ปกิณณกธรรม ตอนที่ 909


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๙๐๙

    สนทนาธรรม ที่ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ จ.นนทบุรี

    วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙


    ผู้ฟัง ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ถ้ามีความรู้มีความเข้าใจในส่วนนี้จะทำให้การดำเนินชีวิตถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ไม่หวังอะไรเลยทั้งสิ้นเพราะกิเลสมาก จริงหรือเปล่า ใครกิเลสมาก คนโน้นคนนี้ หรือว่าจิตทุกจิตเกิดมาแสนนานด้วยความไม่รู้ด้วยความติดข้อง เหมือนแผลเชื้อโรคเรื้อรังเน่าเหม็น ธรรมเท่านั้นที่เป็นยารักษาจิตให้สะอาดจากความไม่รู้ จึงจะค่อยๆ ละโรคทุกชนิด คือ โรคโลภะ โรคโทสะ โรคมานะ โรคริษยา สารพัดโรค ซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นถ้าฟังพระธรรมด้วยความเป็นผู้ตรง ไม่แม้แต่จะคิดว่าจะนำพระธรรมไปใช้เพราะเหตุว่านั่นยังเป็นเรา ยังมีเราที่หวังที่ต้องการ แต่ไม่ใช่การเข้าใจว่าไม่มีเรา พระธรรมทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องอยู่ที่ธรรมทั้งหลายทุกอย่างเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้ทีละเล็กทีละน้อย ก็แล้วแต่ว่าเกิดก็เลือกเกิดไม่ได้ วันนี้จะเลือกให้เห็นอะไรก็ไม่ได้ ออกจากห้องนี้ไปแล้วจะเห็นอะไรก็ไม่ได้ เลือกไม่ได้เลย จะคิดอะไรจะเกิดขึ้นก็เลือกไม่ได้ แต่เริ่มเข้าใจตามความเป็นจริงว่าสิ่งนั้นเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดสิ่งนั้นก็เกิดไม่ได้ อะไรก็เกิดไม่ได้ ไปด่าไปว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะโกรธไหม ไม่โกรธเลย แล้วก็มีจริงๆ พราหมณ์ที่ไปด่าว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามี แต่ผลที่ได้รับก็คือว่าไม่มีการโกรธ และก็ได้ฟังพระธรรม และก็มีการเข้าใจขึ้น นี่เป็นประโยชน์สูงสุดที่มีโอกาสที่จะได้เฝ้าเฉพาะพระพักตร์ แต่เมื่อไม่ได้เฝ้าเฉพาะพระพักตร์ ก็ยังมีพระธรรมที่ยังทำให้สามารถที่จะรู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงความจริงแต่ละคำให้เข้าใจได้ ตรงกันข้ามกับคนที่ไม่สนใจในคำของพระพุทธเจ้า แม้จะรู้ว่าพระองค์ประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน ไม่ไปเฝ้า มีความเห็นผิดเพราะมีความเชื่อในครูอาจารย์อื่น ซึ่งเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในครั้งนั้น นี่ก็แสดงให้เห็นว่าทั้งหมดเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้าไม่ใช่เป็นคนที่ละเอียดฟังพระธรรมด้วยความเคารพว่า แต่ละคำไม่ใช่เข้าใจเลย ไม่ใช่คิดเองไม่ใช่แต่งเติมต่อด้วยความคิดของเรา แต่ต้องฟังด้วยความเคารพว่าคำนั้นคืออะไร ธรรมคือสิ่งที่มีจริง

    เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเกิดระลึกได้เมื่อใด แข็งกำลังกระทบจริง เป็นธรรมไม่มีใครไปทำให้เกิดเกิดแล้ว และขณะที่เห็นแข็งก็ต้องไม่มี แข็งก็ดับแล้ว ขณะที่เห็นเสียงที่ได้ยินก็ต้องไม่มี เพราะขณะนั้นกำลังเห็น นี่เป็นความละเอียดอย่างยิ่ง จึงเห็นคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งก่อนที่จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนเราทุกคน แต่ความคิดต่างกัน บางคนไม่คิดเลย เกิดแล้วตาย คิดไม่ออกไม่คิด ตายก็ตายเกิดก็เกิดช่วยไม่ได้ทำอะไรไม่ได้ แต่พระโพธิสัตว์สิ่งนี้มีจริงๆ เกิดมีจริงๆ แล้วอะไรเกิด กำลังเห็นนี่จริง แล้วเห็นเป็นอะไร กว่าจะบำเพ็ญพระบารมีจนกระทั่งรู้ความจริงของทุกอย่างที่มีละเอียดยิบโดยประการทั้งปวง แม้แต่รูปที่แตกย่อยกระจัดกระจายเป็นกลุ่มที่เล็กที่สุดที่มองไม่เห็น ก็ยังทรงแสดงว่ามีรูปต่างๆ รวมกัน ๘ รูป เพื่อให้ละความยึดถือว่าเป็นเรา เพราะเป็นเราได้อย่างไร แค่กองฝุ่น สีสันต่างๆ จำไว้ว่าเป็นปอด เป็นตับ เป็นคิ้ว เป็นตา แต่ความจริงก็คือ แข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อน

    เพราะฉะนั้นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เหมือนคำของคนอื่น รู้ได้ทันที ถ้าเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือพูดถึงสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ และผู้ที่ได้สะสมการเห็นประโยชน์ของการที่จะรู้เข้าใจ ดีกว่าปล่อยให้ผ่านไป แล้วก็จากโลกนี้ไปด้วยความไม่รู้ด้วยความติดข้องเต็มไปด้วยกิเลสเหมือนเดิม ใครจะเยียวยารักษาได้ นอกจากจะได้ฟังพระธรรมเมื่อไหร่ ก็เริ่มที่จะรู้จักยาที่จะรักษาโรคไม่รู้

    ผู้ฟัง ถามว่า เวลาที่จะมีสมาธิ จะต้องมีสมาธิตอนที่ต้องนั่งสมาธิอย่างเดียวหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ รู้จักสมาธิหรือยัง

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ แล้วพูดถึงอะไร

    ผู้ฟัง พูดถึงเวลานั่งสมาธิ

    ท่านอาจารย์ นั่นก็ไม่รู้จักสมาธิ แล้วพูดถึงอะไร พูดถึงอะไรก็ไม่รู้ ก่อนอื่นต้องรู้ทุกคำที่พูด ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นปัญญารู้ได้เข้าใจได้ แต่ต้องฟังว่าพระองค์ตรัสว่าอย่างไร พระองค์ตรัสให้เข้าใจ สมาธิคืออะไร มีจริงหรือเปล่า แล้วใครบอกให้พูดเรื่องสมาธิ เอามาจากไหน คิดเองหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็ไม่รู้ว่าเวลาที่จะมีสมาธิต้องตอนนั่งสมาธิอย่างเดียวหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เกิดมาได้ยินคำว่าสมาธิเลยหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เปล่า

    ท่านอาจารย์ แล้วได้ยินคำนี้จากไหน

    ผู้ฟัง จากที่เคยได้ยิน

    ท่านอาจารย์ จากที่เคยได้ยินเขาว่าสมาธิคืออะไร ที่เคยได้ยิน หรือว่าไม่รู้ว่าสมาธิคืออะไร แต่ให้ทำสมาธิ

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้ว่าสมาธิคืออะไร แต่ให้ทำสมาธิหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ครับ

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะให้ทำสิ่งที่ไม่รู้ ทำทำไมในเมื่อไม่รู้ เป็นประโยชน์ไหม ทำไปก็ไม่รู้ เพราะทำอะไรก็ไม่รู้ ก็ไม่รู้ไปเรื่อยๆ แล้วจะมีประโยชน์ไหม เพราะฉะนั้นก่อนอื่นได้ยินคำไหน อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเพิ่งทำ อย่าเพิ่งตาม แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าคืออะไร อยากทราบไหม สมาธิคืออะไร ขอเชิญคุณอรรณพ

