตุ ขณะที่กำลังรู้อารมณ์ซึ่งเป็นรูปธาตุ ขณะนั้นจิตกับเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพรู้เหมือนกัน กิจต่างกันอย่างไรในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ ถ้าถามว่าคุณประภาสเห็นอะไร ตอบได้เพราะจิตรู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่คุณประภาสตอบ ถามว่าได้ยินอะไร

    ผู้ฟัง ทั้งเสียงทั้งคำ

    ท่านอาจารย์ เสียงต้องได้ยินทีละเสียง ตอบว่าเสียงอะไร เพราะจิตกำลังรู้แจ้งลักษณะของเสียงได้ยิน จึงตอบว่าได้ยินเสียงนั้น

    นี่คือลักษณะของจิต เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ ไม่ว่าเกิดเมื่อไร มีเจตสิกประกอบเกิดร่วมด้วยเท่าไร จิตก็ไม่เปลี่ยน จิตก็เป็นสภาพที่รู้แจ้งลักษณะของอารมณ์

    ส่วนเจตสิกมี ๕๒ ประเภท ไม่ปะปนกันเลย เป็นแต่ละหนึ่งๆ ก็แล้วแต่ว่าเจตสิกนั้นมีลักษณะอย่างไร มีกิจอย่างไร เกิดขึ้นกับจิตประเภทไหน

    ผู้ฟัง อย่างฟังเสียงธรรม หรือว่าคำบรรยายเป็นคำๆ แต่ก็มีความดังปรากฏ แต่เราเข้าใจความหมายด้วย

    ท่านอาจารย์ คนละขณะ

    ผู้ฟัง คนละขณะใช่ หรือไม่ ต้องมีคำ เป็นคำๆ เป็นเสียงสูง เสียงต่ำที่ละเอียดมากพอสมควรที่เรารู้ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ จิตกำลังรู้แจ้งทุกคำที่คุณประภาสกล่าวถึงสิ่งนั้นๆ

    ผู้ฟัง ขณะนั้นจิตต้องรู้ได้

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้ง จึงรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นทางตาก็เช่นเดียวกัน จะเห็นว่าเป็นดอกไม้ เป็นพุ่มเป็นพวง

    ท่านอาจารย์ เพราะรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ได้ทำหน้าที่อื่นเลย นอกจากรู้แจ้งลักษณะนั้น จึงตอบได้ สีเขียว หรือสีแดง

    ผู้ฟัง ขาว เขียว แดง มีหมด

    ท่านอาจารย์ จิตกำลังรู้แจ้งสีนั้นๆ

    ผู้ฟัง ก่อนที่จะเป็นสติปัฏฐานกับเป็นวิปัสสนาญาณ ที่กล่าวว่า ต้องแยกรูปธรรม และนามธรรมออกจากกัน

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ต้องแยก เข้าใจถูกต้อง ลักษณะของรูปเป็นรูป ลักษณะของนามเป็นนาม เป็นเรื่องของความเข้าใจ เป็นเรื่องของปัญญา ตั้งแต่ต้นจนตลอด ไม่มีตัวตนจะไปทำหน้าที่อะไรเลย แม้แต่ที่รู้ว่าเป็นนามธรรม ก็เป็นปัญญา เป็นความเห็นถูกที่รู้ว่าไม่ใช่นามธรรม เป็นรูปธรรม ลักษณะที่ปรากฏเป็นรูปธรรม ก็เป็นปัญญาที่เข้าใจถูกในลักษณะนั้น

    ผู้ฟัง เป็นการศึกษาเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริง แต่ไม่ใช่ต้องรู้นั่น รู้นี่ นั่นเป็นการจงใจ

    ท่านอาจารย์ เห็นถูกในสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น

    ผู้ฟัง ซึ่งก่อนที่สติปัฏฐานจะเกิดได้ ผมคิดว่าต้องฟัง และสังเกต

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจ ต้องใช้คำว่า “เข้าใจ”

    ผู้ฟัง อย่างนามธาตุอื่นที่ไม่ใช่สภาพจิตที่รู้แจ้ง เราก็ต้องค่อยๆ เข้าใจว่า ขณะที่สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นรู้แจ้ง ถ้าเรายังไม่เข้าใจ ระหว่างสิ่งที่ถูกรู้ ซึ่งเป็นรูปธาตุ มันก็ปนกันใช่ หรือไม่ เพราะว่าเห็น แล้วก็เหมือนกับมีตัวเราเห็น

    ท่านอาจารย์ จากการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ปัญญาจะเห็นความต่างเอง

    ผู้ฟัง อย่างชีวิตประจำวัน สติก็ไม่ได้เกิด และความเข้าใจจากการฟังวันๆ นี่มีบ้าง ก็ค่อยๆ สังเกตไปเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง เคยได้ยินท่านอาจารย์กล่าวว่า ในสถานที่เดียวกันบางคนนอนหลับ บางคนนอนไม่หลับ

    ท่านอาจารย์ จริง หรือเปล่า

    ผู้ฟัง จริง

    ท่านอาจารย์ ไม่มีคน แต่มีจิตเกิดดับเป็นวิถีจิต หรือเป็นภวังคจิต ขณะเกิดเป็นผลของกรรม ปฏิสนธิกิจ ขณะนั้นเป็นวิบาก ขณะที่ยังไม่มีการเห็น การได้ยิน แต่ว่าดำรงภพชาติ ยังไม่ให้ตาย ขณะนั้นก็เป็นผลของกรรมที่ยังไม่สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 167
    15 ม.ค. 2567