    อ. อรรณพ เพราะฉะนั้นสมาธิคือความตั้งมั่น ความตั้งมั่นของจิตใจนี่แหละ ซึ่งตั้งมั่นที่ไม่ดีก็มี ตั้งมั่นที่ดีก็มี อย่างพวกโจรที่เขามีสมาธิในการงัดแงะวางแผนอย่างรอบคอบ เขามีความตั้งมั่นในการกระทำเขาไหม แต่การตั้งมั่นอย่างนั้นดีไหม

    ผู้ฟัง ไม่ดี

    อ. อรรณพ ไม่ดีใช่ไหม อย่างโจรที่มืออาชีพงัดแงะอะไรไม่ทิ้งร่องรอยไว้เลย เขามีความตั้งมั่นในเรื่องนั้นๆ อย่างมั่นคง แต่การตั้งมั่นอย่างนั้นเป็นอกุศล อกุศลคือสิ่งที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นสมาธิอย่างนั้นจึงเป็นอกุศลสมาธิ หรือพูดง่ายๆ ว่าตั้งมั่นไม่ดี ส่วนความตั้งมั่นที่ดีคือความตั้งมั่นในทางกุศล เช่น มีความกตัญญูกับคุณแม่ มีความช่วยเหลือเพื่อนฝูง หรืออะไร ขณะนั้นจิตดีไหม

    ผู้ฟัง ดี

    อ. อรรณพ ดี จิตตอนนั้นมีสมาธิไหม มี แต่สั้นๆ เพราะเดี๋ยวก็ไปวิ่งเล่นแล้ว ฉะนั้นขณะที่หนูกำลังมีความเข้าใจเรื่องสมาธิถูกต้อง ขณะนั้นมีสมาธิเกิดอยู่แล้วขณะนั้นสั้นๆ

    ท่านอาจารย์ ก็คิดว่าต้องขอบคุณ ไม่ว่าคำถามใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าจะทำให้เราได้ยินได้ฟังสิ่งซึ่งอีกแบบหนึ่งซึ่งยังไม่เคยฟัง เพราะไม่ใช่เพียงความคิดเอาเอง เพราะฉะนั้นขอถามผู้ใหญ่ด้วย ถ้าไม่รู้จักธรรม จะรู้จักสมาธิไหม กฤษณะเคยได้ยินคำว่าธรรมไหม

    ผู้ฟัง เคยได้ยิน

    ท่านอาจารย์ เคย แล้วก็อาจจะเขาว่าอย่างนั้น เขาว่าอย่างนี้ แต่ ณ วันนี้ที่ฟังธรรมคืออะไร ถ้ายังไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจสมาธิ เพราะฉะนั้นเราจะไม่พูดทุกอย่างเผิน เพราะทุกเรื่องรู้สึกว่าพอพูดถึงสมาธิทุกคนสนใจเลย ไม่ได้สนใจธรรมเท่ากับสมาธิ ไม่ทราบว่าเพราะอะไร เพราะได้ยินคำที่ไม่รู้จักแล้วก็ยังไม่ได้รู้จักจริงๆ แต่พอได้ยินคำว่าธรรมเหมือนรู้จักแล้ว แต่ความจริงไม่รู้จักธรรม เพราะว่าประมาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยไม่ฟังคำของพระองค์อย่างละเอียดที่จะรู้ว่าคำใดเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้แต่ละคำทีละคำ เพราะฉะนั้นถ้าไม่รู้จักธรรมจะรู้จักสมาธิไหม

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ เพราะฉะนั้นต้องรู้จักก่อน ธรรมคืออะไร เข้าใจว่าได้ฟังเมื่อสักครู่นี้ ลองคิดทบทวนว่า วัยอย่างนี้ได้ฟังอย่างนี้พอที่จะเข้าใจได้แค่ไหน ธรรมมีจริงๆ ไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีจริงๆ เดี๋ยวนี้มีธรรมไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีสมาธิไหมเดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่ว่ายังไม่ได้เข้าใจละเอียด แต่แค่ถูก เพราะฉะนั้นจะรู้ได้เลยว่าถูกจริงๆ ไม่เหมือนที่คนอื่นคิด ไม่เหมือนที่ใครๆ คิดเลย ขณะที่กำลังได้ยิน กำลังได้ยินใช่ไหม เป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ มีสมาธิไหมขณะได้ยิน

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เก่ง แต่ก็ยังไม่รู้ว่าสมาธิคืออะไร แค่ตอบได้จากการได้ฟังไม่นาน แต่ถ้าจะรู้ความจริงก็คือว่าเพียงแค่กระทบนิดเดียว แค่แข็งปรากฏ จิตที่รู้แข็งได้เพราะมีเอกัคคตาเจตสิก เจตสิกเกิดร่วมด้วย สภาพของเจตสิกนี้ ชื่อยาวเป็นภาษาบาลียังไม่ต้องจำ ฟังไว้เท่านั้นเองว่า เอกะคือหนึ่ง เอกัคคตาเจตสิกเป็นสภาพของธรรมที่ไม่ใช่จิต แต่ต้องเกิดกับจิตทุกประเภท เจตสิกนี้เกิดกับจิตทุกประเภท ไม่ลืมแล้ว แสดงว่าไม่ว่าขณะเห็นขณะใดก็ตาม ที่ไหนก็ตามที่มีจิต ขณะนั้นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท

    เพราะฉะนั้นขอให้รู้ความลึกซึ้ง แค่แตะแข็งทำไมไม่รู้อย่างอื่น ทำไมไม่ใช่เสียงทำไมไม่ใช่กลิ่น เพราะว่าขณะนั้นเอกัคคตาเจตสิกตั้งมั่นที่แข็ง เพราะฉะนั้นจิตที่เกิดกับเอกัคคตาเจตสิกนั้นจึงรู้เฉพาะแข็งอย่างเดียว นี่เป็นเหตุที่จิตหนึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์หนึ่ง รู้หลายๆ อารมณ์ไม่ได้ เพราะเหตุว่าจิตหนึ่งขณะเป็นสภาพรู้ แล้วไม่ใช่รู้อย่างธรรมดา รู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ฟ้ากับน้ำเกือบจะเป็นสีเดียวกัน แต่จิตก็สามารถที่จะรู้ว่าฟ้าเป็นฟ้า น้ำเป็นน้ำ ทองแท้กับทองเทียม ใครดูออกบ้าง หยกมีตั้งหลายชนิด แม้พ่อค้าผู้ชำนาญหยกยังผิดได้ แต่จิตไม่ผิด เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งไม่ใช่รู้ชื่อ แต่แล้วแต่ว่าจิตนั้นรู้อะไร ถ้าเป็นจิตที่รู้ทางตาเห็นแจ้งว่าสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้เป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นเสียงทางหู รู้เฉพาะเสียงนี้ เสียงที่กำลังปรากฏ และยังจำซึ่งเป็นเจตสิกอีกประเภทหนึ่งซึ่งเกิดกับจิต ไม่ใช่จิต เพราะฉะนั้นเสียงใครพอได้ยินรู้เลยใช่ไหม แค่โทรศัพท์ได้ยินเสียงไม่เห็นหน้าก็รู้แล้วว่าใคร นี่ก็คือจิตรู้เสียงทีละหนึ่งชัดเจน แล้วก็ยังมีสภาพจำซึ่งไม่ใช่เอกัคคตาเจตสิกที่ตั้งมั่น นี่คือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่เราจะเข้าใจแท้จริงในคำว่าสมาธิ จะต้องรู้เสียก่อนว่าเป็นจริง แล้วก็เป็นธรรมซึ่งไม่ใช่จิต แต่เป็นสภาพรู้เป็นนามธรรม แต่นามธรรมที่เป็นเจตสิกมีหลากหลายมากถึง ๕๒ ประเภท บางชนิดก็เกิดกับจิตประเภทนั้น บางชนิดก็เกิดกับจิตประเภทนี้ แต่สำหรับเอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ ทำให้จิตตั้งมั่นคือรู้เฉพาะอารมณ์เดียวที่เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิต และรู้อารมณ์นั้นพร้อมกัน

    เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเห็น เหมือนไม่เป็นสมาธิใช่ไหม แค่เห็นนิดเดียว แค่ได้ยินนิดเดียวหมดแล้วเหมือนไม่มีสมาธิ เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับสืบต่อเร็วมาก และเปลี่ยนอารมณ์ไปเรื่อยๆ เช่น ขณะนี้เหมือนเห็นกับได้ยิน และคิดนึกพร้อมกันหมดเลย แต่ความจริงต้องทีละหนึ่ง เพราะฉะนั้นเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับจิตเห็นมีสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่าเอกัคคตาเจตสิกตั้งมั่น เพราะฉะนั้นลักษณะของสมาธิเป็นลักษณะที่ตั้งมั่น ถ้าจิตตั้งมั่นที่อารมณ์เดียวบ่อยๆ นานๆ ลักษณะสภาพของความตั้งมั่นก็ปรากฏที่ใช้คำว่าสมาธิ เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่าสมาธิเป็นคำจริง แต่ต้องมีสภาพธรรมว่าได้แก่สภาพธรรมอะไร ไม่ใช่จิตแต่เป็นเจตสิก เจตสิกประเภทไหน เจตสิกซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกขณะ แต่ว่าเมื่อจิตเป็นสภาพที่มีเอกัคคตาเจตสิกเกิดด้วย แต่ละหนึ่งขณะ จิตจึงรู้เพียงสิ่งเดียวตลอด แต่ถ้าซ้ำกันซ้ำกันบ่อยๆ ลักษณะที่ตั้งมั่นในอารมณ์นั้นก็ปรากฏ ก็ใช้อีกคำหนึ่งว่าสมาธิ แต่ว่ามีทั้งอกุศลและกุศลเพราะอะไร เพราะว่าเอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท เมื่อเกิดกับจิตประเภทไหนก็เป็นประเภทนั้น ถ้าเกิดกับกุศลก็เป็นกุศล ถ้าเกิดกับอกุศลก็เป็นอกุศล

    ด้วยเหตุนี้หนทางหรือข้อประพฤติปฏิบัติ การปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดที่เป็นการทำสมาธิ แต่ไม่มีปัญญาความรู้ความเข้าใจในสภาพธรรมตามสมควรแก่ระดับขั้นของสมาธินั้น สมาธินั้นเป็นมิจฉาสมาธิทั้งหมด หมายความว่าเป็นอกุศล แล้วเราจะไปนั่งทำสมาธิที่เป็นอกุศลกันหรือ เพราะเหตุว่าเราไม่มีความเข้าใจอะไรเลย เพราะฉะนั้นกุศลขณะใดเกิดขึ้น แม้ขณะที่กำลังฟังธรรมเดี๋ยวนี้ เป็นกุศลสมาธิดีกว่าไหม ดีกว่าจะไปนั่งเฉยๆ แล้วไม่รู้อะไรเลย บอกให้นั่งก็นั่ง บอกให้จ้องก็จ้อง แล้วไม่มีความเข้าใจอะไรเลย นั่นไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นเมื่อนั้นขณะนั้นไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อเมื่อได้ฟังแต่ละคำ แล้วก็เข้าใจคำนั้นขึ้นลึกซึ้งขึ้น จนสามารถที่จะรู้ว่า สิ่งที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาเป็นความจริงคือ ถ้าไม่เกิดขึ้นก็ไม่มี แต่เมื่อมีก็ชั่วคราวที่แสนสั้นเกินกว่าที่ใครจะประมาณได้ว่าสั้นแค่ไหน แล้วดับไป แล้วไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้นเราติดข้องในสิ่งที่ไม่มี เพราะจากไม่มีก็มีชั่วนิดเดียวแล้วก็หมดไป แล้วก็ไม่เหลือเลย ฟังไว้ ฟังไว้ เพราะเหตุว่าปัญญาที่ได้ยินคำนี้ ยังไม่ถึงระดับที่จะละความติดข้องในความไม่ใช่เราที่ได้ยิน หรือว่าไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยงที่ปรากฏ เป็นสิ่งซึ่งค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ เริ่มรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งถ้าไม่ฟังคำของพระองค์เลยมืดสนิท มีแต่พระพุทธรูปซึ่งไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และถ้าได้ฟังคำอื่นก็ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีก แต่พอได้ยินคำซึ่งเป็นคำจริง มีจริงขณะนี้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เริ่มเห็นความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่แสนไกล

    เพราะฉะนั้นคำว่าอุบาสก อุบาสิกา ภาษาบาลีก็เป็นอุปาสก อุปาสิกาใช้ตัว ป แทนตัว บ ความหมายก็คือว่าผู้นั่งใกล้พระธรรม ผู้นั่งใกล้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่งใกล้พระรัตนตรัย เพราะเหตุว่าถ้าอยู่ไกลก็ไม่ได้ยินได้ฟังอะไรเลยทั้งสิ้น ต่อเมื่อใดเข้าใกล้ เข้าใกล้ขึ้นจึงจะเห็นความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามที่พระองค์ตรัสไว้ว่าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา แม้ว่าจะจับชายสังฆาฎิเดินตามหลังพระองค์ไป แต่ไม่รู้ว่าพระองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเข้าใจพระธรรม เพราะฉะนั้นชาวเมืองสาวัตถี ชาวเมืองเวสาลี พระนครราชคฤห์ ผู้คนทั้งหลายที่ไม่ได้ฟังพระธรรมเลย แม้พระองค์เสด็จบิณฑบาต ก็ไม่รู้ว่านั่นคือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้มีธรรมไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ อะไรเป็นธรรม ถ้าบอกว่ามีก็ต้องรู้ว่าอะไร

    ผู้ฟัง ผมเห็นพวงมาลัยที่โต๊ะ

    ท่านอาจารย์ ผมเห็นพวงมาลัยที่โต๊ะ เป็นคำตอบที่ชัดเจน ตรง แต่เห็นไม่ใช่พวงมาลัยใช่ไหม เห็นเป็นธาตุรู้สภาพรู้ คนตายไม่เห็นพวงมาลัย เพราะไม่มีธาตุรู้คือไม่มีจิต แต่จิตเมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรู้ ไม่รู้ไม่ได้ ตอนหลับสนิท ไม่ฝันก็ยังต้องมีจิตดำรงภพชาติเกิดดับสืบต่อ กรรมยังไม่ทำให้สิ้นความเป็นบุคคลนั้น แต่อารมณ์ไม่ปรากฏเพราะไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้ ถ้าเป็นอารมณ์ของโลกนี้ต้องอาศัยตาเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หูได้ยินเสียง ได้กลิ่นขณะนั้นก็เป็นจิตที่อาศัยจมูก ลิ้มรสเอาอะไรใส่ปาก แล้วก็มีชิวหาคือลิ้นที่เราเรียกส่วนรวมๆ แต่ความจริงก็เป็นรูปที่สามารถกระทบกับรส พอรู้รสเมื่อใด รู้ไม่ใช่รส รสเป็นอารมณ์ของจิตที่รู้รส เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้เห็น เร็วมากเลยเกิดดับ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เกิดดับ ใครรู้ แม้แต่รูปไม่ว่าจะแข็ง หรือเสียง หรือกลิ่น หรือเห็น หรือสิ่งที่ปรากฎให้เห็น เกิดดับเร็วสุดที่จะประมาณได้ รูปธรรมทั้งหมดดับช้ากว่าจิต จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งดับ เพราะฉะนั้นเห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ แล้วคิดเพราะจำรูปร่างสัณฐาน จึงเข้าใจทันทีว่าเห็นพวงมาลัย คนละขณะแล้ว เห็นลืมตาแล้วหลับตาเร็วๆ จะไม่รู้ว่าเป็นอะไรใช่ไหม ถ้าเร็วมากไม่รู้เลย แต่ถ้าช้าหน่อยก็พอจะหลับๆ ลืมๆ ก็รู้ว่าเห็นพวงมาลัยใช่ไหม เป็นความจริงทุกอย่าง

    เพราะฉะนั้นต่อไปนี้เข้าใจหนึ่งขณะที่ย่อยที่สุด ละเอียดที่สุด เล็กที่สุด ไม่ปะปนกันว่าเห็นไม่ใช่เห็นพวงมาลัย เห็นสิ่งที่กระทบตาได้ พวงมาลัยกระทบตาไม่ได้ แข็งกระทบตาไม่ได้ เย็นกระทบตาไม่ได้ อ่อนกระทบตาไม่ได้ แต่ที่เย็นที่ร้อนที่อ่อนที่แข็งมีสิ่งหนึ่งคือวรรณะ หรือสีสันวรรณะที่กระทบตาได้ ปรากฏเป็นสีต่างๆ ตามส่วนสัดของการผสมของธาตุดินน้ำไฟลมซึ่งเพียงแค่นั้น ยังปรากฏสีสันวรรณะต่างๆ เมื่อกระทบตา นี่คือความละเอียดอย่างยิ่ง แม้แต่สีต่างๆ อยู่ที่รูปต่างๆ ทำให้เกิดกลิ่นต่างๆ รสต่างๆ โดยที่ใครก็ไม่เคยคิดว่าละเอียดอย่างนี้ ชั่วขณะอย่างนี้ว่าเห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏดับไปก่อน และความจำรูปร่างสัณฐานที่เหมือนปรากฏพร้อมกัน ทำให้เข้าใจว่า ผมเห็นพวงมาลัย ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าจิตเกิดดับเร็วมาก และจิตที่เห็นไม่ใช่จิตที่คิดสภาพที่จำก็มีจริงแต่ไม่ใช่จิต ถ้าไม่จำก็จะไม่รู้ว่าเป็นอะไร มากเกินไปสำหรับหนูหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เปล่า

    ท่านอาจารย์ เปล่า เก่งมากเลย และถ้าฟังซ้ำๆ จะยิ่งเข้าใจขึ้น ถ้าถามว่าอะไรที่จะเป็นปัจจัยทำให้เข้าใจก็คือการฟังคำซึ่งไม่เคยฟัง เพราะฉะนั้นวันหนึ่งวันหนึ่งเราคิดอะไร เราคิดเรื่องที่เรารู้บ่อยๆ เราเห็นอะไรบ่อยๆ เราชอบอะไรบ่อยๆ เราฟังเรื่องอะไรบ่อยๆ เราก็คิดแต่เรื่องนั้นใช่ไหม คนที่ชอบดนตรีก็ไม่ชอบเย็บปักถักร้อย คนที่ชอบปลูกต้นไม้ก็ไม่ชอบทำกับข้าว เพราะฉะนั้นคนที่ชอบทำกับข้าว เขาก็คิดแต่เรื่องหมูเห็ดเป็ดไก่ผักต่างๆ เครื่องแกงต่างๆ คนที่ชอบเพลงดนตรีก็คิดถึงเครื่องดนตรีต่างๆ สิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งคุ้นเคยก็ย่อมทำให้คิดถึงสิ่งนั้น

    เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจธรรมขึ้น หนทางเดียวคือได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ่อยๆ ครั้งแรกอาจจะรู้ว่ายากมากละเอียดมากลึกซึ้งมาก แต่ผู้ที่ได้สะสมการฟังด้วยศรัทธา เห็นไหมคำว่าศรัทธามาแล้ว ต้องเป็นกุศล ศรัทธาต้องไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่โทสะ ไม่ใช่โมหะ เมื่อมีศรัทธาเห็นประโยชน์แล้ว การฟังก็เพิ่มขึ้น ความเข้าใจก็เพิ่มขึ้น มิฉะนั้นจะไม่มีผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล เพราะก่อนเป็นก็เหมือนคนธรรมดาอย่างนี้ แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 179
    21 ก.พ. 2